.
อังกรี๊ด อังกฤษ
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 80
ช่วงนี้ก็ต้องถือว่ามีอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญให้เราได้ติดตามกัน
นั่นก็คือเทศกาลการกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ
โอลิมปิก ประจำปี 2012 ที่จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ซึ่งก็เพิ่งเริ่มเปิดฉากไปได้ไม่นาน
แต่ผลการแข่งขันก็เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่ละประเภทชนิดกีฬา
ฉันเองไม่ได้เป็นทั้งคอกีฬา แถมยังไม่มีเวลามากพอจะติดตามได้อย่างสม่ำเสมอ
เลยคงจะทำได้แค่เป็นเห็บเหาข้างสนาม
โฉบๆ แตะๆ ดูนั่นนิด นี่หน่อยไปตามประสา
แต่สิ่งที่จะพลาดดูเอาไม่ได้เสียเลยคือ "พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก"
ฉันเคยไปอังกฤษมาแล้ว ผจญฟ้าหม่น
ฝนปรอยและ Tube ที่เป็นคำเรียกรถใต้ดินของชาวอังกฤษมาพอสนุก
คือสนุกในฐานะในท่องเที่ยวที่แม้ไม่ได้เตรียมตัวก็ยังมองอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามาด้วยสายตาอันเพลิดเพลินได้
แต่ที่จับได้อย่างหนึ่งคือคนอังกฤษมักเปิดประโยคทักทายหรือเริ่มสนทนาด้วยเรื่องดินฟ้าอากาศเสียเป็นส่วนใหญ่
ยังไม่มีหลักฐานว่าทำไม
แต่ถ้าให้เดาฉันก็จะเดาว่าเป็นเพราะอะไรที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของชนชาติไหนมากที่สุด เขาก็มักจะเริ่มทักทายกันด้วยเรื่องนั้น
คล้ายๆ ที่คนไทยทักว่า "กินอะไรมาหรือยัง" หรือ "กินน้ำกินท่ากันก่อน" นั่นล่ะ
ไม่ใช่หมายความว่าคนไทยเห็นแก่กินแต่อย่างใด
แต่ฉันรู้สึกว่ามันมีประเด็นของการได้ทำอะไรกันพร้อมหน้าพร้อมตามากกว่า
วงอาหารมักจะรวมเอาคนหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน
และยศศักดิ์อะไรก็พอจะถอดวางไว้ได้ตรงนอกชาน
วงอาหารก็ดูเป็นการเริ่มสร้างความคุ้นเคยที่เข้าที บวกกับความใส่ใจแบบไทยๆ ที่เราถามกันจนชินคำว่า "กินอะไรมาหรือยัง" จึงดูเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับมารยาทและอัธยาศัยไทยได้มานมนาน
นอกเรื่องไปเสียไกล วกกลับมาพูดถึงเรื่องพิธีเปิดกันดีกว่า เรามักคุ้นเคยกับภาพพิธีเปิดงานที่ขรึมขลังอลังการ
ผู้ร่วมแสดงอยู่ในชุดซึ่งไม่มีวันแต่งได้ในชีวิตจริงอีกไม่ว่าจะวันไหนๆ
ทำการแสดงสิ่งซึ่งอาจจะไม่ได้ทำอีกแล้วในชีวิตอย่างพร้อมเพรียง
ดนตรีประกอบเวิ้งว้างยากจะจับท่วงทำนอง หรือไม่ก็เป็นเสียงประกอบคลออยู่ข้างหลัง
กล่าวโดยสรุปคือเราก็ดูไปโดยไม่ค่อยเข้าใจความหมายแฝงที่ซ่อนอยู่ในท่วงท่าการเต้นโมเดิร์นดานซ์หรือการฟ้อนแบบโบราณโดยพร้อมเพรียงกันนั่นหรอก
แต่เราทุกคนรู้ต้องตรงกันว่ามัน "อลังการ" มัน "เป๊ะ" มัน "ยิ่งใหญ่" ดี
แต่กับงานพิธีเปิดครั้งล่าสุดนี้นอกจากฝนอังกฤษจะไม่ตกแล้ว
ยังทำเอาใครหลายคนงงในรูปแบบที่เรียกว่าฉีกแนวกันไปอย่างรุนแรง
ยิ่งโดยเฉพาะมีตัวเปรียบเทียบระดับหัวแถวในการจัดงานครั้งที่ผ่านมาที่จีน ซึ่งมีครบทั้งความเป๊ะ ความอลังการขรึมขลังอะไรก็ว่าไป
งานที่อังกฤษกับเต็มไปด้วยผู้คนธรรมดา ที่แต่งตัวธรรมดา หน้าตาธรรมดา
แสดงถึงชีวิตประจำวันที่เขาได้พบเจอกันแบบธรรมดา ผ่านช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลง
และคลอด้วยบทเพลงร่วมสมัยที่ฉันร้องตามไปได้แทบจะทุกเพลง
มันเต็มไปด้วยเรื่องของคนที่ริเริ่มอะไรใหม่ๆ คนหนุ่มคนสาว และความสดชื่นตื่นตัว
พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าของพวกเขา
เต็มไปด้วยผู้คนมากมายหลากหลายแบบ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ เด็ก คนอ้วน คนผอม คนผิวสี คนทุกแบบมารวมกัน
มันแสนจะตอกย้ำสิ่งที่พูดกันเสมอว่ามันเป็นการแข่งกีฬาของมวลมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี
เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมันได้ง่ายๆ เพราะมีคนที่อ้วนเหมือนเรา เด็กเหมือนเรา แก่เหมือนเรา แต่งตัวเหมือนเรา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงนั้น
และแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงเท่านี้,
พวกเขายังยกเอาอารมณ์ขันมาใส่ในพิธีอันอลังการได้อย่างแนบเนียน
และแสนจะเป็น "อังกรี๊ดดดดด อังกฤษ"!
"อารมณ์ขันก็เหมือนเรื่องชนชั้นที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมและชีวิตของคนอังกฤษทุกแง่มุม--ลักษณะสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นอังกฤษนั้นอยู่ที่ค่านิยมที่เรามี ต่ออารมณ์ขันมากกว่า ซึ่งค่านิยมนี้เป็นหัวใจของวัฒนธรรมอังกฤษและการปฏิสัมพันธ์ในสังคมทุกระดับ ในวัฒนธรรมอื่น คนพูดตลกกันในบางเวลาและบางสถานการณ์เท่านั้น เป็นการสนทนาลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนการสนทนาทั่วไป แต่คนอังกฤษมักพูดตลกอยู่เสมอ เราไม่สามารถสวัสดีหรือคุยเรื่องอากาศได้โดยไม่ทำเป็นเรื่องตลก และบทสนทนาของคนอังกฤษจะมีการเย้าแหย่ หยอกล้อ ประชดเสียดสี ต่อว่าตัวเองอย่างขำขัน ล้อเลียน หรือทำงี่เง่าโดยทั่วไป เราพูดตลกโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกดปุ่มเปิดและมีปุ่มปิด สำหรับคนอังกฤษแล้วอารมณ์ขันเป็นเหมือนกฎทางธรรมชาติเช่นกฎแรงโน้มถ่วงโลก เราปฏิบัติตามกฎนี้โดยอัตโนมัติ"
แน่นอนว่าย่อมมีหลายคนไม่ได้เข้าใจหรือร่วมตลกไปด้วยกับมุขของชาวอังกฤษหรอก
โดยเฉพาะอะไรที่เป็นส่วนตัวหรือเฉพาะกิจมากๆ
แต่ในคราวพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนี้ ฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยิ้มให้กับช่วงหนึ่งของการแสดงอย่างแน่นอน
บ้างก็ยิ้มให้กับสายลับ 007 เจมส์ บอนด์ (แสดงโดย มร.บอนด์คนล่าสด แดเนียล เครก) ที่รับภารกิจเดินทางไปรับควีน ก่อนภาพจะแสดงให้เห็นดั่งว่าเขาพาพระราชินีอังกฤษกระโดดร่มลงมาในงาน
แต่ที่เรียกรอยยิ้มได้อย่างกว้างขวางและเป็นสากลอย่างยิ่งจะเป็นช่วงไหนไปไม่ได้เลย นอกจากช่วงของ โรแวน แอตคินสัน หรือที่เราคุ้นกันในชื่อแคแร็กเตอร์ของเขาว่า "มิสเตอร์ บีน"
ดูๆ แล้วก็มานั่งนึกถึงพิธีเปิดแบบจีนที่ผ่านมา
ใช่ มันอลังการ
แต่มาถามถึงวันนี้ฉันก็จำรายละเอียดมันไม่ได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง
ในขณะที่ฉันเชื่อว่าฉันจะจำพิธีเปิดของอังกฤษไปได้อีกนานแสนนาน
อารมณ์ขันเป็นเรื่องดี ยิ่งเป็นอารมณ์ขันที่ถูกที่ ถูกเวลา
และทำได้อย่างมีรสนิยมยิ่งเป็นเรื่องวิเศษอย่างยิ่ง
มันแสดงตัวตนและวิธีคิด วิธีการรับรู้ต่อโลกของเราให้คนอื่นได้เห็น
และมันเป็นสากลกว่าอย่างแน่นอน
ฉันเชื่อว่าถ้าโอลิมปิกมาจัดที่เมืองไทย
ฉันจะได้ดูโขน ดูฟ้อน ดูวีรกรรมการรวมชาติ ดูเรื่องราวฮึกเหิมพลิ้วไหว
แต่อย่าลืมว่าขณะนี้เราไม่ได้อยู่เดียวดายบนโลกเพียงลำพัง
ความยิ่งใหญ่ของเราในแบบที่เราเข้าใจ หากมันไม่สื่อสารกับใครเขาก็เป็นอันจบกัน
คุณผู้อ่านสามารถชมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกประจำปี 2012 ย้อนหลังได้ตามลิงก์นี้ค่ะ
www.youtube.com/watch?v=4As0e4de-rI&feature=share
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
*ข้อความจากในหนังสือ
"อังกรี๊ด อังกฤษ ถอดรหัสพฤติกรรมผู้ดี" (Watching the English) เขียนโดย เคท ฟ็อกซ์ แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2554 โดยสำนักพิมพ์มติชน
++
งาน “ตาย”
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 80
ช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ฉันต้องไปร่วมงานศพถึงสองครั้ง
นี่เป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ปกติแล้วอาจไปงานศพเพียงครั้งเดียวต่อปีเช่นฉัน
ก็คงเหมือนที่ใครหลายคนเขาพูดกันไว้ว่าพอถึงช่วงวัยหนึ่ง เราจะมีงานศพให้ไปมากกว่างานวันเกิด
ช่วงวัยนั้นคงเริ่มเดินทางมาถึงฉันแล้ว
ทั้งสองงานมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือผู้ตายเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้มีชื่อเสียง
งานจึงเต็มไปด้วยบุคคลสาธารณะเหล่านี้ และคนที่มาดูบุคคลสาธารณะเหล่านี้อีกที
ฉันว่ามันเป็นสภาวะที่น่ากระอักกระอ่วนอย่างยิ่ง
เราไปร่วมงานศพของคนคนหนึ่ง ซึ่งเรากำลังเศร้าเสียใจต่อเขาทั้งจากใจจริงและโดยมารยาทสังคม
แต่แล้วก็มีใครคนหนึ่งแสดงตัวเข้ามาในความโศกเศร้านั้น
มือถือกล้องถ่ายรูปพร้อมแจ้งว่าตัวเองคือแฟนหนังแฟนละครผู้ติดตามผลงานมาตลอด
และด้วยใบหน้ายิ้มแย้มกับเสียงคึกคักครึกครื้นของเขาที่พุ่งเข้ามาหาเรานี้ ก็เพราะอยากจะขอถ่ายรูปด้วย
ช่วยยิ้มหน่อย
คุณผู้อ่านอาจจะบอกว่าให้ฉันปฏิเสธไปเสียสิ
มันยากนะคะ
และก็จะเป็นการกระจายข่าวได้ง่ายๆ เลยว่าฉันหยิ่ง
เวลาคนเขาเอาไปเล่าต่อน่ะ เขาก็จะบอกแค่ว่า
"วันก่อนเจอดาราคนนั้นด้วย ขอถ่ายรูปนิดนึงมันก็ไม่ให้ ยิ้งงงง...หยิ่ง"
ไม่ได้บอกหรอกว่า "วันก่อน" ที่อ้างถึงนั้น คือที่ไหน งานอะไร
ใช่ว่าทุกคนที่เข้ามาจะเป็นเช่นนี้ แต่ฉันขอยืนยันหนักแน่นว่าบางคนเป็นจริงๆ
เขาอาจจะคิดว่าขอถ่ายรูปนิดเดียว กอดไหล่ป้าซักนิด หอมแก้มน้าซักหน่อยให้น้าได้บันทึกภาพแล้วน้าก็จะจากไปแล้ว จะมามัวกระบิดกระบวนมากเรื่องอยู่ทำไม
ก็บางทีเราเพิ่งปักธูปหน้าศพมา
หรือพอหันมายิ้มแฉ่งถ่ายรูปกับคุณพี่คุณน้าแล้วเราต้องหันไปคุยกับญาติคนตายต่อน่ะสิคะ
อารมณ์มันค้านกันรุนแรงอย่างยิ่ง
แล้วฉันก็ว่ามันชอบกลในทุกประเด็นเลยทีเดียว
นี่ยังไม่พูดถึงในกรณีที่ผู้ตายเป็นบุคคลสาธารณะที่อยู่ในความสนใจของผู้คนเสียเอง
ฉันเห็นภาพสมัย คุณมิตร ชัยบัญชา หรือ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิต
ความรัก ความคลั่งไคล้ของผู้ที่มาในงานนั้นพุ่งจนถึงขีดสุด
ร่างของผู้ที่จากไปแล้วต้องถูกใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงความตายให้ใครต่อใครได้เห็น
ถูกบันทึกภาพ ถูกเล่าต่อ ถูกยกขึ้นมาขยายแบบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
พิธีที่ควรจะสงบเงียบเพื่อให้ผู้ตายได้อยู่พร้อมหน้าลูกหลานในงานบุญครั้งสุดท้ายตามความเชื่อกลายเป็นมหรสพย่อยๆ
และญาติพี่น้องผู้ตายที่ยังตกอยู่ในอาการตะลึงด้วยความเสียใจก็ไม่รู้จะหาทางรับมือกับสารพัดเรื่องราวที่พุ่งเข้าใส่อย่างไรดี
"เราหลงใหลชื่นชมคนดังในสังคมที่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่กว่าชีวิตจริง
แต่เราไม่เคยรู้ว่าพวกเขารับมือกับความตายอย่างไร
ไม่ได้เห็นว่างานสร้างชื่อหรือความสำเร็จล้นหลามได้หล่อหลอมปูทางไปสู่ กระบวนการการสิ้นชีวิตหรือไม่ ในระดับหนึ่ง
ผมอยากรู้ว่าความตายของพวกเขายิ่งใหญ่สมความหาญกล้า การผจญภัย ความลำบาก ความปีติ หรือการกระทำในชีวิตหรือไม่ และในอีกระดับ เป็นเพียงความสนใจใคร่รู้สถานเดียวเกิดอะไรกับนักร้องคนโปรดของเรา?
ดาราดังในรายการทีวีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทศวรรษก่อนจบชีวิตลงอย่างไร?
สาเหตุการตายของเจ้าของรางวัลโนเบล สะท้อนความอุตสาหะไล่ล่าผลงานชั้นเลิศหรือไม่?
นักเขียนนิยายขายดีพ่ายแพ้ต่อปัญหาและคำสอนสั่งที่เขียนไว้ในหนังสือหรือไม่?
นักบุญเสียชีวิตเพราะเป็นนักบุญหรือการทะยานสู่สถานะนักบุญ?
มนุษย์ผู้เป็นคนต้นคิดประดิษฐ์ล้อ เสียชีวิตจากสิ่งประดิษฐ์ของตน กล่าวคือโดนล้อกลิ้งมาทับ?
เป้าหมายสูงสุดที่ผมตั้งไว้ ผมอยากรู่ว่าคนรวยคนสวยคนเด่นคนดัง
นับตั้งแต่อารยธรรมมนุษย์ก่อตัวขึ้น แท้จริงแล้วตายอย่างไร" *
ความตายเรียกร้องความสนใจได้เสมอ
แต่มันเป็นเพียงการเรียกร้องที่ไร้คำอธิบาย
มีเพียงความตายที่เอาชนะทุกสิ่ง
และจะมาถึงตัวพวกเราทุกคนในท้ายที่สุด
นั่นคือสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้มากขึ้นในทุกครั้งที่ฉันไปร่วมงานศพของใครก็ตาม
ที่ปรากฏว่าบริเวณหน้างานไม่ได้มีเฉพาะญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
*ข้อความจากในหนังสือ
"ประวัติศาสตร์ ความตาย ฉบับคนดัง" (The Portable Obituary) เขียนโดย Michael Largo แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดย สำนักพิมพ์มติชน, กรกฎาคม 2555
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย