http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-07

เรียนประธานศาล รธน.ฯ(1)(2) โดย นรินทร์ อิธิสาร

.

เรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญ “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
โดย นรินทร์ อิธิสาร
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/40834 . . Mon, 2012-06-04 20:39


พลันที่ข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญข่าวที่ ๑๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้เผยแพร่ในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อหาที่โดดเด่นมากที่สุดในข่าวฉบับนี้คือเนื้อหาในวรรคที่สองของหนังสือข่าวที่ระบุว่า 
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิสองประการ คือ หนึ่งเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสองยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว....

แน่นอนว่าในวงการนักกฎหมายการใช้การตีความกฎหมายดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ การตีความดังกล่าวเป็นการตีความโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งล้วนแต่เป็นนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงในสาขาวิชาที่ได้ร่ำเรียนมาบวกด้วยประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวกับการใช้การตีความกฎหมายที่มีมาอย่างยาวนาน หาไม่แล้วคงไม่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันสำคัญของประเทศชาติเป็นแน่แท้ 
เมื่อได้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้บรรยายการตีความมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้อ่านหรือติดตามผลงานของศาลรัฐธรรมนูญมาบ้างคงจะเกิดความประหลาดใจมากว่าในกรณีนี้ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามช่องทางที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๘ นั้น หากอ่านถ้อยคำตามเนื้อหาของกฎหมายแล้วย่อมตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องในกรณีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แก่ อัยการสูงสุด เท่านั้น  
แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่เรียนไว้แล้วว่าด้วยผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ การตีความว่าผู้ที่ทราบถึงการกระทำตามมาตรา ๖๘ นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้วให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาล หรือสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและน่าตื่นเต้นประการใด แม้ว่าการตีความดังกล่าวจะขัดต่อถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรของมาตรา ๖๘ ที่ใช้คำว่า “และ” ไม่ได้ใช้คำว่า “หรือ”

การตีความว่าผู้ที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าวนั้นมีสิทธิสองประการนั้น คำถามที่ตามมาก็คือถ้าสามารถยื่นคำร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะกำหนดให้สามารถยื่นผ่านอัยการสูงสุดอีกด้วยเหตุอันใด ก็เท่ากับว่าบทบัญญัติมาตรา ๖๘ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีสิทธิยื่นคำร้องโดยเฉพาะที่กำหนดให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดนั้น เป็นส่วนเกินที่ไม่ควรมีในการตรากฎหมาย (ในที่นี้คือรัฐธรรมนูญ) เพราะด้วยการใช้การตีความกฎหมายแล้ว หากกรณีใดจะกำหนดผู้มีสิทธิยื่นคำร้องแตกต่างกันเป็นสองกรณีแล้ว ย่อมมีเหตุผล และที่สำคัญคือต้องให้ทั้งสองกรณีนั้นสามารถใช้บังคับได้ในทางข้อเท็จจริงด้วย หาไม่แล้วก็เท่ากับเป็นการแสดงถึงความสามารถของผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ เอง ว่าร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะฟุ้งเฟ้อเกินไปหรือไม่ โดยร่างเพื่อกำหนดให้ผู้ที่ทราบถึงการกระทำตามมาตรา ๖๘ นั้น มีสิทธิสองประการคือยื่นเองต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเหตุใดจึงไม่กำหนดให้ผู้ที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าวสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แต่เพียงอย่างเดียว จะกำหนดให้สิทธิไปยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพื่ออะไรอีก
อย่างไรก็ตามด้วยผลงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดการตีความเรื่องผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญนั้นจะปรากฏออกมาตามในข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดก็มีความรู้สึกที่ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายไปในทางที่ให้สิทธิแก่ประชาชนมากขึ้นดังเช่นในกรณีนี้ที่ตีความให้สิทธิสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงได้ ต่อไปนี้ก็ย่อมเป็นการง่ายขึ้นที่จะมีการยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องไปยื่นผ่านอัยการสูงสุดตามความเข้าใจแบบดั้งเดิมแต่ประการใด น่าเสียดายอยู่ตรงที่ว่าการใช้การตีความดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลที่อาจจะเพิ่มความเข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงตีความเรื่องสิทธิในการยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ที่แตกต่างไปจากความคิดความเข้าใจแบบดั้งเดิม อาจเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องของเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่ไม่สามารถกล่าวโดยละเอียดได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามต้องขอฝากเรียนรบกวนไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์) “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (นายชวนะ ไตรมาศ) รีบเร่งดำเนินการเข้าไปแก้ไขข้อมูลในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th ในส่วนของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อ “การใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ” (http://www.constitutionalcourt.or.th/
index.php?option=com_content&view=article&id=334&Itemid=282&lang=thindex.php)
ที่ยังคงปรากฏเอกสารพีดีเอฟที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีชื่อไฟล์เอกสารว่า“concourt3.pdf” (http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=doc_download&
gid=867&Itemid=100&lang=th
) ในส่วนของ “(๓) การพิจารณาวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๖๘ และมาตรา ๒๓๗) ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าที่สามของเอกสารดังกล่าวเนื่องจากในช่องหัวข้อ “ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง” ยังคงระบุว่าเป็น “อัยการสูงสุด” เพียงผู้เดียวอยู่ และในช่องหัวข้อ “วิธีการและเงื่อนไข” ยังคงระบุว่าผู้ที่ทราบการกระทำดังกล่าวมีสิทธิยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้นอยู่

จริงอยู่ว่าแม้ว่าแนวการวินิจฉัยมาตรา ๖๘ ของศาลรัฐธรรมนูญที่มีในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมาจะเป็นแนวความคิดแนววินิจฉัยใหม่ หาไม่แล้วเอกสารที่ชื่อ “concourt3.pdf” คงปรากฏแล้วว่าผู้มีสิทธยื่นคำร้องต่องศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีช่องทางสองประการ คือยื่นเองหรือยื่นผ่านอัยการสูงสูด ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลสอดคล้องกับแนวการใช้การตีความใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเร่งรีบดำเนินการสั่งการให้มีการแก้ไขข้อมูลให้สอดคล้องกัน โดยในการสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวนี้   
๑. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ
๒. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ
๓. เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าว ให้สอดคล้องกับ “แนวการตีความ(ใหม่)” ในส่วนของมาตรา ๖๘ ของศาลรัฐธรรมนูญ

ท้ายที่สุดนี้ จึงขอให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ/หรือ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรีบเร่งดำเนินการแก้ไข ข้อมูลในเวบไซต์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนหรือความเข้าใจผิดในการใช้การตีความกฎหมาย อันจะเป็นการวางแนวการใช้การตีความกฎหมายอันเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นคุโณปการอันหาได้ยากยิ่งในวงการนิติศาสตร์ไทยต่อไป

                                                                               ด้วยความเคารพอย่างสูง



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านความคิดเห็นท้ายบทมากมาย ที่  www.prachatai.com/journal/2012/06/40834
เช่น

Submitted by รู้ทัน (visitor) on Mon, 2012-06-04 22:42.

เดชอุดม wrote:
นรินทร์ อิธิสาร wrote:
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามต้องขอฝากเรียนรบกวนไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์) “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (นายชวนะ ไตรมาศ) รีบเร่งดำเนินการเข้าไปแก้ไขข้อมูลในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th ในส่วนของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อ “การใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ” (http://www.constitutionalcourt.or.th/
index.php?option=com_content&view=article&id=334&Itemid=282&lang=thindex.php) ที่ยังคงปรากฏเอกสารพีดีเอฟที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีชื่อไฟล์เอกสารว่า“concourt3.pdf” (http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=doc_download&
gid=867&Itemid=100&lang=th) ในส่วนของ “(๓) การพิจารณาวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๖๘ และมาตรา ๒๓๗) ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าที่สามของเอกสารดังกล่าวเนื่องจากในช่องหัวข้อ “ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง” ยังคงระบุว่าเป็น “อัยการสูงสุด” เพียงผู้เดียวอยู่ และในช่องหัวข้อ “วิธีการและเงื่อนไข” ยังคงระบุว่าผู้ที่ทราบการกระทำดังกล่าวมีสิทธิยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้นอยู่


ถึงผู้เขียน เข้าไปดาวน์โหลดเอกสารไม่ได้แล้วครับ และลิ้งที่ระบุยังถูกระงับห้ามเข้าอีก ไปกันใหญ่ สงสัยเจอไวรัสคอมพิวเตอร์ น่าจะเป็นตัวเดียวกันกับที่เข้าไปในเซิร์ฟเวอร์พรรคประชาธิปัตย์อาทิตย์ก่อนที่ไฟดับที่นึงแต่ทำให้เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่อีกที่นึงใช้การไม่ได้ มันร้ายมาก!! ยังไงรบกวนเอาขึ้นลิ้งใดที่สามารถดาวน์โหลดได้ให้ทีครับ
ขอบคุณล่วงหน้า

http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=334&Itemid=85&lang=thindex.php

http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=doc_download&
gid=867&Itemid=100&lang=th

ทั้งสองลิงค์ ก็ยังเข้าได้ปรกติ
เจอช่วงที่คนเข้าเยอะหรือปล่าว



Submitted by เดชอุดม (visitor) on Tue, 2012-06-05 00:26.

ได้แล้วครับ ตามนี้

http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=334&Itemid=85&lang=th

มันสุดยอดมากครับท่าน ขอบคุณผู้เขียนที่ทำให้รู้ว่ามีเอกสารชิ้นนี้อยู่ในโลกที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้พิทักษ์ความยุติธรรมเช่นนี้ (ไม่น่าแปลกใจที่ยังเข้าได้ เพราะศาลเขาไม่ทำงานวันหยุดกัน อาจจะยังไม่รู้ตัว) ลุ้นเพิกถอนตุลาการน่าจะมันส์พอๆ กับศึกวันแดงเดือดไหมล่ะคราวเน๊๊ยะ


Submitted by กรุงศรีแตกเพราะใคร (visitor) on Tue, 2012-06-05 01:17.

พึ่งรู้ว่ามีรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว แล้วหัวหน้าคณะรัฐประหารคือใคร....แล้วทำสำเร็จไหม ถ้าไม่สำเร็จก็เป็นกบฏ ต้องโทษประหารชีวิตครับ...ประหารด้วยหัวสุนัข...


Submitted by คนชั้นต่ำ (visitor) on Tue, 2012-06-05 07:55.

ประเทศไทย ไม่ต้องมีกฎหมายหรอก ให้มีคนดีปกครองก็พอ ท่านว่ายังไงก็ยังงั้น ยุบคณะนิติศาสตร์ทุกแห่งทั่วประเทศ เสียเวลาเรียนประหยัดเงินด้วย


ฯลฯ ยังมีเยอะ



++

เรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ครั้งที่สอง)
โดย นรินทร์ อิธิสาร
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/40915 . . Thu, 2012-06-07 21:03


ได้ฟังท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง (คำอ่านตามที่ปรากฏในเวบไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน) [1])  พร้อมกับทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นที่น่ากังวลมากยิ่งขึ้น

ด้วยความเคารพต่อท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ และจากการที่ท่านได้แถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ด้วยตนเองว่าท่านยินดีที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ท่านและศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงขออนุญาตวิจารณ์ท่านมา ณ ที่นี้ โดยในบทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงกรณีที่ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญพยายามยกมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญมาสนับสนุนสิทธิในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยตรง ในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ขอเข้าไปอธิบายหรือแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) อันใดอีก เพราะได้แสดงความเห็นเอาไว้แล้ว และคาดหมายได้ว่าจะมีบทความ ข้อสังเกต หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มเติมในประเด็นการไม่มีอำนาจรับหรือไม่รับคำร้อง และผลของคำสั่งที่มีไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามมาอย่างแน่นอน ส่วนทางออกจะเป็นประการใดก็คงต้องพิจารณากันไปตามข้อกฎหมายต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีท่าทีหรือดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่หากศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงเดินหน้าพิจารณาคำร้องต่อไปนั้น ผู้เขียนก็ขอเสนอข้อสังเกตที่เป็นข้อกังวลของผู้เขียนภายหลังจากดูและฟังบันทึกการแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ข่าวของท่านดังนี้

ข้อกังวลประการแรก จนถึงวันที่ท่านได้ออกมาแถลงข่าวทุกวันนี้ ท่านและเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ดำเนินการเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นแต่ประการใด
ข้อกังวลประการที่สอง เป็นข้อกังวลที่สำคัญอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของข้อความคิดของหลักวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคำร้องนี้ด้วยเหตุผลสองประการดังนี้ ในที่นี้ขอยกถ้อยแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ของท่านที่ได้แถลงเอาไว้มาดังนี้คือ 
แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่า ลักษณะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้เนี้ยะ เป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วศาลรัฐธรรมนูญเพิกเฉยก็แปลว่าอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปช่างเขาได้หรือครับ สมควรหรือ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไต่สวนทวนความก่อนว่าจริงหรือเปล่า นี่เป็นการแค่ชั้นรับคำร้องไว้พิจารณานะครับยังไม่ได้ชี้ขาดตัดสินว่าเป็นซ้ายหรือเป็นขวายังเลย ยังเลย แล้วก็ไอ้การที่ถ้าหากว่าทางสภาจะให้ความร่วมมือจะเลื่อนไปซักเดือนเศษๆ มันก็ไม่ได้เสียหายร้ายแรงอะไร เราก็ดูตรงนี้อยู่นะครับว่า ใช้เวลาประมาณเนี้ยะเดือนเศษๆ เท่านั้นก็คงเสร็จ (มีคำถามแทรก) ไม่ได้ก้าวล่วงคำสั่งที่เราแจ้งไปให้สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาทราบเท่านั้น เพราะในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐเพราะใครจะไปบังอาจสั่ง ผมมีหนังสือกราบเรียนประธานรัฐสภาเพื่อโปรดทราบเท่านั้น......ตอนนี้ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ผมถามหน่อย ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ ใคร ใคร ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ถามหน่อย ใครหัวหน้าอำมาตย์ใคร....ขอประธานโทษนะหัวหน้าอำมาตย์ตัวจริงคือนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดในประเทศไทยนั่นหัวหน้าอำมาตย์ตัวจริง.....เขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดอย่างนั้นจริง เอ้าพวกท่านว่าเขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง เขาคงไม่รับใช่ไหมฮะ เขาคงไม่รับเขาก็ปฏิเสธมาสิมีเหตุผลมีพยานหลักฐานมาก็มาพิจารณากัน แต่นี่เวลานี้เขาร้องว่าพวกท่านกำลังทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยวิธีนี้ แล้วถ้าท่านไม่ชี้แจง ท่านแอนตี้ ท่านไม่ชี้แจงท่านเข้ามาต่อสู้ไม่ต่อสู้คดีจะให้ศาลรับฟังว่ายังไงฮะ เขาฟ้องว่าท่านเป็นหนี้ ท่านเฉย ศาลจะทำยังไงฮะ ไม่ปฏิเสธ ศาลจะทำยังไง ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะทำยังไงที่เขาฟ้องว่าเขาร้องว่าการกระทำของพวกท่านๆ เหล่านั้นเนี้ยะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านไม่ชี้แจงความจริง ท่านไม่เข้ามาต่อสู้ในทางคดี แล้วจะให้ศาลฟังว่ายังไงฮะ ฟังข้อเท็จจริงว่ายังไงว่า ตกลงมันจริงอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่า.....”
[2] แล้วท่านก็ลงท้ายในคลิปข่าวว่า “ศรีทนได้ค่ะ” อันเป็นประโยคที่ติดหูในโฆษณาสีทาบ้านยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาจากนักข่าวที่กำลังทำข่าวอยู่ได้อย่างดีทีเดียว



ผู้เขียนได้ฟังท่านแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ขอเรียนท่านว่า ท่านครับท่านอย่าเป็นศรีเลยครับ แล้วท่านก็อย่าทนเลยครับ และขอเรียกร้องให้ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญควรที่จะพิจารณาถอนตัวไม่เข้าร่วมในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในคดีนี้ ผู้เขียนขออนุญาตชี้แจงเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่าท่านอาจจะไม่สมควรพิจารณาคำร้องในกรณีนี้ได้ดังต่อไปนี้

เหตุผลประการแรก เหตุผลที่เกี่ยวกับข้อความคิดในทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญเองเหตุผลในเรื่องของความเข้าใจต่อ “หัวใจ” หรือจะเรียกอีกประการหนึ่งว่า “แก่น” หรือ “สาระสำคัญ” ของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือ “หลักการพิจารณาคดีโดยใช้หลักไต่สวน” นั่นหมายถึง ศาลจะไม่ผูกพันอยู่กับข้ออ้างของคู่กรณีที่หยิบยกมาในคดีเท่านั้น ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีเพื่อที่ให้ได้ข้อเท็จจริง และนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคดี
แต่ในการแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญกลับไปหยิบยกเอาตัวอย่างการฟ้องเรียกร้องให้ชำระหนี้คดีแพ่งในมาใช้เป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อกังวลสงสัยว่า ท่านในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญท่านมีความรู้ความเข้าใจในหลักการพิจารณาคดีโดยใช้หลักไต่สวนหรือไม่เพียงใด การที่ท่านยกตัวอย่างคดีแพ่งที่ฟ้องขอให้ชำระหนี้มาเป็นตัวอย่างในคดีพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น ในคดีแพ่งที่มีหลักวิธีพิจารณาคดีโดยใช้หลักกล่าวหา ที่จะถือว่าการที่จำเลยไม่ปฏิเสธจะถือว่าจำเลยรับตามข้อกล่าวหาของโจทก์นั้น ไม่สามารถนำมายกตัวอย่างหรือนำมาใช้ในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญได้ ด้วยความเคารพการยกตัวอย่างดังกล่าวเป็นการยกตัวอย่างแบบผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง อันที่จริงตัวอย่างที่ท่านอาจจะและสมควรยกมาประกอบได้ คือตัวอย่างที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณคดีปกครอง หรือในวิธีพจารณาคดีอาญา ซึ่งใช้หลักสำคัญในการพิจารณาพิพากษาอย่างเดียวกัน คือถือหลักไต่สวนเป็นสำคัญนั่นเอง

และโดยเฉพาะในกรณีวิธีพิจารณาคดีอาญานั้น ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๕๕ ซึ่งท่านประธานเองก็เป็นเสียงข้างมากในการที่วินิจฉัยว่า บทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่บัญญัติให้สันนิษฐานว่า ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลโดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 
จากคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญโดยมีท่านประธานเป็นตุลาการเสียงข้างมาก ได้ยืนยันถึงหลักสำคัญในวิธีพิจารณาคดีอาญาซึ่งใช้หลักไต่สวนเป็นหลักการสำคัญ และในกรณีนี้แม้จะมีบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนดบทสันนิษฐาน แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ว่ากระทำความผิดจริง นั่นคือศาลจะต้องพิจารณาโดยต้องไต่สวนให้ได้ว่า จำเลยมีความผิดโดยปราศจากข้อสงสัยนั่นเอง
ดังนั้นกรณีของการหยิบยกคดีแพ่งอันเป็นข้อพิพาทในทางกฎหมายเอกชนมาประกอบเป็นตัวอย่างในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่ใช้หลักไต่สวนนั้น จึงขอเรียนอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นการยกตัวอย่างที่ผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง และในฐานะที่ท่านเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะเป็นที่คาดหวังว่า ท่านมีความรู้ความเข้าใจหลักหรือหัวใจสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี แต่ด้วยตัวอย่างของคดีแพ่งที่ท่านหยิบยกมาแถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) นั้น ด้วยความเคารพ กรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสงสัยได้ว่า ท่านมีความเข้าใจที่ในสาระสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่ยึดถือหลักไต่สวนเป็นสำคัญหรือไม่เพียงใด
และหากพิจารณาถึงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.๒๕๕๐(ระเบียบฯ) ในข้อ ๖ วรรคหนึ่ง ก็ได้กำหนดรับรองยืนยันถึงหลักการสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญเอาไว้ นั่นคือ ให้ใช้ระบบไต่สวน และก็ไม่ปรากฏว่าในระเบียบฯ ดังกล่าวได้กำหนดบทสันนิษฐานว่า ถ้าไม่มีการปฏิเสธถือว่ายอมรับเอาไว้แต่อย่างใด หากจะมีกำหนดเอาไว้ก็ย่อมขัดต่อการกำหนดให้ถือเอาระบบไต่สวนมาใช้ในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ และหากจะมีการอ้างว่าในวรรคสองของข้อ ๖ ดังกล่าว กำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ ก็ไม่สามารถมาอธิบายถึงความชอบธรรมในการนำหลักสันนิษฐานในคดีแพ่งดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ เพราะหลักที่ว่าไม่ปฏิเสธให้ถือว่ายอมรับนั้น ย่อมขัดต่อสาระสำคัญของระบบไต่สวนอย่างชัดเจน


ประการที่สอง การที่ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ด้วยตัวเองนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด เพราะฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าท่านมีอำนาจในการรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาเขาก็ยังคงเชื่อว่าท่านไม่มีอำนาจรับคำร้องอยู่ดี เพียงแค่ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้แจงยืนยันก็เป็นการเพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตามท่านก็ได้ออกมาชี้แจงแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ไขไปแล้ว และด้วยความเคารพ ด้วยจริยธรรมของตุลาการแล้ว การที่ท่านแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) โดยนำเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคำร้องที่ท่านจะต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปในอนาคต มาชี้แจงแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง)ไข ประกอบการยกตัวอย่างคดีแพ่งดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น กระผมเห็นว่าค่อนข้างจะสุ่มเสียงต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการทำคำวินิจฉัยของตัวท่านเองเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ท่านได้แถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ออกมานั้นล้วนแต่เป็นทัศนะในการใช้การตีความกฎหมายของท่านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคำร้องที่พิพาทอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้นโดยเฉพาะในส่วนที่ท่านกล่าวว่า
.....เขาจะรับสารภาพไหมว่า เขาคิดอย่างนั้นจริง เอ้าพวกท่านว่าเขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง เขาคงไม่รับใช่ไหมฮะ เขาคงไม่รับ เขาก็ปฏิเสธมาสิ มีเหตุผลมีพยานหลักฐานมาก็มาพิจารณากัน แต่นี่เวลานี้เขาร้องว่าพวกท่านกำลังทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยวิธีนี้แล้วถ้าท่านไม่ชี้แจง ท่านแอนตี้ ท่านไม่ชี้แจง ท่านเข้ามาต่อสู้ไม่ต่อสู้คดีจะให้ศาลรับฟังว่ายังไงฮะ เขาฟ้องว่าท่านเป็นหนี้ ท่านเฉย ศาลจะทำยังไงฮะ ไม่ปฏิเสธ ศาลจะทำยังไง ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะทำยังไงที่เขาฟ้องว่าเขาร้องว่าการกระทำของพวกท่านๆ เหล่านั้นเนี้ยะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านไม่ชี้แจงความจริง ท่านไม่เข้ามาต่อสู้ในทางคดีแล้วจะให้ศาลฟังว่ายังไงฮะ ฟังข้อเท็จจริงว่ายังไงว่าตกลงมันจริงอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่า.....

ผู้เขียนจะไม่มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งในที่นี้ได้แก่ตัวท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใดหากการแถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) นั้น จำกัดอยู่เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจในการรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาเท่านั้น และไม่มีการกล่าวหรือแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ถึงมุมมองหรือทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี
ด้วยความเคารพต่อท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่าการที่ท่านนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคดีมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) เช่น การหยิบยกเอาพฤติกรรมในอนาคตของผู้ถูกร้องมาว่าจะรับหรือจะปฏิเสธข้อกล่าวหาตามคำร้อง และการนำเอาตัวอย่างในคดีแพ่งซึ่งใช้หลักกล่าวหาในการดำเนินคดีแทนที่จะเป็นหลักไต่ส่วนโดยยกตัวอย่างในทำนองว่าถ้าผู้ถูกร้องไม่ปฏิเสธจะให้ศาลฟังว่าอย่างไร นั้น ในที่นี้จึงดูจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้แสดงถึงทัศนะ หรือคติของท่านในการที่จะดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไปในอนาคต และอาจก่อให้เกิดความสงสัยต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของท่านในคดีนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้


ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวต่อไป ด้วยความเคารพ ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาถอนตัวในการที่จะเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในคดีนี้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักความเป็นกลางในการพิจารณาคดี และหลักความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการไว้ในคดีนี้ต่อไป ท่านครับ ท่านอย่าทนเลยครับถอนตัวเถิดครับท่าน


.....................................................
[1] แถลง [ถะแหฺลง] ก. บอก เล่า หรือแจ้งให้ทราบเป็นทางการ เช่น แถลงข่าว, กล่าวอธิบาย เช่น จะแถลงให้ทราบ; แสวง เช่น บัดแถลง.(http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp)

 [2] ถอดความจากบันทึกการ แถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) ข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ (http://youtu.be/Bl9RoMAGi3c)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านความคิดเห็นท้ายบท ที่  www.prachatai.com/journal/2012/06/40915
มี

Submitted by นวมทอง (visitor) on Fri, 2012-06-08 06:19.
ศธ. ได้ตั้งมาตฐานใหม่ 
1. ก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติได้
2. ตีความตีประเด็นตามใจชอบ
3. ใช้ กม. ภาษาอังกฤษเป็นมาตฐาน

ที่ทำมาแล้ว
1. อ้างพจนานุกรมไล่นายกสมัคร 
2. ตีความ กม.ย้อนหลังเอาความผิดกับพรรค ทรท.
3. ใช้คำสั่ง คมช. เป็นหลัก 
4. ยุบพรรคไปแล้วหลายพรรคยกเว้น ปชป.
5. จตุพรผิดต้องออกจาก สส

ที่ยิ่งใหญ่ในใจคือ
เสื้อแดงเลว ล้มล้าง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
แล้วจะเอาความยุติธรรมอะไรจากท่าน

แล้วคนอย่างเปรม พระสยามเทวา จะว่าอย่างไรครับ


Submitted by กูจะบ้าตาย (visitor) on Fri, 2012-06-08 06:56.

ต้องโทษ นาย อานันท์ วิกฤติ ตุลาการสมัยนัั้น
ท่านกลับหางขึ้นเป็นหัว
ผลมันมาออกสมัยนี้ มันแกว่งหาง
กระแด่ว กะแด่ว มันนึกว่าเป็นหัว



.