http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-05

ฯเผด็จการขุนนางพระกับ“ภาวะไร้รับผิดชอบ” โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์: ระบบเผด็จการขุนนางพระกับ“ภาวะไร้ความรับผิดชอบ”
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:00:00 น.


บางท่านเห็นคำว่า "ระบบเผด็จการขุนนางพระ" อาจไม่พอใจว่าผมใช้คำ "แรง" ไป แต่ที่จริงเป็นคำที่ระบุถึง "ข้อเท็จจริง" ตรงๆ คือ องค์กรปกครองสงฆ์ปัจจุบันที่เรียกว่า "มหาเถรสมาคม" (มส.) นั้นเป็นองค์กรที่สถาปนาขึ้นโดยกฎหมายเผด็จการยุคจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ที่ตราขึ้นเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับประชาธิปไตย 2484 ดังนั้นโครงสร้างองค์กรปกครองสงฆ์จึงไม่สอดรับกับระบบการแบ่งแยกอำนาจการตรวจสอบ และวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้นบันไดไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจปกครองคณะสงฆ์คือ "ระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์" พึงเข้าใจว่าการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ทางฝ่ายฆราวาสวิสัยนั้นสิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่การสถาปนาฐานันดรศักดิ์ของพระสงฆ์ยังคงมีต่อมา ฉะนั้น องค์กรปกครองสงฆ์ที่สถาปนาขึ้นจาก "กฎหมายเผด็จการ+ระบบฐานันดรศักดิ์" จึงเท่ากับ "ระบบเผด็จการขุนนางพระ"


ปัญหาระดับพื้นฐานสำคัญมากที่สุดของระบบที่ว่านี้คือ

ประการแรก ขัดแย้งอย่างถึงรากกับระบบการปกครองสงฆ์สมัยพุทธกาล เพราะระบบสังคมสงฆ์ยุคพุทธกาลเป็น "ระบบรองรับการสลายชนชั้น" ไม่มีฐานันดรศักดิ์ แม้พุทธะเองก็สละฐานันดรศักดิ์แล้วไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ยกย่องสถานะของพุทธะให้สูงส่งเป็นพิเศษ พุทธะคือศาสดาหรือครูที่ให้เสรีภาพแก่ชาวพุทธ ทั้งพระและฆราวาสวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบท่านได้ คณะสงฆ์ก็มีความเสมอภาคภายใต้ธรรมวินัยไม่ว่าจะมาจากชนชั้นกษัตริย์พราหมณ์ แพศย์ ศูทรหรือคนนอกวรรณะกาลกิณีอย่างจัณฑาล เมื่อบวชเป็นพระก็มีสถานะเสมอภาคกันเคารพกันตามลำดับการบวชก่อน-หลัง และแม้จะอาวุโสต่างกันแต่ก็มีเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันและกันตามหลักธรรมวินัยภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

แต่ก็มีบางคนอ้างว่าการแต่งตั้งสมณศักดิ์ในยุคนี้ก็อ้างอิงจากการแต่งตั้ง "เอตทัคคะ" ในสมัยพุทธกาล แต่ความจริงแล้วจะอ้างอิงเช่นนั้นไม่ได้เลยเพราะการมีเอตทัคคะด้านต่างๆ นั้นเป็นการยกย่องความรู้ความสามารถที่เชี่ยวชาญหรือเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของพระภิกษุ เช่น พระอุบาลีเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวินัยก็ถูกยกย่องว่าเป็น "เอตทัคคะด้านวินัย" เป็นต้น ผู้ประกาศยกย่องก็คือพุทธะซึ่งมีสถานะเป็นศาสดาหรือครูของพุทธบริษัท แต่สมณศักดิ์นั้นสถาปนาโดยผู้มีอำนาจรัฐและมีลักษณะเป็นฐานันดรศักดิ์อันควรแก่ความปรารถนาชื่นชมตามธรรมเนียมโลกวิสัย หาใช่สมณวิสัยพึงนิยมยินดีไม่ แต่เมื่อมีระบบเช่นนี้ขึ้นมาแล้วและสมณะก็เกิดไปนิยมยินดีเข้ากระทั่งหลงตัวเองด้วยฐานันดรศักดิ์นั้นจึงเกิดเสียงติฉินจากชาวบ้านมาแต่โบราณว่าเหตุใดบรรดาพระๆ จึงยึดติดใน "ยศช้างขุนนางพระ" กันนักหนา!


ประการที่สอง ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบสังคมสงฆ์สมัยพุทธกาลเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยด้วยปัญญาและเมตตาระหว่างครูกับศิษย์ สมาชิกสังคมสงฆ์มีพันธะรับผิดชอบต่อตนเองด้วยการศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส มีพันธะรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วยการรักษาธรรมวินัยและการเผยแผ่พุทธศาสนา ความสัมพันธ์ดังกล่าวคือการอยู่ร่วมกันแบบครูกับศิษย์แบบพี่แบบน้อง (ภราดรภาพ) โดยต่างยึดหลักการส่งเสริมการศึกษา/ปฏิบัติธรรมของกันและกัน เพื่อการมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าทางศีลธรรมและจิตวิญญาณ

วัฒนธรรมของสังคมสงฆ์ดังกล่าวนี้ทำให้สมาชิกสังคมสงฆ์รับฟังกันและกัน และเปิดใจรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงจากชาวบ้าน พุทธะไม่บัญญัติวินัยสงฆ์227ข้อด้วยการใช้อำนาจเผด็จการแต่บัญญัติขึ้นจากการรับฟังเสียงท้วงติงจากชาวบ้านและจากสมาชิกสังคมสงฆ์ อีกทั้งยังให้หลักการความมีใจกว้างหรือมี"ขันติธรรม"ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์แก่ชาวพุทธไว้ว่า"หากใครติเตียนโจมตี วิพากษ์วิจารณ์พุทธะธรรมะ และสังฆะ ก็อย่าโกรธแต่พึงมีสติชี้แจงไปตามเป็นจริง"

แต่ระบบเผด็จการขุนนางพระได้สถาปนา"ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ"ขึ้นมาแทนที่"ความสัมพันธ์ด้วยปัญญาและเมตตา"เปลี่ยนความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์มาเป็นผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง  กฎหมายปกครองสงฆ์ได้สถาปนา"ผู้ปกครอง"สงฆ์ตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไปจนถึงประธานกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.)ให้มีสถานะเป็น"เจ้าพนักงานของรัฐ"ที่มีอำนาจตามกฎหมายบัญญัติและภายในระบบนี้มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่งใช้ระบบการสั่งการจากบนลงล่างไม่ใช่ระบบการปรึกษาหารือดังวัฒนธรรมสงฆ์แบบพุทธกาล

ดังนั้นระบบสังคมสงฆ์ปัจจุบันจึงเป็นระบบที่ไม่เปิดใจรับฟังกันและกัน มิใยต้องพูดถึงการเปิดใจรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ ปัญญาชน นักวิชาการ หรือชาวบ้าน เพราะคณะสงฆ์ยึดติดในวัฒนธรรมทางความคิดว่าตนเองมีทั้งอำนาจทางกฎหมาย อำนาจความเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาและอำนาจทางศีลธรรมจนเกินกว่าที่จะเปิดใจรับฟังเสียงของความเห็นต่างหรือเสียงท้วงติงข้อผิดพลาดบกพร่องใดๆจากชาวบ้านผู้อยู่ในสถานะต่ำกว่าทุกด้าน


ประการสุดท้าย ด้วยปัญหาระดับรากฐานในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมอำนาจวัฒนธรรมทางความคิดดังกล่าวทำให้ระบบเผด็จการขุนนางพระตกอยู่ใน "ภาวะไร้ความรับผิดชอบ" หมายความว่าการไร้ความรับผิดชอบ หรือ "ความไม่รับผิดชอบ" ไม่ใช่แค่เรื่องของความจงใจที่จะไม่รับผิดชอบ แต่เป็น "ภาวะ" "สภาพ" หรือ "nature" ของระบบนี้เลยทีเดียว ซึ่งเห็นได้จากการไม่สามารถแก้ปัญหาภายในของตนเองได้โดยลำพัง (ต้องคอยพึ่งอำนาจรัฐแทบทุกเรื่อง) ตั้งแต่ปัญหาความประพฤติผิดของพระเป็นรายบุคคล ปัญหาการจัดการทรัพย์สินผลประโยชน์จากการเช่าที่ธรณีสงฆ์ การกำหนดนโยบายเผยแผ่ธรรมที่ชัดเจนเป็นประโยชน์แก่สังคมและอื่นๆ

โดยเฉพาะการศึกษาสงฆ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของพระภิกษุสามเณรให้มีความสามารถเผยแผ่ธรรมอย่างเข้าใจปัญหาและเข้าถึงสังคมสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของคณะสงฆ์คือ "ระบบการศึกษานักธรรม-บาลี" นั้น (ยกเว้นมหาวิทยาลัยสงฆ์) เป็นระบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรและตำราเรียนเลย

ระยะหลังมีการพูดกันหนาหูว่าการจัดสอบนักธรรม-บาลีในปัจจุบันมีการทุจริตแบบโจ่งแจ้งชนิดที่เปิดตำราลอกกันในห้องสอบหรือกระทั่งกรรมการคุมสอบเขียนคำเฉลยให้ดูกันบนบอร์ดหน้าห้องสอบเลยทีเดียว ปัญหาพวกนี้เป็นที่รู้ๆ กันในวงการสงฆ์แต่ก็ไม่ถูกแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับปัญหาการบวชภิกษุณี-สามเณรี คณะสงฆ์ก็เลี่ยงที่จะรับผิดชอบโดยปฏิเสธการรับรองสถานะของภิกษุณี-สามเณรีที่บวชมาจากศรีลังกาเสมือนว่าพระผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีตัวตนในสายตาคณะสงฆ์ไทย ขณะที่มีการรณรงค์ให้จัดบวชพระผู้ชายเป็นแสนรูปทั้งในเทศกาลเข้าพรรษาและเทศกาลวันสำคัญต่างๆ เสมือนว่าการบวชมีความหมายอย่างยิ่งกับชีวิตทางธรรมและการสืบทอดพุทธศาสนา แต่กรณีที่สตรีมีศรัทธาจะบวชกลับบอกว่าเป็นฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมได้ไม่จำเป็นต้องบวช บางทีผมก็อดถามไม่ได้ว่าท่าทีเช่นนี้ของคณะสงฆ์คือท่าทีที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็น "คนชายขอบทางพุทธศาสนา" และจะผลักไสให้พวกเขาไปนับถือศาสนาอื่นหรืออย่างไร


กรณีที่ไม่รับรองสถานะของภิกษุณี-สามเณรี อย่าอ้างเรื่องธรรมวินัยเลย ถ้าอ้างธรรมวินัยเถรตรงกันจริงๆ พระรับเงิน รับสมณศักดิ์ บวชหน้าไฟ บวชแทนคุณ บวชเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ ก็ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะวินัยไม่ได้บัญญัติไว้ ที่บัญญัติไว้ตรงๆ เลยคือให้ "บวชเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง" เท่านั้นครับ ภายหลังธรรมยุตินิกายก็ตัดคำว่า "บวชเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง (นิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย)" ออกไปจากคำกล่าวในพิธีบวช แล้วทำไมคณะสงฆ์ทำได้ครับเพราะนั่นคือการ "ตัดจุดประสงค์หลัก" ของการบวชในธรรมวินัยของพุทธะออกไปเลย แต่กรณีที่สตรีจะบวชปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์กลับไม่ยอมรับสิทธิและสถานะความเป็นภิกษุณีของพวกเขา นี่คือ "ตลกร้าย" ภายในวงการสงฆ์ไทยภายใต้ระบบเผด็จการขุนนางพระ


ฉะนั้นการปฏิรูปใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมทางความคิดของสงฆ์ไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็น มิเช่นนั้นสถาบันพุทธศาสนาเชิงนามธรรมที่อยู่ภายใต้ "ภาวะไร้ความรับผิดชอบ" ของระบบเผด็จการขุนนางพระรังแต่จะอ่อนแอจนเสื่อมสิ้นพลังทางปัญญาและจิตวิญญาณในที่สุด!



.