http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-30

ละคร โดย คำ ผกา

.

ละคร
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 89


ใครๆ ก็บอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์เป็นความเสื่อม

ความเสื่อมเบื้องแรกของนักศีลธรรมดัดจริตคือ "นม" ไม่สมควรมาอยู่ในที่สาธารณะ 
ในมาตรฐานเช่นนี้ฉันสงสัยมากว่า ลำพัง "นม" ทำไมจึงเป็นปัญหาแก่สังคมไทย ที่ใช้คำว่า "ลำพังนม" เพราะ "นม" ของหญิงสาวในรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์นั้นไม่ใช่ "นม" ที่อยู่ในบริบทของความอนาจารหากเราจะมองว่าการอนาจารบาดศีลธรรมนั้นต้องมีนัยของการยั่วยวนทางเพศ ปลุกเร้า กระตุ้นความหื่นกระหาย
แต่ "นม" ที่ถูกเอาสีสาดจนมองไม่เห็น "นม" แล้วหันหลังไปป่ายซ้ายป่ายขวา นั้นเป็นความอนาจารที่ตรงไหน? (แต่หากจะประณามว่ารูปที่วาดออกมามันห่วยสิ้นดีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่หรือไม่?)

หากสังคมไทยจะดีดดิ้นกับศีลธรรมทางเพศ ทำไมจึงยินดีกับโฆษณาอาหารเสริมที่ฉายอยู่ใน BTS อันมีหญิงสาวนั่งแสดงท่าทางอันยั่วยวนอยู่บนโซฟาอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งเปิดเผยเจตนาไม่อยากให้ "ผู้ชาย" ออกไปทำงาน เธอจึงดื่มเครื่องดื่มที่มีอาหารเสริมที่ว่ากันว่าทำให้ผิวเปล่งปลั่ง ดื่มเข้าไปแล้ว ผิวก็เปล่งประกายออร่า ผู้ชายจึงเปลี่ยนใจจากการออกไปทำงานอันหามานัวเนียนั่งฟัดกับหญิงสาวบนโซฟาแทน
จากนั้นหญิงสาวก็หันมาสบตากับคนดูเป็นนัยบอกว่า "อยากให้ผัวรักผัวหลงไม่เป็นอันทำการทำงานก็ดื่ม...สิคะ"

คณะกรรมการสิทธิฯ กสทช. หากปรารถนาจะก้าวก่ายหวังดีต่อเรื่องศีลธรรมของสังคมไทยต้องจัดการกับ "สื่อลามก" ชิ้นนี้ เพราะมีเจตนาปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศทั้งชี้นำให้ประชาชนหมกมุ่นแต่ในเรื่องการร่วมเพศอย่างโจ๋งครึ่ม 
ผู้หญิงในโฆษณาชิ้นนี้ต้องถูกประณามเพราะ "ผู้ชาย" กำลังจะออกไปทำการ "ผลิต" เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเศรษฐกิจของชาติ กำลังจะออกไปสร้างจีดีพีให้กับประเทศ ไฉนต้องมาโยนสูททิ้งแล้วลงไปเกลือกกลั้วกับหญิงแพศยาเช่นนั้น

อันนี้สิ ทำลายชาติทำลายเศรษฐกิจของจริง แล้วประเทศชาติของเราจะปล่อยให้ผู้หญิงวันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากคิดเรื่องจะดื่มเครื่องดื่มผสมกลูต้า คอลลาเจน จะทาโลชั่นผสมชะมดเช็ด จะสระผมด้วยแชมพูอะไร ทาจั๊กแร้อย่างไรให้แห้งหอม จะล้างจิ๋มด้วยน้ำยาอะไรจึงดึงดูผู้ชายเข้ามาในซอกขา 
วันๆ เราดูแต่โฆษณาเช่นนี้ที่กล่อมเกลาผู้หญิงให้หมกมุ่นอยู่กับคำถามที่ว่าทำอย่างไรจะไม่ให้ผู้ชายออกไปทำงานแล้ว..อยู่กับชั้น..ทั้งวัน?
ผู้หญิงของประเทศไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ของเราก็ไม่ต้องออกไปทำการผลิตอะไรแล้ว วันๆ คิดแต่เรื่องหาผัวและรักษาผัวไปกับตัวตลอดกัลปาวสาน!  
อีแบบนี้ ฉันไม่เห็นผู้คลั่งศีลธรรมมือถือสากปากท่องคาถาจะร้อนใจ


นี่ยังไม่นับดารานางแบบใส่เสื้อผ้าแต่เหมือนไม่ใส่ลงไปอาบน้ำโชว์กลางห้างดังที่ฮิตทำกันมากอยู่ช่วงหนึ่งในการประชาสัมพันธ์สินค้า น้องอั้ม น้องอุ้ม น้องอะไรต่อมิอะไร อาบน้ำโชว์สื่อ สำแดงกิริยาที่ว่ากันว่า "ยั่วยวน" หรี่ตา เผยอปาก และอะไรต่อมิอะไร อันดูแล้วส่อความล่อแหลมทางศีลธรรมกว่า "นม" ดาดๆ ในไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์มากนัก
แต่เพราะเหตุใดนมของน้องอั้ม น้องอุ้ม จึงเป็นนมที่มีเกียรติ น่ายกย่อง แถมยังมีราคาแพงกว่านมของหญิงสาวในไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์หลายเท่า เพราะค่าตัวของหญิงสาวคนนั้นแค่หนึ่งหมื่นบท แต่นมน้องอ้อม อุ้ม อั้ม อั๋น ออย ฯลฯ ที่เป็นดารานั้นคงหลายแสน

ทีนี้ท่าจะบอกว่าก็นมของน้อม อั้ม อุ้ม อั๋น ออย ฯลฯ นั้นมีเป็น "นม" ที่สวย-โอเค หากเป็นเหตุผลนี้ก็จงจำกัดขอบเขตของการถกเถียงเอาไว้ตรงที่ "นมสวยโชว์ได้ นมไม่สวยอย่าโชว์" อย่าไปเลเพลาดพาดไปที่เรื่องศีลธรรม จรรยา ความลามกจกเปรต 
เพราะอย่างที่บอกว่าโฆษณาสินค้า โดยเฉพาะเครื่องสำอางของผู้หญิงเกือบทุกตัวในเมืองไทยนั้นส่อเจตนาทางเพศลามกกว่าการเปิดจิ๋มเปิดนมกันโต้งๆ หลายเท่า



พ้นจากเรื่อง "นม" ตัวการทำศีลธรรมและวัฒนธรรมไทยเสื่อม (ลืมคิดไปว่าหาก "ลำพังนม" ในฐานะที่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ปราศจากบริบททางวัฒนธรรมมากำกับความหมายของ "นม" แล้ว มันสามารถสร้างความเสื่อมให้กับวัฒนธรรมไทยได้ ฉันคิดว่าอารยธรรมโบราณในโลกนี้ทุกอารยธรรมรวมทั้งสยามคงล่มสลายไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดไปหลายร้อยปีแสงแล้ว) รายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ตกเป็น "จำเลย" ของสังคมไทยข้อหา หลอกลวง เพราะเรื่องโอละพ่อไปจ้างหญิงสาวคนหนึ่งมาสมอ้างว่าเป็น "ศิลปิน" มาแสดง "ทาเลนต์" ในการวาดรูป

ฉันซึ่งไม่ใช่ "แฟน" รายการโทรทัศน์ ทั้งประกาศตัวโจ่งแจ้งเสมอว่า รังเกียจรสนิยมบันเทิงที่อยู่ในโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์ฟูมฟายอันเกินกว่าเหตุ ความขบขันบ้าคลั่งเกินกว่าเหตุ ความโรแมนติกกว่าเหตุ และอีกหลายต่อหลายสิ่งอันเกินกว่าเหตุ 
ทั้งยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า อาการรังเกียจรสนิยมในความบันเทิงของมวลชนนั้นมันคือ "ความดัดจริต" อย่างหนึ่งนั่นแหละ  
แหม...ปัญญาชนใครเขาจะมาอภิเชษฐ์กะอะไรดาดๆ อย่างนี้เล่า-คุณก็!


แม้จะไม่ใช่แฟนรายการโทรทัศน์ แต่รายการโทรทัศน์ในฐานะที่เป็นมหรสพอย่างหนึ่งมันย่อมไม่ได้นำเสนอ "ความจริง" ในระดับของ "สถานการณ์" ที่เกิดขึ้นใน Show มิใช่หรือ? 
จะรายการเกมโชว์ รายการแฟนพันธุ์เทียม รายการทอล์กโชว์ และอื่นๆ ของรายการ "เพื่อความบันเทิง" กระแสหลัก ล้วนถูกนำเสนอในฐานะที่เป็น "ละคร" มีการกำหนดบุคลิกตัวแสดง บุคลิกของคนที่จะได้เป็นแชมป์ มีการเขียนสคริปต์อย่างละเอียดไปพร้อมกับการกำหนดมุมกล้อง การจัดแสง การใช้เพลงประกอบ การจัดวางจังหวะของการตัดต่อเพื่อให้บรรลุผลทางอารมณ์
อย่างที่ โรลองด์ บาร์ตส์ บอกว่า มหรสพของมวยปล้ำนั้นคือการแสดง "ละครชีวิต" ที่เสนอ "ภาพของอารมณ์" มิใช่ "อารมณ์จริง"

ละคร ไม่ว่าจะเป็นละครหลังข่าวหรือละครที่แฝงตัวมาในทอล์กโชว์ (กะเทยถูกรถชนแล้วหายเป็นกะเทย, กะเทยกตัญญู ร้องเพลงเลี้ยงครอบครัว, นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแต่ทิ้งทรัพย์สินไปแสวงหาความสงบทางจิตและอยู่กับธรรมะ, ดาราที่แม้อยู่กับแสงสีแต่ฝักใฝ่ในการนั่งวิปัสสนา ฯลฯ) เหล่านี้ล้วนเป็นละครสะท้อนสถานการณ์เชิงคุณค่าอันเป็น "นามธรรม" ให้เข้าใจง่าย แจ่มแจ้งเป็นรูปธรรม 
และ "บทละคร" เหล่านี้จะบรรลุผลได้ต้องรู้จักเขียนให้สอดคล้องกับ "มายาคติ" ของคนในสังคมนั้นๆ 
เช่น คนอีกครึ่งโลก โดยเฉพาะโลกที่ 1 คงเข้าใจไม่ได้ว่าทำไม อีแพงต้องเกิดไปเป็นหมา เพราะหมาในโลกสมัยใหม่เป็นสัตว์ที่อยู่ดีกินดีได้รับการปกป้องสิทธิ การเหยียดหยามสัตว์ว่าต่ำกว่ามนุษย์แทบจะเป็น "บาป" ในโลกสมัยใหม่ การรักสัตว์อย่างล้นเกินก็แทบจะเป็นจริตหลักของโลกเช่นนี้   

ดังนั้น การที่คนชั่วตายไปแล้วเกิดเป็นหมา จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเข้าใจได้ หรือทำไมเมียหลวงไปนั่งสมาธิแล้วผัวกลับมาคืนดี 
เหตุที่ไม่เข้าใจก็เพราะว่า "มายาคติ" นั้นมันไม่สอดคล้อง ไม่ได้อยู่ในชุดคุณค่าและความเชื่อเดียวกัน


การพิจารณารายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ที่น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมไทยจึงไม่น่าจะใช่การด่า การประจาน การปรับเงินห้าแสน หรือการไปหมกมุ่นที่ประเด็น "หลอกลวง" 
เพราะ การ "สมมุติ" เหตุการณ์เป็นสิ่งจำเป็นของการทำมหรสพ อีกทั้งคนดูพึงรู้ทุกครั้งที่นั่งดู โชว์" เหล่านี้ว่า-มันคือการ "แสดง" ที่สะท้อนความปรารถนาและคุณค่าที่เราในฐานะคนดูยึดถือว่าเป็น "ความจริง" 
ดังนั้น สิ่งที่เราพึงทำคือตั้งสติสำรวจหา "ความจริง" ที่สังคมไทยยึดมั่นถือมั่นคลั่งไคล้ใหลหลงและอาจถึงขั้น ฆ่า ประหารชีวิต ปรับ ลงโทษใครก็ตามที่บังอาจไม่เชื่อในความจริงชุดเดียวกันกับที่พวกเขาเชื่อ 

หากสังคมไทยไม่เป็นโรคกลัว "นม" จนขึ้นสมอง "แผนการตลาด" ของทีมงานไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ จะได้ผลหรือไม่? 
หากสังคมไทยมีวุฒิภาวะเรื่องนม ดราม่าเรื่องนี้คงจะแป๊กเฟลเหลวไหลไม่เป็นท่าแถมยังน่าหัวเราะเยาะ ขาดทุนมากกว่าเงินห้าแสนที่โดนปรับกันไปหลายเท่า

ละครเรื่องต่อมาที่บอก "ความจริง" หลายอย่างของสังคมไทยคือ การล้างบาป ดูเหมือนจะหนทางเดียวเท่านั้นหญิงเสเพล ดอกทอง นอกคอก จะล้างบาปของเธอได้ คือการเปิดให้เห็นอีกบทบาทหนึ่งของเธอในฐานะลูกกตัญญู ทุกวันนี้คนไทยยังถูกตอกตรึงในอยู่กับละครเรื่อง "วัลลี" เด็กหญิงที่กัดฟัน เสียสละ ยอมออกจากโรงเรียนเพื่อให้พ่อแม่ น้องได้มีกิน ได้หาเงินมารักษาพยาบาลพ่อที่นอนป่วยอยู่บนเตียง 
จากนั้นการ reconcile ทางชนชั้นจะเกิดขึ้น ในเรื่องสั้น "วัลลี" ครอบครัวเพื่อนของวัลลีที่ร่ำรวย สวยงามมาเยี่ยม แล้วช่วยเหลือวัลลี แม่ของเพื่อนวัลลีถึงกับอุ้มน้องของวัลลีที่ผอมแห้งเพราะไม่ได้กินนม เอามาดูดนมอันสมบูรณ์อวบอิ่มของตนเองอย่างไม่รังเกียจเลยสักนิด



ละครของไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์มาถึงตอนอวสาน 
เพราะตัวละครออกมาเล่นกันครบแล้ว ทั้งเด็กหญิงผู้เป็นเหยื่อนายทุน 
สังคมอันดีงามที่ต้องการพิทักษ์ศีลธรรม 
พ่อที่เป็นอัมพาต 
สุดท้ายแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะสังคมเปี่ยมศีลธรรมย่อให้อภัย "เหยื่อ" ผู้อ่อนแอ เขลา และหลงผิด

จากนั้นก็มีมือที่เกื้อกูลมา reconcile สังคมและความเหลื่อมล้ำทั้งหลายให้มลายลงไปด้วยเมตตา 
นี่คือ "ความจริง" ที่จะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนานเท่านาน และเราก็มีมีความสุขกับการได้ดูละครรีเมกซ้ำแล้วซ้ำเล่า


ใครจะอยากดูละครที่วัลลีลุกขึ้นมาบอกว่าเธอไม่ต้องการสังคมสงเคราะห์แต่ต้องการเห็นความเป็นธรรมในสังคม
ใครจะอยากดูละครที่เหยื่อลุกขึ้นมายืนยันความถูกต้องชอบธรรมของ "นม" ตนเอง



.