.
บันไดทางสังคม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 30
แม้ด้วยความรู้อันจำกัด ผมก็ยังทะลึ่งพอจะประกาศว่า ไม่มีสังคมอะไรในโลกนี้ที่หยุดนิ่งกับที่ ยกเว้นสังคมที่ทรัพยากรมีจำกัดมากเช่นเอสกิโมเท่านั้น
การเคลื่อนย้ายทางสังคม จากไพร่เป็นนาย จากนายเป็นไพร่ จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ แม้ว่าเป็นธรรมดาที่ผู้ถืออำนาจในทุกสังคม ย่อมพยายามสั่งสอนให้ทุกคนทำหน้าที่ตามสถานะของตน โดยไม่ไปทำอะไรเกินหน้าที่อันเป็นภาระของคนสถานะอื่น
ก็แน่นอนนะครับ สังคมที่หยุดนิ่งกับที่ย่อมเป็นประโยชน์แก่คนที่ถืออำนาจอยู่ เพราะไม่มีใครมาแซะให้ตัวหลุดไปจากสถานะอันสูงส่งนั้น แต่นั่นเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงที่ไหนในโลกเลย
ผมคิดเรื่องนี้เพราะคิดถึงสังคมฮินดู ซึ่งมีระบบวรรณะชัดเจนอันแต่ละคนได้รับมอบมาตั้งแต่เกิด พร้อมทั้งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคนในแต่ละวรรณะมาเสร็จ จึงดูเหมือนเป็นสังคมที่เปลี่ยนไม่ได้
แต่ความจริงแล้ว หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ ทั้งในสังคมฮินดูของอินเดีย และบาหลี
อย่างที่ผมเคยคุยไว้นานแล้วว่า ในอินเดีย วรรณะเป็นกรอบกว้างๆ ไว้อ้างถึงเท่านั้น สิทธิและอำนาจของคนอินเดีย โดยเฉพาะในชนบท ขึ้นอยู่กับกลุ่มที่เรียกว่าชาติต่างหาก (อ่านว่าชา-ติ) แม้ว่าชาติก็ยังอยู่ในระบบวรรณะ แต่สิทธิและอำนาจของชาติไม่ได้เรียงตามวรรณะที่ตนสังกัด เช่น ในบางแห่งคนในชาติหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นวรรณะพราหมณ์ อาจไร้สิทธิและอำนาจอย่างมาก เมื่อเทียบกับอีกชาติหนึ่งซึ่งอยู่ในวรรณสูตร เป็นต้น
คนในชาติที่ถูกถือว่าต่ำ อาจไต่เต้าขึ้นไปสู่ขั้นบันไดทางสังคมที่สูงขึ้นก็ได้ หากมีกำลังทางเศรษฐกิจและการเมืองที่จะทำอย่างนั้น โดยการลอกเลียนทางวัฒนธรรมของชาติสูง เช่น แต่งตำนานของตระกูลให้มีกำเนิดในวรรณะสูง เลิกกินเนื้อสัตว์บางอย่าง ไม่ไปเทวาลัยที่ถือว่าสำหรับชาติต่ำ แต่เลือกไปทำบุญในเทวาลัยที่ถือว่าของชาติสูงแทน ฯลฯ ในที่สุดก็อาจเลื่อนชาติของตนให้เป็นที่นับถือของคนอื่นได้ หรือเลื่อนแม้แต่ชาติของตนจากวรรณะต่ำให้กลายเป็นชาติในวรรณะสูง
สังคมฮินดูของบาหลีก็มีปรากฏการณ์ทำนองเดียวกัน แต่ผมขอเล่าระบบวรรณะของบาหลีละเอียดขึ้น เพราะน่าสนใจดี
ฮินดูบาหลีมีวรรณะเพียงสี่ เพราะบาหลีไม่รู้จักจัณฑาล การแต่งงานข้ามวรรณะทำได้มาแต่โบราณ โดยเฉพาะชายวรรณะสูงแต่งงานหรือเอาเมียจากวรรณะต่ำ แต่หากกลับกันคือหญิงไปเอาผัวที่วรรณะต่ำกว่าก็ยุ่งยากกว่าแยะ ภาษิตบาหลีอธิบายว่า น้ำกามก็เหมือนน้ำนั่นแหละ คือไหลลงจากที่สูงลงที่ต่ำ
แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้ว วรรณะพราหมณ์ย่อมสูงกว่าวรรณะกษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงของบาหลี วรรณะกษัตริย์คือผู้ถืออำนาจแท้จริง พราหมณ์ที่มีคุณสมบัติประกอบพิธีกรรมได้มีจำนวนน้อย อาจมีอำนาจเหนือชาวบ้านบ้าง แต่ในราชสำนักแล้วก็เป็นเพียงข้าราชบริพารคนหนึ่งเท่านั้น
วรรณะสูงของบาหลีประกอบด้วยพราหมณ์, "ษัตริยะ" (satria) และ "เวศยะ" เรียกรวมกันว่า "ตรีวังศะ" แต่ก็มีเพียง 10% ของประชากรเท่านั้นที่อยู่ใน "ตรีวังศะ" อีก 90% คือสูตรหรือชาวบ้านธรรมดา
ก่อนหน้าที่พวกวิลันดาจะครอบครองบาหลี ระบบวรรณะของบาหลีค่อนข้างหลวม ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ถูกจัดเข้าไปอยู่ในระบบวรรณะอีกด้วย เช่น ช่างตีเหล็กซึ่งกษัตริย์บาหลีซึ่งมักทำสงครามระหว่างกันเสมอ ย่อมเห็นความสำคัญและแยกไว้ต่างหากจากสูตรทั่วไปซึ่งคือแรงงานไพร่นั่นเอง
แต่เมื่อพวกวิลันดาเข้ามายึดครอง พวกวิลันดาเห็นว่าศาสนาฮินดูของบาหลีจะช่วยป้องกันการขยายตัวของมุสลิม ซึ่งพวกวิลันดาไม่ไว้วางใจ จึงพยายามเก็บบาหลีให้ "เหมือนเดิม" คือเหมือนจินตนาการของวิลันดาเองว่าเดิมคืออย่างไร
หนึ่งในนั้นคือตรึงระบบวรรณะให้แข็งตัว ชนิดที่เคลื่อนย้ายได้ยาก กลายเป็นปัญหาสืบมาถึงสังคมฮินดูบาหลีในทุกวันนี้ด้วย เพราะมันเป็นไปได้ยากในสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ปล่อยให้ปัจเจกบุคคลเคลื่อนย้ายทางสังคมโดยอิสระ
แต่ไม่ว่าจะแข็งตัวอย่างไร ชาวบาหลีก็มีวิธีเคลื่อนย้ายทางสังคมผ่านระบบวรรรณะไม่ต่างจากอินเดีย แต่เพราะฮินดูแบบบาหลีแตกต่างจากฮินดูของอินเดียอย่างมาก เนื่องจากผสมปนเปด้วยลัทธินับถือบูชาบรรพบุรุษอย่างเข้มข้นกว่า แถมยังบวกด้วยการนับถือเทพแห่งทะเล, ภูเขา, สถานที่, สิ่งของ ฯลฯ เข้าไปอีก
พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามองค์ของฮินดูคือศิวะ, วิษณุ และพรหม ชาวบาหลีก็นับถือ แต่ไม่สู้จะให้ความสำคัญนัก
ในเทวาลัยของบาหลี ทั้งของชาวบ้านหรือของพระราชา ซึ่งเรียกว่า "ปุระ" จะว่าไปก็ไม่ใช่ที่อยู่อย่างถาวรของพระเจ้าหรือบรรพบุรุษ แต่เป็นเหมือนโรงแรมมากกว่า คือจะลงมาสิงสถิตเมื่อทำพิธีอัญเชิญมาเท่านั้น เสร็จแล้วก็เช็กเอาต์ไปที่อื่น
ความสูงต่ำของคนขึ้นอยู่กับว่าเขาสังกัดอยู่ในกลุ่มตระกูลที่สูงหรือต่ำ ไม่ได้อยู่ที่วรรณะล้วนๆ กลุ่มตระกูลของพวกศูทรบางกลุ่ม เคยแย่งอำนาจตั้งตัวเป็นราชาของบางรัฐในบาหลีก็มี
กลุ่มตระกูลนี้อาจยกสถานะขึ้นได้เพราะอำนาจ, เงิน, โดยผ่านการแต่งงานกับกลุ่มตระกูลที่สูง จนกลายเป็นญาติกัน นอกจากนี้ ก็อาจจ้างคนแต่งประวัติตระกูลเสียใหม่ให้ผูกพันไปกับตระกูลสูง (เช่น เป็นลูกลับๆ ของกษัตริย์องค์นั้นองค์นี้) แล้วก็ยื่นเรื่องให้เจ้าหน้าที่ยอมรับการเปลี่ยนวรรณะของตน
ยิ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน ความพยายามที่จะไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายทางสังคมเลย ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยระบบวรรณะหรือการผูกขาดอำนาจทางการเมือง
ในเมืองไทย ความพยายามเคลื่อนย้ายทางสังคมโดยอาศัยช่องทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นมานานแล้วเช่นกัน และเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ประมาณ ร.4 เป็นต้นมา
การกระทำสองอย่างซึ่งมีความสำคัญในการสถาปนาสถานภาพอันสูงของคนไทยก็คือ การมีประวัติตระกูลที่สัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับ "ผู้ดี" เก่า และการมีวิถีชีวิตที่ใกล้กับตะวันตก
ประวัติของราชสกุลจักรีซึ่งสามารถสืบย้อนกลับไปจนถึงพระยาเกียรติพระยาราม ขุนนางมอญที่ติดตามกองทัพสมเด็จพระนเรศวรเข้ามาอยุธยานั้น เคยเล่ากันมาในราชตระกูลจริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่เพิ่งปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในพระราชนิพนธ์ของ ร.4
หลังจากนั้น ก็มีประวัติของตระกูลขุนนางใหญ่ๆ ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรตามมากันอีกหลายตระกูล ความต้องการที่จะแสดงสายสัมพันธ์กับขุนนางเก่านี้ ทำให้ ก.ศ.ร.กุหลาบสามารถออกวารสาร "สยามประเภท" ที่มีคอลัมน์สืบค้นประวัติตระกูลต่างๆ ได้ แสดงว่าแพร่ขยายไปยังคนหมู่มากขึ้นเรื่อยๆ
ความนิยมมี "สาแหรกตระกูล" ขยายไปสู่คนที่เพิ่งเขยิบสถานะขึ้นมาในสังคมกว้างขึ้นตลอดมา แม้ไม่อาจเชื่อมโยงไปถึงตระกูล "ผู้ดี" ในสมัยอยุธยาได้ แต่ก็แสดงให้เห็นความเป็นตระกูลใหญ่ที่เก่าแก่ จนไม่ถึง 20 ปีมานี้ ผมก็ยังได้รับแจกหรือได้อ่าน "สาแหรกตระกูล" เช่นนี้อยู่เสมอ หลายฉบับพิมพ์เป็นแค่เอกสารโรเนียว และแจกในงานศพ
แต่ยังไม่เคยเห็นประวัติตระกูลของชาวนาสักรายเดียว
การใช้ชีวิตอย่างฝรั่งก็มีมาเก่าแก่เหมือนกัน นักเดินทางชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเคยได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าในที่ประทับส่วนพระองค์ เล่าว่าตรัสภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ซ้ำทรงอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารจากลอนดอน ในห้องสมุดส่วนพระองค์ มีหนังสือภาษาอังกฤษอยู่มากมาย รวมทั้งบทละครเช็กสเปียร์ทั้งชุดด้วย
ขุนนางก็ทำอย่างเดียวกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงกับสั่งโคมระย้าแก้วขนาดใหญ่มาจากยุโรป แต่มันใหญ่เกินกว่าจะเอาเข้าเรือนได้ จึงต้องแขวนไว้ที่ศาลาท่าน้ำ ผมไม่ทราบว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งใดที่ประกอบขึ้น ย่อมถอดได้ทั้งนั้น
ฉะนั้น ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง ชะรอยท่านตั้งใจจะแขวนโคมระย้าฝรั่งไว้ที่ท่าน้ำมาแต่ต้น เพื่อแสดงศักดิ์ศรีบารมีทางวัฒนธรรมของท่านเอง
วิถีชีวิตแบบฝรั่งแทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของคนชั้นสูงไทยอย่างไร ก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่าพระที่นั่งจักรี (มหาปราสาท) นั้น เป็น "โคมระย้าแก้ว" ที่ใหญ่กว่าของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เสียอีก
นัยะก็คือ การเลียนแบบวิถีชีวิตฝรั่งนั้น ไม่ใช่แพร่หลายเฉยๆ แต่แพร่หลายในเชิงแข่งขันด้วย เรื่องอย่างนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ขึ้นชื่อว่าสถานภาพทางสังคม ก็เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบเสมอ
ผมจำได้ว่า เมื่อผมเป็นเด็กนั้น ยังมีเด็กอื่นอีกจำนวนมากที่กินข้าวด้วยช้อนส้อมไม่เป็น และยังมีชาวบ้านอีกมากที่ถนัดใช้มือกินข้าวมากกว่า แต่วิถีชีวิตแบบเก่าเช่นนี้ถูก "ผู้ดี" จัดลำดับไว้ในภาษิต "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล"
อันที่จริงการใช้ช้อนส้อมกินข้าว ก็ไม่ใช่ธรรมเนียมฝรั่งแท้ แต่เป็นธรรมเนียมอาณานิคมฝรั่ง ซึ่งเจ้านายไทยคงนำเข้ามาเมื่อเสด็จประพาสชวา และได้รับเลี้ยง Rijst Tafel จากเจ้าอาณานิคม
ยิ่งมาในระยะหลัง เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนย้ายทางสังคมโดยอาศัยช่องทางวัฒนธรรมก็ยิ่งแพร่หลาย และมีความซับซ้อนขึ้นมาก ความเข้ามาเป็นพลเมือง "เต็มขั้น" ของชาติก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการเลื่อนสถานภาพทางสังคม เพราะชาติไทยไม่ได้ให้พื้นที่ความเป็นพลเมืองไว้เท่าเทียมกัน มีคนเป็นพลเมืองบ้าง และมีคนเป็นพลเมืองกว่า
การเป็น "ลูกจีนรักชาติ" หรือ "รักในหลวง" นอกจากเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนที่ถูกกีดกันทางการเมืองตลอดมาแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้แก่การเลื่อนสถานภาพไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับ "ไพร่" เรียกร้องประชาธิปไตย คือการเขยิบเข้ามาอยู่ในแกนกลางของความเป็นชาติเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงลัทธิพิธีต่างๆ ซึ่งผูกผีท้องถิ่นให้อยู่ในโครงสร้างที่ลดหลั่นกันภายใต้เจ้าพ่อหลักเมืองซึ่งอยู่สูงสุด หรือการเข้าเฝ้าอย่างเนืองแน่นด้วยเสื้อสีเดียวกัน และการเปล่งเสียงเดียวกัน เป็นพิธีกรรมที่กลืนกินทุกคนให้ละลายไปเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐนาฏกรรม" โดยสิ้นเชิง
ทั้งหมดเหล่านี้ ในแง่หนึ่งย่อมเลื่อนสถานภาพ (และบทบาท) ของคนในสังคม-ขึ้นหรือลงก็ตาม-หรือเป็นการเคลื่อนย้ายทางสังคมโดยช่องทางวัฒนธรรม
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย