http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-23

2475 รำลึก: พลเรือน ทหาร และรัฐธรรมนูญ

.

2475 รำลึก : พลเรือน ทหาร และรัฐธรรมนูญ
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 36


การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นการชอบแล้วด้วยประการทั้งปวง เพราะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวในระหว่างรัฐบาลกับประชาชนพลเมืองในระบอบใหม่นับแต่ต้นมาเป็นอย่างดี ซึ่งยากที่จะหาตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศใดอื่นเทียบได้ ทั้งนี้ ย่อมเป็นนิมิตอันดีงามสำหรับอนาคตของชาติไทย
ไทยในสมัยสร้างชาติ
ที่ระลึกงานฉลองวันชาติ 2484



สังคมไทยดูจะมีความทรงจำที่รางเลือนเต็มที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจางหายไปกับกาลเวลาที่เนิ่นนานมาถึง 80 ปี 
อย่างน้อยคนรุ่นหลังดูจะลืมไปแล้วว่าประเทศไทยก็มี "วันชาติ" เหมือนกับหลายๆ ประเทศ และวันชาติของไทยในอดีตตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี 
สังคมยุคหลัง 2475 ของการเมืองไทยนำมาซึ่งรูปแบบการปกครองที่แตกต่างออกไปจากเดิม ดังคำบรรยายที่ว่า "ประเทศชาติไทยตกอยู่ในสภาพอันแปลกใหม่โดยทุกอย่าง กล่าวคือ ระบอบการปกครองผิดแปลกกว่าระบอบเก่า และกิจการงานทุกสิ่งอย่างก็จำต้องปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ" (ไทยในสมัยสร้างชาติ, 2484)...

แน่นอนว่าในการจัดตั้งการปกครองใหม่อันเป็นผลของ "ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม" ที่เกิดขึ้นหลัง 2475 จึงย่อมจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน 
ว่าที่จริงความพยายามในการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ในสยามนั้น ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 คณะทหารชุดหนึ่งซึ่งนำโดยร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ในช่วง ร.ศ.130 ก็ได้พยายามกระทำการเช่นนี้มาแล้ว หากแต่พวกเขาล้มเหลวและนำไปสู่การถูกจับกุมแบบ "ยกคณะ" ในเดือนกุมภาพันธ์ 2454 
ซึ่งก็ถือได้ว่าในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 101 ปี ของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรกของสยาม

แม้ความพยายามเช่นนี้จะล้มเหลว แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ทิ้งร่องรอยของความคิดใหม่ที่เชื่อว่า ระบอบการปกครองของสยามแบบเดิมนั้นไม่เอื้ออำนวยให้สยามเดินไปสู่อนาคตได้อย่างเข้มแข็ง 
ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งที่ 2 ของสยามที่นำโดยคณะราษฎรนั้น ไม่ได้มีความผูกโยงกับกรณี ร.ศ.130 แต่ประการใด เพราะระยะเวลาหลังจากการถูกกวาดล้างในปี 2454 แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ประสบผลสำเร็จนั้นเกิดขึ้นในปี 2475 ก็คือมีระยะเวลาห่างกันถึง 21 ปี



การประชุมครั้งแรกของคณะผู้ก่อการในชุดของคณะราษฎรนั้นเกิดขึ้นเป็นทางการในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467 ที่บ้านพักของร้อยโทประยูร ภมรมนตรี (ยศในขณะนั้น) ในกรุงปารีส 
การประชุมดำเนินต่อเนื่องกันเป็นเวลาถึง 5 วัน และมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 7 นาย ได้แก่

1. นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจากกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส 
2. ร้อยโทแปลก จิตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารบกไทยและศึกษาต่อวิชาทหารปืนใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศส
3. ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน ผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 6 และลาออกจากราชการเพื่อศึกษาต่อวิชารัฐศาสตร์ที่กรุงปารีส 
4. ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี (หลวงทัศนัยนิยมศึก) นายทหารกองหนุน ผู้บังคับหมวดกรมทหารม้าที่ 5 ศึกษาต่อโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส
5. นายตั้ว ลพานุกรม จ่านายสิบกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ 
6. นายจรูญ สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) สิบตรีกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผู้ช่วยงานในสถานทูตสยามในกรุงปารีส 
และ 7. นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ


ผลจากการประชุมได้แต่งตั้งให้นายปรีดีเป็นประธานกลุ่มและเป็น "หัวหน้าคณะราษฎร" ไปจนกว่าจะมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมกว่าเข้ามารับตำแหน่ง 
และมีความเห็นร่วมกันว่าระบอบการปกครองใหม่นั้น พระมหากษัตริย์จะอยู่ภายใต้กฎหมายของกรอบการเมือง 3 ประการ คือ

1. พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามตัวแบบของประชาธิปไตยอังกฤษ 
2. กำหนดให้มีการยึดอำนาจแบบฉับพลันเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด 
3. ให้ผู้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องเตรียมสละเพื่อชาติ และไม่หวังผลประโยชน์เพื่อสร้างตนเองเด็ดขาด


หลังจากนั้นคณะผู้ก่อการเริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าสู่สยาม และเริ่มแสวงหาสมาชิกเพิ่มเติมทั้งพลเรือนและทหาร โดยเฉพาะสมาชิกจากสายกองทัพบก ได้แก่ พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ์ 
และในที่สุดสมาชิกได้ขอให้พระยาพหลฯ ดำรงตำแหน่งเป็น "หัวหน้าคณะราษฎร"


การขยายตัวของสมาชิกของคณะราษฎรภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น พวกเขาอาศัยทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัวในรูปแบบเครือญาติ ตลอดรวมถึงความเป็นเพื่อนนักเรียนเก่าร่วมสถาบัน หลายคนเป็นข้าราชการ หลายคนเป็นเชื้อสายขุนนางเก่า แต่ก็มีจิตใจรักประชาธิปไตย และหลายคนเป็นสามัญชน 
พวกเขาเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันประการสำคัญก็คือ เป็นผู้ได้รับการศึกษาระดับสูงทั้งภายในและภายนอกประเทศ และมีทัศนะทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยตะวันตก อันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้พวกเขาเชื่อว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามต้องเปลี่ยนเป็น "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ที่สถาบันกษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว

แล้วในที่สุดสถานการณ์การเมืองก็เปิดช่องให้กลุ่มคณะผู้ก่อการเคลื่อนไหวทางทหารได้เป็นผลสำเร็จ กล่าวคือ ในการเสด็จประพาสหัวหินเพื่อแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2475 นั้น ได้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนตามเสด็จเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นเหลือข้าราชการระดับสูงเพื่อรักษาพระนครไม่กี่นาย 

ดังนั้น ในรุ่งสางของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะผู้ก่อการจึงเคลื่อนกำลังของหน่วยทหารเข้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 
และตอนบ่ายในวันเดียวกันนี้เอง คณะผู้ก่อการก็สามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ไว้ได้ทั้งหมด พร้อมกับมีการประกาศแต่งตั้ง "คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร" ขึ้นเพื่อใช้อำนาจในการปกครองประเทศแทนรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 

หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลทหารของคณะราษฎร อันอาจเรียกได้ว่าเป็น "รัฐบาลทหารชุดแรก" ของการเมืองไทย



ความสำเร็จของคณะราษฎรนำมาสู่การกำเนิดของ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ขึ้นในการเมืองไทย แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของสยาม แต่พวกเขาอาจจะไม่ตระหนักว่า ยังมีอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงรอคอยอยู่ข้างหน้า 
และอุปสรรคเหล่านี้จะเป็นขวากหนามอย่างสำคัญที่ทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญกลายเป็นการล้มลุกคลุกคลานทางการเมือง จนต้องร่างรัฐธรรมนูญกันครั้งแล้วครั้งเล่า

สิ่งที่บรรดาคณะผู้ก่อการอาจจะไม่ตระหนักอย่างมีนัยสำคัญก็คือ กลุ่มการเมืองสายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่ทรงพลังก่อนยุค 2475 นั้น แม้จะถูกลิดรอนอำนาจลง แต่กลุ่มการเมืองนี้ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว 
บททดสอบแรกของระบอบรัฐธรรมนูญสยามก็คือ การรัฐประหารเงียบในสภาในวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่มาจากกลุ่มอนุรักษนิยม ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

ซึ่งอำนาจในส่วนแรกนั้นเป็นของนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจในส่วนหลังเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร อันทำให้การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนกับ "การยึดอำนาจฝ่ายบริหาร" เพราะเป็นการใช้อำนาจก้าวล่วงของฝ่ายบริหารต่อฝ่ายนิติบัญญัติ 
ความขัดแย้งชุดนี้จบลงด้วย "รัฐประหารครั้งแรก" ของการเมืองไทยในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ผู้นำคณะราษฎรตัดสินใจใช้กำลังทหารล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมและประกาศเปิดสภา 

กลุ่มอนุรักษนิยมตัดสินใจเปิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ด้วยการใช้กำลังทหารเพื่อโค่นล้มคณะราษฎรในวันที่ 10-15 ตุลาคม 2476 แต่ก็ประสบความล้มเหลวกลายเป็น "การกบฏ" ครั้งแรกในการเมืองไทย  
ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้ระบอบราชาธิปไตยจะสิ้นสุดลงในปี 2475 แต่ก็ยังมีผู้สนับสนุนตกค้างอยู่ในการเมืองไทยเป็นจำนวนมาก  
และพร้อมที่จะก่อการต่อต้านระบอบรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ



ในด้านหนึ่งคณะราษฎรต้องเผชิญกับการคุกคามของกลุ่มการเมืองเก่า แต่อีกด้านหนึ่งก็เผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มเอง

ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดเจนถึงการแยกตัวออกจากคณะราษฎรของสายอนุรักษนิยมจากกรณีปัญหาข้อถกเถียงเรื่อง "ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ" ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม 
และปรากฏชัดในกรณีกบฏบวรเดช นอกจากนี้ ปัญหาต่างๆ ยังถาโถมเข้าสู่การเมืองในระบอบใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดกลุ่ม 2475 จึงได้จัดตั้งรัฐบาลที่เป็นเสมือน "เนื้อแท้" ของคณะราษฎรขึ้น โดยมี พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 16 ธันวาคม 2481

ความท้าทายประการสำคัญกลายเป็นสถานการณ์สงคราม ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ตัดสินใจยืนอยู่กับฝ่ายอักษะ และกลายเป็นอีกจุดหนึ่งของความแตกแยกของผู้นำคณะราษฎร เพราะกลุ่มของอาจารย์ปรีดีมีทัศนะที่คล้อยไปทางฝ่ายสัมพันธมิตร 
จนมีการก่อตั้ง "กลุ่มเสรีไทย" ขึ้นเพื่อปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่น แต่ในที่สุดฝ่ายอักษะเป็นผู้แพ้สงคราม และรัฐบาลพิบูลสงครามก็สิ้นสุดไปด้วยกระบวนการรัฐธรรมนูญ เพราะการพ่ายแพ้ญัตติสำคัญในรัฐสภา

สถานการณ์ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความพลิกผันเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มราชานิยมสามารถประสานประโยชน์กับกลุ่มทหารนิยมและนักการเมืองสายอนุรักษนิยมได้ จนนำไปสู่รัฐประหารครั้งแรกในยุคหลังสงครามได้สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 
รัฐประหารครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างมากกับการเมืองไทย เพราะระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งก่อกำเนิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้น กำลังถูกปิดฉากลง เท่าๆ กับการสิ้นสุดยุคของคณะราษฎร 
เพราะหลังจากรัฐประหาร 2490 แล้ว แม้จะมีบุคคลของคณะราษฎรดำรงอยู่ในการเมือง เช่น หลวงพิบูลสงคราม เป็นต้น แต่พวกเขาก็ไม่เคยกล่าวถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรแต่อย่างใด

คำว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นภาษาหลักของกลุ่ม 2475 ก็ถูกแทนที่ด้วยวาทกรรมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และการเทิดทูนสถาบัน เป็นต้น 

ยิ่งวันเวลาผ่านเลย ความทรงจำก็ยิ่งรางเลือน เราแทบจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับ 2475 หลงเหลืออยู่  
วันชาติก็เปลี่ยนแปลงไป 
ระบอบรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรนำเสนอไว้ จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 80 ปีแล้ว ก็ยังคงเป็นปัญหาของการถกเถียงในสังคมการเมืองไทย

แม้ยุคของคณะราษฎรจะสิ้นสุดไปแล้วในปี 2490 แต่ผลพวงจากการต่อสู้จากยุค 2475 ยังตกทอดยาวจนถึงปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง!



.