.
BEING FLYNN “เลือดพ่อ”
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 87
กำกับการแสดง Paul Weitz
นำแสดง Robert DeNiro
Paul Dano
Julianne Moore
Olivia Thirlby
Being Flynn สร้างจากหนังสือบันทึกความทรงจำในชีวิตจริงของ นิก ฟลินน์ ซึ่งลำบากลำบนต่อสู้ชีวิตจนกลายมาเป็นกวีคนหนึ่ง
โดยมีฝีมือการดัดแปลงบทและการกำกับของ พอล ไวซ์ ที่เคยกำกับหนังเบาสมองอย่าง American Pie และ Little Fockers รวมทั้งหนังดรามาเบาๆ อย่าง About a Boy
พ่อของนิก (พอล เดโน จาก There Will Be Blood) อ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าอเมริกามีนักเขียนที่ยิ่งใหญ่เพียงสามคน คือ มาร์ก ทเวน, เจ.ดี.ซาลินเจอร์ และ โจนาธาน ฟลินน์ คือตัวเขาเอง
แน่นอน สองคนแรกเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ตัวจริงในประวัติศาสตร์วรรณกรรมของอเมริกา แต่คนที่สามนั้นยังไม่ได้มีผลงานหนังสือออกมาสักเรื่องด้วยซ้ำ
โจนาธาน ฟลินน์ (โรเบิร์ต เดอนีโร) กำลังซุ่มเขียนหนังสือที่เขาอ้างว่าจะทำให้เขากลายเป็นนักเขียนที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา
นี่คือความหลงตัว หรือไม่ก็เป็นการสร้างภาพลวงให้ตนเองมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางชีวิตอันลุ่มๆ ดอนๆ ขี้เหล้าเมามาย เจ้าโทสะ เหยียดผิว เหยียดเพศ และหาเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวงไปวันๆ เข้าๆ ออกๆ จากคุกนั้นไปคุกนี้
เมื่อเริ่มเรื่อง โจนาธานหากินด้วยอาชีพขับแท็กซี่ และเป็นคนขับแท็กซี่เจ้าโทสะ ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เรานึกไปถึงหนังของเดอนีโรในยุคต้นๆ เรื่อง Taxi Driver (ฝีมือกำกับฯ ของ มาร์ติน สกอร์เซซี) ที่สร้างชื่อเสียงให้เดอนีโรก้าวขึ้นผงาดในทำเนียบนักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวู้ด หลังจากเริ่มเป็นที่รู้จักหน้าตาจากเรื่อง Godfather กลายเป็นนักแสดงฝีมือจัดจ้านที่สุดคนหนึ่งก่อนหน้ายุคของ ฌอน เพนน์
แต่เดอนีโรก็หันไปรับบทตลกพร่ำเพรื่อเสียจนดูเหมือนคิดจะโกยเงินอย่างเดียว เหมือนไม่เลือกเฉพาะบทดีๆ เล่นอย่างนักแสดงฝีมือดีทั้งหลาย
มีอยู่บางปีที่เราคนดูจะรู้สึกว่า เขารับเละเล่นหนังไม่รู้ว่ากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง เหมือนจะทำตามคำพังเพยที่ว่า "น้ำขึ้นให้รีบตัก"
กลับมาที่หนัง Being Flynn กันดีกว่า ชีวิตวัยเด็กของ นิก ฟลินน์ ไม่มีพ่ออยู่ด้วยเลย เขาโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่ (จูเลียน มัวร์) คนเดียว ไม่เคยเจอหน้าค่าตาของพ่อ นอกจากจดหมายนับร้อยฉบับที่ส่งมาจากในคุกนั่นเอง
เมื่อนิกโตขึ้น แม่ก็ลาจากโลกอันโหดร้ายไปด้วยการฆ่าตัวตาย ทิ้งให้นิกลอยคว้างอยู่กับความรู้สึกผิดต่อมาอีกนาน เขาได้แต่โทษตัวเองว่า
เป็นสาเหตุทำให้แม่ตาย
นิกใช้ชีวิตเละเทะ เสพยา ไม่ซื่อสัตย์ต่อสาวที่เขาอาศัยบ้านอยู่ จนต้องระเห็จออกไปหาที่อยู่เอง และสาวคนใหม่ในชีวิต ชื่อเดนีส (โอลิเวีย เธิร์ลบี) ซึ่งไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่ผูกมัด แต่สิ่งดีที่เดนีสมีอิทธิพลต่อนิก คือเธอแนะนำให้เขาเข้าทำงานช่วยเหลือสังคมในศูนย์พักพิงคนไร้ที่อยู่อาศัย
ในจดหมายของพ่อที่นิกเก็บไว้อย่างดีทุกฉบับ พ่อพูดบ่อยๆ ว่าคนเราเกิดมาในโลกนี้ก็เพื่อช่วยเหลือคนอื่น และนั่นเป็นสิ่งที่นิกคิดจะทำเพื่อหาจุดหมายและสาระให้แก่ชีวิตอันลอยคว้างเปะปะของเขา
นิกสมัครเข้าช่วยงานในศูนย์สงเคราะห์คนไร้ที่อยู่อาศัย
จนกระทั่งวันหนึ่ง พ่อของเขาเดินเข้ามาเพื่อขอเข้าพักพิงที่ศูนย์นี้ ซึ่งสร้างความกระอักกระอ่วนให้เขาอย่างมาก
และทำให้เขาอึดอัดใจยิ่งขึ้นเมื่อโจนาธานเป็นตัวป่วนสร้างความวุ่นวายในศูนย์ จนกระทั่งกรรมการบริหารศูนย์ต้องลงมติไม่อนุญาตให้ผู้ชายคนนี้เข้าพำนักอีก
ผลของมตินั้นทำให้โจนาธานต้องระเห็จออกไปนอนอยู่กลางแจ้งท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็น และนิกต้องทำใจไม้ไส้ระกำดูพ่อของตัวเองกลายเป็นคนจรหมอนหมิ่น เร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย และปราศจากหลังคาคุ้มหัว
หนังเล่าเรื่องด้วยเสียงบรรยายของ นิก ฟลินน์ สลับกับ โจนาธาน ฟลินน์ และเดินเรื่องไปข้างหน้าสลับกับแฟลชแบ็กถึงชีวิตของนิกสมัยที่ยังอยู่กับแม่
โทนของหนังเป็นดรามาหนักอึ้งชวนหดหู่ และจังหวะของเรื่องในตอนกลางๆ ออกจะดูยืดยาดวนเวียนอยู่สักหน่อย
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของหนังก็พัฒนาไปแตกต่างจากสูตรของหนังที่ปูพื้นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกในทำนองนี้
เป็นการกลับมาเต็มฟอร์มอีกครั้งของ โรเบิร์ต เดอนีโร ที่หวนคืนสู่พรสวรรค์ทางการแสดงและกลับมาเล่นบทบาทดรามาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากช่วงเวลานับสิบกว่าปีที่ไม่มีผลงานการแสดงที่น่าสะดุดตาเลย
แม้จะมีบทไม่มากนัก แต่ จูเลียน มัวร์ ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวังในฝีมือการแสดงของเธอ
พอล เดโน ซึ่งเป็นนักแสดงดาวรุ่งของวงการ หลังจากบทบาทตรึงตราน่าประทับใจใน There Will Be Blood ที่เล่นอย่างเชือดเฉือนกับ แดเนียล เดย์-ลูวิส ที่ได้ออสการ์ไปครอง และบทบาทที่น่าจดจำใน Little Miss Sunshine พิสูจน์ตัวว่าสามารถเอาอยู่กับบทตัวเอกที่เล่นยาก คู่กับยอดฝีมือในฮอลลีวู้ดอย่างเดอนีโร นับว่าเขาได้แจ้งเกิดเต็มตัวในเรื่องนี้
Being Flynn เป็นหนังกระแสที่ห่างไกลจากการติดอันดับของบ็อกซ์ออฟฟิศ แต่ก็เป็นหนังที่มีองค์ประกอบลงตัวในหลายๆ ด้านที่ทำให้กลายเป็นดรามาที่ตรึงตราเรื่องหนึ่ง
++
บทวิจารณ์ของปี 2554
THE KIDS ARE ALL RIGHT “ครอบครัวล้ำยุค”
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1598 หน้า 87
กำกับการแสดง Lisa Cholodeko
นำแสดง Julianne Moore
Annette Bening
Mark Ruffalo
Mia Wasikowska
Josh Hutchinson
The Kids Art All Right แสดงภาพ "ครอบครัวสมบูรณ์แบบ" ที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นหมอ หาเลี้ยงคู่ชีวิตที่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน มีลูกสองคน มีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายในบ้านสวยงามของชนชั้นกลางระดับสูงในสังคมอเมริกัน
ลูกสาวคนโตอายุสิบแปดปี กำลังจะจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัย
ลูกชายอายุสิบเจ็ดมีปัญหาของวัยรุ่นทั่วไปที่อยากเป็นตัวของตัวเอง และพ่อแม่ทำอะไรไม่เคยถูกใจเลย และกำลังคบเพื่อนที่พ่อแม่เห็นว่าจะนำไปสู่หนทางเสื่อม
สิ่งเดียวที่ดูไม่ธรรมดาในสายตาคนทั่วไปสำหรับครอบครัวนี้คือ ครอบครัวนี้มีพ่อและแม่เป็นผู้หญิงทั้งสองคน
นิก (แอนเนต เบนิง) แต่งงานอยู่กินกับจูลส์ (จูลิแอนน์ มัวร์) มาร่วมยี่สิบปี และตัดสินใจที่จะมีลูกสองคน โดยต่างอุ้มท้องลูกคนละคน ด้วยการตั้งครรภ์จากสเปิร์มของผู้บริจาคนิรนามคนเดียวกัน
ดังนั้น ลูกทั้งสองจึงร่วมสายเลือดกันทางบิดา ลูกคนโตเกิดจากการตั้งท้องของนิก ได้ชื่อว่าโจนี (มีอา วาซิคาวสกา จาก Alice in Wonderland) ตามดารานักร้องผู้โด่งดัง โจนี มิตเชลล์ ซึ่งเป็นนักร้องคนโปรดของนิก
ลูกอีกคนเกิดจากครรภ์ของจูลส์ ชื่อ เลเซอร์ (จอช ฮัตชินสัน)
แค่ฟังจากชื่อของลูกทั้งสองคน ก็ส่อนัยให้เรารู้แล้วว่านิคเป็นผู้มีบทบาทผู้นำของครอบครัวนี้ เพราะเลเซอร์ก็น่าจะมาจากวงการแพทย์มากกว่าจะเป็นชื่อที่คนทั่วไปคิดจะตั้งให้ลูก
ในกรณีของการตั้งครรภ์เทียมจากผู้บริจาคสเปิร์มนิรนามนี้ รัฐธรรมนูญอเมริกันให้สิทธิแก่ผู้เป็นลูกที่อายุสิบแปดปีขึ้นไปที่จะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับพ่อแม่ที่แท้จริงของตนได้ ด้วยความยินยอมของตัวผู้บริจาคสเปิร์ม
เลเซอร์ซึ่งยังไม่ถึงวัยนั้น ขอให้โจนีติดต่อเพื่อขอข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โดยที่โจนีที่ไม่ได้อยากรู้เกี่ยวกับพ่อในสายเลือดนัก จำต้องตามใจน้องอย่างเสียไม่ได้ และโดยไม่ได้ปรึกษาบุพการีที่เลี้ยงดูมาทั้งสองคน
ปรากฏว่าผู้บริจาคสเปิร์มนั้นชื่อ พอล (มาร์ก รัฟฟาโล) ซึ่งเป็นหนุ่มใหญ่ที่ลืมความใฝ่ฝันในวัยรุ่นของตนที่จะอยู่ในวงการความสัมพันธ์นานาชาติไปเสียแล้ว และเลิกเรียนมหาวิทยาลัยหันมาปลูกพืชผักไร้สารพิษ และเปิดกิจการร้านอาหารของตน โดยที่อธิบายให้ใครๆ ฟังว่า เขาไม่อยากเสียเวลาเปล่าไปเรียนหนังสือหนังหา เพราะเขาเป็นคนประเภทชอบลงมือทำ ไม่ใช่คนประเภทที่ใช้สมองคิด
พอลเป็นคนง่ายๆ ประเภทที่ไม่ผูกพัน ไม่คิดมาก และ "อะไรก็ได้" การบริจาคสเปิร์มก็ทำตั้งแต่สมัยวัยรุ่นและไม่ได้คิดอะไรมากมาย ตามปรัชญาของพวกฮิปปี้รักอิสระเสรีที่ไม่ต้องการข้อผูกมัดอะไร
พอลตกลงจะพบปะทำความรู้จักกับเด็กทั้งสอง เพราะไม่อยากขัดใจใคร ด้วยท่าทีและทัศนคติ "ยังไงก็ได้" ตามแบบของเขา
แต่ผู้หญิงสองคนที่เป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและผู้เลี้ยงดูลูกทั้งสองมา ไม่พอใจเลยที่อยู่ดีๆ ก็จะมีพ่อในสายเลือดโผล่เข้ามาในครอบครัวอีกคน แต่ทัศนคติในการเลี้ยงดูลูกแนวสมัยใหม่ที่เปิดกว้างและไม่ปิดกั้น ทำให้คัดค้านไม่ถนัดนัก
พอลก้าวเข้ามาเป็น "ส่วนเกิน" ของครอบครัวจริงๆ โดยเฉพาะในขณะที่ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่กำลังเริ่มจืดจางเหินห่างจากเดือนปีที่อยู่ด้วยกันมานาน
จูลส์ซึ่งเรียนมาเป็นสถาปนิก แต่ไม่เคยได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในอาชีพการงาน เนื่องจากทำหน้าที่แม่บ้านผู้เลี้ยงดูลูกๆ มาตลอด เริ่มรู้สึกอยากจะมีงานมีการเป็นของตัวเอง จึงริเริ่มทำกิจการที่เธอเรียกว่า "งานภูมิสถาปัตย์" ในขณะที่นิคเรียกว่า "งานจัดสวน"
และพอลก้าวเข้ามาพอดีในจังหวะนี้ เพราะเขากลายเป็นลูกค้าคนแรกของจูลส์ ที่จะไปตกแต่งภูมิทัศน์ให้แก่บริเวณรอบๆ บ้านที่รกเรื้อของเขา
การไม่ได้รับความเอาใจใส่และการขาดความสำคัญที่บ้านทำให้เกิดเรื่องเลยเถิดไปอย่างที่ไม่มีใครตั้งใจให้เกิด
ซึ่งสร้างความร้าวฉานครั้งใหญ่ในสัมพันธภาพของครอบครัว และเป็นสิ่งคุกคามต่อการแตกแยกที่อาจจะตามมา
หนังเป็นทั้งดรามาและคอเมดีนะคะ และผสานลักษณะทั้งสองไว้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ไม่มากไม่น้อย ไม่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง
ที่โดดเด่นมากๆ คือการแสดงของนักแสดงหลักๆ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น แอนเนต เบนิง ที่ดูเหมือนจะเป็น "สามี" จอมบงการและถูกทรยศของครอบครัว ความละเอียดของอารมณ์ที่เธอแสดงออกนั้นหาตัวจับยากค่ะ
มาร์ก รัฟฟาโล ในบทหนุ่มใหญ่ผู้ใช้ชีวิตไม่เคร่งครัดกับกฎเกณฑ์ใดๆ และ "อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้" เป็นที่จับตา ถึงขั้นได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในบทนักแสดงสมทบ
ส่วน จูลิแอนน์ มัวร์ ก็พิสูจน์ความสามารถของนักแสดงฝีมือเยี่ยมอีกครั้ง และเล่นได้อย่างพอเหมาะพอดี
ส่วนที่ดีที่สุดอีกข้อหนึ่งของหนังก็คือ ตอนจบที่ไม่พยายามจนเกินไปที่จะคลี่คลายเรื่องให้ลงจบแบบชัดเจน แต่ทิ้งไว้สบายๆ เป็นนัยสำหรับให้เรื่องราวได้พัฒนาต่อไปเองตามทางของมัน โดยที่เราไม่ต้องตามไปรู้ไปเห็นต่อ
แม้จะพลาดออสการ์ไปทุกสาขาที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่หนังเรื่องนี้ก็กวาดรางวัลมาพอควร โดยเฉพาะเป็นหนังยอดเยี่ยมสาขาคอเมดีของบาฟตา (BAFTA)
ถ้าหนังไม่ได้เข้าโรง เพราะเนื้อหาไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม (เพราะแสดงภาพครอบครัวเพศเดียวกัน) หรือเพราะมีฉากหมิ่นเหม่ (ไม่มากไปกว่าอีกหลายๆ เรื่อง) ก็หาแผ่นมาดูกันได้นะคะ ควรดูอย่างยิ่งเลยละ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย