http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-01

การไม่“ปรองดอง”ของ ปชป. กับ พธม.ฯ, ลึกไม่ลับ1มิ.ย.55

.
คอลัมน์ในประเทศ - MIB3 ปฏิบัติการ "ลบรอยตีนตะขาบ"
คอลัมน์ในประเทศ - ตรวจแฟ้มคดี "ทักษิณ" และพวก ผลพวงหลัง พ.ร.บ.ปรองดอง คืนเงิน 46,000 ล้านและ "ดอกเบี้ย"
รายงาน - หงส์เหนือมังกร ล้างอาถรรพณ์ทุ่งดอนเมือง แหวกม่านประเพณีทัพเรือ จับตา "ผบ.ทร." เมด อิน เยอรมัน? 
คอลัมน์ โล่เงิน - อานิสงส์ปมตั้ง "ศรีวราห์" ชงกฎเหล็ก "ล้อมคอก" ทวีคูณ จับตาบทสรุปเก้าอี้ "ผบช.ภ.1"


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การไม่ยอม "ปรองดอง" ของ ประชาธิปัตย์ กับ พันธมิตรฯ มองอดีตทะลุปัจจุบัน
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 8


ข้อคาดหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 
ว่าม็อบวันที่ 30 พฤษภาคม จะอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 คน 
ข้อคาดหมายของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล เช่นนี้ เหมือนจะสบประมาทพลานุภาพทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยเรียกคนได้เรือนแสนมาแล้ว

แต่นั่นเป็นสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 
เป็นสถานการณ์ที่ปลายหอกทางการเมืองจากหลากหลายกลุ่มล้วนพุ่งเป้าเข้าใส่ยอดอกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ต้องการกำจัด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น 
นอกจากการโหมไฟนับแต่เดือนกันยายน 2548 ของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเป็นต้นมาแล้ว การตัดสินใจขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ 70,000 กว่าล้านบาท สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูง 
นั่นแหละเป็นมูลเชื้ออย่างดีอันนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549


ความจริง มวลชนที่เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลากหลายเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งการชุมนุมครั้งใหญ่เดือนพฤษภาคม 2551 
อันนำไปสู่การยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ 
แต่หลังจากคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม 2551 อันเป็นกระดานหกให้เกิดการแยกตัวของกลุ่มงูเห่าโดยการนำของ นายเนวิน ชิดชอบ และส่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ครอบครอง 
การแตกแยกระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับพรรคประชาธิปัตย์จึงได้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การสาวไส้ให้กากินจากทั้ง 2 ฝ่ายจึงดังอึกทึกครึกโครม 
ทำให้การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยระยะหลังดำเนินไปอย่างที่เรียกว่า "หะร็อมหะแร็ม" 
ถึงกับนินทาว่า ซาลาเปาซึ่งเตรียมไว้มากกว่าจำนวนมวลชน 

การคาดหมายของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล การคาดหมายของกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงมาจากพื้นฐานความเป็นจริงอันเกิดขึ้นในระยะหลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งกลุ่มหลากสีก็ตาม 
การโป่งพองของปริมาณจึงมาจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นสำคัญ



การประกาศต้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ไม่ว่าจะมาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือได้ว่าเป็นการชุมนุมศิษย์เก่าอีกวาระหนึ่ง  
ยิ่งมติในที่ประชุม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ออกมาอย่างตรงไปตรงมาว่าจะเคลื่อนไหวทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา ยิ่งทำให้การต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติคึกคัก  
มีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะจับมือกันอีกครั้งหนึ่ง โดยมีศัตรูเดียวกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย  

ปมเงื่อนอยู่ที่ว่า กองทัพจะเห็นด้วยเหมือนกับเมื่อเดือนกันยายน 2549 เหมือนกับระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2551 หรือไม่
ปมเงื่อนอยู่ที่ว่า กระบวนการตุลาภิวัตน์จะเห็นด้วยหรือไม่



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 8


อุณหภูมิทางการเมืองเดือดขึ้นมาโดยพลัน พลันที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....หรือ "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" ฉบับแรก เสนอนำร่องโดย "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ และ 34 ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา 
กับอีก 3 ร่าง รวมเป็น 4 ฉบับ ประกอบด้วยของ "นายสามารถ แก้วมีชัย" ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ร่างของ "นายนิยม วรปัญญา" ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย 
และร่างของ 74 ส.ส. พรรคเพื่อไทย นำทีมโดย "นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นร่างของ "ส.ส.เสื้อแดง"

สาระของ 3 ฉบับแรก คือของ "บิ๊กบัง-สามารถ-นิยม" เนื้อหาพิมพ์เขียวเดียวกันยังกะแกะ 
ยกอานิสงส์ให้ทั้งกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-ผู้สลายการชุมนุม ให้นิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2554 
ยกเลิกคำตัดสินคดีที่ดำเนินการด้วยกระบวนการจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร, ยกเลิกคำตัดสินให้ตัดสิทธิทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองจากคดียุบพรรค 
กลุ่มที่ได้รับมรรคผล คือ นักการเมืองกลุ่ม 109 คน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคล็อตที่ 2 ส่วนประชากรบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกเว้นวรรคในงวดแรก แม้จะครอบคลุม แต่บังเอิญว่า พ้นโทษแบนทางการเมืองครบคนละ 5 ปีเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 
ทั้ง 3 ฉบับ "ครอบจักรวาล" ทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" และบังเอิญว่า ผู้นำเสนอ ชื่อ "พล.อ.สนธิ" ซึ่งเป็นบุคคล บุคคลเดียวกับที่เป็นหัวหน้า "ปฏิวัติ"

ซึ่งหมายความว่า คดีความที่ดำเนินการมาแล้วนั้น ทุกคณะ ทุกเหตุการณ์ที่มาจากเงื่อนไขปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ถูกโละกระดานทิ้งทั้งหมด 
คนที่รับไปเต็มๆ ย่อมเป็น "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

มีความต่างของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ระหว่างฉบับ "สนธิ" กับฉบับ "ณัฐวุฒิ" ตรงที่ร่างฉบับหลัง ไม่ล้างมลทินการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานก่อการร้าย และความผิดต่อชีวิต จะไม่ได้รับ "นิรโทษกรรม" ผู้บุกรุกสนามบิน เผาเมือง และคนสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุมจะต้องถูกดำเนินคดี  เท่ากับว่า ความผิดของกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้รับการยกเว้น
"เกมปรองดอง" ว่าด้วยการเสนอ พ.ร.บ. ยังไม่ทันเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา แค่เสนอ และบรรจุวาระ กลับสามารถ "เรียกแขก" ได้พวงใหญ่ 
เจ้าแรกแม้ไม่ได้รับเชิญ แต่มาเยือนก่อนใครเพื่อน คือ "กลุ่มพันธมิตรฯ" แกนนำ ดาหน้ามาท้าประจัญบานกันครบครัน และส่อเค้าว่าจะเป็นกลุ่มต่อต้านที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด



รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้ามาบริหารประเทศได้ 10 เดือนเศษๆ ประเมินโดยภาพรวมถือว่า "ดีวันดีคืน" มีความมั่นอกมั่นใจในตัวเองสูงขึ้น ต่างประเทศให้การยอมรับ เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากชัยชนะโดยการเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้ทำคลอดมาจากกระบอกไม้ไผ่ เหมือนบางรัฐบาล 
ฐานเสียงสนับสนุนจาก 3 พรรคการเมือง สูง 300 ที่นั่ง ถือว่ามีเอกภาพทางการเมืองสูงยิ่ง "ฝ่ายค้าน" และประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ เริ่มออกอาการ "ล้า" ไม่มีมุขเล่น 
เครือข่ายมวลชน ไม่ว่า "พธม.-หลากสี" ค่อยๆ "แผ่ว" เรี่ยวแรงไม่บริบูรณ์ดุจเก่า
จู่ๆ มี "พ.ร.บ.ปรองดอง" โชยลมเข้ามา เปรียบเสมือนยาบำรุงตับ คึกคักทั้ง "เสื้อเหลือง-ประชาธิปัตย์" ปลุกให้มีชีวิตชีวา 

มีข่าวคลุกวงในสรุปว่า ในสัดส่วนของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" และ "พรรคเพื่อไทย" มีความเห็นเกี่ยวกับ "พ.ร.บ.ปรองดอง" ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่
ซีกที่ใกล้ชิดกับ "นายกฯ ปู" ประเมินว่า สถานการณ์ของรัฐบาลตีธงไปข้างหน้าได้สวย หลายภาคส่วนเริ่มยอมรับ ต้องดึงเกมเพื่อลากยาวไปให้ถึงเดือนตุลาคม คาดหมายว่าถึงเวลานั้น "ฝ่ายตรงข้าม" พากันง่อยเปลี้ยเสียขา หมดทุกสรรพกำลัง 
"พ.ร.บ.ปรองดอง" น่าจะถอยไปก่อน เพราะจะกลายมาเป็นตัวปลุกกระแส มิต่างอะไรกับชงลูกให้อีกฝ่ายตบ เสียแต้มโดยเปล่าประโยชน์ กอปรกับเกมสภาว่าด้วย โหมดแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งใกล้บรรลุเป้าหมาย ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาทำการยกร่างอยู่รอมร่อแล้ว ซึ่งทุกอย่างครอบคลุมทุกประเด็น "ธง" ใกล้เคียงกับ พ.ร.บ.ปรองดอง จึงน่าถีบถอย ดึงจังหวะ ไปใช้บริการศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากกว่า พ.ร.บ.ปรองดอง

ขณะที่แกนนำอีกฝั่ง ซึ่งสมคบคิดกันเพื่อเอาใจ "นายใหญ่" กลับชงลูกว่า การล้างมลทิน-นิรโทษกรรม ไถ่บาป จากเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ต้องขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็ว ชัยชนะจากศึกเลือกตั้งใหญ่ คือ คำตอบสุดท้าย ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการ 
ฟากนี้อ่านหมาก ว่าไม่เพียงแต่เสียงส่วนใหญ่พึงประสงค์ กับเกมปรองดอง แต่ "คนมีสี" ที่อยู่ในศูนย์อำนาจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากว่า ไม่ออก พ.ร.บ.ปรองดอง ล้างไพ่ให้ ก็มีสิทธิ์ถูกจับขึ้นเขียง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมีสิทธิ์ติดคุกในตอนท้ายได้ 
จึงขยิบตาส่งซิก ให้มีการเข็น พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่กระบวนการของสภา
ซึ่งทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

โปรดติดตามดูกันต่อไปว่า "พ.ร.บ.ปรองดอง" จะเรียกแขกได้มากน้อยแค่ไหน "นายใหญ่-น้องหญิง" จะสั่งถอนหรือไม่ ศึกครั้งนี้เดิมพันราคาแพง สำหรับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"



+++

MIB3 ปฏิบัติการ "ลบรอยตีนตะขาบ"
คอลัมน์ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 9


ภาพยนตร์ Men in Black 3 หน่วยจารชนพิทักษ์จักรวาล 3 ที่กำลังฉายอยู่ขณะนี้  
คู่หูสายลับชายชุดดำ "วิล สมิธ" (เจ) และ "ทอมมี่ ลี โจนส์" (เค) ออกปฏิบัติภารกิจเดินทางข้ามเวลาไปยังช่วงต้นขององค์กรลับเอ็มไอบี ในยุค 1969 เพื่อยับยั้งเอเลี่ยนที่จะสังหารสายลับเค (ทอมมี่ ลี โจนส์) คู่หูของเขา และเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก 
พวกเขายังคงมาพร้อมกับสูทตัวหล่อสีดำ 
และมีเครื่องนิวเรไลเซอร์ ที่ใช้ลบความทรงจำขนาดพกพา เป็นอาวุธคู่ชีพในชีวิตการทำงาน

กล่าวถึง "เครื่องลบความทรงจำ" นี้ หากกล่าวอย่าง "ยั่วล้อ" กับคนในแวดวงการเมืองไทยขณะนี้ 
ผู้น่าจะต้องการมากที่สุด ก็คงไม่พ้นชายที่ชื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน 
เพราะ "เครื่องลบความทรงจำ" นี้หากจะสามารถช่วย "ลบความทรงจำแห่งรอยตีนตะขาบรถถัง" ที่ออกมาทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในหลายๆ คนลงได้  
คงจะส่งผลให้ พล.อ.สนธิไม่ต้องเหนื่อยแรงกับการต้องมาอธิบายว่า ทำไม ถึงต้องแบกหน้ามาเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... เพื่อไถ่บาป ในวันนี้ 
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ก็เป็นเพียงจินตนาการ 
ไม่อาจเป็นจริงได้ 
วันนี้ พล.อ.สนธิ จึงต้องรับบทหนัก เพื่ออธิบายในสิ่งที่ตนเองกำลังทำ



แม้ พล.อ.สนธิ จะยืนกรานมาโดยตลอดว่าการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า คือ สิ่งที่ "ถูกต้องแล้ว" 
กระนั้น การบอกว่า "แต่วันนี้ผมจะทำอีกแบบหนึ่ง เป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ในสังคม...คือมุ่งไปสู่การปรองดอง" 
ก็เหมือนกับการสารภาพกลายๆ ว่า เป้าหมายแห่งรัฐประหารที่ไม่ต้องการให้คนไทยปะทะกัน ในช่วงดังกล่าว ไม่บรรลุผล ตรงกันข้าม กลับนำไปสู่ความขัดแย้งที่ร้าวลึกยิ่งขึ้น 
ดังนั้น การที่ พล.อ.สนธิ ต้องก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ 
เข้ามาเป็น ส.ส. 
และรับตำแหน่ง "ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร" นั้น
ก็เหมือนกับการขอ "แก้ตัวใหม่" อีกครั้ง 
จะสายเกินไปแล้วหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย

แต่ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่ พล.อ.สนธิ เป็นประธาน ก็ได้ชูข้อเสนอ "อันแหลมคม" ขึ้นมา 2 ประการ 
เป็นข้อเสนอที่อ้างว่าอิงกับผลการสำรวจและศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า คือ 
1) ควรออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิด ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ส.2548 และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 
2) ควรเพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่ 
ข้อเสนอดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ชี้ว่ามีการตัดต่อผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า 
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ กมธ. ที่ พล.อ.สนธิ เป็นประธาน ดังกล่าว ก็ได้มีมติของ สภา "รับทราบ" และให้นำเสนอ "รัฐบาล" ต่อไป 
ภารกิจ พล.อ.สนธิ ดูเหมือนจะจบลงตรงนั้น


แต่ พล.อ.สนธิ ก็สร้างความประหลาดใจ ด้วยการไม่ยอมหยุดอยู่เพียงนั้น 
ยังคงปฏิบัติการ "ลบรอยตีนตะขาบ" ต่อไป 
เมื่อปรากฏชื่อ เป็นผู้นำเสนอร่าง "พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ..." ต่อสภาผู้แทนราษฏร 
เป็นการนำเสนอ ที่เงียบเชียบ 
แต่ชัดเจนว่า มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี 
เพราะนอกจาก ชื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในนามพรรคพรรคมาตุภูมิแล้ว 
ยังมีพรรคชาติไทยพัฒนา 19 คน 
พรรคชาติพัฒนา 6 คน 
พรรคพลังชล 6 คน 
พรรคเพื่อไทย 1 คน คือ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน 
นี่ย่อม สะท้อนให้เห็น "การประสานงาน" และ "เตรียมการ" มาเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน เนื้อหา ก็ล้อไปกับ ข้อเสนอของ กมธ. ที่ พล.อ.สนธิ เป็นประธาน แทบทุกประการ โดยเฉพาะ 

มาตรา 4 เมื่อ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 (บุคคลที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง, การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันระงับหรือปราบปรามในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง) อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนผู้นั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กรหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค. ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือหน่วยงานอื่นใดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความในมาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป

มาตรา 6 เพื่อให้บุคคลได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศซึ่งเป็นการสร้างความปรองดองในสังคม ให้การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง เพราะเหตุมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ



จากเนื้อหาหลักๆ ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติดังกล่าว  
มองเป็นอื่นใดยาก นอกจาก การหวังลบรอยตีนตะขาบ "รถถัง" ที่ใช้ปฏิวัติ เมื่อ 19 กันยายน 2549 
แน่นอน คนที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
อันนำไปสู่การรับไม่ได้เด็ดขาดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  
ถึงกับบอกว่า พล.อ.สนธิ กำลัง เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า

เช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เสียงเข้มใส่ว่า พล.อ.สนธิ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติที่แย่ที่สุด ทำให้เสียชื่อ...ในฐานะทหารรุ่นพี่ขอให้จำให้ดีว่า ถึงจะชั่วก็ชั่วแต่ตัวยักษ์ สุริยวงศ์พงศ์ศักดิ์หาชั่วไม่" 
เมื่อ พล.อ.สนธิ ไม่มี "เครื่องลบความทรงจำ" ดัง แมน อิน แบล็ก จึงต้องเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองและต้องเผชิญปฏิกิริยาเช่นนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
ส่วนจะนำสู่การต่อต้านรุนแรงขนาดไหน ต้องจับตาใกล้ชิด



+++

ตรวจแฟ้มคดี "ทักษิณ" และพวก ผลพวงหลัง พ.ร.บ.ปรองดอง คืนเงิน 46,000 ล้านและ "ดอกเบี้ย"
คอลัมน์ในประเทศ  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 11


การกลับบ้านอย่างเท่ๆ โดยใช้กฎหมายปรองดองปูทาง อย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
เพราะพลันที่ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และอีก 3 ร่าง พ.ร.บ. ถูกเสนอเข้าสภา เพื่อพิจารณาเป็นเรื่องด่วน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ความวุ่นวายโกลาหล ก็อุบัติขึ้นทันที ทั้งในและนอกสภา 
เหตุเพราะพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมตลอดถึงกลุ่มเสื้อหลากสี ต่างฟันธงว่า นี่คือ กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผู้ได้ประโยชน์คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก 
แม้ว่าจริงๆ แล้ว ผู้ได้ประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ. นี้ ยังรวมถึงผู้นำรัฐบาลขณะเกิดเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่รับคำสั่ง หากกระทำเกินกว่าเหตุและไม่สุจริต 

ประเด็นหนึ่งที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ผู้นำฝ่ายค้านพยายามเปิดประเด็นขึ้นมา คือ พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.การเงิน เพราะต้องคืนเงิน 46,373 ล้านบาทให้ "ทักษิณ"
ฉะนั้น เมื่อเป็น พ.ร.บ.การเงิน ร่างกฎหมายปรองดองจึงต้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและน้องสาวของอดีตนายกฯ ลงนามรับรองกฎหมายก่อนเสนอเข้าสภา 
นั่นหมายความว่า "น้องสาว" ต้องลงนามรับรองร่างกฎหมายปรองดอง เพื่อคืนเงิน 46,000 ล้านบาทให้พี่ชายของตัวเอง 

ส่วน นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอดีตตุลาการ จุดประเด็นว่า พ.ร.บ.ปรองดองที่มีสาระสำคัญให้ยกเลิกคดีที่ คตส. ดำเนินการ เป็นการยกเลิกแบบเบ็ดเสร็จรวมไปถึงอำนาจตุลาการด้วย
"เท่าที่ผมได้สอบพบว่ากระบวนการใดที่ทำจนถึงที่สุดแล้ว เขาจะใช้วิธีการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าย้อนกลับไปเริ่มต้นที่จุดเดิมแล้วจะมาบอกว่าที่ทำไปแล้วนั้นใช้ไม่ได้เลย อย่างนั้นไม่มี" อดีต คตส. กล่าว 

การปะทุของเกมในสภาและนอกสภาครั้งนี้เกิดขึ้นจากมาตรา 5 ของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ พล.อ.สนธิ และ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า
 "ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค. ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือหน่วยงานอื่นใดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด"

สอดรับกับ "นายวัฒนา เมืองสุข" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่า เป็นการลบล้างผลอันเกิดจากการดำเนินการของ "องค์กรพิเศษ" ที่ตั้งมาโดยไม่ชอบ และเปิดทางให้มีการดำเนินการโดยกระบวนการที่ถูกต้อง 
คำถามคือ มีคดีอะไรบ้างที่จะถูกลบล้างและจะเกิดอะไรขึ้น หากว่ากฎหมายปรองดองผ่านสภา?



จากการรวบรวมข้อมูลของ "มติชนสุดสัปดาห์" พบว่าคดีที่ "คตส." ดำเนินการไว้มีทั้งสิ้น 13 คดี และแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม 

กลุ่มแรก "คดีที่ศาลตัดสินแล้ว" ประกอบด้วย 
1. คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก คดีนี้ ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ผู้ซื้อ 
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เซ็นชื่อรับรองในฐานะ "สามี" ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา  
คำตัดสินคดีนี้เป็นผลให้ "ทักษิณ" ตัดสินใจหนีไปต่างประเทศ และศาลออกหมายจับ 
2. คดีร่ำรวยผิดปกติ ให้ทรัพย์สิน 76,621 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลฎีกา ได้พิพากษาให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกฯ และเงินปันผล จำนวน 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน 
3. คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป มูลค่า 738 ล้านบาท ศาลอาญาได้พิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ คนละ 3 ปี ส่วนนางกาญจนาภา 2 ปี  
แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินของศาลอาญา ให้ยกฟ้อง "คุณหญิงพจมาน-นางกาญจนาภา" ส่วนนายบรรณพจน์ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่อัยการสูงสุดจะตัดสินใจ "ไม่ฎีกา" 
4. คดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 44 คน เนื่องจากพบว่าไม่ได้กระทำความผิด
5. คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาให้จำคุก นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง 2 ปี นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและประธานคณะบอร์ดกองสลาก 2 ปี นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก 2 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 ไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา จึงมีการออกหมายจับ 
ทั้งหมดนี้คือ คดีที่ศาลตัดสินแล้ว


กลุ่มที่สองคือ "คดีที่อยู่ในชั้นศาล" ประกอบด้วย 
1. คดีร่ำรวยผิดปกติ ทำให้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่องศาลฎีกา ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้ ถึง 6 ครั้ง ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้ 
2. คดีทุจริตปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า มูลค่า 4,000 ล้านบาท คดีนี้ศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้  
3. คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยเพียงคนเดียว และศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้  
4. คดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของ กทม. มูลค่า 6,800 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบบัญชีพยาน โดยจำหน่ายคดีในส่วนนายสมัครที่เสียชีวิตไปแล้ว 


กลุ่มที่สามคือ "คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน" ของ ป.ป.ช. หรืออัยการสูงสุด ประกอบด้วย 
1. คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่มี นายวัฒนา เมืองสุข กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา 
2. คดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคมกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา  
3. คดีทุจริตท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคมกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา 
4. คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ และ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา 

จนถึงวันนี้ ในจำนวน 13 คดี มีเพียงคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว 5 คดีเท่านั้นที่เป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง เป็นพิเศษ โดยเฉพาะคดียึดทรัพย์ กว่า 46,000 ล้าน 
ปัญหาคือ ถ้าคดีนี้ ย้อนกลับไปก่อน 19 กันยายน 2549 ไม่มี คตส. ไม่มี ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ไม่มีคดีอยู่ในศาล และต้องคืน 46,000 ล้านแก่อดีตนายกฯ  
คำถามก็คือ ดอกผลและดอกเบี้ยของเงิน 46,000 ล้านบาทที่อาจเป็นลาภมิควรได้ ต้องคืนทักษิณ จะเป็นเงินก้อนโตที่รัฐต้องจ่ายคืนเจ้าของทรัพย์ 
นี่คือ ปัญหายุ่งยากของการหมุนนาฬิกากลับไปสู่อดีต 
และเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของอีกหลายปัญหาที่สังคมไทยจะต้องถกเถียงกันเกี่ยวกับกฎหมายปรองดอง



+++

หงส์เหนือมังกร ล้างอาถรรพณ์ทุ่งดอนเมือง แหวกม่านประเพณีทัพเรือ จับตา "ผบ.ทร." เมด อิน เยอรมัน?
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 16


กลายเป็นภาพชินตาไปแล้ว ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิง จะนั่งหัวโต๊ะประชุมแม่ทัพนายกองฝ่ายความมั่นคง ที่ล้วนเป็นคนในเครื่องแบบ 
เป็นภาพชินตา ที่เธอจะเดินนำหน้าแถวทหาร ยืนหน้าแถวหน้าแนว ผบ.เหล่าทัพ ที่ล้วนเป็นชายอกสามศอกในเครื่องแบบทั้งสิ้น 
ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เริ่มคุ้นชินกับการเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ จึงทำให้เธอเดินได้อย่างสง่างามมากขึ้น จากที่เคยเคอะๆ เขินๆ ไม่ตรงจังหวะ มีขาดมีเกิน 
ไม่แค่นั้น เธอยังเดินบุกตะลุยเข้าเขตทหาร ทั้งหน่วยทหารในกรุง ในเมือง หรือที่ชายแดน ทั้งการตรวจหน่วยและการไปชมการฝึก ที่ครบทั้ง 3 เหล่าทัพ เกือบ 3 มิติแล้ว
ลีลาที่นิ่ง นุ่มนวล ช้าๆ แต่มั่นคง แววตาสุดนิ่งของเธอ ท่ามกลางขุนทหารน้อยใหญ่ ที่เดินเคียงข้าง ขนาบข้างและตามหลัง ทำให้เธอกำลังเป็นที่กล่าวขวัญ ไม่ใช่แค่จากทหารในกองทัพ ที่เป็นอำมาตย์ แตงโม หรือแม้แต่ทหารแก่ที่เฝ้ามองกองทัพ ประหนึ่งลีลาพญาหงส์ และเป็นประหนึ่ง นางหงส์ที่อยู่เหนือหมู่มังกร ที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บและอิทธิฤทธิ์
นี่อาจทำให้เห็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้พี่ชาย เอ่ยปากชมลีลาท่าทาง การวางตัว ของน้องสาว เช่นนี้ให้บรรดาเพื่อน ตท.10 และทหารแตงโมฟังเสมอๆ

ต่อให้เธอจะถูกตำหนิก่นด่า เรื่องการใช้ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ หรือการพูดตามสคริปต์ หรือไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ข้อดีของเธอ คือการไม่โต้คารม ไม่ต่อล้อต่อเถียง อดทนและเงียบ 
จนบางครั้งอาจทำให้เธอดูไม่สง่างาม ไม่สมาร์ต เท่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงควรจะเป็น
แต่เมื่อต้องเล่นบท นางพญาหงส์ ที่ต้องบินเหนือหมู่ทหาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็กลายเป็น หงส์เหนือมังกร ที่อาจเป็นเหตุผลที่อาจทำให้เธอได้นั่งควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม หญิง คนแรกของไทย เพราะทุกวันนี้เธอก็คุมกลาโหมด้วยตัวเอง รวมทั้งสายตรงถึง ผบ.เหล่าทัพเองทุกคน

อีกทั้ง ฝ่ายผู้นำกองทัพ โดยเฉพาะบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต่างก็ให้เกียรตินายกรัฐมนตรีหญิง ทั้งในฐานะสตรี และในฐานะผู้บังคับบัญชา จึงทำให้ปรากฏภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินนำหน้า ผบ.เหล่าทัพ เสมอๆ 
โดยเฉพาะมี ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. และ พล.อ.เสถียร ปลัดกลาโหม เคียงข้าง
แต่จับตาให้ดีว่า น.ส.ยื่งลักษณ์ จะไม่ได้แสดงแค่ลีลาสวยสง่างามแห่งนางพญาหงส์ เหนือหมู่มังกรเท่านั้น แต่เธอจะใช้พลังในการจัดแถวมังกรนั้นด้วย



จึงเกิดข่าวโหมแรงทั้งในทัพฟ้าแดนอาถรรพณ์ว่า บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. จะข้ามห้วยกลับบ้าน ไปเป็น ผบ.ทอ. แทน บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ เพื่อน ตท.11 ที่จะเกษียณกันยายนนี้ ตัดหน้า บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. แกนนำ ตท.13 ที่ถูกวางตัวจ่อมานาน แต่เพราะถูกมองเป็นทายาทอำนาจของสาย คมช. จึงอาจมีลุ้น กับการจัดทัพของ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต หากว่าเขายังนั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม อยู่ถึงวันนั้น โดยรับคำสั่งตรงจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลยทีเดียว 
แต่ก็ยังดีที่เมื่อพบเจอหน้ากัน ทั้งบิ๊กหนู และ บิ๊กจิน ก็ยังพูดคุยกันดีแบบพี่น้อง แม้ในใจจะรู้ว่า ต้องเป็นคู่แข่งแย่งเก้าอี้กันก็ตาม 
ยิ่งเมื่อฝ่ายบิ๊กหนู นั้นเป็นอดีตนักบิน ทอ. ประจำตัวป๋าเปรม และญาติดีกับ พล.อ.อ.สุกำพล เพราะถือเป็นเด็กบิ๊กเต้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล อดีตแกนนำ รสช. ผู้มีพระคุณของ พ.ต.ท.ทักษิณ และมีนายทหารอากาศ ตท.10 เชียร์อีกเพียบ แถมมีอายุราชการถึงปี 2557 ที่อาจทำให้ พล.อ.อ.อิทธพร ต้องเหนื่อยก่อนเกษียณ เพราะจะต้องเลือกน้องจิน มากกว่าเพื่อนหนู ที่โตมาคนละทางคนละขั้ว 
แถมยังเคยเตะเพื่อนไปอยู่ บก.ทัพไทย ให้พ้นทางเสียอีก



แต่ที่กำลังฮือฮา คือข่าวสะพัดในทัพเรือที่ว่า นางพญาหงส์ อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่แน่นอนว่า ย่อมมีเงาดำของ พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ชายอยู่เบื้องหลัง จะหาญกล้า "เปลี่ยนแปลง" และ "ปลดแอก" กองทัพเรือ ออกจากประเพณีเดิมๆ 
จากที่ นายทหารเรือที่จะจบจาก ร.ร.นายเรือต่างประเทศ จะขึ้นเป็น ผบ.ทร. ไม่ได้นั้น ล่าสุด อาจมีครั้งแรกเกิดขึ้น ในเมื่อประเทศไทยมีสตรีหมายเลข 1 มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกมาแล้ว และอาจกำลังลุ้นเป็น รมว.กลาโหม หญิง คนแรกด้วยซ้ำ ก็อาจจะมี ผบ.ทร. ที่จบนอก คนแรกด้วย 
แม้มองไปใน ทร. เวลานี้ จะมีนายทหารที่สามารถขึ้นเป็น ผบ.ทร. อยู่หลายคน แต่เต็งหนึ่งก็คือ บิ๊กต้อม พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร. ที่เกษียณ 2557 ที่แม้จะเทียบเป็นเตรียมทหาร 13 เพื่อนร่วมรุ่นของ บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ที่จะเกษียนกันยายนปี 2556 ก็ตาม 
แต่เพราะเขาจบจาก ร.ร.นายเรือเยอรมัน จึงทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่อาจทำให้เขาไปไม่ถึงฝั่งฝัน ต่อให้เขามีความรู้ความสามารถ ทุ่มเทในการทำงานให้ราชนาวี และมีอุดมการณ์มากแค่ไหน แต่สำหรับชาวเรือแล้ว ธรรมเนียมประเพณีถือว่าสำคัญยิ่ง ทั้งๆ ที่การได้ไปเรียนต่างประเทศ ก็เพราะเรียนเก่ง จึงได้ทุนไปเรียนต่อ แถมยังเป็น ผช.ทูตทหารเรือประจำสหรัฐอเมริกาอีกด้วย 
แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า บรรดาอดีตบุพการี ปูชนียบุคคลของ ทร. ก็ล้วนจบจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยเฉพาะเจ้าขุนมูลนาย แม้แต่ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จเตี่ยของทหารเรือ หรือ กรมหลวงสงขลานครินทร์ฯ ก็ตาม ซึ่งก็ล้วนเป็นองค์ผู้วางรากฐานให้ ทร.


การแหกกฎ แหวกม่านประเพณี นี้มักเกิดขึ้นได้เพราะมีอำนาจทางการเมืองทั้งในกองทัพเอง และจากฝ่ายการเมืองเข้าแทรกเสมอ
เหมือนเมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จารุมณี ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ทั้งๆ ที่เป็นเหล่าช่าง แต่เพราะอำนาจบารมีของ ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเวลานั้น หรือต่อมา บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แหกกฎ ทบ. กลายเป็น ผบ.ทบ. ที่ไม่ได้มาจากเหล่ากำลังรบ หรือ ทหารราบ ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ แต่เป็นทหารสื่อสารคนแรก ที่เป็น ผบ.ทบ. 
แม้ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นในกองทัพเรือ ซึ่งเคร่งครัดเรื่องประเพณี แต่ก็ไม่อาจมองข้ามคอนเน็กชั่นของ พล.ร.อ.อมรเทพ กับฝ่ายการเมือง 

หากพลิกปูมหลังของ ฉลามขาวแห่งดอยช์ ผู้นี้แล้ว จะพบว่า เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 
ที่สำคัญ หากมองไปที่หลังบ้านคนล่าสุด ก็คือ นางพรทิพย์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล พี่สาวคนโตของ นางพรทิวา นาคาศัย แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ที่มีหลายมุ้งที่พร้อมจะเข้าเสียบร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
แต่ทว่า แคนดิเดต ชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. คนใหม่ ก็มีหลายคนที่น่ากลัว แต่ส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ใน ตท.13 เนื่องจากยังมีอายุราชการตั้งแต่ 1-2 ปี โดยเฉพาะ บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. อดีต ผช.ทูตทหารเรือประจำอิตาลี ที่สุขุมเยือกเย็น ที่ถือเป็นเพื่อนรักของบิ๊กหรุ่นที่ใจซื่อมือสะอาดเหมือนกัน  
และ บิ๊กหนุ่ย พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. อดีต ผช.ทูตทหารเรือประจำกรุงปักกิ่ง ที่มี หม่อมหลวงอารยา สิโรดม ภริยาถือว่าเป็นวงศ์เทวัญ ที่รับหน้าที่ประธานฝ่ายหารายได้ให้สมาคมภริยา ทร. ซึ่งก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญ 
ทั้ง พล.ร.อ.ณรงค์ และ พล.ร.อ.พลวัฒน์ มีอายุราชการแค่ 1 ปีเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะที่ผ่านมา ผบ.ทร. ส่วนใหญ่ก็เป็นคนละ 1 ปี แต่นั่นหมายถึงว่า พวกเขาได้ทำงานในตำแหน่งอื่น ก่อนที่จะขึ้นสู่หมายเลข 1 
รวมทั้ง พล.ร.ท.จักรชัย ภู่เจริญยศ รอง เสธ.ทร. อดีต ผช.ทูตทหารเรือ อังกฤษ ที่ก็เป็น ตท.13 แต่มีอายุราชการเหลือแค่ปีเดียวคือ 2557 เช่นกัน


ดังนั้น จึงต้องจับตาการตัดสินใจที่แสนยากลำบากของ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ในการโยกย้ายกันยายนนี้ เพราะหากเขาเอา พลเรือเอก คนใดขึ้นมาอยู่ใน ห้าฉลามแห่งทัพเรือ โดยเฉพาะ เสธ.ทร. หรือ ผช.ผบ.ทร. ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ใครจะเป็นแม่ทัพเรือคนต่อไป 
แต่ก็เช่นกัน หากเขาดัน พลเรือโท คนใดขึ้นพลเรือเอก ในโยกย้ายนี้ นายทหารเรือคนนั้นก็ไม่อาจมองข้าม 
โดยเฉพาะ พล.ร.ท.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.รร.นายเรือ แกนนำ ตท.13 อีกคนที่มีอายุราชการถึงปี 2558 ที่หากได้เป็น พลเรือเอก หรือเข้าห้าฉลามแห่งทัพเรือ ในโยกย้ายกันยายนนี้ ก็มีสิทธิ์สูง แต่ก็เป็นร่ำลือกันในหมู่ลูกประดูว่า หากมี ผบ.ทร. ที่ชื่อ ไกรสร อดีต ผบ.รล.คีรีรัฐ คนนี้ ทัพเรือก็คงจะไม่มีเวลาพักหายใจ เพราะเป็นนายทหารสุดเฮี้ยบ และเอาจริงเอาจัง ขั้นที่เรียกว่า ดุขั้นเทพ 
ส่วน ตท.13 อีกคน ยังมี พล.ร.ท.อนุรัตน์ อุบล ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายยุทธการ ที่มีอายุราชการถึงปี 2558 เช่นกัน แต่ทว่า เขาจบจาก รร.นายเรือญี่ปุ่น ก็อาจเจออุปสรรคเรื่องม่านประเพณี และเสียเปรียบเรื่องอาวุโสตรงที่ยังครองยศ พลเรือโท อยู่ 
แต่หาก พล.ร.อ.สุรศักดิ์ มองไกลข้ามเพื่อน ตท.13 ไปถึงรุ่นน้อง ตท.14 และ ตท.15 เลย เพราะหวังให้มีอายุราชการยาวนานอีกนิด ตั้งแต่ 2-3 ปี ที่ก็อาจถูกเพื่อน ตท.13 งอนเอาได้เหมือนกันก็ตาม 
โดยเฉพาะการโยกย้ายกันยายนนี้ ที่ตำแหน่ง รอง ผบ.ทร. และประธานที่ปรึกษากองทัพเรือว่างลง เพราะ บิ๊กเจี๊ยบ พล.ร.อ.วีรพล กิจสมบัติ และ บิ๊กหมวย พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ เกษียณราชการ ที่คาดว่า บิ๊กหรุ่น จะดัน บิ๊กห้าว พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ เสธ.ทร. เพื่อนรัก ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทร. ทำงานด้วยกันอีกปีก่อนเกษียณพร้อมกัน แล้วให้ พล.ร.อ.ฆนัท ทองพูล ผบ.กองเรือยุทธการ ตท.12 ขยับเป็นประธานที่ปรึกษา ทร.


จึงต้องจับตาดูว่า พลเรือโทคนไหนจะขึ้นพลเรือเอก เช่น ใน ตท.14 ทั้ง พล.ร.ท.พิจารณ์ ธีรเนตร เสธ.กองเรือยุทธการ และ บิ๊กน้อง พล.ร.ท.พจนา เผือกผ่อง ผช.เสธ.ทร. ที่มีอายุราชการถึงปี 2558 
หรือ ตท.15 ที่มาแรงยกรุ่นเพราะคุมกำลังสำคัญและตำแหน่งหลัก ทั้ง บิ๊กยุ้ย พล.ร.ท.ณรงค์พล ณ บางช้าง รอง เสธ.ทร. แกนนำ ตท.14 อดีต ผช.ทูตทหารเรือประจำสหรัฐอเมริกา ที่มีอายุราชการถึงปี 2559 ที่มีฝีมือด้านยุทธการและส่งกำลังบำรุง แต่ก็จบจาก รร.นายเรือเยอรมัน แต่หากว่า พล.ร.อ.อมรเทพ พี่ชายแท้ๆ ไม่อาจแหวกม่านประเพณี ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ได้ เห็นทีโอกาสของ พล.ร.ท.ณรงค์พล น้องชาย ที่จะขึ้น ผบ.ทร. ในอนาคตก็คงริบหรี่เช่นกัน 
รวมทั้ง พล.ร.ท.ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่เกษียณ 2558 และบิ๊กมิ้ม พล.ร.ท.ชุมพล วงศ์เวคิน ผบ.กองเรือภาค 1 แกนนำ ตท.15 ที่เหลืออายุราชการอีกถึง 4 ปี และ พล.ร.ท.ธราธร ขจิตสุวรรณ ผบ.กองเรือภาค 3 และบิ๊กเผือก พล.ร.ท.อนุทัย รัตตะรังสี น้องเลิฟฝ่าย เสธ. หน้าห้องของบิ๊กหรุ่น ที่มีอายุราชการถึงปี 2559 อาจจ่อขึ้นมาในโยกย้ายกันยายนนี้ และ พล.ร.ท.ณะ อารีนิจ เจ้ากรมสรรพาวุธ ทร. ที่อายุน้อย มีอายุราชการถึงปี 2560 
แม้แต่ฉลามที่ข้ามไปอยู่ บก.ทัพไทย อย่าง พล.ร.ท.ประสาน สุขเกษม แกนนำ ตท.14 ที่มีอายุราชการถึงปี 2559 ก็ไม่อาจมองข้าม เพราะนอกจากความสามารถขั้นเทพ แล้วยังเป็นอดีต ผช.ทูตทหารเรือประจำสเปน และอาจเป็นสูตรปรองดอง ที่บิ๊กหรุ่น อาจไม่ละเลย เพราะ พล.ร.ท.ประสาน เป็นหัวหน้าฝ่าย เสธ. ของ บิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม รอง ผบ.สส.

ส่วนดาวรุ่ง ตท.15 ที่ต้องจับตามองคือ บิ๊กจุ๊ พล.ร.ท.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ รอง เสธ.ทร. แกนนำ ตท.15 ที่มีความสามารถรอบด้าน ทั้งงานยุทธการ กิจการพลเรือน และแม้แต่การแต่งกลอนแต่งเพลง แต่ที่หลังจากที่ถูกสะกิดในเรื่องบุคลิก ก็มีการปรับตัวให้สุขุม ลุ่มลึก และพูดน้อยลง



จึงถือว่า ตท.15 นั้นมาแรงสุดๆ แต่ที่สำคัญ หากเอาทหารเรือรุ่นน้องขึ้น แล้วจะเอาเพื่อนๆ ตท.13 ไปไว้ไหนได้บ้าง มีแค่รองปลัดกลาโหม ที่ว่างลงเพราะ พล.ร.อ.รุ่งรัตน์ บุณยรัตพันธุ์ เกษียณกันยายนนี้ ส่วน รอง ผบ.สส. เกษียณ 2556 
แต่ก็อาจจะส่ง พล.ร.อ.อมรเทพ ที่หากอกหักจาก ผบ.ทร. ไปชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม กับพวกทหารบก ที่ส่งมาชิงชัยหลายคน ทั้ง บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 ที่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. อยากดันให้เป็นเบอร์ 1 ที่สำนักปลัดกลาโหม เพราะยังไงก็อดเป็น ผบ.ทบ. เพราะตนเองต้องนั่งยาวยัน 2557 แต่เพื่อนหนุ่ย เกษียณกันยายน 2556 นี้แล้ว 
เพราะอย่าลืมว่า เก้าอี้ปลัดกลาโหม น่าจะเป็นเก้าอี้ที่ รมว.กลาโหม หรือนายกรัฐมนตรี พอจะเลือกได้ เหมือนที่เคยดัน พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ มานั่งสำเร็จมาแล้ว 
แต่ก็ต้องสู้กันเองกับ บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ. อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่มีสายสัมพันธ์เครือญาติกับ ส.ส. พรรคเพื่อไทย และถูกมองเป็นทหารแตงโม มาตลอด

รวมทั้งต้องสู้กับลูกหม้อในกลาโหม อย่าง บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหม แกนนำ ตท.14 ที่เชื่อกันว่า "นอนมา" เพราะเป็นน้องรักของบิ๊กจิ๋ว ที่ย่อมต้องได้เปรียบในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย แม้ว่าเขาจะมีอายุราชการยาวนานถึงปี 2558 ก็ตาม 
แต่ก็ไม่แน่ว่า เก้าอี้ปลัดกลาโหม อาจจะได้เป็นโควต้าของทหารเรือบ้าง เพราะในอดีตมีแต่ทหารบกเป็นส่วนใหญ่ แทรกด้วยทหารอากาศบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ กับ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ซึ่งก็ใกล้ชิดสนิทสนม หรือเรียกว่าเป็นคู่หวานกันอยู่แล้ว 
อีกทั้ง สายสัมพันธ์ที่ดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ไม่นับรวมที่นายกฯ หญิง นั้นชอบทหารเรือ อยู่แล้ว ไม่ต่างจากคนไทยทั่วไป ที่รักทหารเรือเพราะอยู่แบบเจียมตัว และไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 
ว่ากันว่า ในเวลานี้ แม้ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ จะเล็งๆ ใครไว้ในใจแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจเสียทีเดียว อีกทั้งจะมีการวางหมากขั้นเทพ ในการโยกย้ายกันยายนนี้ แบบที่ว่า ให้ทุกคนมีความหวัง เพราะบิ๊กหรุ่น อยากให้ทุกคนทำงานเพื่อ ทร. เพื่อพิสูจน์ฝีมือ เพราะถ้าชัดเจนเร็ว คนที่หมดหวังก็ไม่ทำงาน

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อต่างคนต่างมีความหวัง แถมมีหลายคนที่มีสิทธิ์ฝันจะเป็นแม่ทัพเรือ การต่อสู้แย่งชิงเก้าอี้ ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ แต่ขอให้เล่นกันอย่างสุภาพบุรุษ และนึกถึงภาพพจน์ของทัพเรือ เมื่อนกหวีดเป่า รู้ผลแล้วทุกอย่างก็จบ 
งานนี้ ไม่ว่าจะเป็นมังกร หรือฉลาม ก็อาจจะต้องยอมสยบ ที่ต้องรอดูว่า ถึงเวลาพญาหงส์จะหาญกล้าแตะต้องกองทัพหรือไม่ อาจจะไม่กล้ายุ่งทัพบก แต่อาจขอแจมตั้งปลัดกลาโหม ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. เพื่อแหวกม่านประเพณี และล้างอาถรรพณ์ แบบคิดใหม่ทำใหม่ ที่ทำให้ทั้งฝนฟ้าพายุและคลื่นยักษ์ มารออยู่เบื้องหน้า โดยพลัน...



+++

อานิสงส์ปมตั้ง "ศรีวราห์" ชงกฎเหล็ก "ล้อมคอก" ทวีคูณ จับตาบทสรุปเก้าอี้ "ผบช.ภ.1"
คอลัมน์โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 99


นับถอยหลังอีกเพียง 4 เดือน "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะอำลาตำแหน่ง "ผบ.ตร. คนที่ 8" ด้วยการเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ 
หากเป็นเช่นนั้น จะเป็นการรูดม่านในบทบาท "ผู้นำสีกากี" กับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็น ผบ.ตร. ที่อยู่บน "บัลลังก์เบอร์ 1" จนครบเกษียณ 
แต่ก็เป็น 4 เดือน ท่ามกลางความท้าทายอันเนื่องมาจากอุณหภูมิการเมืองที่เริ่มขยับสูงขึ้น "เกิดม็อบการเมือง" จากความผิดหวัง ไม่พอใจในการพยายามออกกฎหมายปรองดองแห่งชาติ ฝ่ายคัดค้านใช้ช่วงวิกฤต พลิกสร้างโอกาสดำเนินกลยุทธ์ปลุกกระแสต้านทุกเวที!!

ทำให้อีก 4 เดือนที่เหลือ ของ "ผบ.ตร.เพรียวพันธ์" มีงานหนักอีกอย่างคือ ประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองอันล่อแหลมให้เป็นไปอย่างสงบ เรียบร้อย ประหนึ่งประคับประคอง "สถานะผู้นำสีกากี" ไปในตัว 
และหากไร้เภทภัยใดที่ส่งแรงสะเทือนถึงขั้นสลับขั้วอำนาจการเมืองก็เป็นไปได้สูงว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะล้างอาถรรพ์เก้าอี้ ผบ.ตร.


ต้องยอมรับว่านับแต่นั่งบนเก้าอี้ผู้นำสีกากี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เล่นบทถนัด "บู๊" ได้โดดเด่นกว่า "บุ๋น" ลงพื้นที่นำทีมปราบปรามยาเสพติดอย่างถึงลูกถึงคน ผลงานทะลุเป้า สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการปราบปรามยาเสพติด 
กระนั้นในงานบุ๋น ด้านการบริหารในยุคนี้จึงไม่โดดเด่นนัก หลายปมปัญหาที่ต้องบริหาร ตัดสินใจ ก็ยังไร้บทสรุป!! 
เรื่องใหญ่ที่ค้างคามา 3 ยุค กรณีทบทวนการแต่งตั้ง พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) ด้วยการให้สิทธิทวีคูณในการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ที่เกิดการร้องเรียนภายหลัง ว่าการได้รับสิทธิทวีคูณนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย  
โดยผู้ร้องเรียน อ้างว่า ห้วงเวลาที่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ นำมาใช้สิทธินับวันราชการทวีคูณนั้น เป็นห้วงเดียวกับที่เจ้าตัวลงเรียนหลักสูตร วปอ. เท่ากับว่า ไม่อยู่ในวิสัย "ปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"  
ซึ่งประเด็นนี้เป็นปมคาราคาซังนานร่วม 2 ปี และรอให้ ผบ.ตร. คนนี้สะสาง


ย้อนไปเรื่องนี้ บอร์ดใหญ่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ชุดก่อนมีการพิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.ต.ศรีวราห์ โดยใช้สิทธิทวีคูณให้เป็น ผบช.ภ.1 สมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ยังรักษาราชการแทน ผบ.ตร. ต่อเนื่องในสมัย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. มีการพิจารณาทบทวนหลายรอบ ยื้อมาจนถึงยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็ยังไร้บทสรุป 
ก.ตร.ชุดปัจจุบัน เคยมีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มี พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ที่ขณะนั้น ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจ (สบ8) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีบทสรุปออกมาว่า การได้สิทธิทวีคูณ ของ รอง ผบช.ก. ท่านนี้ ไม่น่าจะชอบธรรม ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 เนื่องจากไม่ไปปฏิบัติงานต่อเนื่อง 
จากนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ สั่งการบอร์ดศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ต้นเรื่องผู้พิจารณาอนุมัติสิทธิฯ ทบทวนอีกครั้ง

ซึ่งบอร์ด ศชต. ตีกลับให้ ผบ.ตร. มีความเห็น กระทั่ง ผบ.ตร. นำเข้า ก.ตร. อีกครั้ง โดย ก.ตร. ยังไม่กล้าสรุป 
จนมีข้อเสนอแนะในวง ก.ตร. จาก นายวิษณุ เครืองาม 1 ใน ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หารือ "คณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ "ก.บ.จ.ต." ซึ่งเป็นเจ้าของระเบียบฯ ให้ช่วยพิจารณาว่า กรณีอย่าง พล.ต.ต.ศรีวราห์ ที่ไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ชายแดนใต้ตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เช่นที่กล่าวอ้างนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระเบียบการให้บำเหน็จความชอบหรือไม่

ล่าสุดบอร์ด ก.บ.จ.ต. ประชุมพิจารณา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม มีความเห็นว่า กรณีนี้จะมีความเห็นเช่นไร ต้องให้คณะกรรมการกลางของหน่วยต้นสังกัดพิจารณาเอง 
นั่นหมายความว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ต้องชงให้ ก.ตร. ชี้ขาดอีกครั้ง ซึ่งในยุคที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร. จะได้ข้อสรุปหรือไม่ ต้องติดตาม หรือจะยืดเยื้อถึง ผบ.ตร. คนต่อไป



ทั้งนี้ มีการให้ความเห็นอย่างกว้างขวางในแวดวงสีกากี ว่า เหตุที่ ผบ.ตร. หรือแม้แต่ บอร์ด ก.ตร. ไม่กล้าชี้ขาดเนื่องจาก เกรงถูกฟ้องร้องภายหลัง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า หากตรวจสอบกันจริงๆ มีบิ๊กสีกากี ผู้ได้สิทธิ บางคนได้รับสิทธินับอายุราชการทวีคูณมาชนิดหมิ่นเหม่คาบเส้นเช่นเดียวกัน 
จึงเป็นไปได้สูงว่าหาก ก.ตร. กล้าตัดสิทธิ พล.ต.ต.ศรีวราห์ ไม่ให้ขึ้นเป็น ผบช.ภ.1 ตามมติ ก.ตร. ครั้งนั้น จะเกิดการฟ้องร้องโดยยกกรณีเทียบเคียงแน่นอน และจะนำมาซึ่งความยุ่งเหยิงอย่างมาก 
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครอยากมี "ชนัก" 
เรื่องนี้จึงเป็นปมค้างคา ส่งผลให้ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่มีข่าวว่าถูกวางตัวเป็น ผบช.ภ.1 มาพักใหญ่ ยังคงเป็นได้แค่เพียง รักษาราชการแทน ผบช.ภ.1 เท่านั้น 
ฉะนั้น จึงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าถึงที่สุดแล้ว ก.ตร. จะตัดสินใจอย่างไร เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ทว่า จากปม พล.ต.ต.ศรีวราห์ และความลักลั่นเรื่องการให้สิทธิทวีคูณของตำรวจชายแดนใต้ บอร์ดบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ นั่งหัวโต๊ะ มีการกำหนดแนวทาง "ล้อมคอก" เรื่องนี้  
โดยข้อหนึ่งระบุว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิพิเศษ จะต้องไปปฏิบัติราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เท่านั้น จะเป็นการไปด้วยคำสั่งหน่วยงานอื่น หรือของกองบัญชาการไม่ได้ และการไปปฏิบัติราชการ หมายถึงต้องทำงานในพื้นที่ตลอด หรือต้องขึ้นการบังคับบัญชาจาก ผบช. ในพื้นที่เท่านั้น จะไปเป็นครั้งคราว หรือเพียงขึ้นชื่อว่ากำกับดูแล ไม่ได้ 
ประเด็นนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในการตัดปัญหาเชิงบริหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างรอนำเข้าหารือใน ก.ตร. อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม 4 เดือนจากนี้ น่าสนใจว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ในบทบาทผู้นำตำรวจจะตัดสินใจดำเนินการกับปมเก้าอี้ "ผบช.ภ.1" ที่ยังค้างคาอย่างไร?!! 



.