.
ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(11): เกมเรียกคะแนนเสียง
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 38
ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นนำมาเผยแพร่ระหว่างเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ชาวญี่ปุ่นมีความรู้สึกไม่น่าเชื่อถือและมองว่ารัฐบาลกำลังปกปิดสิ่งที่ประชาชนควรรู้ มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทโตเกียว อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ หรือเทปโก้ เจ้าของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา
นี่เป็นจุดบอดที่ "ทารุ ฮาชิโมโต" นายกเทศมนตรีนครโอซาก้า นำมาเป็นประเด็นหาเสียงโจมตีรัฐบาลกลางและยังลากโยงมาถึงการเรียกร้องให้ชะลอการเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิออกไปก่อน
กลยุทธ์ของ "ฮาชิโมโต" ได้ผล คะแนนเสียงสนับสนุนไหลมาเทมาไม่ขาดสาย
ไม่เพียงเฉพาะชาวโอซาก้าเท่านั้น หากชาวญี่ปุ่นในพื้นที่อื่นๆ ที่มองรัฐบาล นายโยชิฮิโกะ โนดะ ล้มเหลวในการแก้ปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา แห่ร่วมสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
พูดถึงความล้มเหลวของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ความจริงแล้วต้องย้อนดูตั้งแต่วันที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และคลื่นสึนามิ 11 มีนาคม ปี 2554
รัฐบาลออกมายอมรับว่า วิบัติภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 19,000 ราย ทรัพย์สินพังยับเยินสูญหายมหาศาล เป็นเพราะความผิดพลาดในกระบวนการเตือนภัยและการประเมินข้อมูล
นายทัตสุโอะ ฮิราโนะ รัฐมนตรีกระทรวงเพื่อฟื้นฟูการก่อสร้างแห่งญี่ปุ่น (minister for reconstruction) เดินทางมาร่วมประชุมเวทีเวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ว่าด้วยเอเชียตะวันออก ที่กรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า การสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพ การเตือนภัยที่ล่าช้าอืดอาดส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยนั้นๆ
"เราประเมินว่าในวันเกิดแผ่นดินไหวนั้น คลื่นสึนามิมีความสูงเพียง 3.5 เมตร เราแจ้งเตือนประชาชนตามผลประเมินที่ผิดพลาด เพราะในความเป็นจริงคลื่นสึนามิพัดกระหน่ำใส่ชายฝั่งมีความสูงถึง 15 เมตร" นายฮิราโนะ กล่าว
เมื่อรู้ว่าประเมินสถานการณ์พลาด ก็มีการทบทวนข้อมูลใหม่ ปรากฏว่าใช้เวลาประมวลผลที่ถูกต้องนานถึง 50 นาที ซึ่งสายเกินแก้ เพราะคลื่นถล่มบ้านเรือน ผู้คนแล้ว
การแจ้งเตือนภัยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์ ติดต่อกับผู้ประสบภัยไม่ได้แล้ว
ในทางกลับกัน "ฮิราโนะ" บอกว่า ถ้าหากการรวบรวมข้อมูลแม่นยำถูกต้อง ชัดเจน ประชาชนที่ได้รับข้อมูลเตือนภัยจะเตรียมการรับกับภัยพิบัติได้ดีกว่า
นั่นหมายถึง โอกาสเหยื่อรอดชีวิตมีมากขึ้น การสูญเสียจะลดลง
ข้อมูลเหล่านี้ คนญี่ปุ่นเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรับรู้และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนจนได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลชุด นายนาอาโตะ คัน ซึ่งบริหารประเทศขณะเกิดแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิถล่ม และโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ระเบิด มาจนถึงรัฐบาลนายโนดะ ชุดปัจจุบัน แก้ปัญหาไม่เป็น ล้มเหลวผิดพลาด เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
"ฮาชิโมโต" นักการเมืองแห่งนครโอซาก้า วัย 42 ปี มองเห็นจุดบกพร่องล้มเหลวของรัฐบาลกลางและจับความรู้สึกของชาวญี่ปุ่นอย่างแม่นยำ จึงวางยุทธศาสตร์ได้อย่างแหลมคม
เริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนายโนดะ หลังจากเกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ระเบิด สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่พื้นที่สาธารณะ ทั้งฟุ้งกระจายในอากาศ ซึมลึกในผืนดิน และไหลลงทะเล
เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศหยุดเดินเครื่อง ตรวจสอบระบบความปลอดภัยใหม่หมด พร้อมทั้งให้สรุปหาสาเหตุการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาและให้พิจารณาว่าจะเปิดเดินเครื่องอีกครั้งเมื่อใด
นายฮาชิโมโตวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นทำงุบๆ งิบๆ เหมือนรู้เห็นเป็นใจกับนักธุรกิจเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และหวั่นเกรงจะเกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจ การเมือง ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หยุดเดินเครื่องอย่างถาวร
ไม่เพียงเท่านั้น "ฮาชิโมโต" นักการเมืองหนุ่มไฟแรงยังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "โออิ" ของบริษัทคันไซ อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือห่างจากนครโอซาก้า 90 กิโลเมตร และเป็นโรงไฟฟ้าที่ป้อนกระแสไฟให้ชาวโอซาก้า 2 ล้านคนใช้ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายเข้าร่วม
เป็นคณะกรรมการอิสระ ทำงานคู่ขนานกับฝ่ายรัฐบาล
ผลสรุปยังไม่ทันจะออกมา แต่ "ฮาชิโมโต" บอกว่า รัฐบาลกลางต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เปิดเดินเครื่องแล้วประชาชนจะปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน จากนั้นโรงไฟฟ้าโออิจะปฏิบัติตาม
เกมของ "ฮาชิโมโต" ได้ผลเกินคาด ชาวโอซาก้าส่วนใหญ่เห็นด้วย
++
ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(12): ร่องรอย“กัมมันตรังสี”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 31
เชื่อแล้วพลังคลื่นสึนามิรุนแรงมหาศาลจริงๆ ดูได้จากซากสิ่งของที่คลื่นยักษ์ดูดจากชายฝั่งประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีที่แล้ว ไปโผล่ไกลถึงฝั่งทะเลสหรัฐอเมริกา ระยะห่างกันถึง 8,050 กิโลเมตร
เมื่อไม่กี่วันก่อน ซากท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่คลื่นสึนามิดูดจากท่ามิซาวะ ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นไปโผล่ที่บนชายหาดของพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
ท่าเทียบเรือที่ว่าทำด้วยคอนกรีต เหล็กและยางน้ำหนัก 165 ตัน ใช้เวลาเดินทางข้ามสมุทร 15 เดือน
เรื่องนี้ เกิดความเดือดร้อนปั่นป่วนไปทั่ว ทางเมืองพอร์ตแลนด์เกิดอาการมึนตึ๊บจะเอายังไงกับซากท่าเทียบเรือ เพราะถามไปทางเจ้าของที่อยู่ญี่ปุ่น โดนปัดไม่เอาคืนดื้อๆ
แถมยังสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับจราจรของเมืองพอร์ตแลนด์ เพราะฝรั่งมุงอยากเห็นกับตาว่า ซากท่าเทียบเรือจากญี่ปุ่นมาถึงที่นั่นได้ยังไง
นักวินด์เซิร์ฟอุตส่าห์พาลูกชายไปมุงดูด้วย เกิดความรู้สึกหวาดเสียวกลัวลูกซึ่งเป็นนักวินด์เซิร์ฟด้วยไปเล่นกระดานโต้คลื่นในทะเลแล้วพุ่งชนซากวัตถุขนาดมหึมาอย่างท่าเทียบเรือ เกิดหัวร้างข้างแตกจะฟ้องร้องเอาความกับใครดี?
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นประเมินว่าในระหว่างเกิดเหตุคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีที่แล้ว มีซากปรักหักพังที่คลื่นดูดกลืนลงไปในทะเลมีประมาณ 20 ล้านตัน และอาจเป็นไปได้ว่าเวลานี้ยังลอยฟ่องราวๆ หนึ่งล้านตัน
ผลพวงของภัยธรรมชาติครั้งนี้ นอกจากจะทำลายชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน สร้างความอลหม่านกินอาณาบริเวณกว้างไกลแล้ว ยังทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ พังเสียหายยับเยินไปด้วย
กัมมันตรังสีจากเตาปฏิกรณ์ฟุ้งกระจายไปในอากาศ พื้นดินและอีกจำนวนมากไหลลงทะเล
แม้เหตุการณ์ผ่านไปหนึ่งไปแล้ว กัมมันตรังสียังซึมในพื้นดินและทะเล
นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ พบหลักฐานบ่งชี้ว่า ปลาในทะเลได้รับกัมมันตรังสีด้วย
ปลาเหล่านี้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลเพื่อหาแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์
ปลาทูน่า ครีบน้ำเงิน ที่นักวิจัยพบในมหาสมุทรแปซิฟิกชายฝั่งของสหรัฐ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว คลื่นสึนามิและโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิดนั้น มีกัมมันตรังสี "เซเซียม" ปนเปื้อนมากถึงสิบเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณกัมมันตรังสีที่พบก่อนหน้านี้
นายนิโคลัส ฟิสเชอร์ หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า ระดับ "เซเซียม" ที่พบในตัวปลาทูน่า ครีบน้ำเงิน มีระดับสูง แต่ยังไม่เกินมาตรฐานที่รัฐบาลสหรัฐและญี่ปุ่นกำหนดไว้
หมายความว่า ฝูงปลาทูน่าที่ย้ายถิ่นจากญี่ปุ่นมาอยู่ในมหาสมุทรฝั่งสหรัฐ สามารถจับกินเป็นอาหารได้เหมือนเดิน
แต่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่พบฝูงปลาเคลื่อนย้ายถิ่นฐานห่างไกลกันมากมีกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ด้วย
หลังเกิดภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 นักวิจัยพบปลาขนาดเล็กๆ และแพลงตอนในทะเลญี่ปุ่นมีกัมมันตรังสีปนเปื้อนเพิ่มขึ้น กระนั้นก็ตาม เพิ่งจะพบฝูงปลาขนาดใหญ่อย่างทูน่าครีบน้ำเงิน
นักวิจัยแสดงความประหลาดใจกับปรากฏการณ์ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา" เพราะหลังเตาปฏิกรณ์ระเบิดแล้ว ผลที่เกิดขึ้นมีการเชื่อมโยงกับฝูงปลาขนาดใหญ่ในทะเล
ปลาทูน่า ครีบน้ำเงิน ที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง บางตัวมีขนาดยาวถึง 3 เมตร น้ำหนัก 450 กิโลกรัม
ปลาชนิดนี้ว่ายน้ำได้เร็วและแข็งแรงมาก ว่ายไปมาระหว่างฝั่งทะเลญี่ปุ่นไปยังปลายแหลมบาจา ฝั่งแคลิฟอร์เนีย
ห้าเดือนหลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิด ทีมวิจัยของ "ฟิชเชอร์" ไปสำรวจปลาทูน่าครีบน้ำเงิน บริเวณชายฝั่งเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
เมื่อทีมวิจัยผ่าเนื้อเยื่อของปลาชนิดนี้จำนวน 15 ตัว พบมีกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ด้วย 2 ชนิด ได้แก่ เซเซีย 134 และเซเซียม 137
ปริมาณกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูงกว่า ที่จับได้ก่อนจะเกิดเหตุ "ฟุคุชิมา"
ทีมวิจัยยังวิเคราะห์ปลาทูน่าครีบเหลือง พบบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกและฝูงปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ที่เคลื่อนย้ายถิ่นมายังฝั่งตะวันตกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ไม่พบร่องรอยการปนเปื้อนของ "เซเซียม 134" และพบปริมาณเซเซียม 137 อยู่เพียงเล็กน้อย แต่เซเซียม 137 ที่พบนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงทศวรรษ 1960
ผลของการวิจัย สรุปได้ว่า เหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิด ทำให้ฝูงปลาทูน่า ครีบน้ำเงิน ที่ว่ายอยู่ไปมาระหว่างฝั่งทะเลญี่ปุ่นและแคลิฟอร์เนียได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย