.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนเรื่อง“กระบอกศาล”
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:50:14 น.
แกนนำเสื้อแดงในจังหวัดที่ผมอยู่กำลังระดมคน, วัสดุและทรัพย์ เพื่อเตรียมขนคนลงกรุงเทพฯ ในการต่อต้านรัฐประหาร
ปาหี่ของ ปชป.ในสภา และการชุมนุมของพันธมิตรและเสื้อหลากสี ทำให้แกนนำเสื้อแดงระดับชาติ เชื่อว่าการรัฐประหารกำลังจะตามมา ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ ม.291 ก็กลายเป็นสัญญาณที่ทำให้เสื้อแดงเชื่อว่าสภาวการณ์ไม่ปกติแล้ว และการรัฐประหารจะเป็นความปกติที่สุดในความไม่ปกติทางการเมืองไทย
หากการรัฐประหารหมายถึง การยกกำลังของกองทัพออกมายึดอำนาจ ผมไม่คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะนำไปสู่การรัฐประหาร
ปาหี่ของ ปชป.คือการส่งสารว่า ระบอบรัฐสภาไม่สามารถตัดสินใจทางการเมืองได้แล้ว แต่ปัญหาของ ปชป.ก็คือจะส่งสารถึงใคร? หากต้องการส่งถึงกองทัพ ผมคิดว่ากองทัพไม่ได้รับสารนั้น แต่เห็นเป็นกลการเมืองที่กองทัพไม่เกี่ยว อย่าลืมว่าการตัดสินใจยึดอำนาจด้วยกำลังนั้น กองทัพไม่เคย (หรือแทบไม่เคย) ตัดสินใจคนเดียว ต้องมีกลุ่มทางการเมืองอื่นๆ หนุนหลังอยู่พอสมควรด้วย
กลุ่มการเมืองที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือคนในวงธุรกิจ กลุ่มนี้แสดงปฏิกิริยาที่ไม่ชื่นชมต่อการชุมนุมของพันธมิตรและเสื้อหลากสีเอาเลย ผู้ใหญ่ในวงการนี้ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้าวิตกกังวลว่า สภาวะจลาจลที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นย่อมไม่เป็นผลดีแก่ธุรกิจ (ซึ่งพวกเขาชอบเรียกว่าเศรษฐกิจ) เอาเลย
กลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่มีความสำคัญหายตัวไปจากเวทีของพันธมิตรและเสื้อหลากสี เช่น นายทหารเก่า, ตำรวจเก่า, หรือข้าราชสำนักเก่า แม้แต่เครือข่ายของ ส.ส.ส.ยังไม่ปรากฏตัวบนเวทีเลย
อันที่จริง นับตั้งแต่ 2549 กองทัพยังไม่เคยออกมายึดอำนาจอีกเลย ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งใหญ่ไม่เคยให้ผลที่กองทัพพอใจสักครั้งเดียว สภาพของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลังจากถูกยึดสนามบินแล้วนั้น เหมือนผลไม้ที่คั่วเหี่ยวจนใกล้หล่นเต็มประดา แค่เป่าแรงๆ ก็หล่นแล้ว กองทัพก็ยังไม่เคลื่อนออกมาอย่างเคย ทำได้เพียงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร
ยึดอำนาจนั้นง่าย แต่ประเมินพลังและรูปแบบการต่อต้านหลังจากนั้นยังทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ก็วางแผนยุทธการไม่ได้เหมือนกันว่า แล้วจะจัดการอย่างไรต่อไป
แกนนำเสื้อแดงซึ่งเจนการเมืองกว่าผมแยะก็น่าจะอ่านออกเหมือนกัน ดังนั้นเสียงเรียกร้องให้รวมพลังต่อต้านรัฐประหารจึงเป็นการเตรียมการที่เหมือนไม่ได้เตรียมอะไร เช่นให้ทุกคนมาชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทำอะไรก็ไม่ทราบ นอกจากเป็นเป้าให้สไนเปอร์ แกนนำเสื้อแดงในจังหวัดผมบอกให้มาลงชื่อขึ้นรถไว้ ส่วนรถจะออกเมื่อไร ยังไม่ทราบ
เป็นไปได้ว่า เสื้อแดงต้องแสดงพลังในช่วงนี้ ไม่ใช่เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจด้วยกำลัง แต่เพื่อเป้าหมายอื่นทางการเมืองมากกว่า
รัฐประหารด้วยกำลังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ไม่ได้ไปเสียแล้ว อย่างน้อยก็ยังใช้ไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ ด้วยเหตุดังนั้น การแทรกแซงการเมืองของชนชั้นนำจึงต้องใช้วิธีอื่น (จะเรียกรัฐประหารหรือไม่ก็ตามที) โดยเฉพาะ "ตุลาการภิวัตน์"
และในครั้งนี้ ก็เป็นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 กำลังจะเปลี่ยนระบอบปกครอง จึงได้ออกคำสั่งให้สภาชะลอการลงมติวาระที่ 3 ของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 แต่การออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นนี้ (ซึ่งย่อมไม่มีผลใดๆ) มีเจตนาที่จะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่?
ผมคิดว่าเจตนาไม่ได้อยู่ตรงนั้น
ผู้ร้องอาจไม่ทราบว่า ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น จำเป็นต้องยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุด แต่ศาลรัฐธรรมนูญทราบ เพราะแม้แต่ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าสิทธิพลเมืองในเรื่องนี้ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ยากที่จะคิดว่า บุคคลซึ่งเป็นองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านกฎหมายไม่แตกได้ถึงเพียงนั้น และยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ที่คิดว่าเขาเหล่านั้น ประเมินไม่ได้ว่า นักกฎหมายอื่นๆ อีกมากในประเทศไทยจะไม่สามารถมองเห็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยเจตนาของศาล และชี้ให้สาธารณชนเห็น
แม้กระนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็รับเรื่องราวจากผู้ร้องไว้พิจารณา ซ้ำยังออกคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะคำร้องนั้นอีก เจตนาจึงไม่น่าจะมุ่งไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย เพราะอุปสรรคทางกฎหมายที่ขวางกั้นทำให้ดูจะเป็นไปไม่ได้เอาเลย มันโจ่งแจ้งเกือบไม่ต่างอะไรจากการยึดอำนาจด้วยกำลังทหาร จะต้องเผชิญกับการต่อต้านไม่ต่างกัน สู้ใช้กำลังทหารมาแต่ต้นเลยมิง่ายกว่าหรือ
เจตนาของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเจตนาทางการเมืองเฉพาะหน้า คือเจตนาที่จะให้การกระทำของตนมีผลต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ม.291 ของรัฐธรรมนูญที่กำลังจะผ่านวาระ 3 นั้น เกือบจะเหมือนการให้เช็คเปล่าแก่ ส.ส.ร. ไม่ได้สงวนหมวดใดหมวดหนึ่ง (เช่นหมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวดว่าด้วยบทเฉพาะกาล) ไว้มิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ซ้ำ ส.ส.ร.ก็ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง เพราะมองเห็นแล้วว่าการหนุนช่วยของพรรคการเมืองในพื้นที่จะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้เป็น ส.ส.ร. เหลือพรรคการเมืองอยู่เพียงสามพรรคที่จะเข้าไปต่อรองกติกาใหม่กันในสภาร่าง คือ เพื่อไทย, ปชป. และภูมิใจไทย ส่วนสมาชิกที่มาจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ต้องผ่านการเลือกของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง
ลองคิดเปรียบเทียบกับสภาร่างครั้งแรกที่ได้จากการเลือกตั้งและคัดสรรใน พ.ศ.2539 ความไม่น่าไว้วางใจของสภาร่าง ซึ่งจะเกิดใน พ.ศ.นี้ ยิ่งเห็นได้ชัด ในครั้งแรกนั้น ความเคลื่อนไหวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาจากแรงผลักดันของ ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ศ.นพ.ประเวศ วะสี ภายใต้รัฐบาลที่ค่อนข้างเชื่อฟังคือรัฐบาลพรรคชาติไทยซึ่งมีคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี และในที่สุดคนที่เข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญของสภาก็มีเช่นคุณอานันท์ ปันยารชุน และ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ในเชิงการเฉลี่ยแบ่งปันอำนาจตามโครงสร้าง สภาร่างใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะไม่เหมือนกับสภาร่างเดิมซึ่งผลิตรัฐธรรมนูญ 2540 ออกมาเลย
นอกจากหมวดพระมหากษัตริย์ และบทเฉพาะกาล (ซึ่งกระทบต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง) แล้ว รัฐธรรมนูญใหม่จะยังมีข้อความเหล่านี้อยู่ต่อไปหรือไม่ เช่น รัฐต้อง "สนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด", "ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง", "ดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม" ฯลฯ
อันที่จริง มีผู้แสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญไทยวางกรอบการบริหารงานของรัฐไว้อย่างรัดกุมและละเอียดเสียจนกระทั่ง การเลือกตั้งและเลือกนโยบายเกือบจะไร้ความหมาย ที่จริงแล้วแนวนโยบายแห่งรัฐ หรือข้อกำหนดอื่นที่กระจายไปตามหมวดต่างๆ นั้น คือข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มอำนาจอันหลากหลายในบรรดาชนชั้นนำไทยนั่นเอง
แต่เมื่อสังคมไทยมีกลุ่มอำนาจใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในหมู่ชนชั้นนำเกิดมากขึ้นเช่นในปัจจุบัน ข้อกำหนดเหล่านั้นอาจไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ และ ส.ส.ร.ที่กำลังจะได้มา อาจกินเหล็กกินไหลพอจะรื้อมันออกทั้งหมด หรือบางส่วน หรือเพิ่มข้อกำหนดใหม่ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจใหม่ทั้งหลายก็ได้
คำสั่งที่ไร้ผลทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคำเตือนอันหนักแน่นของชนชั้นนำ (ซึ่งไม่ค่อยเห็นลู่ทางที่จะเข้าไปต่อรองในสภาร่าง) ว่าความเป็น "ประชาธิปไตย" ที่จะเพิ่มลงไปในรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ขอให้จำกัดอยู่เพียงเรื่องของวุฒิสมาชิก, ที่มา-อำนาจ-และบทบาท ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ หากจะล่วงล้ำเข้าไปสู่ข้อกำหนดอื่นๆ ก็ใช่ว่าชนชั้นนำจะไม่มีทางตอบโต้เสียเลย เพราะข้อกำหนดเหล่านั้นเป็นเรื่องอ่อนไหว
(เรื่องทักษิณซึ่งเป็นประเด็นปลุกระดมนั้น ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเล็กที่ชนชั้นนำไม่ห่วงนัก เพราะอย่างที่ผมเคยกล่าวแล้วว่า ผมเชื่อว่าได้มีการเจรจาตกลงกันได้ระดับหนึ่งแล้ว)
หากสภาเลื่อนการพิจารณาวาระ 3 ออกไป ก็มีผลให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ตกไป ซึ่งก็ดีแล้ว หากไม่ฟังคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและพิจารณาต่อ คำเตือนนี้ก็ดังพอที่ทั้งสมาชิกรัฐสภาและ ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นได้ยินและตระหนักแล้ว
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย