http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-22

24 มิถุนายน, ลึกแต่ไม่ลับ22 มิ.ย.55

.
คอลัมน์ในประเทศ - คิวงาน “80 ปี 2475” คึกคัก เพื่อทบทวน “อดีต” ครุ่นคิดถึง “ปัจจุบัน” หรือพยากรณ์ “อนาคต”?
รายงานพิเศษ - จับปฏิกิริยากองทัพ กับ “ปู” ควบกลาโหม ใครกด Like?? กับความ “หวั่นไหว” และ “ท้าทาย” ที่ “ทักษิณ” มองข้าม
คอลัมน์ โล่เงิน - ดัน“คำรณวิทย์” ขึ้นแท่น “น.1” วางตัวรับ “ศึกหนัก-งานหิน” “ปราบม็อบ-เลือกตั้งซ่อม”


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

24 มิถุนายน มหาศรีสวัสดิ์ รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 
คอลัมน์ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 9


80 ปี ที่ คณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 
ยาวนานอย่างยิ่ง 
แต่เมื่อเทียบความยาวนาน กับ ความก้าวหน้าของ "ประชาธิปไตย" ไทยแล้ว
กลับไม่ไปไหน 
ยังคงวนเวียน เป็น "หนังม้วนเก่า" ที่กลับมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
อย่างน่าประหลาดใจ

หัวใจ แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ คณะราษฎร ประสงค์ ก็คือ ให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ
1. เอกราช - จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. ปลอดภัย - จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. เศรษฐกิจ - จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 
4. เสมอภาค - จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 
5. เสรีภาพ - จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น 
6. การศึกษา - จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

น่าตกใจ ที่นอกจาก เสาหลัก 6 ประการ ยังไม่อาจตอกลงอย่างมั่นคงในสังคมไทยแล้ว 
คำถามเรื่อง การมีเอกราชของบ้านเมืองและของศาล, การมีสองมาตรฐาน, ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน, ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ความไม่เท่าเทียมทางด้านการศึกษา, ความไม่เสมอภาค และถูกลิดรอนเสรีภาพ ยังอื้ออึง  
แถมหลายองค์กรที่จะอำนวยต่อหลัก 6 ประการข้างต้น กำลังประสบกับวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก ใน พ.ศ.2555 นี้!



ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้น "วิกฤต" ทางการเมือง หลัง พ.ศ.2475 กับ พ.ศ.2555 กลับดำเนินไปแบบ "ซ้ำรอย" อย่างน่าพิจารณา 
โดยเฉพาะ "วิกฤตรัฐธรรมนูญ" 
ประมาณ 1 ปีเศษๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 
เกิดความตึงเครียด ระหว่างรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา กับคณะราษฎร

เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันสืบเนื่องจากมีความขัดแย้งกับคณะราษฎร กรณี "สมุดปกเหลือง" ที่เป็นการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของ นายปรีดี พนมยงค์ โดยมีการกล่าวหาว่าเป็นคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของ "คอมมิวนิสต์" 
แต่นั่นเป็นเพียงหน้าฉากเท่านั้น 
หลังฉาก น่าสนใจกว่า เพราะมันคือการเริ่มต้น ที่ "กลุ่มอำนาจเก่า" กำลังรุกขึ้นมาเพื่อที่จะทวงอำนาจคืนจากคณะราษฎรที่ถือเป็น "กลุ่มอำนาจใหม่" 
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของอำนาจเก่า และใช้ "รัฐธรรมนูญ" และ ข้อกล่าวหา "คอมมิวนิสต์" เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการต่อสู้ เพื่อรุกกลับกลุ่มอำนาจใหม่  
เป็นการรุก โดยการใช้กระบวนการรัฐธรรมนูญ รัฐประหาร "เงียบ"


เมื่อย้อนกลับมามองที่ปัจจุบัน พ.ศ.2555 
การต่อสู้ ก็ยังเป็นต่อสู้ของกลุ่มอำนาจเก่า ที่ปัจจุบันเรียกรวมๆ ว่า ฝ่ายอำมาตย์ ซึ่งมีกลุ่มที่สืบเนื่องอำนาจมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว คือประชาธิปัตย์ เป็นแนวร่วมสำคัญ 
ขับเคี่ยวกับ กลุ่มอำนาจใหม่ ภายใต้การนำของ พรรคเพื่อไทย, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีฝ่ายไพร่ คือกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นแนวร่วม

มีการใช้ "รัฐธรรมนูญ" เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เช่นเดียวกัน 
โดยฝ่ายอำนาจใหม่ อ้างถึงความต้องการที่จะได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน จึงเคลื่อนไหวขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ใหม่เกือบทั้งฉบับ
ขณะที่ฝ่ายอำนาจเดิม คัดค้าน โดยชูประเด็นขึ้นมาหักล้างว่า เป็นการแก้ไขเพื่อช่วยคนคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
และที่สำคัญ มีเป้าหมาย คือ เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ "รัฐไทยใหม่" 
นี่ย่อมเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงไม่ต่างไปจากเรื่อง คอมมิวนิสต์ เมื่อ พ.ศ.2475 ต่อเนื่องถึงปี 2476 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาตลอดกาลต่อ นายปรีดี พนมยงค์ 
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถูกกล่าวหามาอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหารว่าต้องการนำประเทศไปสู่รัฐไทยใหม่ ที่ปฏิเสธสถาบันพระมหากษัตริย์


รัฐธรรมนูญ และการช่วงชิง การ "เปิด-ปิด" สภา เป็นเครื่องมือสำคัญของทั้งสองฝ่าย ในการหักโค่นกัน ทั้งในปี พ.ศ.2476 และในปี 2555
อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดการต่อสู้ 
โดยปี 2476 คณะราษฎร ที่มี พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ตัดสินใจ "หักดิบ" นำคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ให้เหตุผลว่า
"ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ"

แม้ในเบื้องต้น ดูเหมือนชัยชนะจะเป็นของคณะราษฎร 
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ต้องลี้ภัยไปปีนัง 
แต่หลังจากนั้น การต่อสู้ขับเคี่ยวกัน ระหว่าง อำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ก็เป็นไปอย่างเข้มข้น และยืดเยื้อ เกิดรัฐประหารขึ้นอีกหลายครั้ง 
ที่แม้แรกๆ กลุ่มคณะราษฎรจะปราบปราม สำเร็จ อย่างกบฏบวรเดช แต่ทั้งความแตกแยกภายใน การแก่งแย่งอำนาจกันเอง ทำให้ที่สุดยุคของคณะราษฎร ก็จบสิ้นลง

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ศัตรูทางการเมืองของ นายปรีดี พนมยงค์ ประสานกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มอำนาจเก่า ฉวยโอกาสทำลายนายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่างๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในโรงละครศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" อันสืบเนื่องจากการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 
นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายปรีดีในเดือนสิงหาคม 2489 และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายปรีดี ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  
แต่หลังจากนั้นอีกเพียงปีเศษ คือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็เกิดการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง 
นายปรีดีต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ และไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลยกระทั่งเสียชีวิต 
"กลุ่มอำนาจเก่า" ได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จหลังจากต่อสู้ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน 15 ปี




ในปี 2555 วิกฤตรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ได้นำไปสู่การรัฐประหาร อย่างปี 2476
แต่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ประกาศ ว่า "เกิดรัฐประหารโดยกระบวนการตุลาการภิวัฒน์" ขึ้นแล้ว 
เกิดขึ้นหลังจากที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ รัฐสภา เลื่อนการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ออกไป ระหว่างรอคำวินิจฉัยกรณีที่มีผู้ร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีเป้าหมายล้มล้างการปกครอง 
โดย "ผู้ที่ร้อง" ก็คือกลุ่มอำนาจเก่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกับกลุ่มอำนาจใหม่มาตลอดนั่นเอง
และ กระแสต่อต้านคัดค้านนี้ รุนแรง และขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีเรื่อง กฎหมายปรองดอง ที่เสนอโดยกลุ่มอำนาจใหม่ เข้ามาเป็นเงื่อนไขเร่งเร้า 
ด้วยเหตุนี้เอง ฝ่ายอำนาจใหม่จึงต้องลดแรงปะทะลง โดยยอมปิดสภา และชะลอการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ออกไป
ตอนนี้ การต่อสู้จึงอยู่ในภาวะ "ยัน" กันไปมา 
ยังไม่อาจชี้ขาดลงไปได้ว่า ใครจะแพ้ ใครจะชนะ

แต่เชื่อว่า การต่อสู้ จะต้องยืดเยื้อ รุนแรง ไม่ต่างจากช่วงปี พ.ศ.2476-2490 แน่นอน 
แถมจะซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยิ่งกว่า เพราะต่างฝ่ายต่างมีมวลชนหนุนหลัง มีสื่อของตัวเองเป็นกระบอกเสียง ขณะเดียวกันก็มีการคัดง้าง-ต่อสู้กันด้วยแง่มุมกฎหมาย และกลไก ที่ถูกวางเอาไว้หลังการยึดอำนาจอย่างแยบยล 
จนไม่อาจจะคาดการณ์ได้ว่า ผลแห่งการต่อสู้จะออกมาอย่างไร 

แต่หลายคนเชื่อว่าจะหนักหน่วง โหดเหี้ยม รุนแรง กว่าอดีต 
ซึ่งชวนสยดสยองต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไทยยิ่ง 
เพราะ 80 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะไม่เดินหน้าแล้ว 
ยังมีแนวโน้มที่จะต้องหลั่งเลือด ถวายชีวิต เพื่อจะถอยหลังไปอีกไกลด้วย!




++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 8


หลังจาก "นายใหญ่ดูไบ" ส่งสัญญาณไฟกะพริบ "ถอยหนึ่งก้าว" ด้วยการเขียนใบสั่ง ให้ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานสภาผู้แทนราษฎร "ชะลอ-เลื่อน" โปรแกรมนำเข้า "พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ" ฉบับ "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" และ "การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3" ยุติการย้อนศร "ศาลรัฐธรรมนูญ"  
ประเมินกันว่า คลื่นลมการเมือง กลับคืนสู่ภาวะปกติ สงบเงียบเชียบ ไม่กระโชกรุนแรงแน่  

แต่ผิดคาด สถานการณ์ ยังคงคุกรุ่นผิดปกติ ลมพายุม้วนตัว เป็นหย่อมๆ กินบริเวณกว้าง แตกประเด็นให้เป็นเรื่อง สอดรับขับเคลื่อนออกมาในจังหวะจะโคนเดียวกัน อาทิ จู่ๆ "ป.ป.ช." ออกมาชี้มูลความผิด คดี "ธนาคารกรุงไทย" ปล่อยกู้ อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทกฤษดามหานคร อันมี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยที่ 1 

ไม่มีปี่มีขลุ่ย "ป.ป.ช." มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบสมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีซื้อขายที่ดินธรณีสงฆ์ ทำสนามกอล์ฟอัลไพน์

คาบลูกคาบดอกเดียวกัน "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ระบุว่า "นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "นางนลินี ทวีสิน" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขัดจริยธรรม ไม่เหมาะที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

และล่าสุด "ก.ก.ต." ชุดใหญ่ ตัดสินใจแจกใบแดงให้กับ "เก่ง-การุณ โหสกุณ" ส.ส.เพื่อไทย เขตดอนเมือง ปิดข่าวไปอีกคน

หลายเงื่อนไขพรั่งพรูทิ้งบอมบ์ พรรคเพื่อไทย และฝั่ง "เสื้อแดง" และคาดหมายกันว่า น่าจะมีประเด็นอื่น ซึ่งต่างกรรมต่างวาระต่อยอดออกมาเรื่อยๆ ในลำดับถัดไป 
สอดรับกับขบวนการข่าวลือ ซึ่งระบุว่า รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะโดนฝ่ายตรงข้ามเผด็จศึก ในช่วงเดือนมิถุนายน
โดยอาศัยเหลี่ยมคู ว่าด้วย "พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ" กับ "ลงมติวาระ 3" เป็นตัวขับเคลื่อน ยั่วกิเลส ปั่นอารมณ์ให้ "นายใหญ่ดูไบ" ของขึ้น และสั่งลุย ด้วยการปลุก "ม็อบเสื้อแดง" มาเคลื่อนไหวกดดัน สุดท้ายต้องเกิดการปะทะ ฆ่ากันกับ "ม็อบเสื้อเหลือง+หลากสี" อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
บีบเกมให้เข้าเงื่อนไข "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ซึ่งตามข่าวระบุว่ามีการวางหมาก วางตัวบุคคลมารับไม้กันไว้เรียบร้อยแล้ว 


ฟากเพื่อไทย+เสื้อแดง ระบุว่าแผน "ปฏิวัติ" จะมีการควบคุมตัว "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไปกักกันไว้ระยะหนึ่ง
ซึ่ง "ทักษิณ" หวุดหวิดจะเดินไปติดกับดักอยู่รอมร่อ แต่สุดท้ายไหวตัวทัน สั่งถอยกะทันหัน แต่เงื่อนไขกดดัน ล้มรัฐบาล "ปู" ยังมิได้ยุติ ยังคงรุกคืบสืบไป เพื่อบีบพื้นที่ ให้เข้ามุมอับ และต้องจบลงด้วยสูตร "ปฏิวัติ"



จิ๊กซอว์ จากข่าว "พ.ร.บ.ปรองดอง-แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291" มาถึงข่าว "นายใหญ่ดูไบ" ส่งมือดีไปทาบทามพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ซึ่งเปิดโจทย์มาจากปากของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปปราศรัยบนเวทีพบประชาชนที่มีนบุรี เดิมทีคิดว่า จะเป็น "กลอนพาไป" แต่ "สุเทพ" ตอกย้ำหัวตะปูอีกที ถึงข่าวนี้ว่า 
"ทักษิณส่งคนมาเจรจา แต่ไม่ใช่คนพรรคเพื่อไทย เป็นสุภาพสตรีชั้นสูงเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในสังคม 2 ท่าน มาเจรจากับผมต่างกรรมต่างวาระ โดยขอให้เห็นแก่บ้านเมือง เชิญผมไปหาคุณทักษิณที่ดูไบ แต่ผมไม่ไป ส่วนคนที่ 3 เป็นสุภาพบุรุษ โดยได้ไปพบที่บ้านบุคคลดังกล่าว เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เคยคบค้า ทำหน้าที่วิ่งไปวิ่งมาระหว่างผมกับคุณทักษิณหลายครั้ง" 
แต่ "สุเทพ" มิได้เปิดเผยนาม อ้างว่า "เกรงเขาจะถูกคนเสื้อแดงคุกคาม" พร้อมสรุปว่า จุดประสงค์ ในการทาบประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล มีนัยยะอยู่ว่า อย่าต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าต่อต้านกฎหมายปรองดอง และขอให้ประชาธิปัตย์ยุติการตั้งเวทีในที่ต่างๆ
บทสรุปคือ "ผมได้ปฏิเสธไป"

ข่าวนี้ ร้อนถึงพรรคเพื่อไทยและคนใกล้ชิด "นายใหญ่" พากันดาหน้าออกมาปฏิเสธ เรียกร้องให้ "สุเทพ" เปิดเผย "ไอ้โม่ง" พร้อมกับท้าสาบาน
แกนนำ "ขาใหญ่" เพื่อไทยตั้งวงวิเคราะห์เจาะเกราะ ข่าวทาบทามประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล สรุปว่า เป็นไปไม่ได้และไร้สาระ เนื่องจาก "ปู 2" มีฐานเสียงสนับสนุนถึง 300 เสียงเพียงพอทุกกรณี  
พร้อมกับฟันธงว่า "สุเทพ" จงใจจะปั่นราคา เรียกแขกมากกว่า เพราะหลังพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มวลชนพร่องลงไปมาก สถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" เดินหน้าโปรยนโยบายประชานิยม โกยแต้ม เรตติ้งไปเป็นกอบเป็นกำ

"กลุ่มทุน" ซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม หรือส่วนหนึ่งแอบไปให้การสนับสนุนประชาธิปัตย์ เวลานี้พากันตีกรรเชียงมาสวามิภักดิ์กับ "ศูนย์อำนาจ" คือรัฐบาลเกือบหมด 
ประเมินตัวตนได้จากการนำคณะทัวร์ต่างประเทศของ "ยิ่งลักษณ์" ในระยะหลัง ไม่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน-ญี่ปุ่น หรือยุโรป ปรากฏว่ามีชื่อ "บิ๊กเนม" จากค่ายยักษ์ใหญ่ ที่เป็นปฏิปักษ์กับ "ระบอบทักษิณ" ขอห้อยโหนติดคณะเต็มเครื่องบินแทบทุกโปรแกรม
กลุ่มที่สองคือ ข้าราชการ ซึ่งเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วกลับข้าง ที่สังกัดเครือข่ายเก่าพากันกลับลำ เท่ากับตีจากพรรคประชาธิปัตย์

จึงเท่ากับ เสีย"มวลชน-กลุ่มทุน-ข้าราชการ" 
จึงปล่อยข่าวปั่นราคาให้กับตัวเอง เพื่อดูดกลับ จุดประเด็นให้เห็นว่า "ประชาธิปัตย์" มีโอกาสได้ประตู ยังไม่อุดตัน 
นี่คือบทสรุปแบบไม่ให้ราคากับข่าวดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลของแกนนำพรรคเพื่อไทย...เชื่อข้อมูลซีกไหน วินิจฉัยกันเอาเอง



+++

คิวงาน “80 ปี 2475” คึกคัก เพื่อทบทวน “อดีต” ครุ่นคิดถึง “ปัจจุบัน” หรือพยากรณ์ “อนาคต”?
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 14


ในวาระครบรอบ 80 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รวมถึงวาระครบรอบ 100 ปี เหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 
ดูเหมือนความเคลื่อนไหวในสมรภูมิทางความคิดของสังคมการเมืองไทยจะมีความคึกคักเป็นพิเศษ 
โดยเฉพาะในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน พ.ศ.2555 

เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน เวลา 08.30-16.30 น. หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน "80 ปี ประชาธิปไตยไทย : รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย"
ช่วงเช้า มีการเสวนาหัวข้อ "วิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบัน" มีวิทยากรประกอบด้วย อนุสรณ์ ลิ่มมณี, สุรชาติ บำรุงสุข, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ จาตุรนต์ ฉายแสง 
ช่วงบ่าย มีการเสวนาหัวข้อ "การเมืองมวลชนในสถานการณ์หลายขั้วสี" มีวิทยากรประกอบด้วย จรัส สุวรรณมาลา, ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว, ไชยันต์ ไชยพร และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ไม่ไกลกันนัก ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ร่วมจัดสัมมนาหัวข้อ "จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย" ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน
ในวันที่ 21 มิถุนายน งานจะเริ่มต้นด้วยปาฐกถานำ "ย้อนทวนเรื่องประวัติศาสตร์ จาก ร.ศ.130 ถึง 24 มิถุนายน 2475" โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 
ตามด้วยการบรรยายเรื่อง "ว่าด้วยประวัติศาสตร์ 80 ปี ประชาธิปไตย" โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "ปฏิวัติซินไห่และผลกระทบต่อสยาม" โดย วาสนา วงศ์สุรวัฒน์, "แนวคิดและอุดมการณ์ขบวนการ ร.ศ.130" โดย ณัฐพล ใจจริง, "การเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังปฏิวัติ 2475" โดย กันย์ ชโลธรรังสี, "วิวัฒนาการวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย พ.ศ.2475-ปัจจุบัน" โดย ทิวากร แก้วมณี 
และ "การต่อสู้และช่วงชิงความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ระหว่างเจ้ากับสามัญชนก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475" โดย สายชล สัตยานุรักษ์

ในวันที่ 22 มิถุนายน มีการบรรยายหัวข้อ "คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย" โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์, "คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลังการปฏิวัติ 2475" โดย ศรัณยู เทพสงเคราะห์, "ทัศนียภาพของการต่อต้าน : เรื่องเล่าของการปฏิวัติสยามในสื่อร่วมสมัย" โดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, "การปฏิวัติด้านอาหารการกินกับการปฏิวัติ 2475" โดย ชาติชาย มุกสง, "คณะราษฎรกับเศรษฐกิจไทย" โดย พอพันธ์ อุยยานนท์ 
และการอภิปรายเรื่อง "อดีต และอนาคต จาก 80 ปี ประชาธิปไตย" โดย จาตุรนต์ ฉายแสง, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ ไชยันต์ ไชยพร


ข้ามไปวันที่ 24 มิถุนายน หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และสมาคมจดหมายเหตุสยาม จัดงานสัมมนา "100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ.130 - 80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2475" ระหว่างเวลา 09.00-17.00 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 
ในช่วงเช้า มีปาฐกถานำหัวข้อ "นิทานประชาธิปไตยไทย : ตำนานฐานรากของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดย เกษียร เตชะพีระ 
จากนั้น มีการอภิปรายหัวข้อ "100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ.130 โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ณัฐพล ใจจริง, เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์ และ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ 
ช่วงบ่าย มีการอภิปรายหัวข้อ "80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2475" โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, สุดสงวน สุธีสร, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, อภิชาต สถิตนิรามัย และ มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ 
ต่อด้วย การถาม-ตอบ "ปัญหาข้ามศตวรรษ" โดย ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ (ถาม), เวียงรัฐ เนติโพธิ์ (ถาม), นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ตอบ) และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (ตอบ) และปิดท้ายด้วยปัจฉิมกถา โดย วีระ ธีรภัทรานนท์

วันเดียวกันในช่วงบ่าย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ จัด "การแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2555 ครบรอบ 80 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475" 
มีการปาฐกถาหัวข้อ "แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ : จาก กปค. 75 ถึง คปค. 49" โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และการอภิปรายหัวข้อ "พินิจงานเขียนสารคดีเรื่อง สันติปรีดี" โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, และ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งงานใหญ่ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2555 ก็คือ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย



ส่วนอีกความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่น่าจับตามิใช่น้อย ก็ได้แก่ การรวมตัวกันของกลุ่มนิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อ "คณะราษฎรที่สองต่อต้านอำนาจนอกระบบ" ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้พร้อมใจกันแต่งกายย้อนยุคเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารและพลเรือน ไปตระเวนทำกิจกรรมต่อเนื่องตามสถานที่สำคัญต่างๆ 
เริ่มจากการเดินทางไปยื่นหนังสือขออนุญาตยืมอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก และเชิญชวน ผบ.ทบ. ร่วมงานรำลึกคณะราษฎร ในวันชาติไทย 24 มิถุนายน 2555 เพื่อให้กองทัพบกได้ตระหนักตนเองว่าเคยมีส่วนร่วมในการอภิวัฒน์การปกครองไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 
จากนั้น เดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อเตือนให้สมาชิกรัฐสภาคำนึงถึงความยากลำบากในการอภิวัฒน์ อย่าได้ยอมให้กับอำนาจศักดินา และเตือนสมาชิกรัฐสภาให้ประพฤติตนสมเกียรติกับการเป็นผู้แทนปวงชน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน

ส่วนในวันที่ 24 มิถุนายน ช่วงเช้าตรู่ "คณะราษฎรที่สอง" จะเดินทางไปยังหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่ออ่านแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 โดยผู้รับบทเป็น "พระยาพหลพลพยุหเสนา", ปราศรัยเรื่องความล้มเหลวของประชาธิปไตย โดยผู้รับบทเป็น "จอมพล ป. พิบูลสงคราม", อ่านข้อเสนอหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรที่สอง ก่อนจะเดินทางไปร่วมทอล์กโชว์ที่เวทีกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในเวลา 19.00 น. 
นี่เป็นความคึกคักที่เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 80 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 
เป็นความคึกคักที่นำไปสู่การทบทวนอดีตอย่างเข้มข้น 
รวมทั้งอาจเป็นความคึกคักที่นำไปสู่การครุ่นคิดเกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทยอย่างถึงราก



+++

จับปฏิกิริยากองทัพ กับ “ปู” ควบกลาโหม ใครกด Like?? กับความ “หวั่นไหว” และ “ท้าทาย” ที่ “ทักษิณ” มองข้าม
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 16


ข่าวการควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งผลให้เกิดความหวั่นไหวกันถ้วนทั่ว พร้อมๆ กับความท้าทายครั้งสำคัญ 
หวั่นไหวตรงที่บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เอง เพิ่งนั่งมาได้ 5 เดือนเศษ แถมเตรียมพร้อมที่จะจัดโผโยกย้ายทหารครั้งใหญ่กันยายนนี้ไว้เลาๆ แล้ว เลยทำให้ไม่อยากทำอะไรเต็มที่เต็มตัวมากนัก เพราะไม่มั่นใจในสถานภาพตัวเอง 
"จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน จะควบหรือไม่ควบ ก็ไม่เห็นใครมาบอกอะไรนี่" บิ๊กโอ๋ เปรย 
แต่ก็ไม่ใช่นิสัยของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่จะต้องถาม พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในเรื่องเก้าอี้ของตนเอง 
ท่าทีของ พล.อ.อ.สุกำพล จึงออกมาในแนวว่า ไม่สนใจว่าจะถูกเด้งพ้น รมว.กลาโหม พ้น ครม. หรือว่าไปแขวนเป็นรองนายกฯ "ผม ยังไงก็ได้"
แต่ที่เคยบอกว่า "มีโอกาสหนึ่งในร้อย หรือหนึ่งในล้าน" ก่อนหน้านั้น พล.อ.อ.สุกำพล ก็ไม่พูดเช่นนั้นแล้ว แต่บอกว่า "ให้ถาม นายกฯ"


และที่ก็หวั่นไหวคือบรรดานายทหาร ตท.10 หลายคนก็ความหวังต่อคิวที่จะเป็น รมว.กลาโหม กันทั้งนั้น แต่กลัวถูกน้องปู ตัดหน้าเสียก่อน โดยเฉพาะเต็งหนึ่งคนต่อไปอย่าง บิ๊กโอ๋เล็ก พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ รมว.กลาโหม เพื่อนซี้อีกคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และยังเป็น ว่าที่พ่อตาของโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร อีกด้วย  
แต่ก็ยังไม่รู้ใจเพื่อนแม้ว ว่าจะกล้าดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาควบ รมว.กลาโหม จริง หรือจะเลือกนายทหารคนใดมาเสียบแทน เพราะไม่รู้ว่า เพื่อนคนนี้ไปแอบต่อรองอะไรกับใครไว้หรือไม่ 

แม้แต่กองทัพเองก็หวั่นไหว เพราะการเปลี่ยน รมว.กลาโหม บ่อยๆ ก็ทำให้ ผบ.เหล่าทัพ ต้องคอยติดตามหาข่าวและลุ้นว่าจะเอาใครมา นิสัยใจคออย่างไร เพราะจะเป็นดัชนีชี้วัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเอาอย่างไรกับกองทัพ และกับ ผบ.เหล่าทัพ 
โดยเฉพาะบิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ที่หวั่นไหวว่า หากเป็น รมว.กลาโหม ต่อ พล.อ.อ.สุกำพล จะล้วงลูกแต่งตั้ง ผบ.ทอ.คนใหม่แน่นอน ดับฝันบิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. น้องรัก ที่ถูกมองเป็นทายาท คมช. แน่ 
อาจจะดึงบิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. ตท.11 เพื่อนบิ๊กเฟื่อง ที่ถูกเตะจาก ทอ. ไปเมื่อปีก่อน กลับมาเป็น ผบ.ทอ. 2 ปี เพราะเกษียณปี 2557 หรืออาจมี "ม้ามืด" อย่างบิ๊กม้า พล.อ.อ.วินัย เปล่งวิทยา ผช.ผบ.ทอ. ที่อาจมีพลัง ตท.12 ช่วยดันให้นั่งเป็น ผบ.ทอ. 1 ปี ก็ได้
แต่หากเปลี่ยน รมว.กลาโหม ก็ใช่ว่า พล.อ.อ.อิทธพร จะโล่งใจได้ เพราะเขาเองน่าจะรู้ดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คิดอย่างไรกับเขา ยิ่งงานศพมารดาก็เป็นดัชนีชี้วัดได้อีกอย่าง จึงทำให้ความตึงเครียดครอบงำทัพฟ้าอยู่หนาแน่น


แต่ที่ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ก็คือ "ท้าทาย" ทั้งกองทัพที่มีแต่ผู้ชายอกสามศอก กองทัพที่มีผู้นำเหล่าทัพ ที่เคยร่วมปฏิวัติหรือไม่ก็เป็นทายาทอำนาจ คมช. ที่เคยล้มล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาก่อน กองทัพที่ ผบ.หน่วยคุมกำลัง ยังคงเป็นคนที่เคยปฏิวัติ 19 กันยายน มาเป็นส่วนใหญ่  
และท้าทายผู้ที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของกองทัพ โดยเฉพาะ ฝ่ายอำมาตย์ เพราะอย่าลืมว่ากองทัพเป็นอาวุธเขี้ยวเล็บสำคัญของฝ่ายอำมาตย์ในทางการเมือง ท้าทายฝ่ายอำมาตย์ ที่รักทหาร รักกองทัพ ดูแลทหารมาตลอด 
จึงไม่แปลกที่จะมีกระแสต้านออกมา ทั้งการติงให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ให้ดีเสียก่อนบ้าง นายกฯ งานหนักอยู่แล้ว นายกฯ ไม่มีความรู้เรื่องการทหารและความมั่นคง กลัวนายกฯ จะมาพูดผิดพูดถูกเรื่องกองทัพ ซึ่งอ่อนไหว หรือแม้แต่ให้ระวังจะเกิดอาเพศ เมื่อผู้หญิงมาคุมทหาร เมื่อมี รมว.กลาโหม หญิงคนแรก 
บางเสียงก็มองว่า เป็นแค่การ "สะใจ" บรรดาคนเสื้อแดง และคนไม่ชอบทหาร ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ผู้หญิงมาคุม ไม่ต่างจากที่พวกเขาอยากให้ ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. มาเป็น รมว.กลาโหม มาแล้ว หรือเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล ชินวัตร

ฝ่ายกองทัพก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะหากคัดค้าน ก็จะถูกมองว่ากีดกัน รังเกียจผู้หญิง กลายเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี และหาก รมว.กลาโหม เป็นผู้ชายและเป็นทหาร ก็จะคุยกันแบบพี่น้อง คุยกันรู้เรื่องหน่อย แต่ถ้าเป็นนายกฯ ปู จะเป็นเรื่องความเกรงใจ และไม่กล้าต่อรองหนัก แล้วถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกระซิบให้เล่นบทแข็งในบางเรื่อง บอกไม่ยอมท่าเดียว ผบ.เหล่าทัพ จะทำเยี่ยงไร 
แต่ผลดีก็คือ จะทำให้ภาพกองทัพไทย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตรงที่ยอมให้ผู้หญิงมาเป็น รมว.กลาโหม แถมเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กองทัพเคยปฏิวัติ อีกด้วย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกอีกครั้ง ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย แล้วยังเป็น รมว.กลาโหมหญิงคนแรก อีกด้วย



ฝ่ายทหารใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ รู้ดีว่าไม่มีกระแสต้านจากภายในกองทัพ เพราะได้ทำงานร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ มาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. และเข้าถึงกองทัพ ไปเยี่ยมมาหมดแล้ว แถมมีการประชุมเจอหน้า ทานข้าวกันอยู่เนืองๆ แม้แต่โทรศัพท์สายตรงคุยกัน
"กองทัพน่าจะยิ่งสบายใจ ตรงที่ไม่ต้องมี "คนกลาง" มาคั่น มีอะไร ผบ.เหล่าทัพ ก็สายตรง หรือยิงตรงกับนายกรัฐมนตรีได้เลย และไม่ต้องกลัวว่า จะไปล้วงลูกอะไร เพราะนายกฯ จะปล่อยให้ ผบ.เหล่าทัพ ดูแลกองทัพกันเอง ไม่ก้าวก่าย ไม่แทรกแซง มีอะไรให้ช่วยก็บอกมา อันไหนให้ได้ก็ให้ อันไหนให้ไม่ได้ ก็จะอธิบาย" สายข่าว ระบุ

ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่ตั้ง รมช.กลาโหม ให้กองทัพหวาดระแวง ว่าจะเป็นการเพิ่มคะแนนเสียงโหวต ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 หากต้องโหวตใน 7 เสือกลาโหม เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะในการแต่งตั้งโยกย้าย จึงจะตั้งแต่ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีสิทธิ์โหวตใดๆ และเพื่อมาช่วยดูงานแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่บอดเรื่องทหาร เท่านั้น เพื่อให้กองทัพสบายใจ ซึ่ง ผช.รมว.กลาโหม ก็อาจจะไม่ใช่ ตท.10 แต่อาจเป็นทหารแตงโมรุ่นใหม่ เพราะงานในกลาโหมอื่นๆ ก็มี พล.อ.พฤณท์ ช่วยดูแลให้อยู่แล้ว 
นี่คือสัญญาณที่ฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งมาเพื่อหยั่งเชิง และปฏิกิริยา ซึ่งอย่างน้อย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร 
"รัฐบาลทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว ทหารก็ทำหน้าที่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของกลาโหม ผมไม่วิจารณ์หรือก้าวก่าย แต่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด" บิ๊กตู่ กล่าว พร้อมชม "นายกฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน มีลักษณะของผู้นำ" อีกด้วย

มีการจับตามองกันว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควบ รมว.กลาโหม จริง อาจทำให้บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ โดดเด่นขึ้น ในฐานะ ผู้นำทหารที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สนิทสนม เพราะทำงานด้วยกันมามาก จนกลายเป็นคู่พระคู่นาง อาจกลายเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปโดยปริยาย
จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะเปรยในที่ประชุม ทบ. ว่า ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็น รมว.กลาโหม จะเปลี่ยนหรือเปล่า แต่ก็เร่งให้ลูกน้องเร่งทำเรื่องที่คั่งค้างให้เสร็จ 
"รมว.กลาโหม คนก่อน ผมคุยได้ รมว.กลาโหม ท่านนี้ผมคุยได้ แต่ไม่รู้ว่าคนต่อไปจะคุยได้หรือเปล่า" บิ๊กตู่ เปรย 
แต่ก็น่าแปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดูเสมือนมั่นใจว่า ไม่ว่าใครมาเป็น รมว.กลาโหม หรือนายกฯ จะควบกลาโหม ก็ไม่มีผลต่อเก้าอี้ ผบ.ทบ.ของเขา
"ปีหน้าผมก็ยังเป็น ผบ.ทบ. ต่อ ดังนั้นให้เตรียมร่างแผนโครงสร้างกองทัพไว้ได้เลย ผมจะเน้นเรื่องการเตรียมกำลัง ไม่มีการเพิ่มคนหรือลดคน แต่จะต้องมีแผนการใช้กำลังอย่างเป็นระบบ กรมฝ่าย เสธ. ไปคิดมา" บิ๊กตู่ กล่าวในที่ประชุม


ท่ามกลางข่าว นายทหารหน้าเดิมๆ อย่างบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ อดีต รมว.กลาโหม และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจกลับมา ในเงื่อนไข "การปรองดอง" กับอำมาตย์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ก็ถูกใจ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยแน่นอน กับพี่เลิฟ 2 ป.  
ในหมู่ ตท.10 วิเคราะห์กันหลายสูตรว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อาจต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควบ รมว.กลาโหม แค่ชั่วคราวไม่กี่เดือน เพื่อรอ พล.อ.พฤณท์ เกษียณราชการ บางสูตรก็บอกว่า รอบิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม ที่จะเกษียณกันยายนนี้ 
พร้อมข่าวในแง่ลบของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่ถูกปล่อยออกมา ในทำนองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ไว้ใจแล้ว เพราะมีพวกเดียวกันไปเป่าหู ใส่ความทีมงานของบิ๊กโอ๋ ที่อาจเป็นแผนในการเลื่อยขาเก้าอี้ พล.อ.อ.สุกำพล ก็เป็นได้

แต่ฝ่าย พล.อ.อ.สุกำพล ก็ยังพยายามนิ่ง ไม่โวยวายอะไร เพราะเขารู้ดีว่ามีคนกันเองอยากจะเป็น รมว.กลาโหม แทนเขามากมาย และเชื่อว่าเขาน่าจะได้อยู่ถึงการโยกย้ายปลายปีในเดือนกันยายนนี้ เพราะบุคลิกทั้งอ่อนและแข็ง ที่เอากองทัพอยู่ 
อีกทั้งความเป็นเพื่อนซี้ ทั้งในแง่เพื่อน แง่บุญคุณ และยังมีกัปตันตุ้ม ร.อ.นรหัช พลอยใหญ่ เพื่อนซี้ ตท.10 ด้วยกัน แถมยังเป็นเครือญาติเป็นคู่เขยกันด้วยนั้น สามารถเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ เพราะถ้า พล.อ.อ.สุกำพล หลุดไปตอนนี้ ถือว่าเสียฟอร์มเหยี่ยวเวหา ไม่น้อย
แน่นอนว่า ในจำนวนนี้มีชื่อบิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม รวมอยู่ด้วย เพราะถือว่าเขาเป็นนายทหารที่เปิดเผยตัวตนชัดเจนว่า เป็นแตงโม เพราะได้ข้ามห้วยจากประธานที่ปรึกษา บก.กองทัพไทย มาเป็นปลัดกลาโหม ก็เพราะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แม้ว่าจะมีภริยา ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเมืองอุบล ฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ช่วยดันอีกแรงก็ตาม 
"ไม่เคยมีใครมาทาบทามผมเลย ผมอยากเป็นทหารไปจนเกษียณมากกว่า หลังเกษียณค่อยว่ากัน" พล.อ.เสถียร กล่าว 
ที่ฮือฮาคือ มีชื่อบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ โผล่มาด้วย ราวกับจะเป็นการตอบแทน พล.อ.สนธิ ที่ผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะยังไม่สำเร็จก็ตาม


แต่ก็น่าแปลกที่ เมื่อครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรียกปลัดกลาโหม ผบ.สส. และ ผบ. 3 เหล่าทัพ ไปประชุมเรื่องอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา ที่พัทยา เมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ได้มีการล้อมวงทานอาหารเช้าร่วมกัน 
"แต่ก็แปลกใจว่า นายกฯ ท่านไม่พูดเรื่องข่าวจะควบ รมว.กลาโหม หรือเปลี่ยน รมว.กลาโหม เลย ก็รอฟังอยู่ เผื่อจะบอกว่าเป็นข่าวลือ หรือจริง คุยแต่เรื่องอู่ตะเภา นอกรอบกันก่อน" ผู้นำทหารบนโต๊ะคนหนึ่ง เล่า 
เพราะภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั่งหัวโต๊ะ เรียกผู้นำทหารจากกรุงเทพฯ ให้นั่งรถมาบ้าง นั่ง ฮ. มาถึงพัทยานี่เพื่อมาประชุมแค่ไม่ถึงชั่วโมง และทานข้าวด้วยกันนั้น เสมือนเป็นการอุ่นเครื่องการควบ รมว.กลาโหม ก็ว่าได้ 

แม้ว่าการเรียก ผบ.เหล่าทัพ มาประชุมนั้น จะมีเป้าหมายให้กองทัพเป็นตรายาง ไฟเขียวอเมริกาใช้อู่ตะเภา เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้รัฐบาลที่กำลังถูกโจมตีเรื่องนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นการแสดงถึงอำนาจของการเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นผู้หญิง เพราะ ผบ.เหล่าทัพ มากันพร้อมหน้า
ทั้งๆ ที่อาจส่งตัวแทนมาก็ได้ เพราะบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ก็มีกำหนดไปตรวจการลอกคูคลองที่บางไทร อยุธยา ก็ต้องให้ รอง ผบ.สส. ไปแทน ส่วนบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ก็มีกำหนดลงพื้นที่ภาคใต้ไปเยี่ยมทหารเรือนาวิกโยธิน ที่ฐานในนราธิวาส ก็ต้องให้เลื่อน จนต้องเดินทางไปถึงบ่ายแก่ๆ เกือบเย็น ที่ยิ่งเสี่ยงอันตราย เพราะ ผบ.ทร. ต้องการเข้าไปถึงฐานทหาร นย. ในพื้นที่สีแดงแป๊ด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และนอนค้างในพื้นที่ด้วย 
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องเลื่อนการประชุมออกไปเป็นช่วงบ่าย เพื่อมาตามที่นายกฯ เรียก เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะมาเป็นแค่ตรายางให้รัฐบาลอ้าง ในการอนุมัติก็ตาม แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงการให้เกียรติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ หญิง  
เพราะถ้าวิเคราะห์เรียงตัวแล้ว พล.อ.เสถียร และ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ น่าจะอยู่ในข่าย "ยินดีต้อนรับ" แถมกด Like ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จัดอยู่ในพวก "ยังไงก็ได้ ไม่มีปัญหา" พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. และ พล.อ.อ.อิทธพร ผบ.ทอ. อาจเป็นพวก "เฉยๆ"

หรืออาจตีความได้ว่า ผบ.เหล่าทัพ ไม่ขัด และจำใจยอมรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม อีกตำแหน่ง ยอมให้หงส์ที่แสนสวยงามนางนี้ บินอยู่เหนือมวลหมู่มังกร ที่อาจยอมเก็บซ่อนเขี้ยวเล็บที่คมกริบไว้ชั่วคราว ก็เป็นได้

อยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจะกล้าหักเพื่อน ที่ต้องหลุดเก้าอี้ หรือต้องอกหัก และที่สำคัญ กล้าที่จะท้าทายอำมาตย์ เจ้าของกองทัพ และ ผบ.เหล่าทัพ และทหารทั้งปวง หรือไม่ เท่านั้น



+++

ดัน“คำรณวิทย์” ขึ้นแท่น “น.1” วางตัวรับ “ศึกหนัก-งานหิน” “ปราบม็อบ-เลือกตั้งซ่อม”
คอลัมน์ โล่เงิน  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 99


การวางตัว "บิ๊กแจ๊ส" พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (รอง ผบช.ภ.1) รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) ขึ้นเป็นตัวจริงบนเก้าอี้ ผบช.น. เป็นเจ้าของรหัส "น.1" นอกวาระแต่งตั้งโยกย้ายในเดือนตุลาคม แทน พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ที่โดนพิษม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูก "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เด้งไปช่วยราชการสำนักงาน ผบ.ตร. เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน คล้ายส่งสัญญาณบางอย่าง 
พล.ต.ท.วินัย ต้องหลุดจากเก้าอี้ "น.1" ด้วยข้อหาปราบม็อบไม่เก่ง หลังไม่อาจเคลียร์ทางให้ ส.ส. เข้าประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 1 มิถุนายน ได้สำเร็จ 
ส่งผลให้ต้องเลื่อนการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด 
ซึ่งเท่ากับว่า นายใหญ่ ณ ดูไบ ต้องเลื่อนกำหนดกลับบ้านแบบเท่ๆ ออกไปอย่างไม่มีกำหนดเช่นกัน 
และไม่แปลก ถ้าคนคิดถึงบ้านหลังจากไปนาน จะโกรธจัดควันออกหู ด้วยเรื่องผิดพลาดทางเทคนิคครั้งนี้


แวดวงสีกากีวิเคราะห์ว่า การย้าย พล.ต.ท.วินัย ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ สาเหตุหนึ่งเพราะไม่กล้าตัดสินใจปราบม็อบ หากแต่บางส่วนมองว่าการทำอะไรรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมอาจเป็นการจุด "ชนวน" เติมเชื้อไฟให้เกิดเหตุรุนแรงได้ในพริบตา 
เช่นเดียวกับ "มือปราบหูดำ" พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบช.น. ที่แม้จะเป็นคนสนิท พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ชนิดเป็นเงาตามตัว ตั้งแต่ครั้งช่วยเหลือผู้ประสบวิกฤตอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 เรื่อยมา ก็ถูกเด้งไปช่วยราชการสำนักงาน ผบ.ตร. 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ด้วยข้อหาปราบม็อบไม่เก่ง 
แม้ พล.ต.ต.วิชัย ไม่ได้รับผิดชอบหน้างานด้านความมั่นคงโดยตรง แต่ภารกิจในการเจรจาต่อรอง และรับปากอาสาจะพาขบวนรถตู้ ส.ส. เข้ารัฐสภา จึงโดนหางเลขไปด้วย 
อีกทั้งผู้มีอำนาจตั้งข้อสังเกตเรื่องข่าวรั่วไปถึงม็อบ จนแก้เกมสวนหมัดตำรวจได้ทันควัน ปิดทางเข้ารัฐสภาจนแผนล่ม ขบวนรถตู้ ส.ส.เพื่อไทย ต้องถอยไม่เป็นท่า
ขณะที่ล่าสุด คณะกรรมการคัดเลือกหรือบอร์ดกลั่นกรองหน่วยขึ้นตรงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน เห็นชอบให้ พล.ต.ต.วิชัย เป็นรองจเรตำรวจ (สบ7) เทียบเท่า รอง ผบช. พร้อมทั้งบอร์ดกลั่นกรอง บช.น. เสนอชื่อ พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.ภ.1 เพื่อน นรต.30 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ โยกมาเป็น รอง ผบช.น. แทน 
เป็นการโยกย้ายที่เกิดจากสถานการณ์การเมืองห้วงต้นเดือนมิถุนายน เกิดการรวมตัวประท้วงของมวลชนเพื่อคัดค้านและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 จนเต็มหน้ารัฐสภาไม่เว้นแต่ละวัน



ขณะที่ฟากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องประเมินสถานการณ์ทุกวัน และตัดสินใจ "หยุด" เพื่อรอจังหวะย่างก้าวในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ อีกครั้งในอนาคต  
กระทั่ง โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้ในห้วง 1 เดือนเศษนับจากนี้ อุณหภูมิการเมืองจะยังคงที่ โดยทั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ต่างเดินเกมทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรอเวลาเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ที่คาดว่าจะเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 
หลังจากนั้นนักพยากรณ์สีกากีชี้ว่า กลุ่มเห็นด้วยและกลุ่มคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ คงได้ตั้งป้อมกันอีกครั้ง 
และด้วยข้อหาปราบม็อบไม่เก่ง ส่งผลให้นายใหญ่ ไม่ไว้ใจที่จะใช้คนในครอบครัว อย่าง พล.ต.ท.วินัย ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องเขย อีกต่อไป 
แวดวงสีกากีวิเคราะห์ด้วยว่า การโยก พล.ต.ท.วินัย และ พล.ต.ต.วิชัย พ้นนครบาล และวางตัว พล.ต.ต.คำรณวิทย์ มาคุมทัพแทนระลอกนี้ 
มีนัยยะสำคัญทางการเมืองหลายประเด็น


พล.ต.ต.คำรณวิทย์ จัดเป็นคนสนิท ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่คอยเป็นแรงเชียร์ ลุ้นตัวโก่งให้ขึ้นแท่นแม่ทัพนครบาลครั้งนี้  
และด้วยบุคลิกทำงานแบบใจถึงพึ่งได้ มีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ร้อนและแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเป็นสายตรง ร.ต.อ.เฉลิม ทำให้นายใหญ่ไว้วางใจ เลือกวางตัว พล.ต.ต.คำรณวิทย์ มารับภารกิจสำคัญ เพื่อเปิดทางให้มีการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ  
อีกทั้งหากเกิดความผิดพลาดผิดแผน มีกระแสว่า พล.ต.ต.คำรณวิทย์ เตรียมผันตัวสู่สนามการเมืองท้องถิ่นใน จ.ปทุมธานี โดยปูทางสร้างฐานเสียงไว้บางส่วนแล้ว 

เมื่อดูจากภารกิจการคุมทัพนครบาลในห้วงปีนี้ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ต้องเจอกับ "ศึกหนัก" และ "งานหิน" อย่างแน่นอน 
โดยอีกภารกิจสำคัญ คือการเลือกตั้งใหม่ ส.ส.กทม. เขต 28 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้งและที่สำคัญต้อง "เป็นกลาง" 
หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลือง พ.ต.อ.สามารถ ม่วงศิริ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ 
ซึ่งล่าสุด ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศหนุน นายวัน อยู่บำรุง บุตรชาย ลงสมัครอีกครั้ง เหลือเพียงรอพรรคเพื่อไทยตัดสินใจว่าจะส่งใครลงสมัคร อีกทั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายวัน ซึ่งเป็นคู่แข่งในเขตนี้พ่ายแพ้ไปเพียงแค่พันกว่าคะแนน 
รวมทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานดูแลการเลือกตั้งโซนฝั่งธนบุรีด้วย

นั่นหมายความ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ในฐานะผู้คุมทัพตำรวจนครบาล จะต้องถูกจับตาเรื่อง "ความเป็นกลาง" อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอาจถูกคู่แข่งจับผิดทุกฝีก้าว ในฐานะที่มีความสนิทสนมกับ ร.ต.อ.เฉลิม

ฉะนั้น การประคองตัวบนเก้าอี้ "น.1" จึงไม่ง่ายในห้วงเวลานับจากนี้!! 



.