http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-02

ทางโค้งการเมืองไทย ทางแยกเสื้อแดง ทางเบี่ยงทักษิณ! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ทางโค้งการเมืองไทย ทางแยกเสื้อแดง ทางเบี่ยงทักษิณ!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 36


"ความเพลี่ยงพล้ำเพราะถูกข้าศึกข่มขวัญลงไปนั้นมีอยู่มากมาย...
คนบางส่วนประเมินข้าศึกสูงเกินไป และประเมินตนเองต่ำเกินไป
ดังนั้นจึงได้ใช้เข็มมุ่งถอยที่ไม่จำเป็น 

เป็นการปลดอาวุธในทางความคิดเช่นเดียวกัน
ผลก็คือ การยุทธ์ต้องประสบความพ่ายแพ้"
ประธานเหมาเจ๋อตุง
ธันวาคม ค.ศ.1936



ถ้าเราไม่ใช่คนไทยที่ต้องรับผลพวงของปัญหาความไร้เสถียรภาพในการเมืองไทยแล้ว เราอาจจะต้องยอมรับว่า การเมืองไทยสนุกและน่าติดตามเฝ้าดูเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีประเด็นปัญหาในหลากหลายรูปแบบให้นักวิชาการนำมาใช้เป็นตัวแบบของคำอธิบายทางทฤษฎีได้ในหลายเรื่อง
และขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวให้นักสังเกตการณ์นำมาใช้อธิบายได้ในหลายมุมมอง

ข้อสังเกตเช่นนี้ก็คือ ความพยายามที่จะบอกว่า การเมืองไทยนับจากรัฐประหารกันยายน 2549 เป็นต้นมานั้น มี "พลวัตสูง"
พลวัตของการเมืองไทยชุดใหม่เป็นผลของหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ผลของความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นทั้งในบริบทภายในของไทย และบริบทภายนอกรอบๆ รัฐและสังคมไทยเองด้วย 
ดังจะเห็นได้ว่า ชนบทไทยเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างมากอันเป็นผลพวงโดยตรงจากพลวัตของเศรษฐกิจชนบท
หรืออาจกล่าวในมุมมองทางทฤษฎีได้ว่า ชนบทไทยถูกกระบวนการสร้างความเป็นพาณิชย์(commercialization)กระทำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผู้นำรัฐไทยใช้ขับเคลื่อนชนบทมาตลอดตั้งแต่ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

และในอีกมุมหนึ่งของการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) ของชนบทที่มีมากขึ้น คู่ขนานกับการเติบโตของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และทั้งการขยายตัวเช่นนี้ยังถูกถาโถมด้วยการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ ที่โลกภายนอกไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่กับเมืองหลวงหรือพื้นที่รอบๆ เช่นในอดีต 
โลกาภิวัตน์ชุดปัจจุบันเดินทางทะลุทะลวงข้ามเส้นเขตแดนของรัฐ ผ่านเมืองใหญ่เข้าสู่ชนบทของไทยไม่แตกต่างกับในหลายๆ พื้นที่ของโลก 
จนอาจกล่าวได้ว่า แทบจะไม่เหลือมุมเล็กๆ ในชนบทที่โลกสมัยใหม่ของสังคมไทย และสังคมโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์เดินทางไปไม่ถึง
หลายๆ ส่วนของชนบทของไทยมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ พร้อมๆ กับหลายๆ เมืองในชนบทขยายตัวเป็นเมืองสมัยใหม่มากขึ้น

เมืองหลักๆ ในหัวเมืองต่างจังหวัดถือกำเนิดขึ้นในลักษณะของ "เมืองใหญ่" คู่ขนานกับกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่เพียงเมืองอย่างเชียงใหม่หรือหาดใหญ่เท่านั้น หากแต่จะเห็นได้แม้ในภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นโคราช ขอนแก่น อุดรธานี ตลอดรวมถึงอุบลราชธานี ในภาคเหนือไม่ว่าจะเป็นเชียงราย พิษณุโลก หรือในภาคกลางเช่นนครสวรรค์ และอีกหลายๆ เมืองที่ไม่ได้เอ่ยชื่อไว้ก็ล้วนเป็นเมืองใหญ่ไม่แตกต่างกัน
หรืออย่างน้อยก็เห็นได้ว่า ตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางของจังหวัดมีความเจริญและมีสถานะเป็น "เมืองสมัยใหม่" 
ลองคิดถึงจังหวัดแต่ละจังหวัดในปัจจุบันเปรียบเทียบกับประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว ก็จะเห็นชัดถึงความเติบโตของจังหวัดบ้านตัวเอง



การขยายตัวของความเป็นเมืองเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงของการขยายตัวของระบบทุนนิยมไทยนั่นเอง
กระบวนการทำให้เป็นพาณิชย์อันเป็นกลไกของระบบทุนนิยมคืบคลานเข้าสู่ทุกหัวมุมของชนบทไทย 
หรือกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ ชนบทไทยหรือเมืองในต่างจังหวัดนั้นเติบโตอย่างมากจากกระบวนการทำให้เป็นทุนนิยม (capitalization)

ซึ่งสภาพเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลของ "ความโชคดี" ที่สังคมไทยไม่ได้กลายเป็น "โดมิโนตัวที่ 4" หลังจากการสิ้นสุดของระบบการปกครองแบบนิยมตะวันตกและระบอบเผด็จการในอินโดจีนในปี 2518 
แม้นักความมั่นคงของโลกตะวันตกจะทำนายไว้ตั้งแต่ช่วงต้นของยุคสงครามเย็นว่า เมื่อใดก็ตามที่อินโดจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดมิโนตัวต่อไปก็ล้มลงที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน!

นอกจากนี้ การสิ้นสุดของสงครามภายใน ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงปลายของยุคสงครามเย็นที่ประเทศเพื่อนบ้านล้วนแต่ต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามและการสู้รบในลักษณะของ "สงครามกลางเมือง" แล้ว ไทยจึงถูกมองจากบรรดาผู้ประกอบการระหว่างประเทศในการเป็น "เป้าหมายการลงทุน" แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองภายในอยู่บ้าง แต่ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านรอบๆ ตัว  
ดังนั้น นับจากทศวรรษของปี 1980 (ปี พ.ศ.2523) เป็นต้นมา เสถียรภาพของการเมืองไทยมีส่วนช่วยสร้างการขยายตัวของระบบทุนนิยมไทย จนถึงจุดสูงสุดเมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวเป็นเลขสองหลัก 
และกลายเป็นหนึ่งในตัวแบบของ "ความมหัศจรรย์แห่งเอเชีย" ในทางเศรษฐกิจ


การเติบใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเช่นนี้ดึงคนชนบทเป็นจำนวนมากเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีโรงงานอยู่ในเขตเมือง และในขณะเดียวกันก็เกิดการเชื่อมต่อมากขึ้นระหว่างเมืองกับชนบท คนชนบทไหลเข้าสู่เมืองในฐานะของแรงงานและในขณะเดียวกัน ค่านิยมและแบบแผนการใช้ชีวิตของคนในเมืองก็ไหลย้อนกลับไปในชนบทด้วย 
แรงงานเหล่านี้ไม่เพียงนำเอารายได้จากเมืองไปสู่ครอบครัวในชนบทเท่านั้น หากแต่พวกเขายังเอาความเป็นเมืองไปสู่ชนบทอีกด้วย 
และในอีกด้านหนึ่งคนชนบทก็กลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลก พวกเขาละทิ้งวิถีชีวิตของชาวนาในแบบเก่า ไปสู่ภาคการผลิตในฐานะของคนงานในโรงงานในต่างประเทศ...

ลูกหลานชาวนาไทยไม่ใช่เป็นเพียงคนงานในเมืองของไทยเท่านั้น บางส่วนของพวกเขาเป็นคนงานในเมืองนอก ไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง หรือภาคบริการก็ตาม...
การขึ้นเครื่องบินไปเมืองนอกไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับชนชั้นสูงและชนชั้นกลางอีกต่อไป ชนชั้นล่างจากชนบทก็มีโอกาสไปเมืองนอกด้วย 
และที่สำคัญหลายครอบครัวในชนบทมี "เขยต่างชาติ" กล่าวคือ ชนบทไทยมีปฏิสัมพันธ์และเชื่อมต่อกับโลกภายนอกโดยไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านกรุงเทพฯ เช่นในอดีต (ยกเว้นต้องมาขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ)


ในอีกด้านหนึ่งการขยายตัวของระบบการศึกษาสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย และขยายตัวเข้าสู่เมืองในต่างจังหวัดด้วย  
ย้อนกลับไปราว 30 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยของรัฐมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง การสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติดกลายเป็นเรื่องที่ต้องเสียใจอย่างใหญ่หลวง จนถึงมีนักเรียนที่ผิดหวังฆ่าตัวตาย 
แต่ปัจจุบันผู้จะเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยมีทางเลือกมากมายทั้งในส่วนที่เป็นของรัฐและของเอกชน และมีมหาวิทยาลัยภูมิภาคเกิดขึ้นในหลายจังหวัด ใช่แต่เพียงเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เท่านั้น 
ไม่ว่าเขาจะคิดอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยมหาวิทยาลัยราชภัฏคู่ขนานกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเอกชนในหลายๆ จังหวัด ทำให้ลูกหลานของคนในชนบทมีการศึกษาในระดับปริญญากันแล้ว 

ชนบทในโลกร่วมสมัย จึงไม่ใช่พื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้กับโลกของความล้าหลังอีกต่อไป (ในความหมายทางทฤษฎีคือ "Backward Society") และยิ่งมองคู่ขนานกับการปฏิวัติสารสนเทศ (Information Revolution) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดถึงการ "เชื่อมต่อใหม่" 
การมาถึงของสายไฟฟ้าก็คือการมาเยือนของระบบทุนนิยมโดยตรง เช่น โทรทัศน์และตู้เย็น ซึ่งมีส่วนอย่างมากกับการเปลี่ยนวิถีของคนชนบท หรือการโฆษณาผ่านโทรทัศน์มีส่วนอย่างมากต่อการทำให้วิถีชีวิตของคนในชนบทเป็นคนในเมืองมากขึ้น 
หรือหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องรอ "คู่สาย" ขององค์การโทรศัพท์อีกต่อไป เมื่อโทรศัพท์มือถือเกิดขึ้น 
เช่นเดียวกับหลายบ้านมีโทรทัศน์ คนในหมู่บ้านไม่ต้องมารอดูโทรทัศน์ที่บ้านผู้ใหญ่ หรือรอให้ลูกเศรษฐีในหมู่บ้านเปิด พวกเขาจึงได้ดูละครอย่าง "ดาวพระศุกร์" ด้วยกัน เป็นต้น



คงไม่ผิดอะไรนักที่จะประเมินว่า นักคิดทางยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น มองเห็นถึงพลวัตเช่นที่กล่าวในข้างต้น และสร้างนโยบายรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจนกลายเป็นความสำเร็จด้วยการชนะถล่มทลายในทางการเมือง จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเวลาต่อมา
และตามมาด้วยนโยบายที่สร้างการเชื่อมต่อกับชนบทด้วยนโยบายกองทุนหมู่บ้านและโครงการโอท็อป อันส่งผลให้ชนบทถูกขับเคลื่อนและเกิดพลวัตมากขึ้น และที่สำคัญก็คือ ทำให้ชาวชนบทในหลายพื้นที่เกิดความรู้สึกว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของพวกเขา 
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้นในปี 2549 นั้น ชนบทกลายเป็น "ฐานที่มั่น" ของการต่อต้านรัฐประหารที่เข้มแข็ง จนเกิดเป็น "ขบวนคนเสื้อแดง" ในการเมืองไทย

วาทกรรมต่างๆ จึงถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการต่อสู้ทางการเมืองหลังปี 2549 ไม่ว่าจะเป็น ไพร่ vs. อำมาตย์ สองมาตรฐานในการเมืองไทย เป็นต้น
อีกทั้งเมื่อการต่อสู้ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น จนนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่ใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นในปี 2552 และ 2553 ก็ยิ่งตอกย้ำว่า พลวัตการเมืองไทยเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง 
การลุกขึ้นสู้ของชาวเสื้อแดงที่แม้จะถูก "ล้อมปราบ" อย่างหนักในเดือนพฤษภาคม 2553 ก็ไม่ทำให้การต่อสู้ยุติลง แม้จะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการใช้กำลังของทหาร ก็ยิ่งทำให้ขบวนเสื้อแดงมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น 
และยังเห็นอีกด้วยว่าคล้อยหลังไม่นานนักหลังจากการปราบปรามยุติลง ขบวนคนเสื้อแดงที่หลายๆ คนเชื่อว่าอาจจะยุติบทบาทชั่วคราวนั้น กลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญพวกเขาเปิดเกมรุกกลับต่อฝ่ายที่ถูกเรียกว่า "อำมาตย์" ในหลายๆ ด้าน


ผลของการต่อสู้เช่นนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีส่วนโดยตรงในการล้อมปราบคนเสื้อแดงประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง จนพรรคเพื่อไทยขึ้นสู่ความเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พิสูจน์ชัดเจนว่า ฐานหลักของพรรคเพื่อไทยคือขบวนคนเสื้อแดง
หากปราศจากขบวนนี้แล้ว การเลือกตั้งดังกล่าวอาจจะมีผลเป็นอื่น หรือกลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะถูกปราบปรามด้วยผลที่ร้ายแรงกว่านี้ 
และในอีกด้านหนึ่งกลุ่มปีกขวาไม่ได้กลัวพรรคเพื่อไทยหรือแม้กระทั่งในส่วนของกลุ่มทักษิณเองก็ตาม เพราะรู้ดีว่ากลุ่มนี้หากปราศจากขบวนเสื้อแดงก็ไม่ได้มีศักยภาพในทางการเมือง

การขยายตัวของขบวนคนเสื้อแดงเติบใหญ่ขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองที่เป็นฐานล่างของการเมืองปีกขวากลับอยู่ในภาวะถดถอยเป็นอย่างยิ่ง 
และหากปราศจากการสนับสนุนจากกลุ่มทุนเก่า กองทัพ และพรรคการเมืองในกลุ่มนี้แล้ว โอกาสที่จะเปิดการชุมนุมใหญ่จนกลายเป็นการคุกคามทางการเมืองเช่นในปี 2551-2552 นั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย


แต่ในวาระครบรอบรำลึก 2 ปีของการปราบปรามคนเสื้อแดง กลับเห็นพลวัตอีกแบบหนึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณพยายามเสนอทิศทางของการปรองดองแบบ "ลืมอดีต" หรือ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า เขาขึ้นจากเรือที่คนเสื้อแดงช่วยพายส่งถึงฝั่งแล้ว และกำลังจะโดยสารด้วยรถยนต์ขึ้นเขาต่อ... 
ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ข้อถกเถียงถึงการทำให้ขบวนการเสื้อแดงเป็น "ขบวนการประชาธิปไตยนิยม" ไม่ใช่เป็นเพียง "ขบวนการทักษิณนิยม" อย่างที่ถูกกล่าวหามาโดยตลอดนั้น ดูจะมีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น 
และหากจะประสบความสำเร็จจริง การเมืองไทยก็น่าจะมีขบวนประชาธิปไตยเป็นรากฐานขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม

สภาพเช่นนี้ดูจะส่งสัญญาณว่า การเมืองไทยกำลังเดินมาถึง "ทางโค้ง" ใหม่ และขณะเดียวกันก็ดูจะเป็น "ทางแยก" สำหรับขบวนคนเสื้อแดงที่จะต้องตัดสินใจเดินให้ได้อย่างเข้มแข็งไปสู่อนาคตของการสร้างประชาธิปไตย

แต่ก็ดูจะเป็น "ทางเบี่ยง" สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณที่อาจจะตัดสินใจแยกออกไปจากเส้นทางของขบวนคนเสื้อแดง...

หรือว่าการเมืองไทยกำลังเข้าสู่ "ช่วงใหม่" อีกครั้งหนึ่งแล้วเท่านั้นเอง!



.