http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-04

รอบพุทธธรรม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

รอบพุทธธรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 30

ถ้ามีแต่ศาสดาอย่างเดียว จะเกิดศาสนาขึ้นได้ไหม?
ผมคิดว่าไม่ได้ หากไม่มีเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจที่จะช่วยให้คำสอนของศาสดาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และสืบทอดกันต่อมาจนหมายรู้ว่าเป็น "ศาสนา" หนึ่ง
ดูเหมือนในพุทธศาสนาเถรวาทก็อาจยอมรับความจริงข้อนี้ จึงได้กล่าวถึง "ปัจเจกพุทธ" จำนวนมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งได้อุบัติขึ้นก่อนการอุบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือมีผู้บรรลุธรรมด้วยตนเอง แต่ไม่ได้สอนสานุศิษย์ใดๆ หรือพูดภาษาปัจจุบัน คือไม่ได้ "ตั้งศาสนา" ขึ้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พุทธธรรมย่อมสำคัญแน่ แต่รอบๆ พุทธธรรมก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ในการเกิดพระพุทธศาสนา
และผมอยากพูดถึงเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจที่ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในอินเดียได้เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ประเด็นนี้เป็นที่สนใจของนักวิชาการด้านภารตวิทยาและพุทธวิทยามานานแล้ว และมีเรื่องที่ไม่เห็นลงรอยกันหลายอย่าง ซึ่งผมจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียด ขอพูดเฉพาะส่วนที่เขาเห็นพ้องต้องกันเท่านั้น


เริ่มแรกเลย ผมขอพูดว่าเหล็กมีส่วนช่วยให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นอย่างมาก 
ตั้งแต่พวกอารยันรุกเข้ามาในอนุทวีปอินเดีย แล้วขยายมาตามลุ่มน้ำคงคาทางฝั่งตะวันออก จนถึงเมื่อใกล้ๆ พุทธกาล พวกนี้ยังหากินด้วยการเลี้ยงสัตว์และใช้เหล็กน้อยมาก องค์กรทางสังคมและการเมืองถูกจัดขึ้นบนฐานของระบบเผ่า หรือครอบครัว

เหล็กเข้ามาตอบสนอง (หรือเป็นตัวเร่งให้เกิด-อะไรกันแน่ผมก็ไม่ทราบ) การขยายตัวของการเกษตรกรรม เพราะเครื่องมือการเกษตรที่ทำจากเหล็กทำให้เพิ่มผลผลิตขึ้นได้มากมาย เกษตรกรรมที่ให้ผลผลิตมากพอนี้แหละที่เป็นฐานให้เกิดการขยายตัวของเมือง (urbanization-เมืองเก่าขยายตัวขึ้น เกิดเมืองใหม่ในชุมชนกว้างขวางขึ้น) เมื่อเมืองขยายตัว ก็ทำให้เกิดการค้า โดยมีพ่อค้าคุมกองเกวียนนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนตามเมืองไกลทั่วไป เจ้าครองรัฐซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ก็ขยายอำนาจทางการเมืองของตน โดยสงครามและโดยการสร้างพันธมิตร กลืนกินรัฐอื่น โดยเฉพาะรัฐชนเผ่าซึ่งกำลังจะสลายหายไปจากอินเดียเหนือ 
โดยสรุปก็คือ มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดในอินเดียเหนืออยู่สามอย่าง เมื่อช่วงพุทธกาล คือการขยายตัวของสังคมเมือง, การขยายตัวของการค้า และการสถาปนาอำนาจรัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโกศลและมคธ

ทั้งสามอย่างนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก และอรรถกถายุคต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของสังคมเมืองเช่นสำนักโสเภณี การเดินทางของพ่อค้าไปสู่เมืองใหญ่ต่างๆ และพระราชอำนาจอันมากล้น (พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์หรือระบบราชการซึ่งเติบใหญ่ขึ้น) ของเจ้าครองแคว้นใหญ่ๆ
แต่ผมต้องเตือนไว้ด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจในอินเดียเหนือทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน เบ่งบานให้เห็นในยุคพุทธกาลอย่างรวดเร็ว แท้จริงแล้วเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช้าๆ กินเวลาหลายศตวรรษ เริ่มมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และเลยมาจนปรากฏชัดเจนด้วยหลักฐานอีกมากในสมัยพระเจ้าอโศก 
ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่คำสอนประเภท "ปฏิวัติ" คือไม่สุดโต่งทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะหนุนหรือต้านความเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่ง

นี่นำเรามาสู่ข้อถกเถียงทางวิชาการถึงความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจของอินเดียในช่วงนี้


ผมขอไม่เข้าไปพูดถึงข้อถกเถียงทางวิชาการเหล่านี้ แต่ขอย้ำว่า นักวิชาการทุกกลุ่มต่างเห็นตรงกันว่า มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างพระพุทธศาสนาในช่วงพุทธกาล กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอินเดียเหนือดังที่กล่าวแล้ว
ปัญหาที่ผมสนใจกว่า แต่ตอบอะไรแทบไม่ได้เลย ก็คือหากเราถือเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจว่ามีความสำคัญ เราจะอธิบายการตั้งมั่นและขยายตัวของนิกายเถรวาทสำนักลังกาในดินแดนอุษาคเนย์อย่างไร
มีอะไรทางสังคม-เศรษฐกิจในดินแดนแถบนี้เมื่อพุทธศตวรรษที่ 17-18 ที่ทำให้เถรวาทสำนักลังกาตั้งมั่นและเผยแพร่ไปได้กว้างไกล จนแทบจะกลายเป็นศาสนาเดียวดังที่เราเห็นอยู่ อย่าลืมด้วยว่า ก่อนหน้านั้นรัฐในอุษาคเนย์ไม่ได้มีศาสนาเดียวอย่างนี้นะครับ

คำอธิบายของอินเดียเหนือเมื่อครั้งพุทธกาล ใช้ไม่ได้เลยกับอุษาคเนย์ (อันที่จริง ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า พระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล กับเถรวาทสำนักลังกานั้น ไม่ได้เหมือนกันเป๊ะอย่างที่นักปราชญ์ไทยพยายามอ้างนะครับ แต่ต่างอย่างไรนั้นคงต้องศึกษากันมากกว่านี้) ในพุทธศตวรรษที่ 17-18 การค้าภายในของประเทศแถบนี้ค่อนข้างเบาบาง ส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าของสังคมเกษตรเลี้ยงตนเอง (เช่น ซื้อฝ้ายมาทอผ้าใช้) เทียบไม่ได้เลยกับการค้าของกามนิตหนุ่มที่ทำระหว่างสาวัตถีและอุชเชนี (ครับเป็นเรื่องแต่งแต่ดูเหมือนคนไทยปัจจุบันจะรู้จักมากกว่าเรื่องในพระไตรปิฎก)
แม้เราเป็นสังคมเกษตร แต่ก็เป็นเกษตรเลี้ยงตนเอง ที่ถูกบังคับเอาผลผลิตไม่สู้จะมากนัก ไปเลี้ยง "เมือง" ของพระราชา ซึ่งก็คือหมู่บ้านขนาดใหญ่ มากกว่าเมืองเช่นราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสาร ระบบราชการในช่วงนั้นของเรายังแทบไม่ต่างอะไรจากสังคมชนเผ่า คือขุนนางเป็นผู้ใกล้ชิดที่เจ้าเมืองหรือพระราชาไว้วางใจ ถัดไปไม่ไกลก็มีขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่ง ไม่ได้รวมอยู่ในระบบเดียวกัน

คำสอนแบบไหน การจัดองค์กรลักษณะใด ของเถรวาทสำนักลังกา ที่เป็นเสน่ห์แก่ผู้ปกครองอุษาคเนย์ จนพากันส่งกุลบุตรไปบวชเรียนในเมืองลังกาหรือเมืองมอญ เพื่อจะนำศาสนาใหม่นี้มาสถาปนาขึ้นในรัฐของตน 
คำตอบของผมคือไม่ทราบครับ และใครที่ยังไม่แก่เท่าผมก็น่าจะลองศึกษาค้นคว้าดู



ถึงแม้ไม่มีคำตอบ แต่ผมก็มีข้อสังเกตบางอย่าง ที่ได้มาจากการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐในสมัยพุทธกาลด้วย
ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า พระราชาของแคว้นขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์ได้เสด็จมาปรึกษาปัญหาที่ปัจจุบันอาจเรียกว่า "การเมือง" กับพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยๆ ทำให้ผมเข้าใจว่า แม้ที่เสด็จไปปรึกษาพระภิกษุสงฆ์ทรงคุณในที่ต่างๆ ก็น่าจะมีเหมือนกัน เพียงแต่พระไตรปิฎกไม่ได้เก็บเรื่องเหล่านี้ไว้  
แสดงว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้เข้าไปให้คำแนะนำทางการเมืองแก่รัฐเป็นปรกติ แต่เราแทบไม่เห็นเรื่องทำนองเดียวกันนี้ในรัฐอุษาคเนย์เลย คำปรึกษาทางการเมืองยังมาจากพวกพราหมณ์ โดยเฉพาะที่ได้รับแต่งตั้งเป็น "ราชครู" 
เสน่ห์ของเถรวาทสำนักลังกาจึงไม่น่าจะอยู่ที่ความรอบรู้ทางการเมืองของพระสงฆ์

ทำไมชาวนาซึ่งผลิตเพื่อเลี้ยงตนเอง และต้องพึ่งพาธรรมชาติอย่างสูง จึงอยากหันมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทสำนักลังกา ในเมื่อเขามี "นักบวช" ประเภทต่างๆ ที่สามารถเจรจาต่อรองกับภูตผีเทวดาที่คอยดูแลธรรมชาติอยู่แล้ว พวกเจ้าชายที่เสด็จออกบวช (เช่น เจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามณี) จะมีอะไรสอนชาวนาหรือ? สอนให้เข้าใจพระไตรลักษณ์ แล้วจะมีข้าวให้ลูกเมียได้กินหรือไม่? 
พ่อค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ และไม่ได้นับถือพุทธเถรวาทสำนักลังกา แต่กลับเกี่ยวข้องอย่างมากกับพระราชา พุทธศาสนามีอะไรจะพูดกับเขาหรือไม่  
นี่เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ผมอยากรู้ แต่เกินปัญญาจะรู้ได้ในเวลานี้ทั้งนั้นนะครับ



ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่อยากรู้เหมือนกันก็คือ เมื่อสังคมเปลี่ยนไปจากสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 อย่างมากแล้ว เช่นสังคมไทยในปัจจุบันเป็นต้น ยังเหลือ "ข่าวสาร" อะไรที่พระพุทธศาสนาจะให้แก่สังคมประเภทนี้ได้อีกบ้าง 
นักคิดบางท่านบอกว่า ต้องหันกลับไปสู่พุทธธรรมที่เป็นแก่นแท้ คือการแสวงหาความหลุดพ้นด้วยการเข้าถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นอัตตา อย่างที่อ้างกันว่าแม้แต่ฝรั่งยังหันมาปฏิบัติธรรมเพราะต้องการ "พัก" ใจ คำสอนนี้ดูจะแพร่หลายในปัจจุบันมาก แม้แต่คุณทักษิณยังพูดถึงตัวกูของกู (ครับ คุณทักษิณ ชินวัตร คนนั้นแหละ)
แต่คำสอนนี้ ฝรั่งบางคนถือว่าไม่เอาสังคม (asocial บางคนไปจนถึง anti-social เอาเลย) ในขณะที่ปัญหาซึ่งสังคมไทยเผชิญอยู่เวลานี้ เป็นเรื่อง "สังคม" อย่างแน่นอน เหตุใดคำสอนประเภทปลีกวิเวกจึงกลับได้รับความนิยม

อันที่จริง ในสังคมที่ผู้คนต้องเข้าสู่เศรษฐกิจตลาดเต็มตัวเช่นสังคมไทยเวลานี้ จะหาหลักธรรมที่เหมาะแก่ "พ่อค้า" มาพูดก็มีมากมาย เช่น การประหยัดรู้จักเก็บหอมรอมริบ (หรือสะสมทุน), ความขยันหมั่นเพียร, การวิเคราะห์ในเชิงเหตุผล, การใช้ปัญญาในทางโลก ฯลฯ แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงหลักธรรมประเภทนี้ เท่ากับการสอนให้พอใจในสิ่งที่ตนมี, ความไม่โลภ, การทำทาน, การทำสมาธิ (และอย่ากินเหล้าสูบบุหรี่) ฯลฯ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นส่งเสริมทุนนิยมก็มี ต่อต้านทุนนิยมก็มี แต่ในสังคมที่ก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเต็มตัวแล้วเช่นไทย กลับไปเน้นด้านที่ต่อต้านทุนนิยม... ทำไม?

อีกด้านหนึ่งคือการขยายตัวของเครื่องรางของขลังที่เนื่องกับพระพุทธศาสนา อย่าพูดเลยครับว่า นี่เป็นความ "เสื่อม" ของพระพุทธศาสนาไทย เพราะเรื่องของ "อิทธิ" นั้นมีมาในพระไตรปิฎกเหมือนกัน และแม้แต่เถรวาทสำนักลังกาที่เข้ามาในตอนแรกก็มีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ อยู่เหมือนกัน (เช่น พระธาตุเสด็จลอยไปลอยมาได้)

แต่ความเชื่อเช่นนี้แพร่หลายขึ้นมากในตอนนี้ เพราะอะไร มิติทางสังคมของพระเครื่องมีหรือไม่ หากมีคืออะไร หรือหากไม่มีเลย เหตุใดจึงไม่มี (ในขณะที่พระบรมธาตุที่สร้างเป็นสถูปแล้วนั้นมีมิติทางสังคมอย่างเด่นชัด)



.