http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-12

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (1)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (1)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 38


วิกฤติหนี้กรีซนำมาสู่วิกฤติการเมือง-สังคมของกรีซอย่างรุนแรง และลุกลามก่อความรุ่มร้อนไปทั้งโลก 
ลำพังวิกฤติหนี้ของกรีซประเทศเดียวที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าของประเทศไทย ย่อมไม่ทำให้เกิดการกระเพื่อมไหวได้มากถึงขนาดนี้ 
หากแต่เป็นเพราะว่าวิกฤติหนี้ได้ปรากฏไปทั่วประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก 
ที่สำคัญคือสหรัฐที่เป็นจุดกำเนิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008 มีหนี้พอกพูนขึ้นทุกที จนต้องเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลหลายครั้ง ในสหภาพยุโรป
วิกฤติหนี้ได้คุกคามสเปน อิตาลี อังกฤษ และแม้ประเทศที่เข้มแข็งทางอุตสาหกรรม อย่างเช่น เยอรมนี ก็ยังเจอพิษหนี้เข้าเต็มเปา

ตลอดปี 2010 และปี 2011 ได้มีการประโคมข่าวต่อเนื่องว่าเศรษฐกิจตะวันตกฟื้นแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ถีบตัวสูง กำไรบรรษัทเพิ่ม 
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถปิดบังกองหนี้ใหญ่ได้ หนี้เหล่านี้เป็นหนี้สะสมมีหลายมิติ เกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลและธนาคารกลางทั้งหลายที่จะรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ และบัดนี้ดูเหมือนจะถึงเวลาที่จะต้องจ่ายคืนด้วยวิกฤติลักษณะต่างๆ 
ข่าวที่ เจพีมอร์แกน เชส ธนาคารใหญ่ที่สุดของสหรัฐขาดทุนในการซื้อขายอนุพันธ์ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดหมายได้ว่าที่ร้ายกว่านี้จะตามมาอีก 
แสดงว่า กลไกที่เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่นั้นยังทำงานอยู่ โลกตะวันตกอาจอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลายาวนานกว่าที่คาด 
และย่อมส่งผลกระทบไปทั่วโลก แม้ในย่านเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงก็ตาม


เหตุปัจจัยของวิกฤติ

หลังเกิดวิกฤติใหญ่ปี 2008 หลายปี ก็ได้เริ่มเห็นชัดขึ้นว่า ตัวการของวิกฤติก็คือเรื่องหนี้สิน ที่ก่อให้เกิดฟองสบู่ต่างๆ โดยเฉพาะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และแตกในที่สุด ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินรุนแรง กลายเป็นวิกฤติใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  
การเข้าใจเหตุปัจจัยของวิกฤติจะช่วยให้เห็นภาพใหญ่ได้ชัดขึ้นว่าเหตุใดวิกฤตินี้จึงรุนแรงมาก 
โดยที่ไม่ได้มีการเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและทางการรัฐบาล และเหตุใดวิกฤติจึงไม่ยอมหมดฤทธิ์ หากยังกลับลุกลามต่อไป การประชุมกลุ่ม 8 ที่แคมป์เดวิดในสหรัฐในเดือนพฤษภาคมนี้ ต้องออกแถลงการณ์เพื่อปลอบใจชาวโลกว่าจะยังใช้ความพยายามเพื่อให้กรีซอยู่ในสกุลเงินยูโรต่อไป โดยที่กรีซจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกมัดที่เข้มงวด

เหตุปัจจัยของวิกฤติที่เสนอกันอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 
กลุ่มแรก ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นกระแสหลัก เห็นว่าปัญหาจากผู้แสดง ได้แก่ ภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชน เป็นต้น หนทางแก้ก็คือแก้ที่ผู้แสดง

ทัศนะอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกระแสรองเห็นว่าวิกฤตินี้เกิดจากตัวระบบทุนเองหรือมีลักษณะทางโครงสร้าง ทางแก้ต้องแก้ที่ระบบและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จะกล่าวถึงกลุ่มแรกก่อน



เหตุปัจจัยจากผู้แสดง

ผู้แสดงในระบบเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์นั้น ที่สำคัญมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งมีความสนิทสนมกันดี เช่น ซีอีโอ ของสถาบันการเงินขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง 
ดังในกรณี เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก เคยดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอของบริษัทโกลด์แมน แซกส์มาก่อน หรือบางทีดำรงตำแหน่งบริหารชั้นสูงในรัฐบาลแล้วกลับไปเป็นซีอีโอของบรรษัทต่างๆ 
การสนิทสนมของ 2 กลุ่มนี้ทำให้ยากที่จะแยกให้ชัดระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชน นี้ก็เป็นเหตุปัจจัยของปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย

ยังมีผู้แสดงสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งถือเป็นกลุ่มที่ 3 ได้แก่ ลูกจ้างคนงานหรือมนุษย์เงินเดือน เป็นชาวรากหญ้าในประเทศอุตสาหกรรมที่มั่งคั่ง แต่ได้มีอิทธิพลบทบาทลดลงมากหลังจากมีการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ในทศวรรษ 1980 
ดังนั้น วิกฤติใหญ่ครั้งนี้ 2 กลุ่มแรกจึงรับไปเต็มๆ และจากการเพลี่ยงพล้ำของ 2 กลุ่มแรก กลุ่มหลังจึงได้แสดงบทบาทมากขึ้น เช่น ก่อเป็นขบวนยึดครองวอลล์สตรีต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องจับตาดูต่อไป

อนึ่ง ในกระแสโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจประเทศต่างๆได้เชื่อมโยงเข้าเป็นตลาดเดียวกัน ดังนั้น แม้วิกฤติจะมีศูนย์กลางที่สหรัฐ แต่ก็ยังมีผู้ชี้ว่าจีนมีส่วนสำคัญในการเสริมความรุนแรงของวิกฤติด้วย โดยเป็นผู้ก่อความไม่สมดุลของการผลิตและการบริโภคในเศรษฐกิจโลก 
กล่าวคือจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าใหญ่แต่ไม่ได้บริโภคเอง ส่วนใหญ่ส่งไปขายในประเทศต่างๆ ที่สำคัญคือสหรัฐ ที่บริโภคสินค้าราคาถูกจากจีนมากเกินไป จนเกิดการขาดดุลการค้าและดุลชำระเงินหนักขึ้นเรื่อยๆ 
โดยที่จีนซึ่งเน้นการเติบโตโดยการส่งออก ได้พยายามทำให้ค่าเงินหยวนของตนต่ำเพื่อให้ได้เปรียบในการค้าระหว่างประเทศ โดยนำเงินที่เกินดุลนั้นมาซื้อพันธบัตรสหรัฐ ทำให้สหรัฐมีเงินที่จะซื้อสินค้าจากจีนต่อไป หมุนรอบอยู่เช่นนี้ จนสหรัฐต้องแบกหนี้ก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ
แนวคิดนี้โดยมากเป็นการเคลื่อนไหวจากปีกนักการเมืองสหรัฐเป็นสำคัญ มีการเรียกร้องกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน และบริโภคสินค้าที่ตนเองผลิตให้มากขึ้น 
วิกฤติเศรษฐกิจจึงแปรเป็นสงครามเงินตรา สงครามเศรษฐกิจ และการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างสหรัฐที่เป็นเจ้าพ่อเก่ากับประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน


เหตุปัจจัยของวิกฤติ จากการปฏิบัติของภาครัฐ

วิจารณ์กันว่า ภาครัฐเป็นเหตุปัจจัยของวิกฤติโดยมีนโยบายและการจัดการทางการเงินที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน อาจจำแนกเป็น 2 ด้าน
ด้านหนึ่ง ได้แก่ การแก้กฎระเบียบการควบคุมดูแลสถาบันการเงินให้ผ่อนคลายลง เป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเหล่านี้ปล่อยเงินกู้แบบเสี่ยงมากขึ้น ไม่ได้เน้นเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ดี เกิดการลงทุนผิดที่ผิดทาง จนเกิดภาวะฟองสบู่ และรัฐบาลเองก็เสียวินัยทางการเงินการคลัง ปล่อยให้มีการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดปริมาณมหาศาล 
ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลยังได้กระตุ้นให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำมาก พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนพากันมาซื้อบ้าน 
เรียกว่าเป็นสังคมผู้เป็นเจ้าของ (Ownership Society) ในสมัยประธานาธิบดีบุช


เหตุปัจจัยจากบรรษัท

บรรษัทการเงินและผู้บริหารระดับสูงก็ถูกข้อหาหนักในการก่อวิกฤติครั้งนี้ โดยมีพฤติกรรมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักดังนี้คือ 
1. ความละโมบ เห็นแก่กำไรเฉพาะหน้า ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง ผลประโยชน์แห่งชาติ และความยั่งยืน ปั่นราคา เก็งกำไร จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นเหมือนบ่อนกาสิโนใหญ่ และทำให้เครื่องมือการเงินกลายเป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่   
2. สร้างระบบทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) เป็นทุนนิยมที่อาศัยเส้นสายพวกพ้องระหว่างกลุ่มธุรกิจกับหน่วยงานรัฐ อาจเรียกเป็นภาษาไทยว่าทุนนิยมอำมาตย์ จากรายงานการสำรวจของสำนักแรสมูสเซนระหว่างวันที่ 14-15 มกราคม 2012 เมื่อถามว่าระบบทุนนิยมในสหรัฐปัจจุบันเป็นแบบตลาดเสรีหรือแบบพวกพ้อง ชาวอมริกันถึงร้อยละ 39 ตอบว่าเป็นแบบพวกพ้อง (ดู rasmussenreports.com) 
3. การฉ้อฉล เกิดการแต่งบัญชี เช่นกรณีบรรษัทเอนรอน การเอารัดเอาเปรียบจากการรับรู้ข้อมูลและการใช้ข้อมูลวงในในการค้าหุ้น เป็นต้น การเรียกร้องค่าจ้างสูงของบรรดาซีอีโอ ขณะที่ปล่อยให้บรรษัทล้มละลาย

ความคับแค้นใจของผู้คนที่เห็นพฤติกรรมที่ก่อผลเสียร้ายแรงของบรรดาบรรษัทและผู้บริหาร แต่ไม่ได้ถูกจับกุมแก้ไข เป็นชนวนให้เกิดขบวนการยึดครองวอลล์สตรีตขึ้น


การฉ้อฉลโดยสุจริต

มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่ง ได้ศึกษาพฤติกรรมฉ้อฉลเหล่านี้ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน และสังเกตเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นเวลายาวนาน โดยที่ผู้ประพฤติไม่ได้รู้สึกผิดหรือรู้สึกรับผิดชอบแต่ประการใด เขาจึงเรียกมันว่า การฉ้อฉลโดยสุจริต (Innocent Fraud)  
ผู้ที่เสนอความคิดนี้ก็คือ แกลเบรธ (John Kenneth Galbraith 1908-2006) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ในกระแสหลักของสหรัฐ เขาเคยทำงานกับประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแคตหลายคน แต่ว่าอยู่ที่ชายขอบ เพราะว่าแกลเบรธเป็นนักวิจารณ์สังคมด้วย งานเขียนที่รู้จักกันมากที่สุดคือ สังคมมั่งคั่ง (The Affluent Society เผยแพร่ปี 1958) ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโต การบริโภคที่มากเกินไปทำให้ระบบสาธารณะทั้งหลายเสื่อมทรามลงได้ 
แกลเบรธห่างหายจากการเขียนหนังสือไปนาน จนบางคนคิดว่าจะวางมือไปแล้ว แต่ในปี 2004 เมื่ออายุ 94 ปี เขาได้เผยแพร่หนังสือเล่มเล็กชื่อ "เศรษฐศาสตร์แห่งการฉ้อฉลโดยสุจริต" (The Economics of Innocent Fraud-Truth for Our Time) จากการประมวลบทปริทัศน์ในที่ต่างๆ อาจสรุปแนวคิดสำคัญของเขาได้ดังนี้

แกลเบรธเห็นว่าการฉ้อฉลโดยสุจริตเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการความเข้าใจหรือความเชื่อที่ผิดขึ้นมาปกปิดความเป็นจริงทางเศรษฐกิจเอาไว้ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในความชอบธรรมและความเหมาะสมในการปฏิบัติ เรื่องโป้ปดดังกล่าว ได้แก่ 
1. การนำคำว่าระบบตลาดมาแทนที่ระบบทุนนิยมเป็นการปกปิดความจริงพื้นฐาน แทนที่จะมองการเคลื่อนไหวของทุน ไปมองการเคลื่อนไหวของตลาดที่เป็นนามธรรมและสมบูรณ์แบบ เช่น มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ มองไม่เห็นว่ามีบรรษัทใหญ่ขึ้นครอบงำตลาด มองข้ามประวัติด้านลบของระบบทุนหรือกระทั่งไม่มีประวัติศาสตร์เลย 
2. การจำแนกผู้แสดงทางเศรษฐกิจของสหรัฐออกเป็น ภาครัฐกับภาคเอกชนนั้น เป็นของไม่จริง ช่องห่างระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนแทบไม่มี อำนาจของบรรษัทได้พุ่งสูงขึ้นมากจนกล่าวได้ว่ามีอำนาจเหนือรัฐ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร ผู้ได้ประโยชน์กำไรจากสงครามและความปั่นป่วนวุ่นวาย ความฉ้อฉลโดยสุจริตจึงสามารถนำความหายนะต่อมนุษยชาติได้  
3. ผู้ถือหุ้นไม่ได้เป็นเจ้าของบรรษัทอย่างที่เชื่อ หากแต่เป็นชนชั้นผู้จัดการที่ทำสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน ชนชั้นผู้จัดการเหล่านี้ได้ใช้วิธีการหลอกตนเองให้เชื่อว่าสิ่งที่ตนกำลังทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 
4. ความเชื่อเรื่องธนาคารกลางสามารถต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อและช่วยให้เศรษฐกิจพ้นจากภาวะถดถอยได้โดยการลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นเพียงยาหลอกที่ทำให้นักลงทุนและผู้ออกเสียงเลือกตั้งรู้สึกว่ารัฐบาลได้ทำอะไรบางอย่างไปแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะธุรกิจตอบสนองต่อโอกาสในการทำกำไรมากกว่าเรื่องการลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของเฟด 
5. บรรษัทใหญ่มีการจัดองค์กรที่กะทัดรัดมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องโป้ปดอีกอย่างหนึ่ง เพื่อกีดกันรัฐออกจากการจัดการทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพราะว่าบรรษัทใหญ่ก็มีการจัดองค์กรแบบอำมาตย์ไม่ต่างกับระบบราชการเท่าใดนัก เพียงแต่ว่ามันเป็นระบบเพื่อสร้างกำไร จึงมีการตอบสนองต่อลูกค้าได้เร็วกว่า แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองต่อประโยชน์ร่วมของสาธารณะได้ดี
6. จีดีพีคือทุกสิ่ง แต่ความจริงไม่ใช่ การเน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการลงทุนแบบผิดที่ผิดทาง นั่นคือไปใช้ในทางที่ส่งเสริมการบริโภคมากเกินไป แทนที่จะให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและศิลปะ

ทัศนะของแกลเบรธนี้ก็คงมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ดูเหมือนเขาจะได้เปิดประเด็นสำคัญว่า การฉ้อฉลแบบทุจริตแก้ไขได้ไม่ยาก แต่การฉ้อฉลแบบสุจริตนั้นแก้ไขได้ยากมาก



.