อีกบทความ - “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” สร้างหมู่บ้านกระสุนตก กับคำ(โกหกสีขาว) โดย การ์ตอง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
white lies ! |
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:30:53 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 หน้า 2 )
"ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับอนุญาตให้พูดจาไม่จริงได้ในบางเรื่อง ในทางสากลก็รู้ว่าลักษณะแบบนี้เรียกว่า white lies"
เป็นคำอธิบายแบบซื่อ-ซื่อของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงการขยายตัวของการส่งออก ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 15%
แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำนายว่าจะขยายตัวได้เพียง 7.3%
ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้
"กิตติรัตน์" บอกว่าเขาเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เขาจึงต้อง white lies หรือ "โกหกสีขาว"
โกหกด้วยเจตนาดี
ถ้าเป็นบริษัทส่วนตัว วิธีการของ "กิตติรัตน์" ถูกต้อง
ไม่ยอมลดเป้าหมาย เพื่อดันให้พนักงานทำงานให้เต็มกำลัง
ตั้งเป้าไว้ 15 ถ้าเศรษฐกิจแย่ลูกน้องขอลดเป้ายอดขายเหลือ 5
เจ้าของบริษัทยังกำหนดเป้าเท่าเดิม และพยายามดันเต็มกำลัง
สุดท้ายอาจจะไม่ได้ 15 แต่ต้องเกิน 5 อย่างแน่นอน
จะเป็น 7 หรือ 10 ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ
แต่เมื่อมาเป็น "แม่ทัพเศรษฐกิจ" ที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและภาคเอกชนทั้งประเทศ
วิธีการเดิมที่เคยใช้ในภาคเอกชนต้องนำมาปรับให้เหมาะสม
เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง
ในทางการเมือง การยอมรับว่าตั้งใจ white lies หรือการโกหกด้วยความปรารถนาดี ถือเป็น "ความผิดพลาด" ของ "กิตติรัตน์"
เพราะมีผลต่อ "ความเชื่อมั่น"
เหมือนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ถูก"แบงก์ชาติ" ดันหลังให้ออกมาโกหกว่า "ไม่ลดค่าเงินบาท" อย่างแน่นอน
พูดแค่ 1-2 วัน รัฐบาลก็ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ไม่แปลกที่เขาจะถูกพรรคฝ่ายค้านถล่มอย่างหนักในประเด็นนี้
และคงถูกนำไปล้อเลียนในการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน
ต่อไป "กิตติรัตน์" คงถูกตั้งคำถามทุกครั้งเวลาที่ประกาศเป้าหมายการทำงาน หรืออธิบายเรื่องเศรษฐกิจ
"โกหก" อีกหรือเปล่า
นี่คือ สิ่งที่ "กิตติรัตน์" ต้องเผชิญ
"กิตติรัตน์" คงต้องเรียนรู้หลักการใช้ "ภาษาการเมือง" ในการบริหาร
จะบอก "ความจริง" อย่างไรโดยที่ไม่ต้อง "โกหก"
เป็นศิลปะที่ "กิตติรัตน์" ต้องเรียนรู้
เพราะคำว่า "ความเชื่อมั่น" ไม่ได้มาจากคำพูดที่ปลุกขวัญ สร้างกำลังใจเพียงอย่างเดียว
แต่มาจาก "ผลงาน" ที่เป็นไปตามที่ประกาศไว้
พูดอย่างไร ทำได้อย่างนั้น
นี่คือ "ความเชื่อมั่น" ที่แท้จริง
+++
and b l u e l i e s |
โดย การ์ตอง
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:05:29 น.
(ที่มา คอลัมน์โครงร่างตำนานคน นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555 )
ช่วงเปิดสมัยประชุมสภา และเป็นวาระที่ฝ่ายค้านต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกมการเมืองเหมือนการทำสงคราม แต่ละฝ่ายต่างหาเหลี่ยมหามุมที่จะรุกคู่ต่อสู้ทุกรูปแบบ พร้อมๆ กับพยายามปิดจุดอ่อนของฝ่ายตัวไม่เปิดเรื่องให้เป็นประเด็นถูกโจมตี
แค่เตรียมรับมือที่ฝ่ายตรงกันข้ามจะขุดคุ้ยมาเปิดโปงก็เหนื่อยหนัก
ยิ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล นอกจากจะถนอมตัวเองไว้ในมุมที่ปลอดภัย ยังต้องหาทางปกป้องนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับรู้กันอยู่ว่าเป็นเป้าหมายใหญ่ของฝ่ายค้าน
ใครต่อใครพยายามเซฟตัวเองด้วยการระมัดระวังที่จะไม่เปิดทางให้ตัวเองเป็นเป้ากระสุน
ทว่า มีคนหนึ่งแอ่นอกออกมารับการเป็นเป้าถล่มอย่างท้าทายยิ่ง
"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" จู่ๆ ก็เปิดประเด็น "โกหกสีขาว"
"การบอกว่าไทยจะส่งออกได้ 15% ทั้งๆ ที่ทำไม่ได้ ก็เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งถ้าหากพูดความจริงว่าการส่งออกของไทยจะทำได้ไม่ถึง 15% จะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนมีปัญหาได้ เรื่องของเศรษฐกิจ บางครั้งก็ไม่จำเป็นที่ต้องพูดเรื่องจริงทั้งหมดก็ได้ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า White lie ที่แปลว่า โกหกสีขาว"
แม้จะฟังดูเหมือนเจตนาดี
แต่นั่นเป็นการเปิดหน้าแถมชูคอออกไปเป็นเป้าให้ฝ่ายค้านเลือกจะสอยแบบไม่มีทางสวนคืนได้
"โกหกสีขาว" ฟังดูดี แต่นั่นจะใช้ได้เฉพาะเรื่องที่มีได้มีเสีย อย่างเช่นลดค่าเงินบาท
การเติบโตของตัวเลขส่งออกไม่ใช่แค่เรื่องที่ไม่ได้เสียเท่านั้น แต่การคาดการณ์ที่ผิดพลาดย่อมทำให้การวางแผนบริหารประเทศ หรืออื่นๆ ผิดพลาดไปด้วย
สรุปว่า โกหกเรื่องแบบนี้ เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาคุยอวด ควรจะหาทางแก้ตัวให้เนียนมากกว่า อย่างเช่น เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ แต่มีตัวแปรอื่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเกินจินตนาการจึงทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย
การโกหกในเรื่องไม่สมควร แถมด้วยเจตนาที่จะโกหก ไม่ว่าจะเป็นโกหกสีอะไร สิ่งที่ตามมาคือต่อแต่นี้คนจะไม่เชื่อถือคำพูด เพราะไม่รู้ว่าที่พูดออกไปเป็นเรื่องโกหกอีกหรือไม่
และในยามสงครามเช่นนี้ เป็นเรื่องง่ายอย่างยิ่งที่จะถูกฝ่ายค้านสร้างภาพให้เป็น "เด็กเลี้ยงแกะ"
เสียหายใหญ่หลวงต่อการปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลเศรษฐกิจของประเทศ
โดยส่วนตัว "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" มีแต่เป็นเป้าให้ฝ่ายค้านทุกคนหันปลายกระบอกเข้าใส่อย่างฮาเฮ เพราะแทบไม่มีทางแก้ตัว
แต่โดยส่วนรวมของรัฐบาล ช็อตนี้ของ "กิตติรัตน์" เป็นการเปลี่ยนเป้าของฝ่ายค้าน จากไล่ล่าหาประเด็นถล่มนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อย่างได้ผล อย่างน้อยระยะหนึ่ง
ในยามสงครามการเมือง บทนี้ของ "กิตติรัตน์" ช่วยให้รัฐมนตรีทุกคนพ้นจากวิถีกระสุนไประยะหนึ่ง
.