http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-27

“ผีความทรงจำ” โดย คนมองหนัง

.
sms ข่าวTPNews - 28 มิ.ย. เสื้อแดงนัดอวยพรวันเกิด 70 ปี " อ.สุรชัย ด่านฯ" เรือนจำพิเศษฯ 9.30 น.
- " คณิน บุญสุวรรณ " นำทีม สสร.40 ชน ศาล รธน. ชี้เป็นตัวการก่อวิกฤติรอบใหม่ 
- ธิดานำคณะเปิดโรงเรียน นปช.-เสื้อแดงที่เยอรมัน / 29 มิ.ย. เปิดที่เดนมาร์ค

________________________________________________________________________________________

“ผีความทรงจำ”
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 85


"วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา" หรือ "ฟิล์มซิค" เขียนวิเคราะห์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง "I miss you รักฉันอย่าคิดถึงฉัน" กำกับฯ โดย มณฑล อารยางกูร ไว้อย่างแหลมคมว่า สุดท้ายแล้ว ประเด็นสำคัญที่หนังเรื่องนี้พยายามพูดถึง ก็คือ ประเด็นเรื่อง "ความทรงจำ"

"ผีหมอสาว" ในหนังอาจจะมีตัวตนอยู่จริงก็เป็นได้ แต่ "ผี" ที่ดำรงอยู่อย่างชัดเจนจนปราศจากปริศนาอันคลุมเครือ หรือ ดำรงตนอย่างแยกขาดออกจากปมปัญหาในจิตใจของมนุษย์ผู้ถูกหลอกหลอนนั้น ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปเสียแล้วสำหรับ "หนังผี" ยุคปัจจุบัน
"ผีหมอสาว" จากการวิเคราะห์ของวิวัฒน์ มีสถานะเป็น "ผีในจินตนากรรม" หรือ "ผี" ที่ถูกจินตนาการขึ้นอย่างค่อนข้างหลากหลายโดยตัวละครมนุษย์รายอื่นๆ และย่อมแปรผันไปตาม "ความทรงจำ" ที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีต่อ "ผี" ตนนี้ 
"ความทรงจำ" เกี่ยวกับ "ผี" ของบางคน อาจถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ที่พวกเขาและเธอเคยมีความสัมพันธ์กับ "ผี" เมื่อครั้งยังมีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่โดยตรง

ขณะที่ "ความทรงจำ" เกี่ยวกับ "ผี" ของอีกหลายคน กลับเป็นโลกทัศน์หรือจินตนาการ อันเกิดขึ้นมาจาก "เรื่องเล่า" ว่าด้วย "ผี" ตนนี้ โดยที่พวกเขาและเธออาจไม่เคยพบเจอ "ผีหมอสาว" มาก่อน ทั้งในฐานะของ "คน" และ "ผี" 
ดังนั้น แม้รูปลักษณ์ของ "ผีหมอสาว" ที่ตัวละครมนุษย์แต่ละคนได้พบเห็น จะไม่มีความผิดแผกจากกันมากมายนัก (เพราะอย่างน้อยทุกคนก็เคยเห็นรูปของเธอตอนยังมีชีวิต) ทว่า ลักษณะ "การหลอก" ของ "ผี" กลับมีความแตกต่างกันออกไป ตาม "ความทรงจำ" ที่แต่ละคนมีต่อ "ผีหมอสาว"
"ผี" ในหนังเรื่องนี้ จึงมีสภาวะเลื่อนไหลไปตาม "ความทรงจำ" และ "การจินตนากรรม" ถึง "ผี" ของมนุษย์แต่ละคน



ผีในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของมณฑล ก็อาจไม่ต่างอะไรกับบุคคล, กลุ่มบุคคล หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ มนุษย์แต่ละคนย่อมมี "ความทรงจำ" ต่อบุคคลหรือเหตุการณ์นั้นๆ อย่างแตกต่างกันออกไป 
ซึ่งความทรงจำที่ต่างกันก็นำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีตเหล่านั้นที่ไม่เหมือนกันของคนในยุคปัจจุบัน 

นี่ทำให้ผมนึกถึงฉากจบของ I miss you ซึ่งถือเป็นการปิดฉากหนังที่ท้าทายการขบคิดตีความของคนดูอย่างยิ่ง 
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คล้ายผู้กำกับฯ และคนเขียนบทกำลังบอกว่า หากมนุษย์ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ พยายามผูกมัดตนเองเข้ากับคนที่จากไปหรือเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว พวกเขาและเธอก็จะต้องตกเป็น "ทาส" ที่ถูกรัดรึงโดย "ความทรงจำ" หรือ "ผี" ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาโดยมิรู้จบ

ถ้ามองผ่านแว่นตาของ "พุทธศาสนาแบบป๊อปๆ" ในหมู่คนชั้นกลาง สิ่งที่มนุษย์ประเภทนี้กำลังประสบพบเจอ ก็อาจเป็น "อาการตัดไม่ขาด" หรือการมี "ห่วง" จนสร้าง "บ่วง" มาพันธนาการตนเอง 
แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่า "ความทรงจำ" อาจมีสถานะเป็นดังเครื่องส่งทอด "พันธกิจทางประวัติศาสตร์" บางประการ จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่น
หากพิจารณาจากมุมมองประเภทหลัง "ผีความทรงจำ" ก็ไม่ใช่ภาพหลอนอันน่าหวาดกลัว ทว่ากลับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามนุษย์เรามีหน้าที่หรือภารกิจบางอย่างที่รับมอบมาจากคนรุ่นก่อนหรือเพื่อนมนุษย์ผู้จากไป

ด้วยเหตุนี้ รอยยิ้มอย่างมีความสุขของตัวละคร "หมอสาว" อีกรายหนึ่งซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ยามกำลังผูกมัดตนเองเข้ากับ "ผี" หรือ "ความทรงจำ" ที่มีคุณค่าต่อชีวิตของเธอในตอนจบของ I miss you จึงอาจสื่อถึงความปลื้มปีติที่ได้สานต่อภารกิจสำคัญบางเรื่อง และมิได้หมายความถึงอาการลุ่มหลงงมงายตัดไม่ขาดเสมอไป



สําหรับ "ความทรงจำ" ของใครบางคน การตัดขาดไม่คิดถึง "ผี" อาจเป็นทางเลือกหรือทางรอดของชีวิตพวกเขาและเธอ เนื่องจากการเผชิญหน้ากับ "ผี" จะยิ่งซ้ำเติม "ความรู้สึกผิดบาป" ในใจของคนกลุ่มนี้ให้หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น 
แต่สำหรับอีกหลายคน หากพวกเขาและเธอเลือกจะรักหรือสมาทานความคิดของใครหรือ "ผี" ตนใด มาเป็นเข็มมุ่งในชีวิตของตนเองแล้ว คนกลุ่มนี้ยิ่งต้องคิดถึงและไม่ลืม "ผี" ตนนั้น 
เพราะ "ผีความทรงจำ" มิได้นำพามาซึ่ง "ความรู้สึกผิดบาป" แต่เพียงประการเดียว ทว่ายังทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยถ่ายทอด "อุดมการณ์-ความเชื่อ" บางอย่าง จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน

"อุดมการณ์-ความเชื่อ" ดังกล่าวนี่เอง ที่มีคุณค่าและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่และการดำเนินชีวิตของมนุษย์อีกมากมายหลายคนบนโลกใบนี้



.