.
“กาก้า”ใส่“ชฎา”
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 80
จะว่าแปลกหรือเปล่าก็ไม่รู้
แต่ฉันเป็นคนไม่อ่านหนังสือพิมพ์
ไม่อ่านมานานพอสมควรแล้วตั้งแต่เริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองก็มีสิทธิเป็นข่าวได้
ยิ่งตอนนี้มามีโลกอยู่ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเลยเป็นอันแทบจะขาดกันอย่างสมบูรณ์
แต่ "ไม่อ่านข่าว" กับ "ไม่เสพข่าว" เป็นคนละเรื่องกัน
ถึงไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ฉันก็ยังรับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกได้อีกหลายช่องทาง ซึ่งฉันว่าออกจะสนุกกว่ามาก
เพราะอ่านได้จากหลายสำนักทั้งข่าวกระแสหลักและกระแสรอง
เลือกมองได้หลายแง่มุมได้โดยไม่มีอะไรมาปิดกั้น
และสำหรับข่าวในรอบสัปดาห์นี้ก็สนุกสนานบันเทิงปนดราม่าได้โดยที่ฉันไม่ต้องอ่านข่าวบันเทิงด้วยซ้ำ
ไล่มาตั้งแต่ข่าวการสอบเข้าของโรงเรียนดังโรงเรียนหนึ่ง ที่เรียกว่ามีการใช้อำนาจและสิทธิในการต่อรองที่ไปไกลเกินกว่าการสอบหรือจ่ายแป๊ะเจี๊ยะธรรมดาในสมัยที่ฉันยังเป็นนักเรียนไปหลายขุม
เริ่มจากการอดข้าว, ขู่จะเผาตัวตาย ไปจนถึงการเข้าพบผู้ใหญ่ของบ้านเมืองให้ช่วยเหลือ
ถ้าฉันเป็นผู้ใหญ่ท่านนั้นฉันก็อาจจะออกลูกกระอักกระอ่วนนิดๆ ว่ามาขนาดนี้จะไม่รับปากก็กระไรอยู่
จะช่วยก็ดูก้าวล่วงอำนาจ ว่าแล้วเด็กคนอื่นๆ ที่เขาสู้อ่านหนังสือมาตั้งแต่ประถมเพื่อสะสมผลคะแนนจนมาสอบติดได้เรียนต่อเขาจะรู้สึกอย่างไรกันเล่า
จะไม่ช่วยก็แล้งน้ำใจกระไรเลย เขามารอกันออกพร้อมหน้าแถมก้มกราบเท้าเป็นฝักถั่ว
นักข่าวก็ถ่ายรูปแชะๆ กันอย่างมันมือ
ก็ไม่รู้ว่าที่อื่นในโลกจะมีอะไรแบบนี้บ้าง อาจจะหนักข้อกว่านี้
แปลกประหลาดกว่านี้หรือแสนจะตรงไปตรงมาด้วยเหตุผลกว่านี้จนเรารู้สึกมันไร้หัวจิตหัวใจไปเลยก็ได้
ถ้าเทียบกับวิถีไทยๆ แบบที่เราเห็นกันอยู่
เขียนมาอย่างนี้ก็อาจจะมีคนมาหาว่าฉันนี่แสนจะจับผิด แสนจะไม่รักความเป็นไทย
แต่จริงๆ แล้วจะรักหรือไม่มันก็ไม่ใช่ประเด็นไปทุกอย่างหรอก
และคำว่า "ความรักทำให้คนตาบอด" นี่ก็ใช้ได้กับทุกแง่มุมอย่างไม่เคยล้าสมัย
จะว่าไปฉันเองก็เบื่อๆ กับอาการรักอะไรมากๆ จนหน้ามืด เอามาค่อนแคะกระแนะกระแหนคนอื่นที่เขาคิดไม่เหมือนเต็มทีเหมือนกัน
เคยอ่านหนังสือของ อ.ประชา สุวีรานนท์ เรื่องอัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทยๆ
อาจารย์สรุปไว้เรื่องหนึ่งได้น่าสนใจมากว่าคำว่าไทยนั้น
หากต่อไม้ยมกเข้าไปข้างท้ายจะกลายเป็นมีลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่ความเป็นไทยธรรมดา
แต่เป็นวิถีทาง วัฒนธรรม และแนวคิดรวมไปถึงการปฏิบัติทันที
ถ้าจะเทียบให้ทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็อาจจะตรงกับคำว่า "Thailand Only" ของ คุณอุดม แต้พานิช
หรืออย่างหนังสือเล่มนี้ที่ฉันยกมาก็ตรงและได้ใจไม่แพ้กัน
เมด อิน ไทยแลนด์
นวพล-ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้-เป็นคนมีอารมณ์ขัน
หลายคนอาจขมวดคิ้วนิ่วหน้า ว่านวพลเป็นเด็กสมัยใหม่ จะมาเข้าใจอะไรแบบไทยๆ ได้ซักแค่ไหนกัน
แต่อย่างหนึ่งก็คือโลกต้องการมุมมองที่แปลกใหม่เสมอ เพราะคนเก่าๆ นั้นก็มีแต่จะตายจากเราไป ทิ้งมรดกแบบไทยๆ อันคลุมเครือไว้กับเรา
นวพลจึงหยิบเรื่องต่างๆ ขึ้นมาคิด ตีความ และพยายามทำความเข้าใจในแบบของเขา
ซึ่งในมุมมองของฉันนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องไม่ผิด สมควรทำอย่างยิ่งแล้วยังสนุกมากด้วย
เพียงแต่คุณต้องเป็นคนใจกว้างและมีอารมณ์ขันสักหน่อยเท่านั้นเอง
ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อการมอบรางวัลที่พอจะอนุมานได้ว่าเป็นรางวัลสำหรับคนดีแก่หนุ่มนายหนึ่ง ซึ่งเคยก่อเรื่องราวเป็นข่าวคราวมานับไม่ถ้วน
การเกาะกระแสสังคมที่เอาคนที่ดังขึ้นมาไม่ว่าจะจากทางใดมาออกอัลบั้มโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม
แบบฝึกหัดสำหรับนักเรียนประถมซึ่งมีคำถามหลากหลายประเภท
หรือวัฒนธรรมประกอบการรับปริญญา เป็นต้น
ฉันอ่านไปก็ขำไป ชอบอกชอบใจอยู่คนเดียว
ดูเหมือนว่า ตอนนี้การมีอารมณ์ขันในหมู่ผู้คนชาวไทยดูจะแห้งเหือดหายไปยังไงก็ไม่ทราบได้
คงเหลือแต่การขำอะไรกันไปตามแกน อะไรที่แปลกๆ หรือตั้งข้อสงสัย
หรือประชดประชันแสบๆ คันๆ นั้นแทบจะเลือนหายไปหมดท่ามกลางกระแสการจับผิดและตรวจสอบคุณธรรมความดีกันอย่างเข้มข้นจนน่ารำคาญใจในบางครั้ง
เหมือนกับข่าวการมาเยือนเมืองไทยเพื่อเล่นคอนเสิร์ตของ เลดี้ กาก้า ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ
คงไม่ต้องเล่าอีกกระมังว่านางได้กล่าวอะไรไว้ในทวิตเตอร์ของนาง หรือนางได้ทำอะไรบนเวทีคอนเสิร์ต
ไม่ค่ะ ประเทศเราไม่มีของปลอม ของปลอมที่แพร่ระบาดนั้นมาจากประเทศอื่น และแม้แต่ในทำเนียบขาวก็ยังมีของปลอมวางขายเกลื่อนเกร่อ
ไม่ค่ะ ชฎาเป็นของมีครู จะเอามาสวมเล่นแบบนี้ไม่ได้ ใส่ลบหลู่แบบนี้ระวังจะมีอันเป็นไปในสามวัน เจ็ดวันนะคะ
ก็ตลกดีนะคุณผู้อ่าน
ฉันว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระมากกับการดราม่าในทุกมิติองศากับการมาเยือนของศิลปินนางนี้ จนตอนนี้ได้ข่าวว่าแว่วๆ ว่าเริ่มมีการกล่าวหากันแล้วว่าใครที่ไปดูกาก้าวันนั้นทำตัวไม่เหมาะสม ทำไมไม่อยู่บ้านเพื่อดูการถ่ายทอดการเสด็จพระราชดำเนินที่ทุ่งมะขามหย่องกันเล่า
อันนี้ฉันว่าเกินไปจริงๆ ใครโดนกล่าวหาแบบนี้ก็คงจะเสียใจที่ความรัก ความชอบ
และความภักดีที่เป็นส่วนตัวของเราโดนวัดด้วยมิติเดียว มิติของการอยู่หรือไม่อยู่บ้านเท่านั้นเอง
แล้วนางก็ยังจะชื่นชมเราเสียอีกว่าเป็นดินแดนเสรีที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกแบบทุกประเภท
ฟังเรื่องที่นางชื่นชมเราแล้วก็นึกถึงคำของน้องที่รู้จักกันคนหนึ่งซึ่งกล่าวออกมาหลังจากการกล่าวของนางว่า "โถ กาก้าคงยังไม่ได้เข้าพันทิปสินะ" ขึ้นมาติดหมัด
ขืนเข้าไปกาก้าอาจต้องร้องไห้กระซิกแล้วหลบไปเลียแผลใจในซอกมุมที่ลึกที่สุดของจักรวาลเป็นแน่
แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคนเห็นใจนางก็มีมาก อาจเพราะแอบรู้สึกผิดที่ไปดูมาเหมือนกัน หรือไม่ก็อาจเพราะการเข้าอกเข้าใจและให้อภัยฝรั่งคนหนึ่งเป็นเรื่องเก๋ไก๋สมควรทำ และทำแล้วดูดีอย่างยิ่งได้ไม่ยาก
ไม่เหมือนกับการเข้าใจ ให้อภัย หรือเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน แต่ดันมาทำตัวไม่ถูกใจ ไม่เข้าทาง ไม่เข้าข้าง แบบนั้นมันเกินอภัย แถมต้องเสียดสี สาปแช่ง ตามจองล้างจองผลาญในนามของความดีงามกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่เลยเชียวหรือ
อันนี้ฉันไม่รู้ว่าเป็นแนวคิดแบบไหน
แต่อย่าให้เมด อิน ไทยแลนด์เลยนะ
ขอร้อง
++
เล่นบท “แม่” !
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 80
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ยุ่งเหยิงมากสำหรับฉัน
มีหนังที่เล่นจะฉายเรื่องนึงเลยต้องเดินทางทำการโปรโมตหนัง
ถ่ายรายการสองรายการ
ปิดกล้องหนังเรื่องหนึ่ง
ถ่ายละครเรื่องหนึ่ง
และเปิดกล้องละครอีกเรื่องหนึ่ง
ความน่าสนใจคือละครทั้งสองเรื่องนั้นฉันเล่นเป็นแม่
เรื่องหนึ่งมีบุตรน้อยจ้อยจิ๋วสองคน
แต่อีกเรื่องนั่นมีลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว
หลายคนรู้เข้าก็อาจจะเบะปากว่า "อี๋ เล่นเป็นแม่"
แต่ฉันกลับเฉยๆ แฮะ
ส่วนหนึ่งก็คือฉันรู้สึกสบายดีในฐานะที่ประกอบอาชีพเป็นนักแสดง ทำมันเป็นงานหลักหาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว การเดินทางผ่านเวลาในอาชีพนี้มา 20 ปี ก็ไม่ใช่น้อยๆ เลย มาถึงจุดที่ได้เล่นเป็นแม่คนโดยไม่หลุดวงโคจรอาชีพไปเสียก่อนก็เลยไม่ใช่เรื่องแย่อะไร
อย่างที่สองคือฉันเล่นเป็นสตรีที่มีบุตรมาตั้งแต่อายุ 18
ลูกเล็กมั่ง โตมั่งตามประสา ถ้าวัดเทียบเอากับความเป็นจริงว่าเกิดฉันมีลูกตั้งแต่อายุ 18 จริงๆ ป่านนี้ลูกฉันก็โตเป็นหนุ่มแล้ว
นี่ก็เรื่องธรรมดาอีก
แต่มันก็คงยังไม่ธรรมดาอยู่ดีในสายตาสื่อมวลชน
ทั้งๆ ที่เพิ่งบ่นให้คุณได้ฟังไปเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนว่าอย่ามาถามฉันเลยเรื่องแต่งงานมีครอบครัวก็ยังไม่วายโดนถามอยู่ดีตอนไปบวงสรวงเปิดกล้องละคร ว่าเล่นเป็นแม่แล้วเหรอ (ไม่ได้ถามหน้านิ่งๆ ปกติ แต่ทำหน้าตื่นตกใจในระดับมากมายพอสมควร) ถามแบบนี้จะให้ฉันตอบว่าไง ก็ต้องว่าใช่น่ะซี
แล้วแน่นอนว่าคำถามก็ต้องโยงไปสู่เรื่องชีวิตรักส่วนตัว
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักหรอก ประเด็นจริงๆ ที่ติดอยู่ในหัวฉันก็คือมันแปลกจริงๆ เหรอ
ที่ผู้หญิงอายุสามสิบกว่าจะมีลูก
หรือเหล่าสื่อมวลชนคิดว่าฉันยังเด็กอ่อนเอ๊าะใสปิ๊ง
การมีลูก (ซึ่งหมายความรวมไปด้วยว่าต้องมีผัวแน่ๆ) จึงเป็นเรื่องน่าตกใจเหลือล้นพ้นประมาณ หรือคิดแทนฉันว่า "โถ แม่คุณ ชีวิตจริงดูสิ้นหวังเลยมามีลูกผัวเอาในโลกแห่งละครเอาสินะ"
อันนี้ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน
อีกเรื่องที่ติดอยู่ในใจฉันคือภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ฉันยังไม่ได้ดู
แต่พอรู้เรื่องย่อแล้วก็ชอบอกชอบใจมากๆ นั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง Moonrise Kingdom
ภาพยนตร์ของ เวส แอนเดอร์สัน เรื่องนี้ว่าด้วยหนุ่มน้อย สาวน้อยคู่หนึ่ง รักกัน อยากใช้ชีวิตร่วมกัน แล้วก็เลยหนีตามกันไป
บอกมาแค่นี้ดูธรรมดาใช่ไหม? มันไม่ธรรมดาตรงที่หนุ่มสาวทั้งสองนั้นเป็นลูกเสือสำรอง อายุไม่น่าจะเกิน 13 ปีนั่นเอง เลยก่อความปั่นป่วนชุลมุนวุ่นวายในหมู่-ผู้ใหญ่-รอบๆ ตัวเขา ทั้งพ่อ แม่ ครู นักสังคมสงเคราะห์ต้องออกตามหาตัวกันให้วุ่นไปหมด
เรื่องวัยอันสมควรมีครอบครัวนี่ฉันเคยพูดเอาไว้ตั้งแต่ครั้งทำหนังของตัวเองแล้ว
ว่าจริงๆ วัยอันสมควรนั้นขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
ในสายตาของสังคมมันอาจขึ้นอยู่กับคนรอบตัว คนในครอบครัว วัย ฐานะ อาชีพ
แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเองเท่านั้นแหละ มีก็คือมี และไม่มีก็คือไม่มี มันก็เท่านั้น
วัยอันสมควรมีครอบครัว
มันวัยไหนกันนะ
มันคือวัยไหนกัน
ฉันเองก็ตอบไม่ได้ชัด
แต่ถ้าไปถามแซม ผู้หลงใหลคลั่งไคล้สเก็ตบอร์ดว่าวัยอันสมควรคือวัยไหน วูบแรกเขาคงตอบมาว่าวัยไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ 16 ปี
ก็แซมอายุ 16 ปี ชีวิตกำลังเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุด (แน่นอน, นี่คือความเห็นของเขา) แต่อยู่ๆ ก็โดนกระชากกลับลงมาติดพื้นด้วยความจริงอันเรียบง่ายว่า-แฟนสาวของเขากำลังท้อง"
วายป่วง อันนี้วายป่วงแน่นอน
หลายคนอาจจะรู้สึกว่าใช่, มันป่วงแน่ๆ เพราะแซมอายุ 16 และแฟนเขาก็เป็นเยาวชนพอๆ กัน
แต่ฉันกลับรู้สึกว่าเอาเข้าจริงๆ อายุก็ไม่ใช่ประเด็น มันเป็นที่ความพร้อมต่างหาก
คุณอาจจะเถียงว่าก็อายุ 16 มันจะไปพร้อมได้ยังไง อ้าว...ทำไมไม่ลองคิดดูบ้างว่าสมมติคุณอายุซัก...35 แล้วแฟนของคุณเดินมาบอกว่าเธอท้อง ฉันว่าคุณก็ตายวายป่วงพอๆ กันแหละ
ของแบบนี้ไม่มีใครรับมือได้ดีกว่าใครหรอกไม่ว่าจะอายุแค่ไหน คุณก็ตกใจได้เท่าๆ กัน
แต่ถ้าคุณใช้ชีวิตอยู่กับใครซักคนตอนอายุ 16 และไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับความจริงข้อนี้
การท้องของคู่รักคุณมันก็อาจจะไม่เป็นปัญหาเรื่องความตกใจไปมากกว่าการมานั่งจินตนาการถึงเพศของเด็กในท้อง หรือการตั้งชื่อลูกหรอก
นิก ฮอร์นบี ยังคงเขียนถึงความไม่เข้าท่าและสารภาพความในใจของผู้ชายร่วมสมัยได้สนุกเหมือนเดิม
ต่างกันเพียงว่าจากที่เขาเคยเขียนถึงผู้ชายในวัยผู้ใหญ่ ผู้ที่ชีวิตก้าวล่วงสู่วัยกลางคน
และกำลังประสบวิกฤติแห่งวัยที่ไม่ประสานกับความน่าจะเป็นของโลกรอบตัวนั้น
เขามาเขียนถึงเด็ก...ที่กำลังประสบปัญหาใกล้เคียงกันกับตัวละครก่อนๆ ของเขา
เขายังคงเล่นกับ "ความเป็นผู้ชาย" ได้อย่างน่าขำปนเพลียใจไปพร้อมๆ กับล้อ "ความเป็นผู้หญิง" ได้น่ารักเหมือนเดิม
ใครที่ชอบอ่านงานของฮอร์นบีก็น่าจะถูกใจกันสำหรับเล่มนี้ รวมถึงฉันด้วย
แต่อ่านไปก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้ามันเกิดกับตัวเองแล้วจะเป็นอย่างไร
เรามีวิธีรับมือกับปัญหาได้ไม่เหมือนกัน ต่อให้เป็นปัญหาเดียวกัน
ปัญหาที่สากลโลกยอมรับว่ามันเป็นปัญหาไม่ว่าเกิดกับใครก็ตาม
และปัญหาพวกนี้แหละที่ทำให้โลกหมุนและเปลี่ยนแปลงชีวิตเราทุกวัน
ไม่ใช่เรื่องที่ว่าฉันอายุเท่าไหร่ ทำไมยังไม่คิดจะแต่งงานมีผัวเป็นตัวตน หรือทำไมมาเล่นเป็นแม่เสียแล้ว
ปัญหาจากคำถามพวกนี้ตอบไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
นอกจากว่าอาจช่วยปลอบประโลมจิตใจคนบางคนที่มองว่าชีวิตอย่างฉันมันแย่กว่าเขาเท่านั้นเอง อ้าว แล้วกัน
ดันมาจบส่วนตัวเสียได้
ขออภัยและขอตัวไปเล่นเป็นบทแม่ก่อนนะคะ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย