.
รายงาน - เสวนา “อำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใคร ?"
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
หยุดคิดสักนิดก่อนเดินหน้าโหวตร่างรัฐธรรมนูญ
โดย ณรงค์เดช สรุโฆษิต
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/40889 . . Wed, 2012-06-06 21:11
วันนี้ขอถอดหมวก “นักวิชาการ” วิเคราะห์ความเป็นไปได้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด (worst case scenario) ของการเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามและนำเสนอทางเลือกอื่น
เบื้องต้น เห็นว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้พิจารณา และคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังที่มีนักวิชาการและนักกฎหมายหลายภาคส่วนนำเสนอไปแล้ว
ก่อนที่รัฐสภาจะเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่สาม ตามมาตรา 291 (5) ทั้ง ๆ ที่ยังมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอการดำเนินการไปก่อน ท่านสมาชิกรัฐสภาได้โปรดไตร่ตรองและตอบคำถามต่อไปนี้เสียก่อน
1. สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 การชุมนุมพันธมิตร ยุบสภา บอยคอตเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เรื่อยมาจนถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือไม่
การดึงดันเดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป จะถูกใช้เป็นข้ออ้างปลุกม็อบ และสร้างความชอบธรรมให้แก่เทียบเชิญรัฐประหารที่ปลิวว่อนเกลื่อนกรุงอยู่ ณ ขณะนี้ ด้วยหรือไม่
2. การพิจารณาวาระที่สามต่อไปนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำมาซึ่งความรับผิดทางกฎหมายต่อไปนี้
2.1 สมาชิกรัฐสภาที่โหวตเห็นชอบให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม เสี่ยงต่อการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 270 ในข้อหา“ส่อว่า”จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
เสียงของพรรคฝ่ายค้านที่จะชงเรื่องเกิน 1 ใน 4 อยู่แล้ว หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเสียงข้างมาก (5 จาก 9 ท่าน) ว่าข้อกล่าวหามีมูล “ส.ส. ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ” ณ จุดนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ ปปช. จะชี้มูลดังกล่าว
เมื่อชี้มูล ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลที่โหวตเห็นชอบร่าง รธน. กว่า 290 ท่านโดยประมาณ แม้ยังดำรงตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้เหลือ ส.ส. เฉพาะพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ สถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นเช่นไร
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ ปปช. อาจชี้มูลในระหว่างสมัยประชุมสามัญทั่วไปหาก ส.ส. ฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจในระหว่างนั้น นายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจยุบสภาได้ ผลการโหวตในสภาจะเป็นเช่นไร และน่าจะจินตนาการกันต่อ ๆ ไปได้
เมื่อเรื่องกลับมาจาก ปปช. ในการลงมติเพื่อถอดถอนของวุฒิสภา ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อนี้ทำหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้น คะแนนเสียง 3 ใน 5 (ประมาณ 66 เสียง) ของจำนวน ส.ว. เท่าที่มีอยู่(ประมาณ 110 คน) ที่ต้องใช้ในการลงมติถอดถอนจึงไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียวเพราะเพียงแค่ ส.ว. สรรหาก็ 73 คนแล้ว
อนึ่ง จำนวนเสียงขั้นต่ำเพื่อผ่านวาระ 3 คือ 325 เสียง กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลจึงน่าจะต้องการเสียง ส.ว. ประมาณการคร่าว ๆ บวก/ลบ 40 ทั้งนี้ ไม่รวมปัจจัยอื่น ๆ เช่น หาก ส.ส. พรรคร่วมอื่นไม่เอาด้วย ก็จำเป็นต้องมีเสียง ส.ว. มากขึ้น ดังนั้น จำนวน ส.ว. ที่เหลืออยู่ในกระบวนการถอดถอนจะอยู่ที่ประมาณ 110 คน
ผลของการถอดถอนก็คือ ส.ส. ส.ว. ดังกล่าว ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที และถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เป็นเวลา 5 ปี
2.2 แม้ ส.ส. ส.ว. จะมิใช่ “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา และมิใช่ “ข้าราชการการเมือง” ตาม พรบ. ข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 แต่ก็เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในฐานะ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”
หาก ปปช.เกิดมีเหตุสงสัย (อาจต่อเนื่องจากข้อ 2.1) หรือมีผู้กล่าวหาต่อ ปปช. ว่า มีการกระทำผิดตามมาตรา 123/1 ของ พรบ. ดังกล่าว และ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล เรื่องก็จะไปสู่อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในกรณีนี้ ท่าน ส.ส. ส.ว. จะไม่มีความคุ้มกันตาม รธน. ม. 131 (ดู รธน. ม. 277 วรรคสาม) ดังนั้น จึงยื่นฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตลอดเวลาไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องสมัยประชุม
ยิ่งไปกว่านั้น หากศาลพิพากษาว่า การฝ่าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจัดระเบียบวาระการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่สาม (ประธานรัฐสภา) และการลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ส.ส. ส.ว.) เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามมาตรา 123/1 กฎหมาย ปปช. ขึ้นมา สถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นเช่นไร
หากศาลพิพากษาให้จำคุก แม้จะรอการลงโทษ สมาชิกภาพของ ส.ส. และ ส.ว. เหล่านั้น ก็จะสิ้นสุดลงทันที และตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษบวกไปอีก 5 ปีจะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ (รธน. ม. 102 (5) และ ปอ. ม.56-57)
2.3 การลงมติในวาระที่สามทั้ง ๆ ที่ยังมีคำสั่งศาลคาอยู่นี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองที่ ส.ส. ในสังกัดโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ คดีมาตรา 68 ก็ตั้งแท่นรออยู่ในศาลแล้ว-- เสี่ยงถูกยุบพรรคตามวรรคสามและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการพรรคตามวรรค 4 หรือไม่
ทั้งนี้ แม้ตามหลักกฎหมายยุบพรรคในรัฐเสรีประชาธิปไตยและตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรณีเช่นนี้ไม่อาจถือเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้แน่ ๆ แต่ผลการตัดสินหลายคดีที่ผ่านมา ล้วนบ่งชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมิได้ถือตามหลักกฎหมายสากลดังกล่าว (ประเด็นนี้มิได้วิจารณ์ลอย ๆ แต่มีงานวิจัยรองรับ)
3. การตอบโต้การก้าวล่วงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น สามารถกระทำโดยช่องทางอื่นที่มิใช่การเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ได้หรือไม่ อาทิ
3.1 การยื่นถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งตามรธน. ม. 270
3.2 การเร่งพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรธน. ม. 216 วรรคหก ให้แล้วเสร็จเสียที (ดู ม. 300 วรรคห้า) เพื่อมิให้มีช่องทางใช้ข้อกำหนดศาลโยงไปใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ. แพ่ง เช่นนี้ได้อีก รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการรับพิจารณาคำร้องตามรธน. ม. 68 ให้ชัดเจน เช่นเดียวกันกับกรณีการสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญจะมีได้ในกรณีใดบ้างและภายใต้เงื่อนไขเช่นไร
3.3 การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์ประกอบ ที่มา และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในวาระโอกาสต่อ ๆ ไป
3.4 การเสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาลงมติประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
กล่าวคือ ณ ขณะนี้ ตามสารบบงาน ยังไม่ถือว่ารัฐสภารับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแม้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนจะทราบจากสื่อต่าง ๆ แล้วก็ตาม ทั้งนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการประชุมรัฐสภาเพื่อให้เลขาธิการสภาผู้แทนฯ แจ้งคำสั่งดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา ในการนี้ ให้สมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติที่ 1 รับทราบคำสั่งศาลและขอให้มีมติชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญออกไปก่อน จากนั้น เสนอญัตติที่ 2 ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาลงมติประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ (การรับคำร้องตามมาตรา 68 และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว) อย่างเป็นทางการ เพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย
แม้ทางเลือกนี้ดูจะย้อนแย้งกันอยู่ในที เพราะทางหนึ่ง บอกว่า คำสั่งไม่ชอบ ซึ่งโดยตรรกะ เมื่อไม่ชอบ ก็ไม่สมควรที่รัฐสภาจะปฏิบัติตาม แต่อีกทางหนึ่ง กลับยอมรับสภาพบังคับของคำสั่งนั้นโดยยินยอมชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทางเลือกนี้ ก็เสี่ยงต่อความรับผิดต่าง ๆ น้อยกว่า และเป็นช่องโหว่นำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์น้อยกว่า การยืนยันอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภากลับไป โดยพิจารณาวาระที่สามต่อไปในทันที
การตอบโต้การใช้อำนาจระหว่างกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย หากแต่เมื่อใดที่เหตุการณ์เช่นนั้นบังเกิดขึ้นบนพื้นปฐพีแห่งนี้ ท่าน ส.ส. และ ส.ว. ทุกท่านโปรดตระหนักไว้ว่า การตัดสินใจของท่านในครานี้ อาจนำไปสู่ทางตันทางการเมือง รัฐประหาร และการนองเลือด
++
เสวนา “อำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใคร ?"
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/40908 . . Thu, 2012-06-07 12:46
วงเสวนาชี้ ตามหลักกฎหมาย รธน. มาตรา 68 ไม่โยงถึงการยุบพรรคเพื่อไทย แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ ส่วนการยื่นถอดถอน อาจจะไม่สำเร็จแต่ส่งแรงกระเพื่อมให้ ตลก. รธน. ปรับตัว ศ.ลิขิต ธีระเวคิน แนะ ตลก. ถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของหลักกฎหมาย สมชาย ปรีชาศิลปะกุล เสนอปฏิรูปศาลรธน.
7 มิ.ย. 2555 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดการเสวนา รัฐธรรมนูญ เสวนาวิชาการหัวข้อ “อำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใคร ?" โดยผู้อภิปรายประกอบด้วย รศ.มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์และ นายมะโน ทองปาน นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ ดำเนินรายการ โดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ลิขิต ธีระเวคิน: การพิจารณาคำร้องตามาตรา 68 นั้นเป็นการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมผิดตั้งแต่ต้น
ศ. ลิขิต ธีระเวคิน กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งเกิดขึ้นจากการรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนหน้านี้เป็นองค์กรที่ไม่มีในประเทศไทย และต้องการปฏิรูปการเมืองจึงพูดถึงองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการอีก 10 หน่วยงาน อาทิ ศาลปกครอง ศาลรธน. กกต. กสม. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาดำรงตำแหน่งการเมือง กสช. กทช.
ศาล รธน. เป็นศาลการเมือง ต้องมีคนรู้ทางัฐศาสตร์มาอยู่ในองค์คณะด้วยเพราะไม่ใช่การพิจารณาจากตัวลายลักษณ์อักษรอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลรธน. จึงเกิดขึ้น แต่มักจะต้องใช้คนจบนิติศาสตร์ ห้าคน เป็นคนที่รู้กฎหมาย และกฎหมายในประเทศไทยที่เป็นกฎหมายมหาชนมีไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นแพ่งอาญา ส่วนใหญ่อ่านสำนวน ขนเอาวิธีคิดคิดแบบแพ่งและอาญามาใช้ การบอกว่ามีวิธีชั่วคราว เป็นการคิดแบบวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเอามาใช้ไม่ได้ เพราะนี่เป็นกฎหมายมหาชน
ศ.ลิขิตกล่าวว่า การพิจารณาคำร้องตามาตรา 68 นั้นเป็นการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมผิดตั้งแต่ต้น “ส่วนมาตรา 68 ไปอ่านดูให้ดีนะ เป็นมาตราที่ใช้คำว่าและ เดิมมันแปลว่าเพื่อ คือเพื่อให้อัยการส่งต่อ ส่งไม่ได้จนกว่าอัยการจะบอกว่ามีมูล อันนี้เป็นประเด็นต้องชัดแม้จะอ้างภาษาอังกฤษ เพราะคนอ้างอาจจะไม่รู้ภาษาอังกฤษ ในมาตรานี้เห็นชัดว่าศาลจะวินิจฉัยอะไรนั้นต้องผ่านอัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงมาก่อน ในเรื่องของการตีความกฎหมายมีสองอย่าง หนึ่งคือตามลายลักษณ์ และสองคือเจตนารมณ์ ไม่ใช่ทำซีซั้ว อัยการตองตรวจสอบจะได้ไม่รกศาล ดังนั้นทั้งเจตนารมณ์และลายลักษณ์ตองผ่านอัยกาสูงสุด”
ประเด็นต่อมาคือ การใช้วิธีการชั่วคราวคือการเอาวิธีพิจารณาความแพ่งมาปรับใช้ เพราะศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารธน.
“ส่วนที่บอกว่าไปดูภาษาอังกฤษ การบอกว่าภาษาอังกฤษใช้ได้ ในการทำสัญญาระหว่างประเทศถ้าอยู่ในประเทศไทย เขาจะทำภาษาท้องถิ่นก่อนภาษาอังกฤษ และเขียนว่าในกรณีมีความขัดแย้งเกิดขึ้นให้ใช้ภาษาไทย แล้วขึ้นศาลไทย แต่อยู่ศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ไปเอาภาษาอังกฤษเป็นหลัก และแม้แต่ภาษาอังกฤษและภาษาไทยก็ไม่ต่างกัน และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถ้าบอกภาษาอังกฤษถูกแปลว่าภาษาไทยไม่ถูกใช่ไหม ”
ศ. ลิขิต กล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีสองระบอบ อังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ คือระบบรัฐสภา อีกระบบคือระบบประธานาธิบดี และระบบฝรั่งเศส
ในระบบอังกฤษ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน คือมาตรา สามของไทย สองคือหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อนำไปสู่ The rule of Laws ไม่ใช่ The rules by law หลักต่อมา คือการถ่วงดุลอำนาจ และหลักตรวจสอบ
อำนาจทั้งสามต้องถ่วงดุลย์ซึ่งกันและกัน การวินิจฉัยไม่ใช่การก้าวก่าย หยุดยั้งการดำเนินงาน การที่ศาลรธน. ไปยับยั้งการดำเนินการตามวาระสามของรัฐสภาไม่ได้ ที่จะบอกว่าถ่วงดุลนั้น หมายความว่าต้องไม่ก้าวก่ายกัน และถ้าสภาปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นสภาก็จะมีความผิดด้วย คือผิดฐานละเมิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 และละเมิดรธน. มาตรา 270 ด้วย จงใจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถอดถอนได้
“ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดให้เคลียร์ ผมไม่อยากให้บ้านเมืองเราไม่มีขื่อแป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะความขัดแย้งแต่มันเป็นเรื่องอนาคตของประเทศไทย ของประชาธิปไตย หลักการจะให้กลิ้งไปมาไม่ได้”
ศ. ลิขิต กล่าวว่าโดยส่วนตัวเขาไม่เชื่อว่าตุลาการจะได้รับแรงกดดันจากอำนาจนอกระบบใดๆ น่าจะยังเป็นตุลาการที่มีความเคารพนับถือ แต่เข้าใจว่าที่เป็นอย่างนี้อาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าถูกต้องแล้ว โดยเชื่อว่าจะระงับการเกิดความปั่นป่วน อาจเป็นความหวังดี แต่ความหวังดีต้องตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม “เพราะตอนนี้แทบจะไม่เหลือหลักอะไรอยู่แล้ว ที่จะสอนอะไรก็ไม่ได้ สอนว่ากฎหมายย้อนหลังได้ไหม ก็ต้องบอกว่าไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะ This is Thailand” ศ. ลิขิตกล่าวทิ้งท้าย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล : บทบาทศาลรธน. สะท้อนการช่วงชิงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งกับพลังอนุรักษ์นิยม
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่าเวลาสอนกฎหมายปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เพราะไม่รู้ แต่พบว่าที่สอนอะไรไป ศาลตัดสินมาคนละเรื่องเลย “อย่างกรณีคุณสมัคร ถามนักกฎหมายก็บอกว่าไม่ใช่ลูกจ้าง แต่ศาลก็ตัดสินว่าเป็นลูกจ้าง เพราะว่านี่เป็นนัการเมืองจึงต้องใช้การตีความแบบทั่วไป เมื่อคืนที่ฟังคณะศาลรัฐธรรมนูญบอกให้เปิด รธน. ภาษาอังกฤษ นี่เหมือนครั้งที่สยามเราร่างประมวลกฎหมายแพ่งครั้งแรกหรือไม่ ที่เราร่างภาษาอังกฤษแล้วค่อยแปล แต่รธน. ผมเข้าใจว่าร่างฯ เป็นภาษาไทยนะ แล้วค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษ นี่กำลังแสดงให้เห็นว่าเหตุผลที่ศาลกำลังจะใช้เริ่มจะค่อยๆ มีปัญหา”
กรณีเรื่องนี้มีข้อเถียงกันอยู่สามเรื่องใหญ๋ๆ คือ 1) ช่องที่รับคำร้อง ประชาชนยื่นได้ตรงหรือไม่ 2) ประเด็นที่รับคำร้อง คือ กรณีที่สภา พิจารณาร่างฯ เป็นการล้มล้างได้หรือไม่ และ 3) คืออำนาจศาลรธน.
“กรณีช่องที่รับ ศาลยังสู้ โดยอ้างว่าภาษาอังกฤษ, ประเด็นที่รับ ศาลอ้างว่า เป็นเหตุที่ใหญ่มากถ้าปลาอยไปจะเป็นปัญหา
โอเคต่อให้สองประเด็นนี้ถูกต้อง แต่คำถามคืออำนาจที่สั่งมาจากไหน มาจากมาตราไหน ไม่มีครับ ต่อให้ตีความแบบเข้าข้างเลย อำนาจที่สั่งมาจากไหน ความเห็นส่วนตัวอยู่ไหน ไม่เห็น ประเด็นนี้ผมเห็นว่าศาลตระหนักว่าเป็นจุดอ่อน ก็เลยบอกว่าไม่ได้วินิจฉัยอะไร ก็แจ้งๆ กันไป นี่เป็นประเด็นที่ศาลรธน. ตอบไม่ได้ อำนาจอยู่ที่ไหนในการเข้ามาพิจารณา เข้าแทรกแซงสถาบันนิติบัญญัติ อำนาจในการตรวจสอบนั้นศาลมีอำนาจหลังจากสภาพิจารณาเสร็จแล้ว แต่ตราบที่วาระสามเขายังไม่ลงคะแนนเขายังเถียงๆ กันอยู่ อยู่ดีๆ ศาลบอกว่าขอเถียงด้วย ถ้าจะเถียงด้วยต้องไปเป็น สว. หรือ สส. “
“ศาลรธน. ในทัศนะผมนะ จะมีน้ำหนักไม่ใช่เพียงอ้างโน่นนี่ แต่ต้องให้สาธารณะชนเห็นด้วย เมื่อกี๊ที่ฟังอาจารย์ลิขิต ฟังแล้วเห็นด้วย แต่รอบสี่ห้าปีมานี้ฟังศาลแล้วอ่อนใจ นี่เราเรียนหรือ่อานกฎหมายฉบับเดียวกันหรือเปล่าวะ ทำไมตีความคนละเรื่องละราวเลย”
“ในมุมที่กว้างกว่า ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ การแสดงการเคลื่อนไหวของบทบาทศาล รธน. สะท้อนการช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกับศาลที่เป็นพลังอนุรักษ์นิยม
“การปรากฏตัวของศาลรธน. ครั้งนี้ค่อนข้างน่าแปลกใจเนื่องจากตัวกฎหมายให้อำนาจไม่ชัด และนี่คือภาพที่พยายามแสดงให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายตุลาการ ซึ่งนี่เป็นความขัดแย้งในสังคมไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 – 2550 คือรธน. 2550 เพิ่มอำนาจโดยสัมพัทธ์แก่ตุลาการ เพิ่มอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ซึ่งบัญญัติในรธน. ฉบับ 2550 หลายมาตรา
“ทัศนะของผมไม่ใช่ปัญหาเรื่องประธานศาล รธน. เท่านั้นแต่เป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด คล้ายๆ ว่าเราจะเลือกเอาอะไร อย่างอาจารย์นิธิ ถามว่าเราจะเอาคนดีที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือเป็นคนที่ชั่วบ้างแต่มีระบบที่ตรวจสอบได้ ในสังคมประชาธิปไตยคิดว่าคนสามารถดีชั่วได้ แต่ที่สำคัญและมีความหมายมากกว่านั้นคือต้องมีระบบการเมืองที่เข้ามาตรวจสอบ และทำให้คนเหล่านี้อยู่ในร่องรอย มากกว่าการคาดหวังกับคนที่ดีแต่เราไม่รู้ว่าจะเสียคนเมื่อไหร่”
มานิตย์ จุมปา: การตีความรธน. มาตรา 68 ของศาลรธน. ส่งผลที่แปลกประหลาด ทำให้บทบัญญัติที่ระบุหน้าที่อัยการไร้ความหมาย
รศ. มานิตย์ จุมปา จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทุกอำนาจย่อมตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกันได้ เมื่อศาล รธน. รับคำฟ้องเหมือนหนึ่งมีเจตนาดี แต่ปัญหาคือวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น ถ้าศาลบอกให้สภารอหน่อย จริงๆ ศาลก็น่าจะรอหน่อย รออัยการสูงสุดหน่อย เพราะการที่ไม่รออัยการสูงสุดแล้วรับคำร้อง โดยตรงนั้นกระทบต่อหลักการตีความกฎหมาย ซึ่งปกติแล้วถ้าลายลักษณ์อักษรไม่แน่ชัดก็ต้องดูที่เจตนารมณ์
การตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ต้องมีกรณียื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเสียก่อน และเมื่อมีคำสั่งแบบนี้ผมต้องอธิบายต่อนักศึกษาค่อนข้างมากว่เหตุใดศาลจึงมีคำสั่งเช่นนั้น แต่สำคัญที่สุดคือเมื่อลายลักษณ์ไม่ชัดต้องดูประกอบเจตนารมณ์ของผู้ร่าง ก็ไม่ปรากฏว่าให้ประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงในมาตรา 68 ได้ ทั้งๆ ที่ในรธน. 2540 นั้นมีการพูดคุยว่าไม่ควรเปิดให้ประชาชนยื่นโดยตรง พอมา รธน. 2550 มีการพูดคุยว่าน่าจะถึงเวลาที่จะเปิดให้ประชาชนยื่นตรวจสอบได้ แต่ต้องเป็นในกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบในด้านอื่นๆ แล้ว แต่ต้องเป็นกรณีที่เขียนไว้ชัดแจ้ง แต่มาตรา 68 ไม่ได้เขียนไว้ชัดแจ้ง และการตีความกฎหมายใด ต้องไม่ตีความให้เกิดผลที่แปลกประหลาด
“ผลที่แปลกประหลาดต่อการตีความมาตรา 68 คือ แล้วเราจะเขียนให้ยื่นต่ออัยการไปทำไม เพราะถึงอย่างไรไม่ว่าอัยการสูงสุดวินิจฉัยเป็นอย่างไร ศาลรธน. ก็รับ อัยการก็ไร้ซึ่งความหมาย และเป้าหมายที่ให้อัยการคือ ประสงค์จะแบ่งเบาศาล เพื่อไม่ให้คดีรกศาลเพื่อให้ตัดสินคดีใหญ่ๆ และให้สังเกตว่าศาล รธน. มีศาลเดียว
ดังนั้นการตีความที่รับคำร้องนั้นก่อให้เกิดผลประหลาด ทำให้การเขียนว่าอัยการสูงสุดรับคำร้องก็จะไม่มีผลอย่างใดทั้งสิ้น” โดยเขาเห็นว่ากรณีนี้ สรุปว่าอัยการทำงานฟรี เพราะศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้เรียบร้อยแล้ว
“และการวินิจฉัยในทางกฎหมายมหาชน ถ้าจะให้โฆษกแถลงแต่ครั้งแรกต้องให้แถลงกฎหมายที่ล้ำลึกและชัดเจน แต่คำแถลงในแง่เหตุผลก็ยากที่จะรับฟังได้ เมื่อตุลาการมาแถลงอีกแทนที่จะทำให้ชัดเจน ยิ่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางกฎหมาย ให้ไปดูภาษาอังกฤษ และในวงการกฎหมายก็สอนกันมา ว่าสมัยแรกๆ ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นภาษาอังกฤษก่อน เป็นต้นทางที่ใช้พิจารณา เพราะมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยร่าง แต่ รธน. ยกร่างกันเป็นภาษาไทย แต่พอมีปัญหาแล้วบอกให้ย้อนไปดูภาษาอังกฤษ กลับก่อให้เกิดข้อสงสัยยิ่งกว่า”
“แล้วเช่นนี้จะตรวจสอบได้อย่างไร ท่านก็แอ่นอกว่าถ้าจะยื่นถอดถอนก็ยื่นเลย ซึ่งจริงๆ การยื่นถอดถอนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก”
การเสนอให้ถอนถอนเป็นการหมิ่นศาลหรือเปล่า
นายมะโน ทองปาน อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ กล่าวว่าช่องทางที่จะนำกรณีไปสู่ศาล รธน. นั้นชี้ชัด คือต้องเป็นกรณีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่บัญติไว้ใน รธน.ตามมาตรา 122 อีกกรณีคือกรณีมีปัญหาโต้แย้งทางกฎหมาย โดยคู่ความเห็นว่าบทบัญญัตตินั้นขัด รธน. ศาลที่ทำการพิจาณาคดีจะส่งกรณีให้ศาล รธน.เอง “ส่วนมาตรา 68 ผมมองว่า ในเมื่อมีการเขียนบทบัญญัติไว้อย่างนี้ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์มานิตย์ เมื่อศาล รธน. ขโมยคำว่า "และ" ไปใช้แล้ว อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเอาไปไหน ก็เอาไว้ในลิ้นชักครับ”
นายมะโน กล่าวต่อไปว่าคำร้องตามาตรา 68 ต้องเป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้อำนาจมาโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตาม รธน. แต่ รธน. 291 นี้จะต้องห้ามไม่ให้มีการไปกระทบเรื่องระบบ แม้คำร้องจะร้องมาโดยชอบ ก็ไม่มีเหตุให้รับคำร้อง เพราtไม่มีเหตุที่ไปกระทบกับสิ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 68 แต่อย่างใด
ในเรื่องการของการถอดถอน ถ้าการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเข้าองค์ประกอบมาตรา270 ก็เป็นเรื่องทำได้ เป็นการคานอำนาจกันและกันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องการละเมิดอำนาจศาล คือเมื่อมีการละเมิดการพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลสั่งขังได้ แต่ระเบียบข้อบังคับของศาลรธน. นั้นยังไม่มีบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลไว้ โดยนายมะโนย้ำว่าถ้าดูตามเจตนาแล้ว การกระทำทั้งหมดก็เป็นเรื่องมีเหตุมีผลสมควรที่จะดำเนินการถอดถอนต่อไปได้
ในประเด็นการละเมิดอำนาจศาลนี้ ศ. ลิขิต ขยายความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องห้ามต่อเมื่อมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนการอ้างเรื่องการละเมิดอำนาจศาลต้องเกี่ยวกับอรรถคดี แต่เมื่อ รธน. 270 ระบุชัดแล้วว่าการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำได้อย่างไร ถ้ามีการยื่นถอดถอนตามรธน. มาตรา 270 จะอ้างว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ และเสนอให้ศาลรธน. ยอมถอยเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาล
“ถอยหนึ่งกว้าง ขอบฟ้าจะกว้างขึ้น เป็นการทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และเป็นการรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลด้วย เพราะไม่มีใครอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ทุกคนเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5”
นายสมชาย แสดงความเห็นว่า หลายประเทศมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา แต่กรณีไทย มีการใช้อำนาจศาลเกิน กรณีชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ถือข้าวผัดโอเลี้ยงไปเยี่ยมชุดที่ถูกจำคุกก็ถูกขู่ว่าจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นกัน “การละเมิดศาลต้องเกี่ยวข้องกับกับกระบวนวิธีพิจารณานะครับ นี่เป็นปัญหาอีกเรื่องในบ้านเราคือถูกตีความอย่างกว้าง”
นายสมชายยังอภิปรายถึงการยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาอ้างอย่างไม่เป็นระบบว่า ในตอนนี้มีการเถียงกันว่าการทีประชาชนยื่นคำร้องต่อศาล รธน. โดยตรง ในต่างประเทศก็มี แต่เวลาที่เราถกเถียงกันหลายๆ เรื่องเรามักจะหยิบเอามาเป็นชิ้นๆ เช่น สว. มาจากการเลือกตั้ง ก็จะมีคนบอกว่า อังกฤษยังมี สว.แต่งตั้ง เราต้องเอาทั้งระบบ
“ กรณีเยอรมัน บอกว่าประชาชนยื่นคำร้องโดยตรง คุณเอาความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายมาใช้ด้วยสิ ในต่างประเทศเขามีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเช่นเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ศาล”
เสนอปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. ระบุว่า เมื่อพูดถึงปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงปัญหาเฉพาะตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาโครงสร้างของศาลรธน. ใน รธน. 2550 โดยเขาเสนอว่าต้องปฏิรูปอย่างน้อยสามเรื่อง คือ
หนึ่ง ที่มา ซึ่งอยู่ในวงแคบ และปัจจุบัน ตลก.รธน. มาจากตุลาการดั้งเดิม
สอง ขีดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนว่าศาลมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ในหลายประเทศมีการตุลาการภิวัตน์ เกิดจากากรที่ศาลตีความขยายสิทธิเสรีภาพขอปงระชาชน ไม่ใช่การทำบทบาทโดยไปยืนอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องทำให้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ตุลการชัดเจน
สาม การตรวจสอบและควบคุม ต้องมีความรับผิดทางการเมือง สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งมีหลายวิธี คือ ต้องทำให้สังคมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ และยื่นถอดถอนได้ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าปัจจุบันการเข้าชื่อถอดถอน มีความเป็นไปได้ทางปฏิบัติยาก เนื่องจากต้องอาศัยเสียงสามในห้าของวุฒิสภา เพราะว่าวุฒิกึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง จึงไม่ได้เป็นไปได้ง่ายนัก
นายมานิตย์ จุมปา กล่าวว่า ประเด็นการถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่เคยมีกรณีที่ประสบความสำเรจแต่การยื่นถอดถอนก็เป็นการเขยื้อนภูเขาแล้ว เพราะถ้าการใช้อำนาจไม่มีเหตุผล เข้าข่ายการใช้อำนาจตามอำภอใจ ก็ต้องถูกตรวจสอบ
“เมื่อกระบวนการตรวจสอบเริ่มต้น มีข่าว ก็เริ่มมีการเสนอข่าวว่าตุลาการท่านจะเครียดไหม ท่านก็บอกว่าไม่เครียดแต่ท่านก็ออกมาแถลง ตามหลักปกติของตุลการ การนิ่งสงบอยู่ในถ้ำ เป็นวิถีทางที่ดีที่สุด แต่เมื่อออกมาแถลงก็มีเสียงกระหน่ำมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ท้ายที่สุดจะไม่ถูกถอดถอน แต่ระหว่างเส้นทางนั้น ก็ไม่ใช่ทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบุคคลใดๆ ก็ตามที่นั่งอยู่บนบัลลังก์มาเกือบตลอดชีวิตไม่เคยถูกเป็นจำเลยเท่าไหร่”
“เมื่อการตรวจสอบตามรธน. เริ่มเดินหน้า องค์กรต่างๆ อาจจะต้องถอยสักหนึ่งก้าว และกลับสู่ระบบที่ควรจะเป็น มากกว่าที่จะปล่อยให้ล้ำเส้นสมมติตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ เมื่อก้าวล้ำไป อีกอำนาจหนึ่งก็ต้องเข้ามาตรวจสอบ เมื่ออำนาจสมดุลกัน ประชาธิปไตยจะเดินหน้า แต่หากอำนาจใดก้าวล้ำก็เหมือนอำนาจนั้นควบคุมประเทศไทย”
และเขากล่าวด้วยว่า mindset ของศาลนั้นอาจจะต้องถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งต้องเป็นกรณีการละเมิดกระบวนวิธีพิจารณา แต่ปัจจุบันนี้ แม้แต่ตัวเขาเองนั่งไขว้ห้างในศาล ยังเคยถูกตะเพิด
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยกตัวอย่างความหนักแน่นของคำตัดสินของศาลสูงในสหรัฐว่า เวลาศาลจะตัดสินคดีสำคัญมีความโปร่งใส่ เหตุผลที่ให้นั้นมีการค้นคว้าอ้างอิงหนักแน่น ก่อนหน้านั้นอาจจะมีการประท้วงแสดงความเห็นได้เต็มที่ และศาลฎีกาไม่เคยออกมาบอกว่าหมิ่นประมาทศาล แต่เมื่อตัดสินแล้ว ยอมรับได้เพราะเหตุผลที่ศาลให้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่วันนี้ เหตุผลกรณีมาตรา 68 นั้นเหตุผลนั้นอยู่ในระดับปุยนุ่น ยิ่งออกมาให้ความเห็นเหมือนปุ่ยนุ่นยิ่งปลิวไป จุดนี้แหละที่แม้กลไกการถอดถอนที่เขียนในรัฐธรรมนูญอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายแต่ได้ส่งเสียงกระหึ่มให้ต้องถอย
ทั้งนี้นายมานิตย์กล่าวว่า ท่าทีของศาล รธน. ที่ให้สัมภาษณ์ว่ารับคำร้องแล้วอาจจะยกได้ ก็เหมือนถอยครึ่งก้าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ศ.ลิขิตกล่าวว่า แต่การรับคำร้องโดยไม่มีอำนาจและสั่งระงับการพิจารณวาระสามโดยไม่มีอำนาจนั้น ความผิดเกิดขึ้นแล้ว
คำร้องมาตรา 68 โยงไปสู่การการยุบพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่
สำหรับกรณียุบพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมชายกล่าวว่า ต้องเป็นกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้น แต่ประเด็นขณะนี้คือ ต้องถกเถียงกันก่อนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยและสั่งประเด็นหรือไม่ ประเด็นจึงไม่น่าจะไปไกลได้ถึงขนาดนั้น
ขณะที่นายมานิตย์กล่าวว่า นี่เป็นการกระทำของรัฐสภา จะไปเชื่อมโยงว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองก็ยังห่างไกลเกินไป เพราะบทบัญญัติมาตรา 68 ส่งผลค่อนข้างรุนแรง การตีความขยายความเกินไปค่อนข้างจะบั่นทอนประชาธิปไตย และถ้าจะโยงไปยังพรรคเพื่อไทยว่ามีเจตนา ถ้ามองในแง่กฎหมายยังมีขอสงสัยอย่างลึกซึ้งว่าจะเชื่อมได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ที่นี่ประเทศไทย
นายมะโน ทองปาน เสริมว่า จะโยงไปเรื่องยุบพรรคได้ ต้องปรากฏตามข้อเท็จจริงในมาตรา 68 แล้ว หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจรัฐมา ซึ่งถ้าดูมาตรา 68 เป็นหมวดพิทักษ์รัฐธรรมนุญ พูดง่ายๆ คือช่วยดูแลสอดส่องคนที่จะ ล้มล้างรธน. คนที่จะก่อการกบฏ เป็นต้น ไม่ใช่กรณีที่มีคนเสนอแก้รัฐธรรมนุญแล้วจะมาบอกว่า ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 68
หมายเหตุ
มาตรา ๖๘ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ
ในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว
ข้อเท็จจริงการรับคำร้องตามมาตรา 68
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และกลุ่ม 40 ส.ว., นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส, นายบวร ยสินทร และคณะ ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธรและคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
โดยคำร้องดังกล่าวขอให้ตุลาการวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
1 มิ.ย. ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินนั้นมีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งยังมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัยด้วย
โดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกันแถลงว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัย นอกจากนี้ ให้ ครม. , รัฐสภา, พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุนัย และนายภราดร มีหนังสือชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้องและนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5-6 ก.ค.2555 เวลา 09.30 น. ซึ่งตุลาการจะออกนั่งบัลลังก์ และหากไต่สวนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว คณะตุลาการก็อาจนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้เลย แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วนก็อาจไต่สวนเพิ่มเติมได้"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย