http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-31

พิชิต: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศไทย

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศไทย
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/42381 . . Thu, 2012-08-30 22:07


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
( ที่มา: เผยแพร่ครั้งแรกใน“โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2555 )



เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะมีผลเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 แต่รัฐประหาร 2549 และความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาร่วมหกปี ทำให้รัฐบาลแต่ละชุดไม่สามารถดำเนินการรูปธรรมเพื่อเตรียมการรับมือ เป็นผลให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องขาดทิศทางและนโยบายที่ชัดเจน ผลก็คือ คนไทยน้อยมากที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึง

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ASEAN Economic Community (AEC) มีต้นกำเนิดจากการรวมกลุ่มของห้าประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2510 และได้รับบรูไนเป็นสมาชิกอันดับหกเมื่อปี 2527 จากนั้น ในช่วงปี 2538-42 จึงได้มีการขยายตัวครั้งใหญ่ด้วยการรับเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา เข้ามาเป็นสมาชิก เนื่องจากสมาชิกสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันมากในระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีข้อผูกพันต่างกัน จึงเรียกสมาชิกหกประเทศแรกว่า อาเซียน-6 และเรียกสมาชิกสี่ประเทศหลังว่า CLMV จากชื่อย่อของสี่ประเทศดังกล่าว


ความจริงแล้ว ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเพียงหนึ่งในสามองค์ประกอบของ “ประชาคมอาเซียน” ซึ่งได้มีการประกาศเป็นครั้งแรกในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่บาหลี ในปี 2546 อีกสององค์ประกอบคือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาค และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวัฒนธรรม โดยให้มีผลสมบูรณ์ในปี 2563 แต่ต่อมาในปี 2550 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองเซบูได้ตกลงเร่งรัดให้ประชาคมอาเซียนเป็นจริงโดยสมบูรณ์เร็วขึ้นอีกห้าปี เป็นปี 2558 
แม้จะเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบ แต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความสำคัญยิ่งยวดเพราะเป็นการรวมตัวอย่างทั่วด้านในทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน ให้เป็นเขตการค้าสินค้าบริการและการเคลื่อนย้ายทุนโดยเสรี ให้อาเซียนสิบประเทศ ประชากรประมาณ 600 ล้านคน รวมเป็นตลาดเดียว เออีซีมีรากฐานจาก “ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน” หรืออาฟต้า ซึ่งลงนามโดยสมาชิกกลุ่มแรกในปี 2535 โดยได้เริ่มทะยอยลดอัตราภาษีศุลกากรลงเป็นศูนย์ในรายการสินค้ากว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่ปี 2536 กระทั่งมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ส่วนกลุ่มประเทศ CLMV จะมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558
แต่ละประเทศยังมีสินค้ายกเว้นจำนวนน้อยใน “บัญชีสินค้าอ่อนไหว” ซึ่งอัตราภาษีศุลกากรไม่ต้องเป็นศูนย์ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ในกรณีประเทศไทย สินค้าอ่อนไหวได้แก่ กาแฟ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอก ขณะที่สิงคโปร์และอินโดนีเซียไม่มีบัญชีสินค้าอ่อนไหว นอกจากนี้ ยังมี “บัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง” ซึ่งสมาชิกสามารถกำหนดอัตราภาษีพิเศษ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ขอสงวนข้าวและน้ำตาลไว้ โดยประเทศไทยซึ่งไม่ได้ขอสงวน ก็จะได้รับการชดเชยเป็นมาตรการนำเข้าขั้นต่ำไปยังประเทศนั้น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีความตกลงด้านบริการ โดยจะอนุญาตให้นักลงทุนสัญชาติอาเซียนสามารถเข้ามาถือหุ้นในกิจการบริการเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 70 ของกิจการภายในปี 2558 ครอบคลุมบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ การท่องเที่ยว การบิน โลจิสติกส์ บริการธุรกิจครอบคลุม 8 วิชาชีพ ได้แก่ วิศวกรรม การสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี และบริการท่องเที่ยว ส่วนความตกลงด้านการลงทุน เป็นการให้สิทธินักลงทุนอาเซียนได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติตั้งแต่ปี 2553



อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะสาขาในแต่ละประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือและการลงทุนข้ามชาติภายในอาเซียนจึงต้องเข้าใจภาษา กฎหมายเฉพาะ และระเบียบท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิตามความตกลงนั้น ๆ เช่น การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นต้น โดยหลักการใหญ่คือ ให้ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลาง

ในด้านการค้า เนื่องจากประเทศไทยมีระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมค่อนข้างสูงภายในอาเซียนและต้องนำเข้าวัตถุดิบจำนวนมาก ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากเออีซีจึงเป็นการนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมที่จำเป็นในราคาถูกด้วยอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์จากแหล่งอาเซียนนั่นเอง แม้ว่า อัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบของประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้วก็ตาม ส่วนประโยชน์ในด้านการส่งออก กลุ่มอาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีมูลค่าปีละกว่าสี่หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าตลอดมา และคาดว่า การส่งออกจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อกลุ่มสมาชิก CLMV ได้ลดอัตราภาษีส่วนใหญ่เหลือศูนย์ภายในปี 2558 ตามกำหนด

ประโยชน์ในด้านการลงทุนที่สำคัญคือ ผู้ผลิตไทยจะย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา มากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกและสิทธิพิเศษทางการค้าที่ประเทศเหล่านี้ได้รับจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาโลจิสติกส์ที่ประสานเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นจะลดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในอาเซียนได้อย่างมาก ทำให้เกิดห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมร่วมกันภายในกลุ่ม โดยมีผู้ผลิตอุตสาหกรรมในไทยเป็นฐานผลิตสำคัญอีกแห่งในอาเซียนเพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านอกกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
ในทางตรงข้าม จะมีธุรกิจไทยบางส่วนที่ถูกกระทบเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันจากผู้ผลิตอื่นในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องตระเตรียมมาตรการเยียวยา เช่น กองทุนปรับตัว ให้ธุรกิจเหล่านี้ปรับปรุงการผลิตให้สามารถแข่งขันได้หรือสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนไปสู่สาขาอื่นที่มีความได้เปรียบมากกว่า


ส่วนประชาชนผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ทางอ้อมด้วยสินค้าจากกลุ่มอาเซียนจะมีต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง เกษตรกรจะได้ประโยชน์โดยตรงเพราะอาเซียนเป็นตลาดสินค้าเกษตรไทยที่สำคัญอันดับต้นมาโดยตลอด แม้ว่าธุรกิจไทยบางส่วนจะย้ายฐานการผลิตออกไป แต่ผู้ใช้แรงงานไทยจะยังได้ประโยชน์จากค่าจ้างที่สูงขึ้นต่อไปเนื่องจากการขยายตัวของการค้าและการลงทุนจากการเปิดตลาดเสรี แรงงานต่างชาติที่เข้ามาจะยังคงเป็นแรงงานไร้ฝีมือซึ่งไม่ได้แข่งขันกับแรงงานไทยโดยตรงเช่นเดิม

ส่วนประโยชน์ทางการเมืองที่ชัดเจนคือ ประเทศไทยจะไม่อาจมีรัฐประหารในรูปแบบดั้งเดิมได้ง่าย ๆ อีกต่อไป เพราะนอกจากจะถูกปฏิเสธจากกลุ่มประเทศตะวันตกแล้ว ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย ดังเช่นที่ประเทศพม่าได้เรียนรู้และต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วยการหันมาสวมเสื้อคลุมการเมืองแบบเลือกตั้ง และเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเปิดเสรีอย่างรวดเร็ว



.