http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-06

บทบาทสถาบันกษัตริย์ และภารกิจสองข้อในการปฏิรูปประชาธิปไตย(จาก งานเสวนา)

.

เก็บตกเสวนา: บทบาทสถาบันกษัตริย์และภารกิจสองข้อในการปฏิรูปประชาธิปไตย
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/41898 . . Mon, 2012-08-06 14:11
( ที่มา Facebook  Yukti Mukdawijitra , Sirote Klampaiboon  -Fanpage  )


 5 ส.ค. ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายในงานโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง  (Laedership for Change) รุ่นที่ 3 จัดโดย มูลนิธิสัมมาชีพ ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

เนื้อความดังต่อไปนี้เป็นบันทึกเนื้อหาของวิทยากรทั้งสองท่านในเฟซบุ๊ค หลังจากที่ได้ไปบรรยายในกิจกรรมข้างต้น ประชาไทเห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจจึงได้นำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง




ยุกติ มุกดาวิจิตร: บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย

เมื่อเช้า ไปบรรยายที่สมาคมธรรมศาสตร์ฯ (ซึ่งแค่ให้สถานที่จัด ไม่ได้เป็นผู้จัด) มีวิทยากรร่วมอีก 2 ท่าน (ดูในรูปจากมติชนออนไลน์ครับ) ตอนแรก ผมจั่วหัวว่าจะบรรยายเรื่อง ม. 112 (ส่วนหนึ่งเพราะหลังๆ มานี่ผมมักถูกถามว่าเป็นพวกนิติราษฎร์ด้วยหรือเปล่า ซึ่งผมมักตอบว่า ผมไม่บังอาจเป็นสมาชิกนิติราษฎร์หรอก เพราะไม่ใช่นักนิติศาสตร์ ผมแค่ไปรับใช้เขา ไปร่วมรณรงค์ด้วยกันเท่านั้น) แต่พูดไปพูดมา ต้องแบ่งการบรรยายเป็น 2 รอบ

รอบแรก พูดเรื่องการกระจายอำนาจและการกระจายทุน ผมพูดจากงานวิจัยที่กำลังเขียนอยู่ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเป็นดอกผลของประเด็นทางการเมืองในทศวรรษ 2530 คือ ประเด็นการกระจายอำนาจและการกระจายรายได้

ผลคือได้เกิดการกระจายทรัพยากร เงินทุน ลงไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ผู้คนในชนบทเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดตั้งแต่ก่อนการเข้ามาบริหารประเทศของไทยรักไทยด้วยซ้ำ ผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เราได้กลุ่มคนที่ผมเรียกว่า homegrown entrepreneur เป็นผู้ประกอบการที่โตขึ้นมาจากท้องถิ่น พูดง่ายๆคือ "เจ๊กเริ่มหายไป มีนายทุนน้อยที่เป็นคนท้องถิ่นมากขึ้น"
ผลอีกทางคือ เกิดการกระจายอำนาจ เกิดการฝังรากลึกของประชาธิปไตยแบบตัวแทนลงในสังคมไทยรากหญ้า ทำให้การเลือกตั้งมีความหมายสำหรับประชาชน ไม่ใช่เฉพาะการเลือกตั้งระดับชาติ แต่รวมถึงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

การรัฐประหารปี 2549 พยายามกลับกระบวนการนี้ แต่ไม่สำเร็จ แถมยังต้องตามน้ำรักษาการกระจายทรัพยากรไว้ ทำได้แค่เปลี่ยนชื่อกองทุนต่างๆ และพยายามดึงอำนาจการปกครองท้องถิ่นกลับมา ด้วยการให้ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในอำนาจนานขึ้น ให้ ผญบ. เลือกกำนัน ตั้งองค์กรสภาชุมชน


แล้วก็พักช่วงแรก ระหว่างพัก เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่าผมจะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์จะดีหรือ จะปลอดภัยหรือไม่ ทั้งๆ ที่ผมยังไม่ได้พูดอะไรเลย ลำพังพูดเรื่องข้างต้นให้เข้าใจ นำเอาข้อมูลต่างๆ จากการวิจัยมาเสนอ ก็แทบจะหมดเวลาแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้จัดยืนยันว่าผมสามารถพูดเรื่อง 112 ได้ เพียงแต่ให้ปรับโทนให้เกิดความเข้าใจระหว่างกลุ่มที่เห็นต่างกันหน่อย 
หลังเบรค ผมพูด 2 ประเด็น หนึ่ง ทำไมบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองระบอบประชาธิปไตยจึงขึ้นมาเป็นประเด็นในการเมืองไทยปัจจุบัน สอง สังคมต้องแยกเรื่อง ม. 112 ให้ออกจากเรื่องสีเสื้อ แล้วตอบให้ได้ว่า ทำไม ม. 112 จึงกลายเป็นประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน


ประเด็นแรก ผมตอบว่า ประเด็นทางการเมืองในสังคมไทยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนประเด็นแต่ละสมัยเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ใช่อยู่ๆ ใครจะจุดประเด็นขึ้นมาก็เกิดได้ง่ายๆ การที่สังคมไทยปัจจุบันตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันฯ แสดงว่าบทบาทเท่าที่เคยถูกคาดหวังให้เป็นมา ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมปัจจุบันแล้ว (ยาวเหมือนกัน ขอละไว้)

ประเด็นที่สอง การที่ ม.112 เป็นประเด็น ไม่ใช่เพราะนักวิชาการจุดขึ้นมา เพราะนักวิชาการหลายกลุ่มพูดเรื่องนี้มานานแล้ว พูดหนักขึ้นหลังรัฐประหารก็จริง แต่ยังไม่เป็นประเด็นอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อเกิดการคุกคามสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายนี้อย่างรุนแรงในระยะหลังรัฐประหาร และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2553 การคุกคามนี้กระจายไปทั่ว ประชาชนเขาตระหนักรู้ได้ ชนชั้นนำในสังคมไทยจำนวนมากตระหนักรู้ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นโดยไม่มีการแบ่งแยกสี

แล้วเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของ ครก.112 และนิติราษฎร์
ไปดูคนที่คัดค้านการรณรงค์ คัดค้านการแก้ไขเป็นใคร เป็นนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นทักษิณ เป็นพรรคเพื่อไทย นี่ยังไม่ต้องพูดถึงพวกแม่ทัพนายกอง แสดงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสี แต่ผมสรุปว่า เป็นการที่ผลประโยชน์ของประชาชนไม่สอดล้องกับการดำรงอยู่ของ ม.112 ในลักษณะที่เป็นอยู่นี้อีกต่อไป


ตอนท้าย มีคำถามระดมเข้าใส่ผมมากมาย ล้วนเป็นคำถามสำคัญที่ผมต้องตอบให้ได้ 
คำถามหนึ่งที่ผมอยากแชร์คือ
ถาม: "ทำไมนิติราษฎร์จึงเสนอให้ถอด ม.112 ออกจากหมวดความมั่นคง จะบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สำคัญต่อความมั่นคงหรืออย่างไร"

ตอบ: "แน่นอนว่าการคุ้มครององค์พระประมุขของรัฐย่อมสำคัญ แต่กฎหมายในระบอบประชาธิปไตยก็จะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย โจทย์คือ จะถ่วงดุลการคุ้มครองนี้อย่างไร และการถ่วงดุลนี้ นานาชาติเขาทำกันอย่างไร เราจะทำให้ทัดเทียมเขาได้อย่างไร"

ขอบคุณผู้จัดที่มีความกล้าหาญให้ผมพูดจนจบ และขอบคุณผู้ร่วมอภิปรายที่ช่วยให้รูปธรรมของปัญหาของ ม.112 ทำให้ประเด็นที่ผมเสนอชัดเจนขึ้น


************************************

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ภารกิจสองข้อของการปฏิรูปประชาธิปไตย มายาคติสี่ข้อที่ต้องฝ่าไปให้ได้

ได้รับเกียรติจากมูลนิธิสัมมาชีพให้ไปคุยเรื่องการปฏิรูปประชาธิปไตย ผมเสนอความเห็นไปว่าโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปประชาธิปไตยตอนนี้มีสองข้อครับ

ข้อแรก
คือทำให้สถาบันการเมืองประชาธิปไตยมีความเป็นเสรีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น ข้อนี้หมายความถึงการทำให้ทิศทางประชาธิปไตยกลับไปเป็นแบบก่อนปี 2549 คือเอาอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งเป็นฐานของอำนาจการเมืองทั้งหมด ลดอำนาจของฝ่ายที่ไมไ่ด้มาจากการเลือกตั้งลง เดินหน้าเรื่องกระจายอำนาจ ทำประชาธิปไตยให้เดินตามมาตรฐานขั้นต่ำของเสรีประชาธิปไตยที่อารยะ

ข้อสอง ต้องผลักประชาธิปไตยให้ไปไกลกว่าปี 2549 ซึ่งในวงนักวิชาการหรือในสังคมก็มีการคิดหาประชาธิปไตยสูตรใหม่ๆ เยอะไปหมด มีเรื่องประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยที่มีฐานจากกลุ่มหรือสมาคมต่างๆ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ผมก็เคยเขียนเรื่องประชาธิปไตยกับความเป็นศัตรูหรือ Antagonistic Democracy เอาไว้

อย่าทำเหมือนกับการเมืองแบบก่อน 2549 ที่เป็นความสมบูรณ์และเป็นจุดจบของการปฏิรูปโดยตัวเอง
ข้อแรกเข้าใจง่ายเพราะเป็นเรื่องที่ทุกวันนี้คนพูดบ่อย ข้อสองเข้าใจยากหน่อยเพราะยังไม่ค่อยมีใครพูดและต้องการเวลาอธิบาย


ประเด็นสำคัญที่ผมคุยต่อคือการปฏิรูปประชาธิปไตยต้องไปให้พ้นจากมายาคติสี่ข้อ

ข้อแรก มายาคติแรกคือ Democracy without Politics คือความคาดหวังว่าประชาธิปไตยจะเต็มไปด้วยทุกสิ่งทีีดีๆ ซึ่งไม่ใช่
ประชาธิปไตยไม่ใช่่จุดจบของทุกอย่าง ประชาธิปไตยคือการเมืองแบบที่แสนจะเต็มไปด้วยการเมือง เล่นการเมืองกันทั้งนั้น ทุกค่าย ทุกฝ่าย ไม่เว้นสีไหนค่ายไหนกลุ่มไหนชนชั้่นไหน
ถ้าจะอยู่ในระบบประชาธิปไตยก็ต้องทนการแก่งแย่งแบบที่ทั้งมีหลักทั้งไม่มีหลักของทุกฝ่ายให้ได้ เลิกคิดได้แล้วว่าประชาธิปไตยจะนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิตทางการเมือง
อธิบายว่ามายาคตินี้เป็นปัญหาอย่างไรไว้นิดหน่อยในงาน จะไม่ขอเล่าในที่นี้

ข้อสอง มายาคติเรื่อง Democracy = Good Governance ซึ่งแพร่หลายมากในกลุ่มนักธุรกิจหรือนักปฏิรูปทั้งหลาย เรื่องนี้มันเป็น term หรือคำของพวกนักบริหาร
Good Governance สำคัญแน่ แต่ประชาธิปไตยเน้นไปที่ทางเลือกและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร เพราะทางเลือกและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรหมายถึงทำให้แต่ละคนแต่ละกลุ่มมีศักยภาพจะเล่นการเมืองได้มากขึ้น ความสามารถในการเล่นการเมืองได้มากขึ้นคือเงื่อนไขให้คนได้ชีวิตแบบที่เขาต้องการ
เรื่องนี้สำคัญอย่างไรก็จะเก็บไว้อธิบายในโอกาสถัดไป

ข้อสาม ประชาธิปไตยไม่เท่ากับเสรีประชาธิปไตยหรือระบบที่มีการแข่งขันทางการเมืองที่สมบูรณ์ที่สุด ประชาธิปไตยวางอยู่บนความคิดเรื่องความเท่าเทียม เชื่อว่าทุกคนเท่ากัน ทุกกลุ่มเท่ากัน ถึงตอนนี้จะไม่เท่ากัน ก็ต้องสร้างเงื่อนไขหรือระบบให้คนเท่ากันในวันข้างหน้าให้ได้
ประชาธิปไตยต้องการพื้นฐานทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีการรวมกลุ่ม กลุ่มแต่ละกลุ่มแตกเป็นกลุ่มย่อยได้กว้างขวาง ไม่จำเป็นว่าชนชั้นหรือเพศเดียวกันต้องเป็นกล่มเดียวกันไปหมดทุกเรื่อง เพราะถ้าทุกคนและทุกกลุ่มเท่ากันก็ไม่มีเหตุให้ใครมีสิทธิในการบอกว่ากลุ่มของชนชั้นหรือเพศหรืออาชีพหรืออัตลักษณ์ต้องมีลักษณะเดียวกันทุกกรณี

ข้อสี่ ประชาธิปไตยไม่เกี่ยวอะไรกับการสร้างความปรองดอง ความเป็นเอภาพ ความสามัคคี ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตยไม่เกี่ยวกับการทำให้คนรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นสมาชิกของชุมชนเดียวกัน ชาติไม่ต้องเป็นแบบเดียวกัน ศาสนา ค่านิยมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันด้วย แม้กระทั่งการวิจารณ์ค่านิยมต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกันอย่างไมม่ีเงื่อนไข 

พูดง่ายๆ คือแดงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกเรื่อง เกย์ กลุ่มศาสนา กรรมกร เสื้อหลัง เสรีนิยม ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหมดในกลุ่มเดียวกัน
อธิบายปัญหาของมายาคติข้อนี้ไว้ในงาน จะหาโอกาสเขียนเรื่องนี้ในโอกาสถัดไป


สรุปคือผมเสนอว่าในแง่สถาบันการเมือง การปฏิรูปมีโจทย์ใหญ่สองข้อครับ แต่ในแง่ความคิดแล้ว การปฏิรูปถูกล้อมด้วยมายาคติสี่ข้อซึ่งจะเป็นกรอบของการปฏิรูปอย่างมีนัยยะสำคัญ



.