http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-10

เปลี่ยนหน.ปชป.?, ถอยดีกว่า, ใครล้าหลัง, ฯต่อหน้าต่อตา, หน้าที่ ตร.ไทย ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม - ชิงไหวชิงพริบ โดย สมิงสามผลัด
บทบรรณาธิการ ข่าวสด - ต้องมีไม่ไว้วางใจ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เปลี่ยนหน.ปชป.?
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.

ตอนแรกก็นึกว่าเป็นเพียงข่าวลือ 
แต่พอได้ยิน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคปชป. ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีแน่นอนเรื่องเปลี่ยนตัวหัวหน้าปชป.
ก็เลยแปลกใจ
เพราะถ้าแค่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เหน็บแนมให้ ปชป.เปลี่ยนตัวหัวหน้าคนใหม่
โดยแนะให้เอา นายชวน หลีกภัย มาเป็นหัวหน้าขัดตาทัพไปพลางๆ ก่อน
ก็ไม่น่าจะต้องถึงขั้นเลขาธิการพรรคออกมาตอบโต้แบบนี้

เลยไม่แน่ใจว่าเป็นแค่ข่าวลือเท่านั้นหรือ ? 
จะว่าไปแล้ว คนปชป.เองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกระแสอยากให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเหมือนกัน 
อาจเป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ หรือเป็นความเห็นจากกลุ่มคนรุ่นเก่าของพรรค 
อย่างที่ได้ยินได้ฟังมาตลอดว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกใช้เฉพาะกลุ่มเฉพาะคนวัยใกล้เคียงกัน 
ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคเลยไม่มีบทบาท
ก็เลยไม่ปลื้ม

ที่สำคัญมีเหตุมีผลอยู่ เพราะนายอภิสิทธิ์นำทัพปชป.ลงเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง 
แพ้ขาดลอยทั้ง 2 ครั้ง 
ครั้งแรกแพ้พรรคพลังประชาชนก็พอทำเนา เพราะเป็นฝ่ายค้านอยู่ 
แต่ครั้งล่าสุดแพ้พรรคเพื่อไทยนี่สิน่าเจ็บใจ  
เพราะก่อนเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาล ได้เปรียบทุกประตู

ยิ่งเป็นฝ่ายค้านกลับสร้างชื่อจากเรื่องปาแฟ้มเอกสาร-ฉุดกระชากท่านประธาน-ลากเก้าอี้ประธานไปซ่อน 
เป็นฝ่ายค้านมาครบ 1 ปี  
ปรากฏว่าโพลหลายสำนักให้สอบตกบ้าง เกือบตกบ้าง 
แถมยังผีซ้ำด้ำพลอย โดนกระทรวงกลาโหมงัดหลักฐานใบสด.9 สมัครเป็นอาจารย์ ร.ร.นายร้อยไม่ถูกต้องเข้าไปอีก
โดนหลายดอกจนเป๋ไปเหมือนกัน

ก็เลยไม่แน่ใจว่าการจะเปลี่ยนหัวหน้าปชป.เป็นแค่ข่าวลือจริงหรือ
ถ้าแค่ "ลือ" ก็คงไม่เป็นไร

หากไม่ "ลือ" สิเรื่องใหญ่ 
ฝ่ายพรรคเพื่อไทยคงอลหม่านจัดทัพรับมือหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่
ฝ่ายพรรคปชป.ก็คงเห็น นายกรณ์ จาติกวณิช กับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
แอบยิ้มแก้มปริทั้งคู่



++

ถอยดีกว่า
โดย มันฯ มือเสือ 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


อุณหภูมิการเมืองตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสภา 1 ส.ค. ค่อยๆ ลดระดับคลายออกทีละปม ไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่หลายคนคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ปัจจัยน่าจะมาจาก 3 เรื่องหลัก 
เรื่องแรก การที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่เร่งรีบเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่า ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองก็ตาม
เรื่องที่สอง การที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงส่วนใหญ่มีมติเลื่อนวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรอง ดองออกไปเพื่อลดกระแสขัดแย้ง
และเรื่องที่สาม คือการที่พรรคประชาธิปัตย์และวิปฝ่ายค้านมีมติว่าจะยังไม่ยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงนี้

สำหรับสาเหตุที่ฝ่ายค้านทอดเวลาออกไปอาจจะถึงปลายสมัยประชุมเดือนพ.ย. บางคนเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับผลสำรวจโพลก่อนหน้านี้ไม่ว่าเอแบคโพลล์หรือกรุงเทพโพลล์
ที่สะท้อนออกมาใกล้เคียงกันว่า รัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ยังมีต้นทุนกระแสความนิยมอยู่สูงพอสมควร
ผิดปกติจากรัฐบาลโดยทั่วไปที่เมื่อบริหารงานผ่านไปครบ 1 ปี คะแนนนิยมมักจะตกต่ำลง 
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับแตกต่าง


กรุงเทพโพลล์สำรวจ 1 ปีการทำงานรัฐบาล ให้คะแนนการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ 5.31 เต็ม 10 เพิ่มขึ้นจากเมื่อตอนครบ 6 เดือน 0.02 คะแนน
พรรคเพื่อไทย 5.28 คะแนน พรรคร่วมรัฐบาล 4.37 คะแนน
และพรรคประชาธิปัตย์แกนนำฝ่ายค้าน 3.55 คะแนน 
ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 70 ต้องการให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินหน้าทำงานต่อไป

ขณะเดียวกันเอแบคโพลล์สำรวจพบ ร้อยละ 52.2 ไม่เห็นด้วยกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลยังทำงานได้ดี
ร้อยละ 64.1 ระบุควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป

เพียงเท่านี้สำหรับคนที่ยอมรับความจริงก็คงพอจะมองรูปเกมออกว่า ถ้าหากมีการเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจกันขึ้นมาจริงๆ ในช่วงนี้ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล 
ใครจะมีโอกาสเจ็บตัวมากกว่ากัน 



++

ใครล้าหลัง
โดย คาดเชือก คาถาพัน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เอแบคโพล ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "เจาะใจค้นหาความสุขของคนทุกกลุ่มสี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาของสาธารณชน" 
พบว่าร้อยละ 91.8 เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในขณะที่ร้อยละ 8.2 ระบุควรปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐสภา
ร้อยละ 68 คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 32 ไม่คิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง
และร้อยละ 77.9 คิดว่าพ.ร.บ.ปรองดองจะไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อถามถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ร้อยละ 52.2 ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลยังทำงานได้ดี เกรงว่าจะมีแต่เรื่องวุ่นวาย ทะเลาะกันจนเสียภาพลักษณ์การเมืองไทย จะทำให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายและมีอคติต่อการเมืองยิ่งขึ้นไปอีก น่าจะปล่อยให้รัฐบาลทำงานไปก่อน เป็นต้น

ขณะที่ร้อยละ 47.8 เห็นด้วย เพราะจะเป็นโอกาสให้ประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น อยากเห็นข้อมูลใหม่ๆ รัฐบาลจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการทำงาน เป็นต้น

และร้อยละ 64.1 เห็นว่าควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไปก่อน ส่วนร้อยละ 24.8 ระบุไม่ควรให้โอกาสแล้ว และร้อยละ 11.1 ไม่มีความเห็น


เห็นผลสำรวจแล้วใครที่ยังประมาทคาดหน้าว่าชาวบ้านโง่เง่ากว่าตัวเอง ไม่ควรมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองตัวเอง(เท่าเรา)
กรุณาคิดใหม่ 
เพราะแต่ละคำตอบของชาวบ้าน(ผู้ตอบแบบสอบถาม)สะท้อนถึงความรู้และความเข้าใจการเมืองชนิด"อ่านขาด"
แบบที่นักการเมืองยังอาย

เพราะแม้แต่ในปัจจุบันก็เห็นตัวอย่างอยู่ไม่น้อย ที่นักการเมืองเดินล้าหลังชาวบ้านไปอยู่หลังเขา 
เท่านั้นยังไม่พอ ยังภูมิใจอะไรแบบแปลกๆ ในความหลังเขาได้อีก
ถึงได้เรียวลงทุกวัน



++

เหตุเริ่มต่อหน้าต่อตา
โดย จ่าบ้าน
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


นับวันเหตุการณ์ร้ายในสามจังหวัดภาคใต้มีแต่จะถี่ขึ้น ด้วยความร้ายแรงในรูปแบบของ "คาร์บอมบ์" รวมถึงการมุ่งสังหารเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและตำรวจกับเจ้าหน้าที่อื่นอย่างอุกอาจและอุกฉกรรจ์ 
ทันทีที่เกิดเหตุขึ้นในอีกวันสองวัน ผู้รับผิดชอบก็ออกมาแถลงว่าการกระทำนั้นเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ มีชื่อคนนั้นคนนี้เป็นผู้ก่อเหตุ ทั้งบางครั้งฝ่ายตรงข้ามก็ได้รับบาดเจ็บ ถูกสังหารเช่นกัน 
ระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมายาวนาน กระแสหนึ่งก็ว่ามีการเจรจาลับเพื่อให้เหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้กลับคืนสู่สันติสุข กระแสหนึ่งกลับเห็นว่าควรจะเพิ่มกำลังเพื่อให้การปราบปรามเป็นไปโดยเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

มาระยะหลังมีความเห็นจากบางฝ่ายว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ควรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ขณะที่ในส่วนของทหารก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ของทหาร
คือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รักษาความสงบภายในด้วยการตรวจค้น หรือจับกุมคุมขัง ขณะที่ให้ทหารดำเนินการปิดล้อมพื้นที่
ทั้งยังมีแนวทางจะให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เรียกว่า "เคอร์ฟิว" ห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในยามวิกาล ขณะที่มีเสียงคัดค้านทั้งทุกวันนี้ชาวบ้านก็แทบไม่ออกจากบ้านในยามวิกาลอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเดินทางทั้งในและนอกเขตจังหวัด


เรื่องของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานมาถึงวันนี้ มีบางเสียงสะท้อนในทำนองไม่สู้ดีนักถึงงบประมาณที่ใช้จ่ายไป โดยเฉพาะค่าตอบแทนและค่าอื่นอีกจิปาถะ 
เพราะทุกครั้งที่มีการเสนอแนวทางใหม่ขึ้นมา สิ่งที่ตามมาด้วยคือการปรับเปลี่ยนงบประมาณ หรือการเพิ่มงบประมาณเพื่อการนั้น

ประเด็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือ ขณะที่ฝ่ายก่อความไม่สงบก่อเหตุที่อุกอาจขึ้นจากยามวิกาลเป็นกลางวันแสกๆ และกลางถนน ถึงขนาดมีผู้ถ่ายคลิปวิดีโอแล้วนำมาเผยแพร่ไปทั่วโลกได้ โดยรวมถึงการใช้ยานพาหนะที่ถูกโจรกรรมจากพื้นที่อื่น กับการเข้าออกในเขตปลอดภัยได้โดยสะดวก มีภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด 
อย่างนี้แล้วจะให้พวกกระผมคิดอ่านประการใดดีขอรับ



++

หน้าที่ตำรวจไทย
โดย จ่าบ้าน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ระหว่างที่รายชื่อโยกย้ายแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาระดับสูงมีออกมาเป็นระลอก กว่าวงการสีกากีจะหยุดนิ่งได้คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ไม่น่าจะเกินไปจากกลางเดือนกันยายน 
ดูเหมือนว่าข่าวการวิ่งเต้นโยกย้ายข้าราชการตำรวจปีนี้ไม่ค่อยกระเพื่อมสักเท่าใด คงเนื่องมาจากหลังรู้ว่าใครคือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และใครจะมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการในหลายกองบัญชาการ ผู้วิ่งเต้นคงจะหยุดการเคลื่อนไหวอย่างประเจิดประเจ้อไปได้บ้าง 
นับแต่การแต่งตั้งหัวขบวนไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา คือพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับสูง มีรายชื่อออกมาดังกล่าว ข่าวการวิ่งเต้นของตำรวจดูเหมือนจะหยุดนิ่ง ไม่มีข่าวว่าตำแหน่งไหนต้องจ่ายเท่าไหร่


หากสถานการณ์เป็นไปดังที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นครั้งนี้ คือข่าวการวิ่งเต้นเพื่อโยกย้ายตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้หยุดไปได้พอสมควร ทั้งกลับมีข่าวว่าใครที่ขึ้นไปในตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ต่อไปอาจจะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีผลงานปรากฏ ยิ่งจะเป็นผลดีกับผู้นั้น 
เพราะการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจครั้งนี้ดูเหมือนจะมีการพิจารณาผลงานของบุคคลนั้นมากกว่า 
ความเป็นบุคคล เรียกว่าพิจารณาจาก 'ผลของงาน' ไม่ใช่ 'คนของใคร'

การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจยุคนี้น่าจะพ้นไปจากบุคคลที่ชอบกระทำประเภท "ได้ครับพี่ - ดีครับนาย - สบายครับผม - เหมาะสมครับท่าน" ไปได้บ้างมากทีเดียว - ย้ำ - มากทีเดียว

วันนี้ข่าวคราวที่ปรากฏจากสื่อมวลชน ไม่ว่าการติดตามจับกุมคนร้าย การจับกุมผู้ลักลอบค้ายาเสพติดได้จำนวนมาก การติดตามจับกุมและคลี่คลายคดีสำคัญ รวมไปถึงนโยบายการตรวจจับอาวุธปืน และการทำผิดกฎจราจร โดยเฉพาะประการหลังเมื่อมีการผิดพลาดบกพร่อง ผู้ใหญ่ก็พร้อมจะแก้ไขให้ถูกต้อง

นับแต่นี้อีกไม่ถึงสองเดือนเชื่อว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีการกำหนดบ้างแล้วคงจะไปทบทวนงานเดิม พิจารณางานใหม่ และตำรวจไทยควรทำหน้าที่ ?บำบัดทุกข์ บำรุงสุข? ให้คนไทยและสังคมไทยได้เต็มกำลังความสามารถสมกับหน้าที่ตำรวจไทย



+++

ชิงไหวชิงพริบ
โดย สมิงสามผลัด
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เป็นไปตามคาด เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ภาคใต้เมื่อวันก่อน
มีคนเอามาโยงกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนได้ 
ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโยงเหตุระเบิดที่ปัตตานีกับงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลที่กรุงเทพฯ 
แบบว่านายกฯยิ่งลักษณ์มัวแต่ร้องเพลง ไม่สนใจเหตุระเบิด 
ก็ว่ากันไป

ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ต้องสั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 4, ผบช.ศตช., กอ.รมน. และศอ.บต. เข้าไปดูแลความเรียบร้อยอยู่แล้ว 
มีขั้นมีตอนการสั่งการอยู่ 
เหมือนกับที่รัฐบาลอื่นทำกัน

แต่เชื่อได้เลยว่าจะมีการปั่นกระแสนายกฯยิ่งลักษณ์เมินแก้ไขปัญหาไฟใต้กันกระหึ่มโลกออนไลน์
นอกจากเป็นการโจมตีรัฐบาลแล้ว ยังมีผลพวง "กลบ"คดีหนีทหารได้อีกด้วย 
เพราะคดีหนีทหารเป็นข่าวฮอตตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา


ขณะที่"โอ๊ค"พานทองแท้ ชินวัตร ไม่ยอมปล่อยให้ อาปูโดนเล่นงานข้างเดียว 
ยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้ข่าวหนีทหารเงียบหายไปเฉยๆ 
ล่าสุดงัดข้อมูลมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ถึงจำนวนวันที่รับใช้ชาติของร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 
ระบุว่านายอภิสิทธิ์ได้เป็นว่าที่ร.ต.เมื่อ 26 เม.ย.31
หลังจากนั้น 35 วัน (31 พ.ค.31) ได้มีเอกสารแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากราชการ
หลังจากนั้นอีก 2 เดือนกว่า (22 ส.ค.31) ขอลากิจและเดินทางไปต่างประเทศรวม 3 ครั้งต่อเนื่องกัน โดยมีวันราชการที่อยู่เมืองไทยแค่วันเดียว คือวันจันทร์ที่ 3 ต.ค.31
ก่อนจะลาต่อในวันรุ่งขึ้น (4 ต.ค.31) ยาวไปจนถึงวันที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกในวันที่ 2 เม.ย.32
รวมวันที่เดินทางไปต่างประเทศทั้งสิ้นประมาณ 221 วันต่อเนื่องกัน
เปรียบเทียบการรับใช้ชาติของ ร.ต.มาร์คกับพลทหารบัวลอย


เชือดเฉือนเอาคืนแบบทันควัน
ต้องบอกว่าการเมืองช่วงนี้มันส์มากๆ 
ในสภาก็เล่นกันถึงปาแฟ้ม-ลากเก้าอี้ประธาน
นอกสภาก็ชิงไหวชิงพริบ ไม่ยอมเพลี่ยงพล้ำกันง่ายๆ
ต้องจับตาอย่ากะพริบจริงๆ



+++

ต้องมีไม่ไว้วางใจ
บทบรรณาธิการ ข่าวสด

ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:45 น.  ข่าวสดออนไลน์


พรรคประชาธิปัตย์โหมโรงข่าวการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำงานมาครบรอบหนึ่งปีอย่างครึกโครม
มีการระบุปัญหา 5 ประการหลักที่จะต้องอภิปราย ก่อนจะขยายความล้มเหลวของรัฐบาลตามมาอีกเป็น 16 ข้อ

ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ระยะเวลาในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจยังเป็นเรื่องไม่แน่นอน
เพราะสมัยประชุมสภาครั้งนี้จะหมดลงในเดือนธันวาคม ยังมีเวลาที่จะพิจารณาเลือกจังหวะการอภิปรายที่เหมาะสม 
อีกนัยหนึ่งก็คือการเลือกอภิปรายในช่วงเวลาที่ได้เปรียบที่สุด


แต่ไม่ว่าจะเลือกอภิปรายเวลาไหน สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำแน่นอน ก็คือการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือควบคุมเนื้อหาของการอภิปรายให้เป็นเรื่องของความผิดพลาดหรือการทุจริตในการบริหารบ้านเมืองเป็นหลัก 
เพื่อให้การอภิปรายนั้นเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง เพื่อให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง 
จะต้องไม่เลือกหัวข้อสะเปะสะปะ หรือมุ่งโจมตีประเด็นส่วนตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วจะไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใด 
และที่จะเสียหายที่สุดก็คือพรรคประชาธิปัตย์เอง


ที่ผ่านมา การปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายค้านด้วยการมุ่งโจมตีแต่เรื่องส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ดูได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นในทางการเมืองของประชาชนครั้งล่าสุด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนต่ำกว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
ทั้งที่โดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพจะได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น มิใช่มีคะแนนตกต่ำลง และตกต่ำที่สุดอย่างในการสำรวจครั้งล่าสุด

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์สามารถสรุปบทเรียน และนำมาปรับใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในไม่ช้านี้ได้ ไม่เพียงแต่สังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์จากการทำงานดังกล่าว
คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย



.