.
การยึดอำนาจ 3 ครั้ง ในปี 2476 บทเรียนที่...กล้าสู้ทุกรูปแบบ...ก็ไม่แพ้ (1)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 20
80 ปีที่ผ่านมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจระหว่างความคิดใหม่กับความคิดเก่า ซึ่งใช้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อำนาจจากกำลังทหาร อำนาจเงิน
เหตุการณ์ ปี 2548-2555 ที่เราคิดว่าวุ่นวายร้ายแรง ถ้าเทียบกับการต่อสู้ ปี 2476 กลายเป็นเรื่องปกติ เพราะปีเดียวมีการยึดอำนาจ ถึง 3 ครั้ง ทั้งสองฝ่ายใช้ทุกรูปแบบในการต่อสู้ ทั้งกฎหมาย ทั้งปืน ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
มองสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการรุกเข้าใส่สภา เป็นการเดินเกมรุกแบบด้านๆ เพราะสิ่งที่เลวร้ายแบบรัฐประหาร ปลดนายกฯ ล้อมปราบ ฆ่าประชาชน ทำมาหมดแล้ว และยังลอยหน้าอยู่ได้สบาย
ต้องดูว่าเรื่องนี้...นักการเมืองลูกแกะ...จะยอมจำนน หรือจะสู้แบบตาต่อตา
ถ้าวันนี้กล้า วันหน้าก็ฟันต่อฟัน ถ้าเรียกประชุมแล้วไม่กล้าลงมติ วาระ 3 ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็เลิกหวังพรรคเพื่อไทยได้แล้ว
ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองปี 2476 ดูแล้วจะรู้ว่าสถานการณ์ทุกด้านวันนี้เข้าทางความคิดใหม่ ถ้ากล้าสู้ไม่มีวันแพ้
การยึดอำนาจ ปิดสภา เมษา 2476
การชิงอำนาจซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ เมษายน 2476 เพียงไม่ถึงหนึ่งปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อนายกฯ คนแรกกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับคณะราษฎรเสียเอง จนถึงขั้นปิดสภาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ รอบแรกในข้อหาคอมมิวนิสต์
อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล ได้เรียบเรียง ความขัดแย้งที่พัฒนาไปสู่ ...การยึดอำนาจเงียบ... ไว้ดังนี้
บทเรียนจากการมอบอำนาจให้ผู้อื่น
หลังยึดอำนาจการปกครอง มิถุนายน 2475 เมื่อพระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว คณะราษฎร...ได้เสนอขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เดิมชื่อ ก้อน หุตะสิงห์ จบจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2456 ได้เข้ารับราชการกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการเป็นผู้พิพากษา และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสภากรรมการองคมนตรีตั้งแต่ พ.ศ.2470 เพราะพระยามโนฯ มีความรู้ในทางกฎหมาย เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีภริยาเป็นนางสนองพระโอษฐ์รับใช้ใกล้ชิดพระบรมราชินี จึงน่าจะเป็นผู้ที่เหมาะในฐานะคนกลางระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับคณะราษฎร แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
ตั้งแต่พระยามโนฯ ได้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ก็ได้บริหารราชการแผ่นดินและประพฤติตนไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์และบั่นทอนคณะผู้ก่อการให้หมดอำนาจไปทีละเล็กละน้อย และทำให้เสื่อมเสียประโยชน์แก่แผ่นดินที่ควรได้กล่าวคือ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีความประสงค์ที่จะจัดการปกครองให้ก้าวหน้าไปโดยเร็วที่สุด ส่วนพระยามโนฯ นั้นมีความประสงค์ที่จะบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างเดิม
พระยามโนฯ เห็นว่าจะกระทำไปตามความประสงค์นั้นไม่ตลอดปลอดโปร่ง ในด้านกำลังมีเพียง พระยาราชวังสัน รัฐมนตรีกลาโหม ผู้เป็นปฏิปักษ์กับหลวงประดิษฐ์ฯ จึงได้ตีสนิทกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้มีอำนาจในทางการทหาร พระยาทรงฯ ได้เรียกผู้ก่อการชั้นผู้น้อยไปประชุมเพื่อให้สนับสนุนพระยามโนฯ แต่ที่ประชุมเห็นว่าไม่ถูกจึงไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่นั้นมามีความรู้สึกกันทั่วไปว่า พระยาทรงฯ กับผู้ก่อการชั้นผู้น้อยไม่ลงรอยกัน
ข้อหาคอมมิวนิสต์...
เริ่มกล่าวหาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมาย
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ในการที่จะยกร่าง พระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ปรึกษาหารือกันหลายครั้งหลายหน ต่อมาพระยามโนฯ ได้เร่งเร้าให้หลวงประดิษฐ์ฯ เขียน เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ได้จัดพิมพ์แจกจ่ายกันในหมู่ผู้ก่อการและคณะกรรมการราษฎร เพื่อให้โอกาสได้อ่านเสียก่อน ถ้าไม่เห็นชอบด้วยและมีเหตุผลดีกว่าก็ยอมตามความเห็นส่วนมากและขอแก้ไขได้
เมื่อแจกไปแล้วพระยามโนฯ ไม่เห็นด้วย อ้างว่าได้ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ มาแล้ว พระปกเกล้าฯ ไม่เห็นด้วย หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่เชื่อ จึงขอให้มีการประชุมทำนองกึ่งราชการเสียก่อน เพื่อจะอธิบายให้ที่ประชุมทราบ พระยามโนฯ ได้ขอร้องให้หม่อมเจ้าสกลวรรณากรวรวรรณ ซึ่งมีความรู้ในทางเศรษฐกิจเข้าร่วมด้วย ที่ประชุมยอม
ผลของที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน แยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยซึ่งมี พระยาทรงสุรเดช พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาศรีวิสารวาจา
และเรื่องนี้ พระยาทรงสุรเดชได้ไปประชุมนายทหารบอกว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมิวนิสต์ การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกนั้น อ้างเหตุผลว่าจะทำไปตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ เมื่อได้โต้แย้งกันมากขึ้นจึงอ้างว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อที่ประชุมส่วนมากไม่เห็นด้วยตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ จึงมิได้คิดที่จะดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นต่อไป และได้พูดในที่ประชุมว่า เมื่อไม่เห็นด้วย ก็จะขอลาออก
พระยามโนฯ ได้คัดเค้าโครงการเศรษฐกิจของ หลวงประดิษฐ์ฯ เฉพาะที่ตนเห็นด้วย นำไปถวายพระปกเกล้าฯ ว่าเป็นร่างของพวกตน พร้อมกับร่างของหลวงประดิษฐ์ฯ แล้วพระยามโนฯ กับพวกได้ทำพระราชวิจารณ์ตำหนิเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ แล้วให้พระปกเกล้าฯ ลงนาม
ปิดสภา ยึดอำนาจ
ไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
ความขัดแย้งของพระยามโนฯ กับผู้ก่อการ 2475 ทั้งเรื่องงบประมาณแผ่นดินกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทำให้มีการสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 พร้อมกับประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ยุบคณะรัฐมนตรี และตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยอ้างว่า
"...ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดการแตกแยกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นตรงกันข้ามว่านโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ..."
การที่พระยามโนฯ ปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็เพราะพระยาทรงสุรเดชกับพวกซึ่งควบคุมกำลังทหารสนับสนุน จึงกระทำการสำเร็จ ก่อนที่จะปิดสภา ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ ราชเลขานุการประจำพระองค์ได้มีหนังสือถึงพระยามโนฯ หลายฉบับ มีข้อความสำคัญว่า สภาผู้แทนฯ จะดำรงต่อไปไม่ได้ ควรเลิกล้มเสีย
ส่วนหลวงพิบูลสงครามและหลวงสินธ์สงครามชัย ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยในการที่ปิดสภา
นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยครั้งแรก
ก่อนปิดสภาเล็กน้อย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาฤทธิ์อัคเนย์กับพวก เป็นผู้คิดให้หลวงประดิษฐ์ฯ ไปต่างประเทศเพื่อจะล้มล้างรัฐธรรมนูญเสีย โดยบอกให้ไปต่างประเทศเพื่อความปลอดภัย (มีคณะนายทหารที่สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ ยกพวกไปล้อมบ้านพักของนายปรีดี) พระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงคราม และหลวงอดุลเดชจรัสได้สั่งนายปรีดีว่าให้รับปากพระยาราชวังสันเสีย ส่วนทางนี้เพื่อนฝูงจะคิดแก้ไขให้กลับมาภายหลัง
ในวันที่ออกเดินทางจากประเทศไทย พระยามโนฯ ยังได้ประกาศใช้กฎหมายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นฉบับแรกของไทย เป็นการกันไม่ให้นายปรีดีกลับมาเพราะข้อหาคอมมิวนิสต์ ทั้งยังนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระปกเกล้าฯ ซึ่งคัดค้าน โครงการเศรษฐกิจมาตีพิมพ์เป็นสมุดปกขาว ออกจ่ายแจก (เพิ่งรู้ว่าแบบนี้เค้าทำกันมานานแล้ว) ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า
"... แต่มีข้อสำคัญอันหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่ต้องเป็นที่สงสัยว่า โครงการนี้นั้น เป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอน ดังที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ หรือหลวงประดิษฐ์ฯจะเอาอย่างสตาลิน ก็ตอบไม่ได้
ผลของกฎหมายทำให้มีการกวาดล้างจับกุมชาวเวียดนามที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ถูกจับและถูกจำคุก
หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กล่าวถึงพระยามโนฯ ว่า "ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าผู้เดียวที่ทำผิดในการเสนอคณะราษฎร ให้เชิญพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล... ข้าพเจ้ามีความผิด ที่ไม่ได้วิจารณ์ให้ลึกซึ้งว่า พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นบุคคลที่มีซากความคิดแห่งระบอบเก่าเหลืออยู่ แต่ข้าพเจ้า ขอให้ความเป็นธรรม แก่พระยามโนปกรณ์ฯ ว่า ถ้าลำพังท่านผู้เดียวก็ไม่สามารถที่จะกระทำการโต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ หากท่านได้รับการสนับสนุนจากบางส่วนของคณะราษฎรเอง ที่มีทัศนะอันเป็นซากตกค้างมาจากระบบเก่า และบุคคลอื่นๆ ที่เป็นขุนนาง ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล..."
ขณะที่นายปรีดีลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้จัดการเข้าควบคุมอำนาจทั้งในการบริหารและนิติบัญญัติไว้เบ็ดเสร็จ
ส่วนรัฐบาลพระยามโนฯ ได้ออกกฎหมายขึ้นบังคับใช้โดยรัฐบาลเองหลายฉบับ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายว่าด้วยการตั้งสมาคมการเมือง การตราพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2476 การฟื้นศาลาว่าการพระราชวัง การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อเตรียมการฟื้นระบบเดิม
วิเคราะห์เปรียบกับการต่อสู้ปัจจุบัน
บทเรียนแรกหลังได้อำนาจของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จบลงเพียง 9 เดือน ด้วยการต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ เพราะอำนาจที่ได้มีเพียงครึ่งๆ กลางๆ และความประมาท
วันนี้อำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ สังเกตได้จากนักโทษการเมือง โอกาสประกันยังไม่มี บางส่วนขอย้ายที่คุมขังก็ไม่ได้
เรื่องเล็กๆ ยังทำไม่ได้ จะไปต่อรองเรื่องใหญ่ได้อย่างไร น่าจะตั้งคนของ ปชป. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้รู้แล้วรู้รอดไป
บทเรียนของการถอย คือการตกเก้าอี้นายกฯของทักษิณ ชินวัตร การตกกระทะของนายกฯสมัคร สุนทรเวช การที่นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ บินกลับจากเมืองนอกยังลงสนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้ ต้องลงที่เชียงใหม่และก็หลุดจากตำแหน่ง ผู้วิเคราะห์คาดว่าครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะไม่โง่ ยอมถอยให้ตกเก้าอี้ อะไรเกิดก็ต้องเกิด
ด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่าของพระยามโนฯ เมื่อรู้ว่าเสียงในสภาน้อยกว่าก็ปิดสภา แล้วรวบอำนาจ แต่วันนี้ ปชป. เล่นได้ทั้งในสภาและนอกสภา ดูจากแต้มที่เดิน ปชป. พยายามให้ปิดสมัยประชุม เพื่อหยุดวาระที่ต่อสู้ในสภาให้ค้างไว้เพราะเสียงสู้ไม่ได้ แพ้ทุกเรื่องแน่นอน เปลี่ยนเกมมาเล่นนอกสภา แม้พันธมิตรเสื้อเหลืองจะไม่ร่วมเวที แต่ก็มีผู้ประสานงานให้ขาประจำที่หายไปกลับมาช่วย และมีการประสานเสียงกับกลุ่มจัดตั้งอื่นๆ ที่เตรียมไว้ แต่ถ้าทหารไม่ขยับ การปะทะทางการเมืองจะไปประสานงาอยู่กับตุลาการ แต่ยิ่งยืดเยื้อ ใครโกหกคนนั้นก็เสื่อม
หลายสิบปีที่ผ่านมาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ไม่แน่ว่าจะพัฒนาสู้กับเทคนิคการชิงอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าได้หรือไม่ จากเทคนิคยึดอำนาจเงียบที่เริ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2476 ซึ่งฝ่ายอำนาจเก่ารุกต่อทันที
แต่คณะผู้ก่อการจะแก้เกมกันอย่างไร? ติดตามศึกษาต่อไป
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย