http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-22

หญ้าหมอน้อย ยาเลิกบุหรี่ฯ, หมากเขียบหลอด ยาปฏิชีวนะประจำสวน

.

หญ้าหมอน้อย ยาเลิกบุหรี่และยาไม่ต้องย่าง?
คอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ( มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org )
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 93


หญ้าหมอน้อย เรียกอีกชื่อว่า หญ้าดอกขาว เป็นยาอดบุหรี่จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ต่อมา โรงพยาบาลได้สานต่อจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่สมุนไพรชนิดนี้ยังมีสรรพคุณอีกมากมายจนเป็นที่มาของหญ้าหมอน้อย

ย้อนไปในอดีต ประสบการณ์ชาวบ้านใช้หญ้าหมอน้อยแก้อาการติดบุหรี่ เพราะกินแล้วจะทำให้เหม็นบุหรี่และไม่อยากสูบอีก ในปี 2531 โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ปัจจุบันคือมูลนิธิสุขภาพไทย) ได้นำประสบการณ์การใช้หญ้าดอกขาวนี้มาเผยแพร่ จนได้รับความสนใจอย่างมาก 
ต่อมาในปี 2537 โครงการสมุนไพรฯ ได้หาทุนสนับสนุนการวิจัยให้ ภญ.ฉวีวรรณ ม่วงน้อย (ดวงจร) หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พบว่าหญ้าดอกขาวสามารถลดการสูบบุหรี่ลงได้ รายงานนี้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งนำหญ้าดอกขาวไปใช้กันอย่างแพร่หลาย
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาสมัยใหม่ครั้งแรกของโลก เกี่ยวกับการใช้หญ้าดอกขาวเพื่อลดความอยากบุหรี่

ต่อมาในปี 2547 มีการจดสิทธิบัตรในอเมริกาโดยนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ใช้สารสกัดหญ้าดอกขาวใส่ในก้นกรองบุหรี่เพื่อลดความอยากสูบบุหรี่  ต่อมาในเมืองไทยมีการศึกษาของ รศ.ดร.ภก.ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ และคณะในปี 2552 ได้ทำการทดลองใช้หญ้าดอกขาวในกลุ่มคนที่ติดบุหรี่ โดยใช้ในรูปแบบของชาชงของหญ้าหมอน้อย ครั้ง 3 กรัม วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร พบว่าสามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้
ผลการวิจัยระบุด้วยว่า การใช้หญ้าดอกขาวทำให้สมรรถภาพทางกายดีขึ้น เลือดจะมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่คั่งค้างในปอดลดลงอย่างชัดเจน 
ที่สำคัญคือ ผลข้างเคียงในการเลิกบุหรี่ เช่น กระวนกระวาย สมาธิแปรปรวนหรือหงุดหงิดจะมีน้อยมาก 
ผลการศึกษานี้ทำให้หวนนึกถึงคำของ คุณตาส่วน สีมะพริก หมอพื้นบ้านท่านหนึ่งที่บอกว่า หญ้าหมอน้อยเป็นยาล้างปอด


ปัจจุบันชาชงหญ้าดอกขาว เป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 ระบุข้อบางใช้ ลดความอยากบุหรี่ ใช้ขนาด 2 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ขนาด 120-200 มิลลิลิตร) กินหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง 
หญ้าหมอน้อย ยังเป็นยาสมุนไพรมากกว่ายาลดความอยากบุหรี่ หญ้าหมอน้อยใช้แก้อักเสบ แก้ปวดเมื่อยที่ชาวบ้านรู้จักดี จนเป็นที่มาของชื่อ "ยาไม่ต้องย่าง" ซึ่งในวัฒนธรรมอีสานใครตกต้นไม้ ควายชน รถชน จะต้องนำผู้ป่วยไปนอนย่างไฟกับสมุนไพรต่างๆ เพื่อให้เลือดกระจายตัว มิเช่นนั้นจะมีเลือดคั่งค้าง ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง และเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมา
แต่ยายผาด ชิดทิด หมอยาเมืองเลย บอกว่ามีสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "ยาไม่ต้องย่าง" ซึ่งเมื่อต้มกินแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องย่าง คือต้มหญ้าดอกขาวกินนั่นเอง 

หญ้าหมอน้อย ยังเป็นยาแก้ไข้ที่ใกล้มือที่สุด ที่เรียกเช่นนี้เพราะต้นหญ้าดอกขาวหรือหญ้าหมอน้อย คือพืชล้มลุกที่ขึ้นได้ทั่วไป 
ในสนามหญ้าหน้าฝนเช่นนี้ก็พบเห็นหญ้าดอกขาวเติบโตไปทั่ว ผู้ที่ไม่รู้ว่านี่คือยาดีก็คิดว่า คือวัชพืชรำคาญใจ หญ้าหมอน้อยเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง เป็นสัน มีขน สูง 20-50 ซ.ม. 
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ขอบขนานหรือใบหอก กว้าง 1-3 ซ.ม. ยาว 1-8 ซ.ม. มีขนทั้งสองด้าน ดอก ช่อ ออกเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Vernonia cinerea (L.) Less. อยู่ในชื่อวงศ์ COMPOSITAE มีชื่ออื่นๆ ชื่อท้องถิ่น เช่น หญ้าสามวัน หญ้าละออง เสือสามขา ฝรั่งโคก ถั่วแฮะดิน ก้านธูป เซียวซัวเถา 

นอกจากแก้ไข้ทั่วไปแล้ว หญ้าหมอน้อยยังใช้ได้ตั้งแต่ไข้ทับระดู ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย และเป็นยาล้างปอดที่ดี ใช้ได้กับอาการไอ เจ็บคอ หอบ บรรดาอาการปวดทั้งหลายก็ใช้หญ้าหมอน้อยได้ ทั้งปวดท้อง โรคกระเพาะ ปวดเมื่อย ปวดข้อ 
ที่สำคัญคือใช้แก้ โรคเลือดสูง (ความดันโลหิตสูง) ปัสสาวะขัด รวมถึงบรรเทาอาการเบาหวานได้ ขอให้ตากต้นหญ้าหมอน้อยเก็บไว้ชงน้ำกินประจำ
หญ้าหมอน้อยยังใช้เป็นยาภายนอก นำใบมาล้างแล้วตำเป็นยารักษาแผลกลาย ฝีหนอง งูสวัด ได้ดีอย่างหนึ่งด้วย



ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของหญ้าหมอน้อยมากมาย พบสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เช่น ขับปัสสาวะ ป้องกันไม่ให้ไตถูกทำลาย ต้านแบคทีเรีย ต้านมาลาเรีย ลดไข้ แก้ปวด แก้อักเสบ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านการเกิดแผล ต้านเบาหวาน ต้านการกระจายของมะเร็ง ต้านไม่ให้รังสีแกมมาทำลายเซลล์ เป็นต้น 
ผลการวิจัยเหล่านี้ได้ยืนยันตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของความเป็นหมอน้อยของสมุนไพรต้นนี้ได้เป็นอย่างดี 
หญ้าหมอน้อย มีสรรพคุณมากมาย ที่สำคัญเป็นสมุนไพรที่ต้มกินง่าย รสชาติดีเยี่ยม ดีกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ เหมาะจะเป็นชาของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และเหมาะกับสังคมเมืองที่เมื่อยขบปวดโน่นปวดนี่ ดื่มแล้วสบายตัว

เพื่อให้สอดรับกับงานระดับชาติทุกปี จึงชวนทุกท่านมาชิมชาหญ้าหมอน้อย อร่อยๆ ดื่มฟรีได้ที่ ซุ้มใหญ่ๆ ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และซุ้มๆ เล็กๆ ที่มูลนิธิสุขภาพไทย ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 9

ปีนี้ชูเรื่อง "นวดไทย มรดกไทย มรดกโลก" ในวันที่ 5-9 กันยายน 2555 อิมแพค เมืองทองธานี



++

หมากเขียบหลอด ยาปฏิชีวนะประจำสวน
คอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ( มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org )
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 93


เมื่อได้มีโอกาสไปทำการศึกษาการปลูกไม้ของคนในชนบท พบว่าชาวบ้านจำนวนมากที่พอมีที่ทางก็จะปลูกไม้ไว้รอบบ้านเสมอ 
ชาวบ้านเขามีภูมิจึงปลูกเพื่อเป็นเครื่องปรุงหรือเครื่องเทศในอาหาร เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ หอมบั่ว หอมแบ่ง
ปลูกเอาไว้เป็นสมุนไพร เช่น หมากเขียบ ทับทิม กาว ปลูกไว้ใช้ในพิธีกรรม เช่น จินายก้อม (แสยก) ลิ้นเสือ งาช้าง เปราะหอม อินทวา (พุดซ้อน) 
และปลูกเพื่อความเพลิดเพลิน ช่วยคลายเครียด เช่น กุหลาบ โป๊ยเซียน บอนสีต่างๆ

ขอยกตัวอย่าง หมากเขียบ ที่เรียกอย่างอีสาน แต่ภาคกลางเรียกว่า น้อยหน่า ซึ่งเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวอีสานในชนบทนิยมปลูกกันเกือบทุกบ้าน พอเดินทางไปภาคเหนือก็พบเห็นในรั้วบ้านเช่นกัน 
ตอนแรกที่เห็นเข้าใจไปเองว่า คงปลูกไว้เพื่อเอาผลมากินแบบผลไม้ แต่เมื่อพูดคุยเจาะลึกกับคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลูกไว้เพื่อทำยา 
เนื่องจากในอดีตคนในชนบทเข้าถึงยาปฏิชีวนะไม่ง่ายนัก ยามเป็นฝีหนองที่เกิดขึ้นบ่อยๆ นั้น ก็ได้น้อยหน่าเป็นยาในการพึ่งพาตนเอง 
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าไม่มียาดีฝีหนองที่เป็นก็อาจลุกลาม 
ภูมิปัญญาดั้งเดิมจึงสอนให้ชาวบ้านมีประสบการณ์ในการใช้หมากเขียบหลอด นำมาฝนทารักษาฝีหนอง นี่เอง 

นอกจากนี้ ในตอนแรกยังเข้าใจว่า หมากเขียบหลอดกับน้อยหน่าตายพรายเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งหมายถึงน้อยหน่าที่ยังไม่โตเต็มที่แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นสีดำแห้งแข็งคากิ่ง 
แต่หมอพื้นบ้านสอนคนจบปริญญาว่า หมากเขียบหลอด หมายถึงน้อยหน่าที่มีผลขนาดปลายก้อยจนถึงขนาดนิ้วโป้งที่แห้งแข็งและเป็นสีดำเท่านั้น ถ้าขนาดใหญ่กว่านั้นไม่เรียกว่าหมากเขียบหลอด 
ผลหมากเขียบหลอดนี้คนอีสานเก็บไว้ใช้ฝนกับน้ำสะอาดทาแก้ฝี ทำให้หัวฝีสุกเร็วและคัดฝีให้แตก แม้ว่าฝีจะอยู่ลึกก็สามารถดูดเอาหัวฝีขึ้นมาได้



พอได้ศึกษามากขึ้นพบว่า หมากเขียบหรือน้อยหน่า เป็นพืชสมุนไพรที่น่าสนใจมาก แต่ขอแนะนำข้อมูลพื้นฐานของสมุนไพรชนิดนี้เสียก่อน ชื่อว่า น้อยหน่า น่าจะเป็นคำที่เพี้ยนมาจากชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ซึ่งเรียกว่า Annona squamosal L. อยู่ในวงศ์ : Anonaceae 
ส่วนภาษาอีสานที่เรียกว่า "หมากเขียบ" หรือ "บักเขียบ" น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "แขบ" ที่แปลว่าห่อหุ้ม ตามลักษณะของผลที่มีเปลือกหุ้มแบบพิเศษ  
น้อยหน่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ คาดว่านำเข้ามาปลูกในประเทศไทยยังไม่ถึง 100 ปีมานี้ 
น้อยน่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึงประมาณ 8 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นก้านเล็กๆ แต่กิ่งก้านกิ่งเปราะ เด็กในเมืองอาจไม่ค่อยรู้จักต้น รู้แต่ผลมีผิวขรุขระเป็นร่องๆ เมล็ดสีดำอมน้ำตาล มีเนื้อสีขาวค่อนข้างแข็ง ผิวมัน เนื้อที่หุ้มเมล็ดนิ่ม และมีรสหอมหวาน
น้อยหน่า ที่ปลูกอยู่ตามพื้นบ้านมักมีผลขนาดไม่ใหญ่มากนัก นอกจากกินเป็นผลไม้แล้ว ภูมิปัญญาไทยยังใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรหลายตำรับ
เช่น ผล นำมาใช้ได้ทั้งผลสดที่ยังไม่สุกและผลแห้ง (หมากเขียบหลอด) ถ้าเป็นผลสดที่ยังไม่สุกจะเป็นยาแก้พิษงู แก้ฝีในคอ กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิ ผิวหนัง ส่วนหมากเขียบหลอด (ผลแห้ง) ใช้เข้ายาแก้งูสวัด เริม แก้ฝีในหู
เปลือกผล เป็นยาฆ่าพยาธิตัวจี๊ด ฆ่าเหา และแก้บวม
ราก เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน และแก้พิษงู ถอนพิษเบื่อเมา
ใบ รู้จักกันดีในหมู่ครูที่ต้องดูแลเด็กเล็กที่เป็นเหา ใช้ใบกำจัดเหาได้ ขับพยาธิลำไส้ แก้หิด แก้กลากเกลื้อน และแก้ฟกบวม
เปลือกต้น เป็นยาสมานลำไส้ สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้พิษงู แก้รำมะนาด ยาฝาดสมาน


ตัวอย่างในการใช้ใบน้อยหน่าแก้เหา นำใบน้อยหน่าประมาณ 3-4 ใบมาบดหรือตำให้ ละเอียดแล้วคลุกกับเหล้า 28 ดีกรี คลุกให้เคล้ากันจนได้กลิ่นน้อยหน่า แล้วนำมาทาหัวให้ทั่ว เอาผ้าคลุมไว้สัก 10-30 นาที และเอาผ้าออกใช้หวีสาง เหาก็ตกลงมาทันที

หรือใช้ใบสด 1 กำมือ ตำคั้นเอาแต่น้ำทาที่ผมเลยก็ได้ ใช้ผ้าคลุมไว้สัก 30 นาทีเช่นกัน หรือใช้เมล็ดน้อยหน่าสัก 1 กำมือ ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมะพร้าว ในสัดส่วน 1 ต่อ 2 กรองเอาแต่น้ำ ทาขยี้ให้ทั่วศีรษะใช้ผ้าคลุมโพกไว้ ใช้หวีสางเหาออก สระผมให้สะอาด

ข้อควรระวัง อย่าให้น้ำคั้นหรือน้ำยาเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบได้

น้ำคั้นใบน้อยหน่ายังใช้เป็นยาแก้กลากเลื้อนได้ และในวงการเกษตรธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยังใช้ใบและเมล็ดน้อยหน่าเป็นสมุนไพรกำจัดแมลงที่ไม่ต้องการหลายชนิด ซึ่งมีการวิจัยรองรับว่า ใบและเมล็ดมีสารอัลคาลอยด์ ชื่อ อะโนนาอีน (anonaine, 1-benzyl-isoquinoline, bisbenzl-isoquinoline) ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง

ในส่วนของเมล็ดมีสารที่เป็นพิษทางประสาทสัมผัสและทางกระเพาะอาหารของแมลง สามารถใช้เป็นสารฆ่าหรือขับไล่แมลง ซึ่งสารพิษนั้นจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของกระเพาะอาการของแมลง โดยเฉพาะ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ย หอย หนอนกระทู้ หนอนใยผัก ด้วงเต่าทอง แมลงวันทอง ตั๊กแตน และ มวนต่างๆ ได้ด้วย

นอกจากนี้ ในเมล็ดยังมีสารที่ไปยับยั้งการตกไข่และทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ จึงต้องใช้เมล็ดน้อยหน่าอย่างระมัดระวัง

การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์อินเดีย พบว่าเนื้อจากเมล็ดน้อยหน่าแนวโน้มสามารถลดน้ำตาลในเลือดหนูที่ทำให้เป็นเบาหวานได้ และพบการใช้ประโยชน์ในต่างประเทศอีกว่า ใช้เปลือกลำต้นเป็นยาหยุดอาการท้องเสีย ใช้รากรักษาอาการบิดมีตัว น้ำสกัดจากใบใช้รักษาหวัดและทำให้ปัสสาวะใส

ที่ต้องเน้นและเป็นความรู้ให้ศึกษาต่อจากภูมิปัญญาชาวบ้านคือ หมากเขียบหลอดเกิดจากการที่ผลน้อยหน่าติดเชื้อราชนิด Colletotrichum annonicola จึงแห้งดำคาต้น 
ดังนั้น จึงควรมีงานวิจัยสนับสนุนว่าส่วนที่เป็นสรรพคุณยาสมุนไพรในหมากเขียบหลอด เพราะผลน้อยหน่าหรือเพราะเชื้อราที่เจริญบนผล หรือทั้งสองชนิดทำงานร่วมกัน

แต่แม้ยังไม่รู้ว่ากลไกเป็นอย่างไร ชาวบ้านเขาฉลาดนำมาใช้แก้ฝีหนองได้ชะงัด



.