http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-20

อนาธิปไตย, ทรราช และทีมฟุตบอล/ +“โคว้ต” โดย คนมองหนัง

.

อนาธิปไตย, ทรราช และทีมฟุตบอล
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 85


"สลาเวน บิลิช" นำทีมชาติโครเอเชียประเดิมสนามในฟุตบอลยูโร 2012 ด้วยการเอาชนะทีมชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ไปอย่างขาดลอย 3-1
บิลิช ซึ่งจะคุมทีมชาติโครเอเชียในทัวร์นาเมนต์นี้เป็นรายการสุดท้าย ก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมของสโมสรโลโคโมทีฟ มอสโก ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน
นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากบทสนทนาดังกล่าว


การ์เดี้ยน : ในฐานะนักยุทธศาสตร์ ดูเหมือนว่าคุณจะเน้นรูปแบบการทำทีมด้วยการให้คำแนะนำแก่ผู้เล่นเป็นรายบุคคล มากกว่าจะวางแผนการเล่นอย่างเป็นระบบให้แก่ทั้งทีม นั่นคือวิธีการทำงานของคุณใช่หรือไม่?
บิลิช : ในความเห็นของผม แผนการเล่น (อาทิ 4-4-2 หรือ 4-3-3 ฯลฯ) กำลังจะค่อยๆ ตายไปจากวงการฟุตบอล และบรรดาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยยืนยันความเห็นนี้ในอนาคต 
มันเป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เราจะกำหนดทิศทางการเคลื่อนตัวเข้าหาบอลของผู้เล่นในสนาม ด้วยการระบุจำนวนนักฟุตบอลที่แน่นอนไปยังแนวผู้เล่นแต่ละแถว 
ความยืดหยุ่นจึงกลายเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า คุณต้องทำให้ทีมของตัวเองมีความกระชับอัดแน่นอยู่ตลอดเวลา ผู้เล่นในแต่ละแนวต้องอยู่ไม่ห่างจากผู้เล่นแถวอื่นๆ เพื่อจะสามารถแทนที่ซึ่งกันและกันได้ 
คุณต้องแน่ใจว่าจะไม่มีช่องว่างใดๆ เกิดขึ้นกับทีมของคุณ และช่องว่างเหล่านั้นมักเกิดขึ้นกับทีมฟุตบอลที่จัดวางแนวผู้เล่นไว้อย่างตายตัว ซึ่งฝ่ายตรงข้ามที่มีคุณภาพจะสามารถมองหาจุดอ่อนของทีมฟุตบอลประเภทนี้ได้เสมอ แล้วพวกเขาก็จะลงมือฆาตกรรมคุณ
แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบของทีมจะมีความสำคัญน้อยลง ระบบการทำงานร่วมกันอย่างเป็นอัตโนมัติ คือ พื้นฐานของทุกสิ่ง

การมีระบบที่ดีเท่านั้น ที่จะช่วยให้ผู้เล่นของคุณเปล่งศักยภาพส่วนบุคคลของพวกเขาออกมาในเชิงบวก ผมไม่เคยประเมินคุณค่าของภาวะปัจเจกชนนิยมและเรื่องแรงบันดาลใจส่วนตัวให้ต่ำกว่าความเป็นจริง 
ทว่า หากปราศจากระบบที่ไว้ใจได้ การด้นสดใดๆ ก็จะกลายสถานะเป็นเพียงแค่สภาวะอนาธิปไตย แม้ภาวะสับสนอลหม่านของอนาธิปไตยจะสามารถทำให้คุณชนะได้ในบางครั้ง บางคราผลลัพธ์ของมันก็ดียิ่งกว่าผลการแข่งขันอันเกิดจากแผนงานที่คุณวางเอาไว้
แต่สภาวะดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการทำงานในระยะยาว


การ์เดี้ยน : โครเอเชียมักมีผู้เล่นที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูงอยู่ในทีมเสมอ อยากทราบว่าแท็กติกของคุณได้รับอิทธิพลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติโครเอเชียชุดที่ 3 ฟุตบอลโลกปี 1998 ซึ่งมีผู้เล่นเป็นเพลย์เมกเกอร์ตัวทำเกมถึง 3 คน บ้างหรือเปล่า?
บิลิช : ผมได้รับอิทธิพลจากทีมชาติโครเอเชียชุดนั้นเป็นอย่างมาก เพราะนั่นทำให้ผมได้ตระหนักว่าการเล่นฟุตบอลรูปแบบไหนที่เหมาะสมกับบุคลิกของเรามากที่สุด 
และในปัจจุบัน เราก็มีผู้เล่นที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูงจำนวนมากอยู่ในทีมเช่นกัน เป้าหมายของผมไม่ใช่การสร้างระบบขึ้นมารายล้อมพวกเขา และไม่ใช่การจัดวางพวกเขาเข้าไปในระบบใดระบบหนึ่ง 
สิ่งที่ผมพยายามทำ ก็คือ การบอกกรอบความคิดให้แก่พวกเขา และด้วยความฉลาดหลักแหลมของบรรดาผู้เล่น เราก็สามารถคาดหวังได้ว่าการประสบความสำเร็จจะเกิดขึ้นตามมา


การ์เดี้ยน : คุณเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมไม่กี่คน โดยเฉพาะในระดับทีมชาติ ที่ส่งผู้เล่นแนวรุกลงสนามมากถึง 5 หรือ 6 คน การจัดตัวแบบนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาจะให้ทีมเล่นเกมรุก หรือว่านั่นคือความจำเป็น เพราะทีมชาติโครเอเชียมีผู้เล่นในแนวรุกมากกว่าแนวรับ?
บิลิช : มันเกิดจากแนวคิด "ปฏิบัตินิยม" โดยแท้จริง แน่นอนว่าผมชอบการเล่นบอลแบบที่เน้นการผ่านและครอบครองบอลเพื่อทำเกมรุก มากกว่าการทำลายเกมเพื่อเน้นตั้งรับ แต่ประเด็นที่คุณต้องคิด ก็คือ อะไรคือสิ่งที่เหมาะสมกับทีมของคุณมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากตัวผู้เล่นที่มีอยู่ 
เมื่อผมเริ่มรับงานคุมทีมชาติ ผมและผู้ช่วยได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงตัวผู้เล่นที่เรามีอยู่ และตระหนักว่ามันจะเป็นการดีกว่า ถ้าเรามุ่งให้ความสำคัญไปกับบรรดาผู้เล่นในแนวรุก 
เราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เราจะมีโอกาสชนะทีมที่แข็งแกร่งกว่าได้ก็ต่อเมื่อเราใส่ผู้เล่นเกมรุกลงไปในสนามให้มากเข้าไว้ ถ้าเราเลือกเล่นในรูปแบบอื่น ศักยภาพของทีมจะไม่ดีพอ และบรรดานักเตะก็จะไม่มีความสุขในการลงสนาม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะใช้ผู้เล่นแนวรุกเป็นจำนวนมาก แต่แผงหลังอันแข็งแกร่งก็ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเกมการเล่นของเรา เราไม่สามารถยิงประตูคู่แข่งให้มากเท่ากับประตูที่เราเสียไปได้ หากกองหลังของทีมเต็มไปด้วยรูพรุน 
คุณคงรู้จักคำกล่าวที่พูดกันมานานแล้วว่า ศูนย์หน้าคือแผงหลังแนวแรกของทีม แต่นั่นก็เป็นเพียงโวหารที่ถูกนำไปใช้กระตุ้นทีม อย่างไรก็ดี ในฟุตบอลยุคปัจจุบัน ผู้เล่นในตำแหน่งกองหน้าต่างมีภาระหน้าที่ในการลงมาช่วยเกมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองหน้าทีมชาติโครเอเชียของผม...


การ์เดี้ยน : คุณติดตามกระแสฟุตบอลระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง... ในทัศนะของคุณ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดของกีฬาประเภทนี้?
บิลิช : ถ้าเป็นเมื่อก่อน มันอาจเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างแท็กติก เช่น การแข่งขันระหว่างเชลซีกับลิเวอร์พูล ในศึกแชมเปี้ยนส์ลีก (ปี 2005) ที่กลายเป็นสมรภูมิบนกระดานหมากรุกระหว่าง โฮเซ่ มูรินโญ่ กับ ราฟาเอล เบนิเตซ ซึ่งประตูหรือเป้าหมายมีความสำคัญกว่ารูปแบบการเล่นหรือวิธีการ 
แต่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าว...

กวาร์ดิโอล่า ได้เข้ามาปฏิวัติมุมมองที่บรรดาโค้ชมีต่อกีฬาฟุตบอล แม้จะเป็นความจริงว่า บาร์เซโลน่าเล่นเกมรุกที่เปี่ยมเสน่ห์มาก่อนหน้านั้น และการเล่นบอลแบบ "ติกี้-ตาก้า" (การต่อบอลสั้น ให้ผู้เล่นเคลื่อนที่เร็ว และเน้นการครอบครองบอล) ก็มีที่มาจาก โยฮัน ครอยฟ์ และ การ์เลส เรซัส 
ทว่า บาร์ซ่าก็ไม่เคยเล่นฟุตบอลได้อย่างที่พวกเขาเล่นภายใต้การทำทีมของเป๊ปมาก่อน 
การเล่นฟุตบอลของบาร์เซโลน่าในยุคกวาร์ดิโอล่า ได้สร้างอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อโค้ชฟุตบอลรายอื่นๆ เพราะทุกคนต้องการจะเอาเยี่ยงอย่างทีมที่ดีที่สุด ทีมฟุตบอลส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงพยายามเล่นฟุตบอลอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลาย 
แม้แต่พวกอิตาเลียนก็ยังหันมาเล่นฟุตบอลแบบนี้ ทั้งในระดับทีมชาติและสโมสร ยกเว้นเพียงแค่อินเตอร์ มิลาน และสโมสรเล็กๆ ในกัลโช่ เซเรีย อา ไม่กี่ทีมเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทั่งกวาร์ดิโอล่าเข้ามาคุมบาร์ซ่า

ตอนนี้ เกือบทุกคนจึงตระหนักว่านอกจากต้องเน้นผลการแข่งขันแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการ ก็คือ พวกคุณเล่นฟุตบอลอย่างไร แน่นอนว่า แฟนบอลจะยอมรับคุณ ตราบใดที่คุณประสบความสำเร็จในการแข่งขัน 
แต่ในระยะยาว พวกเขาต้องการความบันเทิง และต้องการความสนุกสนานระหว่างชมการแข่งขัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมกีฬาฟุตบอลจึงต้องการเสน่ห์ดึงดูดใจและความสนุก...


การ์เดี้ยน : ใครคือโค้ชฟุตบอลที่มีอิทธิพลต่อคุณมากที่สุด และคุณเรียนรู้อะไรจากพวกเขาบ้าง? 
บิลิช : ผมไม่เคยวางแผนชีวิตว่าจะมาเป็นโค้ชฟุตบอลมาก่อน แต่แล้วสโมสรฮัจดุ๊ก สปลิต ก็มีข้อเสนอมายังผม และผมจำเป็นต้องตอบรับ นับแต่นั้นมา ผมก็มีอาการติดเชื้อไวรัสการเป็นโค้ชฟุตบอล 
จากนั้น ผมได้ศึกษาวิธีการทำทีมจากสองผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดในยุคนั้นอย่าง อาร์แซน เวนเกอร์ แห่งอาร์เซนอล และ มาร์เชลโล ลิปปี แห่งยูเวนตุส พวกเขาเพียงแค่ยืนยันว่าสิ่งที่ผมรู้สึกมาตลอดคือเรื่องถูกต้อง

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งแตกต่างเป็นอย่างยิ่งกับหลักการทำทีมฟุตบอลแบบโบราณในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ก็คือ คุณไม่อาจประพฤติตนเป็นทรราชที่หวังจะได้รับความเคารพจากบรรดาผู้เล่น 
อำนาจอาญาสิทธิ์ประการเดียวที่คุณต้องการ ก็คือ อาญาสิทธิ์อันเกิดขึ้นจากความรู้ที่คุณมี...




++++

Quote ของปี 2554

“โคว้ต”
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 85



"คุณมีอะไรทิ้งท้ายให้ทบทวนก่อนไปเลือกตั้งไหม" 
"ระหว่างความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตขนาดนี้ ความเข้าใจผิด การวิเคราะห์ผิดเป็นเรื่องธรรมดา ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ นักวิชาการ หรือว่ามวลชน ก็คงจะเคยวิเคราะห์สถานการณ์ผิดมาบ้าง คุณควรเก็บรักษาชีวิตเอาไว้เพื่อผิดต่อไปในวันข้างหน้า ไม่ควรด่วนตาย คนเราควรจะรีบด่วนตายก็เมื่อคิดว่า เราถูกแน่"

(รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ, "การเมืองไทยไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม," เรื่องโดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, นิตยสารจีเอ็ม ฉบับประจำเดือนมิถุนายน 2554)




"อยู่ ใช่อยู่อย่างหงอๆ หรือท้อแท้
อยู่ ใช่เอาแต่เซ็ง บ่น เบื่อ เศร้า
อยู่ ใช่ยอมให้กดขี่ขยี้ชำเรา  
อยู่ ใช่วันๆ เมา ไม่ทำอะไร

อยู่ ต้องอยู่อย่างผู้กล้าท้าทายรัฐ 
อยู่ ต้องจัดชีวิต ความคิดใหม่
อยู่ ต้องจำใครฆ่า ใครว่ายังไง 
อยู่ ต้องสร้างเครือข่ายเสรีชน

อยู่ เราอยู่ด้วยข้อมูลและความรู้ 
อยู่ เราสู้ด้วยสัจจะและเหตุผล
อยู่ เราสู้ "บนดิน" ต้องอดทน
อยู่ แม้บางทีบางหนคนเสียดแทง

อยู่ ยิ่งเขาใหญ่ลำพอง เราต้องอยู่ 
อยู่ เรียนรู้และติดตามความขัดแย้ง 
อยู่ วิพากษ์วิจารณ์ สื่อ แสดง 
อยู่ เพื่อเปลี่ยนแปลงประกาศิตอวิชชา

อยู่ อย่างไรเราต้องมีชีวิตอยู่ 
อยู่ ด้วยรัก ตระหนักรู้ในปัญหา
อยู่ ปู่ ย่า ตา ยาย เคยอยู่มา 
อยู่ ยืนยันให้รู้ว่าเรากล้าสู้"

(บทกวีชื่อ "อยู่บ้านเรา" โดย "วรพจน์ พันธุ์พงศ์," หนังสือ "สถานการณ์ฉุกเฉิน," ชมคลิปการอ่านบทกวีชิ้นนี้ได้ที่ http://vimeo.com/25279989)




"มีคำกลอน 1 กลอน ซึ่งไม่ได้ต้องการจะเอาใจใคร ผมจำได้ว่าเราเคยได้รับการสอนสั่งมาตั้งแต่เป็นสมัยนักเรียน ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ ร.6 ความว่า "เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง ฤๅจะมุ่งมาศึกษา เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดกระนั้นฤๅ แท้จริงเจ้าควรคิด จงตั้งจิตและยึดถือ รับใช้ชาติไทยคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน" ทุกคนที่เป็นทหารยึดมั่นใจเจตนารมณ์อันนี้มาโดยตลอด" 
(พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก, หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2554)

"เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง 
หรือจึงมุ่งมาศึกษา
เพียงเพื่อปริญญา
เอาตัวรอดเท่านั้นฤๅ

แท้ควรสหายคิด 
และตั้งจิตร่วมยึดถือ
รับใช้ประชาคือ
ปลายทางเราที่เล่าเรียน"

(กาพย์ยานี 11 โดย "มนูญ มโนรมย์" - นามปากกาของ "นเรศ นโรปกรณ์")

"สังเกตคำว่า "แท้ควรสหายคิด" และ "รับใช้ประชา"
"ไม่ใช่ "แท้จริงเจ้าควรคิด" และ "รับใช้ชาติไทย" ตามสำนวนของเสธ.ไก่อู 
"การใช้คำว่า "สหาย" และ "รับใช้ประชา" เพราะนี่คือบทกวีของ ฝ่ายที่เรียกว่า "ฝ่ายก้าวหน้า" ในเวลานั้น"

(พ.อ.สรรเสริญ ปล่อย "ไก่อู" อ้างพระราชนิพนธ์ ร.6 "เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง" แท้จริงเป็นกลอน "นเรศ นโรปกรณ์," เว็บไซต์มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308223927&grpid=01&catid=02)

"พ.อ.สรรเสริญ กล่าวชี้แจงเรื่องนี้ว่า ตอนที่กล่าวถึงบทกลอนในครั้งแรกนั้น ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประพันธ์ จึงกล่าวว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 หรือเปล่า คาดว่าคงสื่อสารผิดพลาดจึงออกมาเป็นเช่นที่เป็นข่าว แต่ต่อมามีผู้ชี้แจงให้ตนทราบแล้วว่าบทกลอนดังกล่าวเป็นผลงานของใคร และมีที่มาอย่างไร 
"พ.อ.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า สำหรับบทกลอนที่นำมากล่าวถึงนั้น ตนเห็นมาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยบทกลอนนั้นแปะอยู่ข้างฝา ซึ่งการนำมากล่าวก็เพื่อสื่อว่าการทำหน้าที่ของทหารไม่ได้มีเจตนาอื่นใด เพียงแต่ทำเพื่อชาติและประชาชนเท่านั้น"
(โฆษก ทบ. ยอมรับร่ายกลอน "เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง..." สื่อสารผิด, เว็บไซต์มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308357712&grpid=&catid=02&subcatid=0202)



"สวัสดีครับท่านพี่น้องประชาชนที่เคารพ เหตุที่กระผมทำการพลีชีพเป็นครั้งที่ 2 โดยการทำลายตัวเองเพื่อมิให้เสียทรัพย์เหมือนครั้งแรกก็เพื่อลบคำสบประมาทของท่านรองโฆษก คปค. ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้"

...

"ความคิดผม เมื่อหายป่วยดีก็จะทำมาหากินขับรถ TAXI ไม่ก่อวีรกรรมอีกต่อไป แต่พบข้อความการให้สัมภาษณ์ น.ส.พ. ของท่านรองโฆษก คปค. ในเชิงปรามาสดังกล่าวก็เลยต้องสนองตอบกันหน่อย เพราะนิสัยคนไทยฆ่าได้แต่หยามไม่ได้ และเหตุผลที่ผมเลือกวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมเป็นวันพลีชีพเพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่วิญญาณของวีรชนที่สถิตอยู่ที่อนุสรณ์สถานฯ ที่ผมทำการพลีชีพนี้ได้เรียกร้องกระทั่งได้มาซึ่งประชาธิปไตย และวิญญาณของผมก็จะสถิตอยู่กับเหล่าวีรชนแห่งนี้ตลอดไป และขอยืนยันว่าปฏิบัติการทั้งสองครั้งทำด้วยใจ ไม่มีใครจ้าง

"สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก"

(จดหมายลาของ นายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ซึ่งประท้วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยการแขวนคอตาย)



"เคย "พับเพียบ" เงียบเชียบอย่างเรียบร้อย 
พอกล้ายืนกลับถูกสอยล่าสังหาร 
รัฐเลือดเย็นมือซ่อนเร้นมันสั่งการ 
เหลือเพียงร่าง "นอนนิ่ง" กลางนครา"

(กราฟฟิตี้บทกลอนที่ถูกเขียนขึ้นโดยกวีนิรนาม บนทางเท้าบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ขณะกลุ่มคนเสื้อแดงกำลังประกอบกิจกรรม "แพลงกิ้ง" เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2554)



.