.
สุรพศ ทวีศักดิ์: สถาบันสงฆ์อยู่ส่วนไหนของ 'Monarchy Power Bloc'
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/40999 . . Tue, 2012-06-12 04:40
ตอนท้ายของการเสวนาปฏิญญาหน้าศาลเรื่อง "นักโทษการเมือง ศาล และทุกเรื่องที่กล้าถาม กับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" เมื่อ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ถามว่า สถาบันสงฆ์หรือระบบพระราชาคณะอยู่ส่วนไหนของ “กลุ่มอำนาจสถาบันกษัตริย์” หรือ Monarchy Power Bloc ดูเหมือนอาจารย์สมศักดิ์จะตอบว่า ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา แล้วก็เอ่ยชื่อผม ฉะนั้น ผมจึงขอใช้ “สิทธิพาดพิง” ช่วยอาจารย์สมศักดิ์ตอบคำถามต่อไปนี้
อยากให้ท่านผู้อ่านดู แผนภูมิประกอบการอธิบายที่เผยแพร่ใน facebook สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ข้างล่างนี้ก่อนครับ
จากแผนภูมินี้ เราตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยว่า สถาบันสงฆ์อยู่ในส่วนของ “การเมืองระดับชนชั้นสูง” เพราะสถาบันสงฆ์มีบทบาทอย่างสำคัญในการปลูกฝังบ่มเพาะอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” บทบาทที่ว่านี้เป็นไปตามโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายคณะสงฆ์ เช่น
รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 5 ตรี (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ [ฉบับที่ 2] พ.ศ.2535) ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์” และมาตรา 7 “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง”
สมณศักดิ์มีความสำคัญ เพราะองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” นั้น (ไม่ได้มีความหมายแบบสมาคมต่างๆ เช่นสมาคมศิษย์เก่า เป็นต้น แต่หมายถึง “รัฐบาลของคณะสงฆ์”) ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน และสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งกับที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งรวมแล้วไม่เกิน 12 รูป ซึ่งหมายความว่า พระภิกษุที่จะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งในองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ต้องขึ้นอยู่กับอาวุโสทางสมณศักดิ์ เช่น สมเด็จพระสังฆราชมีอาวุโสสูงสุดทางสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะอื่นๆ มีอาวุโสลดหลั่นลงไป
ฉะนั้น โครงสร้างการปกครองสงฆ์จึงขึ้นต่อระบบสมณศักดิ์ และระบบสมณศักดิ์ก็ขึ้นต่อพระราชอำนาจ ซึ่งพระราชอำนาจนี้ก็มี “สิทธิธรรม” มาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และมาตรานี้ก็บัญญัติขึ้นตามจารีตทางประวัติศาสตร์สืบมาที่กษัตริย์ไทยทุกพระองค์ล้วนแต่นับถือพุทธศาสนา
จารีตความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพุทธศาสนา หรือสถาบันสงฆ์นั้นเป็นอย่างไร ผมเคยเขียนวิจารณ์ไว้ในบทความชื่อ “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาท” ว่า พระพรหมคุณาภรณ์ มองแบบ romantic ว่า “สถาบันกษัตริย์กับสถาบันสงฆ์รักษาระยะห่างระหว่างกันได้อย่างพอเหมาะพอดี” แต่จิตร ภูมิศักดิ์ มองอย่าง realistic ว่า “สถาบันกษัตริย์กับสถาบันสงฆ์สมประโยชน์กัน” ต่อมาพระพรหมคุณาภรณ์เขียนหนังสือตอบโต้บทความผมชื่อ “ขว้างก้อนอิฐมาพัฒนาเป็นแก้วมณี” และใช้เนื้อที่เกือบ 10 หน้า ในการอธิบายประเด็นดังกล่าว
กระนั้นก็ตาม ผมยังยืนยันว่า จิตรมองตรงตามความเป็นจริงมากกว่า ดังที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย” หน้า 66 ว่า
ความพ่ายแพ้ของศาสนาทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องมือเสริมสร้างบารมีของกษัตริย์ ในที่สุดทางศาสนาต้องยอมรับว่ากษัตริย์คือ “สมมติเทพ” คือ “เทวดาบนพื้นดิน” คือ “พระผู้เป็นเจ้าที่อวตารลงมา” คือ “พระพุทธเจ้ากลับชาติ” และท้ายที่สุดก็คือ “ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา” โดยทางกลับกันศักดินาก็แบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชขึ้นเป็นขุนนางมีลำดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปี และแม้เงินเดือน ปรากฏการณ์อันนี้เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย”
จริงอยู่ ในไทยพระอาจไม่ใช่ “ขุนนาง” เหมือนนักบวชคริสต์ศาสนายุคกลาง แต่การการที่พระยอมให้กษัตริย์แต่งตั้งเป็น “พระราชาคณะ” (บริวารของพระราชา) และรับการแบ่งปันที่ดิน ข้าทาสจากวัง และพระเองยอมมีบทบาทสถาปนาหรือ “อวย” สถานะของกษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า ธรรมราชา สมมติเทพ ก็ย่อมเท่ากับว่าสถาบันสงฆ์ “ยอมเสียหลักการ” ของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมใน “ระดับรากฐาน” (radical) ไป คือหลักการที่ว่า “สังฆะหรือสังคมสงฆ์เป็นสังคมที่สลายระบบชนชั้น หรือไม่มีวรรณะ”
เมื่อเป็นเช่นนี้ พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์จึงเป็นเครื่องมือค้ำจุนสถานะศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ทศพิธราชธรรมที่พุทธะแสดงไว้เพื่อเป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำหน้าที่ของกษัตริย์ ถูกแปรเป็น “ธรรมศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้โปรสถานะกษัตริย์ให้สูงส่งเหนือการตั้งข้อสงสัย และการวิจารณ์ตรวจสอบ
แม้สมเด็จพระสังฆราชบางองค์ก็เคยเทศนาสนับสนุนการที่ ร.6 ส่งกองทัพเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์อ้างหลักการพุทธคัดค้านการกระทำดังกล่าวก็ถูก ร.6 ลงโทษถอดสมณศักดิ์และกักบริเวณ อุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่สถาปนาขึ้นตั้งแต่สมัย ร.6 ก็ยังถือเป็นอุดมการณ์หลักของชาติสืบมาจวบปัจจุบัน แม้ว่าจะเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาร่วม 80 ปีแล้วก็ตาม
แน่นอนว่า สถาบันสงฆ์ย่อมมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังอุดมการณ์ดังกล่าว การแตะมาตรา 112 และ/หรือแตะเรื่องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องยากมาก ไม่ใช่ยากใน “ทางการเมือง” เท่านั้น แต่ยากอย่างยิ่งที่จะอธิบายเหตุผลให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจ เพราะอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ถือว่ากษัตริย์เป็น “บุคคลทางศีลธรรม” (สูงส่งดีงามสมบูรณ์พร้อม) ที่เป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ซึ่งถูกปลูกฝังผ่านคำสอนของพุทธศาสนาโดยสถาบันสงฆ์นั้น ฝังลึกอยู่ภายใต้จิตสำนึกของคนไทยมานานแสนนาน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในเชิงสถาบัน บทบาทของสงฆ์จะต้องสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ หรืออยู่ในกลุ่มการเมืองระดับชนชั้นสูง แต่สังคมสงฆ์โดยรวมก็ขาดเอกภาพ องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ก็ขาดประสิทธิภาพในการควบคุมพระสงฆ์โดยรวม เห็นได้จากระยะกว่า 5 ปีมานี้เกิดปรากฏการณ์ “พระเสื้อแดง” ที่พระสงฆ์มหานิกายในภาคเหนือ อีสานแทบทั้งหมด ในภาคกลางบางส่วนแสดงความเห็นใจ และออกมาสนับสนุนคนเสื้อแดงอย่างออกหน้าออกตา
ยิ่งกว่านั้น พระสงฆ์ระดับบนก็ “เหยียบเรือสองแคม” คือ ด้านหนึ่งต้องแสดงความจงรักภักดีตามประเพณี อีกด้านหนึ่งก็มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับคุณทักษิณ และแกนนำเสื้อแดง
ส่วนพระสงฆ์ที่เป็นปัจเจกก็ยากจะควบคุม ดังที่มีพระจำนวนมากออกมาชุมนุมทางการเมือง มีพระ (ระดับพระราชาคณะ/ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์) ไปสวดชะยันโตอวยชัยให้คุณทักษิณที่ลาว สนทนาธรรมกับคุณทักษิณที่เขมร (แน่นอนว่า ย่อมมีสัญญาณ “ไฟเขียว” จากพระผู้ใหญ่ในองค์กรปกครองสงฆ์) พระออกมาอดอาหารประท้วงให้ปล่อย “อากง” เป็นต้น
หรือเราย่อมสังเกตเห็นว่า พระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดงาน “ฉลองพุทธชยันตี” ที่เพิ่งผ่านมา คือพระสงฆ์สายมหานิกาย ซึ่งในพระสายนี้มีการพูดถึงตัวเองว่าเป็น “พระของไพร่” มาตั้งแต่ยุคยุวสงฆ์กลุ่มปฏิสังขรณ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
แน่นอนว่า เครือข่ายอำมาตย์ย่อมมองปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไม่ค่อยสบายใจนัก ดังสะท้อนออกมาจากการให้ “ตรวจสอบรายชื่อ” ของพระสงฆ์ที่ออกมาเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรในคราวเสด็จทุ่งมะขามหย่องที่เพิ่งผ่านมา
นอกจากนี้ฝ่ายโปรเจ้ายังต้องอาศัยบริการจาก “พระเซเลบ” ไม่ต่างอะไรกับที่ต้องอาศัยบริการจากศิลปินลูกทุ่ง สตริง หรือศิลปินเพลงเพื่อชีวิตในการอวยเจ้า
บทบาทของพระเซเลบอย่าง ว.วชิเมธี ใน พ.ศ.นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับบทบาทของกิติวุฑโฒภิกขุ เมื่อ 6 ตุลา 19 เพียงแต่ว่า ว.วชิรเมธี อาจ “เนียน” กว่า หรือ “เจ้าเล่ห์” กว่า ไม่โผงผางโฉ่งฉ่างเท่ารูปหลัง แต่โดยสาระแล้วบทบาทของพระสองรูปนี้ต่างก็อ้างอิงอุดมการณ์กษัตริย์นิยมข่ม หรือดิสเครดิตฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตยเช่นกัน
สรุปคือ โดยโครงสร้างองค์กรสงฆ์ และจารีตความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับพุทธศาสนา ทำให้สถาบันสงฆ์จัดอยู่ในการเมืองระบบชนชั้นสูง แต่ก็ปรากฏ “ความเป็นอนิจจัง” ให้เห็นอยู่ดังที่ว่ามา (เท่าที่พอจะพูดได้)
และผมขอเดาว่า หากเกิด “รัฐประหาร” ขึ้นอีก จะมีพระสงฆ์จำนวนมากจากหลายจังหวัดในภาคเหนือ อีสาน กลาง ออกมาต่อต้านร่วมกับมวลชนเสื้อแดงอย่างแน่นอน!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย