http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-12

พุทธทาสกับปัญหา“คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : พุทธทาสกับปัญหา “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง”
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:30:45 น.


เห็นเพื่อนเสรีชนหลายคนนำ “วรรคทอง” ของท่านพุทธทาสที่ว่า “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” ตามภาพข้างล่างนี้มาแชร์กันในเฟซบุ๊ก และวิจารณ์กันไปต่างๆ นานา
ผมเองเคารพคำวิจารณ์เหล่านั้น และท่านพุทธทาสก็เคยยืนยันด้วยว่าพระสงฆ์และพุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ แต่ระยะหลังมานี้มีการนำคำพูดของท่านพุทธทาสไปใช้ในทางการเมืองกันมาก ไม่ว่าจะเป็น “เผด็จการโดยธรรม” หรือ “ประชาธิปไตยประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่” ซึ่งความหมายที่นำไปอ้างนั้นล้วนแต่เป็นไปในทางสนับสนุนให้เข้าใจกันว่า มีอะไรบางอย่างที่อยู่เหนืออำนาจของประชาชน ไม่ว่าอะไรบางอย่างนั้นจะเรียกว่า “ธรรมะ” “คนดี” หรือ “คุณธรรมจริยธรรม” ก็ตาม ทำให้บรรดาเสรีชนรับไม่ได้โดยเด็ดขาดกับการอ้างอะไรที่เหนือกว่าอำนาจของประชาชน หรือความเป็นประชาธิปไตย ท่านพุทธทาสก็เลยเสมือนกลายเป็น “จำเลย” ท่ามกลางฝุ่นควันของความขัดแย้งทางการเมืองไปโดยปริยาย


สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเอียนคำว่า “คนดี” “ธรรมะ” หรือ “คุณธรรมจริยธรรม” กันมากในปัจจุบัน ก็เพราะในความขัดแย้งกว่า 6 ปีมานี้ มีกระบวนการอ้างคนดีอ้างธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมเพื่อให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยโดยทหารและตุลาการภิวัฒน์ โดยเฉพาะคนดีในความหมายที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นำมาตอกย้ำบ่อยๆ คือคนที่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กตัญญูต่อแผ่นดินเป็นต้นนั้น ดูเหมือนจะมีความหมายตรงกันข้ามกับคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งการเปรียบเทียบความดีงามไร้ที่ติของบุคคลในระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้กับนักการเมืองที่ด่าได้ วิจารณ์ตรวจสอบได้ว่าเลวอย่างไร้ที่ติด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรามองย้อนหลังไปในอดีต 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยแล้ว ยิ่งพบว่า สาเหตุสำคัญของความไม่เป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหาสาระเสียทีก็คือ การอ้างคนดี อ้างธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมที่เป็นการเน้นความสำคัญของ “ตัวบุคคล” เหนือกว่า “ระบบ” หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยนี่เอง


ไม่น่าเชื่อว่า แม้จนวันนี้การตอกย้ำให้เห็นปัญหา “ตัวบุคคล” มากกว่า “ระบบ” ยังดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง ดังคำพูดของ นพ.เกษม วัฒนชัย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมนี้ว่า “นักวิทยาศาสตร์การแพทย์น่าจะทำการวิจัยหายีนที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชันในตัวนักการเมือง จะได้ทำการตัดยีนทิ้ง
กลายเป็นว่ามีกระบวนการอ้างศาสนา อ้างธรรมะ หรือคนดี คุณธรรมจริยธรรมเพื่อจะเปรียบเทียบว่าอำมาตย์ดีนักการเมืองเลว และเลยเถิดไปถึงการอ้างวิทยาศาสตร์ อ้างความคิดเรื่องยีนเพื่อตอกย้ำว่านักการเมืองเลว นี่คือการสร้างมายาคติว่า ในทางศาสนานักการเมือง “เลวโดยจิตสันดาน” ในทางวิทยาศาสตร์นักการเมือง “เลวโดยยีน”
หากหมอเกษมคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเชื่อในข้อเสนอเชิงวิทยาศาสตร์ของตนเองจริงๆ ก็ควรเสนอให้วิจัยยีนของคนทุกชนชั้น แต่ผมคิดว่าเขาไม่ได้มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรอกครับ เพราะคนที่คิดเป็นวิทยาศาสตร์ย่อมยืนความจริงที่พิสูจน์ได้และยืนยันเสรีภาพในการพิสูจน์ความจริง เขาต้องเสนอให้บุคคลสาธารณะทุกคนอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน



ด้วยปรากฏการณ์ที่ว่ามา เราจึงไม่อาจนำการอ้างศาสนา อ้างคนดี ธรรมะ คุณธรรมจริยธรรม กระทั่งการอ้างยีนคอร์รัปชันในตัวนักการเมืองตามที่อ้างกันอย่างมีอคติข้างต้นมาตัดสิน “ความคิด” เกี่ยวกับคนดี หรือธรรมะตามความหมายของท่านพุทธทาส หรือสรุปว่าคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญได้อย่างสมเหตุสมผลนัก เพราะที่จริงแล้ว ความหมายของคนดี ธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมตามที่ท่านพุทธทาสเสนอนั้นย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่พลเอกเปรม พันธมิตร และเครือข่ายอำมาตย์เสนอ

คำว่า “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” นั้น ปรากฏในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ของท่านพุทธทาส ความหมายของคนดีที่ท่านพูดนี้ถอดออกมาจากความคิดเรื่อง “พระโพธิสัตว์” ที่มีคุณลักษณะสำคัญ คือเป็น “ผู้ตั้งมั่นในปณิธานช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์” ตรงกับพุทธพจน์ที่ว่า “สัตบุรุษ(คนดี) เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของครอบครัว วงศ์ตระกูล และมวลมนุษย์ทั้งหลาย
พูดง่ายๆ ว่า คนดีในความหมายของพุทธศาสนา คือผู้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ หรือเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน เรื่องราวของคนดีแบบพระโพธิสัตว์จึงเป็นเรื่องราวของผู้ทุ่มเทศักยภาพทางปัญญาและกรุณาที่มีในตนปกป้องความเป็นธรรมและความผาสุกของผองชน
คนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้จริงๆ ย่อมเป็นคนที่มีคุณค่าทุกยุคสมัย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่นับถือศาสนาอะไร หรือกระทั่งเป็นคนไม่มีศาสนาก็ตาม

หากพูดอย่างจำเพาะ มุมมองเช่นนี้น่าจะสอดคล้องกับบริบทสังคมวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่บทบาทของ “บุคคล” มีความสำคัญมากต่อประโยชน์สุขของสังคม เช่น ในทางบ้านเมืองพระราชาที่เป็นคนดีมีคุณธรรมสำคัญต่อความผาสุกของนครรัฐต่างๆ ในทางศีลธรรมและจิตวิญญาณพระศาสดาที่เป็นอรหันต์มีบทบาทสำคัญในฐานะคุรุทางศีลธรรมและจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน แต่หากมองกว้างออกไปจะเห็นว่า โลกยุคก่อนล้วนให้ความสำคัญกับ “บุคคลในอุดมคติ” หรือบุคคลที่เป็นแบบอย่างอันดีเลิศที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปทำความดีตาม เช่น โลกเรามีคนอย่างพุทธะ เล่าจื้อ ขงจื้อ โสเครตีส โมเสส พระเยซู แม่ชีเทเรซ่า มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มหาตมะ คานธี เป็นต้น ที่เป็นแรงบันดาลใจทางมโนธรรมและศีลธรรมให้เราตระหนักในศักยภาพและคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างไม่สิ้นสุด


ปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่คนดีทั้งในความหมายของคนที่มีคุณธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกัน คนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องคุณธรรมเชิงสังคม แม้กระทั่งผู้แสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณก็ยังมีความสำคัญและน่าเคารพ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมอ่านข่าวทางมติชนออนไลน์พบว่า มีหญิงสาวคนหนึ่งเห็นมารดาวัย 80 ปี ถูกต่อหัวเสือรุมต่อย เธอตัดสินใจใช้ร่างกายของตนเองทับร่างของแม่ไว้ ในที่สุดแม่วัย 80ปีรอดชีวิต แต่เธอต้องตาย ผมคิดว่าคนดีที่พร้อมสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องผู้มีพระคุณมีอยู่จริงในโลกทุกยุคสมัย เพียงแต่เขาอาจไม่ถูกยกย่องว่าเป็น “พระโพธิสัตว์” เพราะเรื่องราวของพวกเขาไม่ได้จารึกใน “นิทานชาดก” แต่คุณธรรมของพวกเขาก็คือคุณธรรมอย่างเดียวกันกับที่นิทานชาดกสอนนั่นเอง

เช่นเดียวกันในยุคที่โลกเราให้ความสำคัญกับการสร้างและเคารพระบบสังคมการเมืองที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันภายใต้หลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ “คนดีทางสังคม” หรือคนดีในอุดมคติของโลกยุคปัจจุบันก็คือ คนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมบนพื้นฐานของการมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ คนเหล่านี้มีอยู่จริงในสังคมเรา แต่ส่วนใหญ่เขามักถูกระบบอำนาจนิยมทำร้ายให้ต้องติดคุกบ้าง ถูกยิงเป้า ไปตายในป่า หรือต้องระหกระเหินไปตายที่ต่างประเทศบ้าง คนเหล่านี้ก็คือผู้เสียสละเพื่อคนอื่นๆ ไม่แพ้การเสียสละของพระโพธิสัตว์เลยแม้แต่น้อย


ส่วนคนที่ขัดขวางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์บนหลักของการมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ หาใช่คนดีที่แท้จริงไม่ และไม่ใช่ผู้ที่คู่ควรกับคำว่า “พระโพธิสัตว์” แต่อย่างใด!



.