http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-12

สรกล: สัญญาณจาก“วุฒิ”

.
คอลัมน์ การเมือง ข่าวสด - เปิดโค้งท้ายชิงเก้าอี้ประธานวุฒิ
คอลัมน์ การเมือง ข่าวสด - ฝ่ายค้าน"ถอย" รัฐบาลรุกคดี 98 ศพ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สัญญาณจาก“วุฒิ”
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:01:25 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555 )


การเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่แทน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในทางการเมือง 
เพราะที่ผ่านมา ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เคยได้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาเลย 
ประธานวุฒิสภา ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้ง 2 คนล้วนมาจาก ส.ว.สรรหา คือ นายประสพสุข บุญเดช และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร 
การเลือกประธานวุฒิฯแต่ละครั้ง ตัวแทนจาก ส.ว.เลือกตั้ง พ่ายตัวแทนจาก ส.ว.สรรหา กระจุยกระจาย
ครั้งล่าสุด พล.อ.ธีรเดช ได้ 91 คะแนน นายนิคม ไวยรัชพานิช ได้ 52 คะแนน 
แพ้กันเกือบ 40 คะแนน

เมื่อวุฒิสมาชิกในวันนั้น คือ คนกลุ่มเดียวกันกับวันนี้ 
ถ้าประเมินการเมืองแบบ "หยุดนิ่ง" การเลือกประธานวุฒิสภาครั้งนี้ ส.ว.เลือกตั้ง ก็คงสู้ ส.ว.สรรหาไม่ได้
แต่การเมืองนั้นไม่นิ่ง 
ไม่แปลกที่จะมีกระแสข่าวออกมา ส.ว.เลือกตั้ง มีความมั่นใจว่าจะรวมตัวเป็นปึกแผ่นและดึง ส.ว.สรรหาบางส่วนมาลงคะแนนให้ได้

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจาก "ขั้วการเมือง" ที่เปลี่ยนไป 
พรรคประชาธิปัตย์ จาก "รัฐบาล" เป็น "ฝ่ายค้าน" 
พรรคเพื่อไทย เปลี่ยนจาก "ฝ่ายค้าน" เป็น "รัฐบาล"  
ถ้า "นิคม" ได้เป็นประธานวุฒิสภา ก็แสดงว่า "ขั้วการเมือง" ที่เปลี่ยนไปมีผลต่อตำแหน่งประธานวุฒิสภา
เพราะ ส.ว.ก็ล้วนแต่คนหน้าเดิม 
แต่การตัดสินใจเปลี่ยนไป


ในอีกมุมหนึ่ง ถ้า "พิเชต สุนทรพิพิธ" ตัวแทนของ ส.ว.สรรหา ชนะการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา 
ย่อมแสดงให้เห็นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 เราจะมีประธานวุฒิสภาที่มาจาก "การสรรหา" ต่อไปเรื่อยๆ 
เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง "รอยตำหนิ" ของรัฐธรรมนูญปี 2550 

ส.ว.กลุ่มหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วทั้งประเทศ
แต่ ส.ว.อีกกลุ่มหนึ่งมาจากการสรรหาของคน 7 คน 
และสุดท้าย คนที่มีตำแหน่งสูงสุดใน "วุฒิสภา" ก็คือ ส.ว.ที่มาจากคน 7 คน
ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


ความชัดเจนเช่นนี้น่าจะมีผลสะเทือนต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
เพราะเมื่อ "ผล" มาจาก "เหตุ" 
ผลพวงจากการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาจะทำให้เราได้เห็น "รอยตำหนิ" ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ 
14 สิงหาคมนี้ได้รู้กัน!!!



+++

เปิดโค้งท้ายชิงเก้าอี้ประธานวุฒิ
คอลัมน์ การเมือง ใน ข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:43 น.


เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการชิงชัยเก้าอี้ประธานวุฒิสภา สถานการณ์เริ่มถึงจุดไคลแม็กซ์
เมื่อรายชื่อแคนดิเดตผ่านการเขย่าร่อนตะแกรง ขั้นสุดท้ายแล้ว จนเหลือตัวจริงขึ้นเวทีชิงดำกันแค่ 2 คน 
โดยมุมแดงนั้น นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว. ฉะเชิงเทรา ในฐานะรองประธานวุฒิสภา ซึ่งพ่วงรักษาการประธานวุฒิสภาอีกตำแหน่ง จะแต่งตัวลงสนามในนามส.ว.สายเลือกตั้ง
ขณะที่มุมน้ำเงิน นายพิเชต สุนทรพิพิธ จะขึ้นป้องกันรักษาเก้าอี้ประมุขสภาสูง ให้กลับมาเป็นโควตาของส.ว.สายสรรหาอีกตามเดิม

เพื่อคุมเกมสภา คานอำนาจรัฐบาล 
คู่แข่งเปิดหน้าชัดเจน พร้อมๆ กับภาพการเดินเกมล็อบบี้ขอคะแนนเสียงกันหลากหลายรูปแบบ ชนิดที่บรรดาขาจรตอนนี้ถ้าไม่มีธุระเร่งด่วนจำเป็น ขอเตือนว่าอย่าได้เฉียดเข้าใกล้อาคารรัฐสภา 2 เป็นอันขาด  
มิเช่นนั้นอาจต้องสำลักฝุ่นได้ 

ภายหลังจากที่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีขึ้นเงินเดือนตัวเองสมัยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ให้รอลงอาญาไว้ เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา 
ส่งผลให้ต้องเด้งตกเก้าอี้ 'ประธานวุฒิสภา' ทันทีโดยอัตโนมัติ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 124 (4) เหลือตำแหน่ง ส.ว.สรรหาไว้ประดับบารมีเพียงเก้าอี้เดียว
ระหว่างนี้ให้ นายนิคม รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะได้ตัวประธานวุฒิสภาคนใหม่ ขณะที่วันเลือกประมุขสภาสูงคนใหม่นั้น กำหนดไว้คือวันอังคารที่ 14 ส.ค. นี้
เปิดเกมให้ยื้อเก้าอี้กันอย่างคึกคัก


สิ้นสัญญาณเป่านกหวีดให้ลงสนาม สมาชิกสายเลือกตั้งดูจะฟิตและออกอาการมากที่สุด หลายคนแย่งกันเปิดตัวเป็นแคนดิเดตแบบไม่ต้องรักษาฟอร์ม 
ไม่ว่า นายนิคม ที่ถูกยกให้เป็น "เต็งหนึ่ง" หลังจากนั่งยาวในตำแหน่งรองประธานฯ มา 4 ปีกว่า ตั้งแต่ยุคที่ 'ประธาน' ผูกติดอยู่กับโควตาส.ว.สายสรรหามา 2 สมัย คือยุค นายประสพสุข บุญเดช และอีกครั้งคือ พล.อ.ธีรเดช
ก็ประกาศจับจองเก้าอี้นี้ตั้งแต่วินาทีแรก ให้เหตุผลทำนองว่าตำแหน่ง 'ท่านประธาน' อยู่ในมือสายสรรหามาถึง 2 สมัย ควรเปลี่ยนลิขสิทธิ์มาให้สายเลือกตั้งได้เชยชมบ้าง

ตามด้วย นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ซึ่งรายนี้เปิดตัวไปได้ไม่ทันไร ก็ปรากฏว่าข้อมูลส่วนตัวจากไหนไม่รู้ทะลักเข้ามา
สุดท้ายจึงตัดสินใจใส่เกียร์ถอย เมินแม้กระทั่งเก้าอี้รองประธานของนายนิคมที่จะ "ล็อก" ให้ด้วยซ้ำ โดยอ้างว่าขอกลับไปทำหน้าที่และสางงานสมานฉันท์ที่ค้างคาไว้
ตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนจะเปลืองตัวไปมาก กว่านี้

นอกจากนี้ผู้เข้าประกวดบางชื่อยังเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย เช่น นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแนบสนิทอย่างแรงกับ "คนแดนไกล"
ถึงขนาดมีข่าวว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยต่างส่งใจเชียร์ ไฟเขียวสนับสนุนเต็มพิกัด
และ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา ก็ถูกจับตาว่ามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝั่งรัฐบาลอีกเช่นกัน
แต่สุดท้ายทั้งสองชื่อต้องยอมหมอบตามมติของ ส.ว.สายเลือกตั้ง โดยควงแขนโชว์สปิริตเปิดทางให้นายนิคมได้ไปต่อ

เพราะหากยังดึงดันแข่งขันจะเอาชนะให้ได้ จะเกิดการตัดแต้มตัดคะแนนกันเอง เกมไหลไปเข้าทางฝ่ายสรรหามีแต่ความว่า เสียกับเสีย
กระนั้นก็มีเสียงเรียกร้องให้ นายนิคม ไขก๊อกจากเก้าอี้รองประธานวุฒิสภาด้วย แต่เจ้าตัวปฏิเสธทันควัน ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าจะกุมชัยชนะครั้งนี้ได้หรือเปล่า หากลาออกแล้วไม่ได้รับเลือกก็ดูจะสุ่มเสี่ยงเกินไป
แต่บางกระแสก็มองไปที่เกมการเมือง การยื้อก็เพื่อล็อกเก้าอี้ไว้ให้ส.ว.สายเลือกตั้งได้คุมเกมในสภา



ขณะที่ 'สายลากตั้ง' นั้น เดินเกมเงียบ ไม่หวือหวา ทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยความระมัดระวัง อาศัยจุดเด่นที่ความปึ้กของเสียง การจับมือที่เหนียวแน่น และความมีเอกภาพของกลุ่ม
โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ คานอำนาจรัฐบาล ยับยั้งเกมในสภาของพรรคเพื่อไทย
ชื่อแคนดิเดตจึง "นิ่ง" ที่ นายพิเชต มาแต่ไหนแต่ไร แม้ก่อนหน้านี้จะมีตัวหลอกลับลวงพรางมาสอดแทรกคิวบ้าง อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นาย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.สรรหา
แต่ก็เป็นแค่น้ำจิ้ม โยนหินถามทางกันไปเท่านั้น

สําหรับการเลือกประธานวุฒิสภาในวันที่ 14 ส.ค. นั้น จะเปิดให้ผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งแสดงวิสัยทัศน์คนละ 10 นาทีก่อน จากนั้นใช้วิธีลงคะแนนลับ
หากมีผู้เสนอตัวมากกว่า 2 คน ผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด หรือ 73 คน แต่หากมีผู้เสนอชื่อคนเดียว บุคคลนั้นจะได้รับเลือกทันที 
เช็กเสียงส.ว.ปัจจุบันมี 146 คน จากทั้งหมด 150 คน แบ่งเป็นสายเลือกตั้ง 76 คน และสายสรรหา 70 คน 
โดยส.ว.เลือกตั้งยอดเต็มคือ 77 คน แต่ขาดไป 1 เสียงคือ ส.ว.บึงกาฬ ที่ต้องรอการเลือกตั้งครั้งหน้า ทำให้เหลือ 76 เสียง

ขณะที่ ส.ว.สรรหา ยอดเต็มคือ 73 เสียง แต่โดนใบแดงจาก กกต. 3 คน โดยในจำนวนนี้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิ์ไปแล้ว 2 คน คือ นายศรีสุข รุ่งวิสัย และ นายสัก กอแสงเรือง
อีกคน คือ นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อยู่ระหว่างรอศาลวินิจฉัย หักลบแล้วจึงเหลือ 70 เสียง


อย่างไรก็ตาม เสียงของส.ว.ทั้ง 2 สายก็ไม่ได้แพ็กเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะสายเลือกตั้งค่อนข้างไม่เป็นเอกภาพ กล่าวคือส.ว.ภาคใต้ 10 กว่าเสียง และภาคกลางตอนล่างอีก 4-5 เสียง อิงอยู่กับฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์  
ดังนั้นน่าจะหักไปราวๆ 20 เสียง ซึ่งแต้มในส่วนนี้จะไหลไปทางฝั่งสรรหา  
แต่ภายในสายสรรหาเองก็มีสภาพเสียงแตกด้วยเช่นกัน คาดว่าประมาณ 10 เสียงที่สนับสนุนรัฐบาล และจะลงคะแนนให้กับ นายนิคม
ที่เปิดตัวชัดเจนตอนนี้คือ พล.อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์ ในฐานะคนบ้านเดียวกัน และ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ 
ดีดลูกคิดคำนวณแล้ว สถานการณ์ตอนนี้นายพิเชตเป็นต่อนายนิคมอยู่ที่ "นิดๆ" ต่อ "กว่าๆ"

แต่อย่าลืมว่ารายการ 'พลิกล็อก' เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายที่ต่างฝ่ายต่างปล่อยของประลองกำลังกันเต็มอัตราศึก 
หากจำกันได้การเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อปี 2551 นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ ก็เคยมีคะแนนนำโด่ง แต่สุดท้ายก็พลาดท่าเสียเก้าอี้ให้กับนายประสพสุข บุญเดช ในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนโหวต 
การเมืองยิ่งร้อนๆ อยู่ด้วย อย่าได้ประมาทเด็ดขาด



+++

ฝ่ายค้าน"ถอย" รัฐบาลรุกคดี 98 ศพ
คอลัมน์ การเมือง ใน ข่าวสดออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 03:10 น.


การเมืองครึ่งหลังเดือนสิงหาคม 55 
ต้องจับตาไปที่คิวการช่วงชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ ที่กำลังจะตัดสินชี้ขาดกันในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า 
ระหว่างนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวแทน ส.ว.สายเลือกตั้งส่งเข้าประกวด ขณะที่นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นตัวแทน ส.ว.สายสรรหาลงชิงชัย
ใครเป็นฝ่ายชนะ จะตัดสินกันด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 73 เสียง จากจำนวนส.ว.ที่มีอยู่ทั้งหมดขณะนี้ 146 เสียง แบ่งเป็นสายเลือกตั้ง 76 คน และสายสรรหา 70 คน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านายนิคม ซึ่งมีภาพลักษณ์โน้มเอียงไปทางฝั่งรัฐบาลจะ"แบเบอร์"
เพราะความจริงคือในหมู่ ส.ว. สายเลือกตั้งมีจำนวนหนึ่งที่อิงอยู่กับฐานเสียงการเมืองในซีกพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้นศึกชี้ชะตาวันที่ 14 สิงหาคมนี้ จึงคู่คี่ก้ำกึ่ง สามารถออกได้ทั้งสองหน้า 
โดยเฉพาะ ส.ว.สายเลือกตั้งถ้ายังรักษาอาการ"เสียงแตก"ไม่ได้
โอกาสที่ ส.ว.สายสรรหาจะผนึกกำลังโหวตส่งให้นายพิเชต ขึ้นยึดโควตาเก้าอี้ประธานเป็นสมัยที่ 3 ต่อจากนายประสพสุข บุญเดช และพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ก็มีความเป็นไปได้สูง

การที่ใครจะได้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้น 
นอกจากเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงทิศทางการทำหน้าที่ตรวจสอบ คานอำนาจรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ ว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น หรือลดดีกรีลงแล้ว 
ยังจะมีผลต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าทั้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแรงผลักดันของรัฐบาล
และกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่วุฒิสภารับเรื่องต่อมาจากป.ป.ช.อีกด้วย



จบจากเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่
จะเป็นคิวของสภาผู้แทนฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และ 3
ที่มีการวางโปรแกรมการอภิปรายไว้ 3 วันต่อเนื่อง 15-17 สิงหาคม
ถัดจากนั้นจะเป็นวาระการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ที่เลื่อนจากเดิม 23 สิงหาคมออกไปเป็นราวๆ ต้นเดือนกันยายน

ทั้ง 2 เวทีถูกมองว่าเป็นสนาม"ซ้อมใหญ่"ของฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งจะประกาศทอดเวลาการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐบาล
จากเดิมที่เคยคาดหมายว่าจะยื่นทันทีที่สภาเปิดสมัยประชุมเดือนสิงหาคม เลื่อนไปเป็นช่วงปลายสมัยประชุม หรือในราวๆ เดือนพฤศจิกายน
พรรคประชาธิปัตย์และวิปฝ่ายค้านให้เหตุผลการลากยาวเกมซักฟอกออกไปอีก 2-3 เดือนว่า ต้องการเห็นความล้มเหลวผิดพลาดในโครงการของรัฐบาลเป็นรูปธรรมชัดเจนกว่านี้ก่อน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มมีกลิ่นตุๆ โชยมาเข้าจมูกฝ่ายจ้องขย้ำรัฐบาล

พรรคประชาธิปัตย์จับจ้อง 2 ประเด็นนี้ชนิดตาเป็นมัน
หวังจะใช้เป็นประเด็นขยายผลลบล้างคำสบประมาท ที่ว่าฝ่ายค้านชุดนี้ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เก่งแต่คัดค้านในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ 
ตรงตามโพลให้คะแนนผลงานพรรคแกนนำฝ่ายค้านในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สอบตกได้แค่ 3.5 คะแนนกว่าๆ สวนทางกับคะแนนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่ปรับตัวขึ้นจากเมื่อ 6 เดือนก่อน มาอยู่ที่ 5.3 คะแนน 
ตรงจุดนี้เองที่หลายคนเชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฝ่ายค้านยังรีรอ ไม่กล้ายื่นขอเปิดอภิปรายซักฟอกรัฐบาลในตอนนี้ เพราะรู้ว่ากระแสนิยมยังตกเป็นรอง 


การอาศัยวาทกรรมสาดโคลน จ้องจับผิดแต่ในเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งแล้วนำมาปั่นกระแสหวังให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต 
ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า ไม่ได้ผล หนำซ้ำยังเป็นการเพิ่มคะแนนความเห็นใจให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์โดยไม่รู้ตัว 
เหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ประชาธิปัตย์ยังไม่พร้อมสำหรับการเปิดศึกชี้เป็นชี้ตายกับรัฐบาล 
ก็เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านเองก็ยังมีแผลฉกรรจ์ติดตัว ทั้งในเรื่องประวัติการติดยศ"ร้อยตรี" รับราชการทหารเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 
ที่โดนพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ขุดเอกสารการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาโชว์ให้เห็นพิรุธกันแบบจะจะ 
แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายกาจเท่ากับข้อมูลฉบับซีรีส์ของ"สิบตรีพานทองแท้ ชินวัตร" ที่มีการนำมาตั้งข้อสังเกตเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก 
เล่นงาน"เจ้าของสุนัข"เสียอ่วม

เถียงไม่ออกทั้งเรื่องการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยจปร.เพียงแค่ 35 วัน หรือการลาราชการ 221 วัน เพื่อไป"ฮันนีมูน"ในต่างประเทศหลังแต่งงาน 
หลายคนเฝ้ารอดูอยู่ว่าร้อยตรีอภิสิทธิ์ จะฟ้องร้องกลับพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และสิบตรีพานทองแท้ ชินวัตร ที่นำเรื่องนี้มากล่าวร้ายให้เสื่อมเสีย
เหมือนอย่างที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แจ้งความฟ้องร้อง 3 เกลอสายล่อฟ้ากรณี"ว.5 โฟร์ซีซั่นส์" หรือไม่


นอกเหนือจาก 3 คำ"ดีแต่พูด" ที่เหมือนจะเป็นยี่ห้อประจำตัวใครบางคนไปแล้ว  
กรณีที่ว่า"ใคร"เป็นคนสั่งการสลายม็อบเสื้อแดง 98 ศพเมื่อปี 2553 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  
ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโต้ตอบกันทุกครั้งระหว่างการอภิปรายในสภา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายนโยบาย หรือผลงานของรัฐบาล 
เป็นชนักปักหลังอดีตรัฐบาลที่นอกจากจะสลัดไม่หลุดแล้ว นับวันยิ่งบาดลึกมากขึ้นเรื่อยๆ  
โดยเฉพาะล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มีการปรับเปลี่ยนทีมพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพชุดใหม่ เพื่อให้คดีเดินหน้ารวดเร็วกว่าเดิม

ที่ต้องจับตาควบคู่กันไปก็คือการปรับทีมสอบสวนครั้งนี้ยังมุ่งไปที่การสอบสวนคดีที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนเกือบ 2,000 คน 
เพื่อพิจารณาว่าจะเข้าข่ายฐานความผิดพยายามฆ่า หรือเจตนาทำให้บาดเจ็บสาหัสได้หรือไม่ 
โดยขั้นตอนทางดีเอสไอจะเรียกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์มาสอบปากคำถึงการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ 
เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกับสำนวนสอบสวนของตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาได้สอบสวนพยานแวดล้อมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วเกือบทุกสำนวน

เป็นวิบากกรรมใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์โดยแท้



.