.
บทจากเฟซบุค - “เกษียร” -วิเคราะห์ “ปิดสภา-รปห.” ชนะไม่ยั่งยืน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“มวลชน”จัดการยาก & ความผิดพลาดของ “ทักษิณ” โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
จัดเรียงใหม่จาก "เกษียร-สมศักดิ์" วิเคราะห์ "ปิดสภา-รปห." ชนะไม่ยั่งยืน "มวลชน" จัดการยาก & ความผิดพลาดของ "ทักษิณ"
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:14:00 น.
"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ "เกษียร เตชะพีระ" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ได้จับกระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ จากการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในสภาผู้แทนราษฎร ไปสู่ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พร้อมสั่งให้ระงับการลงมติในวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.ทันที และให้ผู้ถูกร้องทำหนังสือชี้แจงภายใน 15 วัน ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหา ดังนี้
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย มี "ผลประโยชน์ร่วม" กับการ "เอาทักษิณกลับบ้าน" หรือ "นิรโทษกรรมทักษิณ" นะ เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของการ "ล้างผลพวงของการรัฐประหาร" เป็นการยืนยันว่า ไม่มีอำนาจนอกระบบที่ไหน มีสิทธิ์ใช้ทหารมาล้มคนที่ประชาชนเลือกตั้งมา ไม่ว่าจะไม่ชอบใจคนนั้นอย่างไร
เรื่องนี้ ถ้าใครไม่เก็ตว่า เป็นจุดยืนผมมาแต่ไหนแต่ไร และไม่เคยเปลี่ยน แสดงว่า คงไม่ได้อ่านจริงๆ
แต่ในฐานะที่เราเป็นประชาชนตัวเล็กตัวน้อย ใน "ขบวนการประชาธิปไตย" เราก็มีสิทธิ์ และควรตั้งคำถามกับพรรคที่เราเลือก และ บรรดาแกนนำ (รวมทั้งตัวทักษิณเอง) ด้วย เกี่ยวกับ timing (จังหวะก้าวเวลา) เรื่อง priority (การตั้งความสำคัญ) และ "เนื้อหา"ของการ"ปรองดอง"ที่ว่าด้วย . . โดยมองที่ผลประโยชน์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยรวมทั้งหมด
ปัญหาของการผลักดันเรื่อง "ปรองดอง" หรือเรื่อง "เอาทักษิณกลับบ้าน" ของ ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. เอง มีปัญหาแต่ต้น ดังที่ผมเขียนไปหลายครั้งแล้ว ทั้งในแง่การตั้ง priority (แทนที่จะหาทาง ทุ่มสุดกำลัง เพื่อช่วยคนธรรมดาออกมาก่อน) ปัญหาเรื่องการจัดการประเด็น"ฆาตกร" (ที่พร้อมจะ "ให้อภัย" "ลืมๆ" กันไป) ปัญหาเรื่องการ "เอาใจ" คนอย่างเปรม ฯลฯเกินเหตุ การไม่ยอมแม้แต่จะเปิดประเด็น คอป. เรื่อง 112 อะไรเหล่านี้เป็นต้น
/////
ปัจจัยที่สามารถเป็น "จุดแข็ง" ของม็อบพันธมิตร คราวนี้ เมื่อเทียบกับครั้งสุดท้าย เรื่องเขาพระวิหาร
- ครั้งก่อนพันธมิตรชุมนุมระหว่างที่ ปชป. เป็นรัฐบาล หมายความว่า "ฐาน" ของ ปชป. ก็ไม่เอาด้วย
แต่คราวนี้ ปชป. เอาด้วย ทำให้สามารถ "ระดม" มวลชนที่เป็น "ฐาน" ของ ปชป. มาเสริมได้เรื่อยๆ (เช่น ขนมาจากภาคใต้ เป็นต้น)
ยิ่งกว่านั้น ปชป. เอง มี "ฐาน" ในหมู่ "ชนชั้นกลางในเมือง" มากกว่า พันธมิตร "ฐาน" เหล่านี้ มีแนวโน้มจะมาสนับสนุนมากกว่าถ้าเป็นม็อบพันธมิตร ล้วนๆ
- ในหมู่นักวิชาการ ปัญญาชนเอง แม้แต่พวกที่ในหลายปีหลังนี้ หันมาวิจารณ์เรื่อง พฤษภา 53 หรือ เรื่อง 112 หลายคน ก็ไม่พร้อมจะสนับสนุน ประเด็นช่วยทักษิณ ของ พ.ร.บ.ปรองดอง
เอาง่ายๆ เลย ในบรรดานักวิชาการหลายคนที่ร่วมลงชื่อกับ ครก. นี่แหละ ผมรู้แน่ๆ ว่า หลายคนคงไม่เอาด้วยกับประเด็นทักษิณ ไม่ต้องพูดถึงที่เป็นวงกว้างออกไป
/////
ความขัดแย้งในยุค "การเมืองแบบมวลชน" จัดการยาก
ใน 1-2 ทศวรรษหลัง การเมืองประเทศไทยมีลักษณะเป็นแบบ "การเมืองมวลชน"(mass politics)ไปแล้ว
นั่นหมายความว่า การทำความตกลงกันในระดับ ชนชั้นนำ("อีลีต")แคบๆ แบบในอดีตเท่านั้น เป็นเรื่องไม่เพียงพอ
ในฝ่ายเสื้อแดง ทักษิณคิดว่า สามารถ "ทอดไมตรี" "เอาใจ"กับชนชั้นสูงฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว (ทำให้ "เอ็นดูยิ่งลักษณ์" ได้) ก็สามารถเข็น พ.ร.บ.ปรองดอง ที่จะ "ลืมอดีต" "มาเริ่มต้นกันใหม่" เรื่องการฆ่ากลางเมืองอะไรแบบนั้นได้
ปรากฏว่า ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมวลชนของตัวเองเป็นอันดับแรก จนกล่าวว่าได้ พ.ร.บ.ปรองดอง "สะดุด" แรกสุด จากแรงกดดันของมวลชนฝ่ายตัวเอง จนทำให้เกิดการเสนอ พ.ร.บ.คู่ขนาน ขึ้นมา
ไม่ต้องพูดถึง แรงต้านจาก "มวลชน" ของ "ฝ่ายตรงข้าม"
ในอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ "ชนชั้นสูง" ของฝ่ายนั้น จะมีท่าที "เอ็นดู" ต่อฝ่ายทักษิณ (ยิ่งลักษณ์) มีการกอดคอกันออกงานราตรีสโมสร และอื่นๆ อะไรทำนองนั้น
ก็ไม่ได้แปลว่า การเมืองระดับ "มวลชน" ของฝ่ายนั้น ที่แสดงออกทางพรรคการมือง (ปชป.) และองค์กร พันธมิตร จะต้องเออออ ตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
"พลวัตร" (dynamism) ของการเมืองระดับชนชั้นนำและระดับมวลชนเช่นนี้ ทำให้การจัดการความขัดแย้ง มีความยากลำบากมากขึ้น (ไม่สามารถ "เกี้ยเซี้ย" "เจรจาต้าอ่วย" กันให้จบๆ ในหมู่ชนช้้นนำเท่านั้น)
ที่วิกฤตการเมืองปัจจุบัน เป็นเรื่อง "ร้าวลึก"แพร่หลาย ก็เพราะเหตุนี้ (ลองนึกรูปธรรมของบทบาท การ "ดีเบต" ฟาดฟันทางการเมือง ในระดับ "โซเชียลมีเดีย" และ "อินเตอร์เน็ต" ที่มีบทบาทมากในระยะหลังๆ และเกี่ยวพันถึงคนระดับธรรมดา "ทำกันเอง" และ ทำกับ "ชนชั้นนำ" ของทั้งสองฟาก)
/////
ผมว่าสถานการณ์มันยังห่างรัฐประหารหลายขุมอยู่นะ
รัฐประหาร ในความหมายทหารขับรถถังออกมานี่ มันต้องอาศัยสถานการณ์ตึงเครียดมากกว่านี้น่ะ
ในความหมายแบบ "ตุลาการภิวัฒน์" ก็ไม่มีคดีล้มนายกฯ ยุบพรรคอยู่ในการพิจารณาตอนนี้
/////
ดูท่า พันธมิตร จะมั่นใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะออกคำวินิจฉัยว่า การแก้ ม.291 ทำไม่ได้
แก้ข้อมูลนิดนะครับ ที่ พันธมิตรมั่นใจเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เย็นนี้ ไม่ได้หมายถึง วินิจฉัยว่า การแก้ ม.291 ผิด
ประพันธ์ คูณมี บอกว่า จะวินิจฉัยว่า ให้ "คุ้มครองชั่วคราว" เรื่องการแก้ ม.291 (อยู่ในวาระ 3 ในสภา)ก่อน คือ ศาล รธน. จะแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ "มีมูล" จะรับไว้พิจารณา จะสั่งให้สภางดการดำเนินการ (วาระ 3) ไปก่อน จนกว่าศาลจะวินิจฉัยเด็ดขาดว่า การแก้ ม.291 ทำได้หรือไม่
/////
คือ สถานการณ์ตอนนี้ จากสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ทั้งกรณีเพื่อไทย ถอน พ.ร.บ. (เลื่อนการพิจารณาออกไป - มติชนออนไลน์) / พันธมิตร "ประกาศชัยชนะ" กับ กรณีศาล รธน."แช่แข็ง"กระบวนการแก้ รธน.
รวมๆ แล้ว ไม่ค่อยดีเลย
ผมก็หวังว่า ทางคุณทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. และทุกท่านที่เป็นนักเคลื่อนไหวทั้งหลาย จะต้องรีบทบทวน พูดคุยสถานการณ์กันใหม่
/////
ไหนๆ ก็ไหนๆ นะครับ ผมไม่ใช่อยาก "ซ้ำเติม" หรืออะไร (นี่พูดอย่างจริงใจจริงๆ)
แต่ผมว่า งานนี้ คุณทักษิณประเมินพลาด เรื่องดัน พ.ร.บ.ปรองดอง
คือถ้าจะให้ผมเดา จากที่เป็นความเข้าใจของผมในแง่ mechanism (ไม่รู้จะแปลว่าอะไร "กลไก") "การทำงาน" หรืออะไรประมาณนี้ ของ "ชนชั้นสูง" นะ
เขาไม่มีการ "ตกลง" ในแง่ที่เป็น "ทางการ" ให้กับทักษิณหรอก
แต่มันคงออกมาในรูปที่คุณทักษิณ พยายาม "ทอดไมตรี" ฝ่ายเดียวแบบ "จัดหนัก" มากกว่า ...
(หลายเดือนก่อน คุณนพดล เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ไม่รู้ใครจำได้ไหม คุณนพดล พูดทำนองว่า เป็นเรื่องการที่ฝ่ายทักษิณ "ทอดไมตรี" แล้ว "รอสัญญาณ" ซึ่งคุณนพดล พูดทำนองว่า จนถึงตอนนั้น ก็ยังไม่ถึงกับ "มีสัญญาณชัดเจน")
แต่ผมเข้าใจว่า ด้วยความที่คุณทักษิณอยากกลับบ้านปีนี้ให้ได้ ก็เลยนึกประเมินว่า "พร้อมแล้ว" ที่จะ "ดัน" เรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง
ผมคิดว่า ไม่เป็นความลับ (มติชน หรือ ประชาชาติ ลงเรื่อง "ข่าววงใน พรรคเพื่อไทย") ว่า การดัน พ.ร.บ.คราวนี้ แม้แต่ในพรรคบางส่วน (โดยเฉพาะที่มาจากสาย นปช.) ไม่เห็นด้วยว่า น่าจะทำเรื่อง รธน.ก่อน
//////
ขอขึ้นเป็นกระทู้ใหม่ เพิ่มเติมนิดนะ คือ ผมยังมองเหมือนกับที่เขียนไปเมื่อกลางวันว่า ปัญหาการเมืองปัจจุบัน มันไม่ใช่เรื่องทุกฝ่าย "คุม" ทั้งหมด ของ"ฝ่ายตัวเอง"ได้เสียทีเดียว หรือในแต่ละฝ่าย เวลาทำอะไรเป็นเรื่องของ "คำสั่ง" ลงมาจากข้างบนของฝ่ายตัวเองอย่างเดียว
ทีนี้ ผมมองว่า งานนี้ ทักษิณน่าจะ "อ่านสัญญาณของชนชั้นสูงผิด" อย่างหนึ่ง (ดูกระทู้ข้างล่าง) ในแง่ที่คิดว่า การ "ทอดไมตรี" ที่ทำไปอย่างหนัก มันพอที่จะให้ผลักเรื่องกลับบ้านผ่าน พ.ร.บ.แล้ว - นี่เป็นประเด็นหนึ่ง
แต่ผมยังมองว่า อีกประเด็นหนึ่งคือ ในยุค "การเมืองมวลชน" มันไม่ใช่ว่า พันธมิตร หรือ ประชาธิปัตย์ จะทำอะไรต้องเริ่มจาก "ได้รับคำสั่ง" ของ "ชนชั้นสูง"
ผมมองว่า พวกนี้มี "อิสระ"ระดับหนึ่ง ในการ "ขับเคลื่อนเอง"
ถ้าใครอ่าน วิกิลีกส์ปี 2549 และ 2551 จริงๆ ก็เป็นแบบนี้นะ ไม่ใช่ทุกอย่างที่ พันธมิตรทำ จะเป็นที่ "โปรดปราน" ของ "ชนชั้นสูง" แต่อย่างใด
ทักษิณ มองว่า "ชนชั้นสูง" คง "ไม่ว่าอะไรแล้ว" ถ้าจะผลักเรื่องกลับบ้าน แต่ไม่ได้ประเมินเพียงพอในระดับการ"ขับเคลื่อน"ของพันธมิตร หรือ ปชป.
ทีนี้ ถ้าพวก พันธมิตร - ปชป. ลงมือ"ขับเคลื่อน" ผมว่า (ดังที่ผมเขียนไปเมื่อเช้า) "ชนชั้นสูง" เขาก็"ลอยตัว"นะ
คือ ไม่มาช่วยอะไรทักษิณหรอก แต่ดูสถานการณ์ อะไรแบบนั้น และเผลอๆ ถ้าฝ่ายทักษิณทำท่าจะเพลียงพล้ำ ก็อาจจะ"ซ้ำ"เลยก็ได้
/////
ผมว่าเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ "แช่แข็ง" กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญของสภาวันนี้ เป็นอะไรที่ผิดปกติ และไม่ถูกต้องมากๆ
ถ้าใครอ่าน รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 (วันนี้ ผมอ่านกลับไปกลับมาหลายเที่ยว) ไม่มีทางที่จะตีความว่า กระบวนการแก้ รธน.ของสภาตอนนี้ไปขัดกับมาตรานี้ได้เลย
มาตรา 68 บอกว่า ห้ามเปลี่ยน "ระบอบการปกครอง..ตามรัฐธรรมนูญนี้"
แต่ที่สภาทำคือ แก้ไข ม.291 ซึ่งว่าด้วยการแก้ไข รธน. ซึ่งตัวมาตรา 291 เอง ไม่ได้บอกเลยว่า แก้ไม่ได้ ห้ามแก้ 291 เอง (พูดอีกอย่างคือ สภา มีสิทธิ์จะแก้ 291 ให้เป็นแบบอื่นได้ ไม่ได้ละเมิดต่อมาตรา 291 เลย)
ดังนั้น จะบอกว่า ที่สภากำลังทำเป็นการผิด "ระบอบการปกครอง" "ตามรัฐธรรมนูญ" ไม่ได้ เพราะทำตามมาตราต่างๆ ของ รธน.เอง (ใช้สิทธิ์ที่จะแก้ 291 ตามที่ 291 ระบุไว้)
ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรรับเรื่องร้องเรียนของ พันธมิตร กับพวกเลยแต่แรก
+++
เกษียร เตชะพีระ
พลังแปลกปลอมจะไม่สามารถชนะอย่างยั่งยืนในระบอบเสรีประชาธิปไตย
คิดอย่างซีเรียส การปิดล้อมสภาก็คือการปิดล้อมช่องทางการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน และการรัฐประหารก็คือการยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชนไป อย่างแรกทำให้ประชาธิปไตยเป็นอัมพาต อย่างหลังเป็นการสังหารประชาธิปไตย ทั้งสองประการมุ่งทำให้อำนาจของประชาชน impotent คือหมดสมรรถภาพ เหมือนบุคคลง่อยเปลี้ยเสียขาพิการ มีชีวิตแต่ไม่มีอำนาจเหนือตนเอง ดูแลจัดการปกครองตนเองไม่ได้
ในทางกลับกัน สภาที่ลงมติผิดพลาด ก็คือการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนอย่างผิดพลาด เมื่อใดที่ประชาชนตระหนักว่ามันผิดพลาด เมื่อนั้นประชาชนก็จะเลือกคณะพรรคผู้แทนชุดใหม่หรือยึดนโยบายใหม่เข้ามาแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากประชาชนไม่คิดเช่นนั้น กลุ่มเสียงข้างน้อยก็มีสิทธิเสรีภาพจะรณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าประชาชนส่วนข้างมากจะเปลี่ยนใจมาเห็นด้วยกับตน
การที่พันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อหลากสีและประชาธิปัตย์เลือกใช้วิธีแรก สะท้อนว่าพวกเขาไม่เชื่อประชาชน (ว่าจะคิดเองเป็นและเปลี่ยนใจได้หากเห็นจริงว่าสิ่งใดถูกต้อง) ไม่เชื่อตนเอง(ว่าจะสามารถใช้เหตุผลข้อเท็จจริงเปลี่ยนใจประชาชนได้) ไม่เชื่อสิทธิเสรีภาพ(ว่าเป็นช่องทางให้ต่อสู้ด้วยเหตุผลเพื่อเปลี่ยนใจประชาชนอย่างสันติ) และไม่เชื่อประชาธิปไตย(ว่าเป็นระบบที่เปิดให้ประชาชนแก้ไขข้อผิดพลาดได้ด้วยการเลือกตัวแทนใหม่หากต้องการ)
ไม่มีทางที่กลุ่มบุคคลที่ไม่เชื่อประชาชน ไม่เชื่อตนเอง ไม่เชื่อสิทธิเสรีภาพและไม่เชื่อประชาธิปไตย จะชนะในระบอบเสรีประชาธิปไตยได้ ต่อให้ปิดสภา ยึดอำนาจ ก็ไม่นานและไม่ยั่งยืน ได้แต่ชะลอวันพ่ายแพ้ราบคาบออกไปด้วยการทำลายตนเอง ทำลายคนอื่น ทำลายระบบเท่านั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย