http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-26

“สตีฟ จ็อบส์” ฉบับธรรมกายกับปัญหาธรรมวินัยและการประยุกต์พุทธธรรม โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : “สตีฟ จ็อบส์” ฉบับธรรมกายกับปัญหาธรรมวินัยและการประยุกต์พุทธธรรม
ใน มติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:30:00 น.


“...หลังจากที่คุณสตีฟ จ็อบส์เสียชีวิตแล้ว เขามีความรู้สึกเหมือนวูบไปแล้วก็ตื่นขึ้นบนเตียงซึ่งตั้งอยู่กลางวิมานอันเป็นที่อยู่อาศัยของเขา...เขารู้สึกตื่นตาตื่นใจ ประหลาดใจกับทุกสิ่งรอบๆตัว...อาการเจ็บปวดจากโรคมะเร็งของเขาหายไป เขาดูหนุ่มขึ้น หล่อขึ้น เหมือนมีอายุประมาณ 35 ปี...เตียงที่ใช้นอนเรียบหรูดูดีมีสไตล์ แถมยังลอยได้อีกด้วย...”

นี่คือข้อความบางส่วนที่ปรากฏในสารคดีชื่อ “Where is Steve Jobs” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ DMC ของวัดพระธรรมกาย โดยพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายบรรยายฉากชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ใจความสำคัญอีกคือ “สตีฟ จ็อบส์ ในขณะที่จะตายนั้น จิตใจมีแต่ความเป็นห่วงบริษัทแอปเปิลในอนาคต จึงทำให้ไปจุติเป็นภุมมะเทวาสายวิทยาธรกึ่งยักษ์มีผิวดำและเขี้ยวเป็นยักษ์ แต่ด้วยผลบุญที่ได้คิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่โลก จึงทำให้เขาได้พบมิตรที่ดีบนสวรรค์ และสตีฟ จ็อบส์ จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงธรรมกายต่อไป…” 

ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง 
ผมเองมีความเห็นบางประการต่อไปนี้


ก.ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับประเด็นพระธรรมวินัย

1.ประเด็นปัญหานี้ เป็นประเด็น “ข้อเท็จจริง” และ “หลักการ” ไม่ใช่ประเด็นของ “การตีความ” คำสอนของพุทธศาสนา
ข้อเท็จจริงคือปรากฏหลักฐานว่า เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายบอกว่าตนเองรู้เรื่องราวชีวิตหลังความตายของตีฟ จ็อบส์ ข้อเท็จจริงนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักการคือวินัยสงฆ์บัญญัติเกี่ยวกับ “อาบัติปาราชิก” ข้อที่ 4 ไว้ว่า “ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก” ขาดความความเป็นพระ หากอวดอุตตริมนุสสธรรมที่มีอยู่จริงก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จากหลักวินัยบัญญัตินี้ ถ้าการเล่าเรื่องชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ็อบส์เป็นเท็จ ก็ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระ ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์การกระทำผิดวินัยสงฆ์นี้เป็น “ความผิดสำเร็จ” เมื่อพูดออกไป ส่วนกระบวนการสอบสวนเอาผิดโดยคณะสงฆ์เป็นเป็นกรรมวิธีดำเนินการเพื่อสรุปพยานหลักฐานและตัดสินให้ผู้กระทำรับผิดตามที่วินัยบัญญัติไว้ ฉะนั้น แม้คณะสงฆ์จะไม่รู้ หรือละเว้นการดำเนินการ ผู้กระทำย่อมต้องอาบัติไปแล้วตั้งแต่ที่ได้กระทำความผิดสำเร็จ

“อุตตริมนุสสธรรม” คือความสามารถพิเศษที่เหนือวิสัยของคนธรรมดาทั่วไป เช่นมีญาณวิเศษหยั่งรู้ภพชาติต่างๆ ได้ กรณีเจ้าอาวาสวัดพรธรรมกายรู้เรื่องชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ็อบส์ หากเป็นจริงก็ต้องเป็นเรื่องที่รู้ด้วยญาณวิเศษเท่านั้น ไม่ใช่รู้ด้วยวิธีการอย่างสามัญมนุษย์ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (หรืออย่างเป็นสาธารณะ เหมือนการพิสูจน์น้ำเดือดที่ระดับอุณหภูมิ 100 องศาฯ เป็นต้น) แต่ไม่ว่าท่านจะมีญาณวิเศษจริงหรือไม่ก็ผิดวินัยสงฆ์อยู่ดี ถือถ้าไม่มีจริงก็ต้องอาบัติปาราชิก ถ้าไม่มีจริงก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ปัญหาคือ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายทำนายชีวิตหลังความตายของบุคคลต่างๆ ออกทีวีมาอย่างยาวนาน ซึ่งถ้าท่านรู้ด้วยญาณวิเศษจริงๆ การอวดอุตตริเช่นนั้นก็เป็นการกระทำผิดซ้ำๆ คือ “ต้องอาบัติปาจิตตีย์เป็นอาจิณ” แต่ตามหลักพุทธศาสนานั้นการละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณไม่ใช่คุณสมบัติของพระอริยบุคคลซึ่งต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานขั้นต่ำสุดคือ “มีศีลสมบูรณ์” คือไม่ต้องอาบัติ หรือไม่ทำผิดวินัยข้อใดๆ เลย

2. บางคนบอกว่าต้องมีเสรีภาพให้ตีความวินัยสงฆ์เป็นอย่างอื่นได้ แต่ถ้าทำได้เช่นนั้นปัญหาที่ตามมาคือ พระดื่มเหล้า พระมีเมีย ฯลฯ ก็สามารถอ้างเสรีภาพที่จะดีความได้ว่าไม่ผิดวินัยสงฆ์ หรือในทางโลกอาจารย์ที่เรียกร้อง “เซ็กส์แลกเกรด” กับนักศึกษาก็อ้างได้ว่าไม่ผิดจรรยาบรรณเพราะเป็นเสรีภาพ

วัดพระธรรมกายนั้นเป็นพุทธนิกายเถรวาทจึงต้องอยู่ภายใต้พระธรรมวินัยของเถรวาท แน่นอนว่า พุทธศาสนาก็มีหลายนิกาย ในญี่ปุ่นบางนิกายพระมีเมียได้ แต่เขาก็มีกฎของเขาต่างหากที่แต่ละนิกายต่างก็ไม่ก้าวก่ายกัน แต่หลักๆ คือนิกายเดียวกันต้องปฏิบัติวินัยสงฆ์แบบเดียวกันที่เรียกว่า “สีลสามัญญตา” แปลว่าเสมอกันโดยศีล เทียบกับทางโลกก็คือมีความเสมอภาคทางกฎหมายนั่นเอง

3. ถามว่าพุทธศาสนาไม่ให้เสรีภาพในการตีความพระธรรมวินัยที่แตกต่างกันเลยหรือ
ตอบว่าพุทธศาสนาให้เสรีภาพเช่นนี้มาเป็นพันๆ ปี จนมีการแยกเป็นนิกายต่างๆ เป็นร้อยๆ นิกาย แต่หลายนิกายก็สูญหายไปยังเหลือแต่นิกายใหญ่ๆ
เสรีภาพในการตีความต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้นเห็นได้จาก “เสรีภาพในการแยกนิกาย” เช่นนิกาย ก.เห็นว่าพระเสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์) ผิด เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งในนิกายนั้นเสนอว่าพระมีเมียได้ไม่ผิดทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น จึงออกไปตั้งนิกายใหม่คือ นิกาย ข. แล้วต่างนิกายก็ต่างอยู่ เหมือนสันติอโศกเมื่อไม่ยอมรับกฎของเถรวาทแบบที่คณะสงฆ์ไทยยึดถือ เขาก็ออกไม่ตั้งกลุ่มของเขาเองและสอนตามแนวทางของเขาไป เขาก็อยู่ของเขาได้ตราบที่ยังมีผู้ศรัทธาในแนวทางของเขา

ฉะนั้น หากมองจากเสรีภาพในการแยกนิกายที่ยึดการตีความคำสอนต่างกันเป็นกรอบการปฏิบัติของนิกายตนเอง พุทธศาสนาก็ไม่ได้ขัดแย้งหลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือการตีความคำเสนอทางศาสนา เพียงแต่สมาชิกในแต่ละนิกายไม่สามารถอ้างเสรีภาพที่จะทำผิดกฎของนิกายตนเองได้เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นหลักการทั่วไปของทุกสถาบันหรือทุกองค์กรทางสังคม

4. การปกป้องไม่ให้ดำเนินการไต่สวนทางวินัยสงฆ์กับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ด้วยข้ออ้างที่ว่า มีพระรูปอื่นๆ แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จำนวนมาก ทำไมไม่ดำเนินการนั้น ย่อมไม่ต่างอะไรกับการพบว่านายแดงกำลังทำการหลอกลวงต้มตุ๋นประชาชนแต่ไม่ควรดำเนินการใดๆ กับเขาจนกว่าจะไปดำเนินการกับนักต้มตุ๋นคนอื่นๆ ให้ได้ทั้งหมดก่อน ข้ออ้างเช่นนี้จึงไม่สมเหตุสมผล แน่นอนว่าพระรูปอื่นๆ ที่ทำอะไรโจ่งแจ้งในทางอวดอุตตริก็ต้องถูกดำเนินการในมาตรฐานเดียวกัน แต่การที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หรือเคยมีการละเลยที่จะดำเนินการ ย่อมไม่ใช่เหตุผลที่จะสรุปได้ว่าไม่ควรเรียกร้องให้ไต่สวนเอาผิดกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่ละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ

5. ยิ่งกว่านั้นการออกมาปกป้องว่ามหาเถรสมาคมไม่ควรใช้อำนาจรังแกธรรมกาย ยิ่งเป็นการปกป้องที่ผิดจากข้อเท็จจริง เพราะความสัมพันธ์ของมหาเถรสมาคมกับวัดพระธรรมกายมีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อกันมากกว่าที่จะมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเหมือนในกรณีพระเกษม หรือสันติอโศก



ข. ประเด็นการประยุกต์พุทธธรรมจากพระไตรปิฎก

แน่นอนว่า วัดพระธรรมกายย่อมจะอ้างพระไตรปิฎกมาสนับสนุนการกระทำของตนเอง แต่ผมมีข้อสังเกตว่า ปัญหาจารีตการอ่านพระไตรปิฎก (หรือการศึกษาพุทธศาสนา) ของเถรวาทในบ้านเราคือ การมีสมมติฐานว่า “ข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฎกคือเรื่องจริง” หรือเป็นข้อเท็จจริง ฉะนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับเทวดา สวรรค์ นรก ปาฏิหาริย์ต่างๆ คือเรื่องจริง

แต่สังเกตไหมครับ เวลาที่พวกเราชาวพุทธไปอ่านนิทานอีสปเราเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงไหมว่า ช้างพูดได้ ลิงพูดได้ เราอ่านเพื่อหาสาระว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...” เหมือนเราอ่านคัมภีร์ภควัตคีตาของฮินดู เราไม่สนใจหรอกว่าตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่อง เช่น พระกฤษณะ ร่ายโศลกปลุกใจอรชุนให้ทำหน้าที่กษัตริย์สู้รบนั้น มันเป็นข้อเท็จจริงไหมว่าเทพอวตารกับคนกำลังสนทนากัน แต่เราสนใจเพียงว่าแก่นสาระหรือปรัชญาของโศลกนั้นคืออะไร เหมือนที่อ่านบทสนทนาหรือข้อโต้แย้งต่างๆ ของโสเครตีสที่แต่งโดยเพลโต เราไม่ไปตั้งคำถามว่าตัวละครนั้นๆ ที่โต้เถียงกับโสเครตีสมีจริงหรือไม่ เราสนใจ “เนื้อหา” ที่เขาสนทนาโต้เถียงกันเป็นหลัก

คนที่อ่านพระไตรปิฎกโดยเชื่อว่าทุกข้อความในพระไตรปิฎกคือเรื่องจริง ก็เหมือนคนที่อ่านนิทานอีสปโดยคิดว่าเรื่องราวในนิทานคือเรื่องจริงทั้งหมด ก็ต้องถูกมองว่างมงายได้ เพราะเรื่องราวในพระไตรปิฎกมีหลายเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เช่น สวรรค์ นรก พรหมโลก กระทั่งราหูอมจันทร์


ในขณะเดียวกันคนที่วิจารณ์ว่า “ตัวพระไตรปิฎกเองงมงาย” ก็อาจกำลัง “มองอย่างงมงาย” อยู่ก็ได้ เพราะคุณกำลังจะมองว่าพระไตรปิฎกคือตำราวิชาการ เหมือนดำราทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ที่ผ่านกรรมวิธีทางวิชาการแล้ว ฉะนั้น เมื่อเอาเรื่องราวที่บันทึกในพระไตรปิฎกมาเทียบกับเรื่องราวในตำราสมัยใหม่ คุณก็จะพบว่าในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวจำนวนมากที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วสรุปว่างมงาย

แต่จริงๆ แล้วพระไตรปิฎกไม่ใช่ “ตำราทางวิชาการ” มันคือหนังสือประเภทหนึ่ง หนังสือนั้นมีหลายประเภท เช่น ตำราวิชาการ วรรณกรรม วรรณคดี ฯลฯ หนังสือแต่ละประเภทมีประโยชน์ต่างกัน มีวิธีอ่านหรือวิธีหาประโยชน์จากหนังสือนั้นๆ แตกต่างกันไป 
พระไตรปิฎกอาจอนุโลมเข้าในประเภทของวรรณกรรมหรือวรรณคดี ในความหมายว่าเป็นหนังสือที่ต้องอ่านเอาเนื้อหา คือ “อ่านเอาเนื้อหาธรรมะ” เป็นด้านหลัก เหมือนอ่านภวัตคีตา อ่านบทสนทนาต่างๆของโสเครตีส หรืออ่านนิทานอีสป เป็นต้น เพื่อเอาเนื้อหาสาระ

ทีนี้เนื้อหาในพระไตรปิฎกมีสองส่วนหลักๆ คือ
(1) ส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ซึ่งบางเรื่องเป็นข้อเท็จจริง บางเรื่องเป็น “เรื่องเล่า” ที่สอดคล้องกับบริบทความเชื่อทางศาสนาในวัฒนธรรมชมพูทวีปที่มีมาก่อนสมัยของพุทธะและร่วมสมัย เช่นชาดกต่างๆ สวรรค์ นรก ฯลฯ
(2) ส่วนที่เป็นคำสอนหรือ “ธรรมะ” แยกเป็นสองประเภทหลัก คือ

ก.สัจธรรม คือคำสอนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในธรรมชาติ เช่น ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจสี่ (ข้อเท็จจริงในธรรมชาติเหล่านี้ตรวจสอบได้ เช่นไตรลักษณ์บอกว่าสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นทุกข์หรือมีภาวะขัดแย้งในตัวเอง เป็นอนัตตาหรือไร้ตัวตนที่เป็นอมตะ เป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้ หรือเนื้อหาของการเกิดทุกข์ทางใจตามหลักอริยสัจสี่และปฏิจจสมุปบาทก็คล้ายๆ กับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ หรือ คาร์ล กุลสตาฟ จุง เป็นต้น ฉะนั้น เวลานักคิดด้านพุทธศาสนา เช่น ท่านพุทธทาสบอกว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ท่านหมายถึงคำสอน “เฉพาะ” ส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น)

ข.จริยธรรม (หรือศีลธรรม) คือคำสอนส่วนที่เป็นหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาชีวิตตนเองและหลักการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ หรือสังคม ที่สรุปเป็น 3 ส่วนคือ
ศีล เป็นหลักการปฏิบัติที่ไม่ละเมิดสิทธิต่างๆ ของบุคคลอื่น
สมาธิ เป็นหลักการฝึกสติของตนเอง
และ ปัญญา คือหลักพัฒนาปัญญาให้เข้าใจสัจธรรมในธรรมชาติ (ตามข้อ ก.) หรือพูดกว้างๆ ว่าเข้าใจความจริงของโลกและชีวิต เพื่อให้อยู่กับความจริงนั้นได้โดยไม่ก่อทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น หรือในทางบวกก็คือสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ตนเอง คนอื่น และสังคม


จุดประสงค์หลักของการอ่านพระไตรปิฎกเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาของ “ธรรมะ” ใน ก.และ ข. ฝ่ายมหายานเขาจะอ่านพระไตรปิฎกกันแบบนี้ ฉะนั้น เราจะเห็นในคำบรรยาย และข้อเขียนของทะไลลามะ ติช นัท ฮันห์ ไดซากุ อิเคดะ และนักคิดฝ่ายมหายานจำนวนมากที่เขานำเนื้อหาพระไตรปิฎก ก.และ ข. ไป apply (ประยุกต์) กับแนวคิดต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านฟิสิกส์ จิตวิทยา รวมทั้งเรื่องปรัชญาจริยศาสตร์ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน จริยศาสตร์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ (นอกจากนี้มหายานอ่านพระไตรปิฎกแล้วมาแต่งพุทธประวัติขึ้นใหม่มีหลายเวอร์ชัน และหลายคนแต่ง . .ติช นัท ฮันห์ ก็แต่งเองอีกสำนวนหนึ่งที่แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่” หรือที่ฝรั่งคนหนึ่งเขียนเรื่อง “ประทีปแห่งเอเชีย” ก็เป็นการแต่งเรื่องพุทธประวัติด้วยสำนวนและมุมมองของเขาเอง ประเด็นคือเขาต้องการสะท้อน “ธรรมะ” ไม่ใช่ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคล เหตุการณ์ ฯลฯ เป็นด้านหลัก)

ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้เลยคือ มหายานเป็นพุทธศาสนาฝ่ายก้าวหน้าหรือเสรีนิยม การ apply ธรรมะ ก.และ ข. กับแนวคิดหรือองค์ความรู้ร่วมสมัยของพวกเขาจึงเป็นวัฒนธรรม หรือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครมาคัดค้านว่าไม่ควร apply ว่าพุทธเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นวิทยาศาสตร์ ฯลฯ รวมทั้งมีการ apply กับเรื่องบทกวี วรรณกรรม ศิลปะต่างๆ ดังพุทธนิกายเซนในญี่ปุ่นเป็นต้น (ที่จริงพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลที่พูดเรื่องกรรม สวรรค์ นรก ก็คือการ apply คำสอนกับความเชื่อร่วมสมัยนั่นแหละ ไม่มีพุทธเพียวๆ หรือ “พุทธแท้” ที่ไม่มีอะไรเจือปนอยู่จริงหรอก เรื่อง “ตรัสรู้” “นิพพาน” หรือความหลุดพ้น แทบทุกศาสนาของอินเดียก็สอนกัน เพียงแต่แก่นสาระต่างกัน แก่นสาระของพุทธคืออริยสัจจสี่เพราะถือว่าพุทธะตรัสรู้สิ่งนี้ แก่นสาระของศาสนาอื่นๆ ที่พูดเรื่องความหลุดพ้นก็มีรายละเอียดต่างๆ กันไป)

มีแต่เถรวาทแบบไทยๆ นี่แหละที่ไม่รู้จะเอายังไงแน่ มั่วสุดๆ การ apply พุทธศาสนากับบริบทของยุคสมัยแทนที่จะเอาธรรมะ ก.และ ข. มา apply กับการยกระดับคุณค่าชีวิตและความเป็นธรรมในสังคมอย่างสมสมัยดังที่มหายานเขาทำกัน กลับไปเอา “เรื่องเล่า” ส่วนที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลพิสูจน์ไม่ได้มา apply ดังกรณี “สตีฟ จ็อบส์ ฉบับธรรมกาย” การแขวนเปลือกหอยแก้กรรมของแม่ชีทศพร และ ฯลฯ


ที่ตลกร้ายกว่านั้นกลับมีการยอมรับการ apply แบบธรรมกาย แม่ชีทศพรและ ฯลฯ ได้ แต่ปฏิเสธการ apply แก่นสาระของธรรมะ ก.และ ข. แบบที่พุทธก้าวหน้าเขาทำกัน 
ดังที่วิจารณ์กันว่าการตีความพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย เป็นวิทยาศาสตร์นั้นเป็นการสร้างพุทธแท้ขึ้นมา ทำให้มีพุทธแท้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตยที่แตะต้องไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงคือการ apply หลักการบางประการตาม ก. และ ข.ว่าเข้ากันได้หรือสนับสนุนกันกับหลักวิทยาศาสตร์หรือประชาธิปไตยนั้นคือการนำหลักการพุทธศาสนาขึ้นมาสู่ “เวทีของเหตุผล” ที่โต้แย้ง ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันได้อย่างคนเสมอกัน ดังท่านพุทธทาสจะตีความว่าพุทธศาสนาเป็นธรรมิกประชาธิปไตย เป็นธรรมิกสังคมนิยมเป็นต้น ก็เป็นการตีความจากการใช้เหตุผลของท่าน และท่านก็เปิดให้ทุกคนใช้เหตุผลโต้แย้งได้อย่างคนที่เท่าเทียมกัน

แต่การอ้าง “ญาณวิเศษ” แบบเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (เป็นต้น) ต่างหากที่อยู่พ้นขอบเขตของการใช้เหตุผล เป็นการยกสถานะของตนเองให้เหนือคนธรรมดาทั่วๆ ไป จึงไม่แปลกที่ท่านไม่เคยลงมาแลกเปลี่ยนถกเถียงกับเพื่อนมนุษย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านอย่าง “คนเหมือนกัน” ความไม่มีเหตุผลเช่นนี้ต่างหากที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย!



.