http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-25

เข้าใจ โดย คำ ผกา

.

เข้าใจ
โดย คำ ผกา
http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 89


มีคนตื่นเต้นกันมากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยินยอมให้นักศึกษา "ชาย" แต่ง "หญิง" เพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ ในเงื่อนไขที่ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่า "ป่วย" ซึ่งการป่วยนี้เรียกว่า "ภาวะเพศกายไม่ตรงกับเพศใจ" ทว่า เงื่อนไขของการแต่งหญิงเข้ารับปริญญาจะเหมือนกับที่ระบุในใบ สด.43 ว่าเป็น "โรควิกลจริต" หรือไม่ไม่ทราบได้ 
ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าเรายอมถูกตราหน้าว่า "ป่วย" เพียงเพื่อจะได้แต่งหญิงรับปริญญาเลยหรือ? 

เป็นราคาที่เราต้องจ่ายแพงไปหรือเปล่า?
(ไม่นับคำถามเลยเถิดไปกว่านี้การเข้ารับปริญญาสำคัญกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน-จากประสบการณ์ส่วนตัว ก็ต้องบอกว่าในบริบทแบบไทยๆ มันสำคัญมาก เพราะแม้ตัวฉันจะไม่เห็นว่ามันจำเป็น แต่แม่ของฉันเห็นว่าจำเป็น งานนี้ก็ต้องทำเพื่อแม่ไปโดยปริยาย ในฐานะที่แม่เป็นสปอนเซอร์จ่ายค่าเทอมให้เรียนจนจบ เรียกได้ว่าเป็นเงื่อนไขของเจ้าของทุนการศึกษาที่มิอาจปฏิเสธได้)

ส่วนฉันทักท้วงไปตามประสาคนขวางโลกทุกด้านขอค้านทุกมิติ (ไว้ก่อน) ว่า การได้แต่งหญิงรับปริญญาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย
ปกติ สังคมไทยยอมรับการแต่งหญิงของกะเทยอยู่แล้ว ไม่มีการเอาหินขว้างกะเทยตามถนน กะเทยสามารถแต่งหญิงไปทำงานได้บางสาขาอาชีพด้วยซ้ำไป ยกเว้น ข้าราชการหรืออาชีพที่ต้องมีเครื่องแบบ

ใช่แล้ว-ประเด็นมันน่าจะอยู่ตรงนี้ "เครื่องแบบ"


เครื่องแบบคือผลิตภัณฑ์ของโลกสมัยใหม่ที่ผลิตอุดมการณ์ว่าด้วยความเป็น "สอง" ให้กับมโนทัศน์ของพวกเรา โลกสมัยใหม่ 
แบ่งแยกพื้นที่นอกบ้านให้ผู้ชาย ในบ้านให้ผู้หญิง 
สร้างสีฟ้าให้ผู้ชาย สร้างสีชมพูให้ผู้หญิง
สร้างทรงผมยาวสลวยให้ผู้หญิง สร้างทรงผมสั้นสมาร์ทให้ผู้ชาย (ในแง่นี้ทรงผมดอกกระทุ่มของหญิงสยามจึงไม่โมเดิร์นเอาเสียเลย จน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องออกรัฐนิยมให้ไว้ผมยาว หรือตั้งชื่อผู้หญิงให้ฟังดูเป็นหญิง เช่น นารี ส่วนผู้ชายก็ต้องตั้งชื่อให้ฟังดูเป็นชาย เช่น สมชาย สมศักดิ์) 
สร้างกางเกงให้ผู้ชาย สร้างกระโปรงให้ผู้หญิง
สร้างเหตุผลไว้คู่ผู้ชาย สร้างอารมณ์ไว้คู่กับผู้หญิง
แน่นอนว่าคู่ตรงข้ามที่มีแค่สองนี้ยังรวมไปถึงคำนำหน้านามอย่าง นาย และนาง (ไม่นับของไทยที่ยังเก็บรักษา นางสาว เอาไว้ด้วย)

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงคิดไปตามประสาซื่อว่าการได้แต่งหญิงไปรับปริญญาไม่เห็นน่าตื่นเต้น 
คนที่ปฏิเสธกรอบของโลกที่มีแค่ "สอง" น่าจะขยับไปเรียกร้องเรื่องการยกเลิกกฎการบังคับให้แต่งเครื่องแบบนักศึกษาที่โดยความเป็นสมัยใหม่มันย่อมมีแค่สองเพศคือเครื่องแบบนักศึกษาชายและหญิง 
อีกทั้งขยับไปตั้งคำถามเรื่องการยกเลิกคำนำหน้านามอย่าง นาย นาง นางสาว ไปเสีย 
เพราะหากยกเลิกไปแล้วก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปว่า ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แต่คำนำหน้านามยังเป็น "นาย" อยู่
(ในอนาคตการประกวดมิสเวิลด์หรือมิสยูนิเวิร์ส อาจจะใช้ชื่ออะไรละนี่?)

เช่นเดียวกันหากยกเลิกเครื่องแบบนักศึกษา ไม่ว่านักศึกษาเพศไหนก็สามารถแต่งกายสุภาพได้อย่างมีทางเลือกมากขึ้น ใครปรารถนาอยากสวมกระโปรงก็สวม ใครปรารถนาอยากสวมกางเกงก็สวม
อีกทั้ง ความเป็นกางเกงและกระโปรงก็ไม่จำเป็นต้องเอามาเข้าคู่กันกับความเป็นหญิงและชายเท่านั้น 
กำหนดแค่ความ "สุภาพ" ของเครื่องแต่งกายตามหลักสากลก็น่าจะพอ เช่น ไม่นุ่งโสร่ง กางเกงเลหรือรองเท้าแตะไปเรียน



คิดฟุ้งซ่านต่อไปอีกว่า การยอมรับโลกนี้ไม่ได้แบ่งออกเป็นสอง ดังนั้น จุดอ้างอิงของความเป็น "เพศ" ทางสังคมจึงไม่ได้อยู่เป็นหญิงหรือชายอีกต่อไป (โปรดคิดต่อว่าปราศจากความเป็นหญิงและชาย ความเป็นเกย์ก็ย่อมอันตรธานไปด้วย ถึงวันนั้นก็เหลือแต่ "คน" ผู้มีอวัยวะทางชีวภาพที่มีหน้าที่ต่างกันเท่านั้น)

หากการต่อสู้เพื่อไปให้ถึงจุดนั้นมันไกลเกินไป เพ้อฝันเกินไป เป็นอุดมคติเกินไป ลองลดสเป๊กลงหน่อยก็ได้ว่า ถ้าอย่างนั้นการต่อสู้เพื่อสิทธิของ "เกย์" และ "เพศทางเลือก" อื่นๆ นั้นก็เพื่อคนเหล่านี้จะได้รับการยอมรับว่ามีตัวตน มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ไม่จำเป็นต้องปิดบังซ่อนเร้น อีกทั้งพึงได้รับ สิทธิ หน้าที่ ผลประโยชน์จากรัฐเฉกเดียวกับมนุษย์ หญิง-ชาย ทั่วไป 
สิทธิเหล่านี้ย่อมเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย
สิทธิของความแตกต่างหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ ศาสนา ความเชื่อ ย่อมไม่มีหลักประกันว่าจะมีที่ทางให้ปรากฏตัวในสังคมได้อย่างสง่าผ่าเผย (ดังนั้น จึงต้องแลกมาด้วยใบรับรองแพทย์ว่าป่วย)

ฉันจึงเชื่อไว้ก่อนว่าการต่อสู้ของนักศึกษาที่ต้องการแต่งกายให้ตรงกับเพศวิถีของตนเองในงานรับปริญญา ย่อมผูกพันกับการต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคมอย่างน้อยในสังคมมหาวิทยาลัยที่พวกเขาสังกัดอยู่ 
เช่น พวกเขาย่อมอยู่ในขบวนการนักศึกษาที่วิพากษ์วิจารณ์การมีอยู่ของเครื่องแบบนักศึกษา พวกเขาย่อมอยู่ในขบวนการนักศึกษาที่ต่อต้านการใช้ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย  
ฉันภาวนาให้เป็นเช่นนั้น


เช่นเดียวกับการต่อสู้ของกลุ่ม LGBT ในสังคมไทยที่กำลังผลักดันให้รัฐรับรองการใช้ชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกันโดยมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งยังพยายามนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศที่เป็นร่างคู่ขนานกับร่างที่กำลังเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา
เนื่องจากฉบับที่ร่างโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาตรา 3 ระบุว่า "การไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่เป็น ชาย หรือ หญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ยกเว้น มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา และเพื่อประโยชน์สาธารณะ"
คงไม่ต้องขยายความหากมีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุผลทางวิชาการ ศาสนา และเพื่อประโยชน์สาธารณะ-เช่น ไม่รับเกย์ กะเทย ไบเซ็กช่วล เลสเบี้ยน ทอม ดี้ เป็นครูหรืออาจารย์ด้วยเหตุผลทางวิชาการเกรงจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ลูกศิษย์
มีข้อยกเว้นครอบจักรวาลปานนี้ จะเรียก พ.ร.บ. นี้ว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยความการส่งเสริม โอกาสและความเสมอภาคทางเพศหรือไม่?

การต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBT ยังต้องการความเข้าใจจากสังคมอีกมาก เช่น การรับรองทางกฎหมายของชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกัน ย่อมมีผลต่อสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับ ภาษี มรดก โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ การรักษาพยาบาล สิทธิในการครอบครองสินทรัพย์ร่วมกัน สิทธิในการขอสิทธิการรับบุตรบุญธรรมอันล้วนแต่ไกลจากเรื่องโรแมนติก

ทว่าภาพของการเรียกร้องสิทธิของการใช้ชิวิตคู่โดยมีกฎหมายรองรับกลับถูกนำเสนอโดยภาพ "แต่งงาน" มากกว่าประเด็นที่ไร้ความโรแมนติก (แต่จริงและจำเป็นมากกว่า) เราจึงเห็นการโพสต์ภาพคู่แต่งงานหญิง-หญิง, ชาย-ชาย ในรูปแบบเดียวกันกับภาพถ่าย wedding studio ของคู่รักในฝันตามแบบฉบับ สูทสำหรับ "ชาย" และ ชุดแต่งงานสีขาวฟูฟ่องล่องลอยสำหรับ "หญิง" 
ประเด็นสิทธิผลประโยชน์ ที่สำคัญจึงถูกกลบเกลื่อนด้วยความโรแมนติกไปเสีย 

ไม่นับคำถามว่า แล้ว "เกย์" ที่ไม่สมาทานรักโรแมนติกและอุดมคติของครอบครัวผัวเดียวเมียเดียวจะถูกถีบให้ตกขอบกลายเป็นเกย์สำส่อน ไม่รักดีในสายตาของเกย์ที่อยู่ในกรอบประเพณีอันดีงามแบบวิกตอเรียนหรือไม่?


มาถึงขั้นนี้แล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่ตัวฉันเองต้องตั้งคำถามที่อาจจะเลยเถิดจนแทบกู่ไม่กลับว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วสังคมไทยมีวัฒนธรรม "เกย์" เข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน

หรือเอาเข้าจริงๆ สังคมไทยเต็มไปด้วย straight?
กะเทยที่อยากเป็นผู้หญิง อยากแต่งตัวเหมือนผู้หญิง อยากผมยาว ผอม ปากเจ่อ นมโต อยากแต่งชุดนักศึกษาหญิงเป๊ะ อยากแต่งงานกับผู้ชายดีๆ ที่รักเธอจริง อยากสร้างครอบครัวอบอุ่น-เธอคือ straight
ทอม-ดี้ ที่ถ่ายรูปpre wedding โรแมนติกถอดแบบมาจากคู่รัก ชาย-หญิง เป๊ะ เขาเหล่านี้เป็นเกย์หรือเป็น straight?

เพศสถานะที่ใกล้เคียงกับความเป็นเกย์มากที่สุดในที่นี้น่าจะเป็นคู่เกย์ ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง แต่หากเขาเหล่านั้นเป็นเกย์ที่ conform อัตลักษณ์ของตนเข้ากับความเป็นไทย เป็นพุทธ รังเกียจคนนอกศาสนา รังเกียจโสเภณี สนับสนุนการรัฐประหาร เห็นคนจน -โง่ เป็นเหยื่อนักการเมือง เคร่งครัดในศีลธรรมทางเพศ ท่องคาถาการพาสเจอร์ไรซ์สังคมและสถาบันครอบครัว ต่อต้านการทำแท้ง เกลียดนิติราษฎร์
-การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกันของเกย์ที่ศิโรราบต่ออุดมการณ์แห่งความเป็น "ไทย"
เช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับสิทธิที่พวกเขากำลังเรียกร้องอยู่หรือไม่?



ย้อนกลับไปที่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่จะ "แต่งหญิง" เพื่อเข้ารับ "พระราชทานปริญญาบัตร" 
สำหรับฉันหากมองว่ามันเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของการดำรงอยู่ของเพศทางเลือกมันย่อมเป็นความย้อนแย้งอย่างหาที่สุดไม่ได้

เว้นแต่เราจะเห็นมันเป็นการต่อสู้ของความเป็น straight ที่ถูกเบียดขับออกมาเพราะความ "พิกล" บางอย่าง
แล้วพยายามส่งเสียงเพื่อให้ถูกโอบอุ้มเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของของกลุ่ม straight ที่ถือครองอำนาจนำอยู่เท่านั้น

เห็นดังนี้แล้วจึงเข้าใจว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิหรือความหลากหลายทางเพศใดๆ ทั้งสิ้น



.