http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-23

รับน้องใหม่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
บทความครบรอบปี 2554 

รับน้องใหม่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 28 


ผมเป็นคนหนึ่งที่อธิบายความยืนยงของประเพณีรับน้องใหม่ (และความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่-น้อง) ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ นอกจาก "เชย" ซึ่งไม่ใช่คำอธิบาย แต่เป็นคำประณาม

เมื่อผมเรียนในมหาวิทยาลัย ก็มีประสบการณ์ถูก "รับ" น้องใหม่ และให้การรับน้องใหม่ เหมือนกับคนอื่น ในช่วงนั้น (ซึ่งก็นานหลายสิบปีมาแล้ว) ผมมีคำอธิบายความยืนยงของประเพณีรับน้องใหม่ ซึ่งได้จากความรู้สึกของตนเองดังนี้ 
ผมอยากแตกต่างจากคนทั่วไปครับ ไม่ใช่แตกต่างเฉยๆ นะครับ แต่เป็นความแตกต่างด้านอภิสิทธิ์ เพราะในช่วงนั้นคนที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยมีน้อย จนกระทั่งแค่เป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยก็โก้เต็มประดาแล้ว
แค่ไปโรงเรียนโดยถือสมุดไปเล่มเดียว ก็ต่างจากนักเรียนทั่วไปและดูเป็นอภิสิทธิ์ด้านการศึกษาอย่างชัดเจนแล้ว

ความเป็นอภิสิทธิ์ชนนั้น แสดงออกด้วยวิถีชีวิตที่ต่างจากคนอื่นครับ นอกจากถือสมุดแล้ว ยังมีประเพณีชีวิตที่แตกต่างอีกหลายอย่าง รับน้องใหม่ก็เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ทำให้เราต่างจากคนอื่น ซ้ำยังสามารถนำไปเล่าสู่กันเองและสู่คนอื่นที่ไม่มีอภิสิทธิ์อย่างนั้นได้ด้วย
อภิสิทธิ์ที่โจ๋งครึ่มที่สุดคือวันฟุตบอลประเพณี เพราะนักเรียนของทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างสวมเสื้อยืดสีประจำมหาวิทยาลัย แล้วขึ้นรถส่วนตัว (ซึ่งเพื่อนฝูงขอพ่อแม่มาใช้หนึ่งวัน) ขับตระเวนไปทั่วกรุงเทพฯ สวนกันก็ร้องทักทายกันลั่น ที่แสดงได้ชัดเจนที่สุดคือรถจี๊ป เพราะนั่งกันไปเป็นสิบคน แลเห็นได้ถนัดทั่วไปว่า อั๊วเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยนะเฟ้ย... ทั้งๆ ที่ผิดกฎจราจรอย่างชัดแจ้ง แต่ตำรวจก็ไม่เคยจับสักที


ในสมัยของผมนั้น ดูเหมือนพิธีรับน้องใหม่มีความศักดิ์สิทธิ์แฝงอยู่ด้วย เพราะน้องใหม่ทุกคนถูกสั่งห้ามขาดอย่างเด็ดขาด บางคณะน้องใหม่ที่เจ็บป่วยในวันนั้น จะถูกนำมาเข้าพิธีในวันหลังเมื่อหายป่วยแล้ว การลอดซุ้มจึงเป็นพิธีกรรมที่แสดง "เพศ" (คำโบราณหมายถึงสถานภาพ) นักเรียนมหาวิทยาลัยโดยแท้ ขาดพิธีกรรมนี้ก็ไม่ใช่เพศนี้ 
เหมือนการขอบวชในพระพุทธศาสนา ต้องผ่านพิธีกรรมที่แน่นอนหนึ่งก่อน จึงจะมีเพศเป็นภิกษุได้ การรับน้องใหม่กับความเป็นอภิสิทธิ์ชนจึงแยกไม่ออกจากกัน 
และทำให้น้องใหม่ส่วนใหญ่อยากผ่านพิธีกรรมนี้



แต่คำอธิบายนี้ก็ใช้ได้ไม่นานนัก เพราะดูเหมือนก่อนผมจะจบมหาวิทยาลัยเสียอีก ที่ปรากฏว่านักเรียนมัธยมหลายแห่งด้วยกัน ก็จัดให้มีพิธีรับน้องใหม่เหมือนกัน ประเพณีนี้ระบาดไปทั่ว จนกระทั่งการรับน้องใหม่ไม่แสดงอภิสิทธิ์อีกต่อไป 
แม้การเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่อภิสิทธิ์ แต่ก็เป็นการเลื่อนสถานภาพสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย จนทุกวันนี้ผมก็ยังได้ยินพ่อแม่พูดว่าภาคภูมิใจที่ลูกคนนี้ได้เรียนมหาวิทยาลัย พรรคการเมืองบางพรรคก็ยังโฆษณาว่าจะตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นทุกจังหวัด

จนเมื่อผมกลายเป็นครูมหาวิทยาลัย ก็เป็นช่วงที่มีการต่อต้านโซตัสเกิดขึ้นในหมู่นักศึกษา ประเพณีรับน้องใหม่ดูจะเป็นเป้าของการถูกโจมตีมากที่สุด แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ยังพอใจกับพิธีรับน้องใหม่เหมือนเดิม 
อย่างไรก็ตาม การต่อต้านทำให้มีการตอบโต้กัน ผมจึงได้ฟังเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนการต้อนรับน้องใหม่ รวมทั้งการปฏิบัติต่อน้องใหม่อย่างข่มเหงด้วย
เขาอธิบายว่า นักเรียนมาจากหลายปูมหลัง จะรวมกันเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ก็ต้องผ่านประสบการณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ของการถูกรังแก (จากรุ่นพี่) จึงจะเกิดความรักสมัครสมานเป็นเนื้อเดียวกันได้
แม้เป็นคำอธิบายที่เฉิ่มเสียจนไม่ต้องเปลืองเนื้อที่มาแก้ต่าง
แต่ทำให้ผมสร้างคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับความยืนยงของประเพณีรับน้องใหม่ (และการปฏิบัติต่อน้องใหม่อย่างข่มเหง) ได้

นั่นก็คือ ในการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำไทย "เส้นสาย" เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด ความสมัครสมานสามัคคีในกลุ่มจึงเป็นอำนาจต่อรองที่ขาดไม่ได้ การสร้างความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นนั้น ไม่ใช่ในรุ่นเดียวกันเท่านั้น แต่ใน "สถาบัน" เดียวกันทั้งหมด (ซึ่งมักหมายถึงภาควิชา, คณะ และมหาวิทยาลัย - ลดหลั่นความสำคัญลงตามลำดับ) เมื่อจบมหาวิทยาลัยไปทำงานแล้ว ก็มักจะเกาะกับ "ลูกพี่" ที่มาจากสถาบันเดียวกัน โหนกันขึ้นไปทั้งพวง

ในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงาน การรับน้องใหม่พัฒนาต่อไปถึงการประกอบพิธีสำหรับคณะ และภาควิชาแยกต่างหากออกไปจากของมหาวิทยาลัย
และเท่าที่ผมทราบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเคยเป็นตลาดวิชามาก่อน ไม่มีพิธีรับน้องใหม่ แม้เมื่อกลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดแล้ว ก็ยังมีแต่พิธีรับ "เพื่อน" ใหม่ คณะแรกที่มีการรับน้องใหม่และประเพณีข่มเหงน้องใหม่คือคณะรัฐศาสตร์ อันเป็นคณะที่ในสมัยแรกตั้ง มุ่งจะผลิตคนไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอำนาจรัฐโดยตรง และดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ราชการ โดยเฉพาะมหาดไทย เป็นที่ซึ่ง "เส้นสาย" และการ "โหนเป็นพวง" กำหนดเส้นทางรับราชการของบุคคลแค่ไหน

ผมควรกล่าวด้วยว่า ไม่เฉพาะแต่ราชการ แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่ตั้งมาเก่าแก่ และรัฐวิสาหกิจ ก็คงมีการบริหารด้วยระบบเส้นสายและการต่อรองในลักษณะที่ไม่ต่างจากราชการนัก เช่นมีคนบอกว่า ผู้ว่าการ กฟผ. คนปัจจุบัน เป็นคนแรกนับแต่ตั้ง กฟผ. มา ที่ไม่ใช่วิศวะจุฬาฯ
ผู้จ้างงานรายใหญ่ของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในตอนนั้นคือราชการ, รัฐวิสาหกิจ และบริษัทขนาดใหญ่ที่ตั้งมาเก่าแก่นี่แหละ ประเพณีรับน้องใหม่และการข่มเหงน้องใหม่จึงเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ชีวิตการงานของนักเรียนมหาวิทยาลัย 

และอาจเป็นการเตรียมตัวที่มีประโยชน์ต่อเขามากกว่าในห้องเรียนด้วยซ้ำ



ผมพอใจกับคำอธิบายของผมได้นานพอสมควร แต่สักประมาณกลางๆ ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ผู้จ้างงานรายใหญ่ของบัณฑิตมหาวิทยาลัย ก็เริ่มเป็นรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ราชการและรัฐวิสาหกิจเสียแล้ว แต่เป็นบริษัทญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลี ฯลฯ ซึ่งไม่สนใจการเกาะกลุ่มที่มีฐานอยู่กับความเป็นศิษย์เก่าสำนักเดียวกันอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น พอถึงช่วงทศวรรษ 2530 และ 2540 ความใฝ่ฝันของนักเรียนมหาวิทยาลัยคือไม่ต้องเป็นลูกจ้างใครเลย แต่ได้เป็นเจ้าของกิจการของตนเอง 
และการทำธุรกิจเองนั้น ต้องใช้เส้นสายและสร้างความสัมพันธ์บนฐานที่กว้างกว่าโรงเรียนเก่าแน่ ขืนเอาแต่พวกที่มาจากรุ่น, ภาควิชา, คณะ หรือมหาวิทยาลัยเดียวกันก็เจ๊งแน่

แต่แม้กระนั้น ประเพณีรับน้องใหม่และการข่มเหงน้องใหม่ก็ยังเจริญรุ่งเรืองในมหาวิทยาลัยต่อไป ยิ่งเปิดมหาวิทยาลัยมากขึ้น ประเพณีนี้ก็ยิ่งแพร่ขยายมากขึ้นตามไปด้วย 
มีเด็กบางคนเคยเล่าให้ฟังด้วยซ้ำว่า การที่ตนไม่ยอมอ่อนข้อให้รุ่นพี่เมื่อตอนอยู่ปีหนึ่ง ทำให้ถูกแซงก์ชั่นทั้งจากเพื่อนร่วมรุ่นและคณะ แม้แต่ครูก็ยังช่วยรุ่นพี่กระแหนะกระแหนในชั้นเรียนด้วย 
ผมฟังด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะดูจะเป็นแบบแผนความสัมพันธ์ที่มีอำนาจหนุนหลังมากกว่าสมัยที่ผมเป็นนักเรียนอย่างเทียบกันไม่ได้

เป็นอันว่าคำอธิบายของผมไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจนใช้ต่อไปไม่ได้


หลังจากกรณี ม.สารคามเมื่อเร็วๆ นี้ มีคนโพสต์ข้อความออนไลน์ในที่ต่างๆ เพื่ออธิบายประเพณีรับน้องใหม่ และระบบโซตัสกันไม่น้อย ผมตามไปอ่านดูแล้ว สรุปเอาใหม่จากหลายๆ ข้อความรวมกัน ได้คำอธิบายใหม่ดังนี้

เริ่มจากข้อสังเกตว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองสนับสนุนให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าผู้บริหารมักจะทำหน้าเหนื่อยอ่อนกับการรับน้องใหม่ที่รุนแรงและการข่มเหงน้องใหม่ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเหนื่อยอ่อนทำไม เพราะไม่เคยเห็นใครพยายามจะทำอะไร เพื่อเลิกหรือบรรเทาการกระทำของนักเรียนสักที นอกจากออกคำสั่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยไม่ต้องรับผิดชอบ หากเกิดความเสียหายร้ายแรง
เช่น ห้ามนำน้องใหม่ไปรับน้องนอกมหาวิทยาลัย แต่นักเรียนก็ยังทำต่อไปในนามของทัศนศึกษา ผู้บริหารก็รู้ว่านักเรียนทำ เพียงแต่ว่าหากเกิดกรณีที่น้องใหม่ถึงกับพิการขึ้นมา มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะได้ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

ทำไมผู้บริหารจึงสนับสนุน คำอธิบายที่ผมช่วยคิดปะติดปะต่อให้ด้วยก็คือ การบริหารกิจการสาธารณะในวัฒนธรรมไทยนั้น ตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นหรือระบบโซตัส มีผู้ใหญ่ มีผู้น้อย และมีกฎเกณฑ์บังคับว่าผู้น้อยต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างราบคาบ ประเพณีรับน้องใหม่คือการปลูกฝังระบบโซตัส และระบบโซตัสคือหัวใจของการบริหารกิจการสาธารณะ หรือจะว่าไปคือหัวใจของความสัมพันธ์ทางสังคมตามประเพณีของไทย 
ฉะนั้น ที่ไปต่อต้านระบบนี้ว่า ไม่เคารพความเสมอภาคก็ตาม ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม จึงเท่ากับยั่วยุให้ผู้บริหารต้องเพิ่มความสนับสนุนอย่างลับๆ ให้เข้มข้นขึ้น ก็นั่นแหละที่เขากลัว ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาคหรือประชาธิปไตย

ผมก็ไม่แน่ใจว่า คำอธิบายนี้ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ได้แต่นึกสงสัยว่า ประเพณีการรับน้องและระบบโซตัสกำลังเกิดขึ้นท่ามกลางสำนึกไพร่-อำมาตย์ ที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้คนได้อย่างไร ผมก็จากมหาวิทยาลัยไปนานเสียจนไม่รู้ว่าประเพณีและระบบโซตัสได้ถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน กรณี ม.สารคาม ก็เพิ่งเกิดเร็วๆ นี้เอง 



.