.
ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (19) เรื่องเล่าจากเด็กๆ
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 42
"ริกุ" วัย 10 ขวบ เฝ้าสังเกตคนในหมู่บ้านในชุดป้องกันกัมมันตรังสีเดินเข้าไปในเขตต้องห้ามรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ เพื่อเข้าไปเก็บข้าวของที่ยังหลงเหลือตกค้างหลังจากทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้คนเหล่านี้เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ในช่วงระยะสั้นๆ
เด็กชายคนนี้รู้สึกผิดหวังในใจลึกๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ต้องห้ามด้วย
"เขาไม่ให้เข้าไปเพราะไม่ทำชุดป้องกันกัมมันตรังสีสำหรับพวกเด็กๆ อย่างเราใส่"
เป็นคำตอบของ "ริกุ" ที่พูดผ่านภาพยนตร์สารคดี "เด็กแห่งสึนามิ" (Children of the Tsunami) ถ่ายทำโดย "เดน รีด" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีแห่งอังกฤษ นำออกฉายในสถานีโทรทัศน์หลายแห่งทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย
คำตอบอันใสซื่อของเด็กญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ซ่อนความหมายไว้มากมาย
เหมือนบอกให้โลกได้รู้ว่า การที่โรงไฟฟ้าแห่งนั้นได้รับความเสียหายจากเหตุคลื่นสึนามิถล่ม เมื่อบ่ายวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิด ปล่อยกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม บริเวณรอบๆ และยังมีผลกระทบต่อเด็กชาย "ริกุ" โดยตรง
ครอบครัว "ริกุ" ถูกบังคับให้อพยพออกมาจากเขตต้องห้ามรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า
ของใช้ส่วนตัวของรักของหวงของ "ริกุ" ยังตกค้างอยู่ในบ้าน
"อายากา" เด็กหญิงวัย 10 ขวบอีกคนที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ครอบครัวของเธอประสบชะตากรรมระหว่างเกิดมหันตภัย "สึนามิ"
ปู่ "อายากา" เสียชีวิตขณะคลื่นยักษ์ถล่มหมู่บ้าน ครอบครัวย้ายออกจากเขตต้องห้าม
โรงเรียนแห่งใหม่ที่เพิ่งเข้าไปเรียน ครูสั่งให้ใส่หมดและหน้ากาก ทุกครั้งที่ออกนอกห้องเรียน
ระหว่างอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน พ่อของอายากาต้องตรวจสอบระดับกัมมันตรังสีด้วยเครื่อง "ไกเกอร์" อยู่เสมอ และจะบอกเธอว่ากัมมันตรังสีอยู่ในระดับเท่าไหร่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นสนามหญ้าหน้าบ้าน มีระดับกัมมันตรังสีสูงกว่ามาตรฐาน
"อายากา" ถูกจำกัดบริเวณให้เล่นอยู่ในพื้นที่แคบๆ จำกัด ไม่เหมือนในอดีต ก่อนคลื่นสึนามิถล่ม
เด็กหญิงคนนี้ไม่รู้อนาคต จะได้กลับบ้านอันแสนอบอุ่นเมื่อไหร่
"ฟูกะ" เด็กชั้นประถมในโรงเรียนโอกาวะซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของญี่ปุ่น 4 กิโลเมตร เล่าเหตุการณ์ขณะเกิดสึนามิให้ "รีด" ผู้กำกับฯ ผู้คว้ารางวัลการถ่ายทำภาพยนตร์มามากมายบันทึกไว้ในแผ่นฟิล์ม
"หนูรู้สึกมีแผ่นดินไหว คุณแม่มาจับตัวพาขึ้นไปอยู่ที่สูงๆ"
เด็กน้อยคนนี้เหมือนนึกย้อนเหตุการณ์หลังจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ เขย่าบ้านเรือน และคลื่นสึนามิผ่านพ้นไปแล้ว
"เพื่อนที่หนูรักที่สุด ฉลองวันเกิด หนูจะให้ของขวัญกับเธอ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีวันนั้นอีกแล้ว"
เพื่อน "ฟูกะ" เหมือนๆ กับเด็กคนอื่นๆ ที่กำลังเล่นอยู่ในบ้านหรือในโรงเรียนใกล้ชายฝั่งทะเล เสียชีวิตระหว่างคลื่นสึนามิถล่ม
"รีด" ใช้เวลาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ในพื้นที่ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ระเบิด เป็นเวลา 13 สัปดาห์
การถ่ายทำจะเน้นเด็กๆ ระหว่าง 7-10 ขวบ ครอบครัวของผู้สูญเสียคนอันเป็นที่รัก ครูที่เหลือรอดเพียงคนเดียวในโรงเรียน ให้ถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ตรงผ่านเลนส์ พร้อมกับสอดใส่ภาพประกอบในเหตุการณ์อันหฤโหดสำหรับชาวญี่ปุ่น ทั้งทะเลที่บ้าคลั่ง คลื่นยักษ์ถาโถมใส่บ้านเรือน โรงเรียน อาคารร้านค้าและสภาพของพื้นที่หลังผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายไปแล้ว
ผู้กำกับฯ "รีด" เลือกโรงเรียนประถม "โอกาวะ" เป็นฉากสำคัญ เนื่องจากมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มพร้อมกันถึง 74 คน ครูเสียชีวิต 9 คน
หลังน้ำทะเลลดลงแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองพากันช่วยขุดหาร่างของเด็กๆ ทั้งด้วยมือเปล่าสองข้าง และเครื่องจักรกลเท่าที่เสาะหามาได้ แต่กระนั้นศพของเด็กๆ 6 คนสูญหายอย่างไร้ร่องรอย
"รีด" เลือกคุณครูผู้รอดชีวิต เพื่อหวังถ่ายทอดนาทีอันระทึก และคลี่คลายข้อสงสัยทำไมคลื่นสึนามิกำลังมา แต่เด็กๆ ไม่วิ่งหนีไปอยู่บนที่สูง
ภาพการเคลื่อนตัวของคลื่นทะเลก้อนมหึมาดูดกลืนทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นตึกขนาดใหญ่ สะพาน บ้านเรือน รถยนต์ ล้วนพังพินาศในพริบตา ซึ่ง "รีด" ใส่ประกอบในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ทำให้คนดูประจักษ์ว่า เด็กๆ จะหนียังไงก็ไม่พ้นเงื้อมมือมัจจุราช เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้ทะเลมาก
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำด้วยความประณีต บอกเล่าเรื่องราวในหลายอารมณ์ทั้งรู้สึกตื่นตะลึง น่าเศร้า น่าชื่นชมประทับใจ
คำพูดของเด็กๆ แม้จะเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่เมื่อถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ สามารถจับความรู้สึกได้ อีกทั้งสีหน้าแววตาระหว่างการเล่าเรื่อง บอกอารมณ์ของเด็กได้เป็นอย่างดี
รีดบอกเหตุผลที่เน้นตัวละครไปที่เด็กว่า ช่วงของเด็กวัยนี้กำลังจะสิ้นสุดและก้าวสู่วัยรุ่น เด็กๆ บอกเรื่องราวได้อย่างใสซื่อบริสุทธิ์
++
ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (20) ประชาพิจารณ์ “นิวเคลียร์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 36
ยิ่งนานวัน พลัง "นิวเคลียร์" ของญี่ปุ่นจะยิ่งถดถอยลงไปเรื่อยๆ ดูได้จากผลสำรวจความเห็นของประชาชน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาเมื่อเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้เกือบ 17 เดือน มีผู้คนต่อต้านการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์จำนวนเพิ่มขึ้น
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง หนังสือพิมพ์อาซาฮีรายงานจากเวทีประชาพิจารณ์ของชาวฟุคุชิมาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ว่าผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ส่วนใหญ่เรียกร้องรัฐบาลให้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก่อนกำหนดในปี 2573 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า
จำนวนประชากรในพื้นที่รอบจังหวัดฟุคุชิมาขณะนี้เหลือราว 5 หมื่นคน เทียบกับก่อนเกิดเหตุ 160,000 คน ส่วนอีก 6 หมื่นคนเข้าไปอยู่ในเขตพักพิงชั่วคราวนอกฟุคุชิมา
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังเสียงของประชาชนใน 11 จุดทั่วประเทศ ว่ามีความเห็นอย่างไรกับทิศทางพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตและโดยเฉพาะในปี 2573 สัดส่วนของพลังงานนิวเคลียร์ที่จะนำมาใช้กับประเทศควรเป็นเท่าไหร่
ระหว่างการจัดประชาพิจารณ์ นายโกชิ โฮโซโน รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและนิวเคลียร์ กล่าวขอโทษชาวเมืองฟุคุชิมาที่ได้รับผลกระทบทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป
แต่กระนั้นตลอดสี่ชั่วโมงครึ่ง การทำประชาพิจารณ์เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลญี่ปุ่นในการแก้ไขวิกฤติ
"ตั้งแต่เกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา บรรดาลูกๆ หลานๆ ไม่เคยมาเยี่ยมฉันที่บ้านหลังนี้อีกเลย" ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์สะท้อนความรู้สึกเป็นทุกข์
อีกคนบอกว่า รัฐบาลประกาศจะรับผิดชอบการเคลื่อนย้ายกำจัดวัสดุปนเปื้อนกัมมันตรังสีแต่ถึงวันนี้ยังไม่เห็นว่าทำอะไรคืบหน้าไปบ้าง
ชาวนาเคยอยู่ในพื้นที่นามิเอะ ใกล้กับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ต้องขนข้าวของอพยพไปอยู่ในบ้านพักชั่วคราวที่ "โคโอริ" ร้องอุทธรณ์ว่า
"อย่าปล่อยให้คนอื่นๆ ตกเป็นเหยื่อเหมือนผมซึ่งถูกบีบบังคับให้ออกพ้นเขตบ้านเกิดเมืองนอน"
ชาวนาผู้นี้ยังตำหนิบรรดาผู้บริหารท้องถิ่นและนักการเมืองว่า ปล่อยทิ้งประชาชนให้เผชิญกับวิกฤตฺอย่างโดดเดี่ยว ที่จริงแล้วคนเหล่านี้ควรจะมาทำงานและอยู่ร่วมกับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่พวกเขากำหนดให้เป็นเขตพักพิงด้วย
นายคาสุโนริ วาตานาเบะ หนึ่งในผู้ร่วมประชาพิจารณ์ซึ่งเป็นทนายความจากเมืองโตมิโอกะบอกว่า ยังไม่เห็นแผนการฟื้นฟูบำบัดพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีเดินหน้าเลย ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรจะสรุปได้แล้วว่าถึงวันนี้รัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้างและจะดูแลประชาชนอย่างไรหากให้กลับเข้าไปในพื้นที่เดิม
ทนายคนนี้เคยไปร่วมฟังประชาพิจารณ์มาแล้วที่เมืองนาโงยาและยังรู้สึกหงุดหงิดเมื่อพนักงานโรงไฟฟ้าชูบุ อิเล็กทริก เพาเวอร์ พูดประชดประชันว่า "ไม่เห็นมีใครตายในเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟุคุชิมาสักคน"
ทนาย "วาตานาเบะ" เลยสวนกลับไปว่า มีหลายคนเมื่ออพยพออกจากพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าแล้วเสียชีวิตในทันที ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ควรจะมีชีวิตยืนยาวถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น
ชายหนุ่มชาวฟุคุชิมาให้คำแนะนำรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ควรกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานนิวเคลียร์และมีทางเลือกให้ประชาชนว่าจะเลือกใช้พลังงานชนิดไหน เป็นพลังงานชนิดหมุนเวียนหรือพลังงานนิวเคลียร์แล้วแยกระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าให้ชัดเจน
แต่แนวคิดของชายหนุ่มคนนี้ ไม่มีใครในห้องประชุมเห็นพ้องด้วย
ตัวแทนของรัฐบาลชี้แจงต่อที่ประชุมประชาพิจารณ์ว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาได้รับความเสียหายเพียง 4 เตาเท่านั้น ยังเหลืออีก 6 เตาอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ รัฐบาลอนุมัติให้บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ ปรับขึ้นค่าไฟ รวมถึงอนุมัติให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวา ในจังหวัดนิงิกาตะ เดินเครื่องอีกครั้ง
เหมือนส่งสัญญาณให้ชาวญี่ปุ่นในห้องประชุมได้รู้ว่าขณะนี้รัฐบาลกลางยังคงเลือกใช้ "พลังงานนิวเคลียร์" ต่อไป
ในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลกำหนดทิศทางการใช้กระแสไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ ใน 3 ทางเลือก
1. ในปี 2573 ยกเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์
2. ใช้ในสัดส่วน 15-20 เปอร์เซ็นต์
3. ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ในสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าในทุกระบบ
ทางนายโฮโซโนบอกว่า ทางเลือกที่ 2 น่าจะเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณามากที่สุด แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ 1 อย่างแน่นอน
เมื่อเลือกทางเลือกที่ 2 รัฐบาลต้องพิจารณาด้วยว่าจะเพิ่มหรือลดจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ หลังปี 2573 หรือไม่
ในเวทีประชาพิจารณ์ 8 แห่ง ผลสำรวจความเห็นผู้ร่วมประชุม 70 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนทางเลือกแรก 11 เปอร์เซ็นต์เลือกทางเลือกที่สอง และ 17 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ควรจะมีพลังงานนิวเคลียร์ในสัดส่วน 20-25 เปอร์เซ็นต์
การจัดประชาพิจารณ์ยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่ทากามัตสึและฟูกูโอกะ
เสียงของประชาชนในเวทีประชาพิจารณ์หลังวิกฤตการณ์ "ฟุคุชิมา" จะเป็นเสียงสวรรค์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นรับฟังและนำไปเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อตัดสินใจว่าก่อนปี 2573 จะเลือกใช้นิวเคลียร์ต่อไปหรือจะเลิกนำพลังงานนิวเคลียร์มาผลิตกระแสไฟฟ้าหรือไม่
ต้องติดตามดูกันต่อไป
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย