วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (จบ)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 38
วิกฤติหนี้ครั้งนี้ยังขยายวงไม่จบ แต่ก็สมควรที่จะจบตอนนี้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อน เพื่อใช้เวลาในการรวบรวมเรื่องราว และครุ่นคิดว่าวิกฤติรุนแรงขนาดนี้ เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัวได้อย่างไร ทำไมมันจึงยืดเยื้อยาวนาน และจะมีทางออกกันที่ตรงไหนบ้าง
เราจะอาศัยการครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 2 ท่าน
เป็นการนำเรื่องไปสู่การครุ่นคิดหาทางออกที่ปฏิบัติได้ไม่ง่าย
การครุ่นคิดของครุกแมน
: ความล้มเหลวของเศรษฐศาสตร์
พอล ครุกแมน ( Paul Krugman ) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวสหรัฐ ได้รับรางวัลโนเบลปี 2008 ชำนาญในเรื่องเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มีความคิดในแนวลัทธิเคนส์ใหม่
ไม่เพียงสร้างผลงานทางวิชาการเท่านั้น หากยังเป็นผู้วิจารณ์และชี้นำนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ ในสื่อมวลชนกระแสหลัก ได้แก่ นิวยอร์ก ไทมส์ เป็นต้น
เขามีความคิดในแนวสนับสนุนให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายพิมพ์ธนบัตรขึ้นเพื่อแก้ไขไถ่ถอนธนาคารและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีอิทธิพลอยู่มาก โดยรัฐบาลและธนาคารกลางได้ร่วมกันเพิ่มปริมาณเงินเพื่อการไถ่ถอนและกระตุ้นเศรษฐกิจ จนส่งผลให้สามารถนำพาให้สถาบันการเงินของอเมริการอดพ้นจากการล่มสลายไปได้อย่างหวุดหวิด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป พบว่าการฟื้นตัวนั้นเปราะบาง สัญญาณร้าย เช่น การว่างงานยังดำรงอยู่
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิด กระทั่งตัวของครุกแมนเอง ก็หนาหูขึ้น
ครุกแมนคงได้ครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องวิกฤติครั้งนี้อย่างหนัก ในเดือนกุมภาพันธ์เขาได้รับรางวัลดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยลิสบอน
ในโอกาสนี้เขาได้กล่าวความในใจเกี่ยวกับวิกฤติและความล้มเหลวของเศรษฐศาสตร์ ความในใจของเขาอาจสรุปได้ดังนี้
ก) ครุกแมนคิดว่าตัวเขาเองมองด้านร้ายนับแต่ได้เห็นวิกฤติทางการเงินในเอเชียในปี 1997-1998 ที่ได้แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาคิดว่าวิกฤติแบบนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นที่แกนกลางได้ แต่เขาก็ไม่เคยคิดว่าจะเกิดวิกฤติรุนแรงถึงขั้นนี้ขึ้นได้ เพราะนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปก็ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดวิกฤติรุนแรงแบบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ซ้ำขึ้นได้อีก
ข) การที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองไม่เห็นวิกฤติล่วงหน้าดังกล่าว ควรถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ครุกแมนก็ดูเหมือนไม่ได้สนใจที่จะอธิบายอย่างจริงจังว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะหากทำจริงจังก็จะเปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนที่ฝังอยู่ในระบบทุนเอง และจะชี้ว่าวิกฤติครั้งนี้ยากจะแก้ไข
ครุกแมนมองเห็นว่าความรับผิดชอบสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์บางทีไม่ได้อยู่ที่การทำนายเรื่องวิกฤติ เพราะการทำนายอนาคตเป็นสิ่งยาก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์นี้จะช่วยแก้วิกฤติให้กลับคืนสภาพเดิมได้หรือไม่
ค) ครุกแมนมีความเห็นว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ล้มเหลวในการทำหน้าที่ข้างต้น ครุกแมนแบ่งเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
"เศรษฐศาสตร์น้ำเค็ม" ได้แก่ มหาวิทยาลัยที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลที่ยอมรับทฤษฎีของเคนส์ ที่เน้นบทบาทการใช้จ่ายของรัฐบาลในยามวิกฤติ และปฏิเสธกฎของเซย์ที่เห็นว่า เงินไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการบริโภค แต่หากว่า เมื่อมีการผลิตมากก็จะกระตุ้นการบริโภคเอง
กับ "เศรษฐศาสตร์น้ำจืด" ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยลึกในแผ่นดิน ที่ไม่เชื่อว่าการใช้จ่ายของรัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เอนเอียงไปทางกฎของเซย์และไม่ยอมรับทฤษฎีของเคนส์ จนเกิดสภาพที่ "วงวิชาการเคลื่อนลงมาอยู่ที่การทะเลาะกันอย่างหูป่าตาเถื่อน" และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจำนวนมาก "ถอยหลังไป 75 ปี" (ดูคำปราศรัยของเขาชื่อ Economics in the Crisis ใน krugman.blogs.nytimes.com, 050312 )
หลังการปราศรัยนี้ดูเหมือนว่าอารมณ์ของครุกแมนจะยิ่งเกรี้ยวกราดขึ้น ในเดือนเมษายน เขาปะทะคารมอย่างดุเดือดกับนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่ถือความคิดหลังเคนส์ ในเดือนกรกฎาคม ถึงขั้นระเบิดไส่พิธีกรของช่องซีเอ็นบีซี ที่เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนว่า เป็นซอมบี้หรือคนโง่ที่คิดไม่เป็น
ซึ่งสะท้อนว่าวิกฤตินี้คงจะแก้ไขยากจริงๆ
การครุ่นคิดของ ไมเคิล สเปนซ์
: เหตุใดเศรษฐกิจจึงไม่เติบโต
ไมเคิล สเปนซ์ ( Michael Spence ) เป็นนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐค่อนข้างอาวุโส (เกิดปี 1943) ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2001 ก่อนครุกแมนหลายปี ชำนาญเรื่องพลวัตการไหลของข่าวสารและการพัฒนาตลาด
เขาได้ครุ่นคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และการกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลับพบว่านโยบายเหล่านี้มีความจำกัดในตัวเองและทำให้การขยายตัวชะลอลง
สเปนซ์เริ่มต้นที่ประเทศกำลังพัฒนา เพราะว่ามีการศึกษาและชี้ไว้นานพอสมควรเกี่ยวกับความจำกัดนี้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจะเริ่มพัฒนาจากการสร้างอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเกิดความหลากหลาย และสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อดำเนินไปนานพอสมควรก็จะปรากฏว่า อัตราการเติบโตของความสามารถทางการผลิตลดลง เช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขัน จนที่สุดเศรษฐกิจก็จะหยุดโต
เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนานั้นโดยทั่วไปมีขนาดเล็ก และมักชำนาญในการผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปลูกกล้วยหอม หรือฝ้าย ใบชา ทำให้เสี่ยงต่อผลกระทบและความแปรปรวนของเศรษฐกิจโลก
ยิ่งกว่านั้นนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการแข่งขันของต่างชาติจะมีค่าใช้จ่ายสูง จนกระทั่งสามารถกลบลบผลได้ทางด้านความเติบโตและการยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชน
สเปนซ์แนะนำว่าการสร้าง "โครงสร้างที่ยืดหยุ่น" มีข่ายสวัสดิการจะบังเกิดผลกว่า
แต่ที่น่าสนใจก็คือในระยะหลัง ได้พบว่าการจำกัดของความเติบโตยังฝังอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย จุดอ่อนนั้น ได้แก่ การบริโภคมากเกินไปทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งจะก่อผลสำคัญตามมา ได้แก่ การเกิดหนี้สูงขึ้น การเป่าฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ และการลดลงของการลงทุน สิ่งนี้เมื่อดำเนินต่อไปก็จะถึงขั้นที่ว่าการบริโภคภายในไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตและการจ้างงานได้ จนนำมาสู่การชะงักงันทางเศรษฐกิจทั้งแบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป และแบบวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง
สเปนซ์สรุปว่าแบบรูปหรือแพตเทิร์นของความจำกัดการเติบโตในตัวของมันเองทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วสรุปได้เป็น 3 ประการด้วยกัน ได้แก่
ก) ฐานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงไปมาก ในนี้ควรรวมถึงความเหนียวแน่นของสังคมที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง
ข) รูปแบบความซบเซาทางเศรษฐกิจนี้สามารถก่อผลร้ายได้มาก ยิ่งกว่านั้นความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริงจะปรับระบบจนทำให้การเติบโตอย่างยั่งยื่นเป็นไปได้ลำบาก การลงทุนที่ผิดพลาดในอดีต และการลงทุนในอนาคตที่เริ่มปฏิบัติในปัจจุบันอาจกลายเป็นภาระซับซ้อนสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน การไม่สามารถแก้ปัญหาการกระจายความมั่งคั่งและความเป็นธรรม ทำให้เกิดภาวะฝืดเคือง การเป็นอัมพาตและการซบเซาที่ยาวนาน
ค) ข้อบกพร่องในตัวแบบของการเติบโตนี้ทำให้เกิดความเครียดทางการเงิน ในนี้สเปนซ์เห็นทางลัทธิเคนส์ว่าอาจช่วยได้บ้าง นั่นคือมีแนวคิดเป็นเศรษฐศาสตร์น้ำเค็มคล้ายครุกแมน
(ดูบทความของเขาชื่อ Why do Economies stop growing? ใน japantimes.co.jp, 280512 )
สิ้นยุคความเติบโตและการเปลี่ยนกระบวนทัศน์
จากการครุ่นคิดของครุกแมนและสเปนซ์ เราได้สารที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ วิกฤติใหญ่อย่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 เป็นสิ่งที่เกิดซ้ำได้
ยิ่งกว่านั้นมีสิ่งที่แฝงอยู่ในระบบทุนที่สามารถทำให้เศรษฐกิจหยุดการเติบโตได้ มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีพื้นฐานทางการศึกษาทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ หรือนักลงทุนที่สนใจทางด้านการเสื่อมของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น คิดไกลออกไปอีกขั้นหนึ่ง
โดยตั้งคำถามว่า หรือจะเป็นว่า ยุคแห่งความเติบโตที่ดำรงมาราว 500 ปี และโดยเฉพาะในช่วง 200 ปีท้าย หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยให้เหตุผลหลักๆ ดังนี้คือ
1. การเติบโตทั้งหลายแม้ว่าจะเป็นในอัตราไม่สูงมากเช่นร้อยละ 2 แต่ก็เป็นการเติบโตเชิงกำลัง นั่นคือจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาหนึ่ง การเติบโตแบบนี้ไม่ยั่งยืน และไม่มีการเติบโตเชิงกำลังที่ยาวนานในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นโลกทางฟิสิกส์หรือทางชีวะ เพราะว่าระบบนี้จะทำลายตัวมันเอง
2. การเพิ่มขึ้นของประชากรและการบริโภคและการเสื่อมของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรมากเกินความสามารถในการรองรับของโลก ความคิดเรื่องความจำกัดของความเติบโตนั้นเสนอกันตั้งแต่สมัย อดัม สมิต แต่ไม่มีใครสนใจ สนใจแต่เรื่องความมั่งคั่งจากการแบ่งงานกันทำ ต่อมาได้มีการเสนอจริงจังในตัวแบบทางคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 และดูจะเป็นไปตามนั้นชัดเจนและหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อย
3. การล่มสลายของระบบยังเกิดจากความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาในระบบนั้นเองได้อีก นั่นคือเมื่อเกิดปัญหา ก็จะมีการแก้ปัญหาโดยสร้างระบบการบริหาร การผลิต การขนส่งและการจัดลำดับชั้นทางสังคมให้ซับซ้อนขึ้น ซึ่งจะใช้ได้ดีในระยะแรก แต่เมื่อความซับซ้อนสูงขึ้นมากเช่นในปัจจุบันเข้าสู่โลกาภิวัตน์การรักษาระบบนี้ไว้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อค่าใช้จ่ายมากกว่าผลได้ ระบบก็ล่มสลาย (โจเซฟ เทนเตอร์ - Joseph Tainter เสนอไว้ตั้งแต่ปี 1988 )
4. การรวมศูนย์ความมั่งคั่งและอำนาจไว้ในมือคนจำนวนน้อย เป็นการทำลายการบริโภคและการลงทุน ส่งเสริมการฉ้อฉลโดยสุจริต เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจอย่างยืดเยื้อ
ทั้งหมดนี้ชี้ว่าถึงเวลาที่เราจำต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ กระบวนทัศน์นั้นกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือวิธีการมอง การเข้าใจและการปฏิบัติหรือการจัดการโลก วิกฤติใหญ่ในปัจจุบันทำให้การพูดถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์มีผู้รับฟังมากขึ้น แต่จำนวนผู้ปฏิบัติจริงก็ยังคงน้อยอยู่
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการเข้าใจและการแก้วิกฤติอาจสรุปได้ดังนี้
1.การมองการล่มสลายว่าเป็นไปได้ ตัวแบบทางเศรษฐกิจในกระแสหลักนั้นมองแต่ด้านการเติบโตว่าเป็นพื้นฐาน ส่วนภาวะซบเซา เป็นสิ่งนานๆ เกิดครั้ง ด้วยการเห็นแบบนี้ภาวะวิกฤติใหญ่จึงเหมือนอยู่นอกจอเรดาร์ ตรวจจับไม่พบ พบแต่ความเจริญเติบ แต่นี้ไปจำต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่เห็นภาวะซบเซาเป็นสิ่งปกติ เพื่อที่จะสามารถตรวจจับและแจ้งเตือนวิกฤติใหญ่ได้ทัน
2. เปลี่ยนจากการเน้นความเติบโตมาสู่การไม่ต้องเติบโต มีผู้เสนอไว้มากและเรียกชื่อเป็นต่างๆ เช่น เฮอร์แมน เดลี (Herman Daly )ที่เสนอเรื่องเศรษฐกิจคงตัว เน้นการพัฒนาความเป็นมนุษย์มากกว่าความเติบโต เสนอไว้แต่ปี 1973
3. สร้างแบบการผลิต การขนส่งและการบริโภคที่เกิดของเสียให้น้อยที่สุด หรือนำของเสียมาใช้ใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีของเสีย ทำนองระบบนิเวศที่ของเสียของชีวิตชนิดหนึ่งเป็นอาหารของอีกชนิดหนึ่ง
4. การสร้างเศรษฐกิจเรียบง่าย (Simple Economy) ควบคู่กับเศรษฐกิจซับซ้อน (Complex Economy) เศรษฐกิจซับซ้อนมีบรรษัทข้ามชาติเป็นแกน เศรษฐกิจเรียบง่ายมีเศรษฐกิจหรือวิสาหกิจชุมชนเป็นแกน วิสาหกิจชุมชนมีประโยชน์หลายประการ ได้แก่
(ก) ช่วยใช้ทรัพยากรได้อย่างหมดจด
(ข) ช่วยทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ช่วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลทั้งในยามสันติและยามเกิดภัยพิบัติ
(ค) เป็นระบบสำรองกันกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนได้ระดับหนึ่ง
5. ร่วมกันสู้ดีกว่าแยกกันหนี กระบวนโลกาภิวัตน์ได้เชื่อมโยงโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนกระทั่งยากที่ใครจะคิดหนีเอาตัวรอดได้ตามลำพัง
ความคิดปิดประเทศเป็นต้นไม่สามารถกระทำได้ เพราะว่าความเสียหายและวิกฤติในที่หนึ่งจะส่งผลกระทบในที่อื่นด้วย
ชุมชน สังคม ประเทศใดที่หากบังเอิญรักษาความสงบรุ่งเรืองไว้ได้ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวาย ก็ย่อมถูกโจมตีจากผู้ที่ต้องการดิ้นรนจากวิกฤติอย่างไม่สิ้นสุด
วิกฤติครั้งนี้เป็นมารดาของวิกฤติ ย่อมไม่อาจใช้วิธีการแบบเดิมๆ มาเยียวยาแก้ไขได้
_____________________________