http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-30

ICTs : อาวุธใหม่ทางการเมือง โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ICT s : อาวุธใหม่ทางการเมือง
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 40


"เทคโนโลยีทำให้รัฐมีความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น
ในการควบคุมข่าวสารที่ประชาชนได้รับ" 
ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน
13 มิถุนายน ค.ศ. 1989



ในโลกของระบบสารสนเทศสมัยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบันนั้น เรามักจะชอบพูดเสมอว่า "เราอยู่ท่ามกลางการปฏิวัติสารสนเทศ"
และแน่นอนว่าการปฏิวัติเช่นนี้อาจดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง บางทีอาจจะตลอดช่วง 100 ปีข้างหน้าก็ว่าได้! 


เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ หรือบางทีเราอาจจะเรียกว่า "เทคโนโลยีดิจิตอล" (Digital Technologies) ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรองรับต่อการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการการเก็บข้อมูลในปริมาณเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกันก็สามารถส่งผ่านข้อมูลเป็นจำนวนมากเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว 
ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อันได้แก่ "พื้นที่ข่าวสาร" (Infosphere)
ในพื้นที่เช่นนี้มีข่าวสารอยู่มากมายมหาศาล และการเข้าถึงข่าวสารเหล่านี้อาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียแต่อย่างใด หรือหากจะมีอยู่บ้างก็อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก จนแทบจะไม่มีราคาค่างวดเท่าใดนัก
ตัวอย่างของการค้นหาข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากรู้ผ่านเว็บไซต์ของกูเกิล (Google) เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นใจและสนุกกว่าการที่ต้องเข้าไปค้นคว้าข้อมูลในห้องสมุดแบบเดิมอย่างมาก 

และการสืบค้นผ่านเว็บกูเกิลเช่นนี้ยังเชื่อมต่อไปสู่ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่รู้จบ จนทำให้เกิดคำถามอย่างมากกับห้องสมุดที่เก็บหนังสือเป็นจำนวนมากไว้ในแบบเก่าว่า กำลังจะหมดยุคไปหรือไม่ 
เพราะห้องสมุดในโลกยุคใหม่กลายเป็น "ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์" (E-Library) ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและหนังสือต่างๆ ไว้ได้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งสำหรับผู้ใช้แล้ว ห้องสมุดนี้อาจจะมีความหนาและหนักเท่ากับตัวแท็บเล็ตหนึ่งอันเท่านั้น


ลองยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับคนที่ชอบเก็บหนังสือเอ็นไซโคลพีเดียไว้ใช้เพื่อการค้นคว้า ซึ่งจะพบว่าหนังสือในลักษณะนี้มีความหนาและต้องใช้พื้นที่ในการเก็บอย่างมาก (และรวมถึงมีน้ำหนักอย่างมากด้วย) หรือกรณีของพจนานุกรมเล่มใหญ่ทั้งหลายก็ไม่แตกต่างกัน 
แต่วันนี้หนังสือเหล่านั้นถูกนำมาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์พกพาทั้งหลาย และขณะเดียวกันก็สามารถเรียกใช้ได้อย่างง่ายดายด้วย

ในทำนองเดียวกันข้อมูลอื่นๆ ก็มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่กล่าวถึงในข้างต้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ทำให้ข่าวสารเป็นจำนวนมากสามารถเก็บไว้ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กมาก และขณะเดียวกันข่าวจำนวนมากเช่นนี้ก็สามารถส่งออกไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว และถึงผู้รับเป็นจำนวนมากโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเส้นเขตอธิปไตยหรือเส้นใดๆ ที่รัฐกำหนดขึ้นทั้งสิ้น 
จนเสมือนหนึ่งโลกสารสนเทศนั้น ทำให้รัฐอยู่ในสภาพ "ไร้พรมแดน" เพราะข่าวสารต่างๆ สามารถข้ามเส้นเขตอธิปไตยของรัฐได้อย่างไม่มีขีดจำกัด 
สภาพเช่นนี้ทำให้ "พื้นที่ข่าวสาร" กลายเป็นพื้นที่ใหม่ไม่ว่าจะมองในมุมของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือความมั่นคงก็ตาม และขณะเดียวกันก็ทำให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ ไม่ว่าจะเพื่อเข้าถึงหรือเพื่อสร้างพื้นที่เช่นนี้ เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตทั้งของคน ของรัฐ และของสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน   
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีพื้นที่ของกิจกรรมใดของมนุษย์จะหนีจากระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันได้



ถ้าเรายอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นจริง สิ่งที่จะเป็นผลพวงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การจัดลำดับชั้นของบุคคลภายในองค์กร (organizational hierarchies) จะมีลักษณะแบนราบลง ไม่ใช่จะเป็นในรูปสามเหลี่ยมที่มีอำนาจสูงสุดอยู่บนยอดปลายแหลมของสามเหลี่ยมนั้นอีกต่อไป 
สถาบันหรือองค์กรที่มีลักษณะรวมศูนย์ก็จะถูกบังคับให้ต้องกระจายอำนาจออก ไม่ว่าพวกเขาจะยอมรับแนวคิดในเรื่องของการกระจายอำนาจหรือไม่ก็ตาม 
ปัจเจกบุคคลทั้งหลายจะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ขณะเดียวกันการเชื่อมต่อของคนจะนำไปสู่การจัดกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันให้เข้ามาอยู่รวมกัน และกลายเป็นกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ หรือกลายเป็นเครือข่ายที่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในรูปของ "ชุมชนอิเล็กทรอนิกส์" 
ผลของสภาพเช่นนี้ทำให้องค์กรขนาดใหญ่ในแบบเก่าไม่ว่าจะเป็นรัฐ บรรษัท หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ถูกสร้างเพื่อเก็บข้อมูลที่มีปริมาณเป็นจำนวนมหาศาลในรูปแบบที่เป็น "อนาล็อก" (analog) กลายเป็นความล้าสมัยเป็นอย่างยิ่ง

หากมองในบริบทของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้ เราคงจะต้องยอมรับว่าการปฏิวัติด้านสารสนเทศส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของมนุษย์ไม่แตกต่างไปจากการปฏิวัติในอดีต เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในยุโรปในศตวรรษที่ 19 
หากแต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความรวดเร็วของผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมกว่าจะขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร

แต่การปฏิวัติด้านสารสนเทศที่เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 21 นั้นขยายผลอย่างรวดเร็ว และข้ามข้อจำกัดของความเป็นรัฐที่ซึ่งเส้นเขตแดนไม่ใช่อุปสรรคที่จะกีดขวางการไหลข้ามของข่าวสารได้แต่อย่างใด 
และภายในรัฐเองก็แทบไม่มีอะไรหยุดยั้งการเคลื่อนตัวของข่าวสารเช่นนี้ได้เลย 
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะกล่าวว่า โลกร่วมสมัยของศตวรรษที่ 21 เป็นโลก "ไอซีที" หรือโลกของเทคโนโลยีติดต่อสื่อสารและข้อมูลข่าวสารที่เป็นดิจิตอล (Digital Information and Communication Technologies-ICTs) 
ซึ่งโลกชุดนี้ก่อให้เกิดคำถามโดยตรงว่า แล้วรัฐจะทำอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงด้านสารสนเทศที่เกิดขึ้น?


เราอาจจะกล่าวเป็นเชิงทฤษฎีได้ว่า ความเป็นรัฐในบริบทของข้อมูลข่าวสารก็คือ ประสิทธิภาพของรัฐเกิดขึ้นจากขีดความสามารถในการสะสม ประมวล (หมายถึงการจัดข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่) และใช้ หรือในบางกรณีก็รวมถึงการผูกขาดข้อมูลดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะพบว่าทุกรัฐมีระบบราชการขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือในเรื่องของการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และระบบราชการนี้ก็คือการใช้มนุษย์เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ในการเก็บ รวบรวม สะสม ประมวล และใช้ข้อมูลต่างๆ

ดังได้กล่าวแล้วว่า ข้อมูลเช่นนี้เป็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทหาร และข้อมูลเหล่านี้ในหลายๆ เรื่องเป็น "ความลับ" ซึ่งรัฐอาจจะถือว่าการรั่วไหลของข้อมูลเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบด้านความมั่นคงต่อรัฐได้ 
แต่เมื่อระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นและแพร่กระจายไปในสังคมวงกว้าง รัฐจึงมิใช่องค์กรเดียวที่จะผูกขาดการมีและใช้ข้อมูลเช่นในอดีตอีกต่อไป
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐมิใช่ผู้ผูกขาดข้อมูลแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงข้อมูลข่าวสาร (decentralization of information) ซึ่งก็คือ รัฐไม่สามารถผูกขาดการเป็นเจ้าของและการตีความข้อมูลข่าวสารเช่นในแบบเดิม 
รัฐจึงไม่ใช่ผู้เดียวที่จะบอกว่าอะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรดี อะไรไม่ดี โดยไม่เผชิญกับการท้าทายที่ถูกตอบโต้ว่า "ไม่จริง" หรือ "ไม่เชื่อ" อีกต่อไป 
ปรากฏการณ์ใหม่ของโลกดิจิตอลเช่นนี้ตอบได้โดยตรงว่า รัฐกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก

ความเป็นรัฐประชาชาติที่ก่อตัวมาตั้งแต่ ค.ศ.1648 พร้อมกับการผูกขาดหลายๆ เรื่องไว้ในความเป็นรัฐนั้นกำลังถูกลดทอนลง และอำนาจในการควบคุมและตีความข่าวสารต่างๆ ที่ผู้ปกครองหรือชนชั้นนำรัฐใช้เพื่อกำหนดทิศทางการเดินของสังคมไปตามทางที่พวกเขาต้องการนั้นกำลังกระจายตัวออก และควบคุมได้ยากขึ้น
สภาพเช่นนี้ทำให้การ "เซ็นเซอร์" ข้อมูลข่าวสารในโลกปัจจุบัน กลายเป็นกลไกที่ใช้การไม่ได้ หรือทำให้การควบคุมข่าวสารของรัฐในแบบเดิมนั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง 
เมื่อรัฐต้องเผชิญกับข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่พึงปรารถนา พวกเขาไม่อาจทำลายทิ้งได้ด้วยการฉีกหรือปิดสถานี เช่น การฉีกข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ข้อมูลที่รัฐไม่ต้องการ 
หรือไม่อาจกระทำได้ด้วยการปิดสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ในแบบเดิมที่ส่งข่าวสารที่รัฐไม่ปรารถนาจะให้ประชาชนในวงกว้างได้รับรู้

ถ้ามองปัญหาในบริบทด้านความมั่นคง การขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอลเช่นนี้นำพาปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ให้แก่รัฐ 
จนในบางรัฐมีข้อสรุปว่า เทคโนโลยีเช่นนี้เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง 
เช่น รัฐบาลในบางประเทศไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือของ BlackBerry เพราะควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารไม่ได้ หรือในอดีตรัฐบาลทหารของพม่าไม่อนุญาตให้ประชาชนมีเครื่องแฟ็กซ์ เป็นต้น



ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ICTs กับความมั่นคงของรัฐเป็นประเด็นที่จะต้องนำมาศึกษากันใหม่ ดังจะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "Arab Spring" นั้น เครื่องมือสำคัญของประชาชนที่ใช้ต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการก็คือระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ ยูทูบ หรือเฟซบุ๊กก็ตาม  
หรือหากย้อนกลับไปในอดีตไม่ไกลนัก เราจะพบว่าการรวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนมิถุนายน 1989 นั้น เครื่องแฟ็กซ์มีบทบาทอย่างมากในการกระจายข่าวสารของฝ่ายนักศึกษาในการต่อสู้กับรัฐบาลจีน 
ต่อมากับการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 1992 โทรศัพท์มือถือมีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งข่าวสารและระดมพลเข้าร่วมการชุมนุม  
หรือก่อนการรัฐประหาร 2006 (พ.ศ.2549) ก็มีการใช้เว็บไซต์ในการโจมตีทางการเมืองต่อรัฐบาลทักษิณในเรื่องต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่า การโจมตีด้านสารสนเทศเช่นนี้มีส่วนอย่างมากในการปลุกระดมชนชั้นกลางในเมืองให้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และมีส่วนโดยตรงต่อการสร้างความชอบธรรมที่ปูทางไปสู่การยึดอำนาจรัฐบาลในเวลาต่อมา
หรือหลังรัฐประหารดังกล่าวก็มีการใช้เครื่องมือสารสนเทศเหล่านี้ในการปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกรณีการปลุกกระแสชาตินิยมจากปัญหาปราสาทพระวิหารในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เป็นต้น



ในต้นศตวรรษที่ 21 ความสำเร็จของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับมีเครือข่ายของระบบสารสนเทศเป็นอาวุธสำคัญของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะในตูนิเซีย อียิปต์ หรือลิเบีย ล้วนเป็นผลมาจากเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอล
จนบางทีเราอาจจะสร้างทฤษฎีใหม่ในทางการเมืองได้ว่า ภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลในโลกร่วมสมัยก็คือ ขีดความสามารถในการควบคุมการไหลของข่าวสารในระบบดิจิตอล และขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข่าวสารดังกล่าวอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่รัฐเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมจะเผชิญกับการท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อประชาชนใช้ระบบสารสนเทศสมัยใหม่เป็นอาวุธในการต่อสู้  
หรือในทางกลับกันก็คือ ระบบสารสนเทศดิจิตอลกลายเป็นอาวุธชนิดใหม่ในทางการเมืองนั่นเอง


สงครามข่าวสารในโลกร่วมสมัยจึงเป็นรูปลักษณ์ของ "สงครามใหม่" ไม่ว่าจะเป็นเวทีการเมืองภายในหรือการเมืองระหว่างประเทศก็ไม่แตกต่างกัน 
และยังเห็นอีกด้วยว่า อาวุธแบบเก่าของสงครามในยุคอุตสาหกรรมกำลังสิ้นประสิทธิภาพลง
และข่าวสารกลายเป็น "อาวุธใหม่" ที่ทรงอานุภาพยิ่ง!



.