http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-03

ชาวฮอลันดาสมัยอยุธยากับ คดีหมิ่นฯเดชานุภาพ 400 ปีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ชาวฮอลันดาสมัยอยุธยากับ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 400 ปีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 76


แทบไม่น่าเชื่อว่าบนแผ่นดินสยามเคยเกิดกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนานมาแล้วเมื่อเกือบ 400 ปี โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของคดี "หมิ่น" นั้นแทบไม่มีความแตกต่างอันใดเลย ระหว่างสมัยพระนครศรีอยุธยากับยุคปัจจุบัน 
กล่าวคือจำเลยผู้ถูกกล่าวหานั้น ต่างก็อยู่ในสภาวะที่ไม่มีสิทธิทันได้ตั้งเนื้อตั้งตัว แถมไม่รู้ว่าตนเองทำอะไรผิด ไม่ยอมให้มีการพิสูจน์ตัดสินด้วย "ธรรม" ให้ยุติ ก็ถูกลงทันฑ์โดยทันที 
และที่เหมือนกันอย่างมากก็คือไม่มีการเปิดเผย "ข้อความ" ที่ว่าหมิ่นนั้นหมิ่นอย่างไร  
โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำหนักโทษอันรุนแรงขั้นประหารชีวิต ไม่เปิดโอกาสให้มีการประกันตัว
และทางออกสถานเดียวที่จะพ้นผิดได้ก็คือต้องยอมก้มหน้ารับว่าหมิ่นจริง  
จากนั้นเข้าสู่กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ


เหตุเกิดที่วัดวรเชษฐ์ 
ชะตากรรมกลาสีเรือ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2180 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (2172-2199) แห่งกรุงพระนครศรีอยุธยา โดยหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุของฮอลันดา ได้บันทึกอย่างละเอียดว่า 
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1637 (พ.ศ.2180) คณะของ นายเรนิเย ฟอน ซัม (Renier Van Treem) ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการห้างแห่งหนึ่งของฮอลันดา ได้ลงเรือไปทัศนาจรตามแม่น้ำเจ้าพระยา กระทั่งถึงวัดวรเชษฐ์อันร่มรื่น (ในเอกสารเรียกว่าวัด Boeurettiet) ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับอุทยานหลวงของเจ้าชายองค์หนึ่ง 
คณะพากันขึ้นฝั่งแล้วนั่งเล่นพูดคุยอย่างสนุกสนาน มีพระสงฆ์หลายรูปมาขับไล่ให้ออกไปจากที่นั่น ดูเหมือนว่าวัดนี้เป็นสถานที่ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาประพาสอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุที่มีชื่อเสียงในทำนองว่าศักดิ์สิทธิ์ 
พวกดัตช์โต้คารมกับพระสงฆ์ 2-3 คำ แล้วก็ถอยออกมา แต่แล้วเมื่อเพลาคล้อยเย็น ผู้ช่วยของนายเรนิเยสองคนคือ นายโยส ลอเรนเสน (Joost Laurensene) และ นายดาเนียล จาคอบเสน (Daniel Jacobsene) ได้แอบเดินเลาะเลียบไปตามชายฝั่งน้ำ จนเกิดทะเลาะกับข้าทาสบางคนของเจ้าชาย

เข้าใจว่า "เจ้าชาย" ที่จดหมายเหตุฮอลันดาบันทึกไว้โดยมิได้ระบุนามในที่นี้คงหมายถึง "พระศรีสุธรรมราชา" ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าปราสาททอง ขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็น "อุปราช" 
ส่วนวัด "บัวเรอเทียต" (Boeurettiet) ก็น่าจะหมายถึงวัดวรเชษฐาราม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชวังหลัง ถือว่าเป็นวัดแห่งเดียวในอยุธยาที่มีสภาพคล้ายเกาะคือมีลำน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน 
ที่ว่าศักดิ์สิทธิ์และสำคัญนั้น ก็คงเนื่องมาจากเป็นวัดที่พระเอกาทศรถสร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรผู้เป็นพระเชษฐา จึงชื่อวัดวรเชษฐาราม ปัจจุบันชาวบ้านเรียก "วัดวรเชษฐ์ใน" เพราะยังมีวัดวรเชตุเทพบำรุงตั้งอยู่นอกเมืองอีกวัดหนึ่งที่มีชื่อคล้ายกัน ชาวบ้านเรียก "วัดวรเชตุนอก" 
ส่วนประเด็นที่ว่าวัดวรเชษฐ์ (เชตุ) ไหนที่พระเอกาทศรถใช้เป็นพระเมรุถวายพระเพลิง พร้อมบรรจุพระบรมอัฐิของพระเชษฐานเรศวรไว้ภายในสถูป ยังไม่มีข้อยุติแน่ชัด

การทะเลาะกันครั้งนั้นนายโยสและนายดาเนียล ได้ถูกจับกุมตัวนำไปเข้าเฝ้าพระศรีสุธรรมราชาทันที ทำให้นายวาณิชชาวดัตช์ทั้งคณะต้องร้อนรนติดตามไปขอตัวเชลยกลับคืนมา โดยเตรียมของกำนัลไปแลกด้วย  
แต่ยังมิทันได้พูดอะไรสักคำ ขุนนางข้าทาสจากพระราชอุทยานกลับระดมขว้างก้อนหินใส่คณะนายเรนิเย จนได้รับบาดเจ็บต้องถอยกลับไปที่เรือ ซ้ำชาวสยามยังวิ่งไล่ล่าตามมาโจมตีอย่างเหี้ยมโหดดุดันด้วยก้อนหิน ดาบใบกว้าง หอก แหลน ง้าว ไม่ต่างจากขบวนการล่าแม่มดในโลกออนไลน์ปัจจุบัน 
เท่านั้นไม่พอ ชาวอยุธยายังจับคณะพ่อค้าและลูกเรือทั้งหมดมัดมือมัดเท้าเสมือนนักโทษ นำตัวไปเข้าเฝ้าอุปราช จากนั้นก็พาไปยังบ้านออกญาพระคลัง  
ที่นั่นพวกเขาถูกไต่สวนตลอดคืน เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นต้องตกใจด้วยข้อกล่าวหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เพราะบังอาจบุกรุกพระราชวัง

ผู้ต้องหาคดีหมิ่น นอกเหนือไปจากนายโยส นายดาเนียล แถมด้วยนายเรนิเย หัวหน้าทีมแล้ว พ่อค้านายอื่นๆ อาทิ ไอแซก เคียร์ดิก (Isach Keerdyck) กับพ่อค้าฟอนฟริก (Van Vreek) ที่ร่วมเรือลำเดียวกันก็พลอยโดนหางเลขถูกไต่สวนในคดีหมิ่นนี้ด้วย 
คำพิพากษาโทษคือให้ประหารชีวิตหมดทั้งคณะ ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงและคนแก่ ก่อนอื่นให้ประจานกลางเมืองด้วยจับตีตรวนผูกไว้กับหลักรอให้ช้างเหยียบตาย อันเป็นโองการของ "พระเจ้าแผ่นดินทรราชปราสาททอง" (ในเอกสารระบุไว้เช่นนั้น เนื่องจากพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษกมาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิสายพระนเรศวร-ทรงธรรม)

ชาวดัตช์ถูกจับตากแดดตากลมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ในขณะที่หลายคนเกือบจะตายด้วยกระไอแดดเผาระคนความทุกข์ทรมานจากบาดแผล พลันมีพ่อค้าฮอลันดากิตติมศักดิ์ที่ทำสัมปทานหนังกวางและเคยแบ่งปันผลประโยชน์กับพระเจ้าปราสาททองมาหลายปี ขี่ม้าขาวเข้ามาเกลี้ยกล่อมกษัตริย์ให้เห็นใจพร้อมกับยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินเลขหลักงาม

ในที่สุดก็มีการปล่อยตัวนายเรนิเย นายไอแซก นายฟอนฟริกและคนอื่นๆ ยกเว้นแต่นายโยส-นายดาเนียล สองคนนี้เท่านั้นที่ต้องถูกประหารชีวิต เพราะถือว่าเป็นผู้ก่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 
นช. คดีหมิ่นทั้งสองนายถูกจับขังไว้ 16 วัน ในระหว่างนั้นผองเพื่อนชาวดัตช์พยายามวิ่งเต้นต่อรองยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอีกหลายครั้ง 
ในที่สุดเพื่อเห็นแก่มิตรภาพ "สยาม-วิลันดา" นช. จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ต้องเสียค่าของขวัญเป็นกำนัลถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน 6 รายการ รวมเงิน 502 เหรียญมัทราส ถวายพระอนุชาศรีสุธรรมราชา 8 รายการ เป็นเงิน 117 เหรียญมัทราส และมอบแก่ออกหลวงสมุทราชมนตรี ขุนนางผู้ประสานการปรองดองอีก 40 เหรียญมัทราส

การใช้ระบบเงินสกุลอินเดียในสมัยพระนครศรีอยุธยานั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะบริษัทต่างชาติทั้งปอร์ตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา เริ่มเปิดสถานีการค้าครั้งแรกที่อินเดียมาก่อนที่จะขยายสาขามายังอุษาคเนย์  
เอกสารฮอลันดาบันทึกไว้เพียงแต่ว่า ภายหลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว คณะพ่อค้าของนายเรนิเย ได้ขอย้ายออกจากพระนครศรีอยุธยา ไปประจำอยู่ที่เมืองมะละกา และในที่สุดก็ลาออกจากบริษัทพากันเดินทางกลับประเทศเนเธอร์แลนด์โดยเร็ว



จากยุคพระเจ้าปราสาททองถึง ม.112

ชาวฮอลันดาจัดเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางเข้ามาสู่สยาม ตามหลังชาวปอร์ตุเกสราวหนึ่งศตวรรษเต็ม นับจากปี พศ.2147 จวบปัจจุบันก็รวมเวลาได้ 408 ปีแห่งความสัมพันธ์ของสยาม-ฮอลแลนด์ 
อันที่จริง ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 ชาวอยุธยาเคยรู้สึก "ญาติดี" กับ "ชาวดอดชิ" (เรียกตามจารึกวัดโพธิ์) ยิ่งกว่า "ฝรั่ง" ชาติใดๆ เหตุเพราะการเข้ามาของฮอลันดานั้นมุ่งแต่การค้า ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องศาสนาและการเมืองภายใน 
ผิดกับ "ภารกิจของคนขาว" ชาติอื่นๆ ที่เชื่อว่าพระเจ้าส่งพวกตนมาปลดปล่อยซาตานที่ยังอนารยะ ฉะนั้น แม้ฮอลันดาจะเดินทางมาถิ่นอุษาคเนย์หลังปอร์ตุเกส แต่ก็สามารถยึดพื้นที่สถานีการค้าแถบมะละกา-ชวามาครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยปอร์ตุเกสนั้นเน้นหนักไปทางการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก หรือแม้แต่ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาภายหลัง ยิ่งได้รับบัญชาสายตรงจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ปฏิบัติภารกิจหลักคือการโน้มน้าวคนพื้นเมืองให้เข้ารีตตามอย่างนิกายเยซูอิต 
ฉายาของพ่อค้าดอดชิคือ "การเมืองไม่ยุ่งมุ่งแต่การค้า"

ยุคก่อนหน้าพระเจ้าปราสาททอง บริษัท VOC (Verenigde Oostindische Compagnie) หรือที่รู้จักกันในนามของ บริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย ได้รับอภิสิทธิ์จากกษัตริย์อยุธยาให้ตั้งสถานีการค้าตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มานานกว่าสองร้อยปี เป็นห้างที่ใหญ่โตเกินหน้าเกินตาชาติใดๆ รวมทั้งบ้านช่องห้องหอของชาวดอดชิก็นับว่างามโอ่อ่าวิเศษสุดในสยาม 
ชาวดัตช์เมื่อเข้าไปอยู่ประเทศใด มักตีสนิทกับกษัตริย์เพื่อสิทธิพิเศษทางการค้าเหนือชนชาติอื่น ด้วยนโยบายยอมเป็นทหารรับจ้างช่วยอยุธยาทำสงครามกับคู่แข่ง 
อาทิ คราวพระเพทราชายึดอำนาจจากพระนารายณ์ซึ่งมีฝรั่งเศสแหนห้อม ถือเป็นโอกาสอันดีที่ฮอลันดาจักได้โค่นล้มศัตรูตัวฉกาจ จึงแอบส่งส่วยอาวุธสงครามให้แก่พระเพทราชา ถ้าพระนารายณ์แพ้ก็เท่ากับฝรั่งเศสพัง

แต่วาสนาของฮอลันดาบนแผ่นดินสยามนั้นลุ่มๆ ดอนๆ มิได้รุ่งโรจน์ตลอดรอดฝั่งเหมือนกับที่มะละกา ปัตตาเวีย ครั้งหนึ่งเคยเนื้อหอมเป็นที่โปรดปรานของพระเอกาทศรถกับพระเจ้าทรงธรรม แต่ครั้นสมัยพระเจ้าปราสาททองทั้งๆ ที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย กลับมีการตั้งข้อรังเกียจต่อชาวฮอลันดา ด้วยเห็นว่าพ่อค้าชาวดัตช์ชักจะเริ่มผูกขาดการค้ามากเกินไป ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อ "กองเรือสำเภาหลวง" ที่พระเจ้าปราสาททองสถาปนาขึ้นเพื่อคุมน่านน้ำในอ่าวไทย
ผลประโยชน์ที่กษัตริย์อยุธยาเคยได้รับจากดอดชิต่อเนื่องกันมาหลายรัชกาล จากการให้สัมปทานหนังกวาง อาจมีมูลค่าน้อยเกินไปเสียแล้วในยุคพระเจ้าปราสาททอง


บางทีเหตุการณ์ที่วัดวรเชษฐ์เมื่อ 10 ธันวา ปี 2180 อาจไม่ลุกลามบานปลายเข้าสู่ข้อหาคดีหมิ่น หากผู้คุมเรือสำเภานั้นไม่ใช่ชาวดัตช์

"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เป็นข้อหาที่จำเลยไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่าทำอะไรผิด ไม่ต้องถามหาเหตุผล จึงเป็นคดีที่สามารถจับมายัดใส่ชาวฮอลันดา ผู้เป็นเสี้ยนหนามทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียของพระเจ้าปราสาททองได้ง่ายกว่าคดีอื่น

ย้อนมามองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ม.112 ในยุคปัจจุบัน เมื่อเทียบดีกรีกับชาวดัตช์เมื่อ 400 ปีก่อนนั้นอาจไม่แตกต่างกัน คือจู่ๆ ก็สาดโคลนโยนข้อหาใส่ แต่ฉากจบนายวาณิชวิลันดายังได้รับการปล่อยตัว

ทว่า ยุคสมัยเรากลับมีการมองว่าทบทวีรุนแรงมาก



.