http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-23

“ดร.นรินทร์” ฟันธงธุรกิจน่าลงทุนในลาว-พม่า โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

.

นรินทร์ สาระโนทยาน
นักธุรกิจชื่อดัง “ดร.นรินทร์ สาระโนทยาน” ฟันธงธุรกิจน่าลงทุนในลาว-พม่า
โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง srangbun@hotmail.com  คอลัมน์ SMEs ก้าวทัน AEC
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:15:09 น.


เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ประกอบการของไทยส่วนหนึ่งเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาเนิ่นนานแล้ว ดร.นรินทร์ สาระโนทยาน ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นนักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนใน สปป.ลาว และ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า แล้วก็ยังเป็นที่ปรึกษาพิเศษ คณะปฏิรูประบบเศรษฐกิจของกระทรวงการเงินของ สปป.ลาว และกรรมการคณะทำงานการวางแผนแม่บทเศรษฐกิจ การค้า ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า อีกด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ ดร.นรินทร์ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในงาน ศาสตราจารย์สังเวียน ฟอรั่ม 2012 “AEC ก้าวใหม่ธุรกิจไทย รุกอย่างมีชั้น รับอย่างมีเชิง” จัดโดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีสาระน่าสนใจเพราะเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์จริงในการลงทุนทั้งที่ สปป.ลาว และ สหภาพพม่า


ลาวรู้จักเออีซีก่อนไทย

สปป.ลาว เป็นประเทศที่น่ารัก มีวัฒนธรรมที่สวยงาม มีจีดีพีที่น่าเชื่อถือ มีศักยภาพทางการเมืองที่มั่นคงแตกต่างจากบ้านเรา
เขารู้จักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี มาก่อนคนไทยเสียอีก สปป.ลาว รู้จักกันมานานแล้ว เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการแข่งขัน ทราบหรือไม่ว่า เด็กในประเทศใดเข้าใจเรื่องเออีซี นั่นคือ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ที่หนึ่งของเอเชีย เป็นประเทศที่รู้เรื่องเออีซีมากกว่าเด็กไทย
การพัฒนาประเทศของ สปป.ลาว ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปตามหลักทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา สปป.ลาว จะใช้ 4G ตุลาคมนี้ และใช้ 3G มา 2 ปีแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้ใช้ และเขามีดาวเทียมเป็นของตัวเอง

สปป.ลาว มีกฎหมายถ่วงความเจริญ แต่ไทยไม่มี เป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อการต้อนรับสู่การเป็นเออีซี เพื่อป้องกันการโกงกัน การเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ไว้ป้องกันเป็นเกราะให้กับคนลาวด้วยกันเอง และชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว ผมอยากบอกทุกคนว่าอย่าไปกลัวการลงทุนใน สปป.ลาว เขามีจีดีพีที่สูงมาก และมีรสนิยมการบริโภคที่ดีมาก

ลัมโบร์กินี่ รถโลว์คลาสใน สปป.ลาว

รถยุโรปใน สปป.ลาว คือรถโลว์คลาส เนื่องจากการนำเข้า ไม่เสียภาษี ถ้าขับลัมโบร์กินี่ คือประชาชนคนธรรมดา รถไฮคลาสของ สปป.ลาว คือโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์แชมป์ หรือโตโยต้าแคมรี่ คนที่ใช้คือมหาเศรษฐีกับคณะรัฐมนตรีของ สปป.ลาว

เมื่อก่อนคนไทยเป็นอันดับหนึ่งในการค้าขายในสปป.ลาว แต่ปัจจุบันนี้อันดับของไทยตกไปอยู่อันดับ 5 ซึ่งเราเคยเป็นอันดับ 1 แต่เราแข่งขันกันเอง จนทำให้เราไปตัดราคากันเอง ไปทะเลาะกันเอง
ปัจจุบันนี้ จีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของ สปป.ลาว อันดับ 2 คือเวียดนาม อันดับ 3 คือญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์

การลงทุนใน สปป.ลาว ไม่ยาก เพราะรัฐบาลพยายามทำให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสทุกอย่าง และเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น สิ่งที่ สปป.ลาว ต้องการมากที่สุดคือการลงทุนที่จริงใจ ซึ่งคนไทยไม่ค่อยจริงใจ แตกต่างจากจีน เวียดนาม  ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ให้ความจริงใจกับ สปป.ลาว มาก

กฎหมายลาวห้ามมีกิ๊ก

อีกเรื่องคือเรื่องกฎหมาย ผู้ชายไทยที่มีลูกมีเมียอยู่แล้วถ้าไป สปป.ลาว อย่าไปยุ่งกับแม่หญิงลาว เพราะอาจติดคุกได้ เนื่องจากกฎหมายของ สปป.ลาว ห้ามมีกิ๊ก ที่ผ่านมาคนต่างชาติชอบไปที่ สปป.ลาว และไปหลอกลวงแม่หญิงลาว ทางการสปป.ลาว จึงออกกฎหมายข้อนี้มาว่า ถ้าอยากจะแต่งงานกับแม่หญิงลาวเพื่อจะได้สิทธิ์ในการทำธุรกิจใน สปป.ลาว หากตรวจสอบได้ว่าแต่งงานมีลูกมีภรรยาแล้ว และไปแต่งงานกับแม่หญิงลาวจะถูกดำเนินคดี และยึดทรัพย์ทั้งหมดที่ลงทุนอยู่ในนั้น

รัฐบาลสปป.ลาว สนับสนุนเรื่องการลงทุนโรงพยาบาล โรงแรม การบริการการท่องเที่ยว เครื่องอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม นี่คือสิ่งที่ สปป.ลาว ต้องการ
ถ้าจะไปลงทุนใน สปป.ลาว ต้องศึกษาและเข้าใจในวัฒนธรรม กฎหมาย และเคารพกฎกติกามารยาทของเขา และพยายามอย่าทำตัวเด่น จะต้องแข่งขันกันอยู่ในกรอบ ในกฎระเบียบ ห้ามเล่นตุกติก ถ้าตุกติกปุ๊บรัฐบาลเล่นงานทันที

ขอแนะนำว่า ถ้าจะไปลงทุนใน สปป.ลาว จงหามิตรที่ดี และเพื่อนคู่คิดและพาร์ตเนอร์ที่ดี ให้เดินไปที่กระทรวงการค้ากระทรวงเดียว หรือสำนักงานบีโอไอ อยากลงทุนอะไรไปที่นั่น ไม่ต้องไปหาโบรกเกอร์ที่ไหน เพราะจะโดนคนไทยหลอกคนไทยด้วยกันเอง


เนปิดอว์รับเออีซี

อยากจะบอกว่า สหภาพพม่า ทุกคนเข้าใจว่าเป็นประเทศล้าหลังกว่าไทย 30 ปี แต่ผมอยากบอกว่าเขาไม่ได้ล้าหลังถึงขั้นนั้น การที่เขาเปิดประเทศมายาวนานขนาดนั้น และอยู่ของเขาได้โดยไม่ง้อใคร และไม่แบมือของเขา นี่คือคำถามว่าทำไมเขาอยู่ได้ 
สหภาพพม่านั้นประชากรมีเทียบเท่ากับประเทศไทยคือ 60 กว่าล้านคน และยังมีที่ไม่แท้จริงอีกประมาณ 40 กว่าล้านคนที่ไม่รวมโรฮิงยา ประชากรของสหภาพพม่าจึงมากกว่าประเทศไทย และมากกว่า สปป.ลาว กับ กัมพูชา มีอาณาเขตใหญ่กว่าประเทศไทย และมีทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมทุกอย่าง

ผมเจอคำถามว่าทำไมย่างกุ้งถึงถูกย้ายไปเป็นเนปิดอว์ คำตอบคือเพราะการเปิดประเทศและการเป็นเออีซี
เฉพาะแค่เนปิดอว์ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ที่นั่นจะมีการสาธารณูปโภคให้กับพวกเราไว้หมดแล้ว แบ่งเป็น 4 โซน โซนที่ 1 เป็นโซนทหาร โซนที่ 2 เป็นโซนเกษตรกรรม อันนี้จะเป็นโซนที่เปิดให้กับนักธุรกิจทำด้านอุตสาหกรรม โซนที่ 3 เป็นโซนอุตสาหกรรมหนัก เขาจะเน้นอุตสาหกรรมหนัก แตกต่างจาก สปป.ลาว ที่เน้นการท่องเที่ยวและการบริการ อาจจะมีการย้ายฐานไปอยู่สหภาพพม่ากันมากขึ้น โซนสุดท้ายคือโซนพลเมืองและบริการ คือโรงแรมและการท่องเที่ยว

ถามว่าตอนนี้สหภาพพม่าเตรียมการเปิดประเทศอย่างไร กำลังพัฒนาประเทศเพื่อสู่การเป็นหนึ่งของเอเชีย เหมือนที่เขาเคยเป็นเมื่อ 200 ปีที่แล้ว นั่นก็คือ การรวมชาติพันธุ์ และการเป็นศูนย์กลางการค้า ตอนนี้กำลังร่างกฎหมายการค้าขึ้น ฉะนั้น การไปลงทุนในสหภาพพม่าไม่ต้องกลัวว่าจะยุ่งยาก เขามีศูนย์กลางในการติดต่อ และดูแลควบคุมทั้งหมด นั่นคือ กระทรวงการค้าและบีโอไอ

”ทวาย” ศูนย์กลางโลจิสติกส์

สหภาพพม่าต้องการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งประเทศไทยชอบพูดกันว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ทุกคนเข้าใจผิดแล้ว ศูนย์กลางของเอเชีย คือสหภาพพม่า ถ้าได้ดูแผนที่จะเข้าใจว่าทำไมสหภาพพม่าจึงต้องการอยากเปิดท่าเรือน้ำลึกทวาย สหภาพพม่าไม่อยากเปิด คนที่อยากเปิดคือสิงคโปร์ และยุโรป อุตสาหกรรมทวายจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชีย ไม่ใช่แหลมฉบัง ไม่ใช่ประเทศไทย

ตอนนี้ไฮไลต์ของสหภาพพม่าคืออุตสาหกรรมทวาย ถ้าอยากจะรู้จักสหภาพพม่าให้มากขึ้น ต้องเริ่มศึกษานิคมอุตสาหกรรมทวายให้มากขึ้นว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ เขากำลังทำสัญญาลุ่มแม่น้ำโขงระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นั่นคือการตัดถนนผ่านจากสหภาพพม่า จากแม่สอด ผ่านเข้าประเทศไทย ออกสะหวันนะเขต ออกไปเวียงจันทน์ ถ้าถนนนี้เสร็จคิดดูว่าการค้าของสหภาพพม่าจะเข้มแข็งขนาดไหน และการขนส่งของสหภาพพม่าอยู่ตรงไหน

โอบาม่าย่องเงียบไปพม่า

มาดูต่างประเทศกันบ้าง โอบาม่าไม่เคยมาประเทศไทย แต่โอบาม่าเคยไปสหภาพพม่าเป็นการลับ คุณคิดว่าโอบาม่าให้ความสำคัญกับสหภาพพม่าหรือไม่
อเมริกาจะให้ความสำคัญกับประเทศเปิดใหม่ และเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ซึ่งสหภาพพม่าเป็นโจทย์ที่ตอบเขาได้มากกว่าประเทศไทย นั่นก็คือการเป็นสาวแรกรุ่น สาวบริสุทธิ์ ที่ยังไม่เคยผ่านมือชายใดๆ เลย ซึ่งเขาต้องการมาก แต่ประเทศไทยเหมือนสาวแรกรุ่นที่ผ่านมือชายมาแล้วหลายประเทศ แต่สหภาพพม่ายัง

นี่คือเหตุผลว่าทำไมอเมริกาเข้าไปในสหภาพพม่าก่อน และยอมยกเลิกกฎต่างๆ ขณะนี้กำลังก่อสร้างสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำเนปิดอว์ และมีการแลกเปลี่ยนทางการทูตและการเศรษฐกิจกัน  สปป.ลาว กับ สหภาพพม่า ไม่มีโควต้าในการนำเข้าสินค้ายุโรป ลองมอง 2 ประเทศนี้ดูว่ามีจุดแข็งอะไร นั่นคือ โควต้าการเข้าอียู 2 ประเทศนี้ไม่มีโควต้า

ญี่ปุ่นเดินเกมลึกได้ใจพม่า

ญี่ปุ่นเข้ามาดูแลในด้านเศรษฐกิจของสหภาพพม่าเกือบทั้งหมดแล้ว เป็นประเทศที่ฉลาดและรวดเร็วและไวจริงๆ พอประกาศเปิดประเทศปุ๊บ คำแรกเลยเขาเสนอการยกเลิกหนี้ให้ก่อน สอง ขอในการเป็นพี่เลี้ยงในการเปิดตลาดหลักทรัพย์ นี่คือสิ่งที่ญี่ปุ่นได้ และสิ่งที่สำคัญที่ญี่ปุ่นจะได้ต่อไปคือ อุตสาหกรรมหนักทุกชนิด แรงงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ 
เวิลด์แบงก์ตอนนี้ก็เริ่มเข้ามาเปิดสำนักงาน และเอดีบีแบงก์ก็เข้ามาเปิดสำนักงานในสหภาพพม่าแล้ว


ถ้าถามว่าเราจะได้อะไรจากสหภาพพม่าบ้าง เราได้เยอะมาก สหภาพพม่าเปรียบเสมือนประเทศที่ยังไม่มีอะไรเลย เปรียบเป็นสาวแรกรุ่นที่ยังบริสุทธิ์อยู่ ที่นั่นมีครบทุกอย่างที่น่าจะลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก สามารถไปได้เลย และสินค้าอุปโภคบริโภค

ประเทศหลักที่สหภาพพม่าส่งสินค้าออกเป็นหลัก อันดับแรก คือไทย ตามด้วยอินเดีย จีน และฮ่องกง ส่วนประเทศที่สหภาพพม่านำเข้ามากที่สุด คือสินค้าจากสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ฉะนั้น นักธุรกิจไทยต้องรีบตีตื้นเข้าไป เนื่องจากว่าตอนนี้เศรษฐกิจของสหภาพพม่ากำลังเติบโตมาก และที่สำคัญคือ สิงคโปร์เป็นพี่เลี้ยงทางด้านการค้าและการเศรษฐกิจ ถ้าเราเข้าไปเร็วจะได้โอกาสเร็ว

ธุรกิจมือถือไปโลด

เรื่องโทรคมนาคมในสหภาพพม่ายังมีปัญหาอยู่หลายเรื่อง เช่น ยังอยู่ในการควบคุมของทหาร โทรศัพท์มือถือค่อนข้างราคาแพงมาก ที่บ้านเราขอเลขหมายฟรี แต่ที่นั่นเสีย 100,000 บาท แพงมาก แต่ปัจจุบันนี้หลังจากที่เปิดเออีซี ได้มีการแก้ไขกฎตรงนี้แล้ว ต่อไปธุรกิจเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือจะขายได้อย่างถล่มทลาย

สหภาพพม่าเปิดประเทศแล้วและต้อนรับเอสเอ็มอี และต้องการนายทุน ถ้าทำอะไรอยู่รีบเข้าไป จะเป็นโอกาส ก่อนที่จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลี จะเข้าไปก่อน และจะหมดโอกาส



.