http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-18

เจตจำนงและวัฒนธรรมทางการเมือง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

เจตจำนงและวัฒนธรรมทางการเมือง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 30


ท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนทางการเมือง นักการเมืองจะริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ไม่ได้เลย หากปราศจากเจตจำนงทางการเมือง
เช่น เพื่อเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดถี่ขึ้น จะปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาวะใหม่อย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่ฟลัดเวย์สำหรับระบายน้ำ จำเป็นต้องคิดถึงการกระจายอำนาจเพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น ในระหว่างที่รัฐไม่อาจเอื้อมมือไปช่วยได้
ไม่เฉพาะแต่ช่วงที่เกิดภัยพิบัติ แต่ชุมชนจะเข้มแข็งจนทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องทำให้ชุมชนมีอำนาจรับผิดชอบตนเองในเกือบทุกด้านในยามปรกติด้วย


แต่การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ขัดขวางอำนาจและผลประโยชน์ของคนมีอำนาจจำนวนไม่น้อย นักการเมืองหรือพรรคการเมืองรู้ดีว่าการผลักดันนโยบายทำให้ต้องเผชิญหน้ากับคนเหล่านี้ และอาจเป็นผลให้ไม่ได้เป็นรัฐบาล
ปราศจากเจตจำนงทางการเมือง นักการเมืองและพรรคการเมืองมักเลือกหนทางสมยอมกับอำนาจ เพื่อเป้าหมายทางการเมืองเฉพาะหน้ามากกว่า  
การไม่มีเจตจำนงทางการเมืองไม่ได้เป็นของพรรครัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นของทุกพรรคการเมือง และไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เราเห็นได้ในทุกประเทศทั่วโลก นักการเมืองและพรรคการเมืองย่อมเลือกไม่มีเจตจำนงทางการเมือง เพื่อเก็บเกี่ยวผลได้เฉพาะหน้ามากกว่าฟันฝ่าอุปสรรคด้วยความอดทนทั้งนั้น

และการไม่มีเจตจำนงทางการเมือง ไม่ได้จำกัดเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ที่การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสินนโยบายที่สำคัญที่สุด) เท่านั้น แต่รวมถึงการเมืองในระบอบเอกาธิปไตยทั้งหลายด้วย


อย่านึกว่าผู้เผด็จการหรือพระราชาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ต้องเผชิญกับ "การเมือง" กว่าจะเป็นผู้เผด็จอำนาจแต่ผู้เดียวได้ ก็ต้องสมยอมกับผลประโยชน์นานาชนิด (ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม) ของคนอื่นๆ เพื่อได้รับการสนับสนุนให้เผด็จอำนาจได้ และที่จะรักษาอำนาจเอกาธิปไตยของตนไว้ได้ ก็ยังต้องสมยอมต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงเต็มไปด้วยผู้เผด็จการที่ล้มเหลว พอๆ กับราชาธิปไตยที่ล้มเหลว

รัฐบุรุษคือบุคคลในวงการเมืองที่มีเจตจำนงทางการเมือง แต่รอจังหวะเป็น แม้ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานก็อดทนรอเพื่อผลักดันนโยบายการเมืองตามเจตจำนงนั้นให้สำเร็จได้ ผมนึกถึง ร.5 ซึ่งต้องการจะผนวกอำนาจทั้งหมดในบ้านเมืองไว้ภายใต้ราชบัลลังก์ แต่ก็เฝ้ารอจังหวะเป็นเวลากว่าสิบปี เพื่อสะสมอำนาจของท่านเอง พร้อมกับรอให้ผู้ที่ขัดขวางนโยบายนั้นล้มหายตายจากไปเสียก่อน
พระบรมราโชบายนั้นดีหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ คงเถียงกันได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านมีเจตจำนงทางการเมืองและรอจังหวะเป็น อันเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติรัฐบุรุษแน่



มักกล่าวกันว่า หลัง ๒๔๗๕ ไม่ค่อยมีนักการเมืองไทยที่มีเจตจำนงทางการเมืองอย่างนั้นอีก และคงจะไม่มีไปอีกนานเหมือนในประเทศอื่นๆ แหละครับ
ว่าเฉพาะประเทศไทย ผมก็ค่อนข้างเห็นใจนักการเมืองและพรรคการเมืองไทย ที่ไม่มีเจตจำนงทางการเมือง ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนชั่วร้ายอะไรนะครับ แต่เพราะเงื่อนไขทางการเมืองของไทยไม่เอื้ออำนวยให้นักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถมีเจตจำนงทางการเมืองได้
เงื่อนไขดังกล่าวนี้ มักเรียกกันว่า "วัฒนธรรมทางการเมือง" ของไทย


แต่ก็น่าประหลาดที่เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมืองทีไร ผู้พูดมักเจาะจงไปที่ประชาชนเพียงฝ่ายเดียวทุกที ฉะนั้น ก็จะได้ข้อสรุปว่า เพราะเราไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ซื้อสิทธิ์ขายเสียง, สมัครจะอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มากกว่าพึ่งพาตนเอง, ชอบการใช้อำนาจและการจัดช่วงชั้นทางสังคม ฯลฯ
เรื่องเหล่านี้ล้วนมีส่วนจริงทั้งนั้นนะครับ แต่เป็นจริงที่ละเอียดอ่อนและต้องการคำอธิบายเงื่อนไขแวดล้อมมากกว่า การตราลงไปอย่างกว้างๆ จนเหมือนคำสาปเช่นนั้น

ที่สำคัญนอกจากนี้ก็คือ ยังมีอีกส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองไทยยากที่จะมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างมั่นคงได้  
นั่นคือความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทย



การรัฐประหารยึดอำนาจและระงับใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหลัง 2490 เป็นต้นมา ทำให้การเมืองในระบอบรัฐสภาไม่มีเสถียรภาพด้วยประการทั้งปวง จึงเป็นไปไม่ได้ที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด จะมีเจตจำนงทางการเมืองได้ ต่างก็ "เล่น" ไปตามสถานการณ์ที่หาความแน่นอนไม่ได้
ในสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ คนที่มีความมุ่งมั่นทางนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเลือกที่จะไม่ใช้วิถีทางรัฐสภาในการผลักดันนโยบาย และอันที่จริงเรามีบุคคลที่เสียสละทำงานเพื่อผลักดันนโยบายอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานๆ อยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขาไม่ใช่ "นักการเมือง" ตามความหมายที่ใช้กันทั่วไปเท่านั้น ผมนึกถึงคนอย่าง คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ซึ่งทุ่มเทตนเองเพื่อผลักดันการอนุรักษ์สัตว์ป่ามาตั้งแต่ยังไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ นึกถึงคนอย่าง คุณหมอเพียร เวชบุล ซึ่งทุ่มเททำงานให้แก่หญิงนครโสเภณีมาก่อนที่ประเทศจะมีนโยบายอะไรกับพวกเธอ ยกเว้นเก็บส่วย

การผลักดันเจตจำนงทางการเมืองของตน ด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านนักการเมืองและพรรคการเมือง ดูจะกลายเป็น "จารีต" ของปัญญาชนไทย เพราะกว่ารัฐสภาเริ่มมีความมั่นคงมากขึ้นก็หลัง 2520 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างระหว่างปัญญาชนรุ่นหลังกับรุ่นก่อน อาจเป็นเพราะหลัง 2500 เมืองและชนบทไทยมีความใกล้ชิดกันขึ้น ในขณะเดียวกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีพลังทางสังคมสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ปัญญาชนรุ่นหลังจึงไม่ได้แต่เพียงเขียนหนังสือหรือแสดงปาฐกถาผลักดันเจตจำนงทางการเมืองของตนเองในเมืองเท่านั้น ยังมีการจัดองค์กร (อย่างหลวมๆ) เพื่อเอื้อมไปถึงคนในชนบทด้วย ในขณะเดียวกันก็ขยายเครือข่ายของตนในเมืองออกไปกว้างขวาง โดยร่วมอย่างใกล้ชิดในเครือข่ายสถาบัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญญาชนรุ่นหลังสร้างกลุ่มกดดันทางการเมือง (pressure group) ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ซึ่งรวมเครือข่ายทั้งในเมืองและชนบท (ภายใต้การนำของ "ปราชญ์ชาวบ้าน") และทำงานสอดคล้องไปกับสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย
ดังนั้น แรงกดดันจึงมีสูง และประสบความสำเร็จมากทีเดียว ทั้งภายใต้ระบอบรัฐประหารและระบอบที่มีการเลือกตั้ง



มีข้อน่าสังเกตอยู่สองประการในเรื่องนี้
ประการแรกก็คือ ปัญญาชนไทยหลีกเลี่ยงที่จะสร้างพันธมิตรกับนักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรถาวร หรือเฉพาะกิจเฉพาะเรื่องก็ตาม ลองนึกเปรียบเทียบกับปัญญาชนยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ปัญญาชนเข้าไปคลุกอยู่กับพรรคการเมืองใกล้ชิดมาก บางคนลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคเลยทีเดียวด้วยซ้ำ 
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองระบอบเลือกตั้ง ดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่แค่นี้คงยังไม่พอจะอธิบายได้หมด โดยเฉพาะในระยะหลัง 2520 ลงมา

ประการที่สองก็คือ การสร้างกลุ่มกดดันของประชาชนระดับรากหญ้าไม่เคยไปถึงไหน (จนเมื่อเร็วๆ นี้) สมัชชาคนจน, สมัชชาเกษตรกรรายย่อย, กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้า, กลุ่มต่อต้านการจัดการน้ำด้วยเขื่อน ฯลฯ แม้ว่าสามารถสร้างเครือข่ายได้กว้าง เช่น สมัชชาคนจนสามารถรวมกลุ่มปัญหาหลากหลายมาเคลื่อนไหวร่วมกัน หรือกลุ่มอนุรักษ์จังหวัดประจวบ แต่เครือข่ายของคนรากหญ้ามักไม่ข้าม "ชนชั้น" มากนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเครือข่ายของปัญญาชนในเมือง ซึ่งมีทั้งกลุ่มทุนขนาดใหญ่, ชาวบ้านรากหญ้า, คนในระบบราชการ, ไปจนถึงเครือข่ายสถาบัน

และด้วยเหตุดังนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง จึงเป็นหมุดหมายสำคัญอีกอันหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย


ผมเดาไม่ถูกหรอกว่า ขบวนการเสื้อแดงจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่แน่ใจว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว
ทั้งนี้ เพราะขบวนการเสื้อแดงเปรียบเทียบกับกลุ่มกดดันใดๆ ที่มีมาก่อนไม่ได้เลย สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพรรคการเมือง มีเป้าหมายทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสถาบัน เชื่อมโยงกับปัญญาชนในเขตเมืองอย่างเบาบางเท่านั้น ซ้ำไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มกดดันใดๆ ของรากหญ้าที่มีมาก่อน  
ในวัฒนธรรมทางการเมืองเช่นนี้ เจตจำนงทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองและพรรคการเมือง แต่กลับมาอยู่ที่กลุ่มกดดันต่างๆ

ผมควรกล่าวถึงสื่อในฐานะที่เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดเจตจำนงทางการเมืองไว้ด้วย

ก่อน 2500 มีสื่อสิ่งพิมพ์หลาย "หัว" ที่อาจกล่าวได้ว่ามีเจตจำนงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อสื่อเหล่านั้นต้องปิดตัวลงหลัง 2500 สื่อที่มีเจตจำนงทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเหลือแต่สื่อที่มุ่งขยายบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากที่สื่อกลายเป็นธุรกิจล้วนๆ มากขึ้น สื่อก็ไม่อาจเสนอเจตจำนงทางการเมืองอย่างต่อเนื่องได้อีก เพราะขัดกับผลประโยชน์ที่จะได้จากการตลาด
(อาจยกเว้นสิ่งพิมพ์ที่ได้รับเงินอุดหนุนบางฉบับ เช่น "ฉลาดซื้อ" พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสื่อต้องเป็นอิสระจากตลาดระดับหนึ่ง จึงสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างสืบเนื่องได้)

เจตจำนงทางการเมืองก็เหมือนสิ่งอื่นๆ ในโลก เกิดและดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่เพียงเพราะมีบุคคลเท่านั้น แต่ต้องอาศัยเงื่อนไขทางสังคมเอื้อให้เกิดและดำรงอยู่ได้ด้วย วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยปัจจุบัน (หรือแม้แต่โลกปัจจุบัน) อาจไม่เป็นเงื่อนไขเอื้อให้เกิดเจตจำนงทางการเมืองที่สืบเนื่องยาวนานได้อีกแล้วก็ได้



.