http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-21

พรบ.เชียงใหม่มหานคร: ขุนนางเอ็นจีโอและยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย ? โดย สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์

.

พรบ. เชียงใหม่มหานคร: ขุนนางเอ็นจีโอและยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย ?
โดย สุรีย์  มิ่งวรรณลักษณ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/41151 . . Wed, 2012-06-20 00:08


การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ชุมชน   เพราะหากกระจุกอยู่ส่วนกลางจะทำอะไรไม่ได้ คอรัปชั่นจะเกิดขึ้นมาก บ้านเมืองแก้ปัญหาอะไรไม่ได้  ทหารก็ทำรัฐประหารได้ง่ายเพราะอำนาจกระจุก ถ้ากระจายไปสู่ชุมชน รัฐประหารทำไม่ได้ คอรัปชั่นยาก
ประเวศ วะสี


รัฐประหารคราวที่แล้วสำเร็จเพราะไม่กระจายอำนาจ หรือสำเร็จเพราะคณะรัฐประหารเขาเชิญเอ็นจีโอไปนั่งสภาครับ? ที่กระชับพื้นที่แล้วมีคนตายแล้วลากไปได้จนจบสมัยได้หน่ะ  ส่วนหนึ่งก็เพราะไปตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหรือปล่าวครับ ?
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

1. กระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการออก พรบ.เชียงใหม่มหานคร ภายใต้แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” (น่าจะมีความหมายเดียวกันกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่เปลี่ยนให้ดูเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง) ของเหล่าขุนนางเอ็นจีโอ (ในที่นี้หมายถึงเอ็นจีโอสายอนุรักษ์นิยม)

ที่มี ประเวศ วะสี เป็นหัวขบวน ที่มีความเชื่อหรืออ้างว่า จะเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางโครงสร้างอำนาจ เป็นการปฎิรูปโครงสร้าง  แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเหลือง-แดง  ระหว่างอำมาตย์-ไพร่ ได้อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นประชาธิปไตยรากหญ้าหรือประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น  
ประหนึ่งว่า แนวคิด” จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นยาแก้ได้สารพัดโรค
เหมือนดั่งเช่นที่ผ่านมาด้วยการท่องคาถา “สภาองค์กรชุมชน”  “สิทธิชุมชน”   “จังหวัดบูรณาการ”  “เศรษฐกิจพอเพียง”  “ความเหลื่อมล้ำ”  “ การปฏิรูปประเทศไทย”   ฯลฯ  แล้วก็ละเมอเพ้อพกว่า แก้ได้สารพัดโรค

นับเป็นความเพ้อฝันเพ้อเจอยิ่งนัก หากไม่มี”เจตนา”บิดเบี้ยวการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย?
เนื่องจาก หากเหล่า “ขุนนางเอ็นจีโอ” ให้ความสำคัญกับกติกาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นดังที่แอบอ้าง ก็ถือเป็นตลกร้ายสิ้นดี เพราะขัดแย้งในตัวมันเอง  ถ้าเสนอหรือยอมรับให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารผู้ปกครองท้องถิ่นที่มีอิสระจากอำนาจส่วนกลาง  แต่กลับปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกตั้งผู้บริหารระดับประเทศตามวิถีรัฐสภา  หรือกติกาการเมืองประชาธิปไตยระดับประเทศ เหมือนที่ผ่านมาและเป็นอยู่

ขุนนางเอ็นจีโอ ควรยอมรับกติกา ประชาธิปไตย ยอมรับสิทธิคนส่วนใหญ่ และต่อสู้กันตามกติกา หนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิ์ในการเลือกผู้บริหารปกครองประเทศ จึงจะทำให้ความขัดแย้งมีจุดลงตัวได้อย่างที่ควรจะเป็นเหมือนเช่นอารยประเทศ   มิใช่ไม่ยอมรับมติคนส่วนใหญ่อย่างที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยก่อวิกฤตการเมืองปัจจุบันอยู่


2. นอกจากนี้พวก”ขุนนางเอ็นจีโอ” ยังได้มีการกล่าวอ้างว่า  แดงเหลืองยุติความขัดแย้ง และได้ร่วมมือกันเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว

แต่บทบาทที่ผ่านมา ที่ต้องบันทึกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ของประชาชนว่า  เหล่าขุนนางเอ็นจีโอกลุ่มนี้ได้สนับสนุนฝ่ายอำมาตยาธิปไตยทั้งที่เผยตัวชัดเจน และทั้งแบบอีแอบเหนียมอาย  ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมทั้งออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร
บางคนดำรงตำแหน่งเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  บางคนดำรงตำแหน่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่แต่งตั้งขึ้นโดย คณะรัฐประหาร คมช.
บางคนดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูป ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ชน ภายหลังการล้อมปราบสังหารประชาชน 93ศพได้เพียงไม่กี่วั

คงไม่มีใครที่ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  จะปฏิเสธการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพียงแต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น เป็นส่วนหนึ่ง ต้องเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับของกระบวนการการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ระดับประเทศ

ไม่มีการเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยประเทศไหนในโลกที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง  แต่กลับหลีกเลี่ยงเมินเฉยต่ออำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย” ที่ยังดำรงอยู่และยังครอบงำกดทับอำนาจของประชาชนอยู่อย่างล้นฟ้า    เช่น  อำนาจกองทัพ   อำนาจศาล  เป็นต้น


การเคลื่อนไหวให้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง จึงต้องเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยอย่างปฏิเสธไม่ได้    ยิ่งสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน เป้าหลักยุทธศาสตร์ใหญ่ควรอยู่ที่อำนาจนอกระบบ เป็นประเด็นใหญ่มิใช่ “จังหวัดจัดการตนเอง”  ที่อ้างว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหารัฐประหารได้   อย่างที่ ประเวศ วะสี  เทศนาไว้ 
ตราบใดที่ต้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  แต่ยอมรับหรือสนับสนุนอำนาจนอกระบอบ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็เป็นเพียง“กลลวง” หรือ“วาทกรรมจอมปลอม” ของเหล่าขุนนางเอ็นจีโอที่ต้องการบิดเบือนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้นเอง

หาก “ขุนนางเอ็นจีโอ”   เป็นนักประชาธิปไตยเพียงพอ มีจิตใจไม่คับแคบ แม้จะมีความคิดอนุรักษ์นิยมก็ตาม พวกเขาควรเปลี่ยนความคิดคนที่พวกเขาทำงานด้วยที่เป็นเหลือง  - ให้รักประชาธิปไตยมากขึ้น (หรืออย่างน้อยก็เคารพกติกาประชาธิปไตย) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความ
ขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยเป็นไปอย่างปกติ  - ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เพื่อไม่เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงอย่างที่มิควรจะเป็นไม่ว่าจะเป็นเหลืองหรือแดงก็ตาม


3. ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475   ( “วันชาติ” ปีนี้ครบรอบ 80 ปี)   คณะราษฎร มีข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและผลักดันรูปธรรม -จัดให้มีการเลือกตั้งเทศบาล ขึ้น

“คณะราษฎร”  เป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต้องการผลักดันให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย  ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ตามคำแถลงของคณะราษฎร
ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร ต้องการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์  สร้างประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ  มีหลักนิติธรรม นิติรัฐ  มีการเลือกตั้งแบบรัฐสภา ไม่ต้องการให้อำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยอยู่เหนืออำนาจประชาชนในแผ่นดิน

แต่หัวขบวนการของจังหวัดจัดการตนเอง กลับอยู่ฝั่งตรงข้ามฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอดสม่ำเสมอ และมิเคยสำนึกผิด หรือกล้ายอมรับว่าตนเองเป็นฝ่ายอำมาตยาธิปไตย จนถึงทุกวันนี้


ขณะที่ ร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร  ที่เป็นรูปธรรมจากแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองนั้น ในเนื้อหายังมีคำถามถึงข้อเสนอ เช่นว่า สภาประชาชนท้องถิ่นมาจากไหน? ใครเลือก?  เลือกกันเองหรือ? คนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ถือเป็นภาคประชาชนได้หรือไม่ ?ยอมรับได้หรือไม่? หรือมีเฉพาะเครือข่ายภาคประชาชนของขุนนางเอ็นจีโอ ของหมอประเวศเท่านั้นหรือไม่ ?

การจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่นที่เป็นธรรม จะเป็นไปได้อย่างไร?  เมื่องบประมาณแผ่นดินยังต้องจัดสรรให้อำนาจนอกระบบ จำนวนไม่น้อย  เช่น งบประมาณกองทัพ  งบประมาณองค์กรอิสระ  และอื่นๆ 

และโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมของท้องถิ่นจะเป็นไปได้อย่างไร ? เนื่องเพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่ก้าวสู่ความสมบูรณ์ เฉกเช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้    จึงมิมีเพียงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่นเท่านั้น แต่มีความทับซ้อนภายใต้ภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ “ดำรงอยู่จริง   และหน่วยงานราชการ หน่วยงานพิเศษ บางหน่วยงานที่มีอำนาจไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน แต่กลับมีพลังต่อรองกับรัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่ได้สูง หรือกลับมีอิทธิพลอำนาจเหนือรัฐและรัฐบาลด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้แล้ว  กฎหมายเชียงใหม่มหานคร จะผ่านกระบวนการรัฐสภาได้อย่างไร ?  เมื่ออำนาจพิจารณากฎหมายส่วนหนึ่งอยู่ในมือของวุฒิสภาจำนวนมากที่มาจากการลากตั้งของอำนาจคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งล้วนเป็นข้าราชการเก่าที่เคยชินมีแนวคิดรวมศูนย์อำนาจแบบฝ่ายอำมาตยาธิปไตย กฎหมายเชียงใหม่มหานคร จะถูกบิดเบือนบิดเบี้ยวไปเหมือนกฎหมายหลายฉบับที่ผ่านมาหรือไม่ ?


4.  ที่กล่าวมาทั้งหมด  ผู้เขียนมิใช่ต้องการขัดขวางเส้นทางประชาธิปไตยท้องถิ่น  มิใช่ประเภท มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ   มิใช่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพียงแต่ต้องการตั้งคำถาม ถกเถียง ตรวจสอบและตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทขุนนางเอ็นจีโอ (ที่แอบอ้างประชาธิปไตยท้องถิ่น แต่ชิงชังประชาธิปไตยระดับชาติพร้อมๆกับสนับสนุนอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย)

สำหรับผู้ร่วมขบวนที่ใฝ่ฝัน -ถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ -ถึงยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น (ตราบที่สังคมไทยยังมีคนโหยหารัฐประหาร และหลักการเสรีภาพ ความเสมอภาค อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หลักการนิติรัฐ/นิติธรรม ยังคงถูกละเมิดย่ำยีอย่างชัดแจ้งทั้งโดยกองทัพ และกระบวนการตุลาการรัฐประหาร) ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ต้องต่อสู้กับอำนาจนอกระบบ   ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์   ไม่อาจเคลื่อนไหวการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นประเด็นเเดียว ต้องโยงใยประชาธิปไตยโดยรวมทั้งหมดอย่างมิอาจปฎิเสธได้


และหากตราบใด “ขุนนางเอ็นจีโอ”  ปฏิเสธกติกาประชาธิปไตยโดยรวมทั้งหมด  พวกเขาก็หาได้เป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง(ซึ่งใฝ่ฝันถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดั่งที่คณะราษฎรได้แผ้วถางเส้นทางไว้ไม่เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ในขณะที่ยังมีอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย ยังดำรงอยู่และมีอำนาจอย่างล้นฟ้า 



.