http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-01

อย่าฉวยโอกาส, ทีใครทีมัน, ระวังจะเป็น “เท็กซัส”, ตายน้ำตื้น ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
- ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ (1) โดย จ่าบ้าน  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อย่าฉวยโอกาส
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ. ปรองดองของม็อบเหลือง-ม็อบหลากสีที่หน้ารัฐสภา
..การประกาศต่อต้านพ.ร.บ.ปรองดองทั้งในและนอกสภาของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์

บังเอิญอ่านเจอผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของสวนดุสิตโพลเมื่อวันก่อน
เข้ากับบรรยากาศ "ปรองดอง- ปรองเดือด" พอดี
เพราะหัวข้อคือ "ทำไม จึงเกิดความขัดแย้ง ทำอย่างไร จึงจะเกิดความปรองดอง"

โดยร้อยละ 36.58 เห็นว่า ความ ขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกัน การแบ่งแยกทางความคิด ไม่สามัคคี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย 
ร้อยละ 31.75 เห็นว่าเกิดจากการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมือง ความเห็นแก่ตัวของบุคคลบางกลุ่ม 
ร้อยละ 12.96 การที่ระบอบการปกครองของประเทศไทย ยังคงเป็นแบบเผด็จการ มีการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ได้มาจากความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือสร้างความปรองดองนั้น 
ร้อยละ 33.56 เห็นว่าทุกฝ่ายต้องสามัคคี หันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อประเทศชาติ รู้จักให้อภัย ลดทิฐิ ไม่ใช้ความรุนแรง หยุดใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหา 
และมีร้อยละ 12.99 เห็นว่าทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย 

สรุปความคิดเห็นของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ก็คือ ความขัดแย้งในบ้านเมืองเกิดจากความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งต้องแก้ด้วยการยอมรับความเห็นต่าง รู้จักให้อภัย ลดทิฐิ 
ที่สำคัญต้องไม่ใช้ความรุนแรง 

เช่นเดียวกับการออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับที่กำลังพิจารณากันในสภานั้น  
การคัดค้านพ.ร.บ.ปรองดองไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นเรื่องของคนที่มีความเห็นแตกต่าง 
การไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ. ปรองดองนั้นทำได้ หากยังอยู่ ในกรอบกติกาของระบอบประชา ธิปไตย

ไม่ใช่ฉกฉวยโอกาสสร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
ใช้เป็นเงื่อนไขปลุกกระแสปฏิวัติ-รัฐประหารกันอีกรอบ 
นักการเมืองบางกลุ่มหวังใช้ช่องทางพิเศษกลับคืนสู่อำนาจ อีกครั้ง 
นั่นแหละคือวิกฤตของประเทศอย่างแท้จริง



++

ทีใครทีมัน 
โดย มันฯ มือเสือ  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.  ข่าวสดออนไลน์


ถนนทุกสายมุ่งสู่ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง 
ถึงวันนี้คงรู้คำตอบแล้วว่ารัฐบาลเพื่อไทย "เอาจริง" หรือแค่ "โยนหินถามทาง"

ท่ามกลางความเห็นหลากหลายต่อเรื่องนี้มีของนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.รวมอยู่ด้วย
ในฐานะผู้เคยอยู่ในแวดวงตุลาการเป็นถึงประธานแผนก คดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลฎีกา ความเห็นของนายวิชาจึงน่ารับฟัง

นายวิชากล่าวถึงสาระใหญ่ในร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่ให้ยกเลิกคดีที่ คตส.ดำเนินการไว้ว่า เป็นการยกเลิกแบบเบ็ดเสร็จรวมถึงอำนาจตุลาการ
การกระทำเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบถึงความคิดของประชาชนว่า ระบบความยุติธรรมไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้รับความเคารพอีกต่อไป
โดยเฉพาะระบบตุลาการซึ่งวางรากฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ห้ามมิให้อำนาจอื่นมาแทรกแซงเป็นอันขาด 
เพราะโดยหลักการอำนาจนิติบัญญัติและบริหารจะไม่เข้ามาแทรกแซงอำนาจตุลาการ แม้แต่ในยุครัฐประหารหรือปฏิวัติหรือยุคที่บ้านเมืองปกครองโดยเด็ดขาด
ก็จะไม่เข้ามาแทรกแซง 
"คราวนี้ถ้ามีขึ้นจริง ก็ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ระบบตุลาการถูกแทรกแซง"
นายวิชายังชี้ว่า ในบางประเทศเมื่อกระบวนการใดทำจนถึงที่สุดแล้วก็จะใช้วิธีอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม 
แต่ไม่มีประเทศในโลกที่ออกกฎหมายยกเลิกการกระทำของฝ่ายตุลาการ ย้อนกลับไปเริ่มต้นจุดเดิมแล้วบอกว่าที่ทำไปแล้ว ใช้ไม่ได้เลย

เมื่อคนระดับนี้บอกว่าไม่มี ก็คงไม่มี

จะมีก็แต่เมื่อ 5-6 ปีก่อน ในประเทศหนึ่งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังการรัฐประหารมีการใช้คนในแวดวงตุลาการเป็นเครื่องมือขุดรากถอนโคนฝ่ายบริหาร  
จนบ้านเมืองขัดแย้งแตกแยกมาถึงปัจจุบัน 

เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ลืม!



++

ระวังจะเป็น “เท็กซัส”
โดย จ่าบ้าน  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 02:02 น. 


ความปลอดภัยของประชาชนไม่ว่าจะมาจากคนด้วยกันเอง จากอุบัติเหตุ หรือจากการเดินทางทุกวันนี้เกิดขึ้นอย่างที่เรียกว่าน่าจะป้องกันได้ แต่ไม่ทำ
กระทั่งความปลอดภัยที่เกิดจากคนด้วยกันเอง ลามไปถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจ ที่ต้องเสียชีวิตจากอาวุธปืน
ปลายสัปดาห์ก่อนประชาชนโดยสารบนรถเมล์ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ก็ต้องได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนที่นักเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งยิงปืน ตามล่าคู่อริที่อยู่บนรถเมล์คันเดียวกัน 

ส่วนกรณีตำรวจถูกยิงและเสียชีวิตมีหลายสาเหตุ เช่น เข้าไปตรวจจับผู้ต้องสงสัยก็ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงทำร้าย
ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าการมีอาวุธปืน การพกพาอาวุธปืนไปในที่ทางสาธารณะเป็นไปอย่างง่ายดาย ทั้งปืนเถื่อนและปืนมีทะเบียน

เมื่อก่อนมีการป่าวร้องให้ผู้ที่มีอาวุธปืนเถื่อนนำอาวุธนั้นมามอบให้กับทางราชการโดยไม่มีความผิด ต่อมามีการตรวจจับการพกพาอาวุธปืนและอาวุธอื่นเป็นไปอย่างเข้มงวด แต่การพกพาอาวุธปืนไปในที่ทางสาธารณะ ก็ยังปรากฏอยู่ ทั้งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น 
กฎหมายเกี่ยวกับการมีอาวุธปืน การพกพาอาวุธปืน และการอื่นเกี่ยวกับอาวุธปืนยังมีปัญหาอีกหลายประการ 
การให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองมีความสำคัญเพื่อให้ผู้สมควรครอบครองต้องปฏิบัติ ตามกฎหมายที่กำหนด ทั้งผู้จะครอบครองอาวุธปืนได้ต้องมีวุฒิภาวะและเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ สมบูรณ์ ทั้งการพกพาไปในที่ทางสาธารณะต้องถอดกระสุนออกจากปืน แม้พกพาไปในยานพาหนะก็ตาม

ปืนเป็นอาวุธร้ายแรงที่ทำร้ายบุคคลให้ถึง แก่ชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสได้ง่าย หากประชาชนทั่วไปมีอาวุธปืนได้ง่าย และสามารถพกพาไปในที่ทางสาธารณะได้สะดวก การจะนำอาวุธปืนทำร้ายใครย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่ายเพียงแต่บันดาลโทสะเท่านั้น ดังกรณีที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจเองยังไม่พ้น 
ถึงเวลาที่ต้องเข้มงวดกับการพกพาอาวุธปืนอย่างจริงจังเสียที ก่อนที่ประเทศไทยจะกลายเป็น "เท็กซัส"



++

ตายน้ำตื้น
โดย สมิงสามผลัด    คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ท่าทางจะหนักหนาเอาการ สำหรับกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. สรรหา ร้องทั้งกกต.และดีเอสไอตรวจสอบกรณีเงิน 1 ล้านบาทที่ "อีสท์ วอเตอร์" บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์
แต่กลับไม่มีอยู่ในบัญชีของพรรคประชาธิปัตย์ที่รายงานต่อกกต.

โดยนายเรืองไกรตั้งข้อสงสัยอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. พรรคการเมือง มาตรา 62, 45, 82 ประกอบมาตรา 42 วรรคสอง และมาตรา 93
มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค

นอกจากเงินบริจาค 1 ล้านบาท ยังมีข้อมูลเพิ่มว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินจากผู้บริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม 191 ราย 36 ล้านบาท โดยไปซื้อแคชเชียร์เช็คที่ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงการคลัง ก่อนนำแคชเชียร์เช็คไปให้ที่สำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 และวันที่ 2 ธ.ค.54 สำนักนายกฯ ออกใบเสร็จให้
แต่ไม่มีการลงบันทึกบัญชีของพรรคไว้ตามที่พ.ร.บ.พรรคการเมืองอีกเช่นกัน

นายเรืองไกรเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โชว์หลักฐานและเอกสารทั้งหมด และนำไปชี้แจงต่อกกต.ด้วย
ถ้าไม่พบความผิดก็พร้อมขอขมา
ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวน การกฎหมาย เพราะเข้าข่ายความผิดถึงขั้นยุบพรรค

ในส่วนของดีเอสไอตรวจสอบกรณีนี้ในเบื้องต้นแล้วพบว่าเข้าข่ายความผิด


นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมกคพ.พิจารณาเป็นคดีพิเศษในเดือนมิ.ย.นี้
เพราะเห็นว่าเข้าข่ายความผิดอาญา พ.ร.บ. พรรคการเมือง 2550 มาตรา 71
ห้ามมิให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาห กิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคแก่พรรคการเมือง
ที่สำคัญ "อีสท์ วอเตอร์" ก็เป็นบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นเกินครึ่งเสียด้วย

หากมีการพิสูจน์ออกมาว่า "อีสท์ วอเตอร์" บริจาคเงินให้พรรคประชาธิปัตย์จริงๆ
ก็เข้าข่ายผิดมาตรา 71 นอกจากมีโทษจำคุก 10 ปีแล้ว ยังต้องยุบพรรคด้วย

ถ้าผลพิสูจน์ออกมาว่าผิดจริง
ก็แทบไม่เชื่อเลยว่าพรรคเก่าแก่จะตายน้ำตื้นแบบนี้



+++

ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ (1)
โดย จ่าบ้าน  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น. 


เมื่อรัฐบาลจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการจาก สี่หน่วยงานหลักในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีอีกครั้ง ในการก้าวคืบ อันน่าจะทำให้เหตุการณ์ไปสู่สันติสุขได้เร็วขึ้น ทั้ง 4 หน่วยงานที่ร่วมกันประชุมเชิงปฏิบัติการประกอบด้วย พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4

ผู้รับผิดชอบทั้ง 4 คน ต่างมีความคิดเห็นในการแก้ปัญหาสอดคล้องต้องกันจากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 - 2557 ด้วยการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างยุทธศาสตร์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นด้านการพัฒนา กับยุทธศาสตร์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในที่เน้นความมั่นคง มีเป้าหมายการดำเนินงาน 9 ข้อ เป็นส่วนแรก คือ

1.การเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกคนในพื้นที่ดำรงชีวิตได้ปกติสุข
2.การขจัดและป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยง และเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย 3.การเสริมสร้างความเข้าใจ และฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันให้เกิดความร่วมมือ
4.การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้อง กับศักยภาพของพื้นที่เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคม ที่กระจายตัวอย่างเท่าเทียมกันในทุกระดับ ตรงกับความต้องการไม่ทำลายอัตลักษณ์และวิถีชีวิต

5.การเสริมสร้างการเรียนรู้ และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิต และวัฒน ธรรม
6.การเสริมสร้างการรับรู้ และความเข้าใจกับสังคมไทย เกี่ยวกับสถาน การณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกัน
7.การทำให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุน และมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหา

8.การสร้างสภาวะแวดล้อม ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วม
และ 9.การดำเนินนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปอย่างมีระบบ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน



_____________________________________________________________________________________________


โธ่..ขนาดใช้อำนาจส่งทอดคำสั่งปฏิบัติการปราบประชาชนโดยเบิกและใช้กระสุนไปนับแสน คนตายเกือบร้อย ยังไม่มีท่าทีสำนึกอะไร กะอีแค่ วี-ระ-กำ ครั้งนี้
...ยิ่งอยากให้คนเบื่อระบบรัฐสภาอยู่ด้วย บ้านเมืองนี้ต้อง 'คนส่วนน้อยพาไป' เพราะเป็นคนดี๊ดีของชาติไทยอยู่จำพวกเดียว




เชิญดูรายงานข่าวรุมเขวี้ยงปธ.สภา อัปยศอีก ปชป.ลั่นยอมเสียภาพ . . หมอวรงค์นำทีมปา'ขุนค้อน' 'เทือก'สั่งระดมม็อบต้านรบ. พธม.ฮึ่ม-ปีนรั้วขวางประชุม
ที่www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNVEF4TURZMU5RPT0=&sectionid=



.