http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-26

ศิริพงษ์: “อะเมซอน”ให้ยืมอีบุ๊กฯ, หมากรุกไทยในแท็บเล็ต, โรคบ้าแอพ

.
บทความเพิ่ม - มองดู “ยูทูบ” เหลียวดู “ประชาไท” โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“อะเมซอน”ใจป้ำ ให้ยืมอีบุ๊ก แฮร์รี่ พอตเตอร์
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 100


วรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซีเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง นั้น คนทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี ยอดขายถึงวันนี้ปาเข้าไปมากกว่า 450 ล้านเล่มแล้ว 
นี่เป็นตัวเลขที่คนในอาชีพทำหนังสือเห็นแล้วตาโต ถึงจะเป็นวรรณกรรมเยาวชนก็เป็นแบบเด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี สนุกสนานชวนระทึก มีปมให้ลุ้นกันในทุกๆ ภาค รวมทั้งลุ้นภาคต่อไปด้วย

เมื่ออีบุ๊กเริ่มแพร่ขยาย สำนักพิมพ์และนักเขียนพากันนำต้นฉบับที่ถือลิขสิทธิ์อยู่ในมือไปแปลงให้อยู่ในรูปอีบุ๊กกันยกใหญ่ เว็บไซต์ขายหนังสือยักษ์ใหญ่อย่างอะเมซอนกรุยทางนำมาจนประสบความสำเร็จด้วยการขายเครื่องอ่านคินเดิ้ลและขายอีบุ๊ก คู่แข่งอย่าง บาร์นส์ แอนด์ โนเบิล ก็ออกเครื่องอ่านอีบุ๊กมาแข่ง และยังมีรายอื่นๆ รองๆ ลงไปอีกหลายเจ้า 
แน่นอนว่าหนังสือที่ขายดิบขายดีอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั้นไม่ว่าใครเจ้าไหนก็อยากได้ไปขายทั้งนั้น แต่ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ตอนแรกๆ ประกาศเลยว่าจะไม่ยอมให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกมาอยู่ในรูปอีบุ๊กแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเมื่อราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ออกมาเป็นอีบุ๊กจนได้ เพราะ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เขียนวรรณกรรมเยาวชนย่อมมองออกถึงอนาคตของอีบุ๊ก



แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 เล่ม ในรูปแบบอีบุ๊กเปิดขายผ่านเว็บไซต์ Pottermore ของเธอ ซึ่งสงวนสิทธิ์การขายไว้เจ้าเดียวเท่านั้น เมื่อเข้าไปซื้อผ่านเว็บไซต์อเมซอน หรือ บาร์นส์ แอนด์ โนเบิล หลังจากเลิกซื้อมันก็จะรีไดเร็กต์ไปยังพอตเตอร์มอร์ แต่อ่านได้บนเครื่องอ่านเฉพาะเท่าที่เป็นเจ้าของ หากผ่านมาจากอะเมซอนก็อ่านได้เฉพาะบนคินเดิ้ล หรือผ่าน บาร์นส์ แอนด์ โนเบิล อ่านได้เฉพาะบนนุกเท่านั้น เป็นต้น ใครเป็นเจ้าของเครื่องอ่านยี่ห้ออะไรก็เลือกซื้ออีบุ๊กในฟอร์แมตที่ตรงกับเครื่องอ่าน

ที่น่าสนใจก็คือเมื่อไม่กี่วันมานี้อะเมซอนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทั้งการขายหนังสือเล่มผ่านเว็บไซต์และยักษ์ใหญ่ในโลกของอีบุ๊ก เริ่มปล่อยอีบุ๊ก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 เล่มให้คนเป็นเจ้าของเครื่องอ่านคินเดิ้ลยืมอ่านได้หลายภาษา 
ครับ "ให้ยืมอ่าน" เท่านั้นไม่ได้ขาย โดยให้ยืมได้เดือนละครั้ง ไม่มีกำหนดส่งคืน ส่วนคนที่จะยืมอ่านได้คือคนที่เป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิก คินเดิ้ล ไพรม์ ที่เสียค่าสมาชิกปีละ 79 เหรียญ เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

เสียเงิน 79 เหรียญต่อปีดูเหมือนจะแพง แต่สำหรับคนเป็นนักอ่านและชอบดูทีวีดูหนังละก็ไม่แพงเลย เพราะมีหนังและรายการทีวีให้ดูฟรีกว่า 17,000 เรื่อง กับอีบุ๊กให้ยืมอีกมากกว่า 145,000 เล่ม 
การที่อะเมซอนยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาให้คนใช้เครื่องคินเดิ้ลยืมอ่านได้ ที่จริงแล้วก็คือการล่อคนเข้ามาเป็นสมาชิกอะเมซอน ไพรม์ นั่นเอง 
แนวคิดเรื่องห้องสมุดอีบุ๊กของคินเดิ้ลเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและคงจูงใจคนในสังคมที่รักการอ่านและมีรายได้สูงพอสมควร 
เมืองไทยถ้ามีแบบนี้บ้างก็ดี



++

หมากรุกไทยในแท็บเล็ต
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 100


ผมมีสมบัติอยู่ชิ้นหนึ่งที่ได้มาจากงานกรมราชทัณฑ์ ลาดยาว เมื่อหลายปีมาแล้ว น่าจะเกินสองปี เป็นชุดหมากรุกไม้สักขนาดย่อม ตั้งแต่ซื้อมาก็ไม่เคยได้เล่นกับใครเลย เพราะไม่มีคู่เล่น และไม่เคยขวนขวายจะหิ้วไปหาใครเล่นด้วยอีกเช่นกัน 
หลังจากซื้อมาและเก็บเอาไว้โดยไม่ได้ใช้งาน สุดท้ายก็ลืมเลือนมันไป จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันไปซุกอยู่ตรงซอกไหนของบ้าน จนกระทั่งเมื่อน้ำท่วมบ้านวินาศสันตะโรไปเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากเก็บข้าวของทิ้งไปครึ่งบ้าน ส่วนที่ไม่ต้องทิ้งก็เก็บมาล้างทำความสะอาด เจ้าชุดหมากรุกที่ว่านี่ก็โผล่มาวางเกะเกะอยู่ในห้องนอนที่แปรสภาพไปเป็นห้องเก็บของชั่วคราวระหว่างการซ่อมแซมบ้าน 
ตอนที่เจอชุดหมากรุกนั่น ผมบอกกับลูกสาวว่าเธอน่าจะไปซื้อตำราเล่นหมากรุกมาหัดไว้เล่นกับพ่อ แต่มันก็คงเป็นเรื่องยากเพราะลูกไม่ได้สนใจจะเล่น ขณะเดียวกันส่วนใหญ่เธอจะอยู่หอพัก นานๆ กลับบ้านสักครั้ง จึงเป็นอันจบไป


จนผ่านมาอีกเป็นเดือน มีอยู่ช่วงที่เกิดความรู้สึกว่าสมองคิดอะไรไม่ค่อยออก อยากให้สมองได้ออกกำลังกายบ้างก็คิดถึงหมากรุกขึ้นมา

ไหนๆ ก็ไฮเทคแล้วนี่ครับ เพราะใช้แท็บเล็ตอยู่เป็นประจำ ผมเลยคว้าเจ้าไอแพดมาเข้าแอปสโตร์เพื่อค้นหาหมากรุกไว้เล่น ไม่ได้เล่นกับคนเล่นกับคอมพ์ก็ยังดี ใจไม่คิดว่าจะเจอ เพราะหมากรุกที่จะเล่นเป็นหมากรุกไทย ไม่ใช่หมากรุกฝรั่ง แต่ปรากฏว่าเจอเข้าจริงๆ เมื่อใช้คำค้นว่า thai chess
เป็นแอพพลิเคชั่นหมากรุกไทยชื่อว่า PcketM for iPad พัฒนาโดยคนไทย บนแอนดรอยด์ ซิมเบียน กับแพลตฟอร์มอื่นบางตัวก็มีด้วยเช่นกันครับ 
PcketM เป็นหมากรุกที่ตั้งระดับการเล่นได้ 6 ระดับ ฝีไม้ลายมือของมันถือว่าเข้าทีทีเดียวสำหรับคนที่เล่นหมากรุกได้ระดับอนุบาลอย่างผม เพราะกว่าจะเอาชนะมันได้สักกระดานในระดับ 1 ก็กินเวลาเป็นวัน 
และหลังจากเลื่อนขึ้นไประดับ 3 หลายวันมาแล้วยังไม่เคยเอาชนะมันได้เลย


สรุปได้ว่าเป็นของเล่นบนแท็บเล็ตที่เพลิดเพลิน ได้ใช้สมอง รวมทั้งฝึกการคิดอย่างรอบด้านและสมาธิด้วย สังเกตได้ว่าเวลาผลีผลามเมื่อไหร่ เสร็จมันทุกที 
ก็คล้ายกับเล่นหมากรุกกับคนที่เก่งๆ ละครับ เสียแต่ว่ามันได้เปรียบเราตรงไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีความเหนื่อยความล้า และที่เสียมากยิ่งกว่าก็คือ เวลาเล่นหมากรุกกับคนจริงๆ นี่เขาต้องใช้มันสมองคิดด้วยเหมือนกัน หลังจากฝ่ายหนึ่งเดิน อีกฝ่ายหนึ่งก็ทอดเวลาคิด หลายครั้งคิดนานมากด้วย 
แต่แอพนี่มันไม่มีคิดหรอกครับ เราขยับปั๊บมันขยับราวกับกะพริบตา ซึ่งหมากรุกเวลาจังหวะได้เปรียบแล้วขยับปั้งๆๆ แบบไม่ให้โอกาสได้หายใจ อีกฝ่ายจะถูกดดันมาก แต่เล่นกับแอพมันกดดันเราตลอดไม่เลิกรา...
เพราะมันไม่ใช่คน ต้องเข้าใจด้วย



++++
บทความของปี 2554 

โรคบ้าแอพ ในวันที่แอพล้นโลก
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1603 หน้า 100


หลายวันก่อน ผมคิดจะใช้เครื่องคิดเลข ก็เลยหยิบเอาไอพอด ทัช ซึ่งใกล้มือที่สุดมา เพราะมันมีแอพพลิเคชั่นเครื่องคิดเลขติดมากับเครื่องตั้งแต่แรกซื้อ ความแตกต่างอยู่ตรงที่ตอนนี้ไม่ใช่ตอนแรกซื้อที่มีแอพไม่กี่ตัวที่ติดมากับเครื่องเสียแล้ว แต่มีแอพพลิเคชั่นอยู่บนเครื่องร่วมร้อยตัว กินพื้นที่หน้าจอไปหลายหน้า 
ทีนี้ก็จำไม่ได้สิครับว่ามันอยู่ตรงไหน ผ่านไปสามวันถึงได้หาเจอ 
นี่ขนาดไม่ใช่พวกเล่นเกมนะครับยังมีแอพพลิเคชั่นเยอะขนาดนี้ นับได้ร่วมร้อยตัว ถ้าเป็นพวกชอบเล่นเกมมันจะเยอะขนาดไหนก็ไม่รู้

แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพา ไม่ว่าจะเป็นบนโทรศัพท์ หรือแท็บเล็ต จัดเป็นโลกใบใหม่หมาดๆ สำหรับคนยุคนี้ที่เข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัยเพราะความที่มันง่ายดายในการใช้ เมื่อเทียบกับประสบการณ์ในการใช้งานโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ มันนำไปสู่การสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ออกมาเต็มไปหมด


แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพานี่เจ้าที่มีมากที่สุดคือแอพบน iOS ของแอปเปิ้ล ในไอจูนส์ แอพ สโตร์ มีแอพพลิเคชั่นอยู่มากกว่า 350,000 ตัว มีทั้งของฟรีและเสียเงิน ปีหนึ่งๆ แอปเปิ้ลทำเงินจากแอพ สโตร์ ด้วยการกินค่าหัวคิวอย่างเดียวหลายหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ลองนึกภาพดูว่าลำพังแอพสำหรับการถ่ายภาพยังมีมากถึง 6,500 ตัว ในจำนวนนี้ 4,000 ตัว เป็นแอพขาย อีก 2,500 ตัว เป็นของฟรี แล้วนึกถึงว่าคนอยากจะได้แอพถ่ายรูปดีๆ สักตัวเพราะแอพถ่ายรูปที่มากับเครื่องทำงานได้ไม่ดีนัก กว่าจะได้ของดีที่ใช้แล้วใช่ คงต้องลงแรงค้นหาเป็นพิเศษหน่อย  
แอพถ่ายภาพและวิดีโอนี่ผมโหลดมาลงแล้วลบทิ้งไปนักต่อนัก แต่ขนาดนั้นตอนนี้ทั้งของฟรีและของที่ซื้อมาด้วยรวมแล้วก็ประมาณ 20 ตัว ทำให้ไม่น่าแปลกใจนักที่ทำไมของใช้บางอย่างเมื่อถึงเวลาต้องใช้แล้วต้องคลำกันเป็นวันๆ กว่าจะเจอ

อันดับสองที่รองลงมาคือแอพพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ ระบบปฏิบัติการน้องใหม่มาแรงที่กวด iOS ของแอปเปิ้ลมาติดๆ จากเดิมที่ห่างกันมากถึงเท่าตัวในเดือนมกราคม ตอนนี้แอพพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์พุ่งกระฉูดขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งถ้าอัตราการเติบโตของแอพพลิเคชั่นของทุกค่ายยังอยู่ในระดับเหมือนเดิมต่อไป ประมาณเดือนกรกฎาคม แอพพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ ก็จะก้าวทันแอปเปิ้ล และแซงหน้าไปเป็นอันดับหนึ่งได้
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่จะทำแอพพลิเคชั่นคงมองข้ามแอนดรอยด์ได้ยาก

การมีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้เยอะๆ ด้านหนึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่ความมีเยอะแยะมากมายของมันอีกด้านหนึ่งก็ชวนให้สับสนวุ่นวาย และเสียเวลาอยู่เหมือนกัน แทนที่จะมีของใช้เฉพาะที่จำเป็นๆ ใช้แล้วเป็นประโยชน์ เกิดผลิตภาพ ก็กลับมีอะไรต่อมิอะไรไม่จำเป็นบานเบอะเกะกะหน้าจอไปหมด
นอกจากนั้น ยังบ่มเพาะนิสัยไม่รู้จักพอไปด้วยพร้อมๆ กัน จะเกิดอาการนั่นก็ดี นี่ก็น่าจะใช้ โน่นก็น่าลอง เหมือนคนที่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันยั่วยวนใจตลอดเวลาจนอดใจไม่ค่อยจะไหว หาแอพใหม่ๆ มาเสพจนไม่เป็นอันกินอันนอน



สื่อต่างประเทศจำนวนมากจึงจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับแนะนำและวิจารณ์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อเป็นทางลัดสำหรับผู้อ่านในการเลือกแอพคุณภาพ 
ที่จริงหากเป็นคนมีระบบระเบียบและมีสมาธิเสียหน่อยก็คงไม่มีปัญหาอะไรนักกับเรื่องพวกนี้

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงคนใกล้ตัวที่สุดของผม เธอใช้โทรศัพท์เป็นโทรศัพท์อย่างเดียว อย่างอื่นๆ ทำไม่เป็นและไม่อยากทำด้วย แม้กระทั่งการส่งเอสเอ็มเอสก็เถอะ ทำไม่เป็น 
เพราะฉะนั้น ชีวิตเธอจึงไม่มีโรคบ้าแอพเข้ามาข้องแวะด้วย ขนาดใช้คอมพิวเตอร์ยังใช้อยู่แค่สามอย่าง คือ พิมพ์งานเอกสาร เปิดคาราโอเกะ และเปิดเว็บหาดูซีรี่ส์ 
นอกนั้นทำไม่เป็น และไม่อยากทำอีกเช่นกัน 
นับเป็นชีวิตที่ไม่วุ่นวายหนอจริงๆ



+++

มองดู “ยูทูบ” เหลียวดู “ประชาไท”
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:13:13 น.


ในปี 2551 เกิดคดีพิพาทกันขึ้นระหว่างบริษัททีวีฝรั่งเศส TF1 กับยูทูบ โดย TF1 ฟ้องร้องต่อศาลกล่าวหายูทูบละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับวิดีโอรายการทีวีที่มีคนเอาไปโพสต์ลงบนเว็บไซต์ หาว่ายูทูบทำกำไรจากค่าใช้จ่ายของ TF1
คดีนี้สู้กันมาเกือบห้าปี ในที่สุดศาลปารีสก็ตัดสินยกฟ้อง และให้ TF1 จ่ายค่าดำเนินการทางกฎหมายเป็นเงิน 80,000 เหรียญ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือคำตัดสินของศาลที่บอกว่ายูทูบไม่ใช่คนที่ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่คนโพสต์ลงบนยูทูบ และยูทูบไม่มีหน้าที่ที่จะไปควบคุมเนื้อหาเหล่านั้น 
TF1 บอกว่างงที่ศาลตัดสินเช่นนั้น และจะพิจารณาหาทางอุทธรณ์ต่อไป ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการอินเตอร์เน็ตชื่นชมกับคำตัดสินของศาลปารีส เพราะหากตัดสินให้ยูทูบผิด ก็จะเท่ากับการปิดกั้นนวัตกรรมและความคิดใหม่ๆ 

ยูทูบเป็นเว็บสำหรับการแชร์วิดีโอที่คนทั่วโลกนิยมกัน วิดีโอที่คนนำไปลงบนนั้นมีมากมายหลายหลาก ทั้งวิดีโอถ่ายเอง ขโมยถ่าย รวมไปถึงวิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้วไม่อนุญาต ทว่าแต่ละวินาทีจะมีวิดีโออัพโหลดขึ้นไปมากมาย ดังนั้น การติดตามตรวจสอบจึงเกินกำลัง  
เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเปิดช่องทางให้คนแต่ละคนมีบทบาทเป็นผู้กระทำ หากมองว่าเว็บไซต์เป็นสื่อมันก็เป็นสื่อสองทางแบบใหม่ ที่ทำให้คนแต่ละคนเป็นทั้งผู้รับสื่อและผู้ส่งสื่อผ่านตัวกลางคือเว็บไซต์ซึ่งมีสารพัดแบบ 
ในโลกอินเตอร์เน็ตที่คนทั่วโลกใช้กันอย่างกว้างขวางทุกวันนี้ ทำให้เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสเปล่งออกไปสู่ผู้คนในวงกว้าง เมื่อหลายปีก่อนนิตยสารไทม์ถึงได้ยกให้ You คือบุคคลแห่งปี 
เราจึงไม่ได้อยู่ในโลกใบเดิมๆ อีกต่อไป มีเว็บไซต์มากมายหลายประเภทที่เปิดช่องให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นออกไปสู่สาธารณชน มันไม่เหมือนหนังสือพิมพ์บนกระดาษที่คนอ่านแสดงความคิดเห็นผ่านจดหมายส่งไปยังผู้เขียนหรือบรรณาธิการ และบรรณาธิการก็พิจารณาก่อนว่าจะนำลงตีพิมพ์หรือไม่


การแสดงความคิดเห็นบนอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ทันทีทันควันมากมายหลายช่องทางโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของใคร หากวิดีโอ เพลง หรือข้อความที่ผู้ใช้โพสต์ไปเกิดปัญหา ขั้นตอนที่ควรจะเป็นก็คือแจ้งไปยังเจ้าของเว็บไซต์ให้ยับยั้งสิ่งที่เป็นปัญหานั้น และดำเนินการทางกฎหมายหากไม่ยินยอม รวมทั้งการสาวไปดำเนินการกับผู้กระทำผิดโดยตรง

กรณีของ "จีรนุช" แห่งเว็บไซต์ประชาไทเป็นกรณีที่สวนทางกับคำตัดสินของศาลปารีส เนื่องจากข้อความที่เป็นปัญหานั้นเมื่อได้รับทราบประชาไทก็ลบไปจากเว็บไซต์แล้ว
แต่เธอก็ยังถูกตัดสินว่ามีความผิด เพราะว่าการปล่อยให้ข้อความมีปัญหาดังกล่าวปรากฏอยู่นานถึง 20 วันถือว่านานเกินไป แม้จะไม่จงใจหรือสนับสนุนการนำข้อความนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ก็ต้องรับผิดชอบ 



.