http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-24

สรกล: ไฟที่ปลายอุโมงค์, ศิลปะทางการเมือง

.

ไฟที่ปลายอุโมงค์
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 23:27:00 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2555)


ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีมติรับ 5 คำร้องของวุฒิสมาชิกและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีมาตรา 68 ในวันที่ "ม็อบพันธมิตร" ชุมนุมล้อมสภากรณี พ.ร.บ.ปรองดอง 
สถานการณ์การเมืองอาจไม่เป็นเหมือนที่เห็นในวันนี้

เพราะวันนั้น กลุ่มพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ 
เนื้อหาใน พ.ร.บ.ปรองดองฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เรียกแขกได้ดีมาก  
ทั้งศัตรูของ "ทักษิณ" ที่ไม่เห็นด้วยทุกเรื่อง แต่นั่งบ่นอยู่ที่บ้านก็ลงแรงลุกขึ้นมาค้านนอกบ้าน 
กลุ่มคนที่อยู่กลางๆ ที่อยู่เฉยๆ ก็ไม่เห็นด้วย  
ที่สำคัญคือกลุ่ม "คนเสื้อแดง" จำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นแนวร่วมของ "ทักษิณ" ก็ส่ายหน้ากับการนิรโทษกรรมคนที่สั่งฆ่าประชาชน 

แต่ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไพ่เรื่องมาตรา 68 ออกมา  
สถานการณ์ก็พลิกกลับ 
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "จินตนาการ" จากเทพนิยายเรื่อง "รัฐบาลเทพประทาน" ในอดีตหวนคืนมาอีกครั้ง 

"ม็อบพันธมิตร-พรรคประชาธิปัตย์" และ "ตุลาการภิวัฒน์"

ขาดแต่ "กองทัพ" เพียงกลุ่มเดียว 
ไม่เช่นนั้นจะครบ "จิ๊กซอว์" เทพนิยาย "รัฐบาลเทพประทาน"
เพราะเมื่อมาตรา 68 นั้นรุนแรงถึงขั้น "ยุบพรรค" คนย่อมคิดถึงประวัติศาสตร์การเมืองในอดีต 


ไม่รู้ว่าคนที่เล่นเกมนี้ยังคิดว่าประเทศไทยยังเหมือนเดิมหรือเปล่าจึงทำให้เขาเล่นเกมแบบเดิมๆ 
เพราะในความเป็นจริง เมืองไทยวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว 
พลังมวลชนของ "ทักษิณ" คือ กลุ่มคนเสื้อแดง วันนี้ขยายตัวมากขึ้นกว่าวันก่อน 

ในมุมกลับ พลังมวลชนของอีกฝั่งหนึ่งก็ร่อยหรอลง 
ส่วนความเชื่อความศรัทธาต่อบางองค์กรวันนี้ก็ลดน้อยลง

คำว่า "สองมาตรฐาน" จึงแจ้งเกิดได้ในสังคมไทย 
เมื่อ "ผู้ใหญ่" ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  
เขาจึงทิ้งไพ่ใบเดิม

เกมที่กำลัง "ได้เปรียบ" จากกรณี พ.ร.บ.ปรองดองจึงพลิกกลับมาอยู่ในสถานะที่ "เสียเปรียบ" 
เพราะคนเสื้อแดงกับ "ทักษิณ" ที่กำลังมีรอยร้าวหวนกลับมาจับมือกันแน่นกว่าเดิม 
ในขณะที่เหตุผลในการรับเรื่องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มี "จุดอ่อน" ให้โจมตีมากมาย 
สถานการณ์ที่พลิกกลับครั้งนี้ทำให้เกมแห่งการปรองดองเปลี่ยนไป

เพราะ "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทยเริ่มหวาดระแวง 
จากเดิมที่เคยคิดว่าพยายามหา "จุดกลาง" ที่ 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ เช่น นิรโทษกรรม 
วันนี้ชัดเจนแล้วว่าอีกฝั่งหนึ่งไม่ยอมแน่

บางทีเกมการปรองดองอาจต้องเปลี่ยนไปเหมือนที่ "จาตุรนต์ ฉายแสง" พูดไว้เมื่อวันก่อน 
คือ ต้องชนะอย่างเด็ดขาดแล้วค่อย "ปรองดอง" 
คงเหมือนกับสหรัฐอเมริกาถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดนิวเคลียร์จนราบคาบ  
จากนั้นก็ร่างสัญญาสันติภาพขึ้นมา


คงไม่มีใครอยากเห็นเมืองไทยเป็นอย่างนั้น 
แต่เมื่อมองลอดอุโมงค์แห่งความดำมืด  
ทุกคนเห็นแสงสว่างที่อยู่ปลายอุโมงค์

แต่ไม่แน่ใจว่าแสงสว่างนั้นเป็น "ทางออก"
หรือเป็นเปลวไฟของการล้างผลาญที่กำลังลุกลามเข้ามาหาเรา 



++

ศิลปะทางการเมือง
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 15:00:03 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2555 หน้า2 )


มีคนบอกว่ากรณีการแสดงศิลปะด้วยหน้าอกของรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์นั้น มี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ 
ประเด็นแรก คือการแสดงเช่นนี้ควรแพร่ภาพทางโทรทัศน์หรือไม่ 
ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่จะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า "ไม่สมควร"

ประเด็นที่สอง คือการแสดงเช่นนี้เป็น "งานศิลปะ" หรือไม่
ส่วนใหญ่จะบอกว่า "ไม่เป็น" 
และคิดแบบ "เบนซ์" พรชิตา ว่าแค่ผู้หญิงคนนี้ใช้ "ความกล้า" ในการแสดงเท่านั้น

แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า นี่คืองานศิลปะรูปแบบหนึ่ง 
เขาอธิบายว่า ถ้ามองแบบ "Happening Art" ที่ปฏิกิริยาของคนดูคือส่วนหนึ่งของงานศิลปะ 
ศิลปะแบบนี้จะสร้างเหตุฉับพลันที่คาดไม่ถึงขึ้นมา แล้วดูว่าคนดูจะมีปฏิกิริยาอย่างไร 

นักศึกษากลุ่มหนึ่ง เคยทดลองแกล้งทำเป็นคนตายนอนอยู่ริมถนน เพื่อดูปฏิกิริยาของคนที่ผ่านมา
ศิลปินคนหนึ่งเคยเอานางแบบนู้ดใส่กล่องกระดาษขนาดใหญ่ แล้วเจาะรูให้คนแอบดู 
ปฏิกิริยาของคนที่แอบดู คืองานศิลปะ 

เขาบอกว่างานนี้ภาพบนพื้นผ้าใบที่ใช้หน้าอกละเลงสีไม่ใช่ "งานศิลปะ"
แต่ภาพผู้ชมที่เจอเหตุการณ์คาดไม่ถึงแล้วแสดงปฏิกิริยาออกมาไม่ว่าจะเป็น "ผู้ชาย" ที่ส่งเสียงเฮแสดงความชอบใจ  
ในขณะที่ "ผู้หญิง" ทำท่าตกใจ บางคนปิดตาแต่หัวเราะ 
"โจ-ภิญโญ" ที่ยิ้มๆ ส่วน "เบนซ์" ทำหน้ารับไม่ได้

เขาบอกว่า ปฏิกิริยาของคนดูเหล่านี้ที่ช็อกต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน คืองานศิลปะแบบ "Happening Art" 
แต่ความผิดพลาดของงานนี้คือ อยู่ผิดที่ผิดทาง 
เพราะถ้าอยู่ในหอศิลป์จะไม่มีใครว่าอะไรเลย แต่พอมาอยู่ในห้องส่งและแพร่ภาพผ่านทาง "ฟรีทีวี" ไปทั่วประเทศ 
"Happening Art" แบบนี้จึงกลายเป็นไฟลามทุ่ง

การตีความดังกล่าวจะถูกหรือผิด คงต้องให้ "ผู้รู้" ในแวดวงศิลปะถกเถียงกันต่อไป เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย 
แต่ผมสนใจเพียงว่าถ้างานศิลปะ "Happening Art" เป็นแบบนี้จริงๆ 
"สุเทพ เทือกสุบรรณ" ก็คงเป็นศิลปินคนหนึ่ง

การออกมาเปิดประเด็นเรื่อง "ทักษิณ ชินวัตร" ส่งผู้หญิงสูงศักดิ์ 2 คน และผู้ชาย 1 คน มาเจรจาทาบทามพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลคงเป็นงานศิลปะแบบ "Happening Art" 
ประเด็นที่ "สุเทพ" พูดไม่ใช่งานศิลปะ แต่ปฏิกิริยาของคนในแวดวงการเมืองต่างหากคืองานศิลปะ 
เช่น "ทักษิณ" ที่ไม่ยอมออกมาปฏิเสธด้วยตัวเอง แต่ให้ลูกชาย "พานทองแท้" และ "นพดล ปัทมะ" มาปฏิเสธแทน 
หรือท่าทีของแกนนำคนเสื้อแดงที่ยืนยันว่า "ไม่เชื่อ" แต่แฝงด้วยความระแวงน้อยๆ 

เช่นเดียวกับการที่พรรคเพื่อไทยจี้ให้ "สุเทพ" ออกมาเปิดชื่อ 2 หญิง 1 ชาย เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง 
"ความเงียบ" ของ "สุเทพ" ก็คือ งานศิลปะ 

เพราะ "ศิลปะ" ของนักการเมืองไม่ใช่ "ความจริง"
แต่เป็นการทำให้คน "เชื่อ" ว่าสิ่งที่เขาพูดเป็น "ความจริง"



.