http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-05

อนุช: (4)วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่ (จบ)

.



วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่ (จบ)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 35


เราจะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากฝั่งยุโรปไปยังทวีปอเมริกาที่ได้รุ่งเรืองขึ้นแทนยุโรปโดยลำดับ จนกระทั่งได้เป็นอภิมหาอำนาจของโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะอ่อนแรงจากการแข่งขันและการถูกตอบโต้จากหลายฝ่าย
จากประวัติ 200 กว่าปีนี้ เห็นได้ว่าสงครามสร้างประเทศอเมริกาขึ้นมา ซึ่งก็คล้ายๆ ประเทศอื่นที่สร้างชาติขึ้นมาได้ด้วยสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามรวมชาติ สงครามผนวกดินแดน สงครามปฏิวัติหรือสงครามปลดปล่อย และรวมไปถึงสงครามกลางเมือง

อเมริกาไม่ได้เป็นประเทศพิเศษ (American Exceptionalism) อย่างที่กลุ่มขวาใหม่ในสหรัฐพยายามโฆษณาให้เชื่อ
เมื่อสหรัฐก้าวสู่การเป็นจักรวรรดิ ซึ่งบางคนถือเอาสงครามสเปน-อเมริกาเป็นจุดเริ่มต้น ก็ปฏิบัติตนไม่ต่างกับจักรวรรดิที่ผ่านมา  
เช่น การผนวกดินแดนผืนใหญ่ทั่วโลกเข้ามาในการปกครอง ตั้งฐานทัพในทุกแห่ง เพียงแต่ว่าสหรัฐเข้าสู่การเป็นจักรวรรดิเต็มตัวในยุคอาณานิคมตอนปลาย และก้าวสู่ยุคหลังอาณานิคมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ไม่สามารถปกครองอาณานิคมโดยตรงได้เหมือนก่อน หากแต่ต้องผ่านรัฐบาลที่เป็นตัวแทนนายหน้า ซึ่งบางทีเรียกว่าอาณานิคมยุคใหม่

สงครามและเหตุการณ์ที่ทำให้อเมริกาก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกที่ควรกล่าวถึง ได้แก่

1) สงครามกวาดล้างเบียดขับชนพื้นเมือง (1622-1890) เป็นสงครามยาวนาน 300 ปี ทั้งที่เกิดก่อนและหลังสงครามปฏิวัติ ทั้งกับทหารอเมริกันและทหารยุโรปอีกหลายชาติ (ดู Indian Wars Time Table ใน u-s-history.com)
2) สงครามปฏิวัติเอมริกัน (1775-1783) เป็นการสร้างสาธารณรัฐสมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก
3) การซื้อดินแดนหลุยเซียนา (1803) และการซื้อและผนวกหรือการยึดดินแดนอื่นๆ อีกภายหลัง ทำให้สหรัฐมีอาณาเขตกว้างใหญ่ ตกสองมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก
4) การประกาศลัทธิมอนโร (1823) ประกาศความเป็นหนึ่งของอเมริกาเหนือภูมิภาคนี้ 
5) สงครามเม็กซิโก-อเมริกัน (1845-1848) เป็นสงครามผนวกดินแดนครั้งแรก
6) สงครามกลางเมือง (1861-1865) ที่เสริมความเข้มแข็งให้ทุนอุตสาหกรรมและทุนการเงิน
7) สงคราม สเปน-อเมริกา (1898) กินเวลาเพียง 3 เดือนเศษ สหรัฐได้ดินแดนกว้างใหญ่ตั้งแต่ทะเลแคริบเบียน จนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก และแปซิฟิกใต้ 
8) สงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1917) ทำให้ยุโรปถอยหลังและอำนาจการนำโลกได้เริ่มเข้ามาอยู่ในมือของสหรัฐ
9) สงครามครั้งที่สองและการพัฒนาระเบิดปรมาณู ที่สหรัฐก้าวสู่การเป็นผู้นำโลก เป็นประทีปแก่โลกหลังจากประทีปจากยุโรปตะวันตกอับแสงลง
ในปัจจุบันสหรัฐใช้จ่ายเงินทางทหารสูงเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทางทหารของทั้งโลก


จะกล่าวถึงบางสงครามคือสงครามอเมริกัน-อินเดียน สงครามกลางเมือง และสงครามโลกครั้งที่ 2 และระเบิดปรมาณู ดังนี้

สงครามอเมริกัน-อินเดียน  
และรอยเดินแห่งน้ำตา

สงครามการกวาดล้างเบียดขับชนพื้นเมืองที่กระทำให้อเมริกานี้ ได้เกิดขึ้นในดินแดนอื่นที่ชาวผิวขาวไปตั้งถิ่นฐานทั่วโลกมี ออสเตรเลียและนิวเซีแลนด์ เป็นต้น การปฏิบัติทำนองนี้อาจมองย้อนไปอีกหลายหมื่นปี เมื่อเผ่ามนุษย์โฮโม ซาเปียนส์ ได้เบียดขับมนุษย์นีอันเดอร์ทัลในทวีปยุโรปจนสูญพันธุ์ไป
การกวาดล้างเบียดขับชนพื้นเมืองในอเมริกาทวีความเข้มข้น เมื่อชาวยุโรปอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอเมริกามากขึ้นทุกที โดยเฉพาะหลังสงครามปฏิวัติแล้ว การกวาดล้างเบียดขับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะผู้ที่ตั้งถิ่นฐานก่อนย่อมเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดไว้ ผู้มาทีหลังจำต้องแย่งยึดพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งชาวผิวขาวก็ทำได้โดยไม่ยากนักเมื่อมีอาวุธปืนที่เหนือกว่า

การเบียดขับอย่างโจ่งแจ้งเกิดขึ้น เมื่อสภาคองเกรสออกกฎหมายการถอนย้ายชาวอินเดียนในปี 1830 และบังคับให้ชาวเชอโรกี (Cherokee) อพยพออกจากแผ่นดินจอร์เจียในปี 1831  
ชาวเชอโรกีนี้เป็นอินเดียนแดงเผ่าใหญ่ที่สุดและมีอารยธรรมสูง ปรับตัวให้เข้ากับอารยธรรมตะวันตกได้อย่างดี สร้างชาติขึ้นกระทั่งมีหนังสือเขียนของตนเอง  
พวกเขาต้องเดินทางไกลเป็นพันไมล์ไปตั้งรกรากที่อื่น ประมาณว่ามีชาวเชอโรกี 4 พันคน ต้องเสียชีวิตไปจากการตรากตรำเดินทางนี้ ชาวเชอโรกีเรียกเส้นทางอพยพนี้ว่า รอยเดินแห่งน้ำตา (Trail of Tears)

ที่ดูเป็นเรื่องตลกร้ายก็คือ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เกิดกระแสการมองประวัติศาสตร์อีกแนวหนึ่ง ไม่ได้มองประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นความทรงจำของรัฐอย่างที่ เฮ็นรี คิสซิงเจอร์ กล่าว แต่เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นความทรงจำของสามัญชน  
ผู้นำกระแสนี้ ได้แก่ โฮเวิร์ด ซินน์ (1922-2010) ต่อมายังได้เกิดกระแสการรือฟื้นภูมิปัญญาชนพื้นเมืองขึ้นทั่วโลกว่าอาจใช้เป็นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้  
ปัจจุบันนักเคลื่อนไหวชาวสหรัฐหลายคนที่ได้ศึกษาวิถีชีวิตชาวอินเดียนแดงถึงกับเรียกร้องให้ดูชาวพื้นเมืองเหล่านี้เป็นแบบอย่าง กลายเป็นว่าอนารยชนเป็นอารยชนยิ่งกว่าอารยชนเสียอีก



สงครามกลางเมืองอเมริกัน  
: ชัยชนะของทุนอุตสาหกรรมและทุนการเงิน

สงครามกลาเมืองอเมริกัน (1861-1865) นี้มีประเด็นที่น่าจะกล่าวถึง 4 ประการด้วยกันคือ
1. เป็นสงครามปฏิวัติชนชั้นนายทุนครั้งที่สองในอเมริกา เพื่อสร้างระบบแรงงานเสรีขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบทุน เพราะว่าทุนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีในสิ่งแวดล้อมที่มีแรงงานทาสหรือทาสติดที่ดิน แรงงานทั้งหลายจำต้องเป็นแรงงานเสรีที่จะทำงานกับนายทุนคนใดก็ได้
กล่าวอย่างสั้นก็คือแรงงานผูกขาดเป็นสิ่งต้องห้าม ส่วนทุนผูกขาดไม่เป็นไร 

สงครามนี้เป็นสงครามระหว่างกลุ่มทุนที่ดินและทุนการเกษตรที่ใช้แรงงานทาสผิวดำราว 4 ล้านคน เป็นฝ่ายใต้ กับทุนอุตสาหกรรมและทุนการเงินที่ใช้แรงงานเสรี เป็นฝ่ายเหนือ 
ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเจริญมั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรหรืออุตสาหกรรม
ลินคอล์นสังกัดพรรครีพับลิกันก่อนที่จะได้เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในเดือนมีนาคมปี 1861 รัฐทางใต้ 7 รัฐก็ได้ประกาศแยกตัวจากสหพันธ์ และเกิดการรบพุ่งครั้งแรกในเดือนเมษายน
ลินคอล์นได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีในการทำสงครามรวมชาติอย่างแข็งขัน รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ชนชั้นนำอังกฤษมาให้การรับรองรัฐบาลฝ่ายใต้
และในเดือนมกราคม 1863 ลินคอล์นได้ประกาศปลดปล่อยทาสทั้งหมด เขามีความหวังว่าแรงงานที่เคยเป็นทาสเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเสรีที่กำลังเบ่งบาน ไม่ใช่ถูกผูกมัดทำงานแต่ในไร่นาทางภาคใต้  
การปลดปล่อยทาสของลินคอล์นนี้เป็นความก้าวหน้าไม่ว่าจะมองจากจุดของเศรษฐกิจหรือจริยธรรม และสร้างชาติอเมริกาที่เป็นแบบชาตินิยม เสรีนิยม เสมอภาค และประชาธิปไตยขึ้น

การแบ่งประเทศเป็น 2 ขั้วระหว่างรัฐบาลฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ดังกล่าว ทำให้หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองได้ยาก
แต่การที่สงครามกลางเมืองนี้ยืดเยื้อถึง 5 ปี มีคนต้องล้มตายกว่า 650,000 คน นั้นเป็นสิ่งที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้

2. ถือว่าเป็นสงครามสมัยใหม่ครั้งแรกๆ ของโลก เป็นสงครามแบบอุตสาหกรรม ไม่ใช่สงครามแบบหัตถกรรมเหมือนเดิม นั่นคือการการเกณฑ์หรือระดมอาสาสมัครเป็นทหารได้มากและยาวนาน มีการใช้การขนส่งสื่อสารสมัยใหม่ ได้แก่ รถไฟ เรือกลไฟ การใช้บัลลูนสอดแนม มีการผลิตอาวุธเป็นปริมาณมาก
ทหารที่รบไม่ใช่ทหารรับจ้าง แต่เป็นทหารอาสาสมัคร สามารถระดมได้จำนวนมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยอาศัยการกระตุ้นความรักชาติ การกดดันของกลุ่ม การแสดงตัวเป็นชายชาตรี ไปจนถึงความต้องการแก้แค้น

ชาวอเมริกันผิวดำจำนวนหนึ่งได้เข้าเป็นทหารในกองทัพฝ่ายเหนือ และการหนุนช่วยจากรัสเซียทางยุทธนาวีที่ต้องการลดทอนอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นการช่วยเหลือที่สำคัญไม่น้อย

3. ผลสำคัญอย่างหนึ่งของสงครามได้แก่ชัยชนะของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมและทุนการเงิน เป็นชัยชนะ 3 ต่อ ต่อแรกเป็นชัยชนะเหนือทุนที่ดินหรือทุนการเกษตรในภาคใต้ ต่อที่ 2 เป็นชัยชนะเหนือรัฐบาลสหรัฐเอง ทั้งนี้ เนื่องจากสงครามครั้งนี้ต้องใช้จ่ายมาก จนต้องใช้ทองคำสำรองร่อยหรอจนลงไปอย่างน่าใจหาย รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยการพิมพ์ธนบัตรขึ้นมา

ประธานาธิบดีลินคอล์นกล่าวว่า "รัฐบาลควรจะได้ผลิต ออก และกระจายเงินตราและสินเชื่อทั้งหลายที่จำเป็นต่อการใช้ของรัฐบาลและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยใช้หลักนี้ ผู้เสียภาษีจะประหยัดการจ่ายดอกเบี้ยเป็นอันมาก เงินก็จะยุติเป็นนาย และกลายเป็นผู้รับใช้ของมนุษย์ชาติ"
แต่ดูจะไม่แก้ปัญหาได้ และถูกต่อต้านจากทุนการเงินอย่างหนัก
ต่อมาในปี 1863 รัฐสภาได้ออกกฎหมายธนาคาร (แก้ไขเพิ่มเติม 1864) ตั้งธนาคารกลางที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลขึ้น เป็นเหมือนธนาคารกลางของธนาคารทั้งหลายที่ได้รับอนุญาตในสหรัฐ ธนาคารกลางนี้มีอำนาจในการออกธนบัตรให้รัฐบาลกู้

ชัยชนะต่อที่สามก็คือทุนการเงินของสหรัฐได้ตั้งมั่นและกลายเป็นศูนย์กลางการเงินอีกแห่งหนึ่งนอกจากที่ลอนดอนและปารีส และต่อมาได้ทวีความสำคัญขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมือง
กลุ่มทุนการเงินสหรัฐที่มีตระกูลมอร์แกนและร็อกกี้เฟลเลอร์เป็นแกน ก็ได้ประสานเข้ากับทุนการเงินยุโรปที่มีตระกูลรอธไชลด์เป็นแกนร่วมกันผลักดันให้เกิดโลกาภิวัตน์ครั้งที่ 1 ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1



สงครามโลกครั้งที่ 2 กับระเบิดปรมาณู

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นสงครามแบบอุตสาหกรรมเต็มที่ มีการรบทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ สมรภูมิอยู่ทั่วโลกทั้งฝากตะวันตกและตะวันออก
กล่าวกันว่าการเร่งผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขนานใหญ่ช่วยทำให้สหรัฐหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ไปได้
เมื่อเสร็จสงครามแล้วก็ได้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหารที่ทรงอิทธิพลขึ้น มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐในระดับที่แน่นอน
สงครามโลกครั้งที่สองถือว่าเป็นสงครามแบบเบ็ดเสร็จ ไม่มีแนวหน้าแนวหลัง ทุกที่กลายเป็นแนวรบ เมื่อมีการทิ้งระเบิด และการใช้ขีปนาวุธ และในตอนปลายสงครามใช้ระเบิดปรมาณู
ในช่วงสงครามมีหลายชาติ ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและสหรัฐต่างแข่งกันผลิตระเบิดปรมาณู แต่สหรัฐประสบความสำเร็จก่อน

ระเบิดปรมาณูนั้นมีบางคนกล่าวว่าเป็นสงครามทางฟิสิกส์ ต่างกับการใช้ดินปืนที่ใช้อำนาจระบิดและความร้อนจากปฏิกิริยาทางเคมี แต่ระเบิดปรมาณูนั้นใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางฟิสิกส์ ที่ให้อำนาจทำลายร้างรุนแรงกว่าระเบิดจากดินปืนเป็นอันมาก (ดูการแข่งขันที่แหลมคมนี้ได้จากหนังสือของนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ Jim Baggott ชื่อ Atomic : The First War of Physics and the Secret History of the Atomic Bomb, 1939-1949 เผยแพร่ปี 2009
สงครามทางฟิสิกส์ดูจะพัฒนาไปเร็วกว่าสงครามทางเคมีเป็นอันมาก โดยหลังจากนั้นไม่นานก็มีการสร้างระบิดนิวเคลียร์ขึ้น ในปัจจุบันได้มีการพัฒนา อาวุธเลเซอร์ ระเบิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และปืนคลื่น/รังสีความร้อน (Heat wave/ Heat Ray Gun) ขับไล่ม็อบและทหารข้าศึก ของสหรัฐที่ว่านำมาใช้ที่สงครามอิรัก

นอกจากนี้ มีข่าวด้านรัสเซียในสื่อตะวันตกเช่นนิตยสารการเงินฟอร์บส์ว่าจะพัฒนาปืนคลื่นพลังงานที่ยิงทำลายสมองของคน ทำให้คนกลายเป็นเหมือนมนุษย์ซอมบี้ เรียกกันในสื่อตะวันตกว่า "ปืนซอมบี้"
คาดหมายว่าสงครามในอนาคตยิ่งมีความรุนแรงโหดเหี้ยม มีสมรภูมิในทั่วทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบนบก ในน้ำ บนอากาศ ไปจนถึงในอวกาศ และไซเบอร์สเปซ รวมทั้งสงครามข่าวสาร ที่ประชาชนทุกคนจะถูกสอดแนม และสมองถูกควบคุมด้วยวิธีการต่างๆ

สงครามโลกครั้งที่ 3 หากเกิดขึ้นน่าจะเป็นสงครามเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบ หลังสงครามนี้แล้วมนุษย์จะรบกันด้วยไม้กระบองอย่างที่ไอน์สไตน์กล่าว



.