http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-08

ปธ.สมศักดิ์ ฟังหูไว้หู กรณี“ศาล รธน.”, 8มิ.ย.55-ลึกแต่ไม่ลับ

.
คอลัมน์ในประเทศ - เช็กกระแส "นักวิชาการ" ลุ้น "พท." ชน "ศาล รธน." กรณีพิพาทแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รายงานพิเศษ - เมื่อลม 19 กันยา พัดหวน เมื่อ เหลือง ล่อปฏิวัติ เมื่อ แดง ปฏิวัติหลอน เมื่อ "บิ๊กตู่" เปลี่ยนไป แล้วไยต้องเป็น "นายพลเจี๊ยบ"
คอลัมน์ โล่เงิน - ตั้ง"อดุลย์"หัวหน้างานมั่นคง รับไม้วางระบบคุม"ม็อบ" "งานหิน"กำกับด้วยการเมือง


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คำชี้แนะ เจริญ จรรย์โกมล ที่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ฟังหูไว้หู กรณี “ศาลรัฐธรรมนูญ”
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 8


แม้ว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาจะมีผลทำให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เกิดสภาพละล้าละลัง 
ดังคำสารภาพต่อสาธารณะอย่างอ่อนแรง
"ขณะนี้ทำอะไรก็ผิดไปหมด เป็นความผิดที่ตัวเองไม่ได้ทำ คนอื่นจัดให้หมด ไม่ว่าจะลงมติร่างรัฐธรรมนูญก็ละเมิดอำนาจศาล หรือหากไม่ลงมติวาระ 3 ก็ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคห้า ที่ระบุว่าต้องลงมติจาก 15 วันไปแล้ว"


แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ นายเจริญ จรรย์โกมล จะลอยตัว
"หากพิจารณาตามหลักของกฎหมาย คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเหมือนเป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวซึ่งไม่มีผลต่อรัฐสภาอยู่แล้ว ที่สำคัญ หนังสือที่ศาลแจ้งมา เป็นคำสั่งให้เลขาธิการแจ้งต่อตัวประธานสภา ไม่ใช่แจ้งต่อรัฐสภา ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นที่ประธานสภาจะต้องรายงานคำสั่งดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา"
แน่นอน คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งนี้ย่อมไม่มีผลต่อ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ด้วย
เป็นอย่างนั้นไป


ระหว่าง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับ นายเจริญ จรรย์โกมล มีรากฐานความเป็นมาแตกต่างกันเป็นอย่างมาก
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เรียนมาทางวิศวกรรมศาสตร์
ขณะที่ นายเจริญ จรรย์โกมล เรียนมาทางด้านนิติศาสตร์ และดำเนินอาชีพเป็นทนายความก่อนเข้ามาสู่แวดวงทางการเมือง
แม้เป็น ส.ส.แล้วก็ยังเป็น "ทนายความ" อยู่
"การทำหน้าที่ของประธานสภาในกรณีนี้ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคห้า ที่ระบุว่า เมื่อการพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้ 15 วัน แม้พ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาวาระ 3 ต่อไป"
เป็นความเห็นจาก นายเจริญ จรรย์โกมล 
"แม้ว่าประธานสภาจะไม่แจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ประธานก็ไม่มีความผิด เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ รับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งต่อประธานสภาให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่ถ้าประธานสภาไม่ทำในสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คนที่จะโดนคือตัวประธานสภา"
ประเด็นที่เสนอก็คือ ประธานสภาจะฟังใครระหว่างคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ



จึงถูกต้องแล้วที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จะออกมากล่าว
"ผมต้องขอไปทำจิตให้ว่าง คิดหาหนทางให้ประเทศชาติไปสู่ความเป็นปกติสุข ไม่อยากให้มีการเสียเลือดเสียเนื้ออีก"
นั่นก็คือ เสียเลือดเสียเนื้อเหมือนเมื่อเดือนเมษายน, พฤษภาคม 2553 
"สรุปง่ายๆ จะทำทุกอย่างโดยยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก" เป็นการสรุป "ดังนั้น ใครมีทางออกก็ช่วยบอกที"

แสดงว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ไม่เชื่อ นายเจริญ จรรย์โกมล
ขณะเดียวกัน ยังแสดงด้วยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ยังไม่เชื่อแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ของพรรคเพื่อไทย
คำตอบอาจปรากฏขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 8


ความขัดแย้งที่มีผลต่อเนื่องมาจาก "ร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ พ.ศ...."กำลังเดินหน้าไปด้วยความเข้มข้น กลุ่มพันธมิตร ซึ่งเหงาหงอย ดุจไก่ง่วงมายาวนาน ได้โอกาสออกจากถ้ำ มายืดเส้นยืดสาย ขับเคลื่อน ต้าน "พ.ร.บ.ปรองดอง" ร่วมกับ "กลุ่มหลากสี" โดยมี "ประชาธิปัตย์" เกลอเก่า ซึ่งแตกคอกันไปพักใหญ่ กลับมาปฏิบัติการร่วมกันอีกครั้ง 
ความวัว ว่าด้วย "พ.ร.บ.ปรองดอง" ยังร้อนระอุ มีแนวโน้มว่า จะยั่วกิเลสให้เกิดการเผชิญหน้ากันอีกครั้งระหว่าง "เสื้อเหลือง" กับ "เสื้อแดง" และต้องสู้รบกันขั้นแตกหัก 
จู่ๆ มี "ความควาย" ปรากฏการณ์ใหม่ ช่วยตอกลิ่มให้เกิดจุดแตกหักหนักเข้าไปอีก เมื่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติ 7 ต่อ 1 เสียงรับไต่ส่วนข้อร้องเรียนตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พร้อมมีคำสั่งให้ "รัฐสภา" ยืดระยะเวลาการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ออกไป จากกำหนดเดิม จะลงมติในวาระ 3 กันในวันที่ 5 มิถุนายน

มาตรา 68 มีรายละเอียดว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างกาาปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้" 
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำดังกล่าว 
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ 
ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

การที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ใช้มาตรา 68 รับไต่ส่วน "เพื่อไทย" เสียวสันหลังวูบ ลูกข่ายขั้วที่ 3 มีโอกาสถูกยุบ และกรรมการบริหารมีสิทธิถูกต้องโทษแบนคนละ 5 ปีได้ ส่อเค้าว่า จะเดินตามรอยเดียวกับ "พรรคไทยรักไทย" และ "พลังประชาชน" 
ประกอบกับ "ประชากรบ้านเลขที่ 111" เพิ่งจะก้าวข้ามกรงเล็บ หลังถูกจองจำสิทธิทางการเมืองมาคนละ 5 ปีเต็ม แค่ชั่วข้ามคืน คือ เดินสู่อิสรภาพ ในวันที่ 31 พฤษภาคม วันที่ 1 มิถุนายน ต้นสังกัดใหม่ คือ "เพื่อไทย" ทำท่าจะโดนมิมนต์สู่เชิงตะกอนอีกแล้ว 
"คนตองหนึ่ง" ซึ่งกระดูกทางการเมืองแข็งโป๊ก จึงดาหน้าออกมาถล่มศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเมามัน เป็นการกระชากศาลรัฐธรรมนูญลงมาจากบัลลังก์ รุมถล่มกันกลางแจ้ง แสดงกันสดๆ 
กลยุทธ์หนึ่งดิสเครดิตต่อสาธารณะ อีกกลยุทธ์หนึ่ง ดำเนินการตามกระบวนการของรัฐสภา ด้วยการล่ารายชื่อ ยื่นถอดถอน ผลจะลงเอยยังไง "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" และ "แก้รัฐธรรมนูญ" จะ "ปิดข่าว" ลงรูปลักษณ์ใด ต้องเกาะติดสถานการณ์กันตาแทบกะพริบไม่ได้



บอกกล่าวเล่าขาน สำหรับ "นายใหญ่ดูไบ" ช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียด ว่าด้วยการประชุมสภา เพื่อพิจารณา "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" และปลุกยักษ์หลับคือ "พธม." ให้ตื่น เรียกระดมพลต่อต้าน ปิดล้อมสภา สอดรับกับการประชุมในสภา ชุลมุนวุ่นวาย มีการประท้วง ก่นด่ากันด้วยวาจาหยาบคาย และแสดงพฤติกรรมเข้าขั้น "ป่าเถื่อน" ไม่เหมาะสมกับสถานะของ "ผู้ทรงเกียรติ" 
"นายใหญ่" เกาะติดเหตุการณ์ มี "สายตรง" จากเมืองไทย ไปยัง "สิงคโปร์" หลายเลขหมาย  
แรกเริ่มเดิมที "ทักษิณ" เห็นตัวเลข "พธม." และผู้มาร่วมชุมนุมค้าน "พ.ร.บ.ปรองดอง" เมื่อเช็กยอดตัวเลขแล้ว ฟันธงว่า "หวานหมู" ต้องจัดการผ่าน "พ.ร.บ.ปรองดอง" ให้ได้ พร้อมที่จะเลือกใช้ "ไม้แข็ง" เข้าจัดการ 
ใครต่อสายไปขอให้ถอยหลังครึ่งก้าว ให้ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนนท์" เลื่อนโปรแกรมพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดอง ออกไปอีกระยะ มีเสียงตอบห้าวๆ ดุดัน "ยอมไม่ได้เด็ดขาด"

แต่สุดท้าย เมื่อถูกหลายฝักหลายฝ่ายรุมเตือนว่า อย่าประมาท เดินเกมช้า รอจังหวะอีกหน่อย "นายใหญ่" เลยส่งสัญญาณถอย ครั้นชะลอการนำร่างเข้าสู่การพิจารณา สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ "พธม." ประะกาศชัยชนะ สลายม็อบ "นายใหญ่" ตีกรรเชียงออกจากเมืองลอดช่อง กลับนครดูไบทันที  

หมากการเมืองก้าวต่อไป ถือว่าเดิมพันราคาแพง มีสิทธิ์พลิกผันได้ และการที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" รับไต่ส่วน ตลอดถึงมีคำสั่งระงับการลงมติในวาระ 3  
บ่งบอกรูปพรรณสัณฐานได้ดีว่า "ประชากรบ้านเลขที่ 111" ซึ่งพ้นโทษแบนกันไปหมาดๆ นั้น ชั้นเชิง ฝีไม้ลายมือเหนือเมฆ ศักยภาพคมกริบ 
4-5 คน ถูกวางตัวให้เข้ามาช่วยประคับประคอง "นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เรียบร้อยแล้ว

เดิมทีเดียว "นายใหญ่" เกรงว่า ปรับ ครม. "ปู 3" เพื่อไทยจะเกิดกระเพื่อมขึ้นภายในพรรคมากพอประมาณ จึงเลื่อนแผนปรับไปเป็นปลายกันยายน หลังแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่แล้วเสร็จ 
แต่พอเกิดศึก "พ.ร.บ.ปรองดอง-แก้รัฐธรรมนูญ" ต้องเร่งปรับ ครม. เร็วขึ้น ดีไม่ดีจะชิงลงมือช่วงปลายเดือน หลังวันคล้ายวันเกิด "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในวันที่ 21 มิถุนายน  
ศึกใหญ่ระดับ สู้รบปรบมือกับ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ต้องใช้บริการ "คนตองหนึ่ง" จึงพอฟัดพอเหวี่ยง



+++

เช็กกระแส "นักวิชาการ" ลุ้น "พท." ชน "ศาล รธน." กรณีพิพาทแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คอลัมน์ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 12


จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณา 
พร้อมทั้งมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ก่อน
มีความเห็นของนักวิชาการหลายคนที่ท้วงติงต่อท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ


"พนัส ทัศนียานนท์" อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต ส.ว.ตาก ที่เห็นว่า
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรระงับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. มาตรา 291 ถือเป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการก้าวก่ายการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตุลาการที่ออกคำสั่งดังกล่าวจึงมีลักษณะเข้าข่ายที่อาจถูกถอดถอนตามบทบัญญัติมาตรา 270

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้พรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลและมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เลือก "ชน" กับศาล รธน. ด้วยการเดินหน้าเรียกประชุมสภาเพื่อลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระ 3 
เพราะในทางการเมือง ถือว่าพรรคเพื่อไทยได้เปรียบในประเด็นนี้ หากเทียบกับกรณี พ.ร.บ.ปรองดอง กล่าวคือ 
(ก) ในแง่ข้อกฎหมายล้วนๆ เหตุผลที่ศาล รธน. ยกมาในการสั่ง "ระงับชั่วคราว" นั้นอ่อนมาก 
(ข) เรื่องนี้ ไม่ใช่ออกมาในลักษณะ "นิรโทษกรรมช่วยทักษิณ" อะไรแบบ พ.ร.บ.ปรองดอง 
ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสามารถเอาเรื่องศาลรัฐธรรมนูญมาอ้างเหตุชุมนุมได้หรือเปล่า ก็ยังมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเอากับพันธมิตร ด้วยหรือไม่ 
"ก็น่าจะให้รู้ไปว่า ปชป. ที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาเอง จะยอมยกอำนาจที่ผิด รธน. ให้ศาล รธน. ไหม แล้วค่อยมาว่ากันอีกที ถ้า ปชป. เกิดบ้าระห่ำ ทำแบบนั้นจริงๆ" สมศักดิ์ ท้าทาย

"เกษียร เตชะพีระ" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ของศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ  
ภูมิปัญญาฯ 1) เข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้แยกจากกัน ไม่ได้แบ่งฝ่ายเพื่อให้ตรวจสอบถ่วงดุลกัน หลงคิดว่าตนเองไม่เพียงแต่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยฝ่ายอื่น หากสามารถเอื้อมข้ามเส้นแบ่งอำนาจไปสั่งฝ่ายนิติบัญญัติได้ตามใจชอบ ซึ่งเท่ากับละเมิดการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ  
ภูมิปัญญาฯ 2) หลักเสรีประชาธิปไตยเกี่ยวกับกฎหมายมี 2 ประการ คือ 
หลัก ก) "กฎหมายอนุญาตจึงทำได้" ไม่ให้ทำมาก ทำได้เท่าที่กฎหมายบอกให้ทำเท่านั้น เอาไว้ใช้บังคับจำกัดกำกับควบคุมองค์กรของรัฐซึ่งมีอำนาจมาก ให้ใช้อำนาจได้เฉพาะที่อนุญาตไว้  
หลัก ข) "กฎหมายไม่ห้ามจึงทำได้" ส่งเสริมให้ทำมาก ตราบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมายหรือกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ อันนี้เอาไว้ใช้กรณีเสรีภาพบุคคล เพื่อเปิดช่องส่งเสริมให้บุคคลทำอะไรต่อมิอะไรได้เต็มที่ 
แทนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลัก ก) แต่การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญหนนี้กลับเคลิ้มคล้อยไปตามหลัก ข) อย่างนี้ต้องถือว่าศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติผิดฝาผิดตัว ใช้อำนาจเกินเลยผิดหน้าที่บทบาทฐานะของตนเอง 
ภูมิปัญญาฯ 3) ศาลรัฐธรรมนูญหลงผิดว่ามีอำนาจสั่งการบังคับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เอาเข้าจริงศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น หากเขาไม่ทำตามคำสั่ง ก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ด้านกลับก็คือประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพวิจารณ์คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้เต็มที่



นอกจากนี้ ยังเกิดวิวาทะระหว่าง "กิตติศักดิ์ ปรกติ" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ 
กิตติศักดิ์ อธิบายว่า ใช่จะมีแต่ประเทศไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาทำหน้าที่ขวางการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในกิจการที่ศาลเห็นว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ
เพราะในระบอบการปกครองที่มีศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจออกคำสั่งยับยั้ง หรือคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ข้อกล่าวหา หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการละเมิดรัฐธรรมนูญลุกลามไปเป็นปัญหาอย่างอื่นจนเกินเยียวยาแก้ไข เช่น กรณีของเยอรมันที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 
ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเพิ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ผู้แทน 9 นายที่สภาเลือกขึ้นมา ทำหน้าที่ในกองทุนฟื้นฟูยุโรป ที่จะให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินกองทุนมูลค่ากว่าสี่แสนล้านยูโรแทนสภาผู้แทนราษฎร 
"นี่เป็นกติกาของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ถ่ายเดียว ซึ่งในระบอบที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่นี้ถือหลักยอมให้คนกลางเป็นคนคอยตัดสินข้อพิพาท และแน่นอนคนกลางอย่างศาลรัฐธรรมนูญต้องระวังอย่าใช้อำนาจยับยั้งตามอำเภอใจ และใช้อำนาจนี้เมื่อ "จำเป็น" อย่างยิ่งยวดเท่านั้น" อาจารย์นิติฯ มธ. ทิ้งท้าย

ขณะที่ปิยบุตรค้านว่าวิธีการคุ้มครองชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายเยอรมันนั้นมีอยู่จริง ก็เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจนั้นได้ และอำนาจนั้นใช้โดยมีเงื่อนไขอะไร 
ในกรณีของไทยไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจเช่นนั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยไปกำหนดขึ้นมาเองโดยใช้วิธีพิจารณาความแพ่ง 
นอกจากนี้ วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน มีเงื่อนไขสำคัญ คือ เพื่อป้องกันอันตรายแก่คู่ความ แก่สาธารณะ แก่ประโยชน์สาธารณะ ศาลต้องไม่ลงไปสั่งในเนื้อคดี มาตรการที่สั่งลงไปต้องไม่เกินอำนาจของศาลที่จะกำหนดตอนทำคำวินิจฉัย
ที่สำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันไม่ได้นำอำนาจที่ตนมีมาใช้ระงับการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ


ทั้งหมดนี้คือข้อถกเถียงที่ดำเนินไปในโลกวิชาการ
ส่วนในโลกการเมือง คงต้องจับตาดูว่า พรรคเพื่อไทยจะกล้าใช้กลไกอำนาจตามระบบรัฐสภา "ชน" กับศาลรัฐธรรมนูญ ตามเสียงเชียร์ของหลายคนหรือไม่?



+++

เมื่อลม 19 กันยา พัดหวน เมื่อ เหลือง ล่อปฏิวัติ เมื่อ แดง ปฏิวัติหลอน เมื่อ "บิ๊กตู่" เปลี่ยนไป แล้วไยต้องเป็น "นายพลเจี๊ยบ"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 14


ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่กระแสความหวาดหวั่นว่าทหารจะปฏิวัติ จะกลับมาสะพัดอีกครา เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่คล้ายๆ สถานการณ์ก่อน 19 กันยายน 2549
ทั้งการกลับสู่ท้องถนนของม็อบเสื้อเหลือง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองฯ 
เพราะภาพพจน์ของกลุ่มพันธมิตรฯ กลายเป็น "ชนวนล่อปฏิวัติ" หรืออาจเรียกว่า มักรู้กันในวงการทหาร เพื่อออกมาสร้างสถานการณ์ไปสู่การปฏิวัติ 
ทั้งเพราะคนที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ครั้งนั้น เพื่อไล่เขาลงจากอำนาจ แต่ครั้งนี้เป็นการต่อต้านการล้างโทษ และคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท

โอกาสที่จะปะทะกันของม็อบเสื้อแดงที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ กับ ม็อบเสื้อเหลือง คนไม่เอาทักษิณ ที่เริ่มจากการปะทะเล็กของม็อบพันธมิตรฯ กับตำรวจ 
การปฏิบัติการของกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ที่ "เก็บทีละหนึ่ง กำจัดทีละหนึ่งละหนึ่ง" เรื่อยมา ตั้งแต่การให้ใบแดง จนถึง ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่ให้มีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 
แถมมีการโยกย้าย 67 ผู้บังคับกองพันหน่วยรบ เหมือนเมื่อครั้งโยกย้าย 179 หน่วยคุมกำลังก่อนปฏิวัติ แต่ครั้งนี้ มีการดันทหารม้ารุ่นกระเตาะ "เด็กนาย" ขึ้นมาเป็นผู้พัน คุมหน่วยปฏิวัติ แทนรุ่นพี่ๆ ที่นายๆ เริ่มหวั่นว่าไม่เต็มร้อย 
ที่สำคัญคือ การไม่ยอมให้ เสธ.โอ๋ พ.ท.สราวุธ ชินวัตร หลานชายนายกฯ ปู ขึ้นเป็นผู้บังคับกองพัน ทั้งๆ ที่จ่อมานาน ได้ทั้งรุ่น อาวุโส และความสามารถ แต่อาจเพราะ ปตอ.พัน 4 ถือเป็นขุมกำลังปฏิวัติหน่วยหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่อาจวางใจให้นามสกุลชินวัตร คุมกำลังได้



แต่ที่ทำให้ข่าวลือปฏิวัติสะพัดก็เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีการประชุม ผบ.หน่วยขึ้นตรง ทบ. ทั้งนายพล และผู้บังคับกองพัน จากทั่วประเทศ เมื่อ 1 มิถุนายน เสียอีก แม้ว่าจะเป็นตามวงรอบทุกๆ 3 เดือน ที่นัดไว้นานแล้วก็ตาม 
แต่ก็ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และบิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ หวั่นไหวไม่น้อย จนต้องสายตรงถาม ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแจงทั้งทางโทรศัพท์ และแถลงข่าวหลังการประชุมเสร็จ ด้วยท่าทีขึงขัง 
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้แจงแล้ว แต่ก็ดูฝ่ายรัฐบาลยังหวาดๆ ถึงขั้นที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ต้องสายตรงไปถึงบิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่อยู่ระหว่างการเยือนสิงคโปร์ และประชุมความมั่นคง แชงกรี-ล่า ไดอะล็อก อยู่ จนต้องเดินทางกลับก่อนล่วงหน้าถึง 2 วัน

เพราะลำพังเรื่องม็อบพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองฯ อาจมีการปะทะหรือนำไปสู่ความรุนแรง ก็ไม่หนักใจเท่าไหร่ 
แต่ที่ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกเรียกตัวกลับมา ถึงขั้นที่ต้องขอเลื่อนกำหนดพบ รมว.กลาโหม สหรัฐอเมริกา มาพบก่อนแค่แว้บเดียว แล้วเดินทางกลับ นั้น ก็เพราะข่าวลือปฏิวัตินี่เอง   
แถมทั้งบรรดาแม่ทัพนายกอง ผบ.พล. จนถึงผู้บังคับการกรม และ ผบ.พัน ไปรวมตัวกันที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ซึ่งเคยเป็นกองบัญชาการ ศอฉ. ตอนปราบปรามเสื้อแดง จึงยิ่งทำให้ข่าวสะพัดว่า มีการตั้งกองบัญชาการขึ้น 
แถมมีเฮลิคอปเตอร์ บินขึ้นบินลงในช่วงนั้น แม้ว่าจะมีรายงานภายหลังว่าขุนทหารไปร่วมชมการแข่งขันมวยของกองทัพภาคที่ 1 ก็ตาม


จึงไม่แปลกที่ "ตู่" จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง จะเกิดอาการหวาดวิตกว่าจะปฏิวัติ มีแผนจับตัวนายกรัฐมนตรี ไปไว้ในบ้าน ใน ร.11 รอ. จนถึงขั้นที่เขาประกาศให้คนเสื้อแดงทั่วประเทศเตรียมพร้อมต่อสู้การปฏิวัติรัฐประหาร ตามแผนที่ได้เคยนัดแนะเอาไว้ 
อีกทั้งที่เพิ่มขึ้นมาคือความป่วนในสภาของบรรดา ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยอมเสียภาพพจน์พรรคการเมืองเก่าแก่จอมหลักการ สร้างประวัติศาสตร์สีดำให้รัฐสภาไทย 
ประมาณว่า นั่นเป็น "เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการส่งสัญญาณว่าจะมีการล้มกระดานใหม่ ด้วยการปฏิวัติ"

ที่สำคัญ ในหมู่คนเสื้อแดงและทหารแตงโม ต่างฟันธงว่าภาพที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา ระหว่างป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั้น เป็นแค่ "ดราม่า" เป็นแค่การแสดงละคร 
และอาจรวมถึง ภาพชื่นมื่นของนายกรัฐมนตรีหญิง กับ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. อีกด้วย


คําว่า "เฟก" (Fake) ถูกนำมาใช้เรียกถึง การแสดงละครปรองดอง ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตายใจ และเข้าใจว่าฝ่ายอำมาตย์ "ยอม" จูบปาก ยอมสยบต่ออำนาจรัฐ แล้ว 
เพราะ หนึ่ง มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากแหล่งข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อมั่นว่า เป็น ตัวจริงที่ฝากข้อความถึง 
ประการที่สอง คือละครฉากใหญ่ที่ฝ่ายอำมาตย์ ได้แสดงออกมา จนแกนนำเสื้อแดงและทหารแตงโม จับจ้องไปที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ และ ทำเนียบวังสราญรมย์ อีกครั้ง โดยเฉพาะบรรดาลูกป๋าสุดเลิฟ 
ทุกอย่างดูจะเหมือนลม 19 กันยายน พัดหวน แต่ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนก่อน 19 กันยายน ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ใช่เพราะที่ตอนนั้นเขาเป็น รองแม่ทัพภาค 1 จ่อขึ้นแม่ทัพภาค 1 แต่เพราะวันนี้ เขาคือ ผบ.ทบ. เขาเป็น ผบ.ทบ. แล้ว 
จนอาจกล่าวได้ว่า ถ้าไม่ใช่เพื่อปกป้องสถาบัน นายทหารเสือราชินีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ คนนี้ ก็ต้องการทำหน้าที่ของทหารอาชีพต่อไป
ด้วยเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องเอาเก้าอี้ไปเสี่ยง แถมมีอายุราชการถึงกันยายน 2557 พร้อมด้วยบทเรียนต่างๆ มากมาย
แต่สิ่งหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ รู้และพยายามจะสื่อออกมา เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศชุมนุม หลายคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ฟังดูเหมือนว่า มีแรงกดดัน บีบบังคับให้ทหารปฏิวัติอีกแล้ว จนต้องตอบโต้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ที่เหน็บแนมบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. คนก่อน และ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า "ดีแต่พูด และได้แต่คำราม"
ที่ส่งผลให้ คนเสื้อเหลือง ที่เคยถูกมองว่าเป็นพันธมิตรของกองทัพ ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน ต้องกลับกลายมาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกองทัพในเวลานี้ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกซุบซิบว่า เปลี่ยนไปหรือไม่ นับตั้งแต่ชื่นมื่นใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์

พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องออกมาบอกว่า "ไม่มีปฏิวัติ ทหารที่ไหนปฏิวัติ ทหารไทยไม่มี ทหารได้แต่ขุดคลองอยู่นี่" 
แม้อาจจะถูกเหน็บแนมนินทาวิจารณ์จากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ว่า "ลอยตัวเหนือปัญหา" แต่ พล.อ.ประยุทธ์ อดทน 
"ผมไม่เคยห่วงว่าผมจะถูกย้ายจาก ผบ.ทบ. มั้ย ไม่เคยห่วง แต่ผมไม่อยากให้มากดดันให้ทหารต้องทำโน่นทำนี่ มันยังไม่ถึงเวลา" พล.อ.ประยุทธ์ เปรย



มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยเอ่ยความในใจกับนายกรัฐมนตรี เรื่องจุดยืน ทบ. ที่ยืนยันจะเป็นกองทัพที่เป็นกลไกของรัฐบาล ในการทำงานที่สั่ง โดยจะไม่เลือกข้าง ไม่ได้ต้องการจะหนุนรัฐบาล หรือเข้าข้างฝ่ายตรงข้าม แต่อยากอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่ของทหารไป ไม่อยากกลับไปเป็นอย่างในอดีตอีก 
ที่สำคัญ ในการประชุมผู้บังคับกองพัน วันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำกับ ผบ.พัน อีกครั้ง ว่าจะต้องเป็นกลไกของรัฐบาล ทำตามคำสั่งรัฐบาล และจะต้องรักกันเป็นหนึ่งเดียวกัน "ทหารเรากองทัพเราจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ก่อน จากนั้นเราค่อยมาช่วยให้ประชาชนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่อย่างนั้นชาติบ้านเมืองจะเดินหน้าไปไม่ได้"  
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น รู้กันดีว่าการปฏิวัติจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกกองทัพมากดดัน หรือเรียกว่า ถ้าไม่มี "ใบสั่ง" จากคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคารพรักที่สุด ก็ไม่มีทางปฏิวัติ หรืออีกประการคือปัจจัยภายในกองทัพ คือ หากเขาถูกเด้งจาก ผบ.ทบ. หรือ มีการเล่นงานเขาและ ทบ. ด้วยคดี 91 ศพคนเสื้อแดง  
นี่กระมังที่อาจเป็นสาเหตุที่ "ตู่" จตุพร ที่กลายเป็น "จอมปูดข่าวปฏิวัติ" ที่เคยคิดอยากจะมาเป็น รมว.กลาโหม คุมทหารเสียเอง นั้น ประกาศให้คนเสื้อแดง พร้อมทำสงครามครั้งสุดท้ายและต้านการปฏิวัติ 
ที่สำคัญคือ ยังระบุด้วยว่าหัวหน้าการปฏิวัติ จะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ "หัวหน้าคณะปฏิวัติอาจไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็เป็นพวกเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นแหละ"



พร้อมๆ กับที่แกนนำเสื้อแดง และทหารแตงโม กระพือข่าวในแวดวง อ้างถึง "นายพลเจี๊ยบ" หรือ "พลเอกเจี๊ยบ" จะเป็นหัวหน้าการปฏิวัติครั้งนี้
ทั้งนี้ เพราะธรรมเนียมของการปฏิวัตินั้น คณะปฏิวัติ จะต้องมี ผบ.สส. เป็นหัวหน้าคณะ เหมือนเมื่อครั้ง รสช. 23 กุมภาพันธ์ 2535 ก็มีบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส. เป็นหัวหน้า รสช. จนมา คมช. 19 กันยายน ก็มีบิ๊กต๋อย พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. เป็นหัวหน้า เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพของกองทัพในการปฏิวัติ แม้ว่าคนปฏิวัติจริงๆ จะเป็น ผบ.ทบ. ก็ตาม เพราะการปฏิวัติใดๆ จะไม่อาจเกิดขึ้น หรือสำเร็จได้ หาก ผบ.ทบ. ไม่ร่วมด้วย
แต่มากรณีนี้ ฝ่ายเสื้อแดง พยายามที่จะ เล็งไปที่บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. เพราะนอกจากจะเป็นเพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เจ้าของฉายา นายพลหลังม่าน ผู้วางแผนสำคัญๆ มาตลอด แล้ว ยังเพราะได้ชื่อว่าเป็น เด็กสายวัง เนื่องจากถวายงานรับใช้ใกล้ชิดสถาบันมาตลอดชีวิต  
ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว พล.อ.ธนะศักดิ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น แม้จะเป็นเพื่อน แต่ก็เสมือนหนึ่ง แข่งขันกันในทีมาตลอด แถมมีอายุราชการถึงปี 2557 เท่ากัน  
ที่สำคัญ แนวทางการทำงานของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ต้องการให้รวมศูนย์ที่ กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) หรือ ผบ.สส. คล้ายๆ ระบบของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบคณะเสนาธิการร่วม รัฐบาล หรือ รมว.กลาโหม มีอะไรก็จะผ่าน ผบ.สส. มา แล้วไปยัง ผบ.เหล่าทัพ

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว รวมทั้งเทคโนโลยี ทำให้ นายกรัฐมนตรี หรือ รมว.กลาโหม มีอะไรก็จะสายตรงถึง ผบ.เหล่าทัพ เลย จึงอาจไม่เป็นไปตามที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ คาดหวัง 
แต่อย่างน้อย เขาก็เป็น ผบ.สส. ที่แตกต่าง คือ จะเดินสายไปตรวจเยี่ยมหน่วยกำลังรบต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งของ ทบ.ทร. และ ทอ. เพื่อให้เข้าถึง และรู้จริง  
นี่อาจเป็นการสะท้อนความเป็นผู้นำของเขาประการหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องนั่งหัวโต๊ะประชุม ผบ.เหล่าทัพ แล้ว พล.อ.ธนะศักดิ์ และเมื่อแถลงข่าวก็จะรับผิดชอบแถลงเอง จนบ่อยครั้งที่การนั่งเป็นแผงของเขา ดูเสมือนหนึ่ง ภาพของคณะปฏิวัติ 
ข้อมูลเหล่านี้ ประกอบกับข้อมูลบางอย่างของ แกนนำเสื้อแดงและแตงโม ที่ว่า "นายพลเจี๊ยบ ถูกเรียกตัวเข้าไปพบ" เมื่อไม่กี่วันก่อนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ก็ทำให้ข่าวปฏิวัติสะพัด



"ไม่มี ไม่มีใครเรียก" พล.อ.ธนะศักดิ์ ยัน พร้อมทั้งงุนงงกับการที่ถูกคนเสื้อแดงพาดพิงเช่นนั้น เพราะในช่วงที่ผ่านมา เขาก็เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเยี่ยมเพื่อนบ้าน มิตรประเทศ และประชุมทางทหารตลอด 
"ไม่มี ใครจะไปทำอะไร" บิ๊กเจี๊ยบ แจงข่าวปฏิวัติ  
แต่อย่างน้อย ก็ทำให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้รู้แล้วว่าเขาได้กลายเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของคนเสื้อแดงในทางการเมืองแล้ว ทั้งๆ ที่เขาพยายามเก็บตัว ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ แต่ก็ยังถูกโฟกัส  
หากแต่ สายข่าวในฝั่งทหารแตงโม กลับอ้างว่ามีนายทหารแกนนำ ตท.12 บางคน ส่งสัญญาณแห่งความหวังนี้ ให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ และสลิ่ม มาแล้ว จนอาจเป็นที่มาของกระแสข่าวการรัฐประหาร 

แต่ในสายตาของ พล.อ.อ.สุกำพล แล้ว เขายังเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ "ผมยังเชื่อนะ ตู่ เขาคนดีมาก น่ารัก คุยกับเขาแล้ว เข้าใจกันดี เขาไม่ทำหรอกปฏิวัติ ผมเชื่อ"
"อย่างน้อย ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้โทร.หา ตู่ ผบ.ทบ. ถามเรื่องปฏิวัติ เพราะผมมั่นใจว่าไม่มี ไม่ทำ" บิ๊กโอ๋ เปรย โดยไม่กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ที่ รมว.กลาโหม จะถูกหลอก  
แต่กระนั้นก็ยังทิ้งติ่งท้ายว่า "แต่คนอื่น ผมไม่รู้ ก็ต้องดูกัน เรื่องนี้ต้องมองหลายๆ ส่วนหลายๆ กลุ่ม ทหารนี่ทีหลัง มองให้ดีก็จะเห็นว่ามีความพยายามจะสร้างสถานการณ์ เพื่อให้ทหารออกมา"

ด้วยเพราะว่าภาพที่วาดไว้คือ พ.ร.บ.ปรองดองฯ จะทำให้ม็อบสองสีเกิดการปะทะ เมื่อนั้นรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.มั่นคง เพื่อให้ทหารออกมา แต่ทว่าทหารจะไม่ทำอะไรรุนแรง ปล่อยม็อบสู้กันเอง แล้วรอดูสถานการณ์ เพื่อเลือกข้างผู้ชนะในเวลานั้น 
แต่ที่แน่ๆ ในเวลานี้ ไม่ว่าบิ๊กตู่ หรือนายพลเจี๊ยบ ก็อยากที่จะนั่งเก้าอี้ใหญ่ที่ครองอยู่ แบบสบายๆ ทำหน้าที่ไปจนเกษียณในอีกกว่า 2 ปีข้างหน้า ตราบใดที่ไม่มีใบสั่ง หรือถูกการเมืองแทรก โยกย้ายทหาร หรือถูกแซะเก้าอี้



+++

ตั้ง"อดุลย์"หัวหน้างานมั่นคง รับไม้วางระบบคุม"ม็อบ" "งานหิน"กำกับด้วยการเมือง
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 99


อุณหภูมิการเมืองที่ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงนี้ แผ่รังสีความร้อนแรงส่งตรงถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการขวางการผลักดันร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ฉบับ "เวลคัมโฮม" และกรณีสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นำมาสู่ปรากฏการณ์คืนชีพ "มวลชนมีสี" อย่างเป็นทางการ ส่งแรงสะเทือนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยบทบาทเครื่องมือหลักของรัฐบาลในการรับสถานการณ์และรักษาความสงบเรียบร้อย ให้การดำเนินการตามความจำนงเป็นไปอย่างราบรื่น 
ผลพวงจากกฎหมายปรองดองสะดุด เพราะเจอม็อบสกัด ของวิเศษที่หวังเปลี่ยนชะตานายใหญ่ ที่ล้มตั้งแต่ตอนตั้งไข่ สะพัดว่าคนไกลถึงกับออกอาการ "ควันออกหู" ส่งผลให้ "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องจรดปากกาลงนามคำสั่งเด้งฟ้าผ่า "เครือญาติ" ด้วยความจำใจ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 
ครั้งนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ สั่งย้ายด่วน พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น) ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานเขยพ้นตำแหน่ง "น.1" เป็นการชั่วคราว 30 วัน 
ต่อด้วยการเด้ง "เดอะแต้ม" พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบช.น. คนข้างกาย มาช่วยราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเวลา 30 วัน เช่นกัน 
พร้อมๆ กับตั้งให้ "เดอะแจ๊ส" พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รอง ผบช.ภ.1 คนสนิท "บ้านริมคลอง" มารักษาราชการแทน ผบช.น.

ซึ่งแวดวงสีกากีทราบดีว่า แม้ "คนริมคลอง" จะวงเดียวกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ แต่หลายเดือนที่ผ่านมาเล่นเพลงไม่เข้าขากันมาพักใหญ่แล้ว
และเมื่อคนสนิท "บ้านริมคลอง" เปลี่ยนเก้าอี้จาก รักษาราชการแทน ผบช.ภ.1 มานั่งรักษาราชการแทน ผบช.น. มากำกับทัพนครบาล 30 วัน แวดวงสีกากีจึงตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งเด้งรอบนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จำใจเซ็น เสมือนการหวดแส้เชือดไก่ให้ลิงดูที่สั่งตรงจากคนไกล

"ม็อบการเมือง" ที่กำลังก่อตัวแรงพร้อมๆ กับการขยับหมากการเมืองระลอกนี้ จึงเป็นภารกิจท้าทายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และเป็นงานหนักของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ในห้วง 4 เดือนสุดท้าย ก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 
แม้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาบนเก้าอี้เบอร์ 1 สีกากี "บิ๊กอ๊อบ" จะผ่านม็อบมาไม่น้อย แต่ล้วนเป็น "ม็อบคนกันเอง" อีกทั้งยังไม่มีปัจจัยแรงสุมไฟให้การชุมนุมครั้งใดส่อเค้ารุนแรง จึงผ่านมาได้แบบสบายๆ ต่างจากครั้งนี้ มวลชนที่กำลังก่อตัว ล้วนถูกปลุก ถูกเป่าด้วยแง่ปมการเมืองที่หวังผลรุกฆาต
ม็อบคราวนี้จึงทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ "งานเข้า"!

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ให้เหตุผลในการออกคำสั่งพักบทบาท ของ พล.ต.ท.วินัย เป็นเวลา 30 วัน ว่า เพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน เป็นดุลพินิจส่วนตัวที่หารือกับผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ว่าต้องวางคนให้ถูกกับงาน ไม่มีคำสั่งจากใครหรือแดนไกลทั้งนั้น 
และหลังจากนี้จะมีการปรับคนให้ตรงงานอีกหรือไม่ ยังบอกไม่ได้



จากคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ตร. เมื่อพิจารณากับคำสั่งย้าย 2 นายพลคนใกล้ตัว ชั่วคราวกำหนดห้วง 30 วัน ทำให้คิดไปได้ว่ามีการประเมินแล้วว่า 30 วันหลังจากนี้ อุณหภูมิและสถานการณ์การเมืองที่เริ่มระอุอาจขยับแตะจุดเดือด !!? 
การแอ๊กชั่นที่เห็นชัดในห้วงนี้ คือ การซักซ้อมทบทวนยุทธวิธีควบคุมฝูงชนทุกวัน แม้ว่าม็อบจะพักรบเพื่อรอดูท่าทีว่าจะมีการลักไก่บรรจุวาระร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... หรือไม่
และนอกจากการปรับในนครบาลแล้ว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน "บิ๊กอ๊อบ" ก็ตวัดปากกาลงนามคำสั่งอีกฉบับ ตั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ควบเก้าอี้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) อีกตำแหน่ง มาช่วยเรื่องการรับมือการชุมนุม ทำหน้าที่ รอง ผบ.ตร. หัวหน้างานด้านงานความมั่นคง แทน "บิ๊กย้อย" พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) ที่ร่นมาเป็นรองหัวหน้างาน

คำสั่งเพิ่มงานด้านความมั่นคงให้ พล.ต.อ.อดุลย์ ครั้งนี้ ผบ.ตร. ให้เหตุผลว่า ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ ด้วยประสบการณ์และกระดูกระดับ พล.ต.อ.อดุลย์ เป็นคนที่เหมาะสมที่สุดกับการวางระบบสีกากีรับมือม็อบ 
ซึ่งโปรไฟล์ พล.ต.อ.อดุลย์ จัดเป็นคนที่มีความสามารถด้านการบริหาร วางระบบ และเป็นนักประสาน ดังเห็นได้จากผลงานในการดูแลจังหวัดชายแดนใต้และการปราบปรามยาเสพติดของ ป.ป.ส. ที่สามารถดึงทุกภาคส่วนมาร่วมมือได้  
เท่ากับว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ให้ความสำคัญกับการควบคุมฝูงชนระลอกนี้เป็นพิเศษ ชนิดไม่อาจสะกดคำว่า "ผิดพลาด" ได้


ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ ยอมรับว่า ภารกิจล่าสุดที่ได้รับมอบหมาย ในการจัดทัพเตรียมกำลังสีกากีรับมือม็อบ ภายใต้ข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ยังไม่คุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เท่าที่ควร ภายใต้การชุมนุมของมวลชนที่มีระบบการจัดตั้งที่ค่อนข้างเข้มแข็ง เป็นงานยาก แต่ด้วยหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยก็ต้องทำให้เต็มที่  
งานคุมม็อบ จึงจัดเป็นงานหินบนเส้นด้ายของแม่ทัพนายกอง ยิ่งเมื่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ถูกคุมกำเนิด ทั้งๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามผลักดันมาตลอด ทำให้การใช้กระบองและแก๊สน้ำตาในมือ ต้องระมัดระวังและเป็นไปตามหลักสากล 
เหตุเพราะดาบนั้นอาจคืนสนองผู้สั่งการ ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ดังที่เคยมีบทเรียนกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เมื่อครั้งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร 7 ตุลาคม 2551 มาแล้ว

สำหรับเรื่องกฎหมายในการรับมือการชุมนุม พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ด้านกฎหมายและคดี บอกว่า น่าเสียดายที่พระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ... ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ผลักดันเข้าสภา มีอันต้องแท้งไป ด้วยการยุบสภาเสียก่อน ก่อนที่กฎหมายจะผ่านวุฒิสภา 
"ด้วยบริบทขณะนี้ ที่แนวโน้มการชุมนุมทางการเมืองอาจทวีความรุนแรงขึ้น การมีเพียงกฎหมายจราจร และแผนกรกฎ 52 จึงยังไม่เพียงพอที่จะประกันความมั่นใจในการทำงานของตำรวจได้" พล.ต.อ.เอก กล่าว 
จึงเป็นอีกห้วงสถานการณ์การเมือง ที่กระทบตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต่อตำแหน่งใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ!!



.