http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-13

“นักฟุตบอล” กับ “การเมือง” โดย คนมองหนัง

.
บทวิจารณ์ของปี 2554 - “โคตรสู้ โคตรโส” “ท้าชน” และ “Source Code” โดย คนมองหนัง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

“นักฟุตบอล” กับ “การเมือง”
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 85


เดือนมิถุนายนนี้ นักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีจะมุ่งหน้าเดินทางไปยังประเทศยูเครน เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ประจำปี ค.ศ.2012 ที่มียูเครนและโปแลนด์เป็นเจ้าภาพร่วม

"ฟิลิปป์" ลาห์ม กองหลังกัปตันทีมชาติเยอรมนี ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสปีเกล เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงกรณีความขัดแย้งอันเกิดจากการจับกุมคุมขัง "ยูเลีย ทีโมเชนโก" อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคฝ่ายค้านของยูเครน

รวมทั้งตอบคำถามที่ว่า นักกีฬาอาชีพควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่?

และนี่คือเนื้อหาบางส่วนของบทสนทนาดังกล่าว



สปีเกล : คุณลาห์ม คุณมีความสนใจในเรื่องการเมืองบ้างหรือไม่?

ลาห์ม : แน่นอน การเรียนรู้สถานการณ์โลกอยู่ตลอดเวลา คือส่วนหนึ่งในอาชีพของผม ผมดูโทรทัศน์ เข้าอินเตอร์เน็ต แล้วก็อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน โดยไม่ได้อ่านแค่หน้ากีฬา

สปีเกล : เพื่อนร่วมทีมบาเยิร์น มิวนิค ของคุณหลายคน ก็ติดทีมชาติเยอรมนีเช่นกัน พวกคุณได้สนทนากันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในยูเครน และกรณีการอดอาหารประท้วงของยูเลีย ทีโมเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศดังกล่าว ซึ่งกำลังต้องโทษจำคุกอยู่บ้างหรือไม่?

ลาห์ม : แน่นอน เราครุ่นคิดกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ อะไรๆ จะย่ำแย่อย่างเห็นได้ชัด เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับประเด็นดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ผู้เล่นทุกคนในทีมชาติเยอรมนีได้รับจดหมายจากโวล์ฟกัง นีเออร์สบัค ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน (เดเอฟเบ) ซึ่งอธิบายถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังขึ้นในประเทศยูเครน

การเท่าทันสถานการณ์ต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับนักฟุตบอลอย่างพวกเรา และแน่นอนว่าเดเอฟเบจะช่วยสนับสนุนให้พวกเรามีคุณสมบัติเช่นนั้น

สปีเกล : เมื่อสัปดาห์ก่อน อูลี่ เฮอเนสส์ ประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิค ที่คุณค้าแข้งอยู่ กล่าวว่า เขาจะแสดงความเคารพต่อนักเตะทีมชาติเยอรมนี ที่เลือกแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านของยูเครน

การมีจุดยืนถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณ อยากถามว่าเฮอเนสส์ได้ปลุกเร้าคุณเป็นการส่วนตัวให้แสดงจุดยืนทางการเมืองเช่นนั้นหรือไม่?

ลาห์ม : แน่นอน ว่าเฮอเนสส์ไม่ได้มาปลุกเร้าผมเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ดี ผมรู้ว่าตัวเองต้องแบกรับความรับผิดชอบในฐานะกัปตันทีมชาติเอาไว้

เฮอเนสส์เป็นบุคคลที่มักมีส่วนร่วมกับการอภิปรายประเด็นทางสังคมและการเมืองอยู่แล้ว คำพูดของเขาจึงมีน้ำหนัก และผมก็รู้สึกประทับใจในตัวเขามาก ในแง่นี้ เฮอเนสส์ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของผม



สปีเกล : คุณรู้สึกแปลกใจหรือไม่ที่การเมืองภายในของยูเครน อาจจะกลบบังรัศมีของการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012?

ลาห์ม : กีฬาฟุตบอลมีขอบเขตกว้างใหญ่มาก เสียจนไม่อาจหลบเลี่ยงจากผลกระทบทางการเมืองดังกล่าวได้พ้น เมื่อแรกที่ผมอ่านข่าวเกี่ยวกับสุขภาพอันย่ำแย่ของทีโมเชนโก ผมก็รู้สึกได้ทันทีว่าสถานการณ์จะดำเนินไปในทิศทางไหน

สปีเกล : มีการหารือกันว่าอาจจะเกิดการคว่ำบาตรการแข่งขันฟุตบอลยูโรครั้งนี้ ถ้าสถานการณ์การอดอาหารประท้วงของทีโมเชนโก ได้ส่งผลให้สุขภาพของเธอย่ำแย่ลง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังไม่ยอมรามือ คุณพอจะจินตนาการได้ไหมว่าอะไรจะเกิดขึ้น?

ลาห์ม : คำถามนี้ใหญ่เกินไปสำหรับนักกีฬาอย่างพวกเรา นี่เป็นเรื่องที่องค์กรกีฬาต่างๆ และบรรดานักการเมืองจะต้องตัดสินใจ และผมก็มีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของพวกเขา

ขณะเดียวกัน การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปถือเป็นเทศกาลกีฬาระดับมหกรรมที่ได้รับความสนใจจากสื่อจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาดังกล่าวมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลยูเครนในที่สุด

สปีเกล : คณะกรรมาธิการยุโรปได้ส่งสัญญาณว่าสมาชิกทั้ง 27 ประเทศของสหภาพยุโรปจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ส่วนที่จัดการแข่งขันในยูเครน

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี และสมาชิกในคณะรัฐมนตรีของเธอ ก็คล้ายจะปฏิบัติตนตามแนวทางดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มความชอบธรรมให้แก่ระบอบอำนาจในประเทศยูเครน ตัวคุณเองได้วางแผนที่จะหลบหลีกการมีปฏิสัมพันธ์กับนักการเมืองชาวยูเครนบ้างหรือไม่?

ลาห์ม : โดยธรรมดาทั่วไป นักฟุตบอลอย่างเราไม่ต้องเข้าไปติดต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลของประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการต่างๆ อยู่แล้ว และผมขอกล่าวด้วยความสัตย์ว่า ในกรณีของการแข่งขันฟุตบอลยูโรครั้งนี้ ผมรู้สึกมีความสุขอย่างแท้จริงกับวิถีทางเช่นนั้น



สปีเกล : ฟุตบอลยูโร 2012 นัดชิงชนะเลิศ จะจัดขึ้นที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ถ้าทีมชาติเยอรมนีได้ลงเล่นในนัดดังกล่าว และประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครน ได้ลงไปสัมผัสมือกับคุณบนแท่นชนะเลิศ คุณจะยอมจับมือกับเขาหรือไม่?

ลาห์ม : ถ้ากรณีที่ว่าเกิดขึ้นจริง ผมคงต้องคิดหนัก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับประเทศยูเครนในยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีความสอดคล้องกับมุมมองของผมในประเด็นเรื่องสิทธิทางประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน, สิทธิมนุษยชน, เสรีภาพส่วนบุคคล และเสรีภาพสื่อ เลยแม้แต่น้อย

เมื่อผมเห็นระบอบอำนาจของประเทศนี้ปฏิบัติต่อยูเลีย ทีโมเชนโก สิ่งที่พวกเขาทำไม่มีอะไรต้องตรงกันเลยกับความคิดในเรื่องประชาธิปไตยของผม ควรมีบางคนที่ต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมทราบมา มีเพียงเจ้าหน้าที่ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เท่านั้นที่จะได้สิทธิเข้าร่วมในพิธีมอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศ

สปีเกล : เมื่อองค์กรอย่างยูฟ่าพยายามวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และ มิเชล พลาตินี่ ประธานยูฟ่า ก็ปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในยูเครน คุณคิดว่าพลาตินี่ควรจะเลือกข้างท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งในประเทศยูเครนหรือไม่?

ลาห์ม : ผมคิดว่าเขาควรเลือกข้าง และผมก็อยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องพูดออกมาในกรณีนี้

สปีเกล : กีฬาและการเมืองยังคงสามารถแยกขาดออกจากกันได้หรือไม่?

ลาห์ม : กีฬาและการเมืองล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทั้งสองสิ่งไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ นักเตะทีมชาติอย่างพวกเราก็ถือเป็นตัวแทนของประเทศเยอรมนี เรายืนหยัดเพื่อสังคมประชาธิปไตย ยืนหยัดเพื่อคุณค่าในเรื่องความเป็นธรรมและความอดทนอดกลั้น ยืนหยัดเพื่อการบูรณาการเข้าหากัน

ลองดูตัวอย่างจากการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เยอรมนีในปี ค.ศ.2006 และที่แอฟริกาใต้ในปี ค.ศ.2010 ก็ได้ หลายคนพูดถึงฟอร์มการเล่นของพวกเราในแง่บวก ซึ่งนั่นก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของเยอรมนีในสายตาชาวโลกด้วย



สปีเกล : ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ.1978 ที่อาร์เจนตินา ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่คุกคามเอาชีวิตของนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย, บุคคลในสหภาพแรงงาน และนักศึกษา ฯลฯ หลายพันคน

เมื่อผู้สื่อข่าวพูดคุยเรื่องดังกล่าวกับ แบร์ตี้ โฟกท์ส กัปตันทีมชาติเยอรมนีตะวันตกในยุคนั้น โฟกท์สตอบกลับมาว่าเขาไม่เคยเห็นนักโทษการเมืองแม้แต่เพียงคนเดียวที่ประเทศอาร์เจนตินา

อยากถามคุณว่า นักฟุตบอลเยอรมันในยุคปัจจุบันจะสามารถหลีกเลี่ยงประเด็นการเมืองด้วยการพูดจาแบบนั้นได้อีกหรือไม่?

ลาห์ม : กาลเวลาได้ผันแปรไปแล้ว ดังนั้น เราจึงต้องปฏิบัติตนเป็นมืออาชีพ เราถูกมองเป็นแบบอย่างของคนจำนวนมาก เราตกอยู่ภายใต้การจับจ้องของสาธารณชนยิ่งกว่านักฟุตบอลในยุคก่อนๆ เพราะสื่อมวลชนได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างละเอียดรอบด้านมากกว่าเดิม

เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ภูมิหลังของเรื่องราวต่างๆ และเป็นธรรมดา ที่เราจะต้องแสดงทัศนะเกี่ยวกับมิติทางการเมืองซึ่งปรากฏอยู่ในแวดวงกีฬาด้วยระบบความคิดอันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น



++++

บทวิจารณ์ของปี 2554

“โคตรสู้ โคตรโส” “ท้าชน” และ “Source Code”
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 85


ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ 2 เรื่อง เป็นการชมที่โรงหนัง 1 เรื่อง และชมจากแผ่นดีวีดีอีก 1 เรื่อง 
เรื่องแรก คือ "Source Code" ผลงานการกำกับฯ ของ "ดันแคน โจนส์" ส่วนเรื่องหลัง คือ "โคตรสู้ โคตรโส" ผลงานการกำกับฯ ของ "พันนา ฤทธิไกร" และ "มรกต แก้วธานี"
เมื่อดูจบ ก็พบว่าหนังฝรั่งฮอลลีวู้ดและหนังไทยซึ่งเติบโตมาจากตระกูล "หนังบู๊ภูธร" คู่นี้ มีจุดเชื่อมโยงถึงกันอย่างน่าประหลาดใจ


"โคตรสู้ โคตรโส" เล่าเรื่องราวของทีมสตั๊นต์กลุ่มหนึ่ง ที่เข้าแข่งขันในการคัดเลือกตัวแทนสตั๊นต์เพียงทีมเดียวจากประเทศไทยเพื่อไปร่วมแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด 
แต่เมื่อทีมสตั๊นต์ของพระเอก-นางเอกได้รับชัยชนะ พวกเขากลับถูกวางยาสลบและฟื้นตื่นขึ้นมาในตึกร้างแห่งหนึ่ง มิหนำซ้ำ คนรักอย่างแม่และน้องชายของสองนักสู้ภายในกลุ่มยังถูกจับไปเป็นตัวประกัน 
หนทางเดียว ที่ทั้งหมดจะสามารถหนีรอดออกไปจากสถานที่แห่งนี้และไถ่อิสรภาพคืนให้แก่คนรัก ก็ได้แก่ การต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงชีวิตกับทีมนักต่อสู้ฝีมือฉกาจฉกรรจ์ 
แท้จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมสตั๊นต์กลุ่มนี้ คือ การถ่ายทำ "เรียลลิตี้ โชว์" ซึ่ง "กำกับฯ" โดยด๊อกเตอร์ด้านการแสดงชาวไทยที่พูดภาษาไทยไม่ชัดนัก
ทั้งยังถูก "ควบคุม" อยู่อีกชั้นหนึ่ง โดยชาวต่างชาติที่นำโชว์ดังกล่าวไปเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นพนันในบ่อนสัญจรระดับอินเตอร์ของเขา

สุดท้าย พระเอก นางเอก และผองเพื่อน ก็เป็นฝ่ายชนะในเกมนี้ พวกเขาสามารถชิงตัวคนรักคืนกลับมา ตลอดจนปลิดชีพคู่ต่อสู้, ผู้กำกับการแสดง และนักพนันนานาชาติบางส่วนได้ 
อย่างไรก็ตาม เจ้ามือบ่อนสัญจรชาวต่างชาติกลับสามารถหนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด

ถ้าลองพูดภาษาเก๋ๆ แบบคณะกรรมการปฏิรูป ก็คงต้องบอกว่าแม้ทีมสตั๊นต์พระเอก-นางเอกของ "โคตรสู้ โคตรโส" จะเป็นฝ่ายชนะในตอนท้าย แต่พวกเขาและเธอกลับไม่สามารถเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างทางอำนาจ" แบบเดิม ที่กดทับตนเองเอาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นผลสำเร็จ
เพราะอย่างน้อย เจ้ามือชาวต่างชาติก็สามารถหลบหนีออกนอกประเทศไทยไปได้ และคงเดินทางไปเปิดบ่อนพนันสัญจรที่เดิมพันกันด้วยชีวิตของคนเล็กคนน้อยในประเทศอื่นๆ อีก ดังที่เขาเคยทำมาก่อนหน้านี้


เมื่อชม "โคตรสู้ โคตรโส" จบ ผมก็นึกถึงหนังไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือ "ท้าชน" ผลงานการกำกับฯ ของ "ธนกร พงษ์สุวรรณ" ซึ่งเล่าเรื่องราวของเกมกีฬาแนว "เอ็กซ์ตรีม" ชื่อ "ไฟเออร์ บอล" ที่เป็นการแข่งขันบาสเกตบอลผสมกับการต่อสู้ อันแลกมาด้วยการบาดเจ็บล้มตายของผู้เข้าแข่งขัน 
คนกุมอำนาจสูงสุดที่กำหนดเกมการแข่งขัน "ไฟเออร์ บอล" เป็นนายทหารนอกราชการผมขาว ที่ระบุว่ากีฬาชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากฐานทัพสหรัฐ ในช่วงสงครามเย็น 
กลุ่มที่มีอำนาจลดหลั่นลงมาจากทหารแก่ไม่มีวันตาย ก็ได้แก่ เหล่านักธุรกิจนอกกฎหมายที่ส่งทีมไฟเออร์ บอล ของตนเองเข้าร่วมแข่งขัน และบรรดาเซียนพนัน 
ส่วนสามัญชนคนเล็กคนน้อย คนยากจน และผู้ใช้แรงงาน ก็ยังคงมีสถานะเป็นเพียงตัวเบี้ยในเกมซึ่งต้องเดิมพันชีวิตของตนเองเพื่อแลกกับชัยชนะและเงินรางวัลเช่นเคย

"ท้าชน" ปิดฉากลงด้วยการถือกำเนิดซ้ำของ "วงจรอุบาทว์" อันไร้ซึ่งจุดจบ นั่นคือ เมื่อการแข่งขัน "ไฟเออร์ บอล" ประจำปีหนึ่งๆ จบไป การแข่งขันอีกปีก็เวียนเข้ามาแทนที่ เมื่อผู้เล่นที่เจ็บหรือตายในปีก่อนต้องออกจากการแข่งขันไป ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเสี่ยงภัยแทนที่ 
วงจรของเกม "ไฟเออร์ บอล" จึงเวียนวนอยู่อย่างนั้นมิรู้จบ ภายใต้การคุมเกมของบิ๊กทหารผมขาว 

หนังของ "ธนกร" ก็ไม่ต่างอะไรกับหนังของ "พันนา" และ "มรกต" ที่เล่าเรื่องราวของ "มนุษย์ผู้ปฏิบัติการ" ซึ่งไม่สามารถดิ้นรนตนเองให้หลุดพ้นออกจาก "โครงสร้างทางอำนาจ" ที่กดขี่พวกเขาอยู่ ผ่านอุปลักษณ์เรื่องเกมการต่อสู้อันดิบเถื่อนรุนแรง 
เพียงแต่ "ท้าชน" อาจมีมิติของ "โครงสร้างทางอำนาจ" ที่สลับซับซ้อนกว่า เมื่อผู้มีอำนาจสูงสุดในโครงสร้าง คือ คนไทยแท้ๆ ซึ่งสถาปนา "ระบอบ" ของตนเองขึ้นมาจากการร่วมมือของต่างชาติ ไม่ใช่การผลักภาระดังกล่าวไปให้ฝรั่งหรือด๊อกเตอร์พูดไทยไม่ชัด ดังที่ "โคตรสู้ โคตรโส" วาดภาพเอาไว้


ขณะที่ "Source Code" ไม่ได้เล่าเรื่องราวของการต่อสู้อัน "ป่าเถื่อน" หรือ "น่าตื่นตาตื่นใจ" เหมือนหนังไทย 2 เรื่องซึ่งเพิ่งกล่าวถึงไป 
หนังฮอลลีวู้ดเรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของนาวาอากาศเอกแห่งกองทัพสหรัฐ ที่เฮลิคอปเตอร์ซึ่งเขาขับเหนือน่านฟ้าอัฟกานิสถานถูกยิงตก จนเจ้าตัวต้องเสียชีวิต 
แต่เมื่อสมองบางส่วนของนักบินรายนี้ยังทำงานอยู่ เขาจึงถูกนำตัวมาเป็นหนูทดลองของโครงการวิจัยในกองทัพอากาศ ซึ่งด๊อกเตอร์ผิวดำขาพิการ และนาวาอากาศเอกหญิง ผู้ควบคุมโครงการ ได้ส่งนักบินที่เสียชีวิต/ภาวะการรับรู้ของนักบินผู้นี้ เข้าไปในสิ่งที่เรียกว่า "ซอร์ส โค้ด"

ภายหลังเกิดเหตุวางระเบิดรถไฟขบวนหนึ่งที่ชิคาโก้ ภาวะการรับรู้ของนักบินแห่งกองทัพอากาศสหรัฐ ได้ถูกส่งเข้าไปอยู่ในร่างของผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง ในช่วงเวลา 8 นาที ก่อนรถไฟขบวนดังกล่าวจะระเบิด อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
เพื่อปฏิบัติภารกิจหาตัวคนวางระเบิด และป้องกันเหตุระเบิดต่อเนื่องหลังจากนั้น 
ตามความเชื่อและความรู้ของทีมนักวิจัย-ทหารที่สร้างเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมา การย้อนเวลากลับไปในช่วง 8 นาทีก่อนเจ้าของร่างตัวจริงจะเสียชีวิต ใน "ซอร์ส โค้ด" ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอดีตใดๆ ได้ แต่จะนำไปสู่การป้องกันเหตุเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ ผู้ควบคุมระบบ "ซอร์ส โค้ด" จึงเห็นว่า สมองของผู้การนักขับเฮลิคอปเตอร์ในร่างของผู้โดยสารรายหนึ่ง ย่อมหยุดยั้งเหตุระเบิดรถไฟและรักษาชีวิตของผู้โดยสารรายอื่นๆ ในรถไฟขบวนนั้นเอาไว้ไม่ได้ 
ทีมผู้สร้างระบบ ยังเชื่อว่า "ซอร์ส โค้ด" มิได้มีสถานะเป็น "โลกคู่ขนาน" อีกใบหนึ่ง เนื่องจากจะไม่มีใคร/ภาวะการรับรู้ของผู้ใด ดำรงอยู่ในนั้นได้ตลอดไป ทว่า พวกเขาจะดำรงตนอยู่ใน "ซอร์ส โค้ด" ได้ ก็แต่เพียงในช่วงเวลา 8 นาทีก่อนที่เจ้าของร่างตัวจริงจะเสียชีวิตลงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หัวสมองที่โลดแล่นอยู่ใน "ซอร์ส โค้ด" ของนาวาอากาศเอกผู้พลีชีพ ณ สมรภูมิอัฟกานิสถาน กลับคิดแตกต่างจากผู้ควบคุมดูแลระบบ 
เขาเชื่อว่า ตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอดีตผ่านการย้อนเวลาระยะสั้นๆ ใน "ซอร์ส โค้ด" ได้ และสุดท้าย ความเชื่อของเขาก็เป็นจริง
พร้อมกับการได้ตระหนักว่า "ซอร์ส โค้ด" คือ "โลกคู่ขนาน" อีกมิติหนึ่ง ซึ่งเขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับหญิงสาวที่ตนเองหลงรักในนั้นได้ตลอดไปและเกินกว่าช่วงเวลาแค่ 8 นาที 

ในด้านหนึ่ง การที่ภาวะการรับรู้ของนักบินผู้ซึ่งสูญเสียชีวิตในทางร่างกายไปแล้ว ยังสามารถโลดแล่นไปใน "ซอร์ส โค้ด" ได้ อาจแสดงให้เห็นว่า อย่างไรเสีย เขาก็มิอาจสลัด "โครงสร้างทางอำนาจ" บางประการ ที่กองทัพสหรัฐและทีมงานนักวิจัยจัดสร้างขึ้น ไปได้พ้น 
แต่ในอีกแง่ เขากลับใช้สอยและผลักดัน "ซอร์ส โค้ด" ให้ก้าวหน้าไปไกลเกินกว่าที่ผู้สร้างเทคโนโลยีชนิดนี้ขึ้นมาจะเคยคาดคิดจินตนาการถึง หรือสามารถคุมเกมเอาไว้ได้



"โคตรสู้ โคตรโส" "ท้าชน" และ "Source Code" จึงฉายภาพให้เราเห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่าง "มนุษย์ผู้ปฏิบัติการ" กับ "โครงสร้างทางอำนาจ" 2 รูปแบบ 
ผมยังไม่อยากสรุปอย่างชัดเจนนักว่า ความแตกต่างของความสัมพันธ์ 2 ลักษณะดังกล่าว อาจคือ ผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการต่อสู้ของมนุษย์ผู้อยู่ภายใต้โครงสร้าง 
ที่แปรผันจากการลงทุนลงแรงจริงๆ ด้วย 2 มือ 2 ตีน ไปสู่การต่อสู้ใน "โลกเสมือนจริง" ผ่านระบบเทคโนโลยีอันสลับซับซ้อนและควบคุมได้ยากมากขึ้นหรือไม่?



.