http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-07

หนุ่มเมืองจันท์: “น้ำตา” โอลิมปิก

.

“น้ำตา” โอลิมปิก
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 24


วันก่อนไปอัดรายการ "เจาะใจ"
เจอหน้า "ดู๋" สัญญา คุณากร ในห้องพัก เขาถามทันที
"วันนี้พี่จะคุยเรื่องอะไร" 
พอผมบอกประเด็น "ดู๋" ก็แกล้งบ่นทันที 
"โธ่ นึกว่าจะคุยเรื่องโอลิมปิก"



ครั้งก่อน ผมหยิบเรื่องฟุตบอลยูโรมาคุย เพราะชอบวิธีคิดของ "เดลบอสเก้" ผู้จัดการทีมชาติสเปนที่กล้าสร้างสไตล์การเล่นแบบใหม่
4-6-0
ไม่ต้องมี "กองหน้า" แต่อัด "กองกลาง" เข้าไปเยอะๆ 
ความคิดแหวกแนวแบบ "ทำไมต้องเหมือนเดิม" ของ "เดลบอสเก้" น่าสนใจมาก ผมก็เลยนำมาเล่าในรายการ "เจาะใจ" 

"ดู๋" ก็เลยแซวว่า เมื่อเล่าเรื่อง "บอลยูโร" ไปแล้ว 
ครั้งนี้ก็น่าจะเป็น "โอลิมปิก" บ้าง

จริงๆ แล้ว กีฬาโอลิมปิกทุกครั้งก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่อลังการหรือแง่มุมต่างๆ ของการแข่งขัน 
มีทั้งเรื่อง "ผู้ชนะ" และ "ผู้แพ้" 
"ผู้ชนะ" ที่ชนะ
"ผู้ชนะ" ที่พ่ายแพ้
"ผู้แพ้" ที่แพ้จริงๆ
และ "ผู้แพ้" ที่ชนะใจคนทั้งโลก



เทปแรกที่ได้ร่วมในรายการ "เจาะใจ" ผมเคยหยิบยกเรื่อง "ดีเร็ค เรดมอนด์" นักวิ่ง 400 เมตรชาวอังกฤษ มาเป็นตัวอย่างของ "ผู้แพ้" ที่ชนะใจคนทั่วโลก 
"เรดมอนด์" เคยได้สิทธิ์ลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่เกาหลีใต้ 
แต่เขาบาดเจ็บก่อนการแข่งขัน 
"เรดมอนด์" ต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 5 ครั้ง 
แต่เขายังสู้ต่อ

4 ปีต่อมา "เรดมอนด์" ได้สิทธิ์อีกครั้งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า
ครั้งนี้ เขาเป็นตัวเก็งที่จะได้เหรียญทอง 
การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น "เรดมอนด์" อยู่ในกลุ่มผู้นำ
เหลืออีก 150 เมตรจะถึงเส้นชัย เขาเร่งฝีเท้าเต็มที่
แต่สิ่งที่เขากลัวที่สุดก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
"เอ็นร้อยหวาย" ของเขาฉีกขาด

"เรดมอนด์" ชะลอความเร็วก่อนทรุดตัวลงกับลู่วิ่ง 
การแข่งขันวิ่ง 400 เมตรชายในกีฬาโอลิมปิกยังดำเนินต่อไป
แต่สำหรับ "ดีเรค เรดมอนด์"
การแข่งขันจบแล้ว



"เรดมอนด์" ให้สัมภาษณ์ "บีบีซี" หลังการแข่งขัน 
เขาบอกตัวเองในวินาทีที่ล้มลงว่า "การแข่งขันจบแล้ว แต่ความฝันยังไม่จบ" 
"เรดมอนด์" ลุกขึ้นอีกครั้ง พยายามประคองตัวเข้าสู่เส้นชัย
"ความฝัน" ของเขาคือ การวิ่ง 400 เมตรในกีฬาโอลิมปิกให้ถึงเส้นชัย
ภาพที่ปรากฏต่อคนทั่วโลก คือ "เรดมอนด์" ไม่ได้วิ่ง แต่ค่อยๆ กะเผลกไปข้างหน้า

มีชายคนหนึ่งวิ่งเข้าไปในสนาม
คนนั้น คือ พ่อของ "เรดมอนด์"
แม้จะมีคนพยายามขวางไม่ให้เข้าไปในลู่วิ่ง แต่เขาไม่ยอม
พ่อเข้าไปประคอง "เรดมอนด์"
และประโยคประวัติศาสตร์ที่เรียกน้ำตาคนทั่วโลกก็เริ่มต้นขึ้น
"ลูก ไม่ต้องทำอย่างนี้ก็ได้"

"เรดมอนด์" ซบหน้ากับไหล่ของพ่อ แล้วร่ำไห้
แม้จะร้องไห้ แต่หัวใจของเขายังแกร่งกล้า
"พ่อ ผมต้องทำ" 
พ่ออึ้งไปนิดนึง ก่อนบอกกับลูก 
"ถ้าอย่างนั้น เราจะไปด้วยกัน"
ภาพของพ่อที่ประคองลูกเดินเข้าเส้นชัย กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ประทับใจคนทั่วโลก
"เรดมอนด์" กลายเป็นผู้แพ้ที่ยิ่งใหญ่ 
เพราะเขาชนะใจคนทั่วโลก

จิตใจที่ไม่ยอมแพ้ของ "เรดมอนด์" ยังแสดงให้เห็นต่อไปหลังการแข่งขันจบลง 
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเขาไม่สามารถเล่นในระดับทีมชาติอีกต่อไป 
วันนั้น "เรดมอนด์" เศร้ามาก เพราะแม้ใจยังสู้แต่ร่างกายของเขาสู้ไม่ไหว
กล้ามเนื้อขาไม่สามารถเร่งความเร็วได้อีกแล้ว 
แต่พ่อของ "เรดมอนด์" กลับให้สติ และตั้งคำถามที่เปลี่ยนชีวิตของเขาอีกครั้ง 
"กีฬาไม่ได้มีเพียงแค่การวิ่งเพียงอย่างเดียว"

เชื่อไหมครับ "เรดมอนด์" เปลี่ยนไปเล่นบาสเก็ตบอล 
และในอีกไม่กี่ปีต่อมา เขาติดทีมชาติอังกฤษ 
วันนั้น เขาถ่ายรูปในเสื้อธงชาติอังกฤษ 
เซ็นชื่อ
และส่งไปให้แพทย์ที่บอกว่าเขาไม่สามารถเล่นระดับทีมชาติได้แล้ว
เพื่อยืนยันว่าเขาทำได้
คงเป็นความสะใจส่วนตัว

นายแพทย์คนนั้นคงหมายความว่า "เรดมอนด์" เป็นนักวิ่งทีมชาติไม่ได้แล้ว 
เขาคิดไม่ถึงว่า "เรดมอนด์" จะเปลี่ยนไปเล่นกีฬาประเภทอื่น
จนติดทีมชาติ 
นี่คือ ความยิ่งใหญ่ของนักกีฬาคนหนึ่งที่ทำ "ความพ่ายแพ้" ที่ใครคิดว่าเป็น "ความล้มเหลว"
กลายเป็น "ความยิ่งใหญ่" ที่ไม่มีใครลืมเลือน




"โอลิมปิกครั้งนี้มีอะไรน่าสนใจ นอกจากเรื่องพิธีเปิด "ผมถาม" ดู๋ "กลับบ้าง
"ผมเห็นอย่างหนึ่ง น้ำตาไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ" 
"ดู๋" บอกว่า นักกีฬาที่ลงแข่งในกีฬาโอลิมปิก ทุกคนแข็งแรง และสู้เต็มที่ 
แต่เมื่อพ่ายแพ้ ไม่มีใครอายที่จะร้องไห้

ผู้ชนะบางคนก็ร้องไห้ 
นักกีฬาเหล่านี้ล้วนเข้มแข็ง ทั้งร่างกายและจิตใจ
เพราะถ้าไม่เข้มแข็ง เขาคงไม่สามารถฟันฝ่าการฝึกซ้อมอย่างหนัก และต่อสู้จนได้สิทธิ์ลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกได้ 
น้ำตาที่ไหลออกมา จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ "ความอ่อนแอ" 
"ที่ชอบพูดกันว่าต้องเข้มแข็ง อย่าร้องไห้ มีแต่คนที่อ่อนแอเท่านั้นที่ร้องไห้...ไม่จริง"
คนเข้มแข็ง ร้องไห้ได้

การร้องไห้จึงเป็นเพียงแค่การระบายความรู้สึกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง 
ไม่ใช่เครื่องตัดสินว่าใครเข้มแข็งหรืออ่อนแอ

คมมาก...

ผมบอก "ดู๋" ว่า วันนี้ผมไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิกในรายการ "เจาะใจ"
แต่ผมมีเรื่องที่จะเขียนในคอลัมน์ "ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ" แล้ว 
ขอบคุณครับ "ดู๋"

อย่าร้องไห้นะ !!!



.