http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-15

ชี้ ปชช.ยอมจ่ายค่าไฟแพง หากช่วยลดโลกร้อนได้ จี้รัฐปลดแอกจากกลุ่มทุนพลังงาน

.

ผลวิจัยมธ.ชี้ปชช.ยอมจ่ายค่าไฟแพง หากช่วยลดโลกร้อนได้ จี้รัฐปลดแอกจากกลุ่มทุนพลังงาน  
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:30:54 น.



ภาคประชาชน-เอกชน  จี้รัฐปลดแอกจากกลุ่มทุนพลังงาน  สนับสนุนชุมชนผลิตพลังงานหมุนเวียน ระบุกฎหมายพลังงานหมุนเวียนต้องเป็นเอกภาพ   ผลวิจัยมหาลัยธรรมศาสตร์ชี้ประชาชนยอมจ่ายค่าไฟแพงหากช่วยลดโลกร้อนได้  กรีนพีซจัดสัมมนา-ฟรีคอนเสิร์ตปฎิวัติพลังงาน เสาร์ที่ 18 ส.ค.นี้


นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล  ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า   เหตุที่รัฐต้องออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน  เนื่องจากต้องยอมรับว่าเรายังคงต้องใช้ไฟฟ้า แต่ทำอย่างไรที่จะใช้ปฏิวัติการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งเดิมๆ เปลี่ยนมาเป็นการใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยและมีต้นทุนการผลิต ที่ถูกกว่า  เราอยากเห็นในอนาคตที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลมอย่างมีประสิทธิภาพ  ต้องการให้รัฐบาลหลุดพ้นจากกลุ่มทุนด้านพลังงานด้วย  เพราะขณะพี้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในประเทศไทยมีสูงกว่า8,000 เมกะวัตต์แล้ว  ซึ่งเกือบจะถึง 25% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้แล้ว  รัฐจึงควรออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเพื่อทำให้กลไกต่างๆ ในการผลิตพลังงานหมุนเวียนและทำประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดมากได้ง่ายขึ้น

ส่วนที่มีการระบุว่าพลังงานหมุนเวียนทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นนั้น   เรื่องนี้ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีราคาแพง เพราะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

และส่วนที่มองว่าถ่านหินมีต้นทุนที่ถูกนั้นไม่เป็นความจริง   เนื่องจากไม่มีการมองถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ไม่สามารถประเมินค่าได้    ดังนั้น  โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนแน่นอน


นายยุทธการ มากพันธุ์    ตัวแทนศูนย์กสิกรรมท่ามะขามจังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาทดลองพลังงานหมุนเวียนฉบับไทย กล่าวในระหว่างเข้าร่วมงาน “มหกรรมปฏิวัติพลังงานผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน”  ของกรีนพีซ ว่า  อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมและมีวัตถุดิบพร้อม แต่ขาดการส่งเสริมเรื่องการลงทุน เพราะการลงทุนแม้แต่ในขนาดเล็กต้องเป็นหลักล้านขึ้นไป ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนที่จะทำได้ ทำให้กลุ่มทุนเข้ามาลงทุนแทนเพื่อแสวงหากำไร  ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งทำให้นักอนุรักษ์เสียชีวิตไปหลายคน เพราะคนในพื้นที่ดูแลทรัพยากรมาก่อน  อีกทั้งยังมีเรื่องความไม่โปร่งใสในเรื่องการออกนโยบายด้วย    เรื่องเหล่านี้ทำให้โครงการพลังงานหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้ช้ามาก

“ผมอยากเห็นกฎหมายที่ให้ชุมชนเป็นเจ้าของประโยชน์ทั้งหมดโดยเป็นกลุ่มหรือบริษัทของชาวบ้านเอง เพราะชาวบ้านสามารถทำได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ไบโอแก๊ส หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแกลบ  โดยทุกวันนี้รัฐเสียงบประมาณจากการนำเข้าพลังงานสูงมาก   รัฐน่าจะนำเงินตรงนี้มาส่งเสริมชาวบ้านให้มีความรู้ และ  อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านในเรื่องการลงทุนน่าจะมีประโยชน์มากกว่า   ดังนั้น ถ้ารัฐออกกฎหมายที่ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังประชาชนที่มีใจจะทำเรื่องนี้อยู่แล้วเอาด้วยแน่นอน  โดยรัฐควรสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี เงินทุน  มีแผนให้ชัดเจน  5-10 ปีต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง อีกทั้งกฎหมายที่ออกมาต้องมีการบูรณาการ  โดยทั้งสนับสนุนให้มีการผลิตพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งต้องสนับสนุนและมีการรับซื้อด้วย ไม่ใช่ผลิตออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ ดังนั้นกฎหมายต้องมีเอกภาพ” นายยุทธการ กล่าว


ด้าน นายสมชาย   นิติกาญจนา  เจ้าของฟาร์มสุกร เอสพีเอ็ม ฟาร์ม  ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนครบวงจร โดยการนำขี้หมูมาผลิตไบโอแก๊ส   กล่าวว่า     พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนที่แพงกว่าพลังงานฟอสซิลที่ใช้กันตอนนี้ เพราะพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนในการบำบัดของเสียให้เป็นประโยชน์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมององค์รวมว่าใครได้อะไรบ้าง    นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้มีการซื้อไฟ ต้องไม่มีการกีดกัน โดยจำกัดโควตาและมีราคาเป็นธรรม การขอใบอนุญาตต้องทำให้ง่ายเพราะประโยชน์เกิดกับประเทศชาติ  การลงทุนควรเป็นโรงงานขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการคุ้มทุน ให้ชาวบ้านสามารถผลิตร่วมกันได้ อีกทั้งมหาวิทยาลัยต้องให้ความรู้และการพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและอยอดภูมิปัญญาเดิมด้วย

“เราต้องคิดว่า หากน้ำมัน แก็ส หมด เราจะอยู่กันอย่างไร  ประเทศไทยมีศักยภาพที่สูงมาก  แต่ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนว่าคนที่ต้องการลงทุนเรื่องนี้จะได้อะไร   ดังนั้น  ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีพลังงานทดแทนเท่าใด  หากทำไม่ได้ต้องมีการลงโทษเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบ”   นายสมชาย กล่าว


นางสาว  กรณ์กนิศ  แสงดี   ตัวแทนจากโรงงานอำพล ฟู๊ด  ซึ่งมีการนำเศษอาหารมาผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า   ในฐานะตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม อยากให้มีการมองในองค์รวมว่าพลังงานทดแทนที่จะทำในประเทศคืออะไร ผลประโยชน์และผลกระทบไปอยู่ที่กลุ่มไหนบ้าง อีกทั้งอยากให้ภาครัฐมาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ดูแลเรื่องมลพิษ เรื่องความปลอดภัยและฝ่ายสนับสนุนให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีทิศทางไปในทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย  และมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน  และต้องให้ประชาชน เอกชน วิชาการมีส่วนร่วม


 ด้าน นางสาวสุขุมาวดี  ทองคำ นักวิจัยเศรษฐศาสตร์  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     กล่าวว่า   ในการศึกษาวิจัยของตนเอง ได้ตั้งคำถามว่า “คนจะยินดีจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มหรือไม่ ถ้าไฟฟ้าที่ใช้สามารถลดภาวะโลกร้อนได้”    โดยส่วนใหญ่ 73% ระบุว่า ยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนประชาชนสนับสนุนพลังงานสะอาด   คนไทยตื่นตัวกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด   แต่ปรากฎว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้า40% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด กลับเป็นกลุ่มที่น้อยที่สุดกับการเห็นต้องจ่ายเพิ่มเพื่อพลังงานสะอาด    แต่ภาพรวมคนส่วนใหญ่ยอมจ่ายแพงกว่าหากได้พลังงานที่สะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อน



 กรีนพีซจะจัดสัมมนาปิดท้ายมหกรรมพลังงานหมุนเวียน ในวันเสาร์ที่ 18 ส.ค. นี้  ที่ โดมกู้วิกฤตโลพร้อน  ลานราชมังคลากีฬาสถาน  หัวหมาก  ตั้งแต่เวลา 15.00 – 20.00  น. โดยในเวลา 16.00-17.45 น.   จะมีการเสวนา    “จิบชา ปฏิวัติพลังงาน ผ่าน กม.พลังงานหมุนเวียน โดยมีวิทยากร  คือ นางสาว รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา นายสัมฤทธิ์  เหมะ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทน  ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   นางสาว สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  นาย ศุภกิจ นันทวรการ นักวิจัยพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ  นอกจากนี้ยังมีฟรีคอนเสิร์ตปฏิวัติพลังงาน   นำโดย  สิงโต นำโชค  เจ้าพ่ออูคูเลเล- เพลงเซิร์ฟชื่อดัง  ที่ร่วมแต่งเพลง “หากมีเธอก็คงดี” ซึ่งเป็นเพลง รณรงค์ โครงการปฏิวัติพลังงานให้กรีนพีซ    พร้อมกับ คู่หูมหัศจรรย์ Double Trapp Beatbox  และ วง Diamond  วงดนตรีคนตาบอดชื่อดังของเมืองไทย วง วง Cha-Ju   และปิดท้ายด้วย  ร่ายกวีเพื่อพลังงานหมุนเวียน โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ศิลปินแห่งชาติ/กวีซีไรต์)


 ทั้งนี้  กรีนพีซได้เรียกร้องให้กฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลกำลังยกร่าง ต้องมีหลักการขั้นพื้นฐาน 5 ข้อดังต่อไปนี้เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานไทย โดย  
1. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ  
2. ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้และขายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน   
3. การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าต้องมีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม
4. ต้องมีการจัดตั้งกองทุนและพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน 
5. ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลเพื่อสร้างจิตสาธารณะร่วมกัน ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม    

โดยกรีนพีซเริ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทั้งทางออนไลน์และการจัดกิจกรรมตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อระดมพลังประชาชนอย่างน้อย 55,555 คน เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย พลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทยโดยเร็วที่สุด โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ที่ http://www.greenpeace.or.th/GoRenewable



.