http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-25

1 ปีของยิ่งลักษณ์.. ดอกไม้..จะเป็นผลให้คนกิน? โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

1 ปี ของ ยิ่งลักษณ์... ดอกไม้...จะเป็นผลให้คนกิน?
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 20


ตอไม้...ก็ออกดอกได้

ไม้ใหญ่โตเร็วอย่างพรรคไทยรักไทย เพียง 5-6 ปี ก็ให้ดอกผล ออกมาเลี้ยงผู้คนทั่วแผ่นดิน
แต่ในเดือนกันยายน 2549 ขณะที่เติบใหญ่ให้ร่มเงา โชว์ยอดสูงเด่น ก็โดนขวานรัฐประหารโค่นเหลือแต่ตอ
ใครๆ ก็คิดว่าคงเป็นตอไม้ที่ตายแน่แล้ว แต่เพียงแค่ปีกว่ารากลึกที่แผ่กว้างก็สามารถดูดน้ำเลี้ยงแตกกิ่งใหม่ขึ้นมากลายเป็นพรรคพลังประชาชน

แต่พวกเผด็จการก็ไม่ยอมให้งอกงาม คราวนี้ใช้เลื่อยตุลาการภิวัฒน์ ตัดกิ่งที่แตกใหม่ไม่ถึงปีทิ้งไป
แต่ 2 ปีผ่านไป ชาวบ้านช่วยกันเติมปุ๋ยสีแดงเข้าไปอย่างเต็มที่ ทำให้ตอไม้แตกแขนงใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย 
และในกลางปี 2554 ตอไม้ได้แทงช่อดอกออกมาอย่างน่าอัศจรรย์

เป็นช่อใหญ่สีแดงอมชมพู ส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ชาวบ้านคาดหวังว่ามันจะเปลี่ยนเป็นผลไม้ที่กินได้ในอนาคต 
แต่ก็ต้องลุ้นกันใจหายใจคว่ำเพราะปลายปีเกิดน้ำท่วมใหญ่เกือบมิดตอไม้ 
จากนั้นชาวบ้านยังต้องช่วยกันป้องกัน คมขวาน คมเลื่อย และแมลงที่จะมาเจาะไชอีกหลายครั้ง
ในที่สุดก็ผ่านมาได้ครบหนึ่งปี

3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งใหญ่ได้ 265 เสียงเกินครึ่งสภา
5 สิงหาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
23 สิงหาคม 2554 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
23 สิงหาคม 2555 รัฐบาลทำงานครบ 1 ปี รัฐบาลได้เสนอนโยบายเร่งด่วนที่จะทำในปีแรก 16 ข้อ เรามาดูกันว่ามีอะไรที่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำ ครั้งก่อนรัฐบาลประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็เคยเสนอแผนปฏิบัติการเร่งด่วนที่จะทำใน 99 วัน แต่เวลาผ่านไป 700 วัน ประชาชนก็มีข้อสรุปและตัดสินใจใหม่ 
ครั้งนี้มาดูว่า 365 วัน ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ทำอะไรได้บ้าง? 
ดอกไม้สวย จะสามารถเปลี่ยนเป็นผลที่กินได้ จริงหรือไม่? 
เวลาผ่านไป 1 ปี ก็ต้องดูนโยบายเร่งด่วน 1 ปี ที่เคยประกาศไว้ 16 ข้อ



นโยบายเร่งด่วน ในปีแรก ทำอะไรได้บ้าง

1.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย 
ที่ทำได้คือจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูแก่คนที่ได้รับผลกระทบ และให้คณะกรรมการ คอป. ค้นหาความจริงจากกรณีความรุนแรงทางการเมือง แม้จะผ่านมาหนึ่งปีก็ยังทำไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่ความจริงปรากฏอยู่ในคลิปต่างๆ แต่เรื่องนี้ทั้งผู้นำรัฐบาลชุดก่อนและผู้นำกองทัพก็ยังยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ยิงประชาชน ไม่มีการใช้สไนเปอร์ ทำราวกับว่าสิ่งที่ประชาชนเห็นเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์ 
ข้อนี้ไม่มีทางเร่งด่วนใน 1 ปี ต่อให้หมดสมัยก็ไม่เกิดการปรองดองระหว่างคนฆ่ากับคนถูกฆ่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องยืนหยัดหลักการ เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิด ประชาชนก็ต้องอดทนสู้แบบยาวๆ ยังไงก็ได้เห็นคนฆ่าติดคุก แต่ใครจะถูกดองบ้างยังไม่รู้

2. การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด ข้อนี้แม้ทำได้ดี แต่ผลของการเอาจริงเอาจังทำให้รู้ว่าศูนย์กลางการค้ายาก็อยู่ในคุกด้วย เพราะว่าผู้บงการแม้ถูกจับ แต่ยังสามารถสั่งการให้เครือข่ายทำการซื้อขายได้ในระดับทั่วประเทศ 
ถ้าผลสำเร็จจะดีเยี่ยม รัฐบาลต้องทำลายเครือข่ายต่างๆ ให้ได้ อย่าไปกังวลกับเรื่องฆ่าตัดตอนพ่อค้ายามากไป ถ้าปล่อยให้ขยายมากกว่านี้ จะเหมือนประเทศโคลอมเบีย ข้อนี้ทำดีแต่ยังน้อยไป

3. ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ข้อนี้ยังไม่เห็นถึงความสำเร็จใดๆ วงจรและชั้นของการทุจริตยังมีเหมือนเดิม ในระดับล่างสุด คือเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการระดับล่างก็ยังทำกันอยู่ตั้งแต่ข้างถนนจนถึงโต๊ะทำงาน ระดับกลาง ยังมีการทุจริต ในการประมูล การจัดซื้อทั่วไป ในหมู่ข้าราชการชั้นกลางที่มีอำนาจ จนถึงระดับอธิบดี และในระดับสูง ที่ข้าราชการต้องร่วมกับนักการเมืองในโครงการใหญ่ๆ
เรื่องนี้แก้ไขไม่สำเร็จง่ายๆ เพราะแม้แต่ในบริษัทเอกชน ผู้ที่ต้องการได้งานหรือขายของให้กับบริษัทใหญ่ๆ ก็ยังจะต้องมีการจ่ายเพื่อให้ได้งาน ข้อนี้ก็ต้องเป็นโครงการระยะยาว และหัวใจอยู่ที่ข้าราชการ ซึ่งจะทำงานอยู่ 20-40 ปี อยู่จนรู้ลายแทงขุมทรัพย์ 
เรื่องนี้ต้องเป็นโครงการยาวนานแสนนาน

4. เร่งให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ นโยบายนี้กำหนดขึ้นก่อนน้ำท่วมใหญ่ หลังจากน้ำท่วมแล้วจึงมีการวางแผนระยะยาว ใช้งบฯ จำนวนมหาศาลและใช้เวลาพอสมควร คงอีกนานกว่าจะรู้ว่าทำได้ดีแค่ไหน

5. การแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าดูจากการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ปัจจุบันยกระดับมาเป็นคาร์บอมบ์ในเมือง ต้องถือว่านโยบายทางการทหารและการเมืองที่ผ่านมาตลอด 20 ปี ไม่ประสบความสำเร็จเลย จะตั้งศูนย์ขึ้นมาอีกกี่แห่งก็ไม่มีประโยชน์ 
เรื่องนี้ถ้าไม่แก้ปัญหาด้วยการเมืองและการกระจายอำนาจ ต่อให้เป็นนโยบายระยะยาว 10 ปีก็ไม่มีทางสำเร็จ

6. เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน โดยเฉพาะการเร่งแก้ไขปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดน ข้อนี้เห็นว่ารัฐบาลทำงานใช้ได้ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ดูได้จากการต้อนรับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และอดีตนายกฯ ทักษิณ พอชี้วัดได้ว่าวันนี้ต่างชาติเชื่อถือใครมากกว่ากัน ระหว่างคนที่มาจากอำนาจมืด กับคนที่ประชาชนเลือก

7. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีบัตรเครดิตพลังงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้างขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ เริ่มทำแล้ว ส่วนการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดูแล้วก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นปกติ

8. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ นี่คือประชานิยมเพื่อคนทุกกลุ่ม เช่น 
-การพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย 
-เพิ่มค่าแรงเป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ข้อนี้แม้รัฐบาลเริ่มทำไปแล้วแต่ค่าแรง 300 บาทได้เพียงไม่กี่จังหวัด ในปีหน้าถ้าไม่ได้ทั่วทั้งประเทศ ต้องถือว่าล้มเหลว เพราะวันนี้ค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ยังหาลูกจ้างคนไทยทำไม่ได้เลย ส่วนเงินเดือนสำหรับปริญญาตรี 15,000 คงได้เฉพาะส่วนราชการ ส่วนภาคเอกชน จ้างกันอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 เท่านั้น แต่ก็มีผลให้ค่าจ้างภาคเอกชนขึ้นตาม 
-จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ อันนี้ดีสำหรับคนจนคนแก่ อย่างน้อยยายก็มีเงินค่าขนมให้หลานไปโรงเรียน
-ลดภาษีสำหรับบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก ดีสำหรับคนชั้นกลางหนุ่มสาว

9. สำหรับนายทุนเจ้าของกิจการมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เหลือร้อยละ 23 ในปี พ.ศ.2555 และลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปี พ.ศ.2556 ดีสำหรับคนเสียภาษี และเป็นการช่วงชิงการลงทุนจากต่างชาติซึ่งควรทำนานแล้ว

10. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อรายย่อย
-เพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท
-จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท 
-จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ต่อสถาบันอุดมศึกษา ที่ร่วมโครงการสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถกู้ยืมเพื่อการสร้างอาชีพ   นี่เป็นนโยบาย...คบเด็กสร้างบริษัท...โดยหวังว่าจะทำให้เด็กคิดถึงการเป็นเจ้าของกิจการ แทนที่จะคิดเป็นลูกจ้างอย่างเดียว
-จัดงบประมาณเข้ากองทุน (SML) เพื่อให้หมู่บ้านบริหารจัดการกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง
ข้อ 10 นี้เป็นประชานิยมชุมชน เป็นของเก่าทำได้ไม่ยาก ยกเว้นเรื่องคบเด็กสร้างบริษัท คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะรู้ว่าได้ผลแค่ไหนแต่ถือเป็นแนวคิดที่ดี

11. ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวหอมมะลิ ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ มีการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร ผลคือ ชาวนาขายข้าวได้แพงขึ้น แต่พ่อค้าข้าวไม่มีปัญญาไปซื้อในราคาจำนำ เสียประโยชน์เต็มๆ จะไม่ให้พ่อค้าโวยได้ยังไง 
สำหรับชาวนาไม่สนใจว่าไทยจะส่งข้าวอันดับ 1 หรือไม่ เพราะถ้าเป็นที่ 1 แต่เขาขายข้าวได้เกวียนละ 6,000-8,000 ยอมเป็นที่ 3 แล้วขายได้ 10,000 ดีกว่า 
แต่ถ้ามีเรื่องการทุจริตในกระบวนการเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข คงต้องไปฟังรายละเอียดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

12. เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งดูแล้วนักท่องเที่ยวน่าจะเยอะจริง เพราะอัตราขึ้นลงเครื่องบินปัจจุบัน ไม่ถึง 2 นาทีต่อเที่ยว ถ้าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมง แต่ทีมวิเคราะห์บอกว่าเพียงแค่เอาดอนเมืองกลับมาเป็นสนามบินแห่งที่สอง ก็ถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว

13. ส่งเสริมสินค้า OTOP

14. พัฒนาระบบประกันสุขภาพ 30 บาท รักษาทุกโรค

15. จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียน โดยเริ่มทดลอง จาก ป 1. เรื่องนี้วัดความสำเร็จเบื้องต้น มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนที่แจก และการขยายเครือข่าย Wi-Fi ให้ใช้ได้จริง นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของยุคสมัย

16. เร่งรัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม โดยมีการลงประชามติ
เรื่องนี้ถือว่าล้มเหลว ผ่านไปหนึ่งปี ฝ่ายอำนาจเก่ายังแสดงท่าทีคุกคามชาวบ้านและรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดชะงัก และรัฐบาลก็ขาดแผนการทำงานที่จะเป็นฝ่ายรุกทั้งที่ผู้สนับสนุนจำนวนมาก 
การถอยในเรื่องนี้มากไปอาจมีผลทำให้รัฐบาลมีปัญหาได้



วิเคราะห์ภาพรวม

นโยบายเร่งด่วนที่เสนอมา รัฐบาลนี้ ทำทุกข้อ บางข้อไม่มีทางสำเร็จแต่ก็ต้องทำ

ด้านสังคมถือว่าผ่าน

ด้านการเมืองการทหารสอบไม่ผ่าน แต่ประชาชนก็พอเข้าใจได้ว่าเรื่องความสามัคคีปรองดองเป็นเรื่องของคนมากกว่าสองฝ่าย ต้องยินยอมทำความเข้าใจกัน หลายปัญหาของชาติเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาสั้นๆ แก้ปัญหา (จึงไม่ควร นำมาเป็นนโยบายเร่งด่วน )

ด้านเศรษฐกิจยังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เห็นแล้วว่ารัฐบาลอัดเงินผ่านรากหญ้า ไม้พุ่ม ไม้ใหญ่ ทุกช่องทาง บางคนอาจคิดว่านี่เป็นนโยบายหาเสียงธรรมดา แต่ระดับทักษิณคิด เพื่อไทยทำ อย่างน้อยต้องสองชั้นนี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจจากข้างล่างจากในประเทศ ในเมื่อเห็นอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจทั้งยุโรปและอเมริกากำลังทรุด วิธีนี้เคยสำเร็จและใช้หนี้ IMF หมดอย่างรวดเร็วในอดีต
แต่วิกฤติเศรษฐกิจคราวนี้ใหญ่กว่า ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าปี 2556-2557 หนักแน่ ถ้ารัฐบาลนี้สามารถนำประเทศฝ่าพายุเศรษฐกิจไปได้ ก็ต้องถือว่าเป็นเวรกรรมของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องทำงานต่ออีกสมัย

สรุปว่า ดอกไม้สีแดง อมชมพู ที่แตกมาจากตอไม่เปลี่ยนเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ แต่ก็เป็นชมพู่มะเหมี่ยว (ไม้ที่ทนน้ำท่วม) กินได้เหมือนกัน วิตามิน A และ C สูง



.