http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-03

“จาตุรนต์”ชี้อำนาจประชาชนถูกปล้น..คาดเกิด“ยุบพรรค”อีกรอบ

.

“จาตุรนต์” ชี้อำนาจประชาชนถูกปล้น -“ชนชั้นนำ”ไม่อยากปรองดอง -คาดเกิด“ยุบพรรค”อีกรอบ
เรียบเรียงจากมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 14:36:00 น.


เมื่อวันที่  3 มิถุนายน  ที่โรงแรมอมารีเอเทรียม ถนนเพชรบุรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎร ระงับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการแถลงครั้งแรกหลังได้รับสิทธิพลเมืองกลับคืนมา และรู้สึกว่าการเมืองต้อนรับแบบดุเดือดพอสมควร ในฐานะพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิเป็นคนมา 5 ปี ขณะนี้มีสิทธิได้เท่ากับพลเมืองทั่วประเทศ แต่พบว่าสิทธิประชาชนทั่วประเทศ กำลังถูกปล้นไปอีกครั้ง

ขณะนี้มีข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหาร  ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร โดยผู้นำกองทัพ เพราะจริงๆ แล้วเกิดรัฐประหารโดยกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ขึ้นแล้ว ฉะนั้น ใครคิดต่อต้านรัฐประหาร โดยคิดว่า ต้องระวังกระทั่งเกิดการรัฐประหารแล้วค่อยออกมาต่อต้าน  ก็ขอให้เข้าใจว่า การรัฐประหารได้เริ่มขึ้นแล้ว ฉะนั้นการต่อต้านควรจะกระทำได้แล้ว” นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า คาดอยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่า ชนชั้นนำคงไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญนี้อย่างง่ายๆ แต่นึกไม่ออกว่าจะใช้วิธีไหน ตอนแรกคิดว่า รอให้ผ่านวาระ 3 ไปก่อน แล้วค่อยไปยื่นให้ศาลตีความ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจวินิจฉัย เมื่อร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จ จึงมาใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 68 . . จริงๆ ไม่ใช่ช่องทางที่ใช้ได้เลย แต่เมื่อกล้าใช้ช่องนี้แสดงว่าต้องกล้าล้ม


เมื่อถามว่า ชนชั้นนำ หมายถึงคนกลุ่มใด นายจาตุรนต์ กล่าวว่า  คือคนที่ยังมีอำนาจทั้งหลาย หรือคนที่ยังมีอำนาจแฝงอยู่ตามรัฐธรรมนูญนี้ คนที่คิดจะล้มอำนาจรัฐบาลที่มาจากประชาชน  เหมือนเคยล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ล้มรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พอคราวนี้จะแก้รัฐธรรมนูญโดยสภา ก็คิดจะล้ม เรื่องนี้ อาจจะนำไปสู่การยุบพรรครอบใหม่อะไรอีกสารพัด ก็เป็นได้ ทั้งๆ ที่กระบวนการทุกอย่างดำเนินตามรัฐธรรมนูญ จึงถือว่า เป็นการกระทำที่ร้ายแรงมาก


เมื่อถามว่า รัฐบาลนี้ถูกหลอกเกี่ยวกับการปรองดองหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐบาลเองคงไม่ได้โดนหลอกอะไร เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกระบวนการทั้งหลาย  แต่นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีความพยายามที่จะปรองดองใดๆเลยจากชนชั้นนำในประเทศนี้ มีแต่พยายามรักษาอำนาจตัวเองไว้ และมีแต่จะทำลายกระบวนการที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยทุกวิถีทาง ชัดเจน  โดยไม่คำนึงถึงวิกฤตใดๆที่จะตามมาถือเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวอย่างยิ่งของกระบวนการนี้


เขากล่าวถึงเหตุผลที่มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์ว่า ขณะนี้เกิดการร่วมกันของกระบวนการหนึ่งที่เคยใช้มาในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ หรือเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการรัฐประหารนั่นเอง คือ เกิดการร่วมมือกันเคลื่อนไหวโดยพรรคการเมือง ในกลุ่มการเมืองที่ไม่คำนึงถึงกฎกติกาบ้านเมือง ประชุมในสภาไม่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ  ชุมนุมไม่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน มีความร่วมมือเผด็จศึกทำนองเดียวกับที่เกิดในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ครั้งนี้ จะมีผลมากกว่านั้น คือเปลี่ยนแปลงเนื้อหารัฐธรรมนูญแล้วสกัดกั้น ปิดโอกาส ประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกรัฐสภา


นายจาตุรนต์ กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับไต่สวนคำร้องว่ามีการกระทำล้มล้างระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีการมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือรับไต่สวนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมีคำสั่งไปยังประธานรัฐสภาให้ชะลอการพิจารณารัฐธรรมนูญวาระ 3


นายจาตุรนต์กล่าวว่า การมีมติรับไต่สวนก็ดี การสั่งให้ชะลอการลงมติของรัฐสภาก็ดี เป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่า อำนาจบัญญัติกฎหมาย รวมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจสภา ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ เพราะมีอำนาจวินิจฉัยเพียงพระราชบัญญัติ ฉะนั้นในขั้นที่พิจารณายังไม่เสร็จ ไม่รู้รัฐสภาจะมีมติอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งไม่มีอำนาจพิจารณา
"ผมเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่ายมาตรา 68 และศาลรัฐธรรมนูญกำลังละเมิดหลักการ แบ่งแยกอำนาจ กระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเองเป็นการล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับยึดอำนาจแก้ไขกฎหมาย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจากประชาขน นอกจากนำไปสู่การล้มการแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะมีผลห้ามไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญขนานใหญ่อีก เท่ากับได้ทำลายช่องทางที่ประชาชน จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ปิดช่องทางที่สังคม จะใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดโดยกระบวนการทางประชาธิปไตย"นายจาตุรนต์กล่าว



นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า สังคมไทยขัดแย้ง 2 เรื่องคือ 1 ใครควรเป็นรัฐบาล และ 2 รัฐธรรมนูญควรเป็นยังไง ข้อแรก ประชาชนตัดสินไปแล้ว และ กำลังจะตัดสินผ่านรัฐสภาว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ มาล้มกระบวนการนี้ เป็นการผลักประเทศสู่วิกฤตครั้งใหญ่ ปิดช่องแก้ความขัดแย้ง ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะล่อแหลมเผชิญหน้า เป็นวิกฤตร้ายแรงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

เขากล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจต่อประชาชน ว่าเกิดรัฐประหารแล้ว เกิดการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ เป็นภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตยประเทศ ต้องสกัดกั้นกระบวนการนี้ต่อไป ผู้ร่วมกระบวนการนี้ เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ต่อต้าน ไม่แสดงความเห็นเชิงหลักการที่หนักแน่นเพียงพอ ก็ยากจะทัดทานกระบวนการโดยตุลาการภิวัฒน์

"เฉพาะหน้า ผมเสนอว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งชะลอการพิจารณาของรัฐสภา ผมเสนอว่า รัฐสภาไม่บังควรที่จะปฎิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่ผูกพันองค์กรอื่น ไม่เหมือนคำวินิจฉัยซึ่งผูกพันคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา  รัฐสภาจึงจำเป็นต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 คือพิจารณาลงมติ วาระ 3 เมื่อพ้นกำหนด 15 วันหลังผ่านวาระ2
ประชาชนควรรณรงค์ อย่างจริงจังเพื่อถอดถอนตุลาการเสียงส่วนใหญ่ เพราะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเอง นอกจากนั้นก็มาตั้งหลัก รับมือกระบวนการรัฐประหารครั้งนี้ เพื่อผลักดันบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย" นายจาตุรนต์กล่าว


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้ดำเนินการ แต่มาแสดงความเห็นด้วยว่าควรจะทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับสิทธิทางการเมืองแล้ว จะเข้าชื่อถอดถอนหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะนี้มาปลุกระดม ส่งเสริมดำเนินการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะลงชื่อด้วยหรือไม่ต้องขอดูก่อนว่าจะถูกบิดเบือนอะไรหรือเปล่า การดำเนินการของประชาชน ทั้งการรณรงค์ และการยื่นถอดถอน ทำภายใต้กฎหมายจึงไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา ตุลาการภิวัฒน์ครั้งนี้เท่ากับสร้างวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2549 เป็นต้นมา และจะเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานต่อไป

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะทำให้อำนาจกลุ่มองค์กรและชนชั้นนำถูกลดลง ฉะนั้น การขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญเกิดจากการไม่ยอมรับอำนาจประชาชน และรักษาอำนาจชนชั้นนำ ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากของสังคม



__________________________________________________________________________________

อ่านความคิดเห็นของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ก่อนหน้านี้ไม่นาน

- สัมภาษณ์“จาตุรนต์” ชี้อำมาตย์ยังทรงอิทธิพล http://botkwamdee.blogspot.com/2012/05/ja-brc.html

- จาตุรนต์ ฉายแสง: ..ทำไมต้องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/01/jacon.html



.