.
โอละเห่ โอลิมปิก
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 89
จบแล้วใช่ไหม มหกรรมกีฬาโอลิมปิก?
ที่ถามว่าจบแล้วใช่ไหม เพราะตั้งแต่เปิดแข่งมายังไม่เคยได้ดูอะไรเลย ไม่ใช่เพราะไม่สนใจ แต่ด้วยเทคโนโลยีของการสื่อสารที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้รับสารอย่างเราเลือกช่องทางการชม กีฬา ข่าว ความบันเทิง ได้อย่างเหมาะสมกับจริตของตัวเองมากขึ้น
ลองจินตนาการว่าเป็นยี่สิบปีที่แล้ว หากจะดูโอลิมปิก เราคงต้องเกาะติดโทรทัศน์ช่องรวมการเฉพาะกิจ ได้ดูเฉพาะที่ได้ถ่ายทอด หากพลาดที่จะดูแล้วก็พลาดเลย
แต่สมัยนี้การดูกีฬาโอลิมปิกจากยูทูบสามารถเลือกดู คัดสรรเฉพาะกีฬาที่เราสนใจ แมตช์ที่น่าตื่นเต้น การแข่งขันนัดที่ว่ากันว่าเป็นเกมประวัติศาสตร์ จะดูย้อนหลัง ดูเปรียบเทียบการเล่นของนักกีฬาคนนี้ คนนั้น กับโอลิมปิกครั้งก่อนๆ หรือผู้ที่ได้เหรียญทองในอดีต
และอีกสารพัดสารเพที่ยูทูบจะร้อยเรียงเรื่องราวมาให้เราสะกดรอยตามไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แน่นอนว่าการชมกีฬาโอลิมปิกเช่นนี้ได้ถอยห่างออกจากทั้งทัศนะที่มองกีฬาเป็น "เกม" ที่ต้องลุ้นแพ้-ชนะ ณ ขณะที่มีการแข่งขันอยู่จริง ความสนุกอยู่ที่เรายังไม่ได้รู้ผลการแข่งขัน และอีกประการหนึ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ หลุดออกจากการเชียร์กีฬาบนฐานของสำนึกชาตินิยมที่นับวันจะเจือจาง อ่อนแรงลงตามอายุขัยของ "ชาติ"
ในเมื่อกีฬาไม่ใช่ "เกม" ที่ต้องลุ้นแพ้หรือชนะ ณ ขณะที่มีการแข่งขัน (และมีคนอีกทั่วโลกนั่งลุ้นในวินาทีเดียวกับเรา) และยิ่งเราไม่ได้ยิ่งเชียร์ทีมใดทีมหนึ่งหรือนักกีฬาคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ความ "บันเทิง" ของการดูกีฬาจึงไม่ไช่การเชียร์ผล แพ้ หรือชนะ
แต่เป็นการ "ชม" ความสามารถพิเศษของมนุษย์ เช่นเดียวกับการชมกายกรรม หรือการแสดงอื่นๆ ที่เรามีความตื่นเต้นกับความสามารถพิสดารของมนุษย์ที่มีอยู่เหนือมนุษย์ธรรมดาทั่วไป ตั้งแต่วิ่งเร็วเป็นพิเศษ กระโดดสูงเป็นพิเศษ ทำท่าสวยงามวิจิตรใต้น้ำได้อัศจรรย์ ยกน้ำหนักได้หนักมากเป็นพิเศษ ฯลฯ หรือคนที่ยูโดก็เพลิดเพลินไปกับการห้ำหั่นกันด้วยสมาธิของนักยูโด (อันนี้ฉันตีความเอง)
การชมกีฬาแบบนี้เหมือนการไปชมงาน world expo นั่นคือเป็นความเพลิดเพลินจำเริญใจของการได้ติดตามความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ทั้งระดับการพัฒนาขีดความสามารถด้านร่างกาย ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การกีฬา การเปลี่ยนแปลงสรีระของมนุษย์ พัฒนาการและความเปลี่ยนทางสรีระของมนุษย์ตามชนิดกีฬาที่ตนเองฝึกฝน
ที่ชี้ให้เห็นว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นสามารถ "ก่อรูป", "จัดตั้ง" อีกทั้ง "บิดผัน" เอาได้ตามใจชอบ เราไม่เพียง "ตัด" เสื้อผ้ามาสวมใส่ได้เท่านั้น แต่นักกีฬาได้แสดงให้เราเห็นว่าเราสามารถ "สั่งตัด" รูปร่างของเราด้วยการฝึกฝนกล้ามเนื้อจากนั้นจึง form หรือ "ก่อร่าง" ขึ้นมาใหม่ได้ตามที่ออกแบบเอาไว้
ไม่เพียงเท่านั้นโอลิมปิกในฐานะที่เป็น world expo อย่างหนึ่ง ได้สร้างความเพลิดเพลินให้ผู้ชมในการติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีตั้งแต่ วัสดุที่ใช้ในการออกแบบเสื้อผ้านักกีฬาและอุปกรณ์กีฬาทั้งหมด กว่าลูกฟุตบอลจะกลายมาเป็นลูกฟุตบอลอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันแน่นอนว่าย่อมมีการวิจัยทดลองหาวัสดุสำหรับลูกฟุตบอลในอนาคตต่อไปอีก
ชุดว่ายน้ำกว่าจะมาเป็นชุดว่ายน้ำที่ใช้วัสดุอันสุดแสนจะเป็น "เครื่องมือ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์" อย่างหนึ่งในทุกวันนี้
วัสดุที่ใช้ทำแร็กเก็ต นวัตกรรมของรองเท้ากีฬา ไม่นับสเปรย์ ยา วิตามิน อาหารเสริม
ไม่นับการออกแบบสนาม อัฒจันทร์ ภูมิทัศน์ สนามหญ้า การทำพื้นผิวของลู่วิ่ง นวัตกรรมของจักรยานที่ใช้แข่งกีฬาที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยไปกว่าการสร้างยานอวกาศ การค้นพบวัสดุใหม่ที่น่าทึ่งขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือ "ความบันเทิง" ของโอลิมปิก เพราะมันคือการแสดงแสนยานุภาพของมนุษย์ ความเชื่อมั่นของมนุษย์สมัยใหม่ที่ไว้วางใจ "ความก้าวหน้า" และมั่นใจว่ามนุษย์จะแข็งแรงขึ้น ฉลาดขึ้น ก้าวข้ามข้อจำกัดตามธรรมชาติได้มากขึ้นและมากขึ้น
โอลิมปิกสร้างความแข็งแกร่งให้โลกทุนนิยมเสรี เพราะมันบอกให้เรารู้ว่า ถ้าเราขยันพอ เรามีวินัยพอ วันหนึ่งเราจะได้รับชัยชนะ วันหนึ่งเราจะเดินทางไปจุดหมาย แน่นอนว่าผู้แพ้ต้องยอมรับกติกา พร้อมตั้งความหวังว่าครานี้แพ้อีกสี่ข้างหน้าก็กลับมาใหม่ (คุ้นๆ ไหม? ปีนี้แพ้ ให้กลับไปทำงานหนัก อีกสี่ปีก็กลับมาลงเลือกตั้งใหม่ ห้ามล้มกระดานลากรถถังหรือปืนออกมายิงคู่ต่อสู้)
แน่นอนว่ามีความพยายามที่จะ "ตุกติก", "เล่นนอกเกม", "ล็อบบี้" กรรมการ หรือแม้แต่การใช้อำนาจหรืออิทธิพลในฐานะของการเป็นมหาอำนาจเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาติตนเพื่อยำไปสู่ชัยชนะ
แต่ถึงกระนั้นโอลิมปิกก็ได้พัฒนากติกาให้การเล่นนอกเกมเป็นไปได้น้อยที่สุด
ความยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจในสนามโอลิมปิกนับวันจะเหลือแต่ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่มีคนใส่ใจน้อยลงเรื่อยๆ ในโลกที่คนสร้าง "สื่อ" ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
ฮีโร่ที่แท้จริงของโอลิมปิกอาจจะไม่ใช่มหาอำนาจหรือคนที่ได้เหรียญทองอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นนักกีฬาเล็กๆ ไร้สัญชาติที่พยายามเอาตัวเองเข้ามาในโอลิมปิกให้ได้
คนแบบนี้ต่างหากที่มาแย่งความสนใจจาก "สื่อ" และคือ ฮีโร่ของโลกยุคหลัง-ชาตินิยม
ในยุคสงครามเย็นสนามของโอลิมปิกคือการดวลศักดิ์ศรีกันระหว่าง อเมริกา รัสเซีย จีน โลกยุคหลังสงครามเย็น ศักดิ์ศรีเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่คนทั้งโลกแคร์อีกต่อไป จีนอาจจะพยายามพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของตนเองให้โลกประจักษ์
แต่คำถามคือ "แล้วไง?"
ต่อให้จีนเป็นเจ้าเหรียญทองของโอลิมปิกสิบครั้งติดต่อกันก็ไม่ได้ทำให้คนทั้งโลกลืมเรื่องเทียนอันเหมินหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนได้
ที่น่าสมเพชกว่านั้นคือประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทยที่เกิดมาพร้อมสารพัดปมด้อยพยายามอย่างยิ่งที่จะได้ไปช่วงชิงความสนใจจากเวทีโลกด้วยการได้เหรียญสักเหรียญในกีฬาโอลิมปิกทั้งรื้อฟื้นจิตวิญญาณคลั่งชาติกันมาขนานใหญ่
ราวกับว่าหากประเทศไทยได้เหรียญทองจากโอลิมปิกหลายๆ เหรียญแล้วจะทำให้ทั้งโลกลืมไปเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ ยากจน มีการรัฐประหารถี่ที่สุด มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงสุด มีเสรีภาพของสื่อเกือบจะต่ำที่สุด ที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงลิ่ว มีมาตรฐานการศึกษาต่ำมากแม้กับประเทศอาเซียนด้วยกัน มีบริการสาธารณะในทุกด้านต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากรุงเทพฯ แล้วในทุกจังหวัดของประเทศไทยไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
ดังนี้แล้ว เหรียญทองโอลิมปิกช่วยอะไรได้ไหม?
นักกีฬาที่เข้าสู่โอลิมปิกของเราล้วนแต่ต้องบากบั่นด้วยตนเอง ด้วยทุนทรัพย์ของพ่อแม่หากเป็นกีฬาฯ ที่ต้องใช้ทุนรอนสูงไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ (เคยเห็นพ่อแม่นักกีฬาว่ายน้ำ เปิดสระว่ายน้ำเอง จ้างโค้ชจากออสเตรเลียมาเอง-ไม่รวยคงทำไม่ได้) ยิงปืน เทนนิส ฯลฯ
ส่วนนักกีฬาจากครอบครัวชาวบ้านมีแต่พรสวรรค์ กับความมานะบากบั่น อดทน ที่จะเอาร่างกายเข้าแลกกับความเจ็บปวดไปเลือกเล่นกีฬาที่ไม่ต้องมีทุนรอนมากอย่างยกน้ำหนักหรือมวย
เพื่อนของฉันคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า นักกีฬาที่ไปสร้างความภูมิใจให้กับคนไทยที่ไม่ยอมออกจากยุค "สร้างชาติ" (จึงคลั่งชาติกันไม่รู้จบ) ล้วนแต่เป็นนักกีฬาที่มาจากลูกหลานชาวบ้านหาใช่ลูกคนชั้นกลางมีสตางค์ที่เล่นกีฬา "ไฮโซ" อีกทั้งกีฬาที่เราชนะล้วนแต่เป็นกีฬาที่ไม่ได้อาศัยวิทยาศาสตร์ล้วนๆ เช่น วิ่ง ซึ่งตัดสินกันที่ตัวเลขของนาฬิกา จะ จะ ชัดเจน ไม่เหมือนมวยที่วัดกันที่จังหวะและความเพลี่ยงพล้ำบังเอิญของคู่ชกจึงเป็นชัยชนะที่ต้องอาศัย โชคชะตามากำหนดอยู่ระดับหนึ่ง
แน่นอนว่าจะไม่มีใครสนใจนักกีฬาลูกตาสีตาสาเหล่านี้จนกว่าวันที่เขาจะได้เหรียญ ถึงวันนั้น เลือดรักชาติ จะพลุ่งพล่าน หาเงินหาทองประเคนให้กันยกใหญ่ เรียกว่าเงินอัดฉีด สิ่งนี้แถวบ้านเรียกว่า ซื้อหวยเมื่อหวยออกแล้ว ซื้อยังไงก็ถูก หวังดีจริงต้องอัดฉีดตั้งแต่วันที่พวกเขายังอาบเหงื่อต่างน้ำเป็นโนบอดี้ ใส่รองเท้านันยางซ้อมวิ่งและยกถังน้ำใส่ทรายแทนดัมเบล อยู่ในค่ายมวย
ทำไมสังคมไทยไม่คิดว่าการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิกนั้นไม่ใช่แค่การมีพลเมืองเปี่ยมพรสวรรค์หนึ่งคนไปชิงเหรียญทองมา ชัยชนะในกีฬาไม่ใช่เรื่องโชคช่วยแต่เป็นเรื่องของ "นวัตกรรม" และ "วิทยาศาสตร์" ล้วนๆ
สังคมที่รักการกีฬา รักในการค้นคว้าวิจัย รักและลุ่มหลงในศักยภาพของมนุษย์เสพติดความ "ก้าวหน้า" คือสังคมที่จะไปให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ นักวัสดุศาสตร์ นั่งคิดเรื่องทำชุดว่ายน้ำที่ดีที่สุดในโลกด้วย
ไม่ใช่คิดแค่หานักว่ายน้ำที่เก่งที่สุด หรือมานั่งรอแจกเงินตอนนักกีฬาได้เหรียญ หลังจากนั้นอีกสี่ปี นักกีฬาและวงการกีฬาก็กลับสู่ยุคบ้านเชียงกันเหมือนเดิม จนกว่าจะมีใครสักคนไปได้หนึ่งเหรียญมาจากหลายร้อยเหรียญที่เขาแข่งกัน พลันเราจะมี national hero ที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงได้แต่แบ่งปันความภาคภูมิใจไปกันถ้วนหน้า
หรือคนไทยจะฉุกคิดบ้างหรือไม่ว่าประเทศที่ร่ำรวยและมีความสุขมากๆ อย่างสวิตเซอร์แลนด์ไม่เห็นกระเหี้ยนกระหืออยากเป็นเจ้าเหรียญทองโอลิมปิก
ชีวิตนี้ขายนาฬิกา ขายกระเป๋า Bally ขายปากกา ทำธุรกิจธนาคารไปชิลๆ ประเทศร่ำรวยดี มีความสุขดี คุณภาพชีวิตประชาชนยอดเยี่ยม จากนั้นก็มีเวลาทำงานสร้างสันติภาพให้กับโลก ไม่เห็นต้องกระสันจากได้เหรียญโอลิมปิกเหมือนประเทศที่ไม่มีอะไรดีจึงมีปมด้อย
ทั้งหมดนี้เขียนให้คนที่ไปด่านักมวยจีนอ่าน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย