http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-13

สุจิตต์: “ไม่อยากให้จำ ต้องทำให้ลืม”, ต้องยกเลิก อาณานิคมภายในของไทย

.

สุจิตต์ วงษ์เทศ “ไม่อยากให้จำ ต้องทำให้ลืม”
คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:54:25 น.


"ชิงสุกก่อนห่าม", "ปลูกไม้เมืองหนาวในป่าเขตร้อน", ฯลฯ เป็นวลีเปรียบเปรยเพื่อเย้ยหยันการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ส่งผลให้มีคำสั่งยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน
คณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) ไม่ใช่คณะแรก และไม่ใช่คณะเดียวในยุคนั้น ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเก่าเป็นระบอบใหม่
แต่มีกลุ่มอื่นๆ ทั้งยุคก่อนหน้าและยุคนั้นอีกหลายกลุ่มต้องการระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมักเรียกด้วยภาษาปากทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "ดีโมเครซี" หรือ "ดีมอคเครซี"

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่มีประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง รวมทั้งไม่มีมิวเซียมเกี่ยวกับสังคมและการเมืองของไทย ที่แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนทุกระดับที่มีต่อการเมืองการปกครองทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ตั้งแต่ยุคแรกๆสืบเนื่องมาจนถึง ร.5, 6, 7...
ด้วยเหตุดังนั้นสังคมไทยจึงถูกทำให้รับรู้ด้านเดียว ทั้งโดยมือที่มองเห็นและมองไม่เห็น คือด้านอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเปลี่ยนแปลงในทางก้าวหน้า 
"วิภาษา" นิตยสารราย 45 วัน (ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. - 31 ก.ค. 2555) มีบทบรรณาธิการของ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ (คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง) เรื่อง เราเริ่มกันที่ระบอบรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประเมินค่ามรดกของคณะราษฎร จะขอคัดตอนสำคัญมาแบ่งปันเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไปอีกดังนี้

"หากจะประเมินค่ามรดกของคณะราษฎร คงต้องเข้าใจเสียก่อนว่าสิ่งที่คณะราษฎรได้กระทำเมื่อกว่า 80 ปีก่อนนั้น มิอาจถูกลดทอนลงอย่างตื้นเขินเหลือเพียงการกระทำเรื่องที่ชิงสุกก่อนห่าม หรือปลูกไม้เมืองหนาวในป่าเขตร้อน หากแต่ต้องพิจารณาในเงื่อนไขอื่นประกอบ ทั้งในแง่ผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในที่เซาะกร่อนตัวมันเอง
ถึงแม้จะมีการศึกษาในทางประวัติศาสตร์ที่โต้แย้งคำอธิบายผิวเผินข้างต้น แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคำวิจารณ์อย่างตื้นเขินเหล่านั้นสำเร็จรูปและน่าคล้อยตามมากกว่า "อะไรที่มันซับซ้อน"

การประเมินค่ามรดกคณะราษฎรจึงตกอยู่ในกรอบของการกระทำ ความล้มเหลวและชะตากรรมของคนไม่กี่คน เช่น นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือตัวละครหลัก หาใช่ระบอบการเมืองหรือระนาบของมนุษย์และปัจจัยทางวัฒนธรรม เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนจุดหักเหของมัน 


ในความเป็นจริง คณะราษฎรได้พยายามเปลี่ยนแปลงฐานรากสำคัญ เช่น การวางแผนเค้าโครงเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องประนีประนอมกับพลังหลากหลายในสังคมไทยอยู่พอควร จึงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดว่าคณะราษฎรมีความเป็นอิสระกี่มากน้อย และมีพลังต่อต้านหรือเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนพยายามดึงอำนาจทวนกลับอย่างไรบ้าง 
กล่าวอย่างเป็นธรรม คณะราษฎรดำเนินการในฐานะ "คณะการเมือง" ในช่วงเวลาที่สั้นมากๆ ได้แก่ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงก่อนกบฏบวรเดช และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถูกรัฐประหาร 2490 จึงถือว่าปิดฉากบทบาทของคณะราษฎร ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของตัวบุคคลและคณะที่รองรับอำนาจต่างกันไป เช่น ในยุคของจอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีครั้งแรกและครั้งที่สองอยู่ห่างไกลจากการกำกับและรับผิดชอบของคณะราษฎรอย่างเห็นได้ชัด 
การกล่าวโทษในหลายๆ กรณีออกจะเกินจริงและมองข้ามภารกิจสำคัญที่สุดและกระทำการสำเร็จ ได้แก่ การจำกัดอำนาจที่เหลือล้นพ้นประมาณของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และความไร้น้ำยาในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากภายนอกอย่างมีนัยสำคัญของระบอบเก่า


การ "มี" รัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องของการเขียนกฎหมายขึ้นมาลอยๆ ดังที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ต่อรองและมีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับพระองค์จนถึงจุดสำคัญคือ การจัดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ที่สะท้อนให้เห็นความพยายามในการกำกับความหมายเชิงประเพณีของการถ่ายโอนอำนาจจากระบอบเก่าสู่ระบอบการเมืองใหม่"

น่าประหลาด ที่สังคมไทยทำตัวทันสมัย ต้องการประชาธิปไตย แต่ "ไม่อยากให้จำ ต้องทำให้ลืม" ข้อดีของคณะราษฎรและ 24 มิถุนายน 2475



++

สุจิตต์ วงษ์เทศ : ต้องยกเลิก อาณานิคมภายในของไทย
จาก www.sujitwongthes.com/2012/08/siam07082555/
( เผยแพร่ใน มติชน รายวัน  ฉบับประจำวันอังคารที่ 7 สิงหาคม 2555 )


          “ภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่มีปัญหาการก่อความไม่สงบร้ายแรงที่สุดในโลกเป็นอันดับสาม”
          “อันดับแรกคืออิรัก อันดับสองคืออัฟกานิสถาน”


          ข้อความยกมานี้ผมได้จากบทรายงานของ ดารินทร์ อินเหมือน ที่สรุปย่อการบรรยายพิเศษของ ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการจาก ม. ลีดส์ อังกฤษ เรื่องมองการเมืองไทย จากมุมมองแบบหลังอาณานิคม ที่คณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (พิมพ์ในฟ้าเดียวกัน ฉบับมกราคม-มิถุนายน 2555 หน้า 20-35)
          ผมจะปรับปรุงและตัดทอนบทรายงานอันมีคุณค่านี้มาเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป เพราะสามจังหวัดภาคใต้เป็นปัญหาที่ไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันรับรู้ แล้วทำความเข้าใจอย่างเที่ยงธรรม แม้จะช่วยแก้ไขอะไรไม่ได้เลยก็ตาม

          แก่นของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แมคคาร์โกเชื่อว่าเป็นปัญหาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์มากกว่าเรื่องศาสนา แต่ต้องมองปัญหาในบริบทการเมือง เพราะภาคใต้เป็นปัญหาทางการเมือง เป็นปัญหาที่เกิดจากคนรู้สึกว่าดินแดนของตนถูกยึดเป็นเมืองขึ้น และไม่ชอบสภาวะเช่นนี้ 
          พวกเขาต้องการให้รัฐไทยปล่อยให้พวกเขาอยู่กันเอง โดยไม่เข้าไปยุ่มย่าม 
          แต่ทั้งรัฐไทยและคนมุสลิมชายแดนใต้ ต่างฝ่ายต่างภูมิใจในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของตน และไม่มีฝ่ายไหนยอมเสียหน้า

          แมคคาร์โก กล่าวต่อไปว่ากรุงเทพฯ หรือคนไทยในภาคกลางได้ยึดเอาดินแดนจำนวนหนึ่งเป็นเมืองขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดินแดนที่ขณะนี้เราเรียกว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ของไทย โดยแท้จริงคนจำนวนมากในดินแดนเหล่านี้ไม่ใช่ “คนไทย” เช่น คนลาวในอีสาน คนมลายูในภาคใต้ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ 
          สิ่งที่รัฐ-ชาติซึ่งถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พยายามทำก็คือ กดครอบอำนาจของกรุงเทพฯ ลงบนดินแดนต่างๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างรัฐสมัยใหม่ และเอาตัวรอดจากการถูกล่าเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก โดยหันมาสร้างอาณานิคมภายในเสียเอง ดังมองเห็นได้ในทุกวันนี้

          หากถามว่าในประเทศไทย ใครมีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ ของตนเอง คำตอบก็คือคนกรุงเทพฯ ในขณะที่คนอีก 76 จังหวัดไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ ของตน แต่ของจังหวัดอื่นๆ ล้วนถูกส่งไปจากกระทรวงมหาดไทยที่เป็นศูนย์กลางอำนาจ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เป็นมาเฟียตัวจริง 
          กระบวนการปกครองแบบอาณานิคมมิใช่แค่การส่งคนจากส่วนกลางไปปกครองท้องถิ่นเท่านั้น อีกด้านหนึ่งคือการสร้างชนชั้นนำท้องถิ่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ดึงคนจากท้องถิ่นเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในส่วนกลาง ติดตั้งโปรแกรมความคิดของพวกเขาเสียใหม่ สร้างให้เป็นชนชั้นนำที่มีสำนึกแบบคนไทยภาคกลาง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ แล้วจึงส่งกลับไปปกครองท้องถิ่น

          นอกจากนี้ ยังสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นแกนกลางขึ้นมา เช่น “ความเป็นไทย” 
          การทำให้คนรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไทย จะไม่ค่อยพูดถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตนเองอีกต่อไป

          โครงสร้างแบบอาณานิคมภายในกำลังสั่นคลอน มีการต่อต้านอำนาจของกรุงเทพฯ ในหลายๆ พื้นที่ แล้วมีสัญญาณหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนท้องถิ่นเริ่มไม่อดทนกับอำนาจของกรุงเทพฯ ที่พยายามครอบงำพวกเขาอีกต่อไป 
          อาณานิคมของกรุงเทพฯ กำลังสิ้นสุดลง แต่คนในกรุงเทพฯ ยังยอมรับสภาพไม่ได้

          แมคคาร์โกเสนอแนะว่าการปกครองแบบอาณานิคมที่ส่งคนจากส่วนกลางไปปกครองท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศนั้นใช้ไม่ได้ผลแล้วในยุคโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่ในเวลานี้ 
          “จะต้องมีระบบบางอย่างที่ยอมรับสิทธิและความมุ่งมาดปรารถนาทางการเมืองของผู้คนในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้มากกว่านี้”
          “ต้องให้อะไรบางอย่างแก่พวกเขา ไม่ว่าจะเรียกว่า autonomy เขตปกครองพิเศษ มณฑล หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่จะต้องมีการพูดคุยถึงเรื่องพวกนี้กันในระดับชาติ”

          ตราบใดที่รัฐบาลยังปล่อยให้ ก. วัฒนธรรม ยึดถือแล้วเผยแพร่ประวัติศาสตร์บาดหมาง สร้างบาดแผล ตราบนั้นก็ไม่มีวันพูดคุยเรื่องพวกนี้ได้



.